วันพฤหัสบดีที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เก็บตกฝึกงานฤดูร้อน ๒๕๕๖ MO Memoir : Thursday 2 May 2556

หน้าร้อนปีนี้แม้ว่าจะไม่ได้รับมอบหมายให้ไปดูแลนิสิตฝึกงานที่ใดที่หนึ่ง แต่ผ่านไปเพียงเดือนครึ่งก็มีคำถามเกี่ยวกับการฝึกงานผ่านมาทาง facebook และทางอีเมล์หลายคำถาม เห็นว่าน่าสนใจก็เลยขอเอามารวบรวมเล่าสู่กันฟัง
  
ที่ว่าน่าสนใจนั้นไม่ใช่เฉพาะตัวเรื่องที่เขาถามมา และเป็น "คำถาม" ที่เขาถามมา ลองอ่านดูเองเองนะว่าบางคำถามนั้น เล่นถามกันมาแบบนี้แล้วคนตอบจะตอบได้อย่างไร
 
เนื้อหาคำถาม-คำตอบมีการจัดรูปหน้ากันนิดหน่อย เพื่อให้เนื้อหามันต่อเนื่องกัน และแทรกข้อความลงไปบ้าง เพื่อไม่ให้เนื้อหามันดูหนักเกินไป

เรื่องที่ ๑

ผู้ถาม : เรียนอาจารย์ครับ คือผมไม่ทราบอีเมลของอาจารย์ (แล้วปีที่แล้วคุณส่งรายงานแลปให้ผมได้ยังไง ผมให้ส่งทางอีเมล์ หรือว่าเพื่อนเป็นคนส่งให้ตลอด) ผมขอปรึกษาอาจารย์ผ่าน facebook นะครับ (ยินดีครับ ถ้าไม่ใช่เรื่องขอยืมเงิน)
  
คือพี่วิศวะที่โรงงานผม แนะนำเป็น project เกี่ยวกับ การลดเวลาการผลิตกาวตัวนึง คือมันเป็นแบบ batch อะครับ คราวนี้เค้าต้องการให้ผมสังเกตเวลาการละลายของ พวก wax, resin เวลาที่ใช้ในการละลายสาร 1 ตัวควรเป็นเท่าไหร แล้วควรใส่สารอีกตัวลงไปเมื่อเวลาเท่าไร โดยจะทำยังไงให้เวลาโดยรวมในการผลิต 1 batch นั้นสั้นที่สุด เพราะสูตรที่เค้ามีปกติ มันใช้เวลาการผลิตนานไปต่อ 1 batch อะครับ และบางที พอครบเวลาตามที่ operator สังเกต (จากประสบการณ์ซะมากกว่า) พอให้ QC test บางทีก็ไม่ผ่าน
  
คำถามคือผมควรรับ project แบบนี้ดีมั้ยครับ เพราะรู้สึกว่ามันเป็นแนวอารมณ์ IE ซะมากกว่า วิศวะเคมีน่าจะทำเป็นอย่างอื่นดีกว่าหรือเปล่า จะได้เป็นประสบการณ์ตอนไปทำงาน หรืออาจารย์มีความเห็นว่ายังไงอะครับ อยากฟังความเห็นของอาจารย์อะครับ
  
เค้ารวมขอบเขตถึงพวกให้ กำจัด waste ทางด้านเวลาอื่นๆที่ไม่ใช่การผลิตอะไรงี้ด้วยอะครับ นอกเหนือจาก process

ผมตอบ : เห็นข้อความแล้วครับ แต่ช่วงบ่ายติดธุระ จะกลับมาอีกทีใกล้ค่ำ

ผู้ถาม : ขอบคุณครับอาจารย์

ผมตอบ : วิศวกรเคมีฝึกงานไทยออยล์เคยมีรายการผสมน้ำมันเตาในแทงค์ให้มีความสม่ำเสมอครับ
ต้องมานั่งนิยามกันก่อนว่าอะไรคือ "ความสม่ำเสมอ" สุดท้ายก็ได้ข้อสรุปคือ "ความหนืด" แต่ความหนืดมันวัดยาก เลยต้องทำลองว่าจะใข้ความหนาแน่นแทนได้หรือไม่ 
   
งานนี้มีรายการต้องปรับการไหลของน้ำมัน โดยให้เติมน้ำมันที่มีความหนาแน่นต่ำเข้าไปก่อน มันจะได้นอนอยู่ก้นถัง จากนั้นจึงเติมน้ำมันที่มีความหนาแน่นสูงกว่าเข้าไปทีหลัง โดยเติมจากทางด้านบน ด้วยวิธีการนี้จะทำให้ผสมน้ำมันที่มีความหนาแน่นแตกต่างกันได้ดีขึ้น
  
ที่ภาควิชาเคยมีผู้จบเภสัชกร ทำงานองค์การเภสัช มาเรียนป.โทวิศวเคมีที่ภาควิชาทำวิจัยเรื่องการผสมยาที่เป็นผงในถังผสมขนาดประมาณ 4 m3 แต่ผสมทีละประมาณ 2 m3 เพื่อหาว่าควรผสมอย่างไรจะทำให้ยากระจายตัวสม่ำเสมอ โดยมีเงื่อนไขว่าเมื่อสุ่มตัวอย่างขนาดเท่าเม็ดยาที่ต้องรับประทาน ไม่ว่าจากตำแหน่งใดของถังผสม จะได้ต้องได้องค์ประกอบที่เหมือนกัน
  
เราเคยมีนิสิตป.โทจากบริษัทผลิตสีรายหนึ่ง มาทำวิจัยเรื่องการออกแบบลำดับขั้นตอนการผสมสีและการล้างถังผสม เพื่อให้มีของเสียน้อยที่สุด
 
งานวิจัยประเภทนี้อยู่ในส่วนของการควบคุมกระบวนการผลิตครับ (มันเกี่ยวพันไปถึงการออกแบบระบบควบคุมอัตโนมัติด้วย)
 
project ที่คุณเล่าฟังเหมือนทำถั่วเขียวต้มน้ำตาล ส่วนประกอบมีแค่ น้ำ ถั่วเขียว และน้ำตาล แต่ถ้าผสมกันไม่ถูกวิธี จะไม่ได้กิน

ผู้ถาม : ขอบคุณครับอาจารย์
 
ขอเพิ่มเติมนิดนึงอะครับ คือเค้าจะให้ลงไปดูถึงขั้นว่า ตรงไหนเป็นคอขวดของเวลาทั้งหมดในการผลิตสินค้าตัวนั้น ซึ่งบางทีอาจจะเป็นช่วงของการขนของ (เพราะมันเป็น batch) หรือการ packaging อารมณ์แบบหา big losses ในเรื่องของเวลาอะครับ ผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่แนววิศวะเคมีเลย(หรือใช่) ผมจะทำตรงนี้ด้วยดีมั้ย แบบสมมติเอาไปโม้ตอนสัมภาษณ์งานไรเงี่ยอะครับ การทำแนววิศวะเคมีตรงๆจะมีประโยชน์มากกว่าหรือเปล่าครับ
 
ขอบคุณอาจารย์ล่วงหน้ามากๆครับ

ผมตอบ : มันมีอยู่วิชาหนึ่งที่ภาคเราไม่ได้สอน แต่วิศวเคมีบางที่จะสอน ผมเองก็ไปเรียนมาที่อังกฤษ คือ critical path analysis
 
พวกเรียนอุตสาหการ เรียนโยธา ได้ใช้แน่ ๆ พวกเรียนวิศวเคมีมาเรียนกันเมื่อต้องทำงานกับกระบวนการแบบ batch แต่บังเอิญในหลักสูตรของภาคเรา เราเรียน continuous process เป็นหลัก วิชานี้เลยไม่มีคนสอน
 
อีกเรื่องหนึ่งที่น่าจะเกี่ยวข้องกับงานทำนองนี้คือ supply chain คือการจัดหาวัตถุดิบให้ทันกับความต้องการ ก็มีวิศวเคมีที่ไปทำงานเกี่ยวกับโรงงานอาหารสัตว์ที่เกี่ยวกับพืชผลการเกษตร ต้องมีการวางแผนว่าเดือนไหน ท้องถิ่นไหนจะมีพืชผลชนิดไหน จะต้องวางแผนการสั่งซื้อล่วงหน้า พวกทำปิโตรเคมีบางทีก็ต้องดูด้วยว่าถ้าโรงโอเลฟินส์จะหยุดเดินเครื่อง จะสั่งซื้อจากแหล่งไหนเข้ามาใช้ทดแทนชั่วคราว
 
ถ้าเป็นในโรงกลั่นน้ำมันก็จะเกี่ยวข้องกับการสั่งน้ำมันให้ถูกชนิดและถูกเวลา เช่นฤดูร้อนคนขับรถเที่ยวเยอะ ต้องเตรียมเบนซินไว้เยอะ
 
ถ้าเป็นในโรงงานทั่วไปก็จะเกี่ยวข้องกับการวางแผนการซ่อมบำรุง การหยุดเดินเครื่องหน่วยผลิต

ผู้ถาม : ขอบคุณมากครับอาจารย์ ที่ให้มุมมองด้านอื่นๆด้วย ขอบคุณมากๆครับ

ผมตอบ : เพิ่มเติมหน่อย
 
การลดการปลดปล่อยของเสียอาจทำโดย (๑) การลดการเกิด หรือ (๒) การนำกลับไปใช้ใหม่
ตอนนี้เข้าใจว่าเพื่อนคุณบางคนกำลังทำเรื่องนี้อยู่ โดยการหาทางนำเอาแก๊สที่ต้องปล่อยทิ้งออก flare ไปใช้ประโยชน์เป็นเชื้อเพลิงให้กับหน่วยผลิตอื่น
 
ส่วน critical path analysis เป็นการวิเคราะห์ว่างานแต่ละส่วนนั้น ส่วนไหนควรเริ่มเมื่อใด ส่วนไหนเป็นส่วนคอขวด ฯลฯ เช่นการสร้างบ้าน ก็ต้องมาดูว่าเมื่อไรจะสั่งซื้ออิฐ กระเบื้องปูพื้น หลังคา อุปกรณ์ไฟฟ้า สุขภัณฑ์ สีทาบ้าน ฯลฯ ไม่ใช่พอคิดจะสร้างบ้านก็สั่งซื้อกระเบื้องหลังคาเลย ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ลงเสาเข็ม หรือก่อผนังก่อนที่จะสร้างหลังคา (มันควรสร้างหลังคาก่อน จะได้ทำการก่อผนังได้สบาย มีอะไรบังแดดบังฝน)
 
งานฉาบผนังก็ต้องทำหลังจากที่ก่ออิฐเสร็จ แต่ไม่จำเป็นต้องรอให้เสร็จก่อนทั้งหลัง พอก่ออิฐเสร็จได้ห้องหนึ่งก็สามารถทำงานฉาบผนังได้ ดังนั้นงานฉาบจะเริ่มหลังงานก่อ (โดยที่งานก่อก็กำลังทำอยู่) แล้วไปเสร็จตามหลังงานก่อ แต่ถ้าคิดฝังสายไฟในผนัง งานฉาบก็ต้องทำหลังงานวางท่อสายไฟฝังในผนัง

ผู้ถาม : ขอบคุณครับอาจารย์ ที่ช่วยเปิดมุมมองให้

เรื่องที่ ๒

ผู้ถาม : อาจารย์ค่ะ หนูต้องหา mass flow rate ของsteamที่ไช้ในแต่ละเครื่องแต่ละunitอ่ะค่ะ แล้วมันหาค่าได้แค่ pressureเพราะมี gaugeติดอยู่อ่ะอาจารย์
 
หนูต้องหาค่าไรเพิ่มอ่าค่ะ แล้วคำนวนสูตรไรอ้ะค่ะ
 
เนี่ยะอ่ะอาจารย์มันจะมีบอกความดันแบบนี้อ่ะค่ะ (แล้วเขาก็แนบรูปข้างล่างนี้มาให้)


ผมตอบ : (หลังจากดูในรูปที่เขาส่งมาแล้วมองหา pressure gauge สักตัว เห็นแต่ vessel ท่อ และวาล์ว)
ถ้าวัดด้านขาเข้าไม่ได้ วัดด้านขาออกได้ไหมครับ
 
ผมไม่รู้ว่าเอาไอน้ำไปใช้ทำอะไร ถ้าเป็น saturated steam เอาไปให้ความร้อน ก็อาจดูจากอัตราการไหลของ condensate แทนก็ได้ 
  
มีแต่ความดันในท่อมันบอกอะไรไม่ได้เลยว่ามันไหลหรือไม่ไหล

ผู้ถาม : เค้าจะให้หนู balance steam ทั้งโรงงานอ่ะค่ะ-"- หนูเริ่มไม่ถูก

ผมตอบ : ต้องมี P&ID ของทั้งระบบไอน้ำก่อนครับ ถ้าเขาไม่มีก็คงต้องเดินไล่ระบบท่อเอาเองว่ามีอะไรอยู่ที่ไหนบ้าง (คงไม่ใช่งานเล็ก) แต่ถ้าเขามีอยู่แล้วก็ควรตรวจสอบกับของจริงด้วยว่าแบบนั้นถูกต้องอยู่
 
ปัญหาของระบบไอน้ำคือมันจะมีการควบแน่นในระบบท่อส่ง ที่มีการระบายไอน้ำที่ควบแน่นออกทาง steam trap ทำให้ไอน้ำที่ส่งออกไปนั้นมีการระบายออกบ้างระหว่างทาง ไปถึงจุดหมายปลายทางไม่ถึง 100%

ผู้ถาม : อ่อออค่ะๆ เดี๋ยวหนูศึกษาก่อนค้ะ55
ขอบคุณน้าค้ะ (ผมเป็นคุณน้าไปตั้งแต่เมื่อไรเนี่ย)

เรื่องที่ ๓

ผู้ถาม : อาจารย์คะ หนูถามเรื่องเครื่องการ design เกี่ยวกับเครื่องที่ใช้ reconcentration คือหนูได้โปรเจค design ต้องค้นคว้าหาทฤษฎีเอามาคำนวณ ออกแบบหาปริมาตรของเครื่องที่ต้องใช้เพื่อเพิ่มความเข้มข้นให้ได้ประมาณ75% เครื่องที่หนูไปหามาเเล้วพี่เค้าสนใจมันเป็นเครื่องที่ใช้ชื่อเฉพาะเลย หาทฤษฎีไม่ค่อยมีเลย หนูอยากปรึกษาอาจารย์ว่าหนูควรเปลี่ยน key wordในการหาข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องชนิดนี้ว่าอะไร จึงจะใกล้เคียงมากที่สุดค่ะ

ผมตอบ : ทำอะไรให้เข้มข้นขึ้นล่ะครับ (นั่นนะซิ อ่านคำถามเขาเสร็จแล้วผมยังไม่รู้เลยว่าเขาทำเกี่ยวกับอะไร)
 
ถ้าเป็นสารละลาย (เช่นในการตกผลึกน้ำตาล) ก็ลองใช้คำ Evaporator ดู มีทั้งแบบใช้ความร้อนและสุญญากาศช่วย
 
ในกรณีนี้ทฤษฎีน่าจะเกี่ยวกับการให้ความร้อน ว่า ณ ความดันที่กำหนดให้ ต้องให้ตัวทำละลายระเหยเป็นปริมาณเท่าใด (โดยที่ตัวถูกละลายไม่ระเหย) จึงจะทำให้ได้ความเข้มข้นดังต้องการ 
  
ถ้าเป็นเรื่องนี้จะเกี่ยวข้องกับการออกแบบเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนมากกว่า

ผู้ถาม : (ส่งรูปตีลังกากลับหัวข้างล่างมาให้ดู ก็เลยรู้ว่าทำงานเกี่ยวกับกรดกำมะถัน)
  

ของหนูอยู่โรงกรดค่ะ กรดซัลฟิวริก จาก 25% จริงพี่เค้าอยากให้ทำไปถึง 98.5 % เเต่ว่ากระบวนการมันต้องใช้พลังงานเยอะ ถ้าเลือกใช้วิธีนี้พี่เค้าโอเคกว่า วันนี้พี่เค้าเลยให้หนูไปหาข้อมูลวิธีนี้มาเพิ่มเติมเเต่ว่าค้นยังไงก็ไม่เจอทฤษฎที่อธิบายทุกอย่างได้หมดเลย

ผมตอบ : (พอเห็นรูปที่เขาส่งมาให้ก็รู้เลยว่าคำตอบแรกของผมกับสิ่งที่เขาทำจริงมันคนละเรื่องเลย)
 
ดูเหมือนในรูปกระบวนการของคุณจะเป็นการใช้กรดเจือจางไปดักจับแก๊สที่มีไอกรดอยู่ โดยใช้การฉีดพ่นให้สารละลายกรดเจือจางไปสัมผัสกับแก๊สที่มีไอกรด ลักษณะตัวนี้คือหอ scrubber การออกแบบหอ scrubber จะมี packing หรือไม่มี packing ก็ได้ 
  
ในรูปที่คุณเอามาให้ดูมีทั้งแบบไหลในทิศทางเดียวกัน (หอตัวเล็กด้านซ้าย ที่แก๊สแห้งเข้ามา) และไหลสวนทิศทางกัน (หอตัวใหญ่ด้านขวา) ที่มีแก๊สชื้นออกไป 
รูปที่นำมาแสดงนั้นเป็นรูปแบบที่ไม่มี packing อยู่ภายใน ข้อดีคือ pressure drop ต่ำ แต่ข้อเสียคือพื้นที่การสัมผัสระหว่างหยดของเหลวกับแก๊สอาจจะไม่ค่อยดี เพราะขึ้นกับขนาดหยดของเหลว
 
แต่เราก็อาจติดตั้ง packing เข้าไปได้ ทำให้การสัมผัสกันดีขึ้น แต่จะะมีปัญหาเรื่อง pressure drop ของสายแก๊สจะเพิ่มมากขึ้น
 
การฉีดของเหลวให้พ่นกระจายจากหัวฉีดนั้นต้องฉีดให้ครอบคลุมพื้นที่หน้าตัด ทำให้ของเหลวบางส่วนเปียกข้างผนังและไหลลงไปตามผนัง ดังนั้นแทนที่จะทำหอ scrubber หอเดียวสูง ๆ ก็จะทำเป็นหอสั้น ๆ สองหอต่อกัน
 
หอที่ใช้ packing ก็จะมีปัญหาเดียวกัน คือเมื่อของเหลวไหลลงไปตาม packing เรื่อย ๆ มันจะไหลเข้าหาผนัง ตอนบริเวณตรงกลางหอจะไม่มีของเหลวไหล ต้องมีตัวช่วยกระจายของเหลวใหม่ เพื่อให้ไหลเต็มพื้นที่หน้าตัดเหมือนเดิม
 
เมื่อกรดละลายน้ำจะมีความร้อนเกิดขึ้น เขาเลยต้องมีการระบายความร้อนออกด้วยเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อน

ผู้ถาม : tail gas คือแก็สที่มี Sulfur เป็นองค์ประกอบใช่ป่าวคะอาจารย์ ขอบคุณอาจารย์มากนะค่ะ

ผมตอบ : tail gas ก็ตามชื่อครับ tail คือส่วนหางก็คือส่วนที่อยู่ท้ายกระบวนการ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นแก๊สก่อนปล่อยทิ้งนั่นเอง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าแก๊สนั้นมีองค์ประกอบอะไร

ผู้ถาม : ขอบคุณค่ะอาจารย์
 
อย่างนี้ถ้าระบบของหนูไม่มี SO3หรือมีน้อย ก็ไม่เหมาะที่จะใช้วิธี scrubber ใช่หรือเปล่าคะ ><

ผมตอบ : ขึ้นอยู่กับว่าใช้ scrubber ทำอะไรครับ
  
บางระบบก็ใช้ในการกำจัดองค์ประกอบที่ไม่ต้องการออกจากแก๊สก่อนปล่อยทิ้ง หรือในกรณีของคุณใช้เพื่อชะเอาองค์ประกอบที่อยู่ในแก๊สให้มาอยู่ในสารละลายแทน เพื่อทำให้สารละลายเข้มข้นขึ้น
 
ถ้าพูดว่าเป็น scrubber จะทำให้นึกภาพเน้นไปทางการกำจัดของเสียออกจากแก๊สก่อนปล่อยทิ้ง
 
ถ้าพูดว่าเป็นหอดูดซับ (absorber) จะทำให้นึกภาพเน้นไปทางใช้ของเหลวดูดซับองค์ประกอบในแก๊สเพื่อทำให้ของเหลวมีความเข้มข้นมากขึ้น
 
แต่หลักการทำงานของมันก็เหมือน ๆ กัน

ผู้ถาม : ขอบคุณนะคะอาจารย์
 
เรื่องที่ ๔

ผู้ถาม : อาจารย์คะ สวัสดีค่ะ
 
หนูมีเรื่องอยากขอคำปรึกษาค่ะ (คงไม่ใช่เรื่องมีรุ่นพี่มาจีบนะ เพราะปีที่แล้วมีนิสิตฝึกงานไปได้แฟนที่โรงงานนี้คนนึง) โปรเจคฝึกงานหนูทำเรื่อง optimize RVCM system condition to reduce moisture in RVCM จากการศึกษาหนูพบว่า หอ Dehydrato rซึ่งเป็นหอกำจัดน้ำ เป็นหอหลักที่ต้องได้รับการปรับปรุงเป็นลำดับแรก โดยหอ Dehydrator เป็นหอที่มี pack ของ NaOH เป็นตัวจับน้ำแล้วละลายตกลงสู่ด้านล่างของหอ เลยอยากขอคำปรึกษาจากอาจารย์ว่า การคำนวณ condition และ spec ของหอ สามารถใช้ทฤษฎี settling velocity คำนวณมือได้เพียงอย่างเดียว หรือโปรแกรม simulation สามารถช่วยได้ เพราะหนูลอง Simulation โดยใช้ Aspenแล้ว ณ ตอนนี้ยังไม่สามารถ Sim ออกมาได้เลยค่ะ ขอรบกวนอาจารย์ด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะอาจารย์

ผมตอบ : (เจอคำถามแบบนี้เข้าก็มึนไปเลย อะไรต่อมิอะไรก็ไม่รู้โผล่มาเต็มไปหมด เลยต้องขอรายละเอียดเพิ่มเติม)
1. หอ RVCM คืออะไรเหรอ
 
2. ปัญหามันคืออะไร
 
3. น้ำที่เขามามีปริมาณเท่าใด
 
4. เท่าที่ดูข้อมูลของคุณ ตัวนี้มันเป็นเหมือน packed bed ที่ตัวเบดจะค่อย ๆ หายไปเรื่อย ๆ ถ้าหากว่า NaOH จับน้ำแล้วละลายกลายเป็นของเหลวหยดลงมาข้างล่างนะ
แต่ถ้ามันไม่ออกมาพ้นเบด แต่มาเปียกผิว NaOH ด้านล่าง แล้วน้ำเกิดแห้งขึ้นมา มีสิทธิจะได้กลายเป็นก้อนอุดตันเบด
 
5. ทำไปเขาถึงเอา NaOH ไปจับน้ำล่ะ ตัวอื่นน่าจะดีกว่าไม่ใช่เหรอ (เช่นพวกซิลิกาเจล และซีโอไลต์) หรือว่าต้องการจับแก๊สกรดที่มีอยู่ด้วย (งานนี้ต้องใช้เบสช่วยจับ)

ผู้ถาม : (ค่อย ๆ ส่งข้อมูลเพิ่มมาให้ทีละนิด)
 
1. recovery vinyl chloride monomer
 
2. RVCM ที่ออกด้านบนของหอมีปริมาณมากเกินไป(ต้องการdrainน้ำออกทางด้านล่างให้ได้มากกว่านี้)
 
3. น้ำเข้า0.75kg/h (flow rate 1683.8kg/h ส่วนมากเป็นVCM) ต้องการให้ขาออกด้านบนเหลือน้ำ <100ppm font="">
 
5. จากขาเข้าจะมี C10H12(OH)2 และขาออกจะไปออกด้านล่างหมดเลย เลยไม่แน่ใจว่าต้องการดึงตัวนี้ออกด้วยหรือไม่ค่ะ

ผมตอบ : Process ของคุณอ่านแล้วก็ยังไม่รู้เรื่องอยู่ดี
 
1. แก๊สที่มี Vinyl chloride ไหลเข้าทางด้านล่างของเบด (NaOH) แล้วออกทางด้านบนใช่ไหม
 
2. ฉีดน้ำเข้าทางด้านบนของเบด NaOH ใช่ไหม
 
3. ต้องการให้น้ำชะเอา Vinyl chloride ลงทางด้านล่างใช่ไหม
 
4. ปัญหาคือ vinyl chloride ออกทางด้านบนมากเกินไป หรือมีน้ำออกทางด้านบนมากเกินไป หรือทั้งสองอย่าง
 
5. ถ้าใช้น้ำชะ vinyl chloride ก็อาจแก้ปัญหา vinyl chloride ออกทางด้านบนมากเกินไปได้ด้วยการเพิ่มปริมาณน้ำที่ป้อนเข้าและ/หรือปริมาณ NaOH แล้วค่อยไปหาทางกำจัดน้ำออกจากแก๊สที่ออกจากหอนี้อีกที
 
6. แล้วเจ้าตัวไกลคอล C10H12(OH)2 โผล่มาร่วมวงได้ยังไงอีก
 
ผู้ถาม : (กลับมาใหม่พร้อมกับรูปข้างล่าง)


ตัวDehydratorคือหอที่เอาไว้ดึงน้ำออกจากRVCM (RVCM คือvcmที่เหลือจากการทำปฏิกิริยาแล้วจะนำมาบำบัดเพื่อนำกลับไปใช้ใหม่)
 
โดยในRVCMที่เข้าdehydratorจะมีสารอื่นปนเปื้อนมา (พิจารณาเฉพาะน้ำ) จึงพยายามที่จะปรับปรุงหอนี้ให้สายRVCMที่ออกด้านบนมีน้ำเหลือ < 100ppm
 
ส่วนสายด้านล่างเป็นwaste water ค่ะ

ผมตอบ : จากรูปของคุณ ผมเข้าใจว่า
 
1. RVCM ที่เข้า dehydrator เป็น "เฟสแก๊ส + ของเหลว" (เดี๋ยวมีรายการพลิกล็อค)
 
2. ส่วนที่เป็นของเหลวจะออกทางด้านล่าง (ในรูป WW นี่คือ waste water ใช่ไหม) ใช่ไหม
 
3. RVCM ที่แยกของเหลวออกไปแล้วยังมีความชื้นอยู่ จะถูกดูดซับด้วย absorbent (ทำจากอะไร) ในตัว dehydrator แล้วแก๊ส RVCM ที่มีความชื้นลดลงจะออกจาก dehydrator ทางด้านบน

พิจารณาคร่าว ๆ ก่อนผมคิดว่าถ้าจะลดความชื้นของแก๊ส RVCM ที่ออกทางด้านบนเราอาจทำโดย
 
1. ลดความชื้นของแก๊ส RVCM ที่เข้ามายัง dehydrator โดยให้ แต่ถ้าความชื้นใน RVCM ที่เข้ามานั้นอยู่ระดับอิ่มตัว ก็ต้องหาทางลดอุณหภูมิของแก๊ส RVCM ที่เข้า dehydrator นั่นหมายถึงการติดตั้ง unit เพิ่ม
  
2. การปรับปรุง dehydrator อาจทำโดย
 
2.1 ใช้ absrobent ตัวเดิม แต่เพิ่มปริมาณ อาจทำได้ถ้า dehydrator ยังมีที่ว่างให้เติมเพิ่ม แต่ pressure drop จะเพิ่มมากขึ้น
 
2.2 เปลี่ยนชนิด absorbent แต่ต้องไปคำนึงถึงการ regenerate หลังจากที่มัี่นดูดความชื้นจนอิ่มตัว
 
3. ให้ dehydrator ทำงานที่ความดันสูงมากขึ้น (ต้องคำนึงถึงความดันต้นทางที่ส่งมาและความสามารถในการรับความดันของ pressure vessel)
 
ไม่รู้ว่าพอจะช่วยได้หรือเปล่านะ

ผู้ถาม : ช่วยได้มากเลยค่ะอาจารย์ ขอบคุณค่ะ >/\<

ผมตอบ : (ดูเมือนว่าเรื่องมันน่าจะจบได้แล้วนะ แต่ผมก็ยังต้องถามเพิ่มเติมหน่อย เพราะมันยังมีอะไรคาใจอยู่ ตรงรูปปั๊มแหว่ง ๆ ทางด้านมุมล่างขวาของรูป)
 
ว่าแต่ ผมเข้าใจกระบวนการของคุณถูกหรือเปล่า

ผู้ถาม : RVCMที่เข้าdehydratorจะเป็นเฟสของเหลวค่ะ (เห็นไหม ผมตอบคำถามโดยนึกว่าสารที่ป้อนเข้ามานั้นเป็นเฟสแก๊ส แต่เพิ่งจะมารู้ตอนนี้ว่ามันเป็นเฟสของเหลว คำตอบที่ให้ไปก่อนหน้านี้ผมตอบโดยมองภาพคนละภาพกับผู้ถามเลย แต่เขาก็ยังอุตสาห์ขอบคุณกับคำตอบผิด ๆ ของผมด้วยนะ) โดยส่วนมากจะเป็น VCM และมีน้ำปนอยู่เล็กน้อย ซึ่งน้ำนั้นจะไปละลาย NaOH(s) กลายเป็น NaOH(aq) และไหลออกทางด้านล่างกลายเป็นwaste water ส่วนด้านบนRVCMที่ถูกดึงน้ำออกแล้วจะไหลออก โดยอยู่ในเฟสของเหลวค่ะ

ผมตอบ : ที่ผมเขียนไปผมนึกว่า RVCM เป็นแก๊สนะ
 
แต่การที่คุณบอกว่ามันเป็นของเหลวทำให้ผมถึงบางอ้อว่าทำไป unit ถัดไปที่รับ RVCM จาก dehydrator จึงใช้ปั๊ม
 
โมเลกุล Vinyl chloride มีขั้วอยู่เล็กน้อย ดังนั้นในสภาพของเหลวมันจึงอาจดึงน้ำให้ละลายเข้าไปในเฟสของมันเองได้เล็กน้อย
 
การเพิ่มความดันเพื่อเพิ่มการดูดซับคงไม่ช่วยอะไร (มันพอช่วยได้ถ้าเป็นเฟสแก๊ส) แต่ที่น่าพิจารณาคืออุณหภูมิส่งผลต่อค่าการละลายหรือไม่
 
โดยปรกติถ้าเป็นน้ำ (โมเลกุลมีขั้ว) ที่อุณหภูมิสูงขึ้นน้ำจะละลายโมเลกุลไม่มีขั้ว (เช่นไฮโดรคาร์บอน) ได้ดีขึ้น
 
ในกรณีของคุณมันกลับกัน ผมลองค้นดูพบว่าที่อุณหภูมิสูงขึ้น น้ำจะละลายเข้าไป vinyl chloride ได้มากขึ้น
 
ดังนั้นสิ่งที่น่าจะพิจารณาคืออุณหภูมิการทำงานของ dehydrator ตามรูปที่คุณให้มา อุณหภูมิทางด้านล่างคือ 42ºC แต่เมื่อ NaOH เกิดการละลายน้ำ มันจะคายความร้อนออกมา ดังนั้นผมจึงสงสัยว่าอุณหภูมิในตัวของเบด NaOH นั้นยังคงอยู่ที่ระดับ 42ºC หรือเปล่า ถ้าอุณหภูมิมันเพิ่มสูงขึ้น ก็คงต้องหาทางลดให้มันต่ำลงก่อนเข้าเบด NaOH
 
นอกจากนี้จากที่คุณบอกมาดูเหมือนว่าเมื่อน้ำทำปฏิกิริยากับ NaOH กลายเป็นสารละลาย (ของเหลว) สารละลาย NaOH จะแยกตัวออกจาก VCM เป็นของเหลวที่จะตกลงสู่เบื้องล่าง โดยจะเคลื่อนตัวสวนทางกับ VCM (เหลว) ที่ไหลขึ้นสู่เบื้องบน ดังนั้นในรูปแบบเช่นนี้ความเร็วในการไหลขึ้นบนของ VCM (เหลว) จะส่งผลต่อหยดน้ำขนาดเล็กที่ตกลงสู่เบื้องล่างได้ เพราะถ้าหยดเล็กเกินไปมันอาจจะไม่ตกลง แต่จะถูกพัดพาให้ไหลออกไปกับ VCM ที่ออกไปทางด้านบนของ dehydrator
 
โดยปรกติการพัดพาหยดของเหลวขนาดเล็กขึ้นสู่ด้านบน ถ้าเป็นระบบที่เป็นแก๊สไหลขึ้นด้านบน เขาจะติดตั้ง mist eliminator ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่คล้าย ๆ รังผึ้ง พอหยดของเหลวขนาดเล็กลอยขึ้นไปกระทบก็จะรวมตัวกันเป็นหยดใหญ่ขึ้น ไหลตกลงมาได้เอง แต่ผมเองก็ไม่เคยเห็นการใช้กับกรณีที่เป็นของเหลวไหลขึ้น

ผู้ถาม : จะลองปรึกษากับพี่เลี้ยงต่อไปค่ะ ขอบคุณค่ะ

เรื่องที่ ๕

ผู้ถาม : (รายนี้ถามมาทางอีเมล์)
 
สวัสดีครับ ผมเป็นนิสิตฝึกงานที่บริษัทกลั่นน้ำมันแห่งหนึ่งแถวภาคตะวันออก (ขอบคุณที่แจ้งครับ โรงกลั่นน้ำมันในบ้านเราที่ไม่อยู่ทางภาคตะวันออกก็เห็นมีแต่บางจากที่อยู่ในกรุงเทพและของทหารที่เชียงใหม่) เมื่อ2-3วันที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสเข้าไปอ่าน blog ของ Mo Memoir แล้วประทับใจมากครับ เนื่องจากเนื้อหาที่นำมาโพสท์นั้นเป็นประโยชน์ต่อผมมาก ๆ เลยครับ ในตอนนี้ผมได้รับหน้าที่รับมอบหมายชิ้นหนึ่งมา เป็นเรื่อง Flare system ผมจึงรบกวนขอข้อมูลข้อดี ข้อเสียของ Flare-gas Recovery System เปรียบเทียบกับ Flare system อย่างละเอียดหน่อยนะครับ
รบกวนตอบกลับด้วยนะครับ

ผมตอบ : Flare system เป็นระบบเผาแก๊สทิ้งครับ
 
Flare gas recovery system เรียกว่าเป็น option เสริมของ Flare system ก็ได้ครับ
เอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้ ที่ควรจะเปรียบเทียบมากกว่าคือข้อดี-ข้อเสียของการติดตั้ง flare gas recovery system 
  
(คำถามของเขาเนี่ยถ้าจะให้เห็นภาพชัดขึ้นก็เหมือนกับถามว่าเปรียบเทียบระหว่าง "รถยนต์" กับ "เบรค ABS" ซึ่งมันเปรียบเทียบกันไม่ได้ เบรค ABS มันเป็น option เสริมของรถยนต์ ดังนั้นต้องเปรียบเทียบระหว่าง "รถยนต์ที่ไม่มีระบบเบรค ABS" กับ "รถยนต์ที่มีระบบเบรค ABS")

คือเดิมเนี่ย แก๊สอะไรที่ไม่ใช้ก็ส่งไปเผาทิ้งอย่างเดียว
 
ทีนี้พอเขาอยากประหยัดพลังงาน ก็เคยคิดที่จะดึงเอาแก๊สที่ส่งไปเผาทิ้งที่ปล่อง flare มาใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงาน แทนที่จะเผาทิ้งไปเปล่า ๆ โดยไม่ได้ประโยชน์อะไร

ข้อดีของการติดตั้ง Flare gas recovery system คืออาจช่วยในการประหยัดพลังงานโดยลดการเผาทิ้งที่ไม่จำเป็น
 
แต่ก็มีข้อควรคำนึงคือ ปริมาณแก๊สระบายออกทางระบบ flare มีความสม่ำเสมอและมีมากเพียงพอหรือเปล่า ถ้ามีน้อยมันก็ไม่คุ้ม ถ้ามีเอาแน่เอานอนไม่ได้ก็ได้ปวดหัวเรื่องระบบควบคุมคอมเพรสเซอร์ที่ใช้ิในการดึงเอาแก๊สกลับ

ข้อควรระวังอีกข้อคือเวลาที่คอมเพรสเซอร์ดึงเอาแก๊สจาก flare header กลับไปใช้ จะทำให้ความดันใน flare header ลดต่ำลง ต้องระวังไม่ให้อากาศไหลสวนทางเข้ามาทางปล่อง flare ได้
 
ทางโรงกลั่นน่าจะมี API RP521 อยู่นะครับ ลองขอเอกสารตัวนี้มาเปิดดูก็ดีครับ
 
ถ้ายังไม่อยากอ่านต้นฉบับก็ลองอ่านเรื่อง ระบบเผาแก๊สทิ้ง (Flare system) ตอนที่ ๑-๗ ดูก่อนก็ได้ครับ เรื่อง flare gas recovery system ผมเขียนไว้ในตอนที่ ๗ (ตอนสุดท้าย) และยังมีเรื่องเกี่ยวข้องกับ compressor surging เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย (อยู่ในเรื่อง Centrifugal compressor และการเกิด Surging) 
  
ที่ผมเขียนเรื่องนี้เพราะคนที่ไปฝึกงานที่ Chevron เขาถามมาก่อนหน้าคุณเมื่อเดือนที่แล้วครับ

ผู้ถาม : ขอบคุณสำหรับข้อมูล และคำแนะนำมากนะคับ
Sent from my iPhone

คำตอบที่ผมตอบไปทั้งหมดนั้นจะถูกหรือผิด เอาไปใช้ได้หรือไม่ได้ ผมก็บอกไม่ได้ ขึ้นอยู่กับผู้ถามต้องเอาไปพิจารณาต่อเอง เพราะผมได้รับข้อมูลมาเพียงบางส่วนเท่านั้นและตอบไปโดยอิงข้อมูลที่ได้รับมา ที่ให้ได้ก็เป็นเพียงแค่มุมมองที่แตกต่างออกไปหรือให้ข้อมูลพื้นฐานเพิ่มเติมเพื่อประกอบการตัดสินใจของพวกเขา ดังนั้นควรพึงระวังในการนำไปใช้ด้วย

คำถามต่าง ๆ ที่มันไม่ค่อยชัดเจนนั้นผมไม่โทษผู้ถามเลย เพราะเข้าใจว่าเขาอาจถามมาด้วยความรีบร้อนเพราะโดนเร่งงานให้เสร็จ หรือไม่ก็ยังไม่มีความเข้าใจในงานที่ได้รับมอบหมายให้ทำดี ดังนั้นก่อนที่จะตอบคำถามใด ๆ บางทีผู้ตอบก็ต้องถามกลับไปด้วยว่าตัวเองเข้าใจคำถามถูกต้องหรือเปล่า หรือมองภาพเดียวกันอยู่หรือเปล่า ไม่เช่นนั้นมันจะไปกันใหญ่ ดังเช่นในกรณีเรื่องที่ ๓ และ ๔
 
จากนี้ไปจนถึงสิ้นเดือนนี้ไม่รู้ว่าจะมีคำถามอะไรเพิ่มเติมอีกหรือเปล่า ถ้ามีอะไรน่าสนใจอีกก็คงจะมีตอนที่ ๒ ตามออกมาก

ไม่มีความคิดเห็น: