วันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

แค่คืบจริงจริง MO Memoir : Monday 29 November 2553

มีคนเขาหาว่าครั้งที่แล้วผมเลือกเพลงเศร้า ๆ ให้ฟัง ฟังแล้วก็น้ำตาซึม (ผมว่าเพลงมันก็เพราะดีออก) ก็ตอนนั้นมันมีบรรยากาศของคน.... (ตรงนี้ไม่แน่ใจว่าจะใช้คำไหนดี เพราะผมไม่คิดว่าเขาอกหักนะ น่าจะเป็นการไปหักอกเขา หรือจากกันด้วยดี (สำหรับคนอื่นที่รออยู่) มากกว่า)

ตอนนี้ใกล้ปีใหม่แล้ว คิดว่าบางคน (ที่มีคู่อยู่ในขณะนี้) คงอยากได้เพลงไปร้องคู่กัน จะไปร้องกันสองคนหรือในงานใด ๆ ก็แล้วแต่ ก็เลยเลือกเพลงนี้มาให้ ต้นฉบับเดิมเข้าใจว่าร้องโดยชรินทร์ นันทนาคร เป็นเพลงประกอบภาพยนต์เรื่อง เงิน เงิน เงิน ผมเองมีเทปเก่าที่เป็นของค่ายรถไฟดนตรี ร้องโดยวงบัตเตอร์ฟลาย คิดว่าเพลงนี้น่าจะเหมาะสำหรับคนสองคนที่อยู่ใกล้กัน เจอหน้ากันเป็นประจำ แต่ยังไม่เคยบอกกล่าวกันว่า... ฟังเพลงเองก็แล้วกัน


เพลง แค่คืบ


(ช) แค่คืบ เท่านั้น

ฉันให้งงงัน มิกล้าเอ่ย

พบกันทุกวัน กับทรามเชย

แต่ยังมิเคย จะเอ่ยบอกรัก


(ญ) แค่คืบ เท่านี้

น้ำใจไมตรี มีให้ตระหนัก

ไฉนจึงเหมือนคนไม่รู้จัก

หวั่นใจนัก รักแท้หรือเทียม มาเยี่ยมอำพราง


(ช) หลงรักเงา จนเศร้าดวงใจ

ขออย่าเมินให้ จิตใจต้องหมองหมาง


(ญ) รักด้วยใจภักดิ์ รักด้วยใจสว่าง

ทุกสิ่งทุกอย่าง จะกระจ่างสายตา


(พร้อม) แค่คืบ จริง จริง


(พร้อม) แค่คืบ จริง จริง

เหมือนผีมาสิง อยู่ในอุรา

จนใจที่ปาก ฉันมิกล้า

เอื้อนเอ่ยวาจาว่า รักเธอ


ผมหา mp3 ให้ไม่ได้ เลยไปโหลดจาก youtube เลือกเอาเวอร์ชันที่กบ (ทรงสิทธิ์) ร้องใหม่คู่กับใครก็ดูเองเอง เป็นตอนที่นำภาพยนต์เรื่อง เงิน เงิน เงิน มาสร้างใหม่ราวปีพ.ศ. ๒๕๔๐ (เขาเขียนไว้ที่นั่น)


วันเสาร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การวัดพื้นที่ผิว BET MO Memoir : Saturday 27 November 2553

เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ได้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรไว้เป็นครั้งแรกใน Memoir ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๙๗ วันเสาร์ที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๓ หัวข้อ "สรุปการประชุมวันพฤหัสบดีที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๓" ซึ่งอันที่จริงผมก็ทราบปัญหานี้มานานแล้ว แต่ก็เป็นการสอนกันแบบปากต่อปากบอกต่อกันไป ทำให้เกิดปัญหาความเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะพอบางรุ่นไม่ได้ทำการวิเคราะห์ดังกล่าวก็เลยไม่มีการสอนต่อ พอการส่งต่อข้อมูลขาดช่วงก็เลยมีการไปถามหาวิธีการจากกลุ่มอื่นที่ใช้วิธีการที่อาจเหมาะสมกับตัวอย่างของเขา (แต่ไม่เหมาะสมกับตัวอย่างของคนอื่น) ในการวิเคราะห์ หรือไม่ก็เลือกวิธีการที่ทำให้ได้ผลแลปออกมาเร็วโดยไม่ได้มีการพิจารณาว่าผลจะออกมาถูกต้องหรือเปล่า ตอนแรกก็ไม่คิดจะหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาเขียน แต่พอเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในการประชุมวิชาการเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็เลยอดไม่ได้ที่จะต้องหยิบขึ้นมาเล่าให้ฟังกันใหม่

เป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้ว่านิสิตผู้ทำการทดลองก็หวังจะให้อาจารย์ที่ปรึกษายอมรับผลการทดลองที่ตัวเองนำเสนอ ส่วนตัวอาจารย์ที่ปรึกษาเองก็การผลการทดลองเพื่อเอาไปเป็นผลงาน เรื่องมันเริ่มจากการที่ผลการทดลองที่นิสิตนำเสนอนั้นมีความขัดแย้งอยู่ในตัว แต่สิ่งที่ไม่น่าจะเกิดคือแทนที่จะช่วยกันตรวจสอบหาสาเหตุว่าทำไมข้อมูลถึงมีความขัดแย้ง กลับใช้วิธีมองข้ามหรือปิดบังข้อมูลที่มีความขัดแย้งนั้น ทั้งนี้เพื่อผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย คือทางนิสิตเองก็ไม่ต้องไปทำการทดลองใหม่เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง (งานเดินหน้าต่อไปได้) ส่วนตัวอาจารย์เองก็มีผลการทดลองเอาไปขอผลงาน

เรื่องที่จะเล่าให้ฟังใน memoir ฉบับนี้คือการวัดพื้นที่ผิว BET


รูปที่ ๑ เครื่องวัดพื้นที่ผิวที่ใช้กันอยู่ในแลปของเรา รูปซ้ายคือเครื่อง micromeritics ASAP 2020 ซึ่งออกแบบมาเพื่อการวัดพื้นที่ผิวเพียงอย่างเดียว ส่วนเครื่องขวาคือเครื่อง micromeritics ChemiSorb 2750 ซึ่งสามารถใช้วัดการดูดซับแก๊สได้หลายรูปแบบ รวมทั้งการวัด single point BET


BET (อ่านว่า "บีอีที") เป็นชื่อย่อของคน ๓ คนคือ Stephen Brunauer, Paul Hugh Emmett และ Edward Teller ที่ได้เสนอแบบจำลองการดูดซับของแก๊สบนพื้นผิวของแข็งในปีค.ศ. 1938 (พ.ศ. 2481) (Edward Teller เป็นชาวฮังกาเรียนแต่ได้ลี้ภัยมาอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา เป็นนักฟิสิกส์ที่ได้เข้าร่วมงานโครงการ Manhattan project ซึ่งเป็นโครงการสร้างระเบิดปรมณู (nuclear fission) ลูกแรกของโลก และเป็นคนผลักดันให้สหรัฐอเมริกาสร้างระเบิด ไฮโดรเจน (nuclear fusion) จนได้ฉายาว่าเป็นบิดาแห่งระเบิดไฮโดรเจนของสหรัฐอเมริกา) ทฤษฎีของ BET นั้นยอมให้มีการดูดซับซ้อนกันหลายชั้น ซึ่งแตกต่างจากทฤษฎีของ Langmuir ที่เป็นการดูดซับเพียงชั้นเดียว

ให้ห้องแลปของเรานั้นมีอุปกรณ์ที่สามารถใช้วัดพื้นที่ผิวด้วยเทคนิคดังกล่าวอยู่ด้วยกัน ๒ ชนิดคือ เครื่อง micromeritics ASAP 2020 ที่เรามีอยู่ 1 เครื่อง และเครื่อง micromeritics ChemiSorb 2750 หรือที่เรียกกันในแลปเราว่าเครื่อง TPx นั้นอีก 3 เครื่อง

โดยปรกติแล้วในการวัดพื้นที่ผิวนั้น จะอาศัยการวัดปริมาณแก๊สที่พื้นผิวดูดซับเอาไว้ แก๊สที่นิยมใช้กันมากที่สุดคือแก๊สไนโตรเจน (แต่ก็สามารถใช้แก๊สตัวอื่นก็ได้นะ) โดยจะทำการวัดที่อุณหภูมิจุดเดือดของแก๊สไนโตรเจน (ประมาณ -196 องศาเซลเซียส) สิ่งสำคัญก่อนที่จะทำการวัดคือต้องไล่แก๊สที่ไม่ใช่แก๊สไนโตรเจนและแก๊สที่มีจุดเดือดสูงกว่าไนโตรเจน (เช่นออกซิเจนและน้ำ) ออกจากพื้นผิวให้หมดเสียก่อน จากนั้นจึงค่อยให้พื้นผิวทำการดูดซับแก๊สไตรเจน แล้วจึงค่อยวัดว่าพื้นผิวดูดซับแก๊สไนโตรเจนได้เท่าไร โดยอาจดูจากปริมาณแก๊สที่หายไปตอนที่ป้อนแก๊สไนโตรเจนเข้าไป หรือจากปริมาณแก๊สที่คายออกมาตอนที่ไล่แก๊สออกด้วยการให้ความร้อนแก่ตัวอย่าง


เครื่อง ASAP 2020 เป็นเครื่องที่ออกแบบมาเพื่องานวัดพื้นที่ผิวโดยเฉพาะ เครื่องนี้เป็นเครื่องที่ทำการวัดโดยอัตโนมัติ การไล่แก๊สออกจากพื้นผิวตัวอย่างกระทำโดยการให้ความร้อนและ "ทำสุญญากาศ" ตัวเครื่องเองมีระบบตรวจสอบว่าการไล่แก๊สออกจากพื้นผิวเสร็จสมบูรณ์หรือยังด้วยการ "วัดความดัน" ซึ่งถ้าหากพื้นผิวยังมีแก๊สใด ๆ ดูดซับเอาไว้อยู่ แก๊สที่คายออกมาจะทำให้ความดันของระบบสูงกว่าสุญญากาศ (ระดับที่เครื่องสามารถทำได้) ถ้าหากยังทำสุญญากาศไม่ได้ระดับที่เหมาะสม เครื่องก็จะยังไม่เริ่มการวิเคราะห์ จะเริ่มวิเคราะห์ก็ต่อเมื่อทำสุญญากาศได้ระดับแล้วเท่านั้น ส่วนต้องใช้เวลาทำสุญญากาศนั้นนานเท่าใดก็ขึ้นอยู่กับตัวอย่าง จากประสบการณ์พบกว่าตัวอย่างที่มีพื้นที่ผิวสูงเช่น TS-1 หรือซีโอไลต์ (ที่มีพื้นที่ผิวในระดับ 300 m2/g หรือมากกว่า) อาจต้องใช้เวลาทำสุญญากาศอย่างน้อย 8-12 ชั่วโมง ในขณะที่ตัวอย่างที่มีพื้นที่ผิวต่ำ (ที่มีพื้นที่ผิวในระดับ 10 m2/g) อาจใช้เวลาทำสุญญากาศเพียงแค่ 2 ชั่วโมง

เมื่อทำสุญญากาศได้ที่แล้วก็จะเปลี่ยนจากการให้ความร้อนมาเป็นการหล่อเย็นด้วยไนโตรเจนเหลว (ตรงนี้ต้องทำการเปลี่ยนอุปกรณ์กันเองจากถุงให้ความร้อนมาเป็นถังไนโตรเจนเหลว) เครื่องก็จะเริ่มฉีดแก๊สไนโตรเจนไปยังตัวอย่างตามปริมาตรที่กำหนดไว้ ซึ่งจะพบว่าตัวอย่างจะดูดซับแก๊สไนโตรเจนเอาไว้และจะบันทึกปริมาณแก๊สที่ตัวอย่างดูดซับเอาไว้ พอดูดซับเอาไว้จนอิ่มตัวก็จะทำการไล่แก๊สออก ดังนั้นในการวิเคราะห์จะมีข้อมูลในระหว่างการดูดซับ (adsorption) และการคายซับ (desorption) ปริมาตรแก๊สที่ถูกดูดซับหรือคายซับสามารถนำมาใช้คำนวณพื้นที่ผิว และพฤติกรรมการดูดซับและการคายซับที่ความดันต่าง ๆ กันจะถูกใช้คำนวณขนาดรูพรุน (เรื่องนี้เอาไว้เล่าวันหลังอีกที) ข้อมูลที่เครื่องวัดได้นั้นจะนำไปคำนวณพื้นที่ผิวด้วยทฤษฎีต่าง ๆ (ไม่ว่าจะเป็น BET, single point BET, Langmuir, Temkin ฯลฯ) ดังนั้นก่อนอ่านค่าพื้นที่ผิวจะต้องไปอ่านกราฟการคำนวณพื้นที่ผิวด้วยทฤษฎีต่าง ๆ เหล่านี้ก่อนว่าตัวอย่างของเราดูดซับแก๊สเข้ากับทฤษฎีไหนดีที่สุด (ไม่ใช่จ้องจะอ่านเฉพาะ BET) แล้วจึงค่อยอ่านค่าพื้นที่ผิวที่คำนวณได้จากทฤษฎีนั้น (แต่ละทฤษฎีจะให้ค่าที่ไม่เหมือนกัน)

เนื่องจากเครื่อง ASAP 2020 ถูกออกแบบมาเพื่องานวัดพื้นที่ผิวโดยเฉพาะ ดังนั้นถ้าการเตรียมตัวอย่างสำหรับการวัดยังไม่สมบูรณ์ เครื่องก็จะไม่เริ่มทำการวัด ทีนี้บางตัวอย่างต้องใช้เวลาการวัดนานมาก เช่นต้องไล่แก๊สข้ามคืนและทำการวัดอีกทั้งวัน (รวมเป็น 24 ชั่วโมงต่อตัวอย่าง) ทำให้หลายคนไม่อยากรอ (เพราะเดี๋ยวไม่มีผลแลปให้อาจารย์) ก็เลยหันไปใช้เครื่อง ChemiSorb 2750 แทน


เครื่อง ChemiSorb 2750 นั้นสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานทางด้าน temperature programmed ได้หลายรูปแบบเช่น Temperature programmed desorption (TPD) ซึ่งเรามักใช้ทำ NH3-TPD Temperature programmed reduction (TPR) ซึ่งเรามักใช้ทำ H2-TPR เป็นต้น โดยหลักการของเครื่องนั้นเรามักจะให้ตัวอย่างดูดซับแก๊สชนิดใดชนิดหนึ่งเอาไว้ก่อนจนอิ่มตัว แล้วค่อย ๆ เพิ่มอุณหภูมิให้กับตัวอย่างเพื่อไล่แก๊สที่ถูกดูดซับเอาไว้ออกมา แล้ววัดปริมาณแก๊สที่ถูกไล่ออกมา (เช่นการทำ NH3-TPD) หรือใช้วิธีผ่านแก๊สที่จะให้ทำปฏิกิริยากับตัวอย่างไปบนตัวอย่างก่อนที่อุณหภูมิห้อง จากนั้นจึงค่อย ๆ เพิ่มอุณหภูมิตัวอย่างให้สูงขึ้น เมื่อแก๊สนั้นเริ่มทำปฏิกิริยากับตัวอย่างก็จะเห็นแก๊สนั้นหายไปเมื่อไหลผ่านตัวอย่าง (เช่นการทำ H2-TPR)

เราสามารถใช้เครื่อง ChemiSorb 2750นี้ในการวัดพื้นที่ผิวแบบ "Single point BET" ได้ แต่ต้องใช้ความระมัดระวังในการไล่แก๊สที่ไม่ใช่ไนโตรเจนออกจากพื้นผิว แก๊สที่ไม่ใช่ไนโตรเจนที่สำคัญคือออกซิเจนและน้ำที่มาจากอากาศ เพราะตัวอย่างเราต้องสัมผัสกับอากาศก่อนที่จะบรรจุเข้าไปในเครื่องอยู่แล้ว

การไล่แก๊สที่ไม่ใช่ไนโตรเจนทำได้โดยการ "ให้ความร้อน" แก่ตัวอย่างและ "purge" ตัวอย่างด้วยแก๊สไนโตรเจนหรือฮีเลียม (พึงสังเกตนะว่าไม่ได้มีการทำ "สุญญากาศ" เหมือนกรณีเครื่อง ASAP 2020) โดยหลักแล้วอุณหภูมิที่ต้องให้แก่ตัวอย่างเพื่อไล่น้ำควรจะต้องสูงมากพอที่จะไล่น้ำออกจากตัวอย่างได้ ไม่ใช่สูงเพียงแค่เกิน 100ºC เล็กน้อย หลายคนคิดว่าในเมื่อน้ำเดือดที่ 100ºC ดังนั้นการไล่น้ำที่อุณหูมิเกินจุดเดือดของน้ำเพียงเล็กน้อยก็น่าจะเพียงพอ แต่ที่เราเคยพบคือของแข็งบางชนิด (เช่นพวก molecular sieve ที่ใช้จับความชื้น) จับน้ำไว้แน่นมาก ต้องใช้อุณหภูมิที่สูงถึง 200ºC หรือสูงกว่าในการไล่น้ำออกจากตัวอย่าง

ส่วนต้องทำการ "ให้ความร้อนและ purge แก๊ส" เป็นเวลานานเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับขนาดรูพรุนของตัวอย่าง ถ้าตัวอย่างมีรูพรุนขนาดเล็ก (มีพื้นที่ผิวมาก) ก็ต้องใช้เวลานานมากขึ้น ถ้าต้องทำถึง 12 ชั่วโมงก็ไม่ใช่เรื่องผิดปรกติ ในขณะที่ตัวอย่างที่มีรูพรุนขนาดใหญ่ (มีพื้นที่ผิวน้อย) ก็ใช้เวลาสั้นกว่า จากประสบการณ์ของผมผมจะแนะนำให้ทำการไล่แก๊สอย่างน้อย 2 ชั่วโมงเอาไว้ก่อนสำหรับตัวอย่างที่มีพื้นที่ผิวในระดับประมาณ 10 m2/g ถ้าเราไล่แก๊สที่ไม่ใช่ไนโตรเจน(พวกที่มีจุดเดือดสูงกว่าไนโตรเจน) ออกจากพื้นผิวไม่หมด สิ่งที่เกิดขึ้นคือค่าพื้นที่ผิว single point BET ที่คำนวณได้จากเครื่อง ChemiSorb 2750 นี้จะต่ำกว่าค่าที่วัดได้จากเครื่อง ASAP 2020 ส่วนจะต่ำกว่าแค่ไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าใช้เวลาไล่แก๊สนานเท่าใด สำหรับผู้ที่ใช้วิธีการวิเคราะห์ที่ไม่ถูกต้องก็อาจจะเห็นพื้นที่ผิวที่วัดได้จากเครื่อง ChemiSorb 2750 มีค่าน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของค่าที่วัดได้จากเครื่อง ASAP 2020 แต่ถ้าทำการไล่แก๊สบนตัวอย่างก่อนทำการวัดได้หมดแล้วจะพบว่าค่าที่วัดได้จากเครื่องทั้งสองจะใกล้เคียงกัน


โดยปรกติแล้วในการทำงานของกลุ่มเรานั้น ผมจะให้วัดพื้นที่ผิวตัวอย่างด้วยเครื่อง ASAP 2020 ก่อน เพราะจะให้ค่าที่ถูกต้อง สำหรับผู้ที่มีตัวอย่างไม่มากก็จะให้วัดกับเครื่องนี้ทั้งหมด แต่สำหรับผู้ที่มีตัวอย่างที่ต้องวิเคราะห์จำนวนมากถ้าต้องมาวัดกับเครื่องนี้ทุกตัวอย่างก็อาจต้องต่อคิวนาน จึงทำให้ต้องไปใช้เครื่อง ChemiSorb 2750 แต่ทั้งนี้ต้องทำการวัดตัวอย่างกับเครื่อง ASAP 2020 สักตัวอย่างก่อน จากนั้นจึงนำตัวอย่างนั้นมาวัดกับเครื่อง ChemiSorb 2750 เพื่อหาว่าควรต้องใช้อุณหภูมิสูงเท่าใดและเวลานานเท่าใดในการไล่แก๊ส จึงจะได้ผลการวัดที่เหมือนกัน และใช้ข้อมูลอุณหภูมิและเวลานั้นในการวิเคราะห์ตัวอย่างอื่นที่เหลือ

พึงระลึกว่าวิธีการวัดด้วยเครื่อง ChemiSorb 2750 นี้ขึ้นอยู่กับตัวอย่างของแต่ละคน จะใช้การลอกวิธีทำจากรุ่นพี่มาตรง ๆ ไม่ได้ ต้องตรวจสอบดูก่อนว่า (ก) ตัวอย่างของรุ่นพี่นั้นเขาเหมือนของเราหรือไม่ และที่สำคัญคือ (ข) วิธีการของรุ่นพี่นั้นถูกต้องหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาพบว่าจะอ้างว่าทำเหมือนกับของรุ่นพี่ แต่รุ่นพี่ใช้วิธีการที่ผิด ๆ ในการวิเคราะห์ ดังนั้นถ้าลอกวิธีการที่ผิด ๆ มาผลการวิเคราะห์ก็ผิดทั้งพี่ทั้งน้อง


รูปที่ ๒ วิธีการวัดพื้นที่ผิวและผลการวัดที่รายงานไว้ในบทความ "Effect of the particle size of Al2O3 supports on the properties of CuCl2/Al2O3 catalysts in oxychlorination process" ที่นำเสนอในการประชุม RSCE 2010


รูปที่ ๓ วิธีการวัดพื้นที่ผิวและผลการวัดที่รายงานไว้ในบทความ"Effect of Promoters on the Dispersion of Copper (II) Chloride based Catalyst on γ-Alumina Support" ที่นำเสนอในการประชุม RSCE 2010


รูปที่ ๒ และ ๓ ผมตัดมาจากบทความที่นำเสนอในที่ประชุมเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา คือบังเอิญผมต้องไปนั่งฟังการบรรยายในห้องดังกล่าว พบว่ามีหลายรายที่วัดพื้นที่ผิวตัวอย่างโดยใช้เครื่อง ChemiSorb 2750 (ซึ่งเขาระบุไว้ชัดในบทความ) แต่ผมรู้อยู่ว่าผลที่การวัดที่ได้จากการใช้เครื่องนี้จะถูกต้องหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับวิธีการเตรียมตัวอย่างก่อนการดูดซับแก๊ส ซึ่งบทความที่ยกมาเป็นตัวอย่างนั้นบทความในรูปที่ ๒ ไม่ได้บอกวิธีการ แต่ผมได้สอบถามเขาว่าใช้เวลานานเท่าใดในการไล่แก๊ส และเขาก็ตอบว่าเพียง 30 นาที ส่วนบทความในรูปที่ ๓ บอกวิธีการเอาไว้ว่าไล่แก๊สนาน 1 ชั่วโมง ซึ่งในความเห็นของผมนั้นใช้เวลาน้อยเกินไปสำหรับตัวอย่าง γ-Alumina ที่ควรมีพื้นที่ผิวอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 100 m2/g และสูงได้ถึงระดับ 300 m2/g ผมจึงสงสัยว่าค่าพื้นที่ผิวที่รายงานไว้นั้นน่าจะน้อยกว่าค่าที่ควรเป็นอยู่ประมาณ 2-3 เท่าตัว


ในกลุ่มเรานั้นมีบางคน (สาวน้อยร้อยห้าสิบเซนติเมตร) ที่ทำงานวิจัยที่บริษัทให้ทุนมา ผลการทดลองถ้าต้องการเพียงเพื่อนำไปตีพิมพ์นั้นมักจะไม่มีการตรวจสอบความถูกต้อง จะมั่วส่งยังไงก็ได้ ขอให้มันออกมาดูแล้วไม่รู้สึกขัดและเป็นของใหม่ก็แล้วกัน แต่ผลการทดลองที่ต้องทำส่งให้กับบริษัทนั้นท้ายสุดแล้วเขาต้องทำการตรวจสอบความถูกต้อง ดังนั้นต้องเตรียมความพร้อมในการตอบข้อสงสัยไว้ทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการสอบเทียบอุปกรณ์ว่าวัดได้ถูกต้องและเทคนิคการวิเคราะห์ที่เชื่อถือและอธิบายได้ ข้อมูลดิบที่ได้จากการวัด (พวกโครมาโทแกรมต่าง ๆ และข้อมูลวัดพื้นที่ผิวจากเครื่อง ASAP 2020 (ถ้าหากใช้)) ของทุกจุดข้อมูลที่ปรากฏในรายงานต้องมีครบพร้อมที่จะแสดงได้ทุกเมื่อ

สุดท้ายขอชมว่าเมื่อวานนี้สาวน้อยหน้าใสจากบางละมุงนำเสนอได้ดีและตอบคำถามได้ดี ส่วนหนังสือเล่มนั้นก็ขอยืนยันว่าผมไม่ได้เป็นคนเขียน :)

วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

วันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

TiChE 2011 MO Memoir : Tuesday 23 November 2553

เอกสารนี้แจกจ่ายเป็นการภายใน ไม่นำเนื้อหาลง blog

วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ลอยกระทง ๒๕๒๘ MO Memoir : Thursday 18 November 2553

ตอนนั้นเป็นนิสิตปี ๒ เข้าร่วมขบวนแห่นางนพมาศของทางคณะ (พวกผมมักเรียกว่าขบวนแห่ของคณะตัวเองว่า "ขบวนแห่นางแมว" หรือไม่ก็ขบวนแห่ "นางแม่นาค" ซะมากกว่า ก็นางนพมาศของคณะอื่นเขาสวยกว่าตั้งเยอะนี่) ช่วงค่ำวันนั้นก็มีคนเข้ามาลอยกระทงที่สระน้ำในมหาวิทยาลัยกันเยอะ มีการจุดพลุเล่นกันทั่วไปหมด

ที่แย่ก็คือมีบางคนแทนที่จะจุดพลุยิงขึ้นฟ้า กลับเล็งต่ำให้มันพุ่งใส่คนอื่นที่เดินเที่ยวไปมาอยู่ในงาน ทางพิธีกรของงานก็ประกาศขอความร่วมมือให้บุคคลดังกล่าวหยุดการกระทำเช่นนั้น พวกนั้นก็หลบไป แต่สักพักก็เริ่มทำใหม่อีก จนทำให้อาจารย์คนหนึ่งที่ดูแลความเรียบร้อยของงานนั้นทนไม่ไหว แกก็เลยเดินมากระซิบกับขบวนของคณะผมว่า "มีใครเป็นนักมวยบ้างไหม เดี๋ยวผมจะแกล้งทำเป็นมองไม่เห็น" (อาจารย์คนนี้ปัจจุบันก็ยังทำงานอยู่ในคณะนะ แต่คนละภาควิชากัน) พอได้ยินอาจารย์เปิดช่องให้เช่นนั้น เพื่อนผมที่อยู่ชมรมชกมวยก็ทำท่าจะเข้าไปลงมือ แต่ถูกรุ่นพี่ปี ๔ ดึงตัวเอาไว้พร้อมกับบอกว่า "น้อง ๆ ใจเย็น ๆ ไว้ก่อน"

รุ่นพี่แกห้ามไม่ให้รุ่นน้องลงมือ แต่พอสักพักท่าทางพวกแกจะทนไม่ไหว ก็เลยกรูเข้าใส่พวกที่ยิงพลุใส่คนอื่นในงาน ทำเอาพวกนั้นแตกกระเจิงไป ทีนี้ก็ได้เรื่อง พอขบวนเดินมาใกล้ถึงบริเวณเวที ก็เลยโดนอาจารย์ผู้หญิงอีกท่านหนึ่งซึ่งมาช่วยทางมหาวิทยาลัยดูแลความสงบเรียบร้อยของงาน (แกเป็นอาจารย์อยู่ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ตอนนี้เกษียณไปแล้ว) เข้ามาหยุดขบวน สั่งให้ทั้งขบวนนั่งลง แล้วพวกเราก็โดนเทศน์ซะยาว

พอเทศน์เสร็จแกก็ปล่อยขบวนให้ดำเนินต่อไป ตอนนี้ไม่รู้เหมือนกันว่าใครเป็นคนเริ่มขึ้นเพลง แต่ก็มีคนร้องรับกันไปทั้งขบวน เนื้อเพลงเป็นดังข้างล่าง ผมแนบไฟล์ .gp3 และ .mp4 มาให้พวกคุณไปเปิดฟังกันเอง (หรือไปเปิดดูใน you tube ก็ได้นะ)


เพลง สวัสดีคุณครู (.. ๒๕๒๐) ศิลปิน วงชาตรี

สวัสดี คุณครู

เช้าตรู่ เราพบกัน

แต่ทำไม ครูจึง ถึงชอบบ่น

ยัง ไม่แก่เลย

เมื่อคุณครู จู้จี้

ผมก็จุ๊กจิ๊ก เป็นธรรมดา

ตามประสา คนดีที่อดทน ฟังครู

เฮ้อ บ่นจังเลย

สวัสดี คุณครู

ไม่รู้หรือ ว่าผมลูกใคร

หากมาทำเป็นตี ทีนี้ โดนแน่

แล้วจะหาว่าหล่อ ไม่เตือน

ให้การบ้าน กองพะเนิน

นึกว่าเพลิน หรือครับคุณครู

กลับมาบ้าน ทีไร ไม่เคยได้ดู ทีวี

เฮ้อ เบื่อจังเลย

คุณครู ที่รัก

หนูขอจำ คำสั่งสอน

ครูดุจบิดร มารดา

ปรารถนา ให้เราดี

คุณครู ที่รัก

หนูประจักษ์ เดี๋ยวนี้เอง

คำสั่งสอน ของคุณครู

เป็นประตู สู่อนาคต


ตอนนี้ก็มาเป็นอาจารย์ มาสอนหนังสือตั้งแต่ชั่วโมงแรกในตอนเช้า ต้องมาคอยว่าพวกที่แต่งตัวไม่เรียบร้อยเข้าห้องเรียน พวกที่มานั่งคุยกันในห้องเรียน พวกที่มีลอกการบ้านกันในห้องเรียน ฯลฯ

เชื่อว่าลับหลังก็คงมีใครบางคนร้องเพลงนี้อยู่ในใจ งานนี้จะเรียกว่ากรรมตามสนองก็ได้ :)


วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ห่างรัก MO Memoir : Wednesday 17 November 2553

เรียนกันมาหนัก ทำงานกันมาก็เยอะ วันนี้ก็เลยขอแนะนำเพลงเก่า ๆ ให้ฟัง ซึ่งอายุของทั้งสองเพลงนี้น่าจะนานพอ ๆ กัน (ไม่รู้เหมือนกันนะว่าจะตรงกับความรู้สึกของใครต่อใครในกลุ่มกันบ้างหรือเปล่า เพราะเห็นมีบางรายระบายความรู้สึกเอาไว้บน Facebook)

เพลงแรกแต่งโดย คุณบุปผา ธรรมบุตร ร่วม ๓๐ ปีมาแล้ว ซึ่งแต่งเองและร้องเพลงนี้เอง ถ้าจะได้บรรยากาศต้องฟังฉบับที่เล่นเปียนโนไปร้องเพลงไป ผมมีแต่เทป (ซื้อไว้ตั้งแต่ตอนนั้น) หาฉบับ mp3 ไม่ได้ เลยคัดลอกเนื้อเพลงมาให้อ่านกัน ส่วนเพลงร้องอย่างไรก็ลองไปหาฟังกันเองก็แล้วกัน (ถ้าหาไม่เจอจริง ๆ ค่อยมาขอให้ร้องให้ฟังก็ได้)


ห่างรัก (โดยบุปผา ธรรมบุตร)


ยามจำพรากจากกัน เฝ้าเพ้อและฝันคิดถึงเธออยู่

จากกันไปไกลกายห่างยอดชู้ สุดจะหยั่งรู้ใจเธอนั้นเป็นฉันใด

ยามรักเราชื่น แสนเริงระรื่นโลกพลันสดใส

โอ้ว่ารักเรานั้นสุขเกินใคร ดื่มด่ำฤทัย

ไม่เคยคิดฝันวันนั้นจะมา ปวดร้าวนักหนาเธอต้องจากไป

ร้าวรานหัวใจ ทำไฉน....จักคืน


เพลงที่สองดูเหมือนจะร้องโดยคุณไอศูรย์ เป็นเพลงของวงแกรนเอ็กซ์ที่คุณนคร เวชสุภาพร ร่วมวงอยู่ แต่ตอนนี้แกหายไปไหนก็ไม่รู้ (น่าจะอยู่เบื้องหลัง) เห็นแต่ลูกชายออกทีวีโฆษณาอยู่บ่อย ๆ เพลงนี้จะหาฟังได้ง่ายทางอินเทอร์เน็ต


สายใย (แกรนเอ็กซ์)


เคยเหงาบ้างไหม เหมือนวันที่โลกไร้สรรพเสียง

เรไรไม่ร้อยจำเรียง ยินเพียงหัวใจไหวระรัว

คิดถึงบ้างไหม เคยเยือนเคยยั่วเหย้าหยอกเล่นหัว

เคยคุยส่งเสียงลั่นครัว ไม่กลัวไม่เกรงใด ๆ

ลาทีเจอะกันวันใหม่ ถึงอยู่ไกลส่งใจไปถึง

ภาระผูกพันตราตรึง แม้อยู่ที่ใดหัวใจเป็นหนึ่ง

จะกลับมาให้พบพาน

รอได้ไหม รอวันที่โลกพร้อมสรรพเสียง

เรไรร่วมร้อยจำเรียง บทเพลงวิวาห์กังวาล


มีคนเขาเปรียบหัวใจคนเราก็เหมือนกับเหล็ก ยิ่งถูกตีหนักหน่วงเท่าใดก็ยิ่งแข็งแกร่งขึ้นเท่านั้น (เหล็กยิ่งถูกตีก็ยิ่งแข็งขึ้น) :)

วันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

Reactions of hydroxyl group (ตอนที่ ๒) MO Memoir : Sunday 14 November 2553

ผมเคยเล่าเรื่องเกี่ยวกับปฏิกิริยาของหมู่ไฮดรอกซิล (hydroxyl หรือ -OH) เอาไว้ใน memoir ฉบับวันเสาร์ที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ เรื่อง "Esterification of hydroxyl group" และฉบับวันศุกร์ที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ เรื่อง "Reactions of hydroxyl group" ตอนนี้เวลาก็ผ่านมาร่วมครบปีแล้วและเห็นว่ามีตัวอย่างเพิ่มเติมที่น่าสนใจ ก็เลยเขียนมาเล่าสู่กันฟัง


. ปฏิกิริยาระหว่างมีเทนกับกำมะถัน

สำหรับผู้ที่เรียนเคมีนั้นก็จะทราบกันอยู่แล้วว่ามีเทน (CH4) สามารถทำปฏิกิริยาการเผาไหม้กับออกซิเจนได้คาร์บอนไดออกไซด์และน้ำดังสมการที่ (1)

CH4 + 2O2 → CO2 + 2H2O (1)

กำมะถัน (S) ซึ่งเป็นธาตุในหมู่เดียวกันกับออกซิเจนก็สามารถทำปฏิกิริยากับมีเทนได้คาร์บอนไดซัลไฟด์และไฮโดรเจนซัลไฟด์ได้ดังสมการที่ (2) ข้างล่างโดยมีตัวเร่งปฏิกิริยาพวก silica gel หรือ alumina ร่วม

CH4 + 0.5S8 → CS2 + 2H2S (2)

ปฏิกิริยาที่ (2) เป็นปฏิกิริยาหลักที่ใช้ในการผลิตคาร์บอนไดซัลไฟด์ในปัจจุบัน ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างปฏิกิริยาที่ (1) และ (2) อยู่ตรงที่ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการทำปฏิกิริยากับออกซิเจน (คาร์บอนไดออกไซด์และน้ำ) ไม่สามารถถูกออกซิไดซ์ต่อไปได้ แต่ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการทำปฏิกิริยากับกำมะถัน (คาร์บอนไดซัลไฟด์และไฮโดรเจนซัลไฟด์) ยังสามารถถูกออกซิไดซ์ต่อได้ด้วยออกซิเจนกลายเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และน้ำ ดังสมการ

CS2 + 3O2 → CO2 + 2SO2 (3)

H2S + 1.5O2 → SO2 + H2O (4)

ปฏิกิริยาตั้งแต่ (1) ถึง (4) ต่างก็เป็นปฏิกิริยาคายความร้อน


. คาร์บอนไดซัลไฟด์

ที่อุณหภูมิห้อง คาร์บอนไดซัลไฟด์มีสถานะเป็นของเหลว (จุดเดือด 46.3 องศาเซลเซียส) ละลายน้ำได้น้อย (2.9 กรัมต่อกิโลกรัมที่ 20 องศาเซลเซียส) มีความหนาแน่นสูงกว่าน้ำ (ความถ่วงจำเพาะ 1.261) เป็นสารที่มีจุดวาบไฟต่ำ (flash point -30 องศาเซลเซียส) และอุณหภูมิจุดติดไฟด้วยตัวเองก็ต่ำด้วย (autoignition temperature 90 องศาเซลเซียส) โดยอาศัยคุณลักษณะดังกล่าววิธีการหนึ่งในการเก็บคาร์บอนไดซัลไฟล์เหลวให้ปลอดภัยคือการบรรจุถังที่มีน้ำลอยอยู่บนผิวหน้า เพราะน้ำที่ลอยอยู่บนผิวหน้าจะป้องกันการระเหยของคาร์บอนไดซัลไฟด์

และถึงแม้ว่าจะมีโครงสร้างแบบเดียวกันกับคาร์บอนไดออกไซด์ แต่คาร์บอนไดซัลไฟด์จัดเป็นสารที่มีความไวไฟสูง และเนื่องจากพันธะ C=S ไม่ได้แข็งแรงเหมือนพันธะ C=O ในคาร์บอนไดออกไซด์ คาร์บอนไดซัลไฟด์จึงทำปฏิกิริยาได้ง่ายกว่าโดยตัวอะตอม C เองจะมีประจุเป็นบวก (เนื่องจาก S ดึงเอาอิเล็กตรอนออกไป) และจะจับเข้ากับตำแหน่งที่มีประจุลบของโมเลกุลอื่นได้ (แม้ว่าความเป็นขั้วบวกที่อะตอม C ของคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่าอะตอม C ของคาร์บอนได้ซัลไฟด์ แต่พันธะ C=O แข็งแรงมาก จึงทำให้คาร์บอนไดออกไซด์เฉื่อยต่อการทำปฏิกิริยากว่ามาก)

คาร์บอนไดซัลไฟด์ถูกใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตเส้นใย viscose rayon ในอดีตยังเคยถูกนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตคาร์บอนเททระคลอไรด์ (carbon tetrachloride - CCl4)


. Viscose rayon

เส้นใยฝ้ายที่ได้จากธรรมชาตินั้นเป็นสารประกอบเซลลูโลส (cellulose) ซึ่งเซลลูโลสนั้นเป็นพอลิเมอร์ของน้ำตาลกลูโคส (glucose) เชื่อมต่อกันเป็นสายโซ่ยาวด้วยพันธะ beta glycosidic linkage (glycosidic linkage เป็นยังไงนั้นให้ไปดูในอินทรีย์เคมีเรื่องคาร์โบไฮเดรต เอาเป็นว่าถ้าโมเลกุลกลูโคสเชื่อมต่อแบบ beta จะได้เซลลูโลสที่ร่ายกายคนย่อยไม่ได้ แต่ถ้าเชื่อมต่อแบบ alpha glycosidic linkage จะได้โมเลกุลแป้งที่ร่างกายคนย่อยและดูดซึมได้)

การที่โมเลกุลเซลลูโลสมีหมู่ไฮดรอกซิล (-OH) เหลืออยู่มาก (3 หมู่ต่อ 1 หน่วยกลูโคส) จึงทำให้เส้นใยเซลลูโลสซึมซับน้ำได้ดี ทำให้ผู้สวมใส่รู้สึกสบายตัวเมื่อเหงื่อออก แต่การที่ซึมซับน้ำได้ดีนั้นทำให้ความแข็งแรงของเส้นใยลดลงเมื่อเปียกน้ำ ทำให้เส้นใยเมื่อเปียกน้ำนั้นขาดง่ายขึ้น (เมื่อเส้นใยแห้ง เส้นใยแต่ละเส้นจะยึดเข้าด้วยกันด้วยพันธะไฮโดรเจนที่เกิดจากหมู่ -OH แต่เมื่อเปียกน้ำ น้ำจะเข้าไปแทรกอยู่ระหว่างสายเส้นใย ซึ่งเป็นการทำลายพันธะไฮโดรเจนที่ยึดระหว่างเส้นใยเข้าด้วยกัน ความแข็งแรงจึงลดลง)

การปรับสภาพโครงสร้างโมเลกุลเซลลูโลสอาศัยการทำปฏิกิริยากับหมู่ -OH ที่อยู่ในโมเลกุล ด้วยวิธีการเช่นนี้จึงทำให้สามารถผลิตเส้นใยกึ่งสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติแตกต่างไปจากเส้นใยฝ้ายตามธรรมชาติได้ เส้นใยกึ่งสังเคราะห์ตระกูลเรยอน (rayon) ได้จากการทำเอาเซลลูโลส (จากฝ้ายหรือไม้) มาทำปฏิกิริยากับสารเคมีต่าง ๆ เช่นถ้าทำปฏิกิริยากับอะซีติกแอนไฮดราย (acetic anhydride) ก็จะได้เส้นใยอะซีเทต (acetate fibre) ถ้าทำปฏิกิริยากับกรดไนตริกก็จะได้เซลลูโลสไนเทรต และถ้าทำปฏิกิริยากับคาร์บอนไดซัลไฟด์ก็จะได้เส้นใยที่เรียกว่า "viscose rayon" ดังรูปที่ ๑ ข้างล่าง


รูปที่ ๑ ปฏิกิริยาระหว่างหมู่ -OH ในโมเลกุลเซลลูโลสกับคาร์บอนไดซัลไฟด์ โดยมี NaOH ร่วมทำปฏิกิริยาด้วย (ภาพจาก http://www.en.wikipedia.org ในหัวข้อ viscose rayon)

เส้นใย rayon ที่ได้จะมีลักษณะมันวาวคล้ายเส้นใยไหม นอกจากนี้ยังสามารถย้อมสีได้สดกว่าเส้นใยฝ้าย จึงนิยมนำไปใช้ทำเครื่องแต่งกายต่าง ๆ ที่จัดว่าเส้นใยกลุ่มนี้เป็นเส้นใยกึ่งสังเคราะห์ก็เพราะมีการใช้เซลลูโลสที่ได้จากธรรมชาติเป็นวัตถุดิบ ส่วนเส้นใยสังเคราะห์เช่นพอลิเอสเทอร์หรือไนลอนนั้นวัตถุดิบที่ใช้เป็นสารตั้งต้นได้มาจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีทั้งหมด


เมื่อตอนปลายปี ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา ผมได้รับชวนให้ไปร่วมงานในโครงการหนึ่งช่วงยวันหยุดปีใหม่ ผมก็เลยปฏิเสธไป แต่ก็ได้พบปะและพูดคุยกับผู้ที่เข้าร่วมงานดังกล่าวก่อนที่เขาจะลงไปดูสถานที่จริง (ดู MO Memoir ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๙๖ วันศุกร์ที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๓ เรื่อง "การเสียชีวิตเนื่องจากแก๊ส" ประกอบด้วย ในขณะที่เขียนบันทึกฉบับนั้นทางผู้เข้าร่วมงานดังกล่าวยังไม่ได้ไปยังสถานที่จริง เป็นเพียงรับฟังคำบอกเล่าต่อมาเท่านั้น)

หลังจากที่พวกเขากลับมาแล้ว ผมก็ได้รับทราบเรื่องราวคร่าว ๆ ว่าในวันที่เกิดเหตุนั้นมีเหตุผิดปรกติเกิดขึ้นในกระบวนการ จึงต้องมีการระบายคาร์บอนไดซัลไฟด์จากหน่วยผลิตลงถังเก็บ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้มีไฮโดรเจนซัลไฟด์ระบายลงไปถังเก็บคาร์บอนไดซัลไฟด์ด้วย แต่ไฮโดรเจนซัลไฟด์เป็นแก๊สที่ละลายน้ำได้น้อย ผลที่เกิดขึ้นตามมาคือชั้นน้ำที่ปิดคลุมผิวคาร์บอนไดซัลไฟด์นั้นไม่สามารถกักเก็บไฮโดรเจนซัลไฟด์ได้ ทำให้ไฮโดรเจนซัลไฟด์รั่วไหลออกมาเหนือผิวน้ำและออกมาข้างนอกถังและทำให้มีผู้เสียชีวิตเกิดขึ้น

ผู้ที่เล่าให้ฟังนั้นเล่าว่า เมื่อเกิดสัญญาณเตือนภัยดังขึ้น เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานก็รีบเดินทางไปตรวจ พอเข้าไปในกลุ่มแก๊สที่รั่วไหลอยู่ก็ล้มลงหมดสติทันที (เป็นกันหลายราย) ส่วนประเด็นที่ว่าการหมดสตินั้นเกิดจาก (ก) ความเป็นพิษของแก๊สนั้นเอง หรือ (ข) การที่แก๊สนั้นเข้าไปแทนที่อากาศจนทำให้อากาศนั้นขาดออกซิเจน นั้นไม่มีความชัดเจน


รูปที่ ๒ รายงานข่าวจาก matichon online หน้าเว็บนี้ได้จากการค้นข้อมูลย้อนหลังในวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ (ค้นด้วย google โดยใช้คำค้นหา "แก๊สรั่ว สระบุรี")

รูปที่ ๓ รายงานข่าวจาก thairath.co.th ข่าวนี้เขียนสูตรโมเลกุลคาร์บอนไดซัลไฟด์ผิดคือเขียนเป็น CH2 แทนที่จะเป็น CS2 หน้าเว็บนี้ไม่ได้บันทึกไว้ในวันที่นำเสนอข่าว แต่เป็นการค้นข้อมูลย้อนหลังจึงทำให้เห็นวันที่บนหัวข้อข้างบน (ใต้ชื่อไทยรัฐสีเขียว) เป็นวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ (ค้นด้วย google โดยใช้คำค้นหา "แก๊สรั่ว สระบุรี")

วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

Acetylene hydrogenation (ตอนที่ ๒) MO Memoir : Thursday 11 November 2553

เหตุการณ์ต่อไปนี้นำมาจากเว็บของประเทศญี่ปุ่น http://shippai.jst.go.jp/en/ ซึ่งเป็นเว็บของ Japan Science and Technology Agency ในส่วนที่เป็น Failure Knowledge Database จากบทความเรื่อง "Explosion of an acetylene hydrogenation section in ethylene plant" เรียบเรียงโดย Hiroshi Koseki และคณะ

เว็บนี้ได้รวบรวมเหตุการณ์อุบัติเหตุและความผิดพลาดทางด้านวิศวกรรมที่สำคัญต่าง ๆ เอาไว้ โดยได้เล่าถึงความเป็นมาของเหตุการณ์ และผลการสอบสวน สิ่งที่น่าสนใจในการสอบสวนเหตุการณ์อุบัติเหตุคือไม่ได้ต้องการหาผู้กระทำผิดเพียงอย่างเดียว แต่ยังมองลึกไปถึงระดับที่ว่าทำไปจึงเปิดโอกาสให้ทำผิดพลาดเช่นนั้นได้ และจะป้องกันได้อย่างไร

Memoir ฉบับนี้เป็นเพียงแค่การสรุปเนื้อหาเหตุการณ์และให้คำอธิบายเพิ่มเติมของคำศัพท์บางคำ (ส่วนที่เป็นสีน้ำตาล) เพื่อให้ผู้ที่ยังไม่มีประสบการณ์กับโรงงานจริง (ทั้งนิสิตปี ๒ และบัณฑิตศึกษา) ได้ทราบว่าสิ่งที่บทความกล่าวถึงนั้นคืออะไร เนื้อหาฉบับเต็มโปรดไปอ่านที่บทความที่ส่งมาพร้อมกับไฟล์แนบ สำหรับผู้ที่พึ่งจะมาเห็น memoir ฉบับนี้ควรไปอ่าน memoir ฉบับก่อนหน้า "MO Memoir : Tuesday 9 November 2553 เรื่อง Acetylene hydrogenation (ตอนที่ ๑)" ก่อน


เวลาประมาณ ๒๒.๑๓ ของคืนวันที่ ๗ กรกฎาคม ปีค.ศ. ๑๙๗๗ (ปีพ.ศ. ๒๕๒๐) ได้เกิดการระเบิดขึ้นที่โรงงานผลิตเอทิลีนของบริษัท Idemitsu Petrochemicals Co., Ltd. ในย่อหน้าสุดท้ายของหน้าที่ ๑ ได้สรุปเหตุการณ์ก่อนที่จะเกิดการระเบิดเอาไว้ดังนี้


๑. มีการเริ่มเดินเครื่องเครื่องปฏิกรณ์ acetylene hydrogenation หลังเกิดเหตุ emergency shutdown และเกิดการป้อนไฮโดรเจนมากเกินไปเข้าไปในเครื่องปฏิกรณ์

[shut down คือการหยุดการเดินเครื่องโรงงาน ถ้าเป็น annual shutdown ก็เป็นการหยุดเดินเครื่องเพื่อทำการซ่อมบำรุงหรือทำการปรับปรุงโรงงาน กรณีนี้ถือว่าเป็นการหยุดเดินเครื่องที่มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า ส่วน emergency shutdown เป็นการหยุดเดินเครื่องในกรณีฉุกเฉิน เช่น ไฟฟ้าดับ ระบบสาธารณูปโภคหยุดการทำงาน (น้ำ ไฟฟ้า อากาศความดันสูง ฯลฯ) เกิดไฟไหม้ เกิดการระเบิด]

๒. เอทิลีนที่สะสมอยู่ในเครื่องปฏิกิริยาเกิดปฏิกิริยาเติมไฮโดรเจนกลายเป็นอีเทน (ในความเป็นจริงนั้นควรเกิดเฉพาะกับอะเซทิลีนที่มีอยู่ในปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น)

๓. การเติมไฮโดรเจนให้กับเอทิลีนทำให้เกิดการคายพลังงานความร้อนออกมามากเกินไป จนนำไปสู่การสลายตัวของเอทิลีนซึ่งเป็นปฏิกิริยาคายความร้อนเช่นเดียวกัน

กระบวนการผลิตของโรงงาน (ดูรูปที่ ๑) เริ่มจากการนำเอาแนฟทา (ไฮโดรคาร์บอนในช่วงน้ำมันเบนซินและน้ำมันก๊าด) ผสมกับไอน้ำและให้ความร้อนจนโมเลกุลไฮโดรคาร์บอนแตกออกเป็นโมเลกุลเล็กลง การแยกพาราฟิน (อีเทนและโพรเพน) ออกจากผลิตภัณฑ์นั้นทำโดยใช้การกลั่นแยก ส่วนการกำจัดอะเซทิลีน โพรพาไดอีน (H2C=C=CH2) และเมทิลอะเซทิลีน (หรือโพรพาย) กระทำโดยการเติมไฮโดรเจนเพื่อเปลี่ยนสารเหล่านี้ให้กลายเป็นโมโนโอเลฟินส์ (โอเลฟินส์ที่มีเพียงแค่พันธะคู่พันธะเดียว) โดยตัวระบบเครื่องปฏิกรณ์ประกอบด้วยเครื่องปฏิกรณ์ 3 ตัวต่อเข้าด้วยกัน (ดูรูปที่ ๒) คือตัวบน A ตัวกลาง B และตัวล่าง C อุณหภูมิทำงานปรกติอยู่ในช่วง 55-60 องศาเซลเซียส ภายในเครื่องปฏิกรณ์บรรจุตัวเร่งปฏิกิริยาตระกูลโลหะพัลลาเดียม (Pd) เอาไว้


รูปที่ ๑ แผนผังกระบวนการผลิตของโรงงาน [cracking - หน่วยให้ความร้อนจนโมเลกุลไฮโดรคาร์บอนแตกออกเป็นโมเลกุลเล็ก ๆ; quenching - หน่วยลดอุณหภูมิแก๊สร้อนที่มาจากหน่วย cracking กระทำโดยการให้แก๊สร้อนสัมผัสกับน้ำเย็นโดยตรง; หน่วยถัดจาก quenching เป็นหน่วยแยกสารต่าง ๆ ออกจากกัน คำว่า de- ถ้าไปนำหน้าชื่อสารใดก็หมายความว่าเป็นหน่วยที่แยกสารนั้นออกมา เช่นหน่วย de-ethane ในภาพเป็นหน่วยที่แยกอีเทนออกมา]


รูปที่ ๒ หน่วย Acetylene hydrogenation แสดงความดันและอุณหภูมิการทำงานปรกติของหน่วยนี้


ในคืนวันที่ ๗ กรกฎาคมเวลาประมาณ ๑๘.๕๐ น Instrument air (IA) เกิดหยุดไหลกระทันหัน ทำให้อุปกรณ์วัดคุมทุกตัวหยุดทำงานกระทำหัน ทำให้เกิดเหตุการณ์ emergency shutdown ตามด้วยการที่วาล์วควบคุมการไหล (control valve) ต่าง ๆ ปรับตัวไปอยู่ที่ failure position ตามด้วยการระบายแก๊สทิ้งจำนวนมากออกทาง flare stack

[ในโรงงานมักมีการใช้อากาศอัดความดัน (compressed air) เพื่อใช้งานต่าง ๆ เช่น ใช้ในการระบายอากาศในภาชนะปิดหรือบริเวณคับแคบต่าง ๆ ใช้ในการขับเคลื่อนอุปกรณ์ (เช่นประแจขันนอตหรือสว่าน) เป็นต้น บางทีอาจเรียกอากาศอัดความดันนี้ว่า plant air (PA) แต่ในบทความนี้เข้าใจว่าใช้ชื่อ work air (YA) แต่ PA นี้ยังมีความชื้นปนปนอยู่ การนำ PA ไปใช้ในระบบส่งสัญญาณหรือควบคุมการทำงานของอุปกรณ์จึงไม่เหมาะ เพราะไอน้ำที่ปะปนอยู่นั้นอาจเกิดการควบแน่นเป็นน้ำ และถ้าอยู่ในบริเวณที่อากาศหนาวก็อาจเกิดการแข็งตัวและทำให้ระบบท่ออุดตันได้ ดังนั้นถ้าต้องการนำเอาอากาศไปใช้เพื่องานดังกล่าวจึงต้องนำไปกำจัดความชื้นออกก่อน PA ที่ผ่านการกำจัดความชื้นแล้วเรียกว่า instrument air (IA)

วาล์วควบคุม (control valve - CV) เป็นวาล์วที่ทำหน้าที่ควบคุมการไหลว่าจะให้ไหลมากหรือไหลน้อย โดยทั่วไปวาล์วควบคุมจะต่อเข้ากับระบบควบคุมอัตโนมัติ วาล์วควบคุมการไหลส่วนใหญ่นั้นจะทำงานโดยการใช้แรงกดอากาศ (IA) กดต้านแรงสปริง ถ้าไม่มีแรงกดจาก IA วาล์วก็จะไปอยู่ที่ตำแหน่งที่สปริงจะดันไปซึ่งอาจเป็นตำแหน่งเปิดหรือตำแหน่งปิดซึ่งขึ้นอยู่กับการออกแบบ ตำแหน่งวาล์วเมื่อไม่มีแรงกดจาก IA เรียกว่า failure position ถ้าไม่มีแรงกดจาก IA แล้วทำให้สปริงดันวาล์วตัวนั้นไปอยู่ที่ตำแหน่งเปิดก็จะเรียกว่า failure open แต่ถ้าไม่มีแรงกดจาก IA แล้วตัวสปริงดันวาล์วไปอยู่ที่ตำแหน่งปิดก็จะเรียกว่า failure close

Flare stack เป็นระบบเผาแก๊สทิ้งของโรงงานในกรณีฉุกเฉินหรือเมื่อต้องหยุดเดินเครื่องโรงงาน สารเคมีต่าง ๆ ที่เผาไหม้ได้จะถูกส่งออกมาเผาที่ flare stack นี้]


เวลาประมาณ ๑๘.๕๘ น IA กลับมาใช้งานได้ใหม่ จึงได้เริ่มทำการเดินเครื่องระบบใหม่ รายละเอียดเหตุการณ์ตรงนี้อ่านได้ในหัวข้อ "2. Course" ในหน้าที่ ๔ และ ๕ กล่าวโดยสรุปคือพนักงานปฏิบัติการ (หรือที่เรามักเรียกว่า - operator) เริ่มเดินเครื่องระบบใหม่โดยการเปิดวาล์วให้เอทิลีนและไฮโดรเจนไหลเข้าเครื่องปฏิกรณ์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือไม่มีเอทิลีนไหลเข้าไหลเครื่องปฏิกรณ์ มีเพียงแต่ไฮโดรเจนเท่านั้น ทำให้เอทิลีนที่ค้างอยู่ในเครื่องปฏิกรณ์เกิดปฏิกิริยาเติมไฮโดรเจนและคายความร้อนออกมา อุณหภูมิการทำงานปรกติอยู่ที่ 60 องศาเซลเซียส แต่เมื่อเวลา ๒๑.๓๐ น operator สังเกตว่าอุณหภูมิในเครื่องปฏิกรณ์เพิ่มสูงถึง 120 องศาเซลเซียส operator จึงได้ตัดสินใจเปิดวาล์วป้อนแก๊สเอทิลีนจากแหล่งอื่นเข้าระบบเพื่อระบายความร้อน แต่เมื่อถึงเวลา ๒๑.๓๘ น operator ยังพบว่าอุณหภูมิยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงได้ตัดสินใจปิดวาล์วป้อนไฮโดรเจน

[สำหรับ fixed-bed ที่ไม่มีการระบายความร้อนผ่านทางผนังนั้น การระบายความร้อนออกจาก fixed-bed จะอาศัยการไหลของแก๊สผ่าน fixed-bed ในกรณีนี้แม้ว่าจะมีไฮโดรเจนไหลเข้าระบบ แต่ปริมาณการไหลของไฮโดรเจนไม่มากพอที่จะดึงเอาความร้อนออกจากเบด จึงทำให้อุณหภูมิภายในเบดเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นเมื่อ operator สังเกตพบอุณหภูมิภายใน fixed-bed เพิ่มสูงขึ้น จึงเปิดเอทิลีนเข้าเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มการไหลของแก๊สผ่านเครื่องปฏิกรณ์ แต่พอพบว่าอุณหภูมิยังคงเพิ่มขึ้น จึงตัดสินใจหยุดการป้อนไฮโดรเจนเพื่อหยุดปฏิกิริยาการเติมไฮโดรเจนซึ่งเป็นปฏิกิริยาคายความร้อน]


แต่เมื่อเอทิลีนเริ่มไหลเข้าระบบ operator พบว่าอุณหภูมิยังคงเพิ่มสูงขึ้น โดยเมื่อเวลา ๒๑.๔๕ น พบว่าอุณหภูมิในส่วนกลาง (เครื่องปฏิกรณ์ B) สูงถึง 970 องศาเซลเซียส และเมื่อถึงเวลา ๒๒.๐๐ น ก็พบว่าอุณหภูมิที่ส่วนล่างของเครื่องปฏิกรณ์ B เพิ่มขึ้นเกินกว่า 1000 องศาเซลเซียส ทำให้ท่อทางออกจากเครื่องปฏิกรณ์ร้อนแดง และเมื่อถึงเวลา ๒๒.๑๕ น ท่อดังกล่าวก็แตกหัก ทำให้เกิดแก๊สรั่วออกมาและเกิดการระเบิด ทำให้มีผู้เสียชีวิต ๑ ราย

[แม้ว่า operator จะหยุดการป้อนไฮโดรเจนทำให้ปฏิกิริยาการเติมไฮโดรเจน (hydrogenation) หยุดแล้วก็ตาม แต่ตัวเร่งปฏิกิริยาพัลลาเดียม (Pd) ที่อยู่ในเครื่องปฏิกรณ์สามารถทำให้เกิดปฏิกิริยาการสลายตัวของเอทิลีนได้เมื่ออุณหภูมิสูงของระบบสูงกว่า 400 องศาเซลเซียส ดังนั้นเอทิลีนที่ป้อนเข้าไปในขณะที่อุณหภูมิภายในเครื่องปฏิกรณ์นั้นมีค่าสูงจึงไม่ได้เข้าไประบายความร้อนออกจากเครื่องปฏิกรณ์ แต่เป็นการป้อนสารตั้งต้นสำหรับปฏิกิริยาการสลายตัวของเอทิลีนเข้าไปในระบบ ทำให้ไม่สามารถหยุดการเพิ่มอุณหภูมิภายในเครื่องปฏิกรณ์ได้]


สาเหตุที่ทำให้เกิดการระเบิดได้รับการพิจารณาว่าเป็นผลรวมของความผิดพลาดหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่การออกแบบตำแหน่งติดตั้งวาล์ว การออกแบบระบบการทำงาน การทำงานและการตัดสินใจของ operator ซึ่งเกี่ยวพันไปถึงการฝึกอบรม operator ด้วย แต่ตัวที่เป็นจุดเริ่มต้นคือตำแหน่งติดตั้งวาล์ว PA และ IA ที่อยู่สูงจากพื้น (ดูรูปที่ ๓ ประกอบ) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เข้าถึงได้ยาก ทำให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถทำผิดพลาดได้ง่าย ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วในแต่ละปีจะมีการเปิด-ปิดวาล์ว PA บ่อยครั้งกว่า ดังนั้นจะเป็นการดีกว่าถ้าจะออกแบบการวางท่อให้วาล์ว PA อยู่ในระดับที่ operator ที่ยืนอยู่บนพื้นสามารถปิด-เปิดได้ง่าย

[ท่อในโรงงานนั้นมักวางอยู่บน pipe rack ซึ่งเป็นที่สำหรับวางท่อต่าง ๆ ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ อยู่เหนือศีรษะ (อยู่ที่ระดับประมาณ ๕ เมตรสูงจากพื้น) ทั้งนี้เพื่อให้สามารถใช้พื้นที่ด้านล่างในการเดินทางของคนและยานพาหนะต่าง ๆ ได้ วาล์วที่นาน ๆ ครั้งจึงจะมีการใช้งานและใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้นก็อาจติดตั้งอยู่ที่ระดับ pipe rack ได้ ส่วนวาล์วที่ต้องมีการใช้งานเปิด-ปิดบ่อย ๆ ก็จะมีการเดินท่อให้ลดระดับลงมาข้างล่างที่ระดับพื้นเพื่อติดตั้งวาล์วไว้ที่ระดับพื้น และค่อยเดินท่อด้านขาออกจากวาล์วนั้นกลับไปที่ระดับ pipe rack ใหม่อีกครั้ง (ดูรูปที่ ๔ ประกอบ)]

รูปที่ ๓ ตำแหน่งที่ตั้งของวาล์วท่อ IA ที่ operator ปิดผิดตัว วาล์วที่ควรจะถูกปิดคือวาล์วของท่อ plant air (วงกลมเขียว) แต่วาล์วที่ถูกปิดคือวาล์วของท่อ instrument air (วงกลมแดง)



รูปที่ ๔ ตัวอย่างตำแหน่งการติดตั้งวาล์วที่ใช้งานเป็นประจำ


สำหรับวาล์วที่ไม่มีการปิด-เปิดบ่อยครั้ง (เช่นใช้เมื่อเริ่มเดินเครื่องหรือหยุดเดินเครื่องโรงงานเท่านั้น) ก็สามารถติดตั้งไว้ให้อยู่เหนือศีรษะได้ แต่สำหรับวาล์วที่ถ้าหากเผลอไปปิดหรือเปิดเข้าโดยไม่ตั้งใจจะทำให้เกิดความเสียหายได้ ก็ต้องมีการป้องกันการไปปิด-เปิดโดยไม่ตั้งใจ เช่นโดยการใช้โซ่พันและคล้องกุญแจเอาไว้ ทาสีให้เห็นเด่นชัดเจน หรือทำการติดป้ายให้เห็นชัดเจนว่าต้องได้รับอนุญาตก่อนจึงจะทำการปิดหรือเปิดได้

บทความนี้ยังได้ให้ข้อสังเกตด้วยว่าทำไม operator จึงรีบพยายามเดินเครื่องระบบกลับคืนสู่สภาพเดิมทันทีที่มี IA กลับมาใช้งานอีกครั้ง ทั้ง ๆ ที่เมื่อระบบเริ่มต้นกระบวนการ emergency shutdown แล้วก็ควรให้กระบวนการนี้ดำเนินไปจนสิ้นสุดก่อน จากนั้นจึงค่อยเริ่มต้นเดินเครื่องระบบใหม่ เพราะในระหว่างระบบดำเนินการ emergency shutdown นั้นมีการระบายความดันออกจากหน่วยต่าง ๆ ในระบบ ทำให้เกิดปัญหาความดันไม่สมดุลและทำให้เกิดการไม่ไหลของแก๊สในระบบได้ ในกรณีนี้คือแก๊สเอทิลีนไม่ไหลเข้า hydrogenation reactor มีแต่แก๊สไฮโดรเจนเท่านั้นที่ไหลเข้า

ทางผู้เขียนบทความได้บันทึกไว้ว่าสาเหตุที่ทางผู้จัดการโรงงานและ operator รีบเดินเครื่องระบบกลับคืนสภาพเดิมทันทีก็เพราะไม่ต้องการสูญเสียเวลา เพราะถ้าปล่อยให้กระบวนการ emergency shutdown ดำเนินการอย่างเสร็จสมบูรณ์และเริ่มต้นเดินเครื่องใหม่นั้นจะต้องใช้เวลาหลายวัน ซึ่งจะมีการสูญเสียถึงหลายสิบล้านเยนต่อวัน (ตรงนี้ดูเหมือนว่าผลกำไรของบริษัทสำคัญกว่าความปลอดภัยในการทำงาน)

วันอังคารที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

Acetylene hydrogenation (ตอนที่ ๑) MO Memoir : Tuesday 9 November 2553

เวลาที่สอนเคมีอินทรีย์ให้กับใครนั้น ผมมักจะย้ำว่าให้มองเนื้อหาเป็นเรื่องของหมู่ฟังก์ชัน (functional group) ต่างๆ มากกว่าการที่จะมองว่าเป็นสารประกอบ (compound) เพราะการที่สารใดจะทำปฏิกิริยาแบบใดได้นั้นมันขึ้นอยู่กับว่าสารนั้นมีหมู่ฟังก์ชันใดบ้าง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าสารนั้นมีชื่อว่าอะไร ตัวอย่างเช่นสไตรีน (C6H5CH=CH2) ซึ่งถ้าดูตามชื่อแล้วมันถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มแอโรแมติก และถ้าดูการทำปฏิกิริยาแล้วจะพบว่ามันมีการทำปฏิกิริยาของพันธะ C=C เช่นปฏิกิริยาการพอลิเมอร์ไรซ์ (polymerisation) ซึ่งอยู่ในเรื่องอัลคีน หรือในกรณีของโมเลกุลน้ำตาลนั้น การทำปฏิกิริยาจะอยู่ในเรื่องของแอลกอฮอล์ (หมู่ไฮดรอกซิล) และอัลดีไฮด์หรือคีโตน (เพราะน้ำตาลเป็นสารประกอบ polyhydroxy aldehyde หรือ polyhydroxy ketone คือมีทั้งหมู่ไฮดรอกซิล (-OH) และอัลดีไฮด์/คีโตนในโมเลกุลเดียวกัน)

สัปดาห์ที่แล้วสอนนิสิตปริญญาตรีปี ๒ เรื่องเกี่ยวกับสารประกอบไฮโดรคาร์บอนไม่อิ่มตัว และได้ยกตัวอย่างปฏิกิริยาหนึ่งขึ้นมาคือปฏิกิริยาการเติมไฮโดรเจน (Hydrogenation) ที่ใช้เปลี่ยนพันธะคู่ระหว่างอะตอมคาร์บอนให้กลายเป็นพันธะเดียว และเปลี่ยนพันธะสามระหว่างอะตอมคาร์บอนให้กลายเป็นพันธะคู่ และใน Memoir ฉบับที่แล้ว (ฉบับที่ ๒๑๘) ก็ได้เกริ่นถึงปฏิกิริยาการกำจัด acetylene ออกจาก ethylene ในกระบวนการที่เรียกว่า acetylene hydrogenation

Memoir ฉบับนี้เลยขอถือโอกาสใช้ปฏิกิริยานี้เป็นตัวอย่างเพื่อแสดงให้เห็นถึงการนำเอาความรู้จากวิชาต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้รวมกัน โดยหวังว่าผู้อ่านคงยังไม่ลืมพื้นฐานทางด้านเทอร์โมไดนามิกและเคมีอินทรีย์ที่เรียนกันมา


. Enthalpy of formation (deltaHf) และเสถียรภาพของสาร

เอนทาลปีของสารใดนั้นเปรียบเสมือนพลังงานทั้งหมดที่มีอยู่ในตัวสารนั้น แต่เราไม่สามารถวัดพลังานงานทั้งหมดได้โดยตรง สิ่งที่วัดกันนั้นเป็นการวัดการเปลี่ยนแปลง โดยจะพิจารณาว่าเมื่อสารหนึ่งเปลี่ยนไปเป็นอีกสารหนึ่งนั้นมีการเปลี่ยนแปลงพลังงานเท่าใด โดยจะกำหนดให้ค่าเอนทาลปีของธาตุมีค่าเป็นศูนย์ และเมื่อธาตุต่าง ๆ มารวมตัวกันเป็นสารประกอบนั้นต้องมีการคายพลังงานหรือดูดกลืนพลังงานเข้าไป ถ้าหากมีการคายพลังงานออกมา สารประกอบที่เกิดขึ้นก็จะมีค่าเอททาลปีการเกิด (Enthalpy of formation หรือ deltaHf) ติดลบ แต่ถ้าต้องมีการดูดกลืนพลังงานเข้าไป สารประกอบที่เกิดขึ้นก็จะมีค่าเอนทาลปีการเกิดเป็นบวก


ตัวอย่างเช่นถ้าธาตุคาร์บอน (C) และไฮโดรเจน (H) รวมตัวกันเป็นแก๊สเอทิลีน (C2H4) จะต้องมีการดูดกลืนพลังงานเข้าไป 52.33 kJ/mol หรือกล่าวได้ว่าเอทิลีนมีค่า deltaHf = +52.33 kJ/mol

ถ้ารวมกันเป็นแก๊สอะเซทิลีน (C2H2) จะต้องมีการดูดกลืนพลังงานเข้าไป 226.88 kJ/mol หรือกล่าวได้ว่าอะเซทิลีนมีค่า deltaHf = +226.88 kJ/mol ซึ่งสูงกว่าของเอทิลีนประมาณ 4 เท่า

แต่ถ้ารวมตัวกันเป็นแก๊สอีเทน (C2H6) จะต้องมีการคายพลังงานออก 84.74 kJ/mol หรือกล่าวได้ว่าอีเทนมีค่า deltaHf = -84.74 kJ/mol

ถ้ารวมตัวเป็นแก๊สโพรเพน (C3H8) จะต้องมีการคายพลังงานออก 103.92 kJ/mol หรือกล่าวได้ว่าโพรเพนมีค่า deltaHf = -103.92 kJ/mol

แต่ถ้ารวมตัวกันเป็นแก๊สโพรพิลีน (C3H6) จะต้องมีการดูดกลืนพลังงานออก 20.43 kJ/mol หรือกล่าวได้ว่าโพรพิลีนมีค่า deltaHf = +20.43 kJ/mol

ถ้ารวมกันเป็นแก๊สเมทิลอะเซทิลีน (H3C-CCH) จะต้องมีการดูดกลืนพลังงานเข้าไป 185.56 kJ/mol หรือกล่าวได้ว่าเมทิลอะเซทิลีนมีค่า deltaHf = +185.56 kJ/mol ซึ่งสูงกว่าของโพรพิลีนประมาณ 9 เท่า

สารที่มีค่าเอนทาลปีการเกิดเป็นบวก (+) มาก ๆ นั้นต้องระวังให้มาก เพราะแสดงว่าตัวสารนั้นโดด ๆ มีโอกาสที่จะสลายตัวกลายเป็นธาตุที่ประกอบเป็นมันขึ้นมาโดยไม่ต้องทำปฏิกิริยากับสารตัวอื่นใดเลย และการสลายตัวนั้นก็จะคายพลังงานความร้อนออกมาด้วย ดังนั้นจากตัวอย่างที่ยกมาจะเห็นได้ว่าอะเซทิลีนและเมทิลอะเซทิลีนจัดว่าเป็นสารที่มีค่าเอนทาลปีการเกิดสูงมาก สารสองตัวนี้จึงมีโอกาสสูงที่จะสลายตัวและให้พลังงานความร้อนออกมาในปริมาณมาก เอทิลีนเองก็สามารถเกิดการสลายตัวได้เช่นเดียวกัน แต่เกิดได้ยากกว่าอะเซทิลีนและยังต้องใช้อุณหภูมิที่สูงกว่าด้วยจึงจะเกิดการสลายตัวได้

(ข้อมูลเอนทาลปีได้มาจากหนังสือ Chemical Engineering vol. 6, "An introduction to chemical engineering design", โดย R.K. Sinnott สำนักพิมพ์ Pergamon Press ปีค.. 1903)


. การกำจัดอะเซทิลีน

กระบวนการหลักที่ใช้ในการผลิตเอทิลีนและโพรพิลีนในอุตสาหกรรมคือ thermal cracking ของไฮโดรคาร์บอน ซึ่งไฮโดรคาร์บอนที่ใช้เป็นสารวัตถุดิบก็มีตั้งแต่เอทิลีนไปจนถึงน้ำมันหนักต่าง กระบวนการดังกล่าวนำไฮโดรคาร์บอน (ที่เป็นแก๊สหรือเป็นของเหลว) มาให้ความร้อนสูงพอที่จะทำให้โมเลกุลสารตั้งต้นเดิมแตกออกเป็นโมเลกุลเล็กลง โอเลฟินส์ที่ได้มาจากกระบวนการ thermal cracking นี้ประกอบไปด้วยโอเลฟินส์หลายชนิดปนกัน และยังมีอะเซทิลีน (C2H2) และเมทิลอะเซทิลีน (H3CCCH) เกิดร่วมด้วย ผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์ผสมจะถูกนำไปกลั่นแยกออกเป็นผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์ต่าง ๆ ส่วนอะเซทิลีนและเมทิลอะเซทิลีนนั้นจะยังคงมีปนเปื้อนอยู่ในเอทิลีนที่เป็นผลิตภัณฑ์หลักที่ต้องการ การกำจัดสารสองตัวนี้จะกระทำโดยอาศัยปฏิกิริยาการเติมไฮโดรเจน (ปริมาณที่ปนเปื้อนมักอยู่ในระดับ ppm) โดยในที่นี้จะขอกล่าวถึงการกำจัดอะเซทิลีนเป็นตัวหลักเพราะเป็นตัวที่มีมากกว่า

การกำจัดอะเซทิลีน (และเมทิลีอะเซทิลีน) กระทำโดยใช้ปฏิกิริยาการเติมไฮโดรเจน (hydrogenation) เพื่อเปลี่ยนอะเซทิลีนให้เป็นเอทิลีน (และเปลี่ยนเมทิลอะเซทิลีนให้กลายเป็นโพรพิลีนไปพร้อม ๆ กัน) แต่ต้องระวังไม่ให้เกิดการเปลี่ยนเอทิลีนไปเป็นอีเทน ซึ่งถือว่าเป็นการสูญเสียผลิตภัณฑ์ที่สำคัญไป (เราต้องการเอทิลีน ไม่ใช่อีเทน)

ปฏิกิริยาการเติมไฮโดรเจนดังกล่าวเป็นปฏิกิริยาคายความร้อน ในการเปลี่ยนอะเซทิลีนให้เป็นเอทิลีนนั้นจะมีการคายพลังงานความร้อนออกมา 226.88 - 52.33 = 174.55 kJ/mol (เอนทาลปีการเกิดของอะเซทิลีนลบด้วยของเอทิลีน) ส่วนการเปลี่ยนเอทิลีนให้กลายเป็นอีเทนนั้นจะมีการคายความร้อนออกมา 52.33 - (-84.74) = 137.07 kJ/mol

ในกระบวนการกำจัดอะเซทิลีน จะผ่านแก๊สโอเลฟินส์ที่มีอะเซทิลีนปนเปื้อนเข้าไปในเครื่องปฏิกรณ์แบบเบดนิ่ง (fixed-bed) ที่ภายในบรรจุตัวเร่งปฏิกิริยาเอาไว้ (ดูรูปที่ ๑ ข้างล่างประกอบ) ตัวเร่งปฏิกิริยาที่ใช้ในปฏิกิริยานี้เป็นสารประกอบของโลหะเช่นพัลลาเดียม (Pd) และ/หรือร่วมกับโลหะตัวอื่นซึ่งขึ้นกับผู้ผลิต


รูปที่ ๑ แบบจำลองระบบเครื่องปฏิกรณ์เบดนิ่ง (fixed-bed reactor) ที่ใช้ในการกำจัดอะเซทิลีน

ตัวเร่งปฏิกิริยานี้สามารถที่จะทำการเติมไฮโดรเจนเพื่อเปลี่ยนอะเซทิลีนให้กลายเป็นเอทิลีน และสามารถเติมไฮโดรเจนเพื่อเปลี่ยนเอทิลีนให้กลายเป็นอีเทนได้ด้วย แต่ปฏิกิริยาการเติมไฮโดรเจนให้กับเอทิลีนนั้นจะเกิดขึ้นที่อุณหภูมิที่สูงกว่าที่ต้องใช้ในการเติมไฮโดรเจนให้กับเอทิลีน ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียเอทิลีนโดยที่ยังคงสามารถกำจัดอะเซทิลีนได้หมดจึงจำเป็นต้องควบคุมอุณหภูมิการทำปฏิกิริยาให้เหมาะสม เพราะถ้าใช้อุณหภูมิการทำงานที่ต่ำเกินไปก็จะไม่สามารถกำจัดอะเซทิลีนได้หมด (อัตราการเกิดปฏิกิริยาจะเกิดเร็วขึ้นเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น) แต่ถ้าใช้อุณหภูมิการทำปฏิกิริยาสูงเกินไปก็จะไปทำให้เกิดปฏิกิริยาเติมไฮโดรเจนให้กับเอทิลีนซึ่งเราไม่ต้องการให้เกิด ช่วงอุณหภูมิการทำปฏิกิริยานี้เรียกว่า "window" ซึ่งจะกว้างเท่าใดนักจะขึ้นอยู่กับตัวเร่งปฏิกิริยาและรูปแบบการทำงาน (ดูรูปที่ ๒ ประกอบ)


รูปที่ ๒ ความหมายของช่วงอุณหภูมิการทำงานหรือ "window" ของปฏิกิริยา Acetylene hydrogenation


กล่าวคือถ้าเรานำเอาอะเซทิลีนมาทำปฏิกิริยา hydrogenation ที่อุณหภูมิต่าง ๆ ก็จะได้กราฟเส้นสีแดง แต่ถ้านำเอาเอทิลีนมาทำปฏิกิริยาก็จะได้กราฟเส้นสีเขียว ซึ่งเมื่อนำกราฟทั้งสองเส้นมาวางบนสเกลเดียวกันก็จะเห็นว่ากราฟของเอทิลีน (เส้นสีเขียว) จะอยู่ทางขวามือของกราฟอะเซทิลีน (เส้นสีแดง) อยู่เล็กน้อย ช่วง window ของการทำงานคือที่ช่วงที่อยู่ระหว่างเส้นประสีน้ำเงิน ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่าเส้นประสีน้ำเงินเส้นซ้าย ปริมาณอะเซทิลีนที่ถูกกำจัดก็จะน้อย แต่ถ้าอุณหภูมิสูงกว่าเส้นสีน้ำเงินเส้นขวา เอทิลีนก็จะสามารถแย่งทำปฏิกิริยากับอะเซทิลีน ทำให้เกิดการสูญเสียเอทิลีนไปเป็นอีเทน

ตัวเร่งปฏิกิริยาในอดีตนั้นช่วงอุณหภูมิ window ค่อนข้างจะแคบ จึงได้มีความพยายามหาทางเพิ่มความกว้างของ window นี้ให้มากคือ วิธีการหนึ่งที่กระทำกันคือเติมแก๊ส CO เข้าไปในระบบ CO จัดเป็น catalyst poison ซึ่งจะไปทำให้ความว่องไวของตัวเร่งปฏิกิริยาลดลง โดยไปทำให้กราฟเส้นสีแดงและเส้นสีเขียวนั้นเลื่อนไปทางขวา (ต้องใช้อุณหภูมิสูงขึ้นในการทำปฏิกิริยา) แต่กราฟเส้นสีเขียว (ของเอทิลีน) นั้นเลื่อนตัวไปทางขวามากกว่ากราฟเส้นสีแดง (ของอะเซทิลีน) จึงทำให้ระยะหว่างระหว่างกราฟทั้งสองเส้นเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็หมายถึงช่วงอุณหภูมิ window ที่กว้างขึ้น

เนื่องจากปฏิกิริยาการเติมไฮโดรเจนเป็นปฏิกิริยาคายความร้อน ดังนั้นเมื่อปฏิกิริยาเกิดมากขึ้นก็จะทำให้อุณหภูมิการทำปฏิกิริยาสูงขึ้นไปด้วย อัตราการเกิดปฏิกิริยาก็จะเพิ่มขึ้นตามอุณหภูมิที่สูงขึ้น ความร้อนก็จะยิ่งคายออกมามากขึ้น ดังนั้นถ้าไม่มีการควบคุมการระบายความร้อนที่ดี จะทำให้ความร้อนที่เกิดขึ้นสะสมในเครื่องปฏิกรณ์และนำไปสู่ปฏิกิริยาการสลายตัวของเอทิลีนได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิในระบบมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นมากเกินไป จึงต้องทำการควบคุมปริมาณไฮโดรเจนที่เติมเข้าไปในระบบให้เหมาะสม โดยทั่วไปปริมาณไฮโดรเจนที่เติมจะประมาณเท่ากับปริมาณอะเซทิลีนที่ต้องการกำจัด

ฉบับหน้าจะเล่าถึงกรณีเหตุการณ์ความผิดพลาดที่ทำให้เกิดการระเบิดของหน่วย Acetylene hydrogenation

วันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ปัญหาของไฮโดรคาร์บอนไม่อิ่มตัว MO Memoir : Friday 5 November 2553

เนื้อหาในนี้นำมาจากเรื่องที่เล่าไว้ในระหว่างการสอนวิชา ๒๑๐๕-๒๗๒ เคมีอินทรีย์ ให้กับนิสิตชั้นปีที่ ๒ ในส่วนที่เกี่ยวกับอัลคีนและอัลคาย


. น้ำมันเบนซินและระบบจ่ายเชื้อเพลิง
สำหรับไฮโดรคาร์บอนชนิดอัลเคนและอัลคีนที่มีจำนวนอะตอมคาร์บอนเท่ากัน สารประกอบไฮโดรคาร์บอนไม่อิ่มตัว (อัลคีน) จะมีเลขออกเทนที่สูงกว่าสารประกอบอัลเคน แต่ในทางปฏิบัตินั้นเราไม่ต้องการให้มีอัลคีนปนอยู่ในน้ำมันในปริมาณที่มากเกินไป เพราะอัลคีนเป็นสารที่ว่องไวในการทำปฏิกิริยา สามารถเกิดการรวมตัวเข้าด้วยกัน (เกิดการพอลิเมอร์ไรซ์) กลายเป็นโมเลกุลใหญ่ขึ้น เกิดเป็นคราบสกปรกสะสมอยู่ในระบบฉีดจ่ายเชื้อเพลิงให้กับเครื่องยนต์ ทำให้เครื่องยนต์กำลังตกและเดินไม่เรียบได้ ดังนั้นเพื่อลดการเกิดปัญหาดังกล่าวจึงจำเป็นต้องลดปริมาณอัลคีนในน้ำมันไม่ให้สูงเกินไป

. การสุกของผลไม้
ในบ้านเรานั้น เกษตรกรสามารถเร่งการสุกของผลไม้ได้โดยการนำผลไม้ที่ยังดิบหรือไม่สุกดี (เช่นมะม่วงหรือกล้วยหอมที่ยังเขียวอยู่) มาเรียงใส่ในภาชนะปิด (เช่นถังหรือโอ่ง) จากนั้นทำการจุดธูปหรือเทียนเอาไว้ในภาชนะปิดนั้น ทิ้งไว้เป็นระยะเวลาที่เหมาะสม ซึ่งผมก็จำไม่ได้ว่าต้องนานเท่าใด ๆ ตอนเด็ก ๆ จำได้ว่าเคยช่วยยายทำ ดูเหมือนว่าจะทิ้งไว้ข้ามคืน แต่ทั้งนี้คงขึ้นอยู่กับว่าผลไม้เดิมนั้นดิบแค่ไหน และต้องการให้สุกแค่ไหน หรือเมื่อเราซื้อผลไม้บางชนิดมานั้น (เช่นกล้วยหอม) ถ้าไม่ต้องการให้ผลไม้นั้นสุกเร็วเกินไปก็ต้องนำออกมาจากถุงพลาสติก แล้วใส่ในภาชนะที่มีการระบายอากาศได้ดี (เช่นตะกร้า) การสุกของผลไม้คือการที่แป้งเปลี่ยนไปเป็นน้ำตาล ทำให้ผลไม้หวานขึ้น
สิ่งที่ทำให้ผลไม้สุกเร็วขึ้นคือเอทิลีน (Ethylene H2C=CH2) และอะเซทิลีน (C2H2) แก๊สทั้งสองชนิดนี้เกิดขึ้นได้จากกระบวนการทางเคมีในผลไม้ แต่เกษตรกรก็สามารถเพิ่มปริมาณแก๊สนี้ได้โดยการจุดธูปหรือเทียน (คาดว่าคงเกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์)
แต่ถ้าเป็นการส่งผลไม้ไปขายยังต่างประเทศนั้น ซึ่งมักเป็นการบรรจุกล่องและนำกล่องนั้นบรรจุเข้าตู้สินค้าอีกทีหนึ่ง แก๊สสองชนิดนี้จะก่อให้เกิดปัญหาผลไม้สุกเร็วเกินไปก่อนผลไม้นั้นเดินทางไปถึงปลายทาง (คือร้านขายปลีกในประเทศที่ส่งผลไม้ไปขาย) ถ้าต้องการให้ผลไม้ไปถึงรวดเร็วก็ต้องส่งไปทางอากาศ ซึ่งมีค่าขนส่งที่สูง ทำให้ราคาขายที่ประเทศปลายทางสูงไปด้วย แต่ถ้าหาทางกำจัดหรือระบายแก๊สสองชนิดนี้ไม่ให้สะสมอยู่ในกล่องบรรจุได้ ก็จะทำให้หน่วงเวลาการสุกของผลไม้ไปได้ และสามารถขนส่งทางเรือที่มีต้นทุนค่าขนส่งที่ต่ำกว่าการขนส่งทางอากาศได้

. trans Fat
น้ำมันพืชที่นำมาประกอบอาหารโดยการทอดนั้นมักจะมีส่วนที่เป็นโซ่ไฮโดรคาร์บอนไม่อิ่มตัว ซึ่งจำนวนของตำแหน่งที่เป็นพันธะไม่อิ่มตัวของโซ่ไฮโดรคาร์บอน (พันธะคู่) จะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของน้ำมันพืชที่นำมาใช้ ถ้าหากน้ำมันพืชนั้นมีความไม่อิ่มตัวสูงมาก น้ำมันพืชนั้นก็ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ทอดอาหารต่อเนื่องเป็นเวลานาน เพราะความร้อนที่น้ำมันได้รับจะทำให้น้ำมันพืชนั้นถูกออกซิไดซ์ด้วยออกซิเจนในอากาศตรงตำแหน่งพันธะคู่นั้น กลายเป็นสารประกอบที่มีกลิ่นเหม็นหืนหรือเป็นพิษ
ในอุตสาหกรรมอาหารที่ต้องทำการทอดอาหาร (เช่นการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรือมันฝรั่งทอดกรอบ เป็นต้น) ถ้าต้องทำการเปลี่ยนน้ำมันพืชที่ใช้ในการประกอบอาหารบ่อยครั้งเกินไป ก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ดังนั้นผู้ผลิตจึงต้องหาน้ำมันพืชที่มีความไม่อิ่มตัวต่ำหรือเป็นน้ำมันพืชที่มีความอิ่มตัวสูงมาใช้ ตัวอย่างของน้ำมันพืชที่มีความอิ่มตัวสูงได้แก่น้ำมันมะพร้าวและน้ำมันถั่วลิสง
แต่ถ้าไม่สามารถหาน้ำมันพืชที่มีความอิ่มตัวสูงมาใช้ได้ ก็ต้องใช้วิธีการลดความไม่อิ่มตัวของน้ำมันพืชที่มีความไม่อิ่มตัวสูง วิธีการที่ใช้กันก็คือการเติมไฮโดรเจนเข้าไปที่ตำแหน่งพันธะคู่ที่ไม่อิ่มตัวนั้น ปฏิกิริยาดังกล่าวเรียกว่า "ไฮโดรจีเนชัน - hydrogenation) ซึ่งกระทำโดยการผ่านแก๊สไฮโดรเจนเข้าไปในน้ำมันพืชที่มีความไม่อิ่มตัวสูง และใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาที่เป็นโลหะเช่นนิเกิลช่วยในการทำปฏิกิริยา
พันธะคู่ C=C ที่เกิดขึ้นในน้ำมันพืชตามธรรมชาตินั้นจะมีโครงสร้างเป็นแบบ cis ทั้งหมด แต่ในระหว่างที่นำน้ำมันพืชมาเติมไฮโดรเจนนั้น พันธะคู่ C=C แบบ cis อาจเปลี่ยนรูปร่างไปเป็นพันธะคู่ C=C แบบ trans ได้ ซึ่งมีรายงานทางการแพทย์บางฉบับกล่าวว่าการบริโภคน้ำมันพืชที่มีพันธะคู่ C=C แบบ trans จะเป็นอันตรายต่อหัวใจมากกว่าการบริโภคน้ำมันพืชอิ่มตัว
ผมลองค้นเรื่องของ trans fat ที่เป็นภาษาไทยในอินเทอร์เน็ตพบว่ามักจะมีข้อความคล้าย ๆ กัน โดยดูเหมือนว่าจะเป็นการลอก ๆ กันมาแล้วไม่มีการพิจารณาข้อความนั้นว่ามีจุดใดมีความถูกต้องและจุดใดมีความคลาดเคลื่อน ยกตัวอย่างเช่นข้อความสีน้ำตาลข้างล่าง เราลองเอาความรู้ทางด้านเคมีอินทรีย์และวิศวกรรมเคมีมาตรวจสอบกันดูหน่อย

(trans = แปรสภาพ) เป็นไขมันที่คนเราทำขึ้นเป็นส่วนใหญ่ ขบวนการสำคัญได้แก่ การเติมไฮโดรเจน (hydrogenation) ให้กับโมเลกุลของคาร์บอน การเติมไฮโดรเจนทำให้น้ำมันเหลวแปรสภาพ กลายเป็นน้ำมันข้นขึ้น ขาวขึ้น และละลายหรือปนกับน้ำได้ง่ายขึ้น เก็บได้ง่ายที่อุณหภูมิห้อง ไม่เสียง่าย และเก็บได้นานขึ้นคำกล่าวที่ว่า น้ำกับน้ำมันไม่มีวันเข้ากันได้ จะเปลี่ยนไปก็ตอนนี้เอง
"ถ้านำน้ำมันมาเติมไฮโดรเจนเข้า น้ำมันจะแขวนลอยในน้ำได้ เปรียบคล้ายสบู่ที่แขวนลอยอยู่ในน้ำได้"

ที่นี้เราลองไล่ไปทีละประโยคเลยนะ
(ก) คำว่า cis และ trans มาจากภาษาละตินโดย cis มีความหมายว่า "on the same side" หรือแปลเป็นไทยว่าอยู่บนด้านเดียวกัน ส่วนคำว่า trans มีความหมายว่า "on the other side" หรือแปลเป็นไทยว่าอยู่คนละด้านกัน คำว่า cis หรือ trans ที่อยู่ในชื่อสารนั้นเป็นการบ่งบอกลักษณะไอโซเมอร์ ไม่ได้บอกว่าได้มาจากไหน แต่ในบทความข้างบนกลับบอกว่าคำว่า trans หมายความว่าแปรสภาพ ซึ่งเป็นการตีความที่ผิด
(ข) ส่วนที่เป็นสารโซ่ไฮโดรคาร์บอนของไขมันหรือกรดไขมันที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ (ไขมันเป็นเอสเทอร์ระหว่างกรดไขมัน ๓ ตัวกับกลีเซอรีน) ถ้ามีพันธะคู่ C=C อยู่ โครงสร้างจะเป็นแบบ cis ปฏิกิริยาลดความไม่อิ่มตัว (หรือลดจำนวนพันธะคู่) ทำด้วยการเติมไฮโดรเจนด้วยปฏิกิริยาที่เรียกว่า hydrogenation ซึ่งตรงนี้ก็เป็นการนำเอาศัพท์วิชาการแทรกเข้ามา
(ค) จากข้อ (ข) วัตถุประสงค์หลักของการเติมไฮโดรเจนให้กับน้ำมันคือการลดความไม่อิ่มตัว กล่าวคือเปลี่ยนจากพันธะคู่ C=C ไปเป็นพันธะเดี่ยว C-C ที่มีเสถียรภาพสูงกว่า เมื่อโครงสร้างโมเลกุลของส่วนที่เป็นสารโซ่ไฮโดรคาร์บอนเปลี่ยนจาก cis (ที่มีลักษณะโค้งงอ) ไปเป็นแบบพันธะอิ่มตัว สายโซ่จะเหยียดตรงมากขึ้น ทำให้พื้นที่ผิวสัมผัสระหว่างสายโซ่มากขึ้น แรงยึดเหนี่ยวระหว่างสายโซ่จึงมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้จุดหลอมเหลวของน้ำมันสูงขึ้น (ข้นขึ้นหรือแข็งตัว) นอกจากนี้การที่พันธะเดี่ยว C-C มีเสถียรภาพสูงกว่าและการมีพันธะคู่ C=C ที่ลดจำนวนลงจึงทำให้ตัวน้ำมันทนทานต่อการออกซิไดซ์มากกว่า น้ำมันจึงเก็บได้นานกว่า ซึ่งตรงนี้ก็เป็นเรื่องปรกติ
(ง) โมเลกุลของน้ำมันหรือกรดไขมันนั้นมีทั้งส่วนที่มีขั้ว (ในกรณีของกรดไขมันคือส่วนที่เป็นหมู่คาร์บอกซิล -COOH ส่วนในกรณีของน้ำมันคือส่วนที่เป็นตำแหน่งเอสเทอร์ -COO- ) แต่เนื่องจากขนาดของส่วนที่มีขั้วเหล่านี้มีน้อยมากหรือเล็กมากเมื่อเทียบกับขนาดของส่วนที่ไม่มีขั้ว (ส่วนที่เป็นสารโซ่ไฮโดรคาร์บอน) จึงทำให้ไขมันและน้ำมันนั้นแสดงคุณสมบัติที่ไม่ละลายน้ำหรือละลายน้ำได้น้อย (ยกเว้นพวกที่มีโมเลกุลเล็ก เพราะกรดไขมันก็คือกรดอินทรีย์ที่มีโมเลกุลใหญ่นั่นเอง) แต่ภายใต้ภาวะการตีหรือปั่นกวนอย่างรุนแรงจนทำให้น้ำมันหรือไขมันกลายเป็นหยดเล็ก ๆ ก็จะทำให้น้ำมันหรือไขมันนั้นแขวนลอยอยู่ในน้ำได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องปรกติ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับ trans fat เท่านั้น แม้แต่ตัวไฮโดรคาร์บอน (ที่โมเลกุลไม่มีขั้ว) ก็ยังสามารถเกิดได้

ในฐานะที่เราเรียนเคมีกันมา เมื่อใดก็ตามที่มีใครกล่าวอะไรที่เกี่ยวข้องกับเคมีก็ตาม ก็ควรนำความรู้ที่มีอยู่มาประยุกต์ใช้เพื่อตรวจสอบดูว่าคำกล่าวอ้างนั้นฟังสมเหตุสมผลหรือไม่ และในขณะนี้เนื่องจากใคร ๆ ก็ตามต่างก็บอกได้ว่าได้ยินได้ฟังมา แต่ก็ควรตรวจสอบด้วยว่าต้นเรื่องอยู่ที่ไหน เพราะปัจจุบันดูเหมือนว่าค่อนข้างจะเป็นเรื่องที่พบกันทั่วไปว่าข้อความจำนวนมากนั้นเริ่มมาจาก forward mail ที่ส่งต่อ ๆ กันไปมาจนไม่รู้ว่ามันเริ่มมาได้อย่างไร จนคนเชื่อกันว่าเป็นจริงและนำไปลงเว็บส่วนตัว ที่หนักข้อก็เห็นมีการนำไปเผยแพร่ทางวิทยุหรือโทรทัศน์หรือไปลงในหนังสือหรือเว็บทางราชการด้วยซ้ำไปโดยไม่มีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล

. อะเซทิลีนในเอทิลีน
เอทิลีนเป็นสารตั้งต้นที่สำคัญของอุตสาหกรรมเคมีและปิโตรเคมีในปัจจุบัน กระบวนการหลักที่ใช้ผลิตเอทิลีนคือการนำไฮโดรคาร์บอน (ตั้งแต่อีเทนไปจนถึงน้ำมันเตา) มาให้ความร้อนจนโมเลกุลแตกออกเป็นโมเลกุลที่เล็กลง (ที่เรียกว่ากระบวนการ thermal cracking) ก็จะได้เอทิลีนและไฮโดรคาร์บอนไม่อิ่มตัวหลากหลายชนิดออกมา ตัวที่มักก่อให้เกิดปัญหาคืออะเซทิลีน (C2H2) และเมทิลอะเซทิลีน (H3CCCH) ดังนั้นจึงต้องทำการกำจัดสารทั้งสองตัวนี้ออกก่อน โดยอาจกำจัดก่อนที่จะนำเอาผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระบวนการ thermal cracking ไปกลั่นแยกเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ หรือทำหลังจากที่ทำการกลั่นแยกแล้วก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะออกแบบโรงงานในรูปแบบใด
นอกจากนี้แม้ว่าจะทำการแยกเอทิลีนออกมาจากไฮโดรคาร์บอนผสมที่ผลิตได้แต่ก็มักจะมีอะเซทิลีนปนเปื้อนอยู่ในปริมาณเล็กน้อยเสมอ เอทิลีนที่มีอะเซทิลีนปนเปื้อนในปริมาณเล็กน้อยนี้ในบางงานถือว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ เช่นการนำเอาเอทิลีนไปใช้ในกระบวนการพอลิเมอร์ไรซ์เพื่อผลิตพอลิโอเลฟินส์ต่าง ๆ
การกำจัดอะเซทิลีนและเมทิลอะเซทิลีนออกจากเอทิลีนทำได้โดยใช้ปฏิกิริยาเติมไฮโดรเจน (hydrogenation) แต่เนื่องจากทั้งโอเลฟินส์ (เช่น เอทิลีนและโพรพิลีน) อะเซทิลีน และเมทิลอะเซทิลีน ต่างก็สามารถเกิดปฏิกิริยาการเติมไฮโดรเจนได้ แต่เราต้องการให้เกิดปฏิกิริยาเฉพาะกับ อะเซทิลีน และเมทิลอะเซทิลีน เท่านั้น โดยจะเปลี่ยนอะเซทิลีนให้เป็นเอทิลีนและเปลี่ยนเมทิลอะเซทิลีนให้เป็นโพรพิลีน โดยจะต้องไม่ทำให้เกิดปฏิกิริยา (หรือเกิดให้น้อยที่สุด) การเปลี่ยนเอทิลีนไปเป็นอีเทนหรือโพรพิลีนไปเป็นโพรเพน
การควบคุมการเกิดปฏิกิริยาดังกล่าวกระทำได้โดยการใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาและภาวะการทำปฏิกิริยาที่เหมาะสม การทำปฏิกิริยาจะกระทำโดยการผ่านแก๊สเอทิลีนที่มีอะเซทิลีนปนอยู่ และผสมไฮโดรเจนในปริมาณที่เหมาะสม (ประมาณว่าเท่ากับปริมาณอะเซทิลีน) ไปบนตัวเร่งปฏิกิริยาของแข็งที่เป็นโลหะ (เช่น Ni Pd ฯลฯ ซึ่งขึ้นอยู่กับสูตรของผู้ผลิต) ปฏิกิริยาเติมไฮโดรเจนนี้เป็นปฏิกิริยาคายความร้อน ดังนั้นถ้าหากปล่อยให้ความร้อนสะสมในระบบมากเกินไปก็จะทำให้เกิดปฏิกิริยาการสลายตัวของเอทิลีนซึ่งเป็นปฏิกิริยาคายความร้อนเช่นเดียวกัน และนำไปสู่การระเบิดได้