วันศุกร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2553

Pyrophoric substance (อีกครั้ง) MO Memoir : Friday 10 September 2553

เอกสารที่เกี่ยวกับ

Memoir ฉบับนี้มี ๒ ฉบับคือ

ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑๕ วันเสาร์ที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๑ เรื่อง Pyrophoric substance และ

ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑๖๘ วันศุกร์ที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เรื่องศุกร์ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๑


เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้เขียนขึ้นจากการประมวลเหตุการณ์ที่ได้เห็นจากภาพบันทึกและพูดคุยกับผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ และส่วนข้อคิดเห็นใด ๆ นั้นเขียนขึ้นจากความรู้ที่ผมมีอยู่ ดังนั้นถ้าใครจะนำไปใช้งานหรือนำไปอ้างอิงควรจะต้องนำไปตรวจสอบความถูกต้องให้ดีก่อน


ตัวเร่งปฏิกิริยาตระกูล Ziegler-Natta นั้นมีองค์ประกอบหลักอยู่ ๒ ส่วน คือองค์ประกอบที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาหลักที่เป็นสารประกอบของโลหะทรานซิชัน (ตัวหนึ่งที่ใช้อยู่มากคือ TiCl4) และองค์ประกอบที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาร่วม (co-catalyst) ซึ่งมักเป็นสารประกอบระหว่างโลหะกับหมู่อัลคิล เช่น Triethyl aluminium (Al(C2H5)3) หรือ Diethyl aluminium chloride (Al(C2H5)2Cl) ซึ่งอันที่จริงยังมีมากกว่านี้อีกเยอะ ที่ยกมาเป็นเพียงแค่ตัวพื้นฐานเท่านั้น และตัวที่เป็นต้นเรื่องของบันทึกฉบับนี้คือ Diethyl aluminium chloride ซึ่งในที่นี้ขอเขียนย่อ ๆ ว่า DEAC

DEAC เป็น pyrophoric substance ซึ่งในสภาพที่เป็นสารบริสุทธิ์หรือความเข้มข้นสูงสามารถลุกติดไฟได้เองทันทีทีสัมผัสกับอากาศหรือน้ำ และยังสามารถทำปฏิกิริยารุนแรงได้กับสารอินทรีย์ที่มีขั้วเช่น เมทานอล และเอทานอล ซึ่งความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นตามความแรงของขั้ว ดังนั้นความรุนแรงเมื่อทำปฏิกิริยากับ น้ำ > เมทานอล > เอทานอล

แต่ถ้านำ DEAC มาละลายในตัวทำละลายไฮโดรคาร์บอนให้ความเข้มข้นลดต่ำลงมาก ปฏิกิริยาเมื่อสัมผัสกับอากาศจะลดต่ำลงมากจนเกิดเป็นเพียงแค่ควันขาวและตะกอนเกิดขึ้นโดยไม่ลุกติดไฟ

การสลายตัวของ DEAC ส่วนที่เป็นคลอรีนจะให้แก๊ส HCl และส่วนที่เป็นหมู่อัลคิลจะเกิดการลุกไหม้ไฟ และส่วนที่เป็น Al จะกลายเป็นสารประกอบของแข็ง ซึ่งถ้าเกิดในบริเวณหัวเข็มก็จะทำให้ของแข็งนั้นอุดตันหัวเข็มได้


ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเที่ยงวันจันทร์ที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๓ ช่วงเวลาที่เกิดคือประมาณ ๑๒.๒๐ ถึง ๑๒.๒๔ น แต่ก่อนที่จะไปถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็ขอแสดงรายละเอียดขั้นตอนการทำงานที่ปรกตินิสิตจะใช้ปฏิบัติงานในการเตรียมตัวเร่งปฏิกิริยาดังนี้


. ทำการถ่าย DEAC บริสุทธิ์จากภาชนะเก็บไปยังอุปกรณ์ที่ใช้ในการเตรียมตัวเร่งปฏิกิริยา

ในขั้นตอนนี้ การถ่าย DEAC นั้นจะใช้เข็มฉีดยา (ขนาดกระบอกประมาณ 10 ml ที่มีหัวเข็มยาวประมาณ 8 นิ้ว) ดูดเอา DEAC ออกมาจากขวดโลหะที่เป็นอุปกรณ์ที่เป็นภาชนะเก็บ DEAC

บริเวณปากขวดโลหะนั้นสามารถติดตั้ง adapter เพื่อไล่อากาศบริเวณปากขวดด้วยแก๊ส Ar ก่อนที่จะปักเข็มลงไปเพื่อดูดเอา DEAC ขึ้นมา

และเมื่อดูดเอา DEAC ได้มาตามปริมาณที่ต้องการแล้ว ก็จะดึงปลายเข็มให้สูงจากผิวของเหลวในขวด จากนั้นจะดูดเอาแก๊ส Ar เข้ามาในกระบอกเข็มในปริมาณหนึ่ง ขั้นตอนนี้ทำเพื่อดึงเอา DEAC ที่ค้างอยู่ในบริเวณหัวเข็มให้ไหลเข้ามาอยู่ในตัวกระบอกเข็ม และเป็นการเติมแก๊ส Ar ไว้ในตัวหัวเข็มด้วย เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่าง DEAC กับอากาศ


. ทำการถ่าย DEAC จากเข็มลงไปในภาชนะที่ใช้เตรียมตัวเร่งปฏิกิริยา

ขั้นตอนนี้กระทำโดยการปักเข็มผ่านระบบวาล์ว (ที่มีการไล่อากาศด้วยอาร์กอน) เข้าไปในภาชนะที่ใช้เตรียมตัวเร่งปฏิกิริยาที่ข้างในบรรจุไว้ด้วยแก๊สเฉื่อย ซึ่งจะรีบกระทำทันทีหลังจากที่ดูดเอา DEAC ขึ้นมาได้

เนื่องจากในขณะนี้ DEAC เข้าไปอยู่ในส่วนกระบอกเข็ม และบริเวณปลายเข็มมีแก๊ส Ar กันอากาศเอาไว้ ทำให้พอจะสรุปได้ว่าเกิดปฏิกิริยา (ถ้ามี) ระหว่าง DEAC กับอากาศได้น้อยมาก


. การถอดเข็มออกจากภาชนะที่ใช้เตรียมตัวเร่งปฏิกิริยา

เมื่อถ่าย DEAC ออกจากกระบอกเข็มลงไปในภาชนะแล้ว "ยังอาจมี DEAC บางส่วนค้างอยู่ในหัวเข็ม" ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทำการไล่ DEAC ออกจากส่วนที่ค้างอยู่ในหัวเข็มนี้ออกให้ได้มากที่สุดก่อน

การไล่กระทำโดยการดึงแก๊สที่อยู่ในภาชนะที่ใช้เตรียมตัวเร่งปฏิกิริยาเข้ามาในกระบอก และกดไล่แก๊สดังกล่าวออกไป (นิสิตเรียกขั้นตอนนี้ว่า purging) กระทำขั้นตอนนี้ซ้ำกันหลายครั้งเพื่อให้ไล่ DEAC ออกจากปลายเข็มให้ได้มากที่สุด จากนั้นจึงค่อยถอนเข็มออกมาจากช่องที่ใช้ฉีด DEAC เข้าไปในภาชนะที่ใช้เตรียมอุปกรณ์


. การกำจัด DEAC ที่ยังตกค้างอยู่ที่หัวเข็มและกระบอกเข็ม

ในการทดลองนั้น นิสิตจะเตรียมเฮกเซน (C6H14) ไว้ในบีกเกอร์ขนาด 250 ml โดยจะวางอยู่ข้าง ๆ ภาชนะที่ใช้เตรียมตัวเร่งปฏิกิริยา

การกำจัด DEAC กระทำโดยการปักเข็มลงในบีกเกอร์บรรจุเฮกเซนแล้วดูดเอาเฮกเซนขึ้นมา แล้วก็ไล่เฮกเซนออกจากตัวเข็ม ซึ่งเป็นการล้าง DEAC ออกจากตัวเข็มด้วยเฮกเซน

ขั้นตอนนี้เป็นเพียงแค่การชะล้าง DEAC ออกจากเข็มเท่านั้น ยังไม่ได้เป็นการทำลาย DEAC DEAC ที่ถูกชะล้างเข้าไปในเฮกเซนจะค่อย ๆ ทำปฏิกิริยากับอากาศอย่างช้า ๆ และสลายตัวไป


อุบัติเหตุที่เกิด เกิดขึ้นระหว่างขั้นตอนในข้อ ๓. และ ๔. กล่าวคือ


. ในการ purging เพื่อไล่ DEAC ที่ค้างอยู่ในหัวเข็มและกระบอกเข็ม (ข้อ ๓.) นั้น นิสิตผู้ทำการทดลองได้รับแจ้ง (จากรุ่นพี่ผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำมาก่อน ?) ว่าให้ไม่จำเป็นต้องทำ สามารถดึงเข็มออกมาได้เลย นิสิตผู้ปฏิบัติงานจึงปฏิบัติตามคำแนะนำ (ของผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่า ?) นั้น


. ปรากฏว่ามี DEAC ตกค้างอยู่ที่หัวเข็ม ดังนั้นเมื่อถอนเข็มออกมาจากภาชนะที่ใช้เตรียมตัวเร่งปฏิกิริยาเพื่อที่จะปักลงไปในบีกเกอร์บรรจุเฮกเซน (ข้อ ๔.) DEAC ที่ค้างอยู่ที่ปลายเข็มหยดออกมาจากปลายเข็มและทำปฏิกิริยากับอากาศเกิดการลุกติดไฟ เปลวไฟที่เกิดหยดใส่บีกเกอร์ที่บรรจุเฮกเซน ทำให้เฮกเซนในบีกเกอร์ลุกติดไฟขึ้นมา


. นิสิตทำการเคลื่อนย้ายบีกเกอร์บรรจุเฮกเซนที่ลุกติดไฟนั้นออกจากบริเวณทำการทดลอง และฉีดดับไฟด้วยถังดับเพลิง (ชนิดแก๊สฮาลอน)

ในขณะนี้ต้องขอชมผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ว่ายังสามารถคุมสติได้ ไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป แม้ว่าวันรุ่งขึ้นหลังเกิดเหตุการณ์แล้วหน้าตายังดูไม่สดใสอยู่ก็ตาม


โดยส่วนตัวของผมแล้ว เมื่อเกิดอุบัติเหตุใด ๆ ในระหว่างการทดลอง สิ่งแรกที่ต้องกระทำคือการหยุดความเสียหายที่เกิดขึ้น (ในที่นี้คือการดับไฟ) หลังจากนั้นสิ่งที่พวกคุณควรกระทำ (ขอให้พวกคุณกระทำตามนี้ด้วย) และสิ่งที่อาจารย์ที่ปรึกษาควรกระทำ ผมคิดว่าควรเป็นดังนี้


. นิสิตที่ประสบเหตุแจ้งให้อาจารย์ที่ปรึกษาทราบโดยเร็วที่สุด


. อาจารย์ที่ปรึกษาควรสั่งยุติการทดลองทั้งหมด ที่ใช้วิธีการทดลองแบบเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันเอาไว้ก่อน และเรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องเพื่อหาสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุดังกล่าว


๑๐. ต้องขอย้ำว่าการเรียกประชุมในข้อ ๙. เป็นการประชุมเพื่อหา "สาเหตุ" ของการเกิดอุบัติเหตุ ไม่ใช่การประชุมเพื่อหา "คนผิด" เพราะจะว่าไปแล้วจะไปโยนความผิดพลาดทั้งหมดให้นิสิตไม่ได้ เพราะถ้านิสิตเองทำงานภายใต้การกำกับดูแลและวิธีการปฏิบัติงานที่อาจารย์ที่ปรึกษาเห็นชอบ อาจารย์ที่ปรึกษาก็ต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดนั้นด้วย


๑๑. "วิธีการปฏิบัติงานที่อาจารย์ที่ปรึกษาเห็นชอบ" นั้น ไม่ควรจำกัดความหมายเพียงแค่วิธีปฏิบัติงานที่อาจารย์ที่ปรึกษารับทราบ เพราะการใช้คำจำกัดความดังกล่าวทำให้อาจารย์ที่ปรึกษาบางรายเลี่ยงความรับผิดชอบโดยการไม่รับรู้วิธีการปฏิบัติงานของนิสิต เช่นโดยการไม่สอนหรือบอกแต่ให้ไปเรียนเอาเองจากรุ่นพี่ เพื่อที่เมื่อเกิดอุบัติเหตุจะได้อ้างได้ว่าไม่ได้บอกให้ทำเช่นนั้น แต่ควรครอบคลุมไปถึงวิธีการใด ๆ ที่นิสิตต้องทำให้ได้ผลการทดลองที่อาจารย์ที่ปรึกษาเอาไปใช้ประโยชน์ด้วย เพราะการที่อาจารย์ที่ปรึกษาบอกให้ไปเรียนวิธีการจากรุ่นพี่ก็แสดงว่าอาจารย์ที่ปรึกษายอมรับว่าวิธีการดังกล่าวนั้นถูกต้อง

นี่คือสิ่งที่ผมได้เคยบอกให้พวกคุณบางคนไปทำมาคือ เขียนวิธีการทำงาน (ไม่ว่าจะเป็นวิธีการทดลองหรือการใช้เครื่องมือต่าง ๆ) จากนั้นจะนำมาประชุมตรวจสอบกันเพื่อกำหนดเป็นวิธีการทำงานมาตรฐาน เพราะการที่บอกว่าให้ไปเรียนจากรุ่นพี่นั้นพบว่าวิธีการมีการเบี่ยงเบนไปจากเดิมระหว่างรุ่นต่อรุ่น ทำให้ต้องมีการตรวจสอบการทำงานเป็นระยะ เรื่องแรกที่เราได้ทำไปแล้วคือวิธีการดึงข้อมูลออกมาจากเครื่องอินทิเกรเตอร์ (Memoir ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๑๘๔ วันพุธที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๓ เรื่องการบันทึกโครมาโทแกรมลงแผ่นดิสก์)


๑๒. เมื่อพบสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุแล้ว ก็ต้องพิจารณาหนทางป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำอีก อุบัติเหตุส่วนใหญ่นั้นสามารถลดโอกาสการเกิดได้โดยการปรับปรุงวิธีการทำงาน เช่น เลือกใช้อุปกรณ์ให้เหมาะสม ปรับปรุงตำแหน่งการจัดวางอุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ เสียใหม่ เปลี่ยนชนิดสารเคมีที่ใช้ ฯลฯ


๑๓. แต่ต้องยอมรับว่าไม่ว่าจะป้องกันด้วยอุปกรณ์ใด ๆ ก็ตาม ความผิดพลาดที่เกิดจากผู้ปฏิบัติงานนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถตัดออกไปได้ และคาดการณ์ไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด สิ่งที่ต้องมองคือถ้าผู้ปฏิบัติงานเกิดทำงานผิดพลาดขึ้นมา (ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้) ทำอย่างไรจึงจะให้ผลที่เกิดจากความผิดพลาดนั้นเสียหายน้อยสุด หรือถูกจำกัดไว้ไม่ให้กระจายออกไป


แต่หลังจากเกิดอุบัติเหตุดังกล่าว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามมาเท่าที่ทราบคือ


๑๔. นิสิตแจ้งเรื่องให้อาจารย์ที่ปรึกษาทราบในวันรุ่งขึ้น


๑๕. อาจารย์ที่ปรึกษาให้นิสิตเขียนบันทึกข้อความว่าเกิดอะไรขึ้นเพื่อรายงานในที่ประชุม


๑๖. นิสิตส่งรายงานให้แก่อาจารย์ที่ปรึกษา (เข้าใจว่ายาวเพียงครึ่งหน้า A4) เพื่อแจ้งในที่ประชุม ที่ประชุมรับทราบว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้น


๑๗. อาจารย์ที่ปรึกษาบอกให้นิสิตไปหาทางออกแบบอุปกรณ์บรรจุเฮกเซนที่สามารถเอาบีกเกอร์ใบใหญ่กว่าครอบได้เพื่อดับไฟ หากเกิดอุบัติเหตุเช่นนี้อีก


สำหรับกลุ่มวิจัยดังกล่าว เรื่องราวเกี่ยวกับอุบัติเหตุนั้นก็คงจะจบสิ้นตรงข้อ ๑๗. แล้วก็จะเลือนหายไป แต่สำหรับกลุ่มของเรานั้นเรื่องที่ผมจะกล่าวต่อไปขอให้ใช้เป็นตัวอย่างในการตั้งคำถามเพื่อการวิเคราะห์เหตุการณ์ต่าง ๆ โดยพยายามจะมองความเป็นไปได้ทั้งหมดเท่าที่คิดออกในขณะที่เขียนบันทึกนี้ และแนวทางป้องกันการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวอีก โดยจะกล่าวแยกเป็นข้อ ๆ ไป


๑๘. เรื่องแรกคือการที่รุ่นพี่มาบอกว่า "ไม่จำเป็นต้องทำการ purging ไล่ DEAC ที่ค้างอยู่ในเข็มออกไป สามารถดึงเข็มออกมาได้เลยนั้น" ที่กล่าวไว้ในข้อ ๕. นั้น รุ่นพี่คนนั้นเคยกระทำเช่นนี้มาก่อนหรือเปล่า

ถ้าหากไม่เคยทำเช่นที่เขาพูดมาก่อน แล้วทำไมเขาจึงแนะนำรุ่นน้องอย่างนั้น

แต่ถ้าเขาเคยทำมาก่อน แล้วทำไมจึงไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้กับเขา


๑๙. ตรงจุดนี้ผมได้เข้าไปดูตัวเข็มใช้ในการดูด DEAC จากภาชนะเก็บและฉีดเข้าไปในเครื่องปฏิกรณ์ ทราบว่าตามปรกติแล้วนิสิตจะใช้เข็มดูด DEAC มาประมาณ 7 ml จากนั้นจึงดูดแก๊สอาร์กอนเข้ามาอีก 2 ml ซึ่งในขณะนี้ตัวหัวเข็มจะมีแต่แก๊สอาร์กอนอยู่ และระหว่างของเหลวกับตัวลูกสูบจะมีแก๊สอาร์กอนอยู่เช่นกัน

ดังนั้นถ้าฉีด DEAC เข้าไปในเครื่องปฏิกรณ์จนหมด 7 ml แล้ว แก๊สอาร์กอนที่เหลืออีก 2 ml ก็ควรที่จะดัน DEAC ที่ค้างอยู่ที่หัวเข็มให้ไหลเข้าไปในเครื่องปฏิกรณ์จนหมด ดังนั้นถ้าพิจารณาจากมุมมองนี้แล้วจะเห็นว่าไม่ควรที่จะมี DEAC ตกค้างอยู่ที่หัวเข็มหรือในตัวเข็ม


๒๐. ในความเป็นจริงปรากฏว่ามี DEAC ตกค้างอยู่ ซึ่งอาจเกิดจากรูปแบบการปักเข็ม ซึ่งไม่ได้ปักในแนวดิ่งในลักษณะที่ฉีดลงไป แต่เป็นการปักในแนวอื่น (เช่นแนวนอน) และอาจเป็นเพราะตัวลูกสูบเองนั้นไม่แนบชิดกับตัวกระบอกเข็มเมื่อกดลูกสูบลงไปจนสุด (ที่ขีดบอกปริมาตรเป็นศูนย์) ทำให้มีช่องว่าที่ DEAC ตกค้างอยู่ได้

แต่ที่ทำไม่รุ่นพี่คนนั้นทำได้ (ถ้าเขาทำจริง) อาจเป็นเพราะมุมการฉีดสารและหน้าสัมผัสระหว่างลูกสูบกับกระบอกเข็มของเขานั้นแนบสนิทกว่า ทำให้ไม่มี DEAC ตกค้างอยู่เมื่อกดลูกสูบลงไปจนสุด


๒๑. ตรงจุดนี้อาจต้องยอมรับว่าเราคงไม่สามารถไล่ DEAC ออกจากเข็มได้หมดทุกครั้ง ต้องคิดเอาไว้ก่อนว่าอาจจะยังมี DEAC ตกค้างอยู่ที่หัวเข็มหรือในกระบอกเข็มได้ ดังนั้นเมื่อถอดเข็มออกมาจากเครื่องปฏิกรณ์แล้ว ก็ต้องหาทางกำจัด DEAC ที่ตกค้างอยู่ภายในตัวเข็ม


๒๒. การกำจัด DEAC อาจทำได้โดยการจุ่มเข็มลงในของเหลวที่ทำปฏิกิริยากับ DEAC แล้วทำการดูดของเหลวนั้นเข้ามาในกระบอก แล้วฉีดไล่ออกไป ทำซ้ำเช่นนี้หลายครั้ง

ถ้ามองในแง่มุมนี้แล้วของเหลวที่ปลอดภัยที่สุดคือน้ำ เพราะไม่ลุกติดไฟ แต่ปฏิกิริยาระหว่างน้ำกับ DEAC จะรุนแรง (โดยเฉพาะถ้ามี DEAC ตกค้างอยู่มาก) ปฏิกิริยากับแอลกอฮอล์จะรุนแรงน้อยกว่า แต่แอลกอฮอล์ก็ลุกติดไฟได้ง่าย ดังนั้นแม้ว่าจะมีการใช้แอลกอฮอล์ (ที่เขาใช้อยู่คือเมทานอล) ในการทำลาย DEAC แต่การกระทำดังกล่าวทำได้ก็ต่อเมื่อกระทำในบรรยากาศของแก๊สเฉื่อย ไม่ใช่ในอากาศ (ดูบันทึกปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑๕ ประกอบด้วย)

ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอีกประการคือการสลายตัวของ DEAC นั้นตัว Al จะสลายตัวเป็นของแข็ง ดังนั้นถ้าหากทำให้เกิดการสลายตัวของ DEAC ในตัวหัวเข็ม ก็อาจทำให้ตัวหัวเข็มอุดตันได้

ดังนั้นถ้าพิจารณามุมมองที่ว่าผลิตภัณฑ์ของแข็งที่เกิดจากการสลายตัวของ DEAC นั้นกลายเป็นของแข็งตกค้างอยู่ในหัวเข็มและตัวกระบอกเข็มได้ แนวความคิดที่ว่าจะใช้วิธีการดูดน้ำหรืออากาศ (เช่นโดยการปักไว้ในกระป๋องบรรจุทรายแห้งหรือชื้น) ก็ไม่น่าจะใช่วิธีการที่ดี


๒๓. อีกวิธีการคือการเจือจาง DEAC ด้วยตัวทำละลายที่เฉื่อย ซึ่งทำได้โดยการจุ่มเข็มลงไปในตัวทำละลายนั้น ดูดตัวทำละลายนั้นเข้ามาในเข็มและฉีดไล่ออกไป DEAC ที่ค้างอยู่ในเข็มจะถูกตัวทำละลายชะออกไป

ในสภาพที่เป็นสารละลายเจือจางนั้น DEAC ที่อยู่ในสารละลายจะค่อย ๆ ทำปฏิกิริยากับอากาศและสลายตัวไป ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนปฏิบัติปรกติที่นิสิตกระทำอยู่จนกระทั่งถึงวันเกิดเหตุ (และเข้าใจว่าในขณะนี้ก็ยังคงวิธีการนี้เอาไว้) โดยตัวทำละลายที่ใช้คือเฮกเซน ซึ่งบรรจุไว้ในบีกเกอร์ขนาด 250 ml ที่วางไว้ใกล้ ๆ กับเครื่องปฏิกรณ์ เพื่อที่เมื่อถอนเข็มออกมาจากเครื่องปฏิกรณ์แล้วจะสามารถปักลงไปในบีกเกอร์เฮกเซนได้ทันที


๒๔. ตรงนี้มีประเด็นคำถามให้พิจารณาสองประเด็นด้วยกันคือ () เราสามารถเปลี่ยนชนิดตัวทำละลายได้ไหม และ () เราเปลี่ยนภาชนะที่ใช้บรรจุตัวทำละลายได้ไหม


๒๕. เฮกเซนเป็นสารที่มีอุณหภูมิจุดวาบไฟต่ำกว่าอุณหภูมิห้อง จัดเป็นของเหลวไวไฟ ติดไฟได้ง่าย ดังนั้นปรกติที่อุณหภูมิห้องเฮกเซนจะระเหยออกมาได้มากและมากระจายตัวอยู่รอบ ๆ บริเวณภาชนะที่ใช้บรรจุ ดังนั้นไม่จำเป็นต้องมีเปลวไฟจ่อไปถึงผิวหน้าของเหลว แค่อยู่ในบริเวณรอบ ๆ ก็สามารถทำให้เกิดเปลวไฟลุกไหม้กลับไปยังภาชนะบรรจุของเหลวได้

ถ้าพิจารณาจากมุมมองชนิดตัวทำละลาย จึงควรหาไฮโดรคาร์บอนตัวอื่นที่มีอุณหภูมิจุดวาบไฟสูงกว่าอุณหภูมิห้อง (ยิ่งสูงเท่าใดยิ่งดี) มาใช้แทนเฮกเซน ของเหลวที่มีอุณหภูมิจุดวาบไฟสูงจะติดไฟได้ยาก แม้ว่าจะเอาเปลวไฟไปจ่อก็ตาม (ถ้านึกภาพไม่ออกลองเอาน้ำมันพืชที่บ้านใส่ถ้วยมาแล้วจุดไฟโดยใช้ไม้ขีดไฟดู จะพบว่ามันไม่ติดไฟ แต่ถ้ามีไส้ตะเกียงช่วยละก็จะลุกติดไฟได้ง่าย)

แต่ไฮโดรคาร์บอนก็ยังเป็นสารที่ติดไฟ ของเหลวอีกตระกูลหนึ่งที่น่าจะลองหาข้อมูลดูก็คือตัวทำละลายที่เป็นสารประกอบออแกนิกเฮไลด์ (เช่นคาร์บอนเททระคลอไรด์หรือคลอโรอีเทน หรือสารอินทรีย์ตัวอื่นที่มีฮาโลเจนเป็นองค์ประกอบ) เพราะสารพวกนี้จะเผาไหม้ได้ยากหรือไม่ลุกติดไฟ แต่ควรตรวจสอบให้ดีด้วยว่าพวกที่ไม่มีการแทนที่ไฮโดรเจนด้วยฮาโลเจนจนหมดนั้นยังสามารถทำปฏิกิริยาได้อยู่หรือเปล่า แต่ตัวทำละลายพวกนี้จะก่อให้เกิดปัญหาในการกำจัดทิ้งภายหลัง


๒๖. จากพิจารณาจากมุมมองของภาชนะบรรจุ บีกเกอร์เป็นภาชนะปากกว้างซึ่งง่ายต่อการปักเข็มลงไปในตัวทำละลาย แต่ถ้าตัวทำละลายนั้นเป็นสารที่ติดไฟได้จะมีอันตรายมาก เพราะพื้นที่การระเหยจะมากทำให้ลุกติดไฟได้ง่าย นอกจากนี้เมื่อลุกติดไฟแล้วยังดับได้ยาก แม้ว่าเราจะหาอะไรมาครอบมันไว้ก็ตาม

การใช้บีกเกอร์ใบใหญ่กว่ามาครอบทับลงไปนั้นใช้ได้ดีกับของเหลวที่มีความดันไอไม่สูงมาก แต่สำหรับของเหลวที่มีความดันไอสูงมากแล้ว (พวกไฮโดรคาร์บอนตัวเล็กหรืออีเทอร์) การใช้บีกเกอร์ใบใหญ่มาครอบจะไม่สามารถดับได้ เพราะของเหลวที่ระเหยออกมาจะมาลุกติดไฟบริเวณที่ปากบีกเกอร์ใบใหญ่สัมผัสพื้น การใช้กระจกมาปิดปากบีกเกอร์ก็จะไม่ได้ผลเช่นกัน (อันนี้มีประสบการณ์ตรงมาจากการสอนนิสิตป.ตรีในห้องแลปเคมีพื้นฐาน ซึ่งในบางครั้งต้องทำการจุดตะเกียงโดยการวางตะเกียงแช่อยู่ในถาดที่มีน้ำอยู่ตื้น ๆ พอปิดจงอยปากบีกเกอร์ได้)

การใช้ผ้าหนา ๆ ชุบน้ำเปียกหรือผ้าห่มกันไฟมาคลุมน่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่าก็ต้องระวังอย่าให้บีกเกอร์ล้ม โดยเฉพาะตอนที่ครอบผ้าลงไป

โดยส่วนตัวผมในขณะนี้คิดว่าเปลี่ยนไปใช้ขวดรีเอเจนต์น่าจะดีกว่า เพราะขวดดังกล่าวมีปากขวดเล็กและมีฝาขวดที่เป็นแก้วที่ปิดปากขวดได้พอดี การมีปากขวดที่เล็กจะลดการระเหยของตัวทำละลายออกมาข้างนอกขวด และการที่มีฝาที่ปิดได้พอดีจะช่วยในการดับไฟถ้าหากเกิดการลุกไหม้ นอกจากนี้ถ้าขวดเกิดการล้มนอน (ไม่ใช่ตกแตก) ของเหลวในขวดก็ไม่หกออกมาทั้งหมดเหมือนกับกรณีของบีกเกอร์ แต่ถ้าให้ดีก็ควรหาขวดที่ทำจากโลหะ จะได้ตัดปัญหาเรื่องการตกแตกหรือล้มแตก

ส่วนจะเลือกใช้ภาชนะใดก็ขอให้ไปลองพิจารณากันเองก็แล้วกัน


๒๗. สุดท้ายเมื่อได้ข้อสรุปแล้วก็ควรที่จะมีการเผยแพร่ให้สมาชิกทุกคนในกลุ่มรับทราบถึงการเปลี่ยนแปลงวิธีการปฏิบัติ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิมอีก


บันทึกฉบับนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อกล่าวโทษใคร เพียงแต่ต้องการบันทึกเหตุการณ์เอาไว้เป็นบทเรียนสำหรับคนรุ่นต่อไปที่จะได้ไม่ทำผิดพลาดซ้ำอีก ส่วนวิธีการต่าง ๆ ที่เสนอในที่นี้นั้นผมไม่สงวนสิทธิ์ถ้าใครจะนำไปใช้ แต่อย่านำไปใช้โดยไม่มีการพิจารณา ควรนำไปพิจารณากันก่อนด้วยว่าเหมาะสมกับสิ่งที่ตัวเองทำอยู่หรือไม่ แล้วดัดแปลงให้เหมาะสมกับการทำงานของตัวเอง เพราะสิ่งที่เหมาะสมกับสถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมหนึ่งนั้นอาจจะไม่เหมาะสมกับสถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมที่แตกต่างไปก็ได้


คลิปวิดิโอที่แนบมาให้เป็นภาพเหตุการณ์จริงที่กล้องวงจรปิดบันทึกเอาไว้ ซึ่งแสดงให้เห็นบริเวณด้านข้างของสถานที่เกิดเหตุ (กล้องไม่ได้จับภาพบริเวณที่ทำปฏิกิริยา) ซึ่งจะเห็นนิสิตนำบีกเกอร์ที่มีไฟลุกไหม้นั้นออกไปดับนอกห้องแลป

ไฟล์ต้นฉบับพอแปลงเป็น .mpeg แล้วจากเหตุการณ์ ๔ นาทีเหลือย่อเพียง ๒๘ วินาที ดังนั้นถ้าจะเปิดดูให้สมจริงควรตั้งความเร็วการเล่นไฟล์ให้ช้าลงด้วย ส่วนเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นที่ไหน ใครอยู่ในเหตุการณ์บ้าง ก็เดากันเองก็แล้วกัน


ไม่มีความคิดเห็น: