วันอังคารที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2558

อาจารย์ครับ ผมไม่เรียนต่อแล้วนะครับ MO Memoir : Tuesday 28 April 2558

คืนวันศุกร์วันนั้น กว่าผมจะออกจากที่ทำงาน กว่าจะขับรถฝ่าการจราจรจากใจกลางกรุงเทพ บนทางด่วน และถนนย่านชานเมืองที่วันนี้ติดขัดเป็นพิเศษเนื่องจากมีอุบัติเหตุขวางทาง ทำให้ต้องใช้เส้นทางเลี่ยง กว่าจะมาถึงปั๊มน้ำมันที่อยู่กลางทางนอกเขตกรุงเทพ มันก็หลายทุ่มแล้ว ก็เลยถือโอกาสแวะพักเข้าห้องน้ำ ล้างหน้า และหาอะไรกินซะหน่อย ก่อนจะขับรถต่อในเส้นทางที่เหลือเพื่อกลับบ้านที่อยู่ยังอีกจังหวัดถัดไป พอลงจากรถ กำลังจะล็อคประตู เสียงเรียกหนึ่งที่คุ้นหูก็ดังทักทายครับ
  
"อาจารย์ครับ อาจารย์ครับ"
  
ผมหันไปข้างหลัง ก็พบกับเจ้าของเสียง ที่เคยมาปรับทุกข์เรื่องการเรียน เขายกมือไหว้ผม และก็บอกผมว่า

"อาจารย์ครับ ผมเคลียร์กับทางบ้านเรียบร้อยแล้ว ผมไม่เรียนต่อแล้วนะครับ"



------------------------------



ด้วยการที่มีโอกาสสอนหนังสือนิสิตปี ๒ ที่เพิ่งจะเข้ามาเรียนในภาควิชา ทั้งส่วนของบรรยายและปฏิบัติการ (ที่ลงไปควบคุมการทดลองด้วยตนเอง) อยู่หลายวิชา จึงทำให้ผมพอจะมีความคุ้นเคยกับนิสิตที่เพิ่งจะเข้ามาเรียนในภาควิชาอยู่บ้าง เพราะเป็นอาจารย์คนแรก ๆ ของภาควิชาที่นิสิตได้พบเจอ สิ่งหนึ่งที่ผมบอกนิสิตใหม่ที่เข้าภาควิชาทุกคนเมื่อมีโอกาสก็คือ ในฐานะอาจารย์ผู้สอน ก็จะพยายามให้ความรู้ทุกอย่างที่มีในสาขาวิชาชีพนี้ ให้คุณได้รับรู้ว่าถ้าเรียนต่อสาขาวิชาชีพนี้แล้ว จะไปทำงานทางด้านไหนได้บ้าง จากนั้นก็คงจะแล้วแต่พวกคุณ ว่าจะเลือกทำงานทางด้านสาขาวิชาชีพนี้หรือจะเปลี่ยนสาขาเรียนไปเลย แต่ที่สำคัญก็คือ ควรต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าตัวเองชอบอะไร
  
นิสิตที่เคยเจอนั้นมีทั้งคนที่ตั้งใจเอาไว้ว่าตัวเองต้องการเรียนอะไร และก็เลือกเรียนทางด้านนี้ด้วยความตั้งใจของตนเอง โดยมุ่งมั่นตั้งแต่ตอนเลือกเอนทรานซ์ ส่วนเรียนแล้วจะพบว่าสิ่งที่เคยคิดไว้นั้นมันเป็นอย่างที่คิดหรือไม่นั้น ก็ค่อยว่ากันอีกที บางกลุ่มก็เป็นพวกที่เรียนอะไรก็ได้ แล้วแต่ว่าสังคมในขณะนั้นกระแสเป็นอย่างไร หรือทางบ้านอยากให้เรียนอะไร พวกนี้ไม่ค่อยจะมีปัญหาเท่าใดนัก
  
พวกที่แย่หน่อยก็คือพวกที่โดนทางบ้านบังคับให้เรียน ทั้ง ๆ ที่เขาเองก็อยากจะเรียนสาขาอื่น หรือไม่ก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองอยากเรียนอะไร รู้แต่ว่าไม่ใช่สาขาที่โดนทางบ้านบังคับให้เรียนนี้แน่ ๆ
  
และรายที่ร้องทักผมนี้ ก็เป็นพวกที่อยู่ในกลุ่มหลังสุดนี้



------------------------------



ผมพยักหน้ารับทราบ รู้สึกดีใจที่เห็นเขาปรับความเข้าใจกับทางบ้านได้ "แล้วจะไปเมื่อไรล่ะ" ผมถามเขา
"ก็ตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไปครับ" เขาตอบมาแบบทำหน้ายิ้ม ๆ แบบมีความสุขชนิดที่ไม่ค่อยจะได้เห็นตั้งแต่รู้จักกัน
  
"เฮ้ย นี่มันกลางเทอมเองนะ ไม่รอให้จบเทอมก่อนเหรอ เพราะออกไปตอนนี้มันก็ไปต่อไหนไม่ได้อยู่ดี เรียนให้จบเทอมแรกก่อน แล้วทำเรื่องขอลาพักการศึกษาเทอมหลังเอาไว้ก่อนก็ได้ พอสอบได้ที่ใหม่ก็ค่อยมาลาออก"
  
"คงไม่ล่ะครับ เพราะจะเข้าไปอยู่วัดในวันพรุ่งนี้ บังเอิญเพื่อนที่นั่งรถมาด้วยกันแวะเข้าห้องน้ำ กำลังจะออกรถก็เห็นอาจารย์มาจอดรถตรงนี้พอดี ก็เลยจะมาบอกลา เพราะผมคงจะไม่ไปบอกลาอาจารย์ที่ภาค"
"แล้วจะอยู่วัดนานเท่าใดล่ะ จากนั้นจะไปทำอะไรต่อ"
  
"ก็คงสักสัปดาห์หนึ่งครับ แต่ก็คงขึ้นอยู่กับทางบ้าน แล้วหลังจากนั้นนะเหรอ .." เขาหยุดชะงักไปนิดนึง แล้วเบือนหน้าหลบสายตามผม แต่ผมรู้สึกว่าหน้าตาเขาดูมีความสุขจัง จากนั้นเขาก็พูดต่อ "ก็ไม่แน่นะครับ อาจอยู่วัดยาวไปเลยก็ได้ ไม่ออกมายุ่งเกี่ยวกับทางโลกอีก" เขาพูดทีเล่นทีจริง แต่ผมไม่คิดว่านิสัยเขาจะเป็นอย่างนั้น จากนั้นเขาก็พูดต่อว่า "แต่ในใจผมเอง ผมอยากออกจากวัดเพื่อเดินทางล่องลอยไปตามสายลมหรือไม่ก็สายน้ำโดยไม่มีใครมายุ่งเกี่ยวหรือบงการอะไรได้อีก แต่ก็ขึ้นอยู่กับทางบ้านว่าเขาเห็นควรอย่างไร"
  
ฟังดูแล้วผมรู้สึกแปลก ๆ ก็เลยถามเขาว่า "อ้าว ไหนว่าเคลียร์กับทางบ้านเรียบร้อยแล้วไง"
  
เขาหัวเราะแหะ แล้วก็ตอบกลับมาว่า "ก็เขายังต้องเป็นผู้ออกตังค์ค่าใช้จ่ายให้ผมนะซิครับ แต่นั่นคงเป็นสิ่งสุดท้ายแล้วครับ ที่ผมจะยอมให้เขากำหนดทางเดินชีวิตของผมได้" 
   
จากนั้นเขาหยุดชะงักไปนิดนึงก็กล่าวต่อว่า "ถ้ายังไงถ้าอาจารย์มีเวลาว่าง ก็ขอเชิญไปร่วมงานของผมด้วยนะครับ รายละเอียดต่าง ๆ ทางบ้านคงจะแจ้งเชิญไปยังภาควิชา หวังว่าอาจารย์คงไม่พลาดงานของผมในสัปดาห์หน้านะครับ ที่ผ่านมาผมเป็นฝ่ายยกมือไหว้อาจารย์ก่อน แต่วันนั้นรับรองได้ว่าอาจารย์ต้องเป็นฝ่ายยกมือไหว้ผมก่อนแน่ ๆ" เขาหัวเราะสั้น ๆ แล้วบอกต่อมาว่า "ผมรบกวนเวลาเข้าห้องน้ำของอาจารย์เพียงแค่นี้ ขอตัวก่อนนะครับ เพื่อน ๆ เขารอผมอยู่ สวัสดีครับ" เขาพูดจบยกมือไหว้ผมและก็หันหลังวิ่งอ้อมรถบรรทุกที่จอดอยู่ข้าง ๆ ลับสายตาผมไป



------------------------------



ตอนมาทำงานใหม่ ๆ เจอเหตุการณ์นิสิตปี ๑ ในที่ปรึกษาที่มีปัญหาที่สงสัยว่าจะเป็นทางด้านสุขภาพจิต เพราะหลังจากสอบมิดเทอมในเทอมปลายนั้นนั้นนิสิตคนดังกล่าวแม้ว่าจะมีมหาวิทยาลัยทุกวันแต่เช้า แต่ก็ไม่เข้าเรียนสักวิชา นั่งอ่านหนังสืออยู่ที่โต๊ะร่วมกับเพื่อนฝูง พอแจ้งทางบ้านไปก็โดนสวนกลับมาว่าก็เห็นลูกเขาเป็นปรกติดี ไม่เห็นมีปัญหาอะไร ถึงตอนสอบไล่ นิสิตเขาก็ไม่เข้าห้องสอบสักวิชา พอแจ้งทางบ้านให้ทราบ เขาก็บอกมาว่าเป็นเพราะลูกเขาอยากจะสอบเอนทรานซ์ใหม่ จะไปเรียนคณะอื่น ผลออกมาก็คือต้องรีไทร์ พ้นสภาพนิสิตไป
  
แต่พอถึงวันสอบเอนทรานซ์ ปรากฏว่านิสิตรายนั้นไม่สอบสักวิชา ที่นี้ทางบ้านรีบโทรกลับมาหา มาปรึกษาว่าจะทำอย่างไรจึงจะไม่พ้นสภาพนิสิต ขณะนี้เขาได้ให้นิสิตรายนั้นเข้าพบจิตแพทย์แล้ว ส่วนผมเองก็ได้แต่ตอบกลับไปว่าไม่รู้จะทำอย่างไรได้ เพราะทุกอย่างมันสายไปแล้ว
  
มีอยู่ปีหนึ่งได้เข้าอบรมการให้คำปรึกษาวัยรุ่น วิทยากรผู้มากประสบการณ์เล่าให้ฟังถึงกรณีนิสิตหญิงรายหนึ่ง ที่อยากเปลี่ยนสาขาการเรียน โดยอยากจะย้ายไปเรียนที่อื่น แต่ทางบ้านก็ไม่อยากให้ไป จนในที่สุดก็สามารถตกลงกับทางบ้านได้ว่ายินยอมให้นิสิตรายนั้นลาออกจากมหาวิทยาลัยเพื่อไปเรียนต่อในสาขาที่นิสิตรายนั้นต้องการยังต่างประเทศ
  
แต่ก่อนเดินทางไม่กี่วัน บิดาของนิสิตหญิงคนนั้นมาขอพบ พร้อมกับพานิสิตคนดังกล่าวมาด้วย พอมาอยู่ครบพร้อมหน้ากันก็บอกว่าเปลี่ยนใจไม่ให้ไปแล้ว พร้อมทั้งฉีกหนังสือเดินทางให้ดูต่อหน้าต่อตา นิสิตคนดังกล่าวร้องกรี๊ดออกมาได้เพียงคำเดียว แล้วก็ช็อคไป จากผู้มีสภาพจิตปรกติ กลายเป็นผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาสภาพจิตในโรงพยาบาล

รายที่ผมรู้จักนี้ ก็ได้แต่หวังว่าคงจะไม่มีเหตุการณ์เช่นที่เคยได้รับฟังมาเกิดขึ้นกับเขา
  


------------------------------


อีก ๑ สัปดาห์ถัดมา

"ขอบคุณอาจารย์ที่สละเวลามาร่วมงานนะคะ" คุณแม่ของเขากล่าวตอบผมตอนที่ผมเข้าไปลา
  
"แล้วหลังจากงานนี้มีแผนการณ์อย่างไรต่อครับ" ผมถาม
  
"ก็คงจะให้เขาอยู่ที่วัดนี้สักพักก่อน แล้วสัปดาห์หน้าจึงค่อยเอาเถ้ากระดูกของเขาไปลอยอังคารที่ทะเลคะ" 
   
พอทราบคำตอบผมค่อยชำเลืองหันกลับไปยังเมรุเผาศพ ที่มีควันลอยอย่างต่อเนื่องออกจากปล่อง

ท้ายที่สุด เขาก็ได้ในสิ่งที่เขาต้องการจริง ๆ



------------------------------   

แต่เรื่องอย่างนี้เนี่ย  ไม่ต้องมาบอกเองก็ได้นะ  ให้ญาติมาบอกให้จะดีกว่า
  
------------------------------

 หมายเหตุ : ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับเนื้อเรื่อง

วันจันทร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2558

มหาวิทยาลัยที่เรียนแล้วแถมเรื่องเจ็บตัว MO Memoir : Monday 27 April 2558

รูปที่ ๑ ป้ายโฆษณาวางไว้ริมถนน คุณเข้าใจความหมายของคำในกรอบสีเขียวว่าอย่างไร

เช้าวันนี้พอลงจากอาคารจอดรถ พ้นจากหน้าอาคารมาได้ไม่เท่าใด เห็นมีป้ายประกาศเชิญชวนให้เข้าร่วมสัมมนาที่ทางมหาวิทยาลัยจะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ พอเห็นหัวข้อเท่านั้นแหละ สะดุ้งไปเหมือนกัน ไม่รู้ว่าเป็นนโยบายของทางมหาวิทยาลัยหรือเปล่า ที่จะให้มีของแถมพิเศษแจกฟรีให้กับทุกคนในมหาวิทยาลัย ก็เลยถ่ายรูปเอามาให้ดูกัน (รูปที่ ๑ ข้างบน) เผื่อมีคนสนใจจะเข้าร่วมงาน ส่วนผมนะเหรอ ขอตัวดีกว่า :)
  
รูปที่ ๒ ป้ายประชาสัมพันธ์ที่ติดไว้ในอาคาร

ในตัวอาคารนั้นเขามีการพิมพ์โฆษณาประชาสัมพันธ์งานสัมมนาดังกล่าวเอาไว้ด้วย แต่ปรากฏว่าหัวข้อนั้นเขียนเอาไว้ไม่เหมือนกัน คือตำแหน่งของคำว่า "FREE" นั้น มันอยู่คนละที่กับป้ายประชาสัมพันธ์ที่ตั้งเอาไว้หน้าอาคาร
  
คำว่า "FREE" นี้ ถ้ามันอยู่หน้าคำนาม จะหมายถึงการให้สิ่งนั้นแบบให้เปล่า ไม่ต้องเอาอะไรไปแลก เช่น "free ticket" ก็แปลว่าตั๋วฟรี "free admission" ก็แปลว่าเข้าชมฟรี
   
แต่ถ้ามันอยู่หลังคำนาม มันจะแปลว่า "ไม่มี" เช่น "Oxygen free nitrogen" หมายถึงแก๊สไนโตรเจนที่ปราศจากออกซิเจน (หรือในความเป็นจริงคือมีอยู่ในปริมาณที่น้อยมาก) ไม่ได้แปลว่าเป็นแก๊สไนโตรเจนที่มีออกซิเจนแถมมาให้โดยไม่คิดตังค์
  
พอถึงจุดนี้ไม่ทราบว่าพอจะมองเห็นแล้วหรือไม่ว่าคำว่า "Risk-free" และ "Free risk" นั้นแตกต่างกันอย่างไร
ตอนนี้ชักสงสัยแล้วว่าเขาอยากจะให้มหาวิทยาลัยนี้เป็นแบบไหนกันแน่ :) :) :)

วันศุกร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2558

ไม่รู้จะสอนยังไงแล้ว (๖) MO Memoir : Friday 24 April 2558

เรื่องเดิม ๆ เกิดขึ้นเป็นประจำ อาจจะเป็นเพราะคิดแต่เพียงว่า ทำอย่างไรจึงจะได้ผลออกมา ไม่จำเป็นต้องนั่งเฝ้าเครื่องมือ ถึงเวลาก็ค่อยมาเก็บผล

สิ่งที่พบเห็นในเช้าวันนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ อันที่จริงก็พบเห็นอยู่เรื่อย ๆ แต่ไม่ได้นำมาเขียนลง blog แต่วันนี้ที่นำมาลงก็เพราะต้องการบันทึกไว้ว่ามันเป็นสิ่งที่พบเห็นอยู่เป็นประจำ ย้อนหลังไปตั้งแต่สมัยเมื่อออก Memoir ฉบับแรก ๆ ในปีพ.ศ. ๒๕๕๑ หรือเมื่อเกือบ ๗ ปีที่แล้ว และก็มีบันทึกเรื่องดังกล่าวไว้ใน Memoir ต่าง ๆ ดังนี้

ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๓ วันศุกร์ที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ เรื่อง "นานาสาระเรื่องไฟฟ้ากำลัง:วางเพลิงแลปไม่ใช่เรื่องยาก"
ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑๒๖ วันศุกร์ที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ เรื่อง "ไม่รู้จะสอนยังไงแล้ว(Hotplate)"
ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๓๙๘ วันเสาร์ที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ เรื่อง "ไม่รู้จะสอนยังไงแล้ว(๔)"


ในหลาย ๆ วงการนั้นต่างก็มีกฎเกณฑ์และกติกาเกี่ยวกับความปลอดภัยที่พึงต้องปฏิบัติ เช่นช่างซ่อมรถยนต์ เวลาที่ต้องเข้าไปทำงานใต้ท้องรถยนต์ เขาจะใช้แม่แรงยกรถให้ลอยสูงจากพื้น และหาขาค้ำยันมาค้ำเอาไว้ เขาจะไม่ใช้แม่แรงเป็นตัวค้ำยันให้รถลอยอยู่ตลอดเวลา เพราะถ้าหากแม่แรงคลายตัว รถก็จะตกลงมากระแทกผู้ที่นอนทำงานอยู่ใต้ท้องรถได้ แต่ในบางกรณีถ้ามีความจำเป็น (เช่นตอนถอดล้อออกเพื่อเปลี่ยน) ก็จะนำเอาล้อรถมารองเอาไว้ใต้ท้องตรงจุดรับแรง เผื่อเกิดอุบัติเหตุแม่แรงหมดแรงยกขึ้นมา รถจะได้ไม่กระแทกพื้น แต่กะทะล้อจะรองรับเอาไว้แทน (ดู Memoir ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๑๒ วันจันทร์ที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๕ เรื่อง "อย่าไว้ใจแม่แรง"
  
  
ในสนามยิงปืน ก็จะมีกติกาเอาไว้ว่าให้พึงระลึกเสมอว่าปืนทุกกระบอกมีลูกกระสุนบรรจุอยู่ ดังนั้นแม้ว่าจะทำการปลดกระสุนออกจากปืนหมดเรียบร้อยแล้ว เขาก็จะไม่ถือปืนโดยเอาปากลำกล้องชี้ไปยังคนอื่น เรียกว่าเป็นการปฏิบัติที่ทำกันเคยชิน ใครขืนทำแม้จะอ้างว่าเป็นการแหย่กันเล่น และปืนนั้นก็ไม่มีลูก คนอื่นในสนามเขาก็รังเกียจ ไม่อยากอยู่ใกล้ เพราะมันก็เคยมีอุบัติเหตุปืนลั่น เพราะปืนนั้นยังมีกระสุนบรรจุอยู่ แต่คนถือคิดว่ามันไม่มีกระสุนบรรจุอยู่แล้ว
  
ในกรณีของ magnetic stirrer ที่ถ่ายรูปมาให้ดูในวันนี้ก็เช่นกัน มันเป็นแบบให้ความร้อนได้ในตัว แต่ถึงอย่างไรก็ตามแม้ว่าเราจะไม่เปิด heater ให้ความร้อนแก่สารละลายที่ทำการปั่นกวนก็ตาม แต่ก็ไม่ควรให้มีสายไฟฟ้าหรือวัสดุใด ๆ ที่ลุกติดไฟได้สัมผัสกับตัวแผ่น plate เรื่องนี้ต้องฝึกปฏิบัติให้เคยชิน เพราะที่เคยประสบมานั้น มีทั้งพบว่าวงจนในตัวเครื่องมีการต่อสายไฟสลับกัน โดยเอาสายสำหรับควบคุมการปิด-เปิดขดลวดให้ความร้อนไปต่อเข้ากับสวิตช์ที่เป็นตัวเปิด-ปิดวงจรควบคุมการปั่นกวน และเอาสายไฟสำหรับควบคุมการปั่นกวนไปต่อเข้ากับสวิตช์ที่บอกว่าเป็นตัวเปิด-ปิดวงจรขดลวดให้ความร้อน (เครื่องส่งตรงมาจากโรงงาน ตรวจพบระหว่างการตรวจสอบความเรียบร้อยของอุปกรณ์ในระหว่างการตรวจรับอุปกรณ์) และก็เคยพบกรณีที่สวิตช์ควบคุมวงจรให้ความร้อนนั้นเสีย คือมันเปิดค้างตลอดเวลา หรือไม่ก็หลอดไฟที่แสดงว่าวงจรทำงานอยู่นั้นมันดับ
  
เรื่องแบบนี้ถ้าเป็นการกระทำของนิสิตที่ผมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาเอา เวลาเตือนเขา สอนเขา เขาก็มักจะรับฟังด้วยดี (ไม่รู้เป็นเพราะกลัวว่าจะไม่ได้สอบวิทยานิพนธ์หรือเปล่า) แต่ถ้าเป็นนิสิตที่ผมไม่ได้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหรือกรรมการสอบ เขาก็มักจะตอบกลับมาว่า ก็ไม่เห็นจะเป็นไร เพราะเขาไม่ได้เปิด Heater ให้ความร้อนนี่นา แล้วก็ทำสีหน้าไม่พอใจเดินจากไป หรือถ้าเขานั่งอยู่ก็จะหันหลังให้ ทำเป็นไม่ได้ยินคำเตือน

ถ้าเป็นการทำการทดลองที่บ้านตัวเองหรือในสถานที่ที่คนอื่นจะไม่ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ มันก็เรื่องหนึ่ง แต่นี่เป็นการทำการทดลองในห้องปฏิบัติการรวม ที่มีใครต่อใครหลายคนใช้ห้องร่วมกัน อุบัติเหตุที่เกิดจากความประมาท สะเพร่า ฯลฯ ในการทำการทดลองของคนหนึ่ง มันสามารถก่อความเสียหาย (ได้ทั้งทรัพย์สินและร่างกาย) ให้กับคนอื่นที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ได้ จึงไม่สามารถที่จะทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นได้

วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2558

ระวังอย่าให้ขดลวดความร้อนสัมผัสกับ reactor (การทำวิทยานิพนธ์ภาคปฏิบัติ ตอนที่ ๗๐) MO Memoir : Thursday 23 April 2558

เมื่อช่วงบ่ายวันนี้ได้รับแจ้งว่าระหว่างการเพิ่มอุณหภูมิให้กับ furnace ที่ใช้ให้ความร้อนแก่ fixed-bed reactor ปรากฏว่ามีประกายไฟแลปออกมาทางด้านล่างของ furnace (ชนิดติดตั้งในแนวดิ่ง) ก็เลยเข้าไปตรวจสอบ พอเปิดตัว furnace ออกมาก็พบว่าเป็นดังรูปที่นำมาแสดงข้างล่างคือขดลวดความร้อนที่ควรจะอยู่ในร่องของผนังอิฐทนไฟขาดออกจากกัน โดยปลายข้างหนึ่งหลอมติดเข้ากับท่อเหล็กกล้าไรสนิมที่ใช้ทำ fixed-bed reactor
  
รูปที่ ๑ ขดลวดความร้อนลัดวงจรจนขาด และหลอมติดกับท่อเหล็กกล้าไร้สนิมที่ใช้ทำ fixed-bed reactor

ครั้งนี้โชคดีที่ตำแหน่งที่ขาดนั้นอยู่ใกล้กับปลายขั้วต่อด้านหนึ่ง ทำให้ไม่ต้องเปลี่ยนขดลวดใหม่ทั้งเส้น เพียงแต่ยืดเส้นที่ขาดออกมาต่อเข้ากับขั้วต่อ
  
บทเรียนครั้งนี้สอนให้รู้ว่าตอนปิด furnace นั้นควรต้องมีการระมัดระวังไม่ให้ขดลวดความร้อนไปสัมผัสกับท่อโลหะที่ใส่เข้าไปในตัว furnace

วันจันทร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2558

เหตุเกิดหลังบ่ายสอง MO Memoir : Monday 20 April 2558

ยังไม่ทันจะบ่ายสองโมงครึ่ง ผมเดินผ่านด้านล่างของอาคาร แม่บ้านก็บอกว่าเมื่อสักครู่มีเหตุระเบิดและมีควันลอยออกมาจากห้องแลปที่อยู่บนชั้น ๓ อันที่จริงตอนได้ยินแม่บ้านแจ้งก็รู้สึกแปลกใจอยู่เหมือนกัน เพราะก่อนหน้านี้ผมเองก็อยู่ที่อาคารใกล้ ๆ กัน และหันออกไปทางด้านอาคารที่เกิดเหตุซะด้วย แต่ไม่ยักจะได้ยินเสียงอะไร
  
ในฐานะที่ต้องสอนหนังสือในห้องแลปนั้น ก็เลยอดไม่ได้ที่จะแวะขึ้นไปดูซะหน่อย
  
รูปที่ ๑ ตำแหน่งที่เกิดเหตุอยู่ตรงจุดที่ลูกศรสีเหลืองชี้
  
สถานที่เกิดเหตุคือตู้ดูดควัน มีเหตุการณ์ไฟไหม้ทางด้านบน แต่เจ้าหน้าที่และนิสิตที่ทำแลปอยู่บริเวณนั้นได้ช่วยกันดับไฟเรียบร้อยแล้วด้วยการใช้เครื่องดับเพลิงแบบ "ผงเคมีแห้ง" ฉีด ทำให้ผมเดาว่าฝุ่นผงที่เกิดจากผงเคมีแห้งที่ฉีดออกมานี้ (และมันลอยออกไปตามลมที่พัดลมดูดอากาศดูดออกไป) เป็นตัวที่ทำให้คนที่อยู่นอกอาคารเข้าใจผิดว่ามันเป็นควันที่เกิดจากเพลิงไหม้ มีคนบอกผมว่ามันมีทั้งควันขาวและควันดำ แต่ผมคิดว่าตัวควันดำคือควันที่เกิดจากเพลิงไหม้ (พลาสติกที่เป็นตัวต้นเพลิง) ส่วนควันขาวคือผงเคมีแห้งจากเครื่องดับเพลิง
  
รูปที่ ๒ กล่องแยกสายที่ทำจากพลาสติก (ในกรอบสีเหลือง) ที่เป็นจุดเกิดเหตุ

ตอนแรกที่ขึ้นไปถึงก็มีคนบอกว่าไฟไหม้มอเตอร์พัดลมดูดอากาศ ผมได้ยินแล้วก็งง เพราะเท่าที่ทราบก็คือตัวตู้ดูดควันที่ใช้ในห้องแลปนั้นมันมีพัดลมดูดอากาศจริง แต่มันติดตั้งอยู่บนดาดฟ้าตึก (ตึกสูง ๔ ชั้น) ก็เลยปีนตรวจสอบดูก็พบว่าด้านบนนั้นไม่ได้มีพัดลมดูดอากาศหรือมอเตอร์ไฟฟ้าใด ๆ และตัวที่เป็นต้นเหตุเพลิงไหม้ก็คือ "กล่องแยกสายไฟ"
  
นิสิตที่กำลังทำซีเนียร์โปรเจคอยู่ในห้องแลปในขณะนั้นเล่าให้ฟังว่า เขาได้ยิน "เสียง" ดังผิดปรกติ จึงไปตามครูผู้ดูแลห้องแลปให้มาตรวจสอบ ก็ทันเวลากับที่เพลิงเริ่มลุกไหม้พอดี อันที่จริง "เสียง" ที่เกิดจากประกายไฟฟ้านั้นมันจะแตกต่างไปจากเสียงที่เกิดจากการสั่นทางกลอยู่ แต่ตรงนี้ก็คงต้องขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของผู้ที่ได้ยินเสียงดังกล่าวด้วยว่าเสียงที่ได้ยินนั้นเป็นเสียงที่เกิดจากประกายไฟฟ้าหรือการสั่นทางกล
  
ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด ระบบไฟฟ้าของตู้ดูดควันตัวนี้แยกเป็นสองส่วน ส่วนแรกจะมีสายไฟฟ้าจ่ายกระแสไฟฟ้าผ่านสวิตช์ตรงไปยังมอเตอร์ของพัดลมดูดอากาศที่อยู่บนดาดฟ้า สวิตช์จ่ายกระแสไฟฟ้าให้มอเตอร์ของพัดลมนี้ถูกควบคุมอีกทีจากสวิตช์ปิด-เปิดที่ติดตั้งอยู่ทางด้านหน้าตัวตู้ดูดควัน เวลาที่เรากดสวิตช์ที่หน้าตู้ดูดควัน มันจะส่งสัญญาณไปทำให้สวิตช์จ่ายไฟฟ้าให้กับมอเตอร์เปิดหรือปิดวงจร
  
รูปที่ ๓ ภาพขยายของกล่องแยกสายที่ได้รับความเสียหาย

ส่วนที่สองนั้นเป็นระบบไฟฟ้าที่ต่อเข้ากล่องแยกสายเพื่อแยกออกไปเป็นไฟฟ้าสำหรับ ไฟแสงสว่าง สวิตช์ควบคุมการทำงานของพัดลมดูดอากาศ และเต้ารับ
  
ดังนั้นจะว่าไปแล้วในตัวกล่องรับสายไฟนั้นมันไม่มีชิ้นส่วนเคลื่อนไหวหรือที่เราเรียกว่า moving part ใด ๆ
  
ในกรณีของอุปกรณ์ที่มีชิ้นส่วนเคลื่อนไหวนั้นมันมักจะมีการสั่นสะเทือนตามมาด้วย เพียงแต่จะมากหรือน้อยให้เรารู้สึกได้หรือไม่ การสั่นสะเทือนนี้ส่งผลต่อการยึดด้วยนอต เพราะมันสามารถทำให้นอตที่ขันไว้ไม่แน่นมากพอเกิดการคลายตัวจนหลวมได้ และถ้านอตตัวนั้นเป็นนอตที่ใช้ยึดเชื่อมต่อขั้วสายไฟฟ้า การคลายตัวของนอตนั้นก็จะทำให้ขั้วโลหะของขั้วไฟฟ้าสัมผัสกันไม่เต็มพื้นที่ ความต้านทานกระแสไฟฟ้าจะสูงขึ้น ทำให้ขั้วสัมผัสนั้นร้อนจัด หรืออาจเกิดประกายไฟฟ้ากระโดยข้ามระหว่างผิวโลหะได้
  
แต่ในกรณีนี้จากการปรึกษากับผู้ที่เป็นวิศวกรไฟฟ้า ทำให้สงสัยว่าเนื่องจากกล่องแยกสายไฟดังกล่าวติดตั้งมาตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๔๖ (๑๒ ปีที่แล้ว) และไม่เคยได้รับการตรวจสอบ อาจเป็นไปได้ว่าเป็นการสั่นที่เกิดจากความถี่ของไฟฟ้ากระแสสลับ (แบบที่ทำให้หม้อแปลงไฟฟ้าส่งเสียงดังหึ่ง ๆ ออกมาได้) พอเวลาผ่านไปนานเข้าก็เลยทำให้ขั้วต่อสายไฟบางขั้วนั้นคลายตัว และสายเส้นนั้นบังเอิญอาจเป็นสายที่จ่ายไฟฟ้าไปยังเต้ารับ (ดูจากที่มีสายไฟสามเส้น) ประจวบกับในขณะนั้นมีการใช้เตาเผาอยู่พอดี จึงทำให้มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านขั้วนั้นสูงจนทำให้พลาสติกที่เป็นลำตัวของกล่องแยกสายไฟร้อนจนลุกไหม้

ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็นเพียงข้อสัณนิษฐานเบื้องต้นที่มีการพูดคุยกัน ส่วนความจริงจะเป็นเช่นใดนั้นก็คงต้องรอการตรวจสอบจากช่างไฟฟ้าอีกที

แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๕๗ (ตอนที่ ๓) MO Memoir : Monday 20 April 2558

เอกสารฉบับนี้แจกจ่ายเป็นการภายใน ไม่นำเนื้อหาลง blog
  
เนื้อหาในเอกสารฉบับนี้เกี่ยวกับความรู้พื้นฐานที่จำเป็นต้องใช้ในการทำการทดลองงานวิจัยของบริษัทที่คาดว่าจะดำเริ่มดำเนินการในปีนี้
  
กรกฎาคม ๒๕๔๑ รูปหมู่สมชิกกลุ่มวิจัยตัวเร่งปฏิกิริยาโลหะออกไซด์ ในวันรับปริญญาของนิสิตมหาบัณฑิต

วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2558

ภาพบันทึกความทรงจำ กว่าจะเป็นวิศวกรเคมี ๗๑-๘๐ MO Memoir : Thursday 16 April 2558

ชุดที่ ๘ ของภาพลำดับที่ ๗๑-๘๐ ที่นำลงในกล่อง "กว่าจะเป็นวิศวกรเคมี" บนหน้า blog วันที่ที่ปรากฏเหนือรูปคือวันที่นำรูปลง blog ส่วนรายละเอียดของแต่ละรูปนั้นอยู่ข้างใต้รูปแต่ละรูป 
   
ถัดจากภาพชุดนี้จะพักรูปของนิสิตปริญญาตรีไว้ชั่วคราว โดยจะเปลี่ยนเป็นภาพของนิสิตบัณฑิตศึกษาของภาควิชาบ้าง โดยจะเป็นภาพชุด "ภาพบันทึกชีวิตบัณฑิตศึกษา" ซึ่งได้เริ่มนำลงไปแล้วในช่วงก่อนสงกรานต์ที่ผ่านมา

วันพุธที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๘
วันพุธที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ งานจุฬาวิชาการครั้งที่ ๑๒ นิสิตของภาควิชาขณะกำลังแนะนำให้นักเรียนมัธยมปลายรู้จักกับงานในสาขาวิชาวิศวกรรมเคมี

วันศุกร์ที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๘
วันพฤหัสบดีที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ นิสิตปี ๓ ระหว่างทำการทดลองการกลั่นในวิชา Lab Unit Operation II

วันจันทร์ที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๘
วันจันทร์ที่ ๓ มีนาคม ๒๕๕๓ นำเสนอบอรด์ซีเนียร์โปรเจคนิสิตชั้นปีที่ ๔ คนหนึ่งในรูปนี้ปัจจุบันเป็นผู้ประกาศข่าวทางสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งในปัจจุบัน

วันพุธที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๘
วันศุกร์ที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ นิสิตปี ๒ ระหว่างทำการทดลองเปรียบเทียบเพื่อพิสูจน์คำกล่าวที่ว่า "ทอดไข่เจียวให้อร่อยต้องใช้น้ำมันหมู" นั้นจริงหรือเท็จ โดยทำการทอดไข่เจียวสองกระทะ ใช้น้ำมันหมูกับน้ำมันถั่วเหลืองเปรียบเทียบกัน

วันเสาร์ที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๘
วันเสาร์ที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๐ งานบายเนียร์บัณฑิตใหม่ของภาควิชา (นิสิตรหัส ๔๖) ที่สมาคมนิสิตเก่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันอังคารที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๘
วันอังคารที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๔๙ แลปเคมีวิเคราะห์ การเผากระดาษกรองจากการกรองตะกอนซัลเฟต ก่อนที่จะทำการชั่งน้ำหนักตะกอนซัลเฟตที่กรองได้ (การทดลองหาปริมาณซัลเฟตในน้ำทะเลที่เก็บมาจากหาดวอนนภา บางแสน)

วันศุกร์ที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๘
วันศุกร์ที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ แลปเคมีอินทรีย์นิสิตปี ๒ (รหัส ๔๙) ทดสอบเปรียบเทียบเสถียรภาพของสายโซ่ไฮโดรคาร์บอนอิ่มตัวกับไม่อิ่มตัว ด้วยการทอดไข่เจียวในน้ำมันหมูเทียบกับน้ำมันถั่วเหลือง
  
วันจันทร์ที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๘
วันพุธที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ งานจุฬาวิชาการครั้งที่ ๑๒ เป็นรูปหมู่ของนิสิตที่อยู่ที่บูธแนะนำภาควิชา

วันพฤหัสบดีที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๘
วันพุธที่ ๓ กันยายน ๒๕๕๗ นิสิตปี ๒ รหัส ๕๖ กำลังเรียนวิชาแลปเคมีสำหรับนิสิตวิศวกรรมเคมี ณ ห้องปฏิบัติการเคมีพื้นฐาน การทดลองวัดความกระด้าง (hardness) และความเป็นด่าง (alkalinity) ของน้ำตัวอย่าง
  
วันอังคารที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๘
วันอังคารที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๔๘ นิสิตปี ๔ (รหัส ๔๔) เก็บบอร์ดหลังเสร็จสิ้นการนำเสนอผลงานซีเนียร์โปรเจต ณ ลานเกียร์ นับถึงปีนี้นิสิตในรูปก็สำเร็จการศึกษาไปครบ ๑๐ ปีแล้ว

วันจันทร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2558

โน๊ตเพลง "เติมใจให้กัน" และ "HOME" MO Memoir : Monday 13 April 2558

วันสงกรานต์ก็ขอเปลี่ยนมาเป็นเรื่องเบา ๆ บ้าง หลังจากเป็นเรื่องหนัก ๆ ให้คนอ่านได้ปวดหัวติดต่อกัน ๓ เรื่อง

"พริกขี้หนูกับหมูแฮม" เป็นภาพยนต์ที่ออกฉายเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๓๒ หรือเมื่อ ๒๖ ปีที่แล้ว ในภาพยนต์เรื่องนี้มีเพลงประกอบชื่อ "เติมใจให้กัน" ขับร้องโดยนักร้องชื่อ "มัม ลาโคนิค"
  
เพลงนี้มีการนำมาร้องซ้ำใหม่โดยนักร้องคนอื่น แต่ที่แปลกไปก็คือมีการเปลี่ยนเนื้อเพลงให้แตกต่างไปจากต้นฉบับ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมคนที่เอามาร้องทีหลังจึงเปลี่ยนเนื้อร้องให้แตกต่างไปจากต้นฉบับ
 
อีกเพลงหนึ่งนั้นชื่อเป็นภาษาอังกฤษคือ "HOME" แต่เป็นเพลงไทย คนที่ร้องแล้วได้อารมณ์มากที่สุด (ตามความคิดเห็นของผม) คือ "ธีร์ ไชยเดช" อาจจะเป็นเพราะน้ำเสียงและรูปแบบการร้องที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเขาก็ได้
  
โน๊ตเพลง "เติมใจให้กัน" และ "HOME" ที่นำมานี้ต่างดัดแปลงจากโน๊ตเปียโนทั้งคู่ โดยนำมาตัดให้ง่ายลงหน่อย มือใหม่อย่างผมจะได้พอเล่นได้บ้าง แม้ว่าจะมีการเป่าแล้วเสียงโน๊ตสูงยังเพี้ยนอยู่เป็นประจำก็ตาม โดยโน๊ตเพลง HOME นำมาเปลี่ยนบันได้เสียงให้ต่ำลงมาจาก D Major มาเป็น Bb Major
  
ที่เลือกสองเพลงนี้มาในวันนี้ก็เพราะชอบความหมายของเนื้อเพลงทั้งสอง เพลง "เติมใจให้กัน" นั้นให้ความรู้สึกที่ดีเวลาที่ต้องอยู่ห่างไกลกับใครสักคน (เช่นเวลาที่ต้องห่างจากแฟนเวลาที่ฝ่ายหนึ่งไปเรียนต่างประเทศ) ส่วนเพลง "HOME" นั้นให้ความรู้สึกที่ดีสำหรับคนที่มีบ้านเป็นของตนเอง (และต้องการใครสักคนมาใช้ชีวิตร่วมอยู่ในบ้านหลังนั้น)
  
(โน๊ตเพลง "เติมใจให้กัน" ต้นฉบับจากหนังสือ Easy Popular for Piano เล่ม 1 โดยผู้ใช้นามว่า Ottava ปีพ.ศ. ๒๕๔๓ โน๊ตเพลง "HOME" ต้นฉบับจากหนังสือ Easy Popular for Piano เล่ม 10 โดยผู้ใช้นามว่า Ottava เช่นกัน ปีพ.ศ. ๒๕๔๘ ทั้งสองเล่มผมไปซื้อมาจากร้านหนังสือ Books Kinokuniya ที่สยามพารากอนในราคาเล่มละ ๑๘๐ บาท)