วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2559

ไฟไหม้ใน Hood MO Memoir 2559 Mar 10 Thu

Hood ตัวนี้มันมีประตูเปิดได้ทั้งสองด้าน มีท่อดูดอากาศอยู่ตรงกลางด้านซ้ายและขวา (ใช้ท่อ PVC ขนาดท่อประมาณ 3 หรือ 4 นิ้ว) ตรงกลางมีโครงเหล็กสำหรับจับยึดอุปกรณ์ โดยที่พื้นตรงกลางนั้นเป็นรางปลั๊กไฟ ก่อนเกิดเหตุมีการกลั่นสารละลาย ซึ่งต้องกลั่นต่อเนื่องหลายชั่วโมง ไม่ทราบแน่ชัดว่ามีอุปกรณ์ใดบ้าง แต่มีการใช้ hot pate ให้ความร้อน  ในรูปที่ ๑ นั้นตำแหน่งที่ตั้ง hot plate อยู่ตรงอีกฟากหนึ่งของบริเวณที่ตั้งถังสีแดง (ที่เห็นเป็นชุดเครื่องแก้วตั้งอยู่) โดยบริเวณที่ตั้งกล่องสีแดงนั้นมีกล่องโฟม (เป็นกล่องโฟมสี่เหลี่ยมแบบที่ใช้บรรจุน้ำแข็งทั่วไป) ตั้งวางอยู่ ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับ hot plate ที่ใช้งาน

 
ผู้ทำการทดลองเริ่มทำการทดลองในช่วงบ่าย แต่เหตุมาเกิดหลังเวลา ๒๒.๐๐ น ของคืนวันพุธที่ ๙ ที่ผ่านมา โดยนิสิตผู้อื่นที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงได้กลิ่นไหม้ จึงออกมาตรวจสอบ และพบว่าไฟกำลังลุกไหม้อยู่ใน hood ดังกล่าว และได้ทำการดับเพลิงด้วยเครื่องดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง เพลิงจึงสงบในเวลาอันสั้น
 
ผมเองไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ส่วนสภาพที่เกิดเหตุในช่วงสายวันนี้ (หลังมีการเก็บกวาดไปบ้างแล้ว) ก็ดูในรูปต่าง ๆ เองก็แล้วกัน
 
รูปที่ ๑ บริเวณ hood ที่เกิดเหตุหลังได้ทำการรื้อเอาอุปกรณ์ที่ได้รับความเสียหายออกไปแล้ว


รูปที่ ๒ ภาพบริเวณ hood ที่เกิดเหตุ ก่อนจะรื้อเอาอุปกรณ์ที่ได้รับความเสียหายออกไป ภาพนี้ผมนำมาจากรายงานที่มีการแจ้งให้ทราบในช่วงเช้าวันนี้ พึงสังเกตตำแหน่งที่เกิดคราบเขม่า และสายยาง (เช่นเส้นที่ห้อยอยู่ทางด้านซ้ายของรูป) ที่ไม่ได้รับความเสียหายจากความร้อนเท่าใดนัก


รูปที่ ๓ บริเวณที่ตั้งของบริเวณที่ตั้งของกล่องโฟมที่เกิดเพลิงไหม้  พึงสังเกตว่ามีรอยไฟไหม้ที่พื้นด้วย


รูปที่ ๔  ชุดอุปกรณ์การกลั่นที่อยู่อีกฟากของกล่องโฟมตัวที่ก่อเหตุ

รูปที่ ๕ มองขึ้นไปด้านบน จะเห็นพลาสติกหุ้มโคมไฟฝั่งตรงข้ามเสียหายเนื่องจากแก๊สร้อนที่ลอยขึ้นบน

รูปที่ ๖ โคมไฟที่อยู่เหนือจุดเกิดเหตุ พลาสติกครอบโคมไฟร้อนจนย้อยลงมา

รูปที่ ๗ อีกมุมมองหนึ่งของโคมไฟที่อยู่เหนือจุดเกิดเหตุ ในวงสีเหลืองคือจุดดูดแก๊สออก พึงสังเกตความเสียหายเนื่องจากความร้อนของโคมพลาสติกหุ้มหลอดไฟ เทียบกับสายยางที่อยู่ที่ระดับต่ำกว่า แสดงให้เห็นถึงผลของแก๊สร้อนอุณหภูมิสูงที่ลอยขึ้นที่สูง

รูปที่ ๘ อีกมุมมองหนึ่งของโคมไฟที่อยู่อีกฟากของจุดเกิดเหตุ จะเห็นว่าได้รับความเสียหายจากแก๊สร้อนกว่าครึ่งโคม

รูปที่ ๙ เครื่องแก้วที่ถอดออกมาจากบริเวณที่เกิดเหตุ


- บันทึกรายละเอียดเพิ่มเติม (วันพุธที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๙)

ที่มาของต้นเพลิงคาดว่าน่าจะเกิดจากสายไฟฟ้าของ Hot plate ที่อยู่ในสภาพที่เสื่อมสภาพ มีความบกพร่องหลายจุดและใช้เทปพันสายไฟพันทับไว้ (ดูรูปที่ ๑๑) ประกอบกับเมื่อใช้ให้ความร้อนสูงต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้จุดที่เป็นปัญหาเกิดการร้อนจัดจนลุกไหม้ และเนื่องจากตำแหน่งสายไฟที่เกิดการลุกไหม้นั้นอยู่ใกล้กับกล่องโฟม (ดูรูปที่ ๑๒) ทำให้เปลวไฟจากสายไฟที่ลุกไหม้ลามมายังกล่องโฟม
อุบัติเหตุเช่นนี้เป็นเสมือนอุบัติเหตุที่รอการเกิด เพราะมันเกิดจากอุปกรณ์ชำรุด แต่ไม่มีการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพดี (หรือไม่ก็ห้ามการใช้งาน) มีการฝืนใช้งานต่อไปเรื่อย ๆ อาจเป็นเพราะเห็นว่า
 
- ก่อนหน้านี้ก็ยังคงใช้งานได้อยู่ และถ้าฉันเอามันมาใช้งานได้ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
- แล้วทำไมฉันต้องไปเสียเวลาซ่อมให้มันอยู่ในสภาพดี เพราะอุปกรณ์นี้ก็มีคนอื่นใช้กันตั้งหลายคน ไม่ใช่ฉันใช้เพียงคนเดียว
- มันเป็นของส่วนกลาง ฉันไม่ใช่คนรับผิดชอบดูแลอุปกรณ์ตัวนี้
- ไม่รู้ว่าความไม่สมบูรณ์มากขนาดไหนที่ไม่ปลอดภัยต่อการใช้งาน
- ฯลฯ
 
สรุปว่าก็มีการใช้งานอุปกรณ์ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์ จนในที่สุดจุดที่บกพร่องก็ไม่สามารถรองรับการทำงานได้อีกต่อไป ปัญหาก็เลยเกิด

รูปที่ ๑๑ สายไฟของ Hot plate ที่เกิดการลุกไหม้ ฉนวนหายไป เหลือแต่ขดลวดทองแดง


รูปที่ ๑๒ คาดว่าสายไฟของ hot plate ส่วนที่อยู่ใกล้กล่องโฟมร้อนจัดจนลุกไหม้ ทำให้ไฟลุกไหม้กล่องโฟม

ไม่มีความคิดเห็น: