เมื่อตอนต้นปีที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสไปเป็นกรรมการตรวจรับครุภัณฑ์
ณ จังหวัดสระบุรี
(อันที่จริงไม่อยากเรียกว่ามี
"โอกาส"
อยากเรียกว่ามี
"เคราะห์กรรม"
มากกว่า
เพราะงานประเภทนี้มีแต่เสมอตัวกับเจ็บตัว)
ครุภัณฑ์ที่ไปตรวจรับนั้นประกอบไปด้วยระบบหม้อผลิตไอน้ำและหม้ออบไอน้ำ
การไปครั้งนั้นไปถ่ายภาพมาหลายภาพ
ตั้งใจว่าจะนำมาเขียนเป็นเรื่องเล่าได้หลายเรื่อง
แต่ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมถึงได้เก็บเอาไว้ตั้งกว่า
๖ เดือน กว่าจะได้เขียนออกมาเป็นเรื่องแรก
ผมเคยเล่าเรื่องเกี่ยวกับ
pressure
vessel ไว้ใน
Memoir
ปีที่
๔ ฉบับที่ ๔๔๗ วันพฤหัสบดีที่
๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๕ เรื่อง "ถัง"
ในครั้งนั้นได้ยกตัวอย่าง
pressure
vessel ที่มีลักษณะเป็นถังทรงกระบอกหัวท้ายมน
รูปทรงยาวเอาไว้
การติดตั้ง
pressure
vessel
ที่มีลักษณะเป็นถังทรงกระบอกหัวท้ายมนนั้นมีทั้งวางในแนวตั้งและวางในแนวนอน
ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้ประโยชน์ทำอะไร
เช่นถ้าเป็นพวกหอกลั่น
หอดูดซับ ก็จะต้องวางในแนวตั้ง
แต่ถ้าเป็นพวกถังเก็บ ถังอบ
หม้อไอน้ำ ฯลฯ ก็มักจะวางในแนวนอน
(ผมใช้คำว่า
"มักจะ"
นะ
เพราะในหลายกรณีก็จะมีการวางในแนวตั้งเหมือนกัน)
รูปที่
๑ หม้ออบไอน้ำที่เป็น
pressure
vessel วางในแนวนอน
ภาพขยายของส่วนขาตั้งในกรอบสีเขียวดูในรูปที่
๒ และ ๓
เนื่องจากอุณหภูมิของหม้ออบไอน้ำนี้มีการเปลี่ยนแปลงมาก
ดังนั้นการติดตั้งจะต้องมีการเผื่อให้หม้ออบไอน้ำนี้สามารถขยายตัวได้ในแนวราบด้วย
การวางในแนวตั้งมีข้อดีตรงที่ไม่เปลืองพื้นที่ติดตั้งบนพื้นดินมาก
แต่มันจะสูงขึ้นไป
ข้อดีอีกข้อคือไม่ต้องกังวลเรื่องการขยายตัวเมื่อร้อน
เพราะมันสามารถยืดยาวขึ้นไปข้างบนได้
แต่ถ้าใช้เป็นถังเก็บของเหลว
ปั๊มจะต้องใช้พลังงานมากกว่าในการสูบของเหลวเข้าถังที่วางในแนวตั้ง
เพราะแรงต้านด้านขาออกของปั๊มเพิ่มตามระดับความสูงของของเหลว
(ไม่ขึ้นกับพื้นที่หน้าตัดนะ
ตรงนี้ชอบมีคนเข้าใจผิด)
Vessel
ที่วางในแนวนอนนั้นเราทำงานกับมันได้ง่ายกว่า
(ทำงานที่ต่ำง่ายกว่าทำงานที่สูง)
แต่มันก็กินพื้นที่ติดตั้งมากกว่า
การวางถังประเภทนี้ถ้าน้ำหนักรวมของถัง
(ตัวถัง
+
สิ่งที่มันบรรจุ)
ไม่มากเกินไปและถังก็ไม่ได้ยาวมากมายอะไร
ก็จะมีขารับน้ำหนักเพียงแค่สองข้าง
คือด้านหัวกับด้านท้ายเท่านั้น
การวาง
vessel
ที่ยาวในแนวนอนนั้นต้องมีการเผื่อการยืดตัว/หดตัวของ
vessel
ด้วยเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ
ดังนั้นในการติดตั้งนั้นจะไม่ยึดติดตายตัวขาของ
vessel
เข้ากับฐานรับน้ำหนัก
แต่จะใช้วิธียึดแค่ข้างใดข้างหนึ่งให้อยู่กับที่
โดยปล่อยให้อีกข้างหนึ่งนั้นสามารถเคลื่อนตัวได้ตามแนวยาวของ
vessel
(แต่ป้องกันไม่ให้เกิดการเคลื่อนตัวในทิศทางด้านข้างของ
vessel)
รูปที่
๒ ข้างล่างแสดงการยึดขาของ
vessel
ให้อยู่กับที่โดยใช้แผ่นเหล็กประกบกันการเคลื่อนที่ทั้งสี่ด้าน
แต่ไม่ได้มีการเชื่อมหรือยึดติดตายเข้ากับตัวแท่นที่ใช้รับน้ำหนัก
รูปที่
๒ ฐานขาด้านนี้ยึดเอาไว้ทั้งสี่ด้าน
ไม่ให้ขยับ แต่ก็ไม่ถึงกับยึดติดตาย
ด้านซ้าย-ขวาที่อยู่ในวงรีสีส้ม
เป็นเพียงแค่แผ่นเหล็กกันการขยับตัวด้านข้าง
ส่วนด้านหน้า(ในสี่เหลี่ยมสีเขียว
ด้านหลังที่มองไม่เห็นที่อยู่ฝั่งตรงข้ามของด้านหน้าก็เป็นแบบเดียวกัน)
จะมีการเชื่อมแผ่นเหล็กอีกแผ่นซ้อนไปบนแผ่นที่กันการขยับตัวในแนวราบ
แต่ก็ไม่ได้เชื่อมยึดติดตายกับตัวขาของ
vessel
รูปที่
๓ ข้างล่างเป็นขาอีกด้านหนึ่ง
ขาด้านนี้มีการเชื่อมแผ่นเหล็กประกับกันไม่ให้เกิดการเคลื่อนที่ทางด้านข้าง
แต่ยอมให้เกิดการเคลื่อนที่ตามแนวยาวของ
vessel
ได้เมื่อ
vessel
มีการยืด/หดตัว
รูปที่
๓ ฐานขาด้านนี้มีการประกบเอาไว้เพียงสองด้าน
(ด้านหน้าและด้านหลัง)
กรอบสี่เหลี่ยมแดงคือภาพตัดขวางแสดงรายละเอียดของกรอบสี่เหลี่ยมเหลือง
ฐานสีเขียวเชื่อมติดกับแผ่นสีส้ม
และแผ่นสีส้มเชื่อมติดกับแผ่นสีเหลือง
ตัวขาสีฟ้านั้นวางอยู่เฉย
ๆ บนแผ่นฐานสีเขียว
ไม่ได้มีการเชื่อมเข้ากับฐานสีเขียวหรือแผ่นสีส้มและสีเหลือง
ดังนั้นเมื่อ vessel
ร้อน/เย็นและมีการขยายตัว/หดตัว
ขาสีฟ้าจึงยังสามารถเคลื่อนตัวได้ในทิศทางที่แสดงโดยลูกศรสีฟ้า
คราวนี้เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการปล่อยให้โลหะมีการขยายตัวได้อย่างอิสระ
ซึ่งแตกต่างไปจากเรื่องที่เล่าไว้ใน
Memoir
ปีที่
๔ ฉบับที่ ๓๔๗ วันศุกร์ที่
๒ กันยายน ๒๕๕๔ เรื่อง
"ทำอย่างไรไม่ให้รางโก่ง"
ซึ่งกรณีนั้นเป็นการแก้ปัญหาด้วยรูปแบบที่ตรงข้ามกันคือทำการตรึงให้แน่นหนาที่สุด
และให้ตัวโลหะรับแรงเค้นที่เกิดขึ้นแทน