วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

GC-2014 ECD & PDD ตอนที่ ๓๒ การสร้างส่วนหางพีค O2 MO Memoir : Friday 27 July 2555


บันทึกฉบับนี้เป็นบันทึกการสนทนาระหว่างผมกับสาวน้อยร้อยห้าสิบเซนต์ (คนใหม่) และสาวน้อยหน้าบาน (คนใหม่) ในช่วงบ่ายวันศุกร์ที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา เป็นเรื่องเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในการสร้างส่วนหางของพีค O2 และแนวปฏิบัติในการคำนวณพื้นที่พีค NO ทั้งนี้เพื่อที่จะได้ทำการคำนวณในทิศทางเดียวกัน ซึ่งตั้งแต่วันนี้จะขอให้ใช้วิธีการที่เขียนไว้ในบันทึกฉบับนี้ก่อน จนกว่าจะมีการแก้ไขใหม่

หลังจากที่เราได้โครมาโทแกรมมาแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการหาพื้นที่พีค NO

ปัญหาที่เราเจออยู่ก็คือความสูงของพีค O2 นั้นประมาณ 1000 เท่าของพีค NOและพีค NO อยู่บนส่วนหางของพีค O2 ซึ่งดูเหมือนว่าส่วนหน้าของพีค NO จะคร่อมอยู่บนส่วนหางของพีค O2 โดยส่วนหลังของพีค NO จะอยู่บนเส้นสัญญาณอีกเส้นหนึ่งที่ไม่ใช่เส้น base line ซึ่งตอนนี้เราไม่สามารถระบุได้ว่าสัญญาณดังกล่าวเป็นของสารใด รู้แต่เพียงว่าถ้าไม่มี NO ก็จะไม่เห็นสัญญาณดังกล่าวหรือเห็นต่ำมาก แต่ถ้ามี NO ก็มักจะมีสัญญาณตัวนี้ปรากฏค่อนข้างชัดเจน

ในการสร้างส่วนหางของพีค O2 นั้นเราได้ทดสอบโดยการนำเอาโครมาโทแกรม ๒ โครมาโทแกรมที่มีพีค O2 เข้มข้น 15 vol% ที่ได้มาโดยไม่มีพีค NO ร่วมอยู่ มาเป็นตัวทดสอบ (ดูรูปที่ ๑ ประกอบ)

โครมาโทแกรมในรูปเป็นส่วนขยายบริเวณฐานของพีค O2 (ความสูงของพีค O2 นั้นสูงกว่า 1000000)

ที่ผ่านมานั้นเราสังเกตพบว่าเส้น base line มีการเคลื่อน (drift) น้อยมากจากจุดเริ่มต้นเก็บข้อมูลจนกระทั่งถึงจุดสิ้นสุดข้อมูลและนำ GC กลับมายังภาวะพร้อมเก็บตัวอย่างใหม่ จากข้อมูลนี้ทำให้เราสามารถประมาณได้ว่าแนวเส้น base line ของพีค O2 นั้นเป็นเส้นที่ขนานแกน x (หรือความชันเป็นศูนย์)

การกำหนดเส้น base line ทางด้านซ้ายให้เริ่มจากตำแหน่งก่อนเกิดพีค O2 เล็กน้อย (ลูกศรสีม่วงในรูป) และลากเส้นขนานแกน x ไป (เส้นประสีแดงในรูป) ซึ่งสัญญาณโครมาโทแกรมควรจะกลับมาตัดกับเส้น base line ที่ตำแหน่งใดสักตำแหน่งหนึ่งก่อนถึงเวลา 20 นาที

ในกรณีที่เส้น base line มีการเคลื่อนตัว (drift) ค่อนข้างชัดเจน ขอบเขตด้านขวาให้กำหนดที่จุด ณ เวลา 20 นาที

สัญญาณที่เกิดจาก O2 เพียงอย่างเดียวนั้นจะเริ่มจากจุดที่เริ่มต้นเกิดพีค (ตรงลูกศรสีม่วงชี้) ไปจนถึงจุดที่เริ่มต้นปรากฏพีค NO จากการทดสอบที่ผ่านมาเราพบว่าตามภาวะการวิเคราะห์ของเรานั้น ที่ความเข้มข้น NO 120 ppm พีค NO จะเริ่มปรากฏที่เวลาประมาณก่อน 9.8 นาที ดังนั้นเราจะใช้ข้อมูลโครมาโทแกรมในช่วงจากจุดเริ่มต้นเกิดพีค O2 ไปจนถึงเวลา "ก่อน" ที่พีค NO จะปรากฏเล็กน้อย (จุดที่ลูกศรสีเขียวชี้)

ขั้นตอนต่อไปคือทำให้ข้อมูลที่อยู่ทางด้านซ้ายของจุดเริ่มต้นเกิดพีค O2 (ทางด้านซ้ายของลูกศรสีม่วง) เป็น inactive และจุดที่อยู่ทางด้านขวาของลูกศรสีเขียวให้กลายเป็น inactive ด้วย (ใช้คำสั่งของโปรแกรม fityk)

การสร้างส่วนหางของพีค O2 ทำโดยการทำ peak fitting กับพีค O2 ซึ่งทำได้โดยการใช้คำสั่ง "add peak" และกดปุ่มให้โปรแกรมทำ peak fitting เป็นระยะ พีคที่จะเติมเข้าไปนั้นให้เลือกใช้พีคชนิด "SplitGaussian" จากเมนูคำสั่งของโปรแกรม (SplitGaussian ในโปรแกรม fityk ก็คือพีค Gaussian ที่ไม่สมมาตรนั่นเอง กล่าวคือมีค่าความกว้างทางด้านซ้ายและทางด้านขวาของพีคที่ไม่เท่ากัน)

รูปที่ ๑ พีค O2 15 vol% ขยายเฉพาะตรงส่วนฐาน ทั้งสองรูปได้จากการวัดโดยให้แก๊สไหลผ่านเบด TiO2 ใน reactor ที่อุณหภูมิ 120ºC เป็นการวัดสองครั้งต่อเนื่องกัน ในการลากเส้น base line นั้นให้กำหนดจุดแรกตรงตำแหน่งก่อนเกิดพีค O2 เล็กน้อย (ตรงตำแหน่งลูกศรสีม่วง) แล้วลากเส้นขนานแกน x ไป (เส้นประสีแดง) ในกรณีที่ไม่มี NO ผสมอยู่นั้นพบว่าเส้น base line ที่ลากนั้นจะมาบรรจบกับโครมาโทแกรมใหม่ประมาณตำแหน่งเวลา 14 นาที

จำนวนพีคที่จะเติมและจำนวนครั้งที่จะกดปุ่มทำ peak fitting นั้นค่อนข้างจะเป็นศิลป์เล็กน้อย ต้องทดลองดูเอาเอง แต่สุดท้ายส่วนใหญ่ก็จะให้ผลที่ออกมาใกล้เคียงกันมาก ซึ่งตรงนี้ขึ้นกับความราบเรียบของข้อมูล ช่วงข้อมูลที่เราเลือกมาทำ peak fitting และการวางตำแหน่งเส้น base line

จากตัวอย่างในรูปที่ ๒ จะเห็นว่าในโครมาโทแกรมรูปบนนั้นผมต้องเติมพีคเข้าไปถึง ๙ พีคเพื่อให้ได้รูปร่างพีค O2 ในรูปแบบที่มันควรเป็น (เส้นสีน้ำเงิน) ในขณะที่ในรูปบนนั้นใช้เพียง ๕ พีคก็พอ

ถ้าในระหว่างการทำ peak fitting พบว่ามีการเติมพีคที่กลับหัวและ/หรือเติมพีคที่มีจุดยอดอยู่นอกช่วงระหว่างลูกศรสีม่วงและลูกศรสีเขียว (ในรูปที่ ๑) ก็ให้ลบพีคดังกล่าวทิ้งเสีย

ที่สำคัญคือพยายามวางเส้น base line ให้ใกล้กับจุดต่ำสุดของข้อมูลโครมาโทแกรมให้มากที่สุด แต่อย่าให้มีจุดข้อมูลของโครมาโทแกรมอยู่ใต้เส้น base line เพราะจุดดังกล่าวอาจก่อให้เกิดปัญหาการวางพีคกลับหัวได้

รูปที่ ๒ การสร้างส่วนหางของพีค O2 หลังจากที่ได้ทำการตัด base line และกำหนดช่วงข้อมูลที่เป็นเฉพาะของพีค O2 แล้ว

ฉบับนี้คงพอเท่านี้ก่อน ฉบับถัดไปจะเป็นการหาพื้นที่พีค NO แล้ว