วันเสาร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2557

GC-2014 ECD & PDD ตอนที่ ๓๕ เมื่อวาล์ว 1 อุดตัน MO Memoir : Saturday 21 June 2557

บันทึกฉบับนี้อ้างอิงไปยังแผนผังระบบเก็บตัวอย่างของ ECD ในบันทึกปีที่ ๔ ฉบับที่ ๔๓๒ วันพุธที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๕ เรื่อง "GC-2014 ECD & PDD ตอนที่ ๒๒ ระบบคอลัมน์ใหม่ของ ECD" โดยรูปที่ ๒ และ ๓ ในบันทึกนี้นำมาจากรูปที่ ๓ และ ๔ ในบันทึกฉบับที่ ๔๓๒ ตามลำดับ
  
วาล์ว 1 นั้นทำหน้าที่ฉีดแก๊สเข้าคอลัมน์ของ ECD โดยในจังหวะเก็บแก๊สตัวอย่าง (ดูรูปที่ ๑-๓ ประกอบ) แก๊สตัวอย่างจะไหลเข้าวาล์วทาง port 10 เข้าสู่ sampling loop ทาง port 1 ออกจาก sampling loop เพื่อวกกลับเข้าวาล์วอีกทีทาง port 8 และออกจากวาล์วมุ่งไปยังวาล์ว 3 ที่ใช้ฉีดแก๊สเข้าคอลัมน์ PDD ทาง port 9
  
ในจังหวะฉีดตัวอย่างเข้าคอลัมน์นั้น วาล์วจะมีการหมุนในทิศทางตามเข็มนาฬิกา ท่อที่เชื่อมระหว่าง port 8 และ 9 ในจังหวะเก็บตัวอย่าง (เส้นสีเหลือง) จะเคลื่อนมาเชื่อมระหว่าง port 9 และ 10 แทน (เส้นสีส้ม) ส่วน carrier gas นั้นจะไหลเข้า sampling loop ทาง port 7 (อยู่ข้างใต้ port 8) เพื่อดันแก๊สตัวอย่างใน sampling loop ออกทาง port 1 และเข้าสู่คอลัมน์ GC ทาง port 2 (อยู่ทางด้านขวาของ port 1 ในรูปที่ ๑)

รูปที่ ๑ วาล์ว 1 ของเครื่อง GC-2014 ECD & PDD ที่เกิดการอุดตัน ตัวเลขระบุตำแหน่ง port ของวาล์ว (ดูรูปที่ ๒ และ ๓ ในหน้าถัดไปประกอบ)


รูปที่ ๒ วาล์ว 1 เมื่ออยู่ในตำแหน่ง sampling loop รับแก๊สตัวอย่างจากด้านขาออกของ reactor (จากรูปที่ ๓ ในบันทึกฉบับที่ ๔๓๒)


รูปที่ ๓ วาล์ว 1 เมื่ออยู่ในตำแหน่งฉีดแก๊สตัวอย่างใน sampling loop เข้าคอลัมน์ GC (จากรูปที่ ๔ ในบันทึกฉบับที่ ๔๓๒)
  
เรื่องมันเริ่มจากหนุ่มน้อยรายเดียวของกลุ่มเพื่อนบ้านที่ยังต้องทำการทดลองอยู่ เขาแวะมาหาผมในวันพุธ จะขอให้ช่วยไปดูเครื่อง GC ให้หน่อย เพราะมันฉีดแก๊สตัวอย่างเข้าวาล์วเก็บตัวอย่างไม่ได้ บังเอิญวันพฤหัสบดีผมติดธุระ เลยเพิ่งจะมีเวลามาดูให้เขาเมื่อวานตอนก่อนเที่ยง ปัญหาการอุดตันนั้นทางกลุ่มเราก็เคยประสบ คาดว่าเกิดจากมี (NH4)2SO3 สะสมในระบบท่อ แต่คำถามก็คือ "ตรงตำแหน่งไหน"

การแก้ปัญหาเมื่อวานเริ่มจากการถอดเอา sampling loop ออกก่อน ตั้งตำแหน่งวาล์วให้อยู่ในตำแหน่ง "เก็บตัวอย่าง" จากนั้นก็ทดลองฉีดแก๊สเข้าระบบ ก็พบว่าฉีดได้ โดยแก๊สจะรั่วออกทาง port 1 นั่นแสดงว่าเส้นทางจากด้านขาเข้ามาจนถึงทางออกที่ port 1 นั้นไม่อุดตัน 
   
จากนั้นก็ทดลองปรับตำแหน่งวาล์วไปที่ตำแหน่ง "ฉีดตัวอย่าง" แล้วทดลองฉีดแก๊สเข้าระบบอีกครั้ง ก็พบว่าไม่สามารถฉีดได้ นั่นแสดงว่าตำแหน่งการอุดตันอยู่ระหว่างท่อเชื่อม port 9 - port 10 ของวาล์ว 1 (ดูรูปที่ ๓) ไปจนถึงทางออก ขั้นตอนต่อไปก็คือต้องหาว่าการอุดตันเกิดที่ตำแหน่งไหน มีอยู่เพียงตำแหน่งเดียว หรือมีหลายตำแหน่ง
  
จากนั้นเริ่มการทดสอบต่อด้วยการถอดท่อนำแก๊สออกจากวาล์ว 1 ตรง port 9 (ที่ส่งตรงไปยังวาล์ว 3) ออก โดยที่ยังคงตำแหน่งวาล์ว 1 ไว้ที่ "เก็บตัวอย่าง" แล้วทดลองฉีดแก๊สตัวอย่างอีกครั้ง ก็พบว่าไม่สามารถฉีดได้ นั่นแสดงว่าเราพบการอุดตันแล้ว 1 ที่ คือในท่อที่เชื่อมต่อระหว่าง port 9 และ port 10 เมื่อวาล์วอยู่ในตำแหน่ง "ฉีดตัวอย่าง" (เส้นสีเขียวในรูปที่ ๑) ท่อนี้จะย้ายไปเชื่อมต่อระหว่าง port 8 และ port 9 เมื่ออยู่ในตำแหน่ง "เก็บตัวอย่าง" (เส้นสีเหลืองในรูปที่ ๑)
  
ครั้งก่อนหน้านี้ที่เราเจอ เราทำเพียงแค่หมุนวาล์ว 1 ขยับไปมา และอัดแก๊สตัวอย่างเข้าไป ในที่สุดสิ่งอุดตันก็หลุดออก อันที่จริงการอุดตันที่เกิดขึ้นในสัปดาห์นี้ก็ไม่ถึงขึ้นที่เรียกว่าอัดแก๊สไม่เข้าเลย แต่ต้องใช้แรงเยอะ แสดงว่าการอุดตันคงจะยังไม่ถึงขั้นปิดเส้นทางการไหลของแก๊สอย่างสมบูรณ์ แต่หลังจากทดลองขยับวาล์วและอัดแก๊สเข้าไป ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ วิธีแก้ปัญหาวิธีแรกที่คิดก็คือ สงสัยว่าคงต้องเรียกช่างเขามาถอดวาล์วทำความสะอาด อันที่จริงวาล์วแบบนี้ผมก็เคยถอดชิ้นส่วนมัน แต่มันก็นานมาแล้ว (สมัยเรียน) และที่สำคัญก็คือถ้าหากเกิดปัญหาเพิ่มเติมอีก เดี๋ยวหนุ่มรายนี้จะไม่จบ เพราะแค่นี้เขาก็ย่ำแย่มากอยู่แล้ว แต่ถ้าจะให้ตามช่างมา ก็ไม่รู้ว่าจะมาได้เมื่อใด และก็คงจะทำให้เขาไม่สามารถจบได้ทันเช่นกัน เพราะไม่สามารถปิดการทดลองได้ทันเวลา

หลังจากที่ปรึกษากันอยู่ครู่หนึ่ง ก็เลยตัดสินใจทดลองทำความสะอาดเอง โดยการปรับวาล์วไปอยู่ที่ตำแหน่ง "เก็บตัวอย่าง" ก่อน แล้วต่อ sampling loop กลับคืนเข้าไป แต่ยังคงถอดท่อตรง port 9 อยู่ จากนั้นก็หยดน้ำกลั่นเข้าไปทาง port 9 ทิ้งไว้สักพักให้น้ำซึมเข้าไปละลายสิ่งอุดตัน (ที่เราคาดว่าน่าจะเป็น (NH4)2SO4 ที่ละลายน้ำได้) ตอนนี้มีการดูดแก๊สให้ไหลย้อนเข้าวาล์ว 1 ทาง port 9 เล็กน้อย เพื่อดึงให้น้ำกลั่นซึมเข้าไปละลายสิ่งอุดตันได้ดีขึ้น จากนั้นก็ทำการอัดแก๊สเข้าวาล์ว 1 อีก ทีนี้พบว่าทำเพียงไม่กี่ครั้ง สิ่งอุดตันที่มีอยู่ก็หลุดออก
  
ก่อนประกอบท่อที่ต่อตรง port 9 กลับคืนก็ทำการไล่น้ำที่ค้างอยู่ออกให้หมดก่อน ด้วยการอัดแก๊สตัวอย่างผ่านเข้าวาล์วหลาย ๆ ครั้ง ซับน้ำที่อาจค้างอยู่ตามร่องเกลียวออก แล้วจึงค่อยต่อท่อกลับคืน port 9 จากนั้นก็ทดสอบระบบอีกทีว่ายังมีการอุดตันที่ตำแหน่งอื่นอีกหรือเปล่า โชคดีที่พบว่ามีเพียงแค่ตำแหน่งเดียว

โบราณเขาว่า "สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็น ไม่เท่ามือคลำ สิบมือคลำ ไม่เท่าทำเอง" ถ้าว่ากันตามนี้ คนที่ไม่ยอมลงมือทำอะไรเลย ให้คนอื่นไปทำแทนแล้วก็รอนั่งฟังผลเพื่อเอาไปเล่าต่อ ถึงจะรับฟังเรื่องเดียวกันมาจากคนหนึ่งพันคนพูด ก็ไม่มีทางรู้ดีไปกว่าคนที่ได้ลงมือทำเพียงครั้งเดียว

ไม่มีความคิดเห็น: