วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ตั๋วรถไฟอังกฤษเมื่อต้นทศวรรษ ๑๙๙๐ MO Memoir : Sunday 20 December 2558

หลังจากที่รอมาเกือบ ๓ เดือน ในที่สุดพอถึงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกันยายน ๒๕๓๒ ผมก็ได้รับแจ้งจากอาจารย์หัวหน้าภาควิชาในขณะนั้นว่า วันพรุ่งนี้ (คือวันอังคาร) ให้ไปทำวีซ่าสำหรับไปเรียนต่อที่อังกฤษ และเดินทางคืนวันศุกร์ พอเช้าวันจันทร์ (ก็เข้าเดือนตุลาคม) ก็เริ่มเรียนเลย
 
นักเรียนไทยที่ได้ทุน Britich Council ไปเรียนโท-เอกที่ Imperial College ด้วยกันในคืนวันนั้นมี ๔ คน (รวมผมแล้ว) เป็นวิศวไฟฟ้า ๒ คน วิศวเคมี ๒ คน ๒ คนเป็นรุ่นพี่ผมหนึ่งปีคนนึงและสองปีคนนึง ส่วนอีกคนเป็นรุ่นน้องผมปีนึง ปัจจุบันคนหนึ่งเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในอังกฤษ คนหนึ่งถึงแก่กรรมไปเมื่อปีที่แล้ว ส่วนอีกคนหนึ่งน่าจะได้เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
 
รูปที่ ๑ ตั๋วรถใต้ดินเที่ยวเดียว รายสัปดาห์ และรายเดือน ของกรุงลอนดอน
 
วันแรกที่ไปถึงก็ยังเข้าที่พักของมหาวิทยาลัยไม่ได้ ต้องไปพักกันที่โรงแรมก่อน (มีเจ้าหน้าที่ British Council พาไป) คืนนั้นก็เลยได้โอกาสออกมานั่งรถไฟในลอนดอนเที่ยวกันเป็นครั้งแรก ที่แรกที่คิดจะไปกันก็คือ Big Ben จำได้ว่าพอโผล่ออกมาจากสถานี Westminster ก็มองไปรอบ ๆ เพื่อหาหอนาฬิกา Big Ben แต่ก็หาไม่เจอ แต่พอเงยหน้าขึ้นฟ้าเท่านั้นก็เห็นเลย
 
รูปที่ ๒ ตั๋วรถไฟของ British Rail
 
ตั้งแต่ออกจากอังกฤษมาเมื่อกว่า ๒๐ ปีที่แล้วก็ไม่ได้กลับไปอีกเลย ได้ไปใกล้ที่สุดก็ตอนไปเยี่ยมนิสิตปริญญาเอกที่ไปทำวิจัยอยู่ที่เยอรมัน แต่นั่นก็ร่วมสิบปีที่แล้ว และก็ไม่ได้แวะไปประเทศไหนในยุโรปอีก อังกฤษตอนที่ผมไปเรียนตอนนั้นเพิ่งจะเริ่มขุดอุโมงค์เชื่อมกับทางฝรั่งเศส แต่ละประเทศก็มีสกุลเงินของตนเอง นักเรียนไทยอย่างเราถ้าจะไปเที่ยวยุโรปก็ต้องทำเรื่องขอวีซ่ากันมั่วไปหมด (ต้องขอวีซ่าของทุกประเทศที่จะแวะ) แถมยังต้องแลกเงินกันตามจำนวนประเทศที่จะไปเยือนอีก
 
ยุโรปเองเป็นประเทศที่มีเครือข่ายรถไฟกว้างขวาง อาจเป็นเพราะแต่ก่อนนั้นใช้การเดินทางโดยรถไฟเป็นหลัก สถานีรถไฟจึงตั้งอยู่กลางเมือง เวลาไปเที่ยวเมืองไหนที่มีรถไฟผ่านก็ใช้วิธีการนั่งรถไฟไปลงที่เมืองนั้น แล้วก็เดินเที่ยวกันทั้งวันได้รอบเมือง (แทบไม่จำเป็นต้องนั่งรถเมล์ เว้นแต่เป็นสถานที่ที่อยู่นอกตัวเมือง เช่นปราสาทต่าง ๆ) ตกเย็นก็เดินวนกลับมาที่สถานีรถไฟ ขึ้นรถไฟกลับบ้าน
 
ปีแรกที่ไปเรียนนั้นได้มีสิทธิเข้าพักในหอพักของมหาวิทยาลัย เขาจัดให้ไปอยู่ที่หอพักใกล้กับห้าง Harrods (เรียกว่าเดินไม่ถึงร้อยเมตรก็ถึงห้างแล้ว) ไปเรียนใหม่ ๆ ก็เรียนกันหนัก เช้าจรดเย็น (ค่ำกลับมาทบทวนอีก) จะมีเวลาไปเที่ยวบ้างก็วันเสาร์-อาทิตย์ แรก ๆ ก็เที่ยวในลอนดอนก่อน จากนั้นก็ค่อยออกไปยังเมืองใกล้ ๆ
 
ระบบขนส่งมวลชนของลอนดอนในตอนนั้น (ตอนนี้เป็นยังไงผมไม่รู้) ใช้ระบบตั่วร่วม คือมีการแบ่งพื้นที่ออกเป็นโซนต่าง ๆ โดยให้กลางเมืองเป็นโซนที่ ๑ ปีแรกที่ผมไปถึงมีเพียงแค่ ๓ โซน แต่ปีถัดมาเขามีการซอยย่อยเป็น ๕ โซน ค่าเดินทางในเขตพื้นที่โซน ๑ จะแพงกว่าเขตรอบนอก ตั๋วรถไฟใต้ดินนั้นมีทั้งแบบเที่ยวเดียว รายวัน รายเดือน และรายปี และยังสามารถใช้ได้กับรถไฟและรถเมล์ด้วย เช่นถ้าซื้อตั๋วเดือนที่ใช้ได้สำหรับการเดินทางในโซน ๑-๓ เราสามารถใช้ตั๋วใบนี้ขึ้นรถไฟใต้ดิน รถไฟ หรือรถเมล์ ที่วิ่งอยู่ในโซน ๑-๓ ได้โดยไม่ต้องจ่ายตังค์อีก แต่ถ้าจะเดินทางออกไปนอกโซน ๓ ก็ทำเพียงแค่แสดงตั๋วเดินทางโซน ๓ ให้เขาดู เขาจะคิดค่าโดยสารเฉพาะจากขอบโซน ๓ ออกไป เวลาเดินทางกลับก็ทำแบบเดียวกัน เขาจะคิดเฉพาะค่าโดยสารมาจนถึงเขตโซน ๓ เท่านั้น
 
ตั๋วรถไฟตอนนั้นเป็นกระดาษหนา มีแถบแม่เหล็กอยู่ข้างหลัง ขนาดประมาณบัตรเอทีเอ็ม ส่วนจะมีสีอะไรหรือลวดลายอะไรนั้นเขาก็เปลี่ยนไปได้เรื่อย ๆ อย่างเช่นตั๋วรถไฟใต้ดินตอนปีแรก ๆ ที่ผมไปถึงนั้นเป็นสีเหลือง แต่ที่เอามาให้ดูในรูปที่ ๑ (แถวบนสุดด้านซ้าย) เป็นตั๋วปี ๑๙๙๔ เป็นเที่ยวที่ผมใช้เดินทางจากหอพักในลอนดอนเพื่อมาขึ้นเครื่องบินเดินทางกลับประเทศไทยที่สนามบิน Heathrow เนื่องจากสำเร็จการศึกษาแล้ว
 
แถวบนสุดด้านขวาในรูปที่ ๑ เป็นตั๋ววัน ถ้าเป็นวันทำงานจะซื้อตั๋วนี้ได้หลังเวลา ๙.๓๐ หรือ ๑๐.๐๐ ผมก็จำไม่ได้ แต่ถ้าเป็นวันหยุดจะซื้อได้ตั้งแต่สถานีเปิดเลย ตั๋วนี้เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว เพราะในกลางกรุงลอนดอนนั้นเดินเล่นเที่ยวได้จนถึงเที่ยงคืน ตั๋วนี้ไม่มีรูปติด ดังนั้นพอใครซื้อมาแล้วถ้าไม่คิดจะใช้ไปในอีกในวันนั้นก็ให้คนอื่นเอาไปใช้ได้
 
แถวที่สองในรูปที่ ๑ เป็นตั๋วเดือน ใช้ในเวลาใดก็ได้ รูปซ้ายเป็นด้านหน้า รูปขวาเป็นด้านหลัง แต่ถ้าจะซื้อตัวแบบนี้ต้องไปทำบัตรมีรูปติดก่อน เพราะเป็นตั๋วเฉพาะตัว มีการระบุบัตรผู้ใช้ไว้ที่มุมขวาบนของตั๋ว (ในรูปคือ F2892) ผมมาใช้ตั๋วแบบนี้ตอนอยู่เป็นปีที่ ๓ เพราะอยู่ห่างจากมหาวิทยาลัยออกมา ต้องเดินทางด้วยรถไฟใต้ดินไปกลับทุกวัน ส่วนแถวที่สามเป็นตั๋วรายสัปดาห์ ก็ต้องใช้บัตรซื้อเหมือนกัน นอกจากนี้ยังมีตั๋วรายปีอีก แต่ราคาต่อใบมันแพงขึ้นไปอีก (มันแพงกว่าเงินทุนที่ได้รับในแต่ละเดือน) 
  
รถไฟอังกฤษนั้นเริ่มแรกจากเอกชนก่อสร้างและบริหารจัดการกันเอง มีทั้งรถไฟสายยาวและรถไฟท้องถิ่น ต่อมาภายหลังก็มีการยุบรวมเข้าด้วยกันเป็น British Rail ตั๋วรถไฟ British Rail มีหลายราคา ขึ้นอยู่กับว่าจะเดินทางในช่วงเวลาไหน ถ้าเป็นช่วงชั่วโมงเร่งด่วนจะเป็นราคามาตรฐาน (Standard - STD) แต่ถ้าเป็นช่วงเวลาใกล้กับช่วงโมงเร่งด่วนก็จะถูกลงมาหน่อย และถ้าเป็นช่วงเวลาห่างจากชั่วโมงเร่งด่วนก็จะถูกลงไปอีก (เรียกว่าซื้อตั๋วไป-กลับสำหรับการเดินทางนอกเวลาชั่วโมงเร่งด่วน ยังได้ราคาถูกว่าซื้อตั๋วชั่วโมงเร่งด่วนเพียงเที่ยวเดียว รถไฟวิ่งเชื่อมเมืองใหญ่ ๆ นั้นเรียกว่าออกกันทุก ๆ ครึ่งหรือหนึ่งชั่วโมง (ลองนึกภาพรถไฟกรุงเทพ-เชียงใหม่วิ่งกันวันละกว่า ๒๐ ขบวนดูก็ได้ครับ ที่ช่วงชั่วโมงเร่งด่วนออกทุกครึ่งชั่วโมง ช่วงนอกเวลาเร่งด่วนก็ออกกันทุกชั่วโมง)
 
ถ้าเป็นตั๋วเดินทางไปกลับในวันเดียวกัน (เดินทางนอกเวลาชั่วโมงเร่งด่วน) ก็จะเป็นตั๋วที่เรียกว่า Cheap Day Return (CHEAPDY RTN) ที่เอามาให้ดูในแถวบนสุดรูปซ้ายของรูปที่ ๒ แต่ถ้าจะเดินทางกลับในวันอื่นก็มีตั๋วที่เรียกว่า Blue Saver Return (แถวบนสุดใบขวาในรูปที่ ๒) ตรงนี้อาจมีคนสงสัยว่าทำไปต้องเรียกว่า "Blue" เหตุผลก็เพราะตารางเวลารถไฟที่เขาประกาศนั้น ช่วงเวลาเร่งด่วนเขาจะพิมพ์บนพื้นสีชมพู ช่วงเวลาติดกับชั่วโมงเร่งด่วนจะใช้พื้นสีขาว (เรียกว่า White saver) และช่วงเวลาตั๋วราคาถูกจะใช้พื้นสีน้ำเงิน (จึงเรียกว่า Blue saver)
 
แถวที่สองในซ้ายเป็นตั๋วรถไฟ ส่วนใบฃวาเป็นตั๋วจองที่นั่งบนรถไฟ ถ้าที่นั่งมีคนจองเอาไว้เขาก็จะมีพนักงานนำป้ายมาระบุไว้ว่ามีคนจองแล้ว การจองที่นั่งมักกระทำกันถ้าเป็นการเดินทางในช่วงที่มีคนเดินทางเยอะ แต่ถ้าเป็นนอกช่วงเวลาก็เรียกว่าไม่จำเป็น หาที่นั่งกันเองได้ตามสบาย รถไฟวิ่งระหว่างเมืองใหญ่ที่อยู่ไกลกันเรียกว่า Intercity ตอนแรกที่ผมไปเขามี Intercity 125 คือเป็นรถไฟความเร็วสูงวิ่งได้เร็ว ๑๒๕ ไมล์ต่อชั่วโมง (ประมาณ ๒๐๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง) เป็นรถจักรดีเซล ต่อมามีการพัฒนาเป็น Intercity 225 คือวิ่งได้เร็ว ๒๒๕ กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นรถจักรไฟฟ้า แต่เขาก็ไม่ได้วิ่งด้วยความเร็วสูงตลอดเส้นทางนะครับ จะทำเช่นนั้นก็ต่อเมื่อสถานีหยุดรถถัดไปนั้นอยู่ห่างกันมากพอควร เช่นระยะทางจากลอนดอนไปยังเมืองเอดินเบอระ (เมืองหลวงของสกอตแลนด์) ที่ประมาณกรุงเทพ-เชียงใหม่ ใช้เวลาเดินทาง ๔ ชั่วโมง เพราะเส้นทางนั้นผ่านเมืองใหญ่หลายเมือง รถไฟต้องต้องจอดรับส่งผู้โดยสารตามเมืองต่าง ๆ เหล่านั้น มีช่วงทำความเร็วสูงสุดได้เพียงช่วงสั้น ๆ เมื่อเข้าใกล้สกอตแลนด์เท่านั้นเอง
 
ที่อังกฤษนี่ดีอย่างคือคิดค่ารถไฟตามระยะทางจากต้นทางไปยังปลายทาง ไม่ได้คิดตามประเภทรถว่าเป็นรถหวานเย็นหรือรถความเร็วสูง การสร้างรถไฟความเร็วสูงจะคุ้มค่าก็ต่อเมื่อมีผู้โดยสารเป็นประจำในจำนวนที่มากพอในแต่ละวัน และก็ต้องวิ่งได้วันละหลาย ๆ เที่ยว และแน่นอนว่าค่าโดยสารจะต้องแพงขึ้นไปด้วย จุดเด่นของรถไฟความเร็วสูงในประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศมันอยู่ตรงที่เป็นการเชื่อมต่อระหว่างกลางเมืองกับกลางเมือง เช่นถ้าคิดเวลาเดินทางจากกลางกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษไปยังกรุงปารีสประเทศฝรั่งเศส ถ้าไปรถไฟก็ทำเพียงแค่ไปขึ้นรถไฟที่กลางกรุงลอนดอน เสียเวลาเดินทางหลายชั่วโมงหน่อยก็ไปโผล่ที่กลางกรุงปารีส แต่ถ้าเดินทางโดยเครื่องบินก็ต้องเดินทางออกจากกลางกรุงลอนดอนไปยังสนามบินที่อยู่นอกเมือง ต้องไปเช็คอินก่อนเวลา เสียเวลาบินอีกหนึ่งชั่วโมง เสียเวลาผ่านด่านที่สนามบิน และเสียเวลาเดินทางจากสนามบินมายังกลางกรุงปารีสอีก ในกรณีเช่นนี้ถ้าเวลาที่ใช้เดินทางโดยรถไฟมันสูสีกับเครื่องบิน มันจะแข่งกันกันได้
 
เห็นคนจำนวนไม่น้อยในบ้านเราอยากให้บ้านเรามีรถไฟความเร็วสูงเหลือเกิน ที่แน่ ๆ คือคนก่อสร้างได้กำไรจากการก่อสร้าง แต่ก่อสร้างเสร็จแล้วจะมีจำนวนคนไปใช้ หรือมีเงินจ่ายค่าตั๋วมีจำนวนสักเท่าใด คุ้มค่าหรือไม่ รู้หรือเปล่าว่าจังหวัดที่มีรถไฟความเร็วสูงผ่านก็ใช่ว่าจะได้ใช้ เพราะมันอาจไม่หยุดที่จังหวัดนั้น (ถ้ามีคนใช้สถานีนั้นน้อย) แต่ถ้าจะให้มันหยุดรับส่งทุกป้ายมันก็ทำความเร็วสูงไม่ได้ แล้วจะเอารถไฟความเร็วสูงมาทำไป
 
แถวที่สามในรูปที่ ๒ เป็นตั๋วซื้อจากเครื่องขายอัตโนมัติ สังเกตได้จากมันมีมุมเหลี่ยมเพราะเขาตัดตั๋วมาจากม้วนกระดาษ และมีรูสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ เจาะอยู่ (ตรงมุมซ้ายบน) ตัวย่อต่าง ๆ ที่อยู่บนตั๋วถ้าเป็น Y-P ก็คือ Young person railcard เป็นตั๋วราคาถูกสำหรับนักเรียน (ต้องเอาบัตรนักเรียนไปทำบัตร Young person railcard เก็บเอาไว้ก่อน จากนั้นจึงใช้บัตรดังกล่าวซื้อตั๋ว) ส่วน NSE คือ Network southeast คือเครือข่ายรถไฟด้านตะวันออกเฉียงใต้ของอังกฤษ (มีลอนดอนเป็นศูนย์กลาง) เครือข่ายรถไฟนี้เคยได้รับการจัดว่าเป็นเครือข่ายรถไฟที่หนาแน่นมากที่สุดในโลก (ส่วนตอนนี้เป็นของใครก็ไม่รู้) SGL คือตั๋วเที่ยวเดียว OUT กับ RTN คือตั๋วไปกลับ OUT คือออกจากสถานีที่ซื้อตัว RTN คือเดินทางกลับสถานีที่ซื้อตั๋วนั้น

ที่ผมเก็บตั๋วรถไฟเหล่านี้เอาไว้เพราะใช้เป็นเครื่องเตือนความจำว่าได้ไปเที่ยวที่ไหนเมื่อใดมาบ้าง และขนาดมันก็กระทัดรัดดี ไม่เกะกะอะไร ตอนนี้เห็นสภาพมันโทรมลงก็เลยเอามาสแกนเก็บเอาไว้หน่อยก็แค่นั้นเอง (อันที่จริงยังมีอีกหลายใบ)

ไม่มีความคิดเห็น: