วันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

การค้นหากระสุนปืนพกที่ดีที่สุดสำหรับหยุดคน MO Memoir : Sunday 26 July 2563

วันที่ ๑๑ เดือนเมษายน ปีค.ศ. ๑๙๘๖ (พ.ศ. ๒๕๒๙) มีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ FBI ของสหรัฐจำนวน ๘ นาย กับคนร้ายปล้นธนาคารจำนวน ๒ คน ผลการยิงปะทะปรากฏว่าคนร้ายทั้ง ๒ คนเสียชีวิต ในขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่นั้นก็เสียชีวิต ๒ นายและบาดเจ็บอีก ๕ นาย รายละเอียดเรื่องนี้สามารถอ่านได้ใน wikipedia เรื่อง "1986 FBI Miami shootout" (https://en.wikipedia.org/wiki/1986_FBI_Miami_shootout) งานนี้เป็นการดวลกันระหว่างปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติ (Ruger Mini-14) ของคนร้าย และปืนพกประจำกายของเจ้าหน้าที่ FBI
  
รูปที่ ๑ ชาวพื้นเมืองฟิลิปปินส์ผู้นี้ถูกทหารสหรัฐที่เป็นผู้ปกครองเมืองขึ้นยิงด้วยกระสุนขนาดคาลิเบอร์ .38 ถึง ๔ นัดในระยะใกล้ในระหว่างการต่อสู้ประชิดตัว แต่ไม่สามารถหยุดได้ จนกระทั่งถูกตีด้วยพานท้ายปืนยาวที่หน้าผาก (ที่มาของรูปปรากฏอยู่ทางด้านบนของรูปแล้ว https://www.ammoland.com/2016/07/history-45-acp-cartridge/#axzz6T9p58YF9)
  
หลังเหตุการณ์นี้พบว่า คนร้ายแม้ว่าจะถูกเจ้าหน้าที่ยิงโดนหลายนัด แต่ยังสามารถยิงโต้ตอบกับเจ้าหน้าที่ได้จนทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายนาย ทำให้เกิดคำถามสำคัญคำถามหนึ่งขึ้นมาก็คืออาวุธที่หน่วยงานจัดให้เป็นอาวุธประจำกายเจ้าหน้าที่นั้น มีอำนาจหยุดยั้งคนร้ายเพียงพอหรือไม่ และถ้าไม่เพียงพอ (ซึ่งเหตุการณ์นี้ก็แสดงให้เห็นเช่นนี้) เจ้าหน้าที่ควรได้รับการติดอาวุธอะไร คำถามเหล่านี้ได้นำไปสู่การออกแบบกระสุนชนิดใหม่คือ .40 S&W

แต่ก่อนอื่นเรามาลองทำความเข้าใจบางเรื่องกันก่อนดีกว่า

คำว่า "หยุด" ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าต้องตาย แต่หมายความว่า "ไม่สามารถตอบโต้ได้" ภาษาอังกฤษก็จะใช้คำว่า stopping power อย่างเช่นนักมวย อาจถูกชกเข้าที่ลำตัวอย่างแรงหลายครั้ง แต่ก็ยังปล่อยหมัดสวนได้ แต่ถ้าโดนจัง ๆ ที่ปลายคางเพียงหมัดเดียว ก็ลงไปนอนกองกับพื้นเวทีได้ทันที
  
ในการยิงต่อสู้นั้น จะสอนกันให้ยิงใส่ส่วนที่เป็นเป้าที่ใหญ่ที่สุด และมีการเคลื่อนไหวน้อยสุด ซึ่งก็คือส่วนลำตัว ดังนั้นกระสุนชนิดใดที่มีความสามารถในการหยุดการตอบโต้ของฝ่ายตรงข้าม ก็จะประเมินกันที่เมื่อฝ่ายตรงข้ามถูกยิงเข้าบริเวณส่วนลำตัว โดยไม่จำเป็นต้องโดนหัวใจ (เพราะถ้าโดนหัวใจ ไม่ว่ากระสุนเล็กหรือใหญ่ มันก็ตายคาทีทันที) และในที่นี้จะจำกัดเฉพาะปืนพก
  
กระสุนจะหยุดคนได้ดีแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถ่ายเทโมเมนตัม (ผลคูณระหว่างมวลกับความเร็ว) ให้กับคนได้มากแค่ไหน กระสุนที่มีพลังงานสูง แต่เจาะผ่านเป้าหมายไปอย่างรวดเร็ว จนไม่สามารถถ่ายเทโมเมนตัมให้กับเป้าหมายได้มากพอ ก็จะไม่สามารถหยุดยั้งเป้าหมายได้ ดังนั้นในทางทฤษฎี กระสุนที่ยิงเข้าตัวคน และหยุดอยู่ในตัวคน ก็จะสามารถถ่ายเทโมเมนตัมให้กับเป้าหมายได้หมด แต่ในขณะเดียวกัน หัวกระสุนก็ต้องมีพลังงานมากพอที่จะยิงทะลุที่กำบังที่บังขวางเป้าหมายอยู่ หัวกระสุนที่มีหนักเท่ากันและมีพลังงานเท่ากัน หัวกระสุนที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า จะมีอำนาจเจาะทะลุทะลวงสูงกว่าหัวกระสุนที่มีพื้นที่หน้าตัดใหญ่กว่า (หรือมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่านั่นเอง)
  
กระสุนที่มีพลังงานสูง เมื่อยิงออกจากปืนก็จะมีแรงกระทำต่อผู้ยิงที่สูงตามไปด้วย (ที่เรียกว่าปืนจะสะบัดหรือมีแรง recoil มากขึ้นก็ได้) ทำให้ยากต่อการควบคุมปืน ผลที่ตามมาก็คือผู้ยิงบางคนอาจจะขยาดไม่อยากยิงปืนนั้น ไม่อยากที่จะฝึกซ้อม และจะเสียเวลาในการยิงซ้ำนัดที่สอง ซึ่งจำเป็นในกรณีที่นัดแรกไม่เข้าเป้าหมาย หรือเปลี่ยนเป้าหมาย หรือซ้ำเป้าหมายเดิม ปืนที่มีน้ำหนักมากจะมีแรงสบัดน้อยกว่าปืนที่เบากว่า แต่ก็พกพายากกว่า 
   
ขนาดของกระสุนปืนมักจะอิงจากขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของลำกล้อง ที่เรียกว่า "คาลิเบอร์ (calibre)" ซึ่งมีทั้งหน่วยนิ้วและมิลลิเมตร ในกรณีของหน่วยนิ้วนั้น จะบอกด้วยจุดทศนิยม (ไม่มีเลขศูนย์นำ) และตัวเลขต่อท้าย ถ้าเป็นหน่วยมิลลิเมตรก็จะบอกขนาดเป็นมิลลิเมตร ตัวอย่างเช่นกระสุนขนาด .22, .220, .222 และ .223 ต่างเป็นกระสุนขนาดคาลิเบอร์เดียวกันคือ .22 นิ้ว แต่ตัวเลขตัวที่สามที่ต่อท้ายก็มันทำเพื่อทำให้รู้ว่าเป็นกระสุนต่างชนิดกัน อย่างเช่นกระสุนขนาด .222 และ .223 เรมิงตัน ก็เป็นกระสุนที่ใช้หัวกระสุนแบบเดียวกันได้ เพียงแต่กระสุน .223 มีปลอกกระสุนที่ยาวกว่า กระสุนขนาด 5.56 mm หรือ 5.6 mm ก็เป็นกระสุนขนาดคาลิเบอร์เดียวกัน และเทียบเท่ากับขนาด .22 ในหน่วยนิ้ว

แปดสิบปีก่อนเหตุการณ์ที่ไมอามี ก็มีเหตุการณ์ทำนองเดียวกันในฟิลิปินส์ ซึ่งเป็นช่วงที่ฟิลิปินส์ยังคงเป็นเมืองขึ้นของอเมริกา (และแน่นอนว่าชาวพื้นเมืองจำนวนมากต้องเสียชีวิตจากการต่อสู้เพื่อเป็นอิสระจากการปกครองของอเมริกา) กล่าวคือในระหว่างการต่อสู้ประชิดตัว ชาวพื้นเมืองรายหนึ่งถูกยิงด้วยปืนพกประจำกายมาตรฐานของทหารถึง ๔ นัด แต่ไม่สามารถหยุดยั้งการตอบโต้ได้ จนกระทั่งชาวพื้นเมืองผู้นั้นโดนฟาดด้วยพานท้ายปืนเข้าที่หน้าผาก (รูปที่ ๑)
  
การออกแบบอาวุธปืนให้สามารถยิงกระสุนที่มีพลังงานสูงได้ ขึ้นอยู่กับการพัฒนาโลหะให้สามารถรับแรงที่สูงได้ด้วย ซึ่งในยุคสมัยนั้นยังมีข้อจำกัดทางด้านนี้อยู่
  
หลังเหตุการณ์ที่ฟิลิปปินส์ในครั้งนั้น ทางกองทัพสหรัฐก็ได้ทำการศึกษาหาว่ากระสุนที่มีความสามารถสูงในการหยุดยั้งคู่ต่อสู้ควรมีคุณสมบัติอย่างไร ซึ่งนำมาสู่การทดลองที่เรียกว่า Thompson–LaGarde Tests (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Thompson-LaGarde_Tests) ซึ่งมีทั้งการทดลองด้วยการยิงสัตว์และดูปฏิกิริยาที่เกิด และการทดลองยิงศพคน เพื่อดูว่ากระสุนสามารถถ่ายเทพลังงานให้กับเป้าหมายได้แค่ไหน
  
ยุคสมัยนั้นยังไม่มีเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ตรวจวัดความเร็วของหัวกระสุน การหาความเร็วของหัวกระสุนจะใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า ballistic pendulum ที่ใช้การยิงกระสุนเข้าสู่เป้าหมายที่แขวนไว้ให้ลอยอย่างอิสระ เมื่อกระสุนฝังเข้าไปในเป้าหมาย (กระสุนต้องไม่ทะลุเป้าหมาย) พลังงานจลน์ของหัวกระสุนจะถูกถ่ายเทให้กับเป้าหมาย ทำให้เป้าหมายเกิดการเคลื่อนที่ถอยหลังพร้อมกับลอยตัวสูงขึ้น (พลังงานจลน์เปลี่ยนเป็นพลังงานศักย์) จากน้ำหนักของ (เป้าหมาย + หัวกระสุน) และระยะที่ยกตัวลอยขึ้น ก็จะทำให้สามารถคำนวณหาพลังงานจลน์ก่อนเกิดการเคลื่อนที่ได้ ซึ่งจะคำนวณกลับไปเป็นความเร็วของหัวกระสุนที่เข้ามากระทบได้ ตรงนี้คงพอมองภาพบ้างแล้วนะครับ ว่าเวลาทดสอบกับศพน่าจะเป็นอย่างไร
ผลการทดสอบนี้นำมาซึ่งกระสุนขนาด .45 ACP หรือที่บ้านเราเรียก 11 มม.

ช่วงต้นปีค.ศ. ๑๙๙๑ (พ.ศ. ๒๕๓๔) มีการทดลองหนึ่งที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันในปัจจุบัน หรือแม้แต่มีข้อสงสัยว่ามีการทดลองจริงหรือไม่ เนื่องจากไม่มีการเปิดเผยสถานที่ทำการทดลอง ผู้ให้ทุน และผู้ที่ทำการทดลอง เพราะเป็นการทดลองที่สำหรับผู้รักสัตว์แล้วก็ต้องถือว่าโหดไม่น้อย การทดลองนี้มีชื่อว่า "Strasbourg Tests" (รูปที่ ๒) ซึ่งเป็นการทดลองยิงสัตว์ทดลองด้วยกระสุนชนิดต่าง ๆ แล้ววัดดูว่ากระสุนชนิดใดสามารถทำให้สัตว์ทดลองหมดสภาพที่จะตอบโต้ได้เร็วที่สุด และที่สำคัญก็คือถ้าสัตว์ทดลองชนิดนั้นมีสรีระร่างกายใกล้เคียงกับมนุษย์ ผลการทดลองนี้ก็น่าจะเทียบเคียงกับการยิงคนจริงได้ และสัตว์ที่ถูกนำมาใช้เป็นเป้าทดสอบก็คือ "French Alpine Goat"
 
เหตุผลที่สัตว์ชนิดนี้ถูกเลือกก็เพราะ มันมีขนาดใกล้เคียงกับผู้ใหญ่โตเต็มวัย มีขนาดของหน้าอก (ก็ขนาดของปอด) ใกล้เคียงกับผู้ใหญ่โตเต็มวัย ความแข็งแรงของกระดูกซี่โครงใกล้เคียงกับของมนุษย์ และขนตามร่างกายของมันก็สามารถจำลองเสื้อผ้าที่คนสวมใส่อยู่ได้ มีการติดตั้งอุปกรณ์วัดต่าง ๆ (เช่นอัตราการเต้นหัวใจ คลื่นสมอง) เข้ากับตัวสัตว์ก่อนทำการทดลอง ในรายงานการทดลองของ Phase 1 นั้น มีการยิงแพะดังกล่าวไปถึง ๖๑๑ ตัว (ส่วน Phase 2 มีการทดลองอย่างไรหรือไม่นั้น ไม่เห็นข้อมูล)
รูปที่ ๓ เป็นตัวอย่างผลการทดลองที่ได้จากการใช้กระสุนขนาดที่บ้านเราเรียกว่า 9 มม. พารา ซึ่งกระสุนปืนพกชนิดหนึ่งที่เป็นที่นิยมใช้กันมากทั้งในทางพลเรือนและทางทหาร

รูปที่ ๒ บทเกริ่นนำของรายงานของการทดลองที่รู้จักกันในชื่อ Strasbourg Tests
  
รูปที่ ๓ ตัวอย่างผลการทดสอบด้วยกระสุนขนาด 9 mm Para ชนิดต่าง ๆ (คือรูปแบบหัวกระสุนและพลังง่าน) AIT คือเวลา (วินาที) ที่ทำให้สัตว์ทดลองหมดสติ

Strasbourg tests เป็นการทดลองหนึ่งที่คงยากที่จะมีการทำซ้ำอีกในอนาคต ซึ่งคณะผู้ทำการทดลองก็คงจะทราบเรื่องนี้ดี การทดลองดังกล่าวจึงถูกปกปิดเป็นความลับ และเพื่อให้ผลการทดลองนั้นสามารถใช้อ้างอิงได้ การออกแบบวิธีการทดลองและการเลือกตัวอย่างทดสอบจึงมีความสำคัญ เพราะถ้าพลาดไปแล้ว โอกาสที่จะกลับมาทำการทดลองแก้ไขก็คงไม่มีอีกแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น: