วันอาทิตย์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ขอบคุณสำหรับ ๓๐ ปีที่อยู่ด้วยกันมา (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๗๑) MO Memoir : Sunday 8 June 2557

ถ้าเป็นปีก่อนหน้านี้ ช่วงเวลานี้ของปี ชีวิตในมหาวิทยาลัยก็คงเต็มไปด้วยความสนุกครึกครี้น เพราะเป็นช่วงเวลาที่น้องใหม่เริ่มเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย จำได้ว่าเมื่อสักสิบกว่าปีที่แล้ว ตอนเดือนพฤษภาคมจะมีรุ่นพี่ต่าง ๆ มาซ้อมเต้นไปร้องเพลงไปพร้อมกับตีกลองลั่นไปทั่วมหาวิทยาลัย ตามมุมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยตั้งแต่เช้ายันเย็น ลูกผมซึ่งกำลังจะเข้าเรียนป. ๑ ยังหันมาถามผมเลยว่า วัน ๆ พี่ ๆ ในมหาวิทยาลัยเขาทำอะไรกันบ้าง เห็นเขาตีกลองร้องเพลงกันทั้งวัน
  
ผมเองก็ยังเคยถามรุ่นพี่เหล่านั้นว่า "ถามจริง ๆ เหอะกิจกรรมรับน้องที่พวกคุณจัดเตรียมกันเนี่ย มันมีกิจกรรมอะไรบ้างที่เพิ่มวุฒิภาวะทางสังคมให้กับนิสิตใหม่ของมหาวิทยาลัย" คำตอบที่ได้รับทุกปีก็คือความเงียบ



๓๐ ปีที่แล้วก็มีโอกาสได้เป็นน้องใหม่กับเขาเหมือนกัน ตอนนั้นมีเรื่องหนึ่งที่เสียดายคือไม่มีโอกาสไป "ส่องเทียน" ดูผลสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่เขานำมาติดอยู่ริมรั้วข้างสนามจุ๊บ (ก็สนามกีฬาของจุฬานั่นแหละ แต่ตอนนี้รั้วถูกรื้อไปหมดแล้ว) เข้าใจว่ารุ่นผมจะเป็นรุ่นแรกที่ไม่ได้มีการส่องเทียน ที่เรียกว่าส่องเทียนก็เพราะก่อนวันที่เขากำหนดว่าเป็นวันประกาศผล เจ้าหน้าที่จะนำผลสอบมาติดบอร์ดในตอนกลางคืน ใครอยากรู้เร็วก็ต้องมาดูกันตอนกลางคืน มาส่องเทียนหารายชื่อตัวเอง บริเวณรอบ ๆ ก็จะมีรุ่นพี่มารอรับรุ่นน้อง ใครสอบติดก็ดีใจไป ใครสอบไม่ติดก็เสียใจไป
  
ประตูหน้ามหาวิทยาลัยตอนนั้นมีสัญญาณไฟจราจร ยังไม่มีสะพานลอยสักสะพาน (มีแต่อุโมงค์) ข้ามถนนหน้ามหาวิทยาลัยยังต้องกดไฟสัญญาณกันอยู่ สะพานลอยนี่มาสร้างกันในปีถัดมา พอมีสะพานลอย ก็เลิกใช้ไฟสัญญาณให้คนข้าม เหลือแต่ไฟจราจรสำหรับรถยนต์
  
เมื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ก็ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรต่อมิอะไรตั้งหลายอย่าง เริ่มจากการหาเพื่อนใหม่และกิจกรรมทำ รูปแบบการเรียนที่ต้องเดินไปเรียนตามตึกเรียนของคณะต่าง ๆ และต้องไปให้ทันเวลา สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่เคยใช้กันสมัยเรียนนั้น (ยกเว้นตำราเรียนยังเก็บเอาไว้อยู่) ก็สูญหายและผุพังไปตามเวลา ที่ยังคงเหลือติดตัวมาและยังใช้งานอยู่จนถึงปัจจุบันก็มีอยู่ ๓ อย่างคือ นาฬิกาข้อมือ เครื่องคิดเลข และกล่องดินสอ

นาฬิกาข้อมือเรือนนี้คุณพ่อให้มาตอนสอบติดมหาวิทยาลัย แม้ว่าปัจจุบันจะไม่ค่อยได้นำมาใส่ เพราะเกรงมันจะโทรม แต่ก็ยังหาโอกาสใส่อยู่เรื่อย ๆ ด้วยความที่มันเดินเที่ยงตรง และเป็นเรือนที่ติดข้อมือตามไปยังประเทศต่าง ๆ หลายประเทศหลังเรียนจบปริญญาตรี สิ่งหนึ่งที่นาฬิกาเรือนนี้สอนให้รู้จักก็คือ ค่าของเวลาไม่ได้อยู่ที่มูลค่าของนาฬิกา แต่อยู่ที่เรารู้จักที่จะรักษาและใช้เวลาที่เรามีอยู่นั้นอย่างคุ้มค่าหรือไม่ เมื่อปีที่แล้วนาฬิกาเรือนนี้มีปัญหา เอาไปให้ทางร้านเขาดูให้ พอเขาเห็นเขาก็บอกก่อนเลยว่าไม่แน่ใจว่ารุ่นนี้จะหาอะไหล่ได้ ตอนนั้นก็รู้สึกวูบไปเหมือนกัน แต่สุดท้ายทางช่างเขาก็หาอะไหล่เปลี่ยนให้ได้ มันก็เลยมีชีวิตอยู่คู่กันมาจนถึงวันนี้
  
ดูเหมือนว่า CASIO fx-3600P จะเป็นเครื่องคิดเลขรุ่นที่เป็นที่นิยมมากที่สุดของนิสิตที่ต้องใช้เครื่องคิดเลขในยุคนั้น เพราะความที่ราคามันไม่แพงและเป็นเครื่องคิดเลขที่มีฟังก์ชันคำนวณทางวิทยาศาสตร์ครบถ้วน แถมเขียนโปรแกรมสั้น ๆ ได้ด้วย ๒ โปรแกรม เดิมตัวเครื่องนั้นจะมีเคสพลาสติกแบบพับปิดหน้ามาให้ด้วย แต่เคสนั้นก็พังไปหมดแล้ว เหลือแต่ตัวเครื่องที่ยังคงใช้งานได้อยู่ ปัจจุบันเครื่องนี้ก็ไม่ได้พกติดตัวไปไหนแล้ว เพราะใช้แอปบนหน้าจอโทรศัพท์แทน แต่ยังคงเป็นเครื่องที่วางเคียงข้างอยู่ประจำโต๊ะคอมพิวเตอร์ที่บ้านอยู่
  
ของอีกชิ้นหนึ่งที่ยังคงใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้ก็คือกล่องดินสอ ที่น่าแปลกก็คือตอนเรียนมัธยมจะใช้ปากกาลูกลื่นจดโน่นจดนี่ แต่พอเข้ามหาวิทยาลัยกลับชอบใช้ดินสอกดมากกว่า อาจเป็นเพราะว่ามันเขียนลื่นกว่า และเวลาเขียนผิดก็ลบได้ง่าย แต่มีวิชาหนึ่งที่บังคับให้ต้องใช้ดินสอในการเรียนก็คือวิชาเขียนแบบ จำได้ว่าตอนนั้นชั่วโมงแรก ๆ อาจารย์ผู้สอนบอกเลยว่าให้ไปหาดินสอเบอร์ H 2H และ 4H มาใช้เรียน เบอร์ H นี้บอกความแข็งของไส้ดินสอ ยิ่งเบอร์สูงก็ยิ่งแข็งมากขึ้น (แต่เส้นก็อ่อนลงด้วย) เบอร์ H ดูเหมือนจะใช้ลากเส้นทั่วไป ส่วนเบอร์ 4H จะใช้ตีเส้นบอกมิติ เรียนเขียนแบบชั่วโมงแรก ๆ ก็ต้องเรียนวิธีการเหลาดินสอ (ใช้มีดพับ) และการลากเส้นว่าลากอย่างไรให้เส้นมีขนาดสม่ำเสมอ เพราะเวลาที่เราลากเส้นนั้นไส้ดินสอจะสึก ทำให้ได้เส้นโตขึ้น ดังนั้นเวลาลากเส้นก็ต้องหมุนดินสอไปด้วย จะได้เส้นที่มีความกว้างสม่ำเสมอมากกว่า จากนั้นก็ต้องมานั่งหัดเขียน a b c d กันใหม่ ตามมาตรฐานตัวอักษรของการเขียนแบบในเวลานั้น ไม่ใช่นึกจะเขียนตามใจฉัน เพราะถ้าคนอื่นอ่านแบบผิดก็มีหวังวุ่นกันใหญ่

ในความเห็นส่วนตัวของผมนั้น ช่วงเวลา ๔ ปีในมหาวิทยาลัยเป็นช่วงเวลาที่ดี (อาจเรียกได้ว่าที่สุด) ของชีวิต เป็นช่วงเวลาแห่งความทรงจำที่อาจมีทั้งผิดหวังและสมหวัง เป็นช่วงเวลาที่ส่งผลต่อความคิดและการมองโลกของผู้เรียน ขึ้นอยู่กับว่าผู้เรียนได้มีโอกาสได้ไปใช้ชีวิตสัมผัสกับอะไรบ้าง เป็นช่วงเวลาที่อาจกำหนดอนาคตของตนเอง ไม่ว่าหน้าที่การงานหรือครอบครัว (จำนวนไม่น้อยนะที่ได้คู่ชีวิตตอนเรียนมหาวิทยาลัย) ผมถึงพยายามบอกกับนิสิตทั้งหลายว่า การเรียนในมหาวิทยาลัยนั้นไม่ได้มีเพียงเพื่อสอบผ่านให้ได้เกรดสูง ๆ แต่ยังประกอบด้วยการเรียนรู้การใช้ชีวิต การออกไปสัมผัสกับสิ่งที่เราไม่เคยได้รับรู้หรือเคยได้ยินมาก่อน ที่อาจส่งผลต่อความคิดและการกระทำของเราในอนาคต
  
สิ่งที่ผมเขียนมาในย่อหน้าข้างบนนั้นจะเป็นความจริงแค่ไหนนั้น ผมว่าสิ่งต่าง ๆ ของคนที่เพิ่งจบการศึกษาที่ได้เขียนลงไปใน facebook ของเขานั้น มันตอบคำถามนั้นเรียบร้อยแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น: