วันพุธที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2558

GC-2014 ECD & PDD ตอนที่ ๓๖ ECD หลังผ่านไปปีเศษ MO Memoir 2558 Dec 30 Wed

หลังให้เครื่องได้พักผ่อนไปปีเศษ เมื่อวานก็ได้ฤกษ์เปิดเครื่องใหม่อีกครั้ง แต่ก็ทำเอามึนไปพักใหญ่ เพราะจำไม่ได้ว่าตั้งค่าอะไรไว้เท่าไร ตั้งวาล์วตัวไหนไว้ตรงไหน โชคดีที่มีบันทึกเก็บเอาไว้ ก็เลยเสียเวลาไปเพียงแค่ไม่ถึงครึ่งวัน แต่ถึงกระนั้นก็ต้องทำการ regenerate คอลัมน์ที่ 150ºC ข้ามคืน เช้านี้ก็เลยทำการทดสอบการวัด N2O ดูก่อนเลย

การวัด NO นั้นวัดที่ 40ºC ส่วนการวัด N2O นั้นวัดที่ 150ºC ค่าพารามิเตอร์ต่าง ๆ ในการตั้งเครื่องนั้นดูได้ในรูปในหน้าที่ ๒-๘ ซึ่งแสดงค่าในส่วนของ tab ต่อไปนี้ที่อยู่ใต้กราฟ Column, ECD1, PDD, General, Add flow (รวมของ tab Relay ทางด้านขวาด้วย) และ tab ด้านขวาคือ Line 1 และ Heater/Flow นอกจากนี้ยังมีในส่วนของ Make up gas สำหรับ ECD ที่ตั้งความดันไว้ที่ 10 kPa (ตั้งโดยใช้ pressure regulator ที่อยู่ด้านบนทางด้านหลังของเครื่อง)

ส่วนรูปในหน้า ๙ นั้นเป็นผลการฉีด N2O ๖ ครั้ง โดยนำเอาสัญญาณที่วัดได้นั้นมาวางในกราฟเดียวกัน ที่เห็นเส้น base line ของสัญญาณอยู่ที่ระดับความสูงที่แตกต่างกันเป็นผลจากการ drift อย่างช้า ๆ ของเส้น base line (ไม่ได้เกิดจากการใช้ซอร์ฟแวร์ขยับเส้นสัญญาณ) ส่วนรูปที่ ๑๐ นั้นเอากราฟที่วัดได้เมื่อกรกฎาคม ๒๕๕๗ (เส้นล่างสุด) มาวางเทียบเวลาและความสูง จะเห็นว่าตำแหน่งพีคยังคงเดิมอยู่ แต่ความแรงสัญญาณที่วัดได้ในวันนี้ต่ำกว่าเล็กน้อย (และยังไม่คงที่) ซึ่งตรงนี้เรายังพอจะเพิ่มความแรงของสัญญาณได้ด้วยการลดอัตราการไหลของ make up gas ของ ECD ให้ต่ำลงไปอีก

ที่เห็นเส้นโครมาโทแกรมลดระดับลงในช่วงแรกเป็นผลจากการเปลี่ยนตำแหน่งวาล์วฉีดตัวอย่าง จากตำแหน่งเก็บตัวอย่างไปอยู่ตำแหน่งฉีดตัวอย่าง ทำให้อัตราการไหลของ carrier gas เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมันส่งผลต่อระดับเส้น base line

ส่วนรูปในหน้า ๑๑ นั้นเป็นแผนผังอย่างง่ายของระบบการไหลของแก๊สที่ผมวาดเอาไว้เมื่อวาน การตั้งวาล์ว 2 และวาล์ว 4 ที่เราใช้ระหว่างการวิเคราะห์นั้น จะให้ carrier gas ที่มาจากวาล์ว 1 ไหลผ่านวาล์ว 2 และตรงไปยัง ECD เลย และ carrier gas ที่มาจากวาล์ว 3 ไหลผ่านวาล์ว 4 ตรงไปยัง PDD เช่นกัน

Memoir ฉบับนี้ก็เป็นฉบับสุดท้ายของปีนี้ สรุปว่าปีนี้ออก Memoir มาทั้งสิ้น ๑๙๑ ฉบับ รวม ๑๐๔๖ หน้ากระดาษ A4 แล้วพบกันใหม่ปีหน้า (ก็อีกไม่กี่วันข้างหน้า) พร้อมกับสมาชิกใหม่ของกลุ่มที่จะมีเพิ่มอีก ๒ คน ขอให้สนุกกันในช่วงเทศกาลปีใหม่กันทุกคนนะครับ สวัสดี




 

 


 


วันเสาร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2558

โน๊ตเพลง "ธรณีกรรแสง" และ "Blowin' in the wind" MO Memoir : Saturday 26 December 255

คราวนี้เลือกเพลงได้ไม่เข้ากับเทศกาลเลย ถ้าเป็นสัก ๑๐ วันที่แล้วก็ว่าไปอย่าง

ช่วงเดือนที่ผ่านมาก็จัดว่าวุ่นวายไปหมด ไม่ว่าจะเป็นการออกข้อสอบ คุมสอบ ตรวจข้อสอบ ตัดเกรด ส่งรายงานความก้าวหน้า ประเมิน ฯลฯ หลายสิ่งที่อยากทำก็เลยต้องเก็บเอาไว้ก่อน เพิ่งจะมีโอกาสบ้างก็ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ได้ทดลองเอาเพลงไทยเดิมมาใส่โน๊ตสากลเล่น แต่ทำไมไปเลือกเพลงโศกก็ไม่รู้เหมือนกัน
 
อีกเพลง (Blowin' in the wind) ก็เป็นเพลงเก่าอายุกว่า ๕๐ ปีแล้ว น่าจะจัดได้ว่าเป็นเพลงคลาสสิกเพลงหนึ่ง เพราะปัจจุบันก็ยังคงพอได้ยินคนเปิดฟังกันอยู่ โน๊ตต้นฉบับไปซุกอยู่ในกองเอกสารเก่าในบ้านก็เลยถือโอกาสเอามาเขียนใหม่ก่อนที่กระดาษมันจะโทรมลงไปกว่านี้ ตัวเนื้อร้องเขาใส่กำกับโน๊ตเพลงเอาไว้เพียงเที่ยวเดียว อีกสองเที่ยวเขาไม่ได้ใส่เข้าไปให้ด้วย ก็เลยลองใส่เองดู แต่มันก็รู้สึกว่ามีขัด ๆ อยู่บางจุด ยังไงใครจะเอาไปใช้ก็แก็ไขกันเองก็แล้วกันนะครับ



วันพุธที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2558

วัดโวลต์ก่อนใช้ก็ดีนะ (การทำวิทยานิพนธ์ภาคปฏิบัติ ตอนที่ ๗๗) MO Memoir : Wednesday 23 December 2558

เดือนที่แล้วมีโอกาสได้ไปเดินหาซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าแถววังบูรพาและบ้านหม้อเพื่อมาซ่อมแซมอุปกรณ์ ตัวหนึ่งที่ได้มาคือหม้อแปลงไฟฟ้ากระแสตรง จะเอามาแทนที่ adapter สำหรับจอคอมพิวเตอร์ตัวเดิมที่มันเสียแล้วซ่อมไม่ได้ แถมยังหาซื้อไม่ได้อีก ของเดิมที่เสียไปนั้นบอกว่าไฟขาออก DC 12 V กระแสสูงสุด 4 A ก็เลยเลือกซื้อหม้อแปลงปรับแรงดันขาออกได้จาก 4.5 - 12 V ขนาด 5A มาใช้งานแทน


ก่อนใช้งานก็ลองเอามัลติมิเตอร์ที่มีอยู่วัดโวลต์ขาออกที่ขั้วทั้งสองดูก่อน ปรากฏว่ามันจ่ายไฟได้เกินพิกัด คือปุ่ม 4.5 V มันจ่ายออกมา 5.75 V ปุ่ม 6 V จ่ายออกมา 8.08 V ปุ่ม 7.5 V จ่ายออกมา 10.06 V ปุ่ม 9 V จ่ายออกมา 12.40 V และปุ่ม 12 V จ่ายออกมา 17.07 V
  
ไม่รู้เหมือนกันว่าที่มันจ่ายออกมาเกินนั้นเป็นการเผื่อการสูญเสียหรือเปล่า แต่ในกรณีของผมที่ต้องการไฟ 12 V นั้นพบว่าตั้งปุ่มไปที่ 9 V (ก็จะได้ไฟขาออก 12 V) ก็สามารถทำให้เครื่องทำงานได้เหมือนเดิม

สงสัยอยู่เหมือนกันว่าถ้าผมไม่ตรวจสอบเสียก่อน แล้วตั้งปุ่มจ่ายไฟไปที่ 12 V เลย จะเกิดอะไรขึ้นกับจอคอมพิวเตอร์ที่รับแรงดัน 17 V เข้าไป

แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๕๗ (ตอนที่ ๒๒) MO Memoir : Wednesday 23 December 2558

เอกสารฉบับนี้แจกจ่ายเป็นการภายใน ไม่นำเนื้อหาลง blog


วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ตั๋วรถไฟอังกฤษเมื่อต้นทศวรรษ ๑๙๙๐ MO Memoir : Sunday 20 December 2558

หลังจากที่รอมาเกือบ ๓ เดือน ในที่สุดพอถึงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกันยายน ๒๕๓๒ ผมก็ได้รับแจ้งจากอาจารย์หัวหน้าภาควิชาในขณะนั้นว่า วันพรุ่งนี้ (คือวันอังคาร) ให้ไปทำวีซ่าสำหรับไปเรียนต่อที่อังกฤษ และเดินทางคืนวันศุกร์ พอเช้าวันจันทร์ (ก็เข้าเดือนตุลาคม) ก็เริ่มเรียนเลย
 
นักเรียนไทยที่ได้ทุน Britich Council ไปเรียนโท-เอกที่ Imperial College ด้วยกันในคืนวันนั้นมี ๔ คน (รวมผมแล้ว) เป็นวิศวไฟฟ้า ๒ คน วิศวเคมี ๒ คน ๒ คนเป็นรุ่นพี่ผมหนึ่งปีคนนึงและสองปีคนนึง ส่วนอีกคนเป็นรุ่นน้องผมปีนึง ปัจจุบันคนหนึ่งเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในอังกฤษ คนหนึ่งถึงแก่กรรมไปเมื่อปีที่แล้ว ส่วนอีกคนหนึ่งน่าจะได้เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
 
รูปที่ ๑ ตั๋วรถใต้ดินเที่ยวเดียว รายสัปดาห์ และรายเดือน ของกรุงลอนดอน
 
วันแรกที่ไปถึงก็ยังเข้าที่พักของมหาวิทยาลัยไม่ได้ ต้องไปพักกันที่โรงแรมก่อน (มีเจ้าหน้าที่ British Council พาไป) คืนนั้นก็เลยได้โอกาสออกมานั่งรถไฟในลอนดอนเที่ยวกันเป็นครั้งแรก ที่แรกที่คิดจะไปกันก็คือ Big Ben จำได้ว่าพอโผล่ออกมาจากสถานี Westminster ก็มองไปรอบ ๆ เพื่อหาหอนาฬิกา Big Ben แต่ก็หาไม่เจอ แต่พอเงยหน้าขึ้นฟ้าเท่านั้นก็เห็นเลย
 
รูปที่ ๒ ตั๋วรถไฟของ British Rail
 
ตั้งแต่ออกจากอังกฤษมาเมื่อกว่า ๒๐ ปีที่แล้วก็ไม่ได้กลับไปอีกเลย ได้ไปใกล้ที่สุดก็ตอนไปเยี่ยมนิสิตปริญญาเอกที่ไปทำวิจัยอยู่ที่เยอรมัน แต่นั่นก็ร่วมสิบปีที่แล้ว และก็ไม่ได้แวะไปประเทศไหนในยุโรปอีก อังกฤษตอนที่ผมไปเรียนตอนนั้นเพิ่งจะเริ่มขุดอุโมงค์เชื่อมกับทางฝรั่งเศส แต่ละประเทศก็มีสกุลเงินของตนเอง นักเรียนไทยอย่างเราถ้าจะไปเที่ยวยุโรปก็ต้องทำเรื่องขอวีซ่ากันมั่วไปหมด (ต้องขอวีซ่าของทุกประเทศที่จะแวะ) แถมยังต้องแลกเงินกันตามจำนวนประเทศที่จะไปเยือนอีก
 
ยุโรปเองเป็นประเทศที่มีเครือข่ายรถไฟกว้างขวาง อาจเป็นเพราะแต่ก่อนนั้นใช้การเดินทางโดยรถไฟเป็นหลัก สถานีรถไฟจึงตั้งอยู่กลางเมือง เวลาไปเที่ยวเมืองไหนที่มีรถไฟผ่านก็ใช้วิธีการนั่งรถไฟไปลงที่เมืองนั้น แล้วก็เดินเที่ยวกันทั้งวันได้รอบเมือง (แทบไม่จำเป็นต้องนั่งรถเมล์ เว้นแต่เป็นสถานที่ที่อยู่นอกตัวเมือง เช่นปราสาทต่าง ๆ) ตกเย็นก็เดินวนกลับมาที่สถานีรถไฟ ขึ้นรถไฟกลับบ้าน
 
ปีแรกที่ไปเรียนนั้นได้มีสิทธิเข้าพักในหอพักของมหาวิทยาลัย เขาจัดให้ไปอยู่ที่หอพักใกล้กับห้าง Harrods (เรียกว่าเดินไม่ถึงร้อยเมตรก็ถึงห้างแล้ว) ไปเรียนใหม่ ๆ ก็เรียนกันหนัก เช้าจรดเย็น (ค่ำกลับมาทบทวนอีก) จะมีเวลาไปเที่ยวบ้างก็วันเสาร์-อาทิตย์ แรก ๆ ก็เที่ยวในลอนดอนก่อน จากนั้นก็ค่อยออกไปยังเมืองใกล้ ๆ
 
ระบบขนส่งมวลชนของลอนดอนในตอนนั้น (ตอนนี้เป็นยังไงผมไม่รู้) ใช้ระบบตั่วร่วม คือมีการแบ่งพื้นที่ออกเป็นโซนต่าง ๆ โดยให้กลางเมืองเป็นโซนที่ ๑ ปีแรกที่ผมไปถึงมีเพียงแค่ ๓ โซน แต่ปีถัดมาเขามีการซอยย่อยเป็น ๕ โซน ค่าเดินทางในเขตพื้นที่โซน ๑ จะแพงกว่าเขตรอบนอก ตั๋วรถไฟใต้ดินนั้นมีทั้งแบบเที่ยวเดียว รายวัน รายเดือน และรายปี และยังสามารถใช้ได้กับรถไฟและรถเมล์ด้วย เช่นถ้าซื้อตั๋วเดือนที่ใช้ได้สำหรับการเดินทางในโซน ๑-๓ เราสามารถใช้ตั๋วใบนี้ขึ้นรถไฟใต้ดิน รถไฟ หรือรถเมล์ ที่วิ่งอยู่ในโซน ๑-๓ ได้โดยไม่ต้องจ่ายตังค์อีก แต่ถ้าจะเดินทางออกไปนอกโซน ๓ ก็ทำเพียงแค่แสดงตั๋วเดินทางโซน ๓ ให้เขาดู เขาจะคิดค่าโดยสารเฉพาะจากขอบโซน ๓ ออกไป เวลาเดินทางกลับก็ทำแบบเดียวกัน เขาจะคิดเฉพาะค่าโดยสารมาจนถึงเขตโซน ๓ เท่านั้น
 
ตั๋วรถไฟตอนนั้นเป็นกระดาษหนา มีแถบแม่เหล็กอยู่ข้างหลัง ขนาดประมาณบัตรเอทีเอ็ม ส่วนจะมีสีอะไรหรือลวดลายอะไรนั้นเขาก็เปลี่ยนไปได้เรื่อย ๆ อย่างเช่นตั๋วรถไฟใต้ดินตอนปีแรก ๆ ที่ผมไปถึงนั้นเป็นสีเหลือง แต่ที่เอามาให้ดูในรูปที่ ๑ (แถวบนสุดด้านซ้าย) เป็นตั๋วปี ๑๙๙๔ เป็นเที่ยวที่ผมใช้เดินทางจากหอพักในลอนดอนเพื่อมาขึ้นเครื่องบินเดินทางกลับประเทศไทยที่สนามบิน Heathrow เนื่องจากสำเร็จการศึกษาแล้ว
 
แถวบนสุดด้านขวาในรูปที่ ๑ เป็นตั๋ววัน ถ้าเป็นวันทำงานจะซื้อตั๋วนี้ได้หลังเวลา ๙.๓๐ หรือ ๑๐.๐๐ ผมก็จำไม่ได้ แต่ถ้าเป็นวันหยุดจะซื้อได้ตั้งแต่สถานีเปิดเลย ตั๋วนี้เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว เพราะในกลางกรุงลอนดอนนั้นเดินเล่นเที่ยวได้จนถึงเที่ยงคืน ตั๋วนี้ไม่มีรูปติด ดังนั้นพอใครซื้อมาแล้วถ้าไม่คิดจะใช้ไปในอีกในวันนั้นก็ให้คนอื่นเอาไปใช้ได้
 
แถวที่สองในรูปที่ ๑ เป็นตั๋วเดือน ใช้ในเวลาใดก็ได้ รูปซ้ายเป็นด้านหน้า รูปขวาเป็นด้านหลัง แต่ถ้าจะซื้อตัวแบบนี้ต้องไปทำบัตรมีรูปติดก่อน เพราะเป็นตั๋วเฉพาะตัว มีการระบุบัตรผู้ใช้ไว้ที่มุมขวาบนของตั๋ว (ในรูปคือ F2892) ผมมาใช้ตั๋วแบบนี้ตอนอยู่เป็นปีที่ ๓ เพราะอยู่ห่างจากมหาวิทยาลัยออกมา ต้องเดินทางด้วยรถไฟใต้ดินไปกลับทุกวัน ส่วนแถวที่สามเป็นตั๋วรายสัปดาห์ ก็ต้องใช้บัตรซื้อเหมือนกัน นอกจากนี้ยังมีตั๋วรายปีอีก แต่ราคาต่อใบมันแพงขึ้นไปอีก (มันแพงกว่าเงินทุนที่ได้รับในแต่ละเดือน) 
  
รถไฟอังกฤษนั้นเริ่มแรกจากเอกชนก่อสร้างและบริหารจัดการกันเอง มีทั้งรถไฟสายยาวและรถไฟท้องถิ่น ต่อมาภายหลังก็มีการยุบรวมเข้าด้วยกันเป็น British Rail ตั๋วรถไฟ British Rail มีหลายราคา ขึ้นอยู่กับว่าจะเดินทางในช่วงเวลาไหน ถ้าเป็นช่วงชั่วโมงเร่งด่วนจะเป็นราคามาตรฐาน (Standard - STD) แต่ถ้าเป็นช่วงเวลาใกล้กับช่วงโมงเร่งด่วนก็จะถูกลงมาหน่อย และถ้าเป็นช่วงเวลาห่างจากชั่วโมงเร่งด่วนก็จะถูกลงไปอีก (เรียกว่าซื้อตั๋วไป-กลับสำหรับการเดินทางนอกเวลาชั่วโมงเร่งด่วน ยังได้ราคาถูกว่าซื้อตั๋วชั่วโมงเร่งด่วนเพียงเที่ยวเดียว รถไฟวิ่งเชื่อมเมืองใหญ่ ๆ นั้นเรียกว่าออกกันทุก ๆ ครึ่งหรือหนึ่งชั่วโมง (ลองนึกภาพรถไฟกรุงเทพ-เชียงใหม่วิ่งกันวันละกว่า ๒๐ ขบวนดูก็ได้ครับ ที่ช่วงชั่วโมงเร่งด่วนออกทุกครึ่งชั่วโมง ช่วงนอกเวลาเร่งด่วนก็ออกกันทุกชั่วโมง)
 
ถ้าเป็นตั๋วเดินทางไปกลับในวันเดียวกัน (เดินทางนอกเวลาชั่วโมงเร่งด่วน) ก็จะเป็นตั๋วที่เรียกว่า Cheap Day Return (CHEAPDY RTN) ที่เอามาให้ดูในแถวบนสุดรูปซ้ายของรูปที่ ๒ แต่ถ้าจะเดินทางกลับในวันอื่นก็มีตั๋วที่เรียกว่า Blue Saver Return (แถวบนสุดใบขวาในรูปที่ ๒) ตรงนี้อาจมีคนสงสัยว่าทำไปต้องเรียกว่า "Blue" เหตุผลก็เพราะตารางเวลารถไฟที่เขาประกาศนั้น ช่วงเวลาเร่งด่วนเขาจะพิมพ์บนพื้นสีชมพู ช่วงเวลาติดกับชั่วโมงเร่งด่วนจะใช้พื้นสีขาว (เรียกว่า White saver) และช่วงเวลาตั๋วราคาถูกจะใช้พื้นสีน้ำเงิน (จึงเรียกว่า Blue saver)
 
แถวที่สองในซ้ายเป็นตั๋วรถไฟ ส่วนใบฃวาเป็นตั๋วจองที่นั่งบนรถไฟ ถ้าที่นั่งมีคนจองเอาไว้เขาก็จะมีพนักงานนำป้ายมาระบุไว้ว่ามีคนจองแล้ว การจองที่นั่งมักกระทำกันถ้าเป็นการเดินทางในช่วงที่มีคนเดินทางเยอะ แต่ถ้าเป็นนอกช่วงเวลาก็เรียกว่าไม่จำเป็น หาที่นั่งกันเองได้ตามสบาย รถไฟวิ่งระหว่างเมืองใหญ่ที่อยู่ไกลกันเรียกว่า Intercity ตอนแรกที่ผมไปเขามี Intercity 125 คือเป็นรถไฟความเร็วสูงวิ่งได้เร็ว ๑๒๕ ไมล์ต่อชั่วโมง (ประมาณ ๒๐๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง) เป็นรถจักรดีเซล ต่อมามีการพัฒนาเป็น Intercity 225 คือวิ่งได้เร็ว ๒๒๕ กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นรถจักรไฟฟ้า แต่เขาก็ไม่ได้วิ่งด้วยความเร็วสูงตลอดเส้นทางนะครับ จะทำเช่นนั้นก็ต่อเมื่อสถานีหยุดรถถัดไปนั้นอยู่ห่างกันมากพอควร เช่นระยะทางจากลอนดอนไปยังเมืองเอดินเบอระ (เมืองหลวงของสกอตแลนด์) ที่ประมาณกรุงเทพ-เชียงใหม่ ใช้เวลาเดินทาง ๔ ชั่วโมง เพราะเส้นทางนั้นผ่านเมืองใหญ่หลายเมือง รถไฟต้องต้องจอดรับส่งผู้โดยสารตามเมืองต่าง ๆ เหล่านั้น มีช่วงทำความเร็วสูงสุดได้เพียงช่วงสั้น ๆ เมื่อเข้าใกล้สกอตแลนด์เท่านั้นเอง
 
ที่อังกฤษนี่ดีอย่างคือคิดค่ารถไฟตามระยะทางจากต้นทางไปยังปลายทาง ไม่ได้คิดตามประเภทรถว่าเป็นรถหวานเย็นหรือรถความเร็วสูง การสร้างรถไฟความเร็วสูงจะคุ้มค่าก็ต่อเมื่อมีผู้โดยสารเป็นประจำในจำนวนที่มากพอในแต่ละวัน และก็ต้องวิ่งได้วันละหลาย ๆ เที่ยว และแน่นอนว่าค่าโดยสารจะต้องแพงขึ้นไปด้วย จุดเด่นของรถไฟความเร็วสูงในประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศมันอยู่ตรงที่เป็นการเชื่อมต่อระหว่างกลางเมืองกับกลางเมือง เช่นถ้าคิดเวลาเดินทางจากกลางกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษไปยังกรุงปารีสประเทศฝรั่งเศส ถ้าไปรถไฟก็ทำเพียงแค่ไปขึ้นรถไฟที่กลางกรุงลอนดอน เสียเวลาเดินทางหลายชั่วโมงหน่อยก็ไปโผล่ที่กลางกรุงปารีส แต่ถ้าเดินทางโดยเครื่องบินก็ต้องเดินทางออกจากกลางกรุงลอนดอนไปยังสนามบินที่อยู่นอกเมือง ต้องไปเช็คอินก่อนเวลา เสียเวลาบินอีกหนึ่งชั่วโมง เสียเวลาผ่านด่านที่สนามบิน และเสียเวลาเดินทางจากสนามบินมายังกลางกรุงปารีสอีก ในกรณีเช่นนี้ถ้าเวลาที่ใช้เดินทางโดยรถไฟมันสูสีกับเครื่องบิน มันจะแข่งกันกันได้
 
เห็นคนจำนวนไม่น้อยในบ้านเราอยากให้บ้านเรามีรถไฟความเร็วสูงเหลือเกิน ที่แน่ ๆ คือคนก่อสร้างได้กำไรจากการก่อสร้าง แต่ก่อสร้างเสร็จแล้วจะมีจำนวนคนไปใช้ หรือมีเงินจ่ายค่าตั๋วมีจำนวนสักเท่าใด คุ้มค่าหรือไม่ รู้หรือเปล่าว่าจังหวัดที่มีรถไฟความเร็วสูงผ่านก็ใช่ว่าจะได้ใช้ เพราะมันอาจไม่หยุดที่จังหวัดนั้น (ถ้ามีคนใช้สถานีนั้นน้อย) แต่ถ้าจะให้มันหยุดรับส่งทุกป้ายมันก็ทำความเร็วสูงไม่ได้ แล้วจะเอารถไฟความเร็วสูงมาทำไป
 
แถวที่สามในรูปที่ ๒ เป็นตั๋วซื้อจากเครื่องขายอัตโนมัติ สังเกตได้จากมันมีมุมเหลี่ยมเพราะเขาตัดตั๋วมาจากม้วนกระดาษ และมีรูสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ เจาะอยู่ (ตรงมุมซ้ายบน) ตัวย่อต่าง ๆ ที่อยู่บนตั๋วถ้าเป็น Y-P ก็คือ Young person railcard เป็นตั๋วราคาถูกสำหรับนักเรียน (ต้องเอาบัตรนักเรียนไปทำบัตร Young person railcard เก็บเอาไว้ก่อน จากนั้นจึงใช้บัตรดังกล่าวซื้อตั๋ว) ส่วน NSE คือ Network southeast คือเครือข่ายรถไฟด้านตะวันออกเฉียงใต้ของอังกฤษ (มีลอนดอนเป็นศูนย์กลาง) เครือข่ายรถไฟนี้เคยได้รับการจัดว่าเป็นเครือข่ายรถไฟที่หนาแน่นมากที่สุดในโลก (ส่วนตอนนี้เป็นของใครก็ไม่รู้) SGL คือตั๋วเที่ยวเดียว OUT กับ RTN คือตั๋วไปกลับ OUT คือออกจากสถานีที่ซื้อตัว RTN คือเดินทางกลับสถานีที่ซื้อตั๋วนั้น

ที่ผมเก็บตั๋วรถไฟเหล่านี้เอาไว้เพราะใช้เป็นเครื่องเตือนความจำว่าได้ไปเที่ยวที่ไหนเมื่อใดมาบ้าง และขนาดมันก็กระทัดรัดดี ไม่เกะกะอะไร ตอนนี้เห็นสภาพมันโทรมลงก็เลยเอามาสแกนเก็บเอาไว้หน่อยก็แค่นั้นเอง (อันที่จริงยังมีอีกหลายใบ)

วันพุธที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ปั๊มสูบไนโตรเจนเหลวจากถังเก็บ MO Memoir : Wednesday 16 December 2558

ช่วงเที่ยงวันนี้ระหว่างกินข้าวเที่ยงอยู่ก็มีโทรศัพท์มาขอปรึกษาเรื่องปั๊มสำหรับสูบถ่ายไนโตรเจนเหลวจากถังเก็บ ประเด็นที่เป็นคำถามคือสิ่งที่ทางผู้ขายส่งมาให้นั้นมันตรงกับข้อกำหนดในสัญญาซื้อขายหรือไม่
  
ถังไนโตรเจนเหลวที่ใช้กันในห้องปฏิบัติการนั้น มีทั้งถังเล็กถังใหญ่ ถังใบใหญ่ก็จะตั้งอยู่บนรถเข็น เข็นไปมาตามทางเดินในห้องแลปได้ เวลาจะใช้ไนโตรเจนเหลวก็ต้องเปิดวาล์วที่หัวถังและให้แรงดันในถังนั้นดันให้ไนโตรเจนเหลวในถังไหลขึ้นมาตามท่อ (ที่จุ่มลงไปเกือบถึงก้นถัง) และไหลออกที่ปลายหัวจ่าย (ด้านขวาของหัวจ่าย (1) ในรูปที่ ๑)
 
ประเด็นที่เป็นข้อสงสัยคือผู้เขียนข้อกำหนดนั้นเคยเห็นระบบที่ใช้ "การอัดอากาศจากภายนอกเข้าไปในถัง" เพื่อทำให้เกิดแรงดันดันให้ไนโตรเจนเหลวไหลออกมาทางหัวจ่าย ก็คาดว่าทางผู้ขายจะต้องจัดหาระบบนี้มาหใ แต่สิ่งที่ทางผู้ขายส่งให้มานั้นมันใช้ "ความดันที่เกิดจากการระเหยของไนโตรเจนเหลว" เป็นตัวดันให้ไนโตรเจนเหลวไหลออกจากถัง มันจึงเกิดคำถามขึ้นมาว่าของที่ส่งมาให้นั้นเป็นไปตามข้อกำหนดหรือไม่
 
เพื่อตอบคำถามดังกล่าวผมจึงถามคำถามกลับไปว่าไนโตรเจนเหลวนี้จะเอามาใช้ทำอะไร เพื่อหล่อเย็น (โดยไม่สนว่าจะเย็นเท่าใด) หรือใช้ในการวิเคราะห์ที่จำเป็นต้องคุมอุณหภูมิไว้ที่จุดเดือดของไนโตรเจนเหลว
 
รูปที่ ๑ ถังเก็บที่เป็นคำถาม (1) คือหัวจ่าย (2) คือจุกปิดเวลาถอดหัวจ่ายออก จะเห็นว่าจุกปิดทำเพียงแค่วางลงไปเฉย ๆ (ในรูปจุกปิดนั้นวางหงายอยู่) เพื่อที่ถ้าความดันสูงเกินไป ตัวจุกปิดก็จะยกตัวขึ้นเอง
 

รูปที่ ๒ ข้อมูลอุณหภูมิจุดเดือดของของเหลวผสม N2 + O2 ที่ความดัน 1 atm และ 2 atm
 
รูปที่ ๓ เลข (1) คือวาล์วระบายความดันในกรณีที่ทำการเติมไนโตรเจนเหลวเข้าทางหัวจ่าย

รูปที่ ๔ วาล์วระบายความดัน (1) จะเปิดที่ 10 pisg ส่วนตัวที่สอง (2) จะเปิดที่ 15 psig วาล์วสองตัวนี้เป็นระบบนิรภัยป้องกันไม่ให้ถังเกิดความเสียหายจากความดันสูงเกิน

ถังใบนี้จะนำมาใช้เก็บไนโตรเจนเหลวสำหรับการวิเคราะห์พื้นที่ผิวด้วยเทคนิค BET ที่วัดปริมาณการดูดซับแก๊สไนโตรเจนของตัวอย่างของแข็งรูพรุนที่อุณหภูมิ "จุดเดือดของไนโตรเจนเหลว" อุณหภูมิจุดเดือดของไนโตรเจนเหลวนี้ขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์ของไนโตรเจนที่ใช้ การอัดอากาศเข้าไปในถังเก็บจะเกิดปัญหาคือแก๊สออกซิเจนในอากาศ (มีจุดเดือดสูงกว่าไนโตรเจน) จะควบแน่นกลายเป็นของเหลว (อันที่จริงยังแก๊สอื่นเช่น ไอน้ำ อาร์กอน อีก แต่เป็นปริมาณที่น้อยกว่าออกซิเจนมาก) ละลายเข้าไปในไนโตรเจนเหลวเดิม ทำให้จุดเดือดของไนโตรเจนเหลวในถังเพิ่มสูงขึ้น 
  
(รูปที่ ๒ เป็นข้อมูลนำมาจากเอกสารชื่อ "Vapor-liquid equilibrium for the system oxygen-nitrogen-argon" ของ National defense research committe of the office of scientific research and development เมื่อ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ โดย M. L. Sagenkahn และ H. L. Fink ซึ่งหาดาวน์โหลดได้ทางอินเทอร์เน็ต ผมเอาข้อมูลมาวาดกราฟใหม่)

ดังนั้นในความเห็นของผม ระบบที่ทางผู้ขายจัดหามาให้เป็นระบบที่มีความเหมาะสมแล้ว การใช้การอัดอากาศเพื่อเพิ่มความดันภายในถังนั้นจะก่อให้เกิดปัญหาการปนเปื้อนที่สามารถส่งผลต่อผลการวิเคราะห์ได้ในภายหลัง

วันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2558

แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๕๗ (ตอนที่ ๒๑) MO Memoir : Monday 14 December 2558

เอกสารฉบับนี้แจกจ่ายเป็นการภายใน ไม่นำเนื้อหาลง blog

 เนื้อหาในเอกสารฉบับนี้เป็นผลการวิเคราะห์ TiO2 (P-25) ด้วยเทคนิค XRF (เพื่อการอ้างอิง) และการปรับแก้วิธีการเก็บตัวอย่างแก๊สทางด้านขาเข้าของ SCR reactor

วันอาทิตย์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2558

และแล้วแม่นกก็จากไป MO Memoir : Sunday 13 December 2558

ช่วงเวลานี้ของทุกปีมุมหน้าต่างมุมนี้มันดีอย่างคือได้รับแสงแดดอ่อน ๆ ยามเช้า แถมยังมีชายคาให้หลบฝนฟ้าคะนอง งูและกระรอกก็มากวนไม่ได้ แต่เสียตรงที่ว่ามันไม่มีอะไรกำบัง
  
ตอนราว ๆ ปลายเดือนตุลาคมก็เห็นมีเศษกิ่งไม้เล็ก ๆ มากองไว้ เป็นผลงานของนกกางเขนคู่หนึ่ง แต่อยู่ดี ๆ มันก็หายไป ปล่อยทิ้งร้างเอาไว้อย่างนั้น และพอต้นเดือนพฤศจิกายนก็มีผู้จับจองรายใหม่ คราวนี้เป็นนกเขา
 
ด้วยว่ากระจกหน้าต่างมันเป็นกระจกสีชา ตอนกลางวันนอกบ้านมันสว่างกว่าในบ้าน ก็เลยมองออกไปข้างนอกได้ แต่ข้างนอกยากที่จะมองเข้ามาข้างใน ก็เลยเปิดโอกาสให้ถ่ายรูปได้ใกล้ ๆ ช่วงเวลานั้นก็เลยต้องปิดม่านทั้งวันทั้งคืนและเอาเทปกาวไปแปะกลอนหน้าต่าง เพื่อกันเผลอไปเปิดหน้าต่างบานดังกล่าว เวลาที่มาแอบดูตอนเช้ากับตอนค่ำก็จะเห็นแม่นกกกไข่อยู่เสมอ
 
จนกระทั่งเมื่อปลายเดือนที่แล้ว (ก่อนวันที่จะมีงูเขียวพระอินทร์มากินตุ๊กแกหนึ่งวัน) ตอนเช้าลูกได้ยินเสียงแม่นก กระพือปีกบินออกไปแบบตกใจอะไรสักอย่าง ก็เลยโผล่หน้าไปแอบดู พบว่าแม่นกไม่อยู่ที่รัง ตอนแรกคิดว่าแม่นกคงจะออกไปหาอะไรกิน แต่ตอนค่ำก็ไม่เห็นกลับมา ซึ่งเป็นเรื่องแปลก แต่กระนั้นก็ยังคงปล่อยรังทิ้งเอาไว้เรื่อย ๆ จะรอดูว่าแม่นกจะกลับมาอีกไหม ผ่านไปกว่าสองสัปดาห์แล้วก็ไม่เห็นกลับมาอีกเลย เมื่อวานก็เลยได้เวลารื้อเอารังดังกล่าวออกเพื่อทำความสะอาดหน้าต่างซะที
 
ในรังมีไข่อยู่สองฟอง แต่พอพลิกดูก็พบว่าไข่ทั้งสองฟองมีรอยแตกอยู่แล้ว ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นเพราะว่าแม่นกรู้ว่ามันเลยเวลาที่ไข่ควรจะต้องฟักได้แล้วแต่ไม่ฟักสักทีหรือเปล่า ก็เลยทิ้งรังไป ตอนนี้ก็ได้แต่รอดูว่าปีหน้าจะได้มีโอกาสเห็นอีกหรือเปล่า
  
รูปที่ ๑ รูปนี้ถ่ายไว้เมื่อ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๘
  
รูปที่ ๒ แม่นกคงกำลังนึกสงสัยอยู่มั้งว่ามีอะไรอยู่อีกฟากหนึ่งของหน้าต่าง
  
รูปที่ ๓ อีกสัปดาห์ต่อมาก็ยังคงเฝ้ากกไข่อยู่อีก
 
รูปที่ ๔ หลังจากแม่นกทิ้งรังไปกว่า ๒ สัปดาห์แล้ว ก็ได้เวลารื้อเอารังออกซะที รอยแตกบนเปลือกไข่เป็นรอยแตกที่มีมาก่อนรื้อเอารังออกมา รังนี้รื้อเอาออกมาเมื่อวาน แต่เพิ่งจะมาถ่ายรูปเอาวันนี้
 
รูปที่ ๕ อันนี้เป็นของบ้านที่อยู่ติดกัน หน้าต่างบานนี้เปิดทิ้งเอาไว้ตลอด (เพราะอยู่ในมุมที่ฝนไม่สาด) แม่นกก็เลยใช้บานหน้าต่างกับบานพับเป็นที่ทำรังซะเลย รูปนี้เห็นชัดเลยว่าแม่นกก็ถ่ายมูลเอาไว้ที่รังนั่นแหละ
 
รูปที่ ๖ ส่วนตัวนี้หางสวยดี มองเห็นไม่ชัด เลยเอากล้องซูมเต็มที่ถ่ายรูปมาฝาก

ไร้สาระอีกเรื่องในช่วงก่อนเที่ยงของวันที่อากาศอบอ้าวไม่มีแดด ไม่มีลมพัด ใบไม้ของทั้งไม้เตี้ยและไม่ใหญ่ที่มองเห็นรอบตัวไม่กระดิกเลย จะมีสั่นไหวบ้างก็เป็นเพราะกระรอกกระโดดข้ามไปมาหรือไม่ก็มีนกมาเกาะ อากาศทำท่าเหมือนกับว่าจะมีฝนตก ทั้ง ๆ ที่เวลานี้มันควรจะเป็นหน้าหนาวนะ

วันเสาร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2558

การเคลื่อนที่นิรันดร์ (Perpetual motion) MO Memoir : Saturday 12 December 2558

คำว่า "Perpetual motion" นี้มีผู้แปลว่า "การเคลื่อนที่ของเครื่องจักรกลในทางทฤษฎี ซึ่งถ้าไม่มีการสูญเสียพลังงาน (จะเนื่องด้วยแรงเสียดทานหรือด้วยเหตุใดก็ตาม) จะทำให้การเคลื่อนนี้เป็นไปได้อย่างต่อเนื่องด้วยอัตราเดิมโดยไม่จำเป็นต้องมีการป้อนพลังงานจากแหล่งภายนอกเข้าไป"
 
รูปที่ ๑ หนังสือ "ฟิสิกส์เพื่อความเพลิดเพลิน" (ซ้าย) เล่ม ๑ พิมพ์ในปีพ.ศ. ๒๕๒๕ (ขวา) เล่ม ๒ พิมพ์ในปีพ.ศ. ๒๕๒๗

เมื่อกว่า ๓๐ ปีที่แล้วทางสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติได้รับมอบลิขสิทธิ์หนังสือจากสถานฑูตรัสเซียเพื่อจัดแปลเป็นภาษาไทย ผมเข้าใจว่าหนังสือที่ได้รับมอบลิขสิทธิ์มานี้จะมีอยู่หลายเล่มด้วยกัน แต่ที่เอามาเขียนเรื่องราวในวันนี้มี ๒ เล่มคือ "ฟิสิกส์เพื่อความเพลิดเพลิน เล่ม ๑" และ "ฟิสิกส์เพื่อความเพลิดเพลิน เล่ม ๒"
 
หนังสือ "ฟิสิกส์เพื่อความเพลิดเพลิน เล่ม ๑" แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษเรื่อง "Physics for Entertainment : Book I" ซึ่งแปลจากต้นฉบับภาษารัสเซียมาเป็นภาษาอังกฤษโดย Arthur Shkaraosky ส่วนหนังสือ "ฟิสิกส์เพื่อความเพลิดเพลิน เล่ม ๒" ก็แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษเรื่อง "Physics for Entertainment : Book II" ซึ่งแปลจากต้นฉบับภาษารัสเซียมาเป็นภาษาอังกฤษโดย Arthur Shkaraosky เช่นกัน รายละเอียดต่าง ๆ ของหนังสือที่จัดแปลเป็นภาษาไทยนี้ดูได้ในรูปที่ ๒ ผมเองก็ไปได้หนังสือสองเล่มนี้มาเมื่อร่วม ๓๐ ปีที่แล้วจากศูนย์หนังสือจุฬา ที่ใต้ถุนศาลาพระเกี้ยว (ตอนนั้นศูนย์หนังสือจุฬาก็มีอยู่แห่งเดียวในประเทศ)

รูปที่ ๒ รายละเอียดการแปลเป็นภาษาไทย

ในฉบับแปลเป็นภาษาไทยได้นำคำนำของผู้แต่งหนังสือที่เขียนให้กับฉบับภาษารัสเซียในการตีพิมพ์ครั้งที่ ๑๓ มาลงเอาไว้ ทำให้ทราบว่าหนังสือต้นฉบับภาษารัสเซียเขียนโดย ยา พีรีลแมน (Ya Perelman ผมเขียนตามฉบับแปลไทย สำหรับผู้สนใจประวัติผู้เขียนสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้ใน wikipedia ในชื่อ Yakov Perelman) หนังสือเล่มนี้ได้รับการแปลเป็นภาษายูเครนในปีพ.ศ. ๒๔๖๘ และแปลเป็นภาษาเยอรมันปนฮิบบรูในปีพ.ศ. ๒๔๗๔ เรียกว่าถ้านับจากต้นฉบับภาษารัสเซียที่ทำการตีพิมพ์ครั้งแรก หนังสือเล่มนี้ก็น่าจะมีอายุกว่าร้อยปีแล้ว
 
ที่วันนี้หยิบหนังสือสองเล่มนี้ขึ้นมาก็เพราะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวเกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์ที่ได้พลังงานมาฟรี ๆ อยู่ได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งแหล่งพลังงานภายนอก (อีกแล้ว) 
   
รูปที่ ๓ รูปแบบหนึ่งของเครื่องจักรที่หมุนได้เองตลอดเวลา ด้วยการใช้ลูกตุ้มถ่วงน้ำหนัก
 
ความต้องการได้พลังงานมาฟรี ๆ โดยไม่ต้องลงทุนนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีมานานแล้ว อย่างน้อยก็ตั้งแต่ยุโรปสมัยกลาง และยังคงมีมาจนถึงปัจจุบัน แต่ก็ยังไม่มีใครประสบความสำเร็จสักที หนังสือสองเล่มที่ยกมาเล่าในวันนี้ก็กล่าวถึงเรื่องแบบนี้และให้ตัวอย่างประกอบไว้หลายตัวอย่าง (ที่ไม่ประสบความสำเร็จ) ซะด้วย ลองเริ่มจากตัวอย่างแรกในรูปที่ ๓ ที่ออกแบบให้ลูกตุ้มน้ำหนักทางด้านขวามือนั้นตกลงล่าง ซึ่งจะไปดันให้เฟืองนั้นหมุนในทิศทางตามเข็มนาฬิกาและยกตุ้มน้ำหนักทางด้านซ้ายกลับขึ้นไปด้านบนใหม่ ก่อนที่จะเคลื่อนตกลงมาใหม่ทางด้านขวา อุปกรณ์ในรูปที่ ๔ ก็มีหลักการทำงานแบบเดียวกับอุปกรณ์ในรูปที่ ๓ แต่คราวนี้ออกแบบให้ลูกตุ้มน้ำหนักนั้นกลิ้งตกลงล่างอยู่ในช่องว่างของวงล้อทางด้านขวา ก่อนจะถูกการหมุนของวงล้อยกกลับขึ้นไปด้านบนใหม่
 
รูปที่ ๔ อุปกรณ์ทำนองเดียวกับรูปที่ ๓ แต่คราวนี้ให้ลูกตุ้มน้ำหนักเคลื่อนที่อยู่ในช่องของวงล้อ

เปลี่ยนจากวงล้อมาเป็นพื้นลาดเอียงดูกันบ้าง แนวความคิดของรูปที่ ๕ คือให้ตุ้มน้ำหนักทางด้านขวาลื่นไถลลงล่าง เพื่อไปดึงเอาตุ้มน้ำหนักที่อยู่ทางด้านซ้ายขึ้นด้านบน ก่อนที่จะเคลื่อนที่ขึ้นมาจนถึงจุดสูงสุดของพื้นลาดเอียงแล้วร่วงหล่นลงไปใหม่ การออกแบบนี้มาจากแนวความคิดที่ว่าด้วยพื้นลาดเอียงที่มีความชันต่ำนั้น แรงดึงที่ใช้ดึงวัตถุหนักขึ้นที่สูงจะลดลง แต่ผู้ออกแบบคงลืมนับจำนวนตุ้มน้ำหนักที่อยู่ทางด้านซ้ายที่มีมากกว่าทางด้านขวา
 
รูปที่ ๕ การออกแบบที่ใช้หลักการของพื้นลาดเอียง

เปลี่ยนจากการใช้ตุ้มน้ำหนักมาเป็นน้ำหนักของโซ่กันดูบ้าง แนวความคิดของอุปกรณ์ในรูปที่ ๖ ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากอุปกรณ์ในรูปที่ ๕ กล่าวคือถ้าทำให้โซ่ด้านขวามือมีความยาวมากกว่าด้านซ้ายมือ น้ำหนักของโซ่ด้านขวามือก็จะมากกว่าน้ำหนักของโซ่ทางซ้ายมือ ดังนั้นโซ่ด้านขวามือจะตกลงล่าง และดึงโซ่ด้านซ้ายมือสูงขึ้นไป ทำให้ล้อเฟืองตัวบนสุดที่โซ่พันอยู่นั้นหมุนได้ตลอดเวลา

รูปที่ ๖ แนวความคิดนี้ใช้น้ำหนักจากโซ่ที่มีความยาวต่างกัน

ไส้ตะเกียง (และไส้เทียน) ทำงานด้วยการอาศัยแรงแคปปิลารีทำให้ของเหลวเคลื่อนที่ขึ้นที่สูงกว่าได้ อุปกรณ์ในรูปที่ ๗ ก็ออกแบบโดยอาศัยแนวความคิดนี้ กล่าวคือถ้ามีไส้ตะเกียงจำนวนมากพอก็จะสามารถดูดน้ำจากถาดด้านล่างไปไว้ในถาดด้านบนได้ และให้น้ำที่เอ่อล้นจากถาดด้านบนนั้นไปหมุนกังหันไอน้ำอีกที 
  
รูปที่ ๗ การออกแบบที่ใช้หลักการทำงานของไส้ตะเกียง

ถ้าคิดว่าอุปกรณ์ในรูปที่ ๗ นั้นมีขนาดเล็กเกินไปก็ขอแนะนำระบบในรูปที่ ๘ ที่อาศัยหลักการลอยตัวของวัตถุในของเหลวที่ใช้กล่องที่มีความหนาแน่นต่ำกว่าน้ำ มุดเข้าทางด้านล่างของอาคารและลอยขึ้นสู่ผิวน้ำทางด้านบน (ตอนนี้ให้สมมุติว่าไม่มีการรั่วไหลของน้ำที่ทางด้านเข้าของกล่องทางด้านล่างของอาคารก่อนนะครับ)

 รูปที่ ๘ เครื่องจักรนิรันดร์ขนาดใหญ่ที่ใช้หลักการลอยตัวของวัตถุในของเหลว กล่องที่ลอยตัวสูงขึ้นทางด้านขวาจะไปดึงให้กล่องที่อยู่ทางด้านซ้ายมุดกลับเข้ามาใต้ผิวน้ำใหม่

อุปกรณ์ไฮเทคตัวสุดท้ายที่หนังสือดังกล่าวยกมาให้ชมคืออุปกรณ์ที่อาศัยแรงแม่เหล็กจากแม่เหล็ก (ก) ดูดให้ตุ้มน้ำหนัก (ข) เคลื่อนที่ขึ้นไปตามพื้นลาดเอียง (ม) ไปจนถึงจุดบนสุด (ค) ก็จะร่วงหล่นลงล่างไหลไปตามราง (น) และใช้แรงเฉื่อยจากการไหลลงนั้นส่งตัวกลับไปบนพื้นลาดเอียง (ม) ใหม่ด้วยก่อนที่จะวนกลับตรงทางโค้ง (ง) กลับไปอยู่บนพื้นลาดเอียง (ม) ใหม่อีกครั้งหนึ่ง 
  
รูปที่ ๙ ระบบนี้ใช้แรงแม่เหล็กดูดเข้าลูกเหล็กในเคลื่อนที่ขึ้นด้านบน

เป็นไงครับเครื่องจักรกลที่หมุน/เคลื่อนไหวได้อย่างนิรันดร์โดยไม่ต้องพึ่งพึงแหล่งพลังงานอื่น (นอกจากแรงโน้มถ่วง) ถ้าจะใช้เข้ายุคกับปัจจุบันหน่อยก็คงเป็นแนวความคิดแบบใช้มอเตอร์ไฟฟ้าไปหมุนไดนาโมให้ผลิตกระแสไฟฟ้า แล้วเอากระแสไฟฟ้าที่ได้นั้นมาหมุนมอเตอร์ไฟฟ้าใหม่อีกที
  
เนื่องด้วยท้ายกระดาษมีที่ว่างเหลือก็ขอปิดท้าย Memoir ฉบับนี้ด้วยภาพบรรยากาศงานปั่นจักรยานเมื่อบ่ายวันวานสักรูปก็แล้วกัน ถึงแม้จะเป็นระยะทางเพียงสั้น ๆ แต่พวกเขาก็ตั้งใจมุ่งมั่นที่จะมาร่วมงาน (ที่แปลกคือนายตำรวจนายหนึ่งที่มาปฏิบัติหน้าที่อยู่แถวนี้กลับไม่รู้ว่าขบวนนี้มาจากไหนมาได้อย่างไร เพราะเห็นเข้ามาสอบถามขบวนนี้ว่าโผล่มาได้ยังไง)