Autoclave ที่เราใช้ในการสังเคราะห์ซีโอไลต์ (ตอนนี้ที่ทำกันอยู่ก็คือ TS-1) ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างตู้ควันและชั้นเก็บสารเคมีนั้นเป็นอุปกรณ์ที่มีมานานแล้ว (น่าจะสัก ๒๐ ปีได้แล้ว) ที่ถ่ายรูปมาให้ดูข้างล่าง (รูปที่ ๑) ก็เป็นส่วนฝาปิดที่ประกอบด้วย ชุดแกนใบพัดกวนและระบบท่อน้ำหล่อเย็นหรือน้ำระบายความร้อน
รูปที่ ๑ ฝาปิด Autoclave ที่ใช้อยู่ในแลปของเรา ลูกศรสีเขียวชี้ท่อทางเข้า-ออกของน้ำหล่อเย็นที่ไหลไปยังขดท่อข้างล่าง ใช้ในการระบายความร้อนออกจาก Autoclave ส่วนท่อสีแดงเป็นท่อน้ำระบายความร้อนจากบริเวณ packing กันรั่วเพื่อป้องกันไม่ให้ packing ที่ทำจากยางร้อนจนเกิดความเสียหาย
เนื่องจากฝาปิดมีรูสำหรับให้แกนใบพัดสอดผ่าน และเพื่อให้ใบพัดหมุนได้จึงต้องมีช่องว่างระหว่างแกนใบพัดและผนังรูที่เจาะ ช่องว่างนี้เป็นช่องสำหรับให้แก๊สในระบบรั่วออกมาได้ ดังนั้นจึงต้องมีการปิดช่องว่างนี้ (โดยที่ใบพัดยังคงหมุนได้) วิธีการที่ใช้กันก็คือการติดตั้ง packing ซึ่งอาจจะเป็น packing แบบใด ๆ ก็ได้ เช่น mechnical packing หรือกราไฟต์ หรือในกรณีของเราคือเป็นยาง โครงสร้างบริเวณนี้แสดงไว้ในรูปที่ ๒ ข้างล่าง
รูปที่ ๒ โครงสร้างบริเวณรอบ ๆ packing ของเพลาใบพัด
packing ที่ใช้กับ autoclave ที่เราใช้อยู่นั้นทำจากยาง (รูปกรวยตัดยอด) ซ้อนกันอยู่หลายตัว (สีแดงในรูปที่ ๒) วัสดุนี้ไม่ทนอุณหภูมิสูงมาก ดังนั้นในระหว่างการใช้งานเพื่อป้องกันไม่ให้ความร้อนภายใน autoclave ทำให้ตัว packing เสียหายจึงต้องป้อนน้ำเข้าไประบายความร้อนออกจากบริเวณรอบ ๆ packing ท่อน้ำระบายความร้อนออกจากบริเวณรอบ ๆ packing คือท่อที่ชี้ด้วยลูกศรสีแดงในรูปที่ ๑ ทุกครั้งที่มีการใช้งานที่อุณหภูมิสูงต้องต่อท่อน้ำระบายความร้อนทุกครั้ง เพราะถ้า packing ร้อนจนเสียหายแล้วจะเกิดการรั่วไหลของแก๊สออกทางบริเวณดังกล่าว
ก่อนหน้านี้เคยเห็นบางรายใช้ autoclave โดยไม่ได้ต่อท่อน้ำระบายความร้อนดังกล่าวเพราะคิดว่าไม่จำเป็น หรือบางรายคิดว่าท่อดังกล่าวเป็นท่อน้ำระบายความร้อนออกจาก autoclave ดังนั้นถ้าใครเคยเข้าใจผิดก็ขอให้เข้าใจใหม่ให้ถูกต้องตามนี้ด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น