วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ผมรู้จักอาจารย์จุฬาคนอื่นที่ดีกว่านี้นะ สนไหม จะแนะนำให้รู้จัก (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๑๑๘) MO Memoir : Monday 28 November 2559

เพียงแค่วันรุ่งขึ้นหลังการสอบซีเนียร์โปรเจค
นิสิตหญิงปี ๔ คนหนึ่งของภาควิชาก็ทำเซอร์ไพรส์ทั้งเพื่อนฝูงและอาจารย์ทั้งภาควิชา
ด้วยการประกาศข่าวงานแต่งงานของเธอที่จะจัดขึ้นในปลายปีนั้น กับ

อาจารย์หนุ่มจุฬา ดีกรีดอกเตอร์จากเมืองนอก


--------------------


เขาย้ายมาจากภาควิชาอื่นครับ แม้ว่าจะเป็นรุ่นพี่ ก็เลยต้องมาเริ่มเรียนวิชาพื้นฐานกับน้อง ๆ ปี ๒ ใหม่
เจอหน้ากันครั้งแรกตอนเรียนแลปเคมี ผมเกือบจะไล่ออกนอกห้องแลปแล้ว ด้วยเหตุผลที่ว่า

"เป็นนิสิตชาย ทำไมแต่งเครื่องแบบนิสิตหญิงมาเรียน"

ก็แหม หน้าตาของรายนี้เนี่ย ต้องขอยืมข้อความของโรสลาเลนที่เขียนไว้ในนิยายเรื่อง "รอยอินทร์" มาดัดแปลงหน่อยว่า "ถ้าตัดแต่หัวมาตั้ง ใครเห็นเข้าก็ต้องนึกว่าเป็นผู้ชาย"
ไม่เหมือนตอนนี้นะครับ ถ้าไม่เห็นบัตรนิสิตหรือบัตรประชาชน ก็บอกไม่ได้หรอกครับว่าเป็นชายหรือหญิง


--------------------



ตอนนี้ถ้าจะให้บรรยายลักษณะของเขาที่ผมจำได้หรือครับ ก็เห็นแต่ภาพนิสิตหญิงที่ไม่มีการแต่งหน้าใด ๆ ดูเหมือนจะมีไรหนวดนิด ๆ ด้วย ไว้ผมบ๊อบสั้นฟู ๆ ยุ่ง ๆ (ไม่มีการติดกิ๊ฟ คาดผม หรือรัดผม ใด ๆ ทั้งสิ้น ดูไม่ออกเหมือนกันว่าเคยหวีบ้างหรือเปล่า) ใส่เสื้อนิสิตหลวม ๆ กระโปรงจีบรอบตัวยาวคลุมเข่า สวมรองเท้าผ้าใบ เวลาเดินก็เดินเร็ว ๆ แบบจ้ำเอา ๆ
กิริยาท่าทางแคล่วคล่องครับ พูดเก่ง ท่าทางเหมือนกับไม่กลัวใคร (คือมีความกล้าหาญนั่นเอง) เป็นที่รู้จักของอาจารย์ทั้งภาควิชา
และสิ่งสำคัญที่เจ้าตัวยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบานก็คือ "งานบ้านไม่เป็นสักอย่าง"

แต่เรื่องทำอาหารไม่เป็นเนี่ยไม่ได้มีเพียงแค่เจ้าตัวหรอกครับ นิสิตปี ๒ เกือบทั้งภาคก็เป็นเช่นนั้น
เพราะตอนนั้นเรายังมีการทำแลปทอดไข่เจียวในวิชาเคมีอินทรีย์ เพื่อพิสูจน์คำกล่าวที่ว่า "ทอดไข่เจียวให้อร่อยต้องใช้น้ำมันหมู" จริงหรือเท็จ ก็เห็นเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่ทำไข่เจียวเป็น



--------------------


ผมเคยเอ่ยปาก "ชม" เขาว่า คนอย่างคุณเนี่ย ใครได้ไปเป็นคู่ชีวิตเดินอยู่เคียงข้าง หรือเป็นเพื่อนนั่งเคียงข้างเวลากินข้าวด้วย ถือว่าผู้นั้นโชคดีมาก
ปรากฏว่าเขาตอบสวนผมกลับมาว่า 
 
"อาจารย์กำลังจะบอกว่า ถ้าเขาเดินสวนกับหนู พอเห็นหน้าหนูก็คงจะกลับหลังหันวิ่งหนี หรือไม่ก็ถ้านั่งกินข้าวอยู่ฝั่งตรงข้ามกัน จะกินข้าวไม่ลงใช่ไหมคะ"

เออ .... รู้ทันซะด้วย



--------------------



ในพักหลัง ๆ นี้ภาควิชาเราจะสอบการนำเสนอซีเนียร์โปรเจคเป็นวิชาสุดท้ายครับ และมักจะจัดกันในช่วงวันสุดท้ายของการส่งเกรด เรียกว่าสอบเสร็จกันในบ่ายวันนั้นและส่งเกรดกันก่อนเส้นตายในเย็นวันนั้นเลย

วันรุ่งขึ้น (ถ้าจำไม่ผิด) ก็มีโทรศัพท์จากเขาโทรมาหาผม ถามว่าผมอยู่ที่ไหน มีเรื่องอยากจะขอพบ
ผมก็ตอบกลับไปว่าตอนนี้อยู่ที่แลป (ตึก ๕ ชั้น ๕) แวะมาหาได้เลย สักพักเขาก็แวะมาหาครับ
ตอนนั้นผมนั่งคุยอยู่กับนิสิตบัณฑิตศึกษา อยู่ตรงหัวมุมทางแยกที่แยกออกมากจากทางเดินหลัก
พอเขาโผล่พ้นหัวมุมมาเห็นผม เขาก็บอกกับผมว่า "อาจารย์ หนูมีอะไรจะบอก หนูจะแต่งงานแล้วนะ ปลายปีนี้ นี่แฟนหนู" แล้วเขาก็ชี้ให้ดูผู้ชายที่เดินตามมาข้างหลัง แล้วก็กล่าวต่อว่า

"นี่หนูบอกอาจารย์เป็นคนแรกเลยนะ อยากจะเห็นว่าอาจารย์จะทำหน้าอย่างไร เห็นอาจารย์ชอบว่าหนูนักว่าจะหาแฟนได้เหรอ"


--------------------



และผมทำหน้าอย่างไรเหรอครับ ไม่รู้เหมือนกันครับ เพราะไม่มีกระจกส่องดูหน้าตัวเองในตอนนั้น
แต่ที่จำได้แน่ ๆ คือ จะเรียกว่าช็อคแบบคาดไม่ถึงก็ได้ครับ เมื่อรับรู้ว่า ... ไม่ใช่เรื่องที่ว่าเขาบอกว่าเขาจะแต่งงานนะครับ แต่เป็น "ใครคือว่าที่เจ้าบ่าว" ต่างหาก 
  
เพราะบังเอิญผมก็รู้จักกับ "ว่าที่เจ้าบ่าว" เขาซะด้วย

และทันทีที่ข่าวนี้ทราบไปถึงหูอาจารย์ในภาควิชา ปฏิบัติการ Mission Impossible (ที่ไม่ประสบความสำเร็จสมชื่อ) ของอาจารย์ในภาควิชาจึงบังเกิดขึ้น เพื่อหาทางให้อาจารย์หนุ่มคนดังกล่าวเปลี่ยนใจให้ได้


--------------------



ผมไปเรียนต่อโท-เอกที่อังกฤษตอนปีพ.ศ. ๒๕๓๒ ปี ๒๕๓๓ ก็เริ่มมีนักเรียนทุนกระทรวงวิทย์ที่คัดเอานักเรียนม. ๖ ไปเรียนต่อ ตรี-เอก เพื่อกลับมาทำงานใช้ทุน
หนึ่งในนักเรียนเหล่านั้นที่ผมได้รู้จักก็คือว่าที่เจ้าบ่าวผู้นั้น ช่วงนั้นเป็นช่วงปีสุดท้ายที่ผมเรียน กำลังจะสำเร็จการศึกษาและกลับมาทำงานใช้ทุน ว่าที่เจ้าบ่าวผู้นั้นเพิ่งจะเริ่มเรียนในระดับปริญญาตรี (คนละสาขาวิชากับผม)
น้องเขาเป็นคนสุภาพกิริยามารยาทเรียบร้อยครับ มาเจอกันอีกทีตอนที่เขาเรียนจบกลับมาทำงานใช้ทุน ก็ยังเห็นเขาเป็นคนสุภาพมีกิริยามารยาทเรียบร้อยเหมือนเดิมครับ


--------------------



บางคนเขาบอกว่า คนที่เป็นคู่ชีวิตกันควรที่จะต้องมีอะไรต่อมิอะไรที่เหมือนกัน เมื่อมาใช้ชีวิตร่วมกัน จะได้ไม่ขัดแย้งกัน
แต่บางคนก็บอกว่า คนที่เป็นคู่ชีวิตกัน ควรที่จะต้องมีอะไรที่มันแตกต่างกัน ต่างคนจะได้เติมเต็มส่วนที่อีกคนหนึ่งขาดหายไป
คู่นี้ก็น่าจะเข้าข่ายกรณีหลังมั้งครับ



--------------------



ไม่ใช่ผมคนเดียวหรอกครับที่ช็อคกับข่าวดังกล่าว อาจารย์ทั้งภาคพอทราบข่าวก็ออกอาการเดียวกัน
(อาจารย์ผู้หญิงคงตกใจด้วยเหตุผลที่ว่าทำไมสเป็กอย่างนั้นจึงหาแฟนหนุ่มหล่อนักเรียนนอกได้ ส่วนฉันไม่มีใครมาจีบสักที ส่วนอาจารย์ผู้ชายก็คงจะตกใจด้วยเหตุผลที่ว่า "ไสยศาสตร์มีจริง" ข้อความในย่อหน้านี้ผมคิดเองเออเองนะครับ)
หลังจากข่าวงานแต่งงานเผยแพร่ออกไป ได้ยินมาว่าอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งถึงกับเชื้อเชิญ "ว่าที่เจ้าบ่าว" ไปรับประทานข้าวกลางวันด้วยพร้อมกับเอ่ยปากว่า 
 
"ผมรู้จักอาจารย์จุฬาคนอื่นที่ดีกว่านี้นะ สนใจไหม จะแนะนำให้รู้จัก"

ข้อมูลตรงส่วนนี้ผมไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่ได้ยินมาจากอาจารย์รุ่นน้องอีกที
แต่ที่แน่ ๆ คือ ความพยายามใด ๆ ที่จะเปลี่ยนใจ "ว่าที่เจ้าบ่าว" นั้น ไม่ประสบความสำเร็จ



--------------------



ผมเชื่อว่าเราแต่ละคนต่างก็มีสิ่งที่ดีงามอยู่ในตัวเอง เพึยงแต่ว่าตัวเองจะรู้หรือไม่ หรือเลือกที่จะไม่แสดงออกให้คนอื่นเห็น
หรือเลือกที่จะแสดงออกให้กับใครเพียงบางคนได้เห็น หรือเฉพาะกับคนที่ตาถึงเท่านั้นที่มองเห็น
สำหรับคู่นี้ผมว่าน่าจะเป็นในสองกรณีหลังครับ :) :) :)
ก็ขนาดฝ่ายหญิงเล่าให้ผมฟังเองว่า ตอนฝ่ายชายไปสู่ขอ ทางบ้านฝ่ายหญิงก็บอกแล้วนะครับว่ารายนี้ทำงานบ้านอะไรไม่เป็นสักอย่าง และงานนี้ไม่รับคืน แต่ทางฝ่ายว่าที่เจ้าบ่าวก็ยังยืนยันความเชื่อมั่นในตัวเอง


--------------------


ที่เล่ามาทั้งหมดข้างต้นเนี่ย ไม่ได้เป็นการเอาความลับอะไรมาเปิดเผยนะครับ และก็ไม่ได้เป็นการเล่าครั้งแรกด้วย แต่เป็นการรวบรวมเอาสิ่งต่าง ๆ ที่ผมได้ขึ้นไปกล่าวบนเวทีในงานแต่งงานของเขามาเขียนบันทึกเอาไว้เท่านั้นเอง ด้วยทางฝ่ายเจ้าสาวเองนั้นขอให้ช่วยขึ้นกล่าวอะไรก็ได้เพื่อเป็นเกียรติแก่พวกเขาหน่อย
เมื่อขอมาก็จัดให้ จัดให้แบบเต็ม ๆ ด้วย ซึ่งคนที่อยู่ในงานวันนั้นคงทราบดี เพราะเห็นหัวเราะกันทั่วไปหมด
เรื่องต่าง ๆ ที่เล่ามานี้เริ่มเกิดขึ้นเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้วครับ

ความทรงจำและเรื่องราวดี ๆ ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในภาคเรา จะปล่อยให้สูญหายไปกับกาลเวลาก็กระไรอยู่ใช่ไหมครับ



--------------------



ตอนที่เขาทั้งคู่เอาการ์ดแต่งงานมาให้ ผมยังถามเลยว่าตกลงว่าใครจะแต่งชุดเจ้าสาว หรือว่าจะแต่งชุดเจ้าบ่าวทั้งสองคน
แต่จะว่าไปผู้หญิงที่ท่าทางออกทอมนิด ๆ นี่ ถ้ารูปร่างเพรียวด้วยล่ะก็ เวลาสวมชุดเจ้าสาวที่สวยน่าดูนะครับ
วิศวรุ่นผมก็มีเพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งที่มีลักษณะที่เพื่อนผู้ชายร่วมรุ่นมองว่าค่อนข้างจะออกเป็นทอมนิดนึง
แต่พอวันที่เขาแต่งงาน เพื่อนวิศวร่วมรุ่นที่เห็นเขาในชุดเจ้าสาวถึงกับอุทานว่า 
 
"ถ้ารู้ว่าสวยอย่างนี้ รู้งี้จีบไปนานแล้ว"

และรายนี้เมื่ออยู่ในชุดเจ้าสาวแล้วก็ต้องขอยอมรับเลยว่า เจ้าบ่าวนั้น "ตาถึง" จริง ๆ ครับ
แต่ถึงกระนั้นผมก็ยังไม่วายอดแหย่เล่นไม่ได้ว่า ตกลงว่าคุณเป็นผู้หญิงจริงหรือ เอาไว้ให้มีลูกก่อนแล้วจะเชื่อ :) :) :)

พอถึงตอนเจ้าสาวจะโยนช่อดอกไม้ให้แย่งกันปรากฏว่า มีอาจารย์ของภาควิชาไปร่วมแจมด้วยครับ



--------------------



หลังงานแต่งงานผ่านไป ผมก็ได้รับรูปถ่าย (น่าจะเป็นรูปที่ถ่ายในช่วง pre-wedding) ขยายใหญ่เป็นของที่ระลึกจากคู่บ่าวสาวมาหนึ่งรูป พร้อมกับข้อความที่ฝ่ายหญิงเขียนไว้หลังรูปนั้นว่า ....
 

(ที่เบลอเอาไว้คือชื่อเขาครับ ขอเบลอเอาไว้หน่อยเพื่อความเป็นส่วนตัว)


--------------------


ฝ่ายหญิงได้งานบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างชาติครับ ท่าทางจะเงินเดือนสูง แต่ก็งานหนัก เท่านั้นยังไม่พอ ยังเจียดเวลามาเรียนต่อระดับปริญญาโทภาคนอกเวลาราชการอีก (แต่ไม่ใช่ที่ภาควิชาเรา) ต้องมาเรียนตอนเย็น ๆ กว่าจะเลิกก็มืดค่ำ ทำให้ผมยังมีโอกาสพบเจอเขาอีกหลายครั้งหลังแต่งงาน (คือผมกำลังจะกลับบ้านส่วนเขากำลังมาเข้าเรียน)
ส่วนฝ่ายชายเหรอครับ เห็นฝ่ายหญิงโพสโชว์ลง facebook ถึงชีวิตลั้นลาในแต่ละวันของฝ่ายชาย มีทั้งเวลาเล่นเกมส์ และอ่านการ์ตูน

ท่าทางบ้านนี้ฝ่ายหญิงจะไม่ได้เป็นช้างเท้าหน้า น่าจะอยู่ในระดับเป็นควาญช้างซะมากกว่า



--------------------



เย็นวันศุกร์ที่ผ่านมา หกโมงเย็นแล้ว ผมกำลังเดินออกจากตึกทำงาน ก็สวนกับเขาตรงทางเข้าพอดี เขามากับรุ่นน้องผู้หญิงอีกคนหนึ่ง (ที่ผมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาตอนเขาเรียนป.ตรี) ต่างมากันในชุดทำงาน
พอสวัสดีทักทายกันเสร็จเอาก็เอามือลูบพุงแล้วบอกผมว่า "๕ เดือนแล้วนะคะอาจารย์"
ผมชำเลืองดูแล้วก็ถามกลับด้วยความไม่แน่ใจว่า

"ท้องจริงเหรอ ไม่ใช่ลงพุงนะ"

ที่ถามไปอย่างนั้นก็ไม่ใช่อะไรหรอกครับ ก็มีอย่างที่ไหนล่ะ คนท้อง ๕ เดือนดูผอมและหุ่นดีกว่าคนไม่ท้องที่เดินมาคู่กันอีก

เขียนอย่างนี้เนี่ย ลูกศิษย์ที่เดินมาด้วยกับเขาในวันนั้น จะส่งคนมาดักตีหัวอดีตอาจารย์ที่ปรึกษาไหมเนี่ย



--------------------



ท้ายสุดนี้ก็คงต้องขอแสดงความยินดีกับทั้งคู่นะครับ ที่กำลังจะกลายเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์แบบในเร็ววันแล้ว
ซึ่งเชื่อว่าทั้งคู่ (และญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย) ต่างตั้งหน้าตั้งตารอวันนั้นอยู่
ส่วนตัวผมเองหรือครับ คงต้องขออนุญาตกัดส่งท้ายสักนิดหน่อยนะครับว่า

นึกภาพไม่ออกเลยว่า อีก ๔ เดือนข้างหน้า โลกจะเป็นอย่างไร :) :) :)



--------------------

วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

โน๊ตเพลง "พรปีใหม่" และ "สายฝน" MO Memoir : Sunday 27 November 2559

เคยอ่านพบบทความที่ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับทำนองเพลง "มหาจุฬาลงกรณ์" ที่เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เอาไว้ว่า เป็นทำนองที่มีลักษณะแตกต่างเป็นพิเศษไปจากเพลงอื่นตรงที่ในเพลง "มหาจุฬาลงกรณ์" นี้ไม่มี "โน๊ตหลุดบันไดเสียง" สักตัว ทั้ง ๆ ที่มักจะพบเห็นโน๊ตหลุดบันไดเสียงนี้เป็นเรื่องปรกติในเพลงพระราชนิพนธ์เพลงอื่น
 
คำว่า "โน๊ตหลุดบันไดเสียง" นี้ผมไม่ได้บัญญัติขึ้นเองหรอกครับ เป็นคำที่ปรากฏอยู่ในบทความนั้น (ต้องขออภัยด้วยที่จำไม่ได้ว่าใครเขียน เห็นแต่ส่งต่อกันมาทาง facebook) ที่เจ้าของบทความนำมาใช้เพื่อให้คนทั่วไปที่ไม่ได้มีความรู้ทางดนตรีอะไรดีนักสามารถมองเห็นภาพได้ง่ายและชัดเจน และเมื่อผมลองกลับไปดูโน๊ตเพลงพระราชนิพนธ์เพลงอื่นก็พบว่ามันเป็นอย่างนั้นจริง
 
ก่อนอื่นก็คงต้องขออธิบาย (ด้วยความรู้ระดับ งู ๆ ปลา ๆ ที่ผมมี) ให้กับผู้ที่ไม่ค่อยจะถูกโรคกับโน๊ตสากลให้พอจะมีความเข้าใจเรื่องบันไดเสียงก่อนบ้าง คือบันไดเสียงเป็นการกำหนดกลุ่มของตัวโน๊ตและระยะห่างระหว่างเสียงของโน๊ตแต่ละตัวในกลุ่มตัวโน๊ตนั้น เช่นบันไดเสียง C Major ประกอบด้วยโน๊ต โด เร มี ฟา ซอล ลา ที โดยโน๊ต โด กับ เร เร กับ มี ฟา กับ ซอล ซอล กับ ลา และ ลา กับ ที ห่างกัน "หนึ่ง" ช่วงเสียง ส่วน มี กับ ฟา และ ที กับ โด นี้ห่างกัน "ครึ่ง" ช่วงเสียง โน๊ตที่ห่างกันหนึ่งช่วงเสียงนี้เราสามารถแบ่งครึ่งให้มีเสียงที่อยู่ระหว่างกลางได้ เช่นถ้าอยากให้มีเสียงสูงขึ้นอีกครึ่งเสียง ก็จะใช้เครื่องหมาย "ชาร์ป sharp หรือ #" ไว้หน้าโน๊ตตัวนั้น ถ้าอยากให้มีเสียงต่ำลงครึ่งเสียงก็จะใส่เครื่องหมาย "แฟล็ท flat หรือ b" ไว้หน้าโน๊ตตัวนั้น แต่ถ้าอยากจะให้โน๊ตตัวนั้นมีเสียงชาร์ปหรือแฟล็ทตลอดทั้งเพลง ก็จะไปใส่เครื่องหมายดังกล่าวไว้ที่หลังเครื่องหมายกุญแจเสียงเลย เช่นบันไดเสียง G Major (รูปที่ ๑) ที่มีเครื่องหมายชาร์ปกำกับไว้ที่ตำแหน่ง ฟา โน๊ตตัว ฟา ทุกตัวถ้าปรากฏขึ้นลอย ๆ โดยไม่มีเครื่องหมายอื่นกำกับ จะต้องเล่นเป็นเสียง ฟาชาร์ป ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ฟาสูง หรือ ฟาต่ำ และในทำนองเดียวกัน โน๊ตตัว ที ในบันไดเสียง F Major ก็ต้องเล่นเป็นเสียง ทีแฟล็ท ทั้งหมด


รูป ๑ ชื่อบันไดเสียงต่าง ๆ (รูปนี้เซฟเก็บเอาไว้นานแล้ว จำไม่ได้แล้วว่านำมาจากไหน)
 
เครื่องหมายชาร์ปหรือแฟล็ทที่เอาไปใส่ไว้หลังเครื่องหมายกุญแจเสียงนี้เรียกว่าเป็นเครื่องหมายตั้งบันไดเสียง ซึ่งอาจประกอบด้วยกลุ่มของเครื่องหมายชาร์ปหลายตัว (แถวบนในรูปที่ ๑) หรือเครื่องหมายแฟล็ทหลายตัวรวมกัน (แถวล่างในรูปที่ ๑) ส่วนจะมีการใช้ชาร์ปกับแฟล็ทปนกันได้หรือไม่นั้น ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกัน ในกรณีของโน๊ตที่มีการใช้เครื่องหมายตั้งบันไดเสียงกำหนดให้เป็นเสียงชาร์ปหรือแฟล็ท แต่ถ้าเราอยากให้โน๊ตตัวนั้นกลับมาเล่นเป็นเสียงปรกติ ก็จะมีการใช้เครื่องหมาย "เนเชอรัล natural" มาเป็นตัวกำกับ เช่นถ้าเพลงนั้นใช้บันไดเสียง F Major ที่กำหนดให้เสียง ที ทุกตัวต้องเล่นเป็น ทีแฟล็ท (ต่ำกว่าเสียง ที ปรกติครึ่งเสียง) แต่ถ้ามีตำแหน่งไหนต้องการให้เล่นเป็นเสียง ที ปรกติก็จะต้องเอาเครื่องหมายเนเชอรัลไปใส่กำกับไว้หน้าตัวโน๊ตตัวนั้น (ผมหาเครื่องหมาย natural บนแป้นพิมพ์ไม่เจอ)
 
ทีนี้ถ้าลองกลับไปดูโน๊ตเพลง "มหาจุฬาลงกรณ์" ที่ใช้บันไดเสียง F Major หรือเพลง "พรปีใหม่" ที่ใช้บันไดเสียง C Major ในรูปแนบท้าย Memoir ฉบับนี้ จะเห็นว่าไม่มีเครื่องหมายชาร์ปหรือแฟล็ทเพิ่มเติมอีกเลย แม้จะปรับเสียงโน๊ตเพลง "พรปีใหม่" ให้สูงขึ้นหนึ่งเสียงเป็นบันไดเสียง D Major ที่โน๊ต โด และ ฟา ทุกตัวต้องเป็นเสียงชาร์ป ก็จะเห็นว่าไม่มีเครื่องหมายชาร์ปหรือแฟล็ทปรากฏให้เห็นเช่นกัน แต่เพลง "สายฝน" ที่ใช้บันไดเสียง F Major ที่กำหนดให้โน๊ต ที ทุกตัวต้องเล่นเป็น ทีแฟล็ท นั้น ปรากฏว่ามีโน๊ต ที บางตัวมีเครื่องหมายเนเชอรัลกำกับให้เล่นเป็นเสียง ที ปรกติ (จะเรียกว่าเป็นโน๊ตหลุดบันไดเสียงก็ได้) แต่นี่ก็ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับเพลงพระราชนิพนธ์เพลงอื่น


รูปที่ ๒ โน๊ตเพลงต้นฉบับที่ได้มาเมื่อ ๔๐ ปีที่แล้ว

โน๊ตเพลง "พรปีใหม่" ต้นฉบับที่ผมมีเป็นบันไดเสียง C Major แต่มันมีโน๊ตหนึ่งตัวที่เป็นเสียง ทีต่ำ ที่ฟลุตมันเล่นไม่ได้ ผมก็เลยปรับเสียงโน๊ตแต่ละตัวให้สูงขึ้นหนึ่งช่วงเสียงด้วยการปรับเป็นบันไดเสียง D Major ทั้งสองเพลงจะว่าไปแล้วก็รูสึกว่าเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ที่เล่นได้ง่ายเมื่อเทียบกับเพลงพระราชนิพนธ์เพลงอื่น เช้าวันอาทิตย์นี้ก็คิดเสียว่าพักผ่อนกันด้วยเสียงเพลงก่อนการสอบไล่ปลายภาคต้นที่จะเริ่มในเช้าวันพรุงนี้ก็แล้วกัน




วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ทำความรู้จัก Data Sheet สำหรับ Double Pipe Heat Exchanger MO Memoir : Thursday 24 November 2559

เครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนชนิดท่อสองชั้นเป็นเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนที่มีโครงสร้างเรียบง่าย แบบที่ง่ายที่สุดที่เคยเห็นตัวช่างเชื่อมท่อก็ทำกันเองหน้างานได้ด้วยการเอาท่อเล็กสอดเข้าไปในท่อใหญ่ (โดยให้ท่อเล็กนั้นยาวกว่าท่อใหญ่) เอา cap ของท่อใหญ่มาเจาะรูตรงกลางให้ท่อเล็กสอดผ่านได้พอดี ทำการเจาะรูบนผิวท่อใหญ่ที่ปลายคนละด้านโดยให้รูเจาะนั้นอยู่ฝั่งตรงข้ามกัน จากนั้นก็ทำการเชื่อม cap เข้ากับผิวด้านนอกของท่อเล็กและปลายท่อใหญ่ เชื่อมต่อข้อต่อสำหรับให้ของเหลวเข้า-ออกในท่อใหญ่ ก็เป็นอันเสร็จ ที่เคยเห็นนั้นเป็นท่อสำหรับลำเลียงของเหลวที่หนืดหรือแข็งตัวได้ง่ายที่อุณหภูมิต่ำ จึงจำเป็นต้องทำให้ท่อร้อนตลอดเวลา การทำ steam tracing ไม่สามารถให้ความร้อนที่เพียงพอได้ เขาก็เลยออกแบบท่อนั้นเป็นท่อให้เป็นครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนชนิดท่อสองชั้นที่วางต่อ ๆ กันไปตามแนวเดินท่อ เอาไอน้ำเข้าทางด้านบน และเอาไอน้ำที่ควบแน่น (steam condensate ออกทางด้านล่าง) (ดังรูปบนในรูปที่ ๑) การเดินท่อแบบนี้ไปตาม pipe rack จะเดินท่อเป็นระยะทางยาวไกล ๆ ก็ไม่เป็นไร 
  
(การทำ steam tracing นั้นไอน้ำจะไหลอยู่ในท่อเล็กที่พันรอบท่อใหญ่ ความร้อนจากไอน้ำควบแน่นจะต้องไหลผ่านผนังท่อเล็ก ผ่านจุดสัมผัสระหว่างผนังท่อเล็กและผนังท่อใหญ่ ผ่านผนังท่อใหญ่ ก่อนส่งผ่านให้กับของเหลวที่ไหลอยู่ในท่อใหญ่ แต่ในกรณีของเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนชนิดท่อสองชั้นนั้น ไอน้ำที่ควบแน่นส่งผ่านความร้อนให้กับผนังท่อชั้นในโดยตรง และพื้นที่ถ่ายเทความร้อนให้กับผนังท่อชั้นในก็สูงกว่าด้วย)
 
ในกรณีที่ต้องการใช้เครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนชนิดท่อสองชั้นทำหน้าที่เป็นหน่วยแลกเปลี่ยนความร้อนระหว่างสองสาย ก็สามารถนำเอาท่อสองชั้นดังกล่าวมาวางเรียงซ้อนกันหลาย ๆ ชั้นซ้อนกันสูงขึ้นไปและ/หรือมาต่อขนานกันทางด้านข้างหลาย ๆ แถว ในกรณีเช่นนี้เครื่องแลกเปลี่ยนควาร้อนชนิดท่อสองชั้นมีข้อดีคือสามารถทำการเพิ่มหรือลดพื้นที่ถ่ายเทความร้อนได้ง่ายด้วยการเพิ่มจำนวนท่อที่ต่อซ้อนกัน ไม่เหมือนกับกรณีของ shell and tube heat exchanger ที่ไม่สามารถทำแบบเดียวกันนี้ได้


รูปที่ ๑ เครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนแบบท่อสองชั้น (Double Pipe Heat Exchanger) อาจเป็นการเรียงต่อยาวไปเรื่อย ๆ ตามแนวท่อที่เดิน (รูปบน) หรือนำมาซ้อนกันโดยให้มีการไหลวน (รูปล่าง)
 
ข้อเสียอย่างหนึ่งของเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนชนิดท่อสองชั้นคือไม่สามารถทำความสะอาดช่องทางการไหลในส่วน shell (ระหว่างท่อด้านและด้านนอก) ด้วยวิธีทางกลได้ (เช่นการขัดหรือฉีดด้วยน้ำความดันสูง) เพราะส่วนปิดหัว-ท้ายของท่อนอกต้องถูกเชื่อมยึดเข้ากับผนังด้านนอกของท่อในเพื่อป้องกันการรั่วซึม ถ้าจะล้างก็คงต้องใช้วิธีทางเคมี (เอาสารเคมีเข้าไปละลายออกมา) ดังนั้นจึงควรเลือกของเหลวที่สะอาดให้ไหลด้าน shell 
  
รูปที่ ๒ เป็นตัวอย่างของ Data Sheet สำหรับ Double Pipe Heat Exchanger ที่เป็นเอกสารเก่าอายุก็กว่า ๓๐ ปีแล้ว แต่ก็เชื่อว่ายังเป็นประโยชน์สำหรับวิศวกรมือใหม่ในปัจจุบัน จะได้มองเห็นรายละเอียดอื่น ๆ นอกเหนือไปจากตำราเรียน (ที่มักจะสอนกันเฉพาะการคำนวณหาขนาดพื้นที่แลกเปลี่ยนความร้อน) โดยจะขอบรรยายเป็นบรรทัด ๆ ไป (เอาเท่าที่พอจะรู้นะ เพราะผมเองก็ไม่ได้รู้รายละเอียดไปซะทุกบรรทัดเหมือนกัน)
บรรทัดที่ 1 และ 2 เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับ ลูกค้า ชื่ออุปกรณ์ ที่ตั้งโรงงาน และผู้ผลิตเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อน
 
บรรทัดที่ 3-5 เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับหน้าที่การงานของเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อน ว่าใช้งานกับหน่วยใด วางในแนวนอนหรือแนวดิ่ง ขนาน การเชื่อมต่อ (หลายชุดต่อแบบขนานหรือต่อแบบอนุกรม) พื้นที่แลกเปลี่ยนความร้อนทั้งหมด พื้นที่แลกเปลี่ยนความร้อนต่อหน่วย (หน่วยในที่นี้อาจเป็นเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนชนิดท่อสองชั้นเพียงท่อเดียว หรือเป็นชุดของเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนชนิดท่อสองชั้นหลายท่อที่ต่อเชื่อมกันอยู่)
 
บรรทัดที่ 7-26 เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับของเหลวที่ไหลอยู่ในส่วน Shell คือภายในท่อด้านนอกและส่วน Tube คือภายในท่อด้านใน ไม่ว่าจะเป็นชนิดของไหล (เป็นไปได้ทั้งของเหลวและแก๊ส) อัตราการไหล อุณหภูมิเข้า-ออก ความถ่วงจำเพาะ ความหนืด น้ำหนักโมเลกุลทั้งส่วนที่เป็นไอและของเหลวที่ควบแน่น ความร้อนจำเพาะ ค่าการนำความร้อน ค่าความร้อนแฝง ความดันด้านขาเข้า ความเร็วเชิงเส้นในการไหล ค่าความดันลด และค่าปัจจัยความสกปรก (fouling factor)
 
บรรทัดที่ 27-28 เป็นข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณความร้อนที่ทำการแลกเปลี่ยน และอัตราการถ่ายเทความร้อน
 
บรรทัดที่ 29-37 เป็นข้อมูลเกี่ยวกับการออกแบบโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นค่าความดันสำหรับการออกแบบและการทดสอบ อุณหภูมิที่ใช้ในการออกแบบ จำนวนเที่ยวการไหลผ่านของแต่ละชุด ระดับการกัดกร่อนที่ยอมรับได้ ชนิด รูปแบบ และตำแหน่งติดตั้งจุดต่อท่อ
 
บรรทัดที่ 38-40 เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับท่อเส้นใน ไม่ว่าจะเป็น ขนาด ความหนา ความยาว ระยะห่าง มีครีบด้วยหรือไม่ (ช่วยเพิ่มพื้นที่ถ่ายเทความร้อนกับของไหลที่อยู่ในท่อเส้นนอก) และวัสดุที่ใช้
 
บรรทัดที่ 41-42 เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับท่อเส้นนอก ไม่ว่าจะเป็น ขนาด ความหนา ความยาว แต่จะไม่มีครีบเหมือนท่อเส้นใน
 
บรรทัดที่ 43-44 อันนี้ไม่แน่ใจ แต่สงสัยว่าคงเป็นกรณีที่มีการนำมาเรียงซ้อนและต่อเข้าด้วยกัน
 
บรรทัดที่ 45 เกี่ยวกับมาตรฐานที่จะใช้ในการออกแบบ
 
บรรทัดที่ 46 เกี่ยวกับน้ำหนักเปล่า (สำคัญสำหรับการขนส่ง) และน้ำหนักเมื่อมีน้ำเติมเต็ม (สำคัญสำหรับการออกแบบฐานรองรับน้ำหนักอุปกรณ์)

เรื่องทำความรู้จัก Data Sheet สำหรับ Double Pipe Heat Exchanger ก็คงต้องขอจบลงแบบสั้น ๆ เพียงแค่นี้

รูปที่ ๒ ตัวอย่าง Data sheet สำหรับเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนชนิดท่อสองชั้น