วันจันทร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เขียนไว้ เพื่อเตือนใจตนเอง (๓) MO Memoir : Monday 11 August 2557

"คิดให้ดีนะ จะเอาจริงไหม เขียนน่ะมันง่าย แต่ทำมันยากกว่าเยอะนะ"

นั่นคือหนึ่งในประโยคที่ผมคุยกับอาจารย์รุ่นน้องที่ร่วมสอนวิชาเดียวกันอยู่ เมื่อทางภาคเขาอยากให้ผมเขียนลงในแบบฟอร์มว่า ในวิชาที่ผมสอนนั้น ผมจะแทรกการสอน "คุณธรรม และจริยธรรม" เรื่องอะไรให้กับนิสิต
 
ในวิชาที่เกี่ยวกับการคำนวณเชิงตัวเลข (พวก Numerical technique ที่เริ่มตั้งแต่การแก้ระบบสมการพีชคณิตเชิงเส้น-ไม่เชิงเส้น ไปจนถึงการแก้ปัญหาระบบสมการอนุพันธ์สามัญ-อนุพันธ์ย่อย และ optimisation) นี่นะ



ผมว่าวิธีการที่ดีที่สุดในการสอน "คุณธรรมและจริยธรรม" ให้ก็คือ

"ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง"

ข้อความสองบรรทัดข้างบนคือสิ่งที่ผมได้เขียนไว้ใน Memoir ตอนที่ (๑) ของเรื่องนี้ (ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๘๔๐ วันอังคารที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๗ เรื่อง "เขียนไว้ เพื่อเตือนใจตนเอง (๑)"
 
คือก่อนหน้านี้ผมได้ยินมาว่าเขาจะมีการเน้นเรื่องการสอนเรื่อง "คุณธรรม จริยธรรม" ให้กับนิสิต โดยจะหาวิชาที่จะให้รับผิดชอบแทรกเรื่องดังกล่าวเข้าไป เรื่องที่เขานำเสนอกันให้สอนก็คือ การตรงต่อเวลา (เข้าเรียนให้ตรงเวลา) การหลับในห้องเรียน การเข้าเรียน การแต่งกายให้ถูกระเบียบ (ตามระเบียบมหาวิทยาลัย) และการลอกการบ้าน
  
ในการสัมมนา (ที่ผมไม่ได้เข้าร่วม) ได้ยินมาว่ามีการสนับสนุนการสอนดังกล่าว แต่ดูเหมือนว่าพอจะหาวิชาที่จะรับผิดชอบให้สอน ต่างมีเหตุผลข้ออ้างต่าง ๆ ว่าวิชาฉันต้องไปรับผิดชอบ outcome ด้านอื่นแล้ว ดังนั้นขอไม่รับผิดชอบ outcome เรื่อง "คุณธรรม จริยธรรม" พออาจารย์ผู้สอนวิชาเหล่านี้รวมกลุ่มกันได้มากพอ ก็สามารถกำหนดให้วิชาเสียงข้างน้อยต้องเป็นผู้รับผิดชอบได้
  
ตอนที่เขามาบอกให้ผม "เขียน" เพื่อที่เขาจะได้มี "หลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร" ว่าวิชาที่ผมสอนต้องรับผิด (คงจะไม่มีคำว่า "ชอบ") ในเรื่องดังกล่าว (ตามรูปที่เอามาให้ดูข้างต้น) ผมก็ถามเขาตรง ๆ ว่าทำไมต้องเขียน ในเมื่อเรื่องนี้มันเป็น "หน้าที่" หนึ่งของอาจารย์ทุกคนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะต้องสอนวิชาใด ผมก็ได้คำตอบแบบไม่ชัดเจนว่าก็วิชาอื่นเขารับหน้าที่อื่นไปแล้ว (สารพัดอย่าง) และอยากให้มี "หลักฐาน" ว่ามี "ผู้รับผิด(ชอบ)" ในแต่ละหมวดหมู่ที่อยากให้นิสิตมี
  
ผมก็ถามต่อไปว่า ที่จะให้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรนี่ก็เพื่อ เวลานิสิตมีปัญหาด้าน "คุณธรรม จริยธรรม" จะได้มีหลักฐานให้ด่าใช่ไหมว่าควรด่านใคร ว่า สอนอย่างไร ทำไมนิสิตถึงยังทำตัวไม่ดี คนที่ไม่ได้เขียนแสดงความรับผิดชอบการสอนเรื่องนี้ก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอะไร รอดตัวไป
  
จากประสบการณ์ของผมที่ผ่านมา พอเกิดปัญหาจริง ๆ ก็มาดูกันที่ "ลายลักษณ์อักษร" ครับ ไม่ใช่คำพูดที่เป็นลมออกมาจากปาก คนใกล้กัน ตอนขอให้ช่วยก็รับรองโน่นรับรองนี่ด้วยลมปาก พอเกิดปัญหาทีก็บอกไม่รู้เรื่อง ขอดูเป็นลายลักษณ์อักษร เรื่องแบบนี้ก็เคยโดนกับตัวเองมา
  
เรื่องทำนองนี้ผมเคยได้ท้วงไปว่า เราจะสอนอะไรต้องดูเนื้อหาในหลักสูตรเป็นหลัก ว่าทางสภาวิศวกรเขาให้เราสอนอะไร และเราก็ต้องสอนเนื้อหาในนั้นให้ครบในเวลาที่กำหนดให้ได้ก่อน ถ้ามีเวลาเหลือก็ค่อยแทรกให้ได้ ไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ จะให้แทรกเข้าไปดื้อ ๆ เบียดบังเวลาเนื้อหาหลัก ซึ่งมันจะส่งผลต่อเนื้อหาที่จะทำให้นิสิตได้ กว. และมันจะดีกว่าถ้าทางหน่วยงานจัดอบรมพิเศษแยกออกจากเนื้อหาวิชาให้กับนิสิตโดยตรง แต่เขาก็ไม่ยอมทำครับ ทำนองว่าบอกให้คนอื่นไปทำนั้นมันง่ายกว่าลงมือทำเอง

ความคิดเห็นส่วนตัวคือถ้าอยากให้นิสิตเขามีคุณธรรมและจริยธรรมในด้านใด อาจารย์ก็ควรต้องทำตัวให้เป็นตัวอย่างในด้านนั้นครับ ไม่ใช่ทำเพียงแค่เอากฎ-ระเบียบไปแจกให้กับนิสิต พูดในห้องนิดหน่อย แล้วก็บอกว่าสอนแล้ว

อาจารย์รายหนึ่งเวลาสั่งงานนิสิตป.โท-เอกให้ไปทำโน่นทำนี่ก็สั่งด้วยวาจา พอนิสิตไปทำตามที่สั่งแล้วเอาผลมารายงานก็มักจะโดนถามกลับว่า "ไปทำอย่างนั้นทำไม ใครสั่งให้ไปทำ" ทำอย่างนี้เป็นประจำ จนนิสิตต้องจดบันทึกการประชุมเอาไว้ว่าอาจารย์ผู้นั้นบอกให้ทำอะไรบ้างในระหว่างการประชุม แต่ขนาดมีบันทึกการประชุมอ้างอิง ก็ยังมีข้อแก้ต้วออกมาว่าเขาไม่ได้พูดอย่างนั้นซักหน่อย คนจดบันทึกเขียนลงไปอย่างนั้นได้อย่างไร การประชุมนั้นก็ไม่ได้มีอาจารย์รายนั้นเพียงรายเดียว แต่เป็นการประชุมร่วมของกลุ่มวิจัยที่มีอาจารย์เข้าร่วมประชุมหลายราย แต่ดูเหมือนไม่มีใครอยู่ข้างนิสิตเลย

พฤติกรรมแบบนี้ทำให้นิสิตเกิดความระแวงในตัวอาจารย์แพร่ขยายออกไป ด้วยเหตุนี้ทางกลุ่มของเราผมจึงแก้ปัญหาด้วยการออก Memoir ในหัวข้อเรื่อง "แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส xx ตอนที่ yy" โดยผมเป็นผู้พิมพ์เองและแจกจ่ายให้พวกคุณทางอีเมล์ โดยในนั้นจะมีการระบุชัดเจนว่าเป็นงานของใคร ให้ทำอะไร และด้วยเหตุผลใด

เวลาที่เราสอนให้คนอื่นเขาทำอะไร เราเคยอธิบายเหตุผลหรือเปล่าครับว่าทำไมต้องทำอย่างนั้น สำหรับเด็กเล็ก ๆ ที่เพิ่มจะหัดเรียนรู้ ต้องยอมรับว่าเป็นการยากที่จะใช้เหตุผลในการสอน ต้องให้เขามีประสบการณ์มากพอก่อนเขาจึงจะมองเห็นว่าสิ่งที่ผู้ใหญ่สอนเขานั้นมันมีประโยชน์ต่อเขาอย่างใด แต่สำหรับผู้ที่โต ๆ กันแล้วผมว่าเราควรมีเหตุผลที่ใช้บอกกับเขาว่าทำไปเราจึงอยากให้เขาทำสิ่งนั้น
แต่การที่เขาไม่ได้ทำในสิ่งที่เรา (คิดว่าดีและ) บอกให้เขาทำหรือคาดว่าเขาควรต้องทำ มันก็ไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นคนไม่ดีโดยตัดสินจากการที่เขาไม่กระทำในสิ่งที่เราบอกให้เขาทำหรือคาดว่าเขาควรต้องทำ ในหลาย ๆ กรณีมันมีเหตุผลอยู่เบื้องหลังครับ ที่ทำให้เขาไม่กระทำในสิ่งที่เราบอกให้เขาทำหรือคาดว่าเขาควรต้องทำ และมันก็ควรคิดว่าเป็นความผิดของเขาด้วยเนื่องด้วยมันเป็นเหตุสุดวิสัยหรือนอกเหนือการควบคุมของเขา
  
วันนี้ขอเริ่มจากเรื่องแรกคือการรักษาเวลาหรือตรงต่อก่อน

ในบางงานนั้นเรื่องการตรงต่อเวลาเป็นเรื่องสำคัญ (เช่นการยื่นซองประกวดราคาที่กำหนดให้ต้องยื่นภายในเวลาเท่าใด พ้นจากเวลาดังกล่าวเพียงนาทีเดียวก็ไม่รับเรื่องแล้ว หรือในการสอบแข่งขันที่มีด้วยกันหลายห้องสอบ) ผมเคยเข้าร่วมฟังการสัมมนาที่มีนักกฎหมายเข้าร่วม เกี่ยวกับการส่งเอกสารให้ถึงมือผู้รับภายในกำหนดเวลา มีนักกฎหมายท่านหนึ่งถามว่า ในกรณีที่อนุญาตให้ส่งเอกสารได้ทางโทรสาร (แฟกซ์) เราจะนับว่าเอกสารนั้นถึงมือผู้รับสมบูรณ์เมื่อเวลาใด จะนับที่เวลาที่หน้าแรกเริ่มปรากฏบนเครื่องรับ หรือจะนับที่เวลาที่หน้าสุดท้ายมาครบสมบูรณ์
  
การส่งทางอีเมล์หรือไปรษณีย์นั้นเราถือได้ว่าเอกสาร "ทั้งฉบับ" ถึงมือผู้รับพร้อม ๆ กัน แต่การส่งทางโทรสารนั้นเนการส่งเอกสาร "ทีละหน้า" ถ้าช่วงเวลาที่หน้าแรกและหน้าสุดท้ายมาถึงมันก่อนเวลาเส้นตายมันก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าหากมาคร่อมเวลาเส้นตายจะให้ตีความอย่างไร ในงานที่มีการแข่งขันกันสูง (เช่นเปิดซองประมูล) ยิ่งคู่แข่งน้อยลงก็ยิ่งเพิ่มโอกาส
  
ยิ่งในปัจจุบันที่ใช้การส่งข้อมูลทางคอมพิวเตอร์หรืออีเมล์ ที่คอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องสามารถตั้งเวลานาฬิกาของตัวเองได้ ทำให้ต้องแก้ปัญหาด้วยการให้ตั้งเวลาคอมพิวเตอร์ให้ตรงกับเวลามาตรฐาน ประกาศกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เรื่องหลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ พ.ศ. ๒๕๕๐ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ ในข้อ ๙ นั้นกำหนดไว้ว่า ผู้ให้บริการต้องตั้งนาฬิกาของอุปกรณ์บริการทุกชนิดให้ผิดพลาดได้ไม่เกิน "๑๐ มิลลิวินาที"

ทีนี้เราลองมาดูเรื่องการเข้าเรียนกันบ้าง
  
ช่วงเวลาปรกติสำหรับการสอนหนังสือของมหาวิทยาลัยของเรานั้นคือ ๘.๐๐ - ๑๖.๐๐ น ในวันราชการ ถ้านอกช่วงเวลาดังกล่าว (เช่นหลัง ๑๖.๐๐ น เป็นต้นไป หรือเวลาใด ๆ ในวันหยุด) จะชื่อเป็นการสอนนอกเวลา ดังนั้นการที่เริ่มเรียนการสอนเวลา ๘ โมงเช้านั้น จะถือว่าเช้าเกินไปผมว่ามันก็ไม่ถูก ในหลายบริษัทใหญ่ก็เริ่มงานเวลา ๗.๓๐ น ด้วยซ้ำ โรงเรียนต่าง ๆ ก็เริ่มเรียนกันไม่ช้ากว่านี้ (โรงเรียนที่ลูกผมเรียนเข้าแถวเคารพธงชาติเสร็จกันก่อน ๘ โมงเช้าด้วยซ้ำ) 
   
แต่อาจเป็นเพราะการเรียนในมหาวิทยาลัยนั้นไม่ต้องมีการเข้าแถวเคารพธงชาติตอนเช้า นิสิตก็เลยไม่รู้สึกว่าจำเป็นต้องมาให้ทันเวลา ตัวอาจารย์ผู้สอนเองก็ไม่ได้ทำงานแบบมี "อาจารย์ใหญ่" คอยกำกับดูแล จะมาถึงช้าหน่อยก็ไม่เป็นไร และถ้าขอย้ายเวลาสอนให้สายได้อีกก็จะยิ่งดีใจ
  
ในวิชาบรรยายผมจะบอกกับนิสิตเสมอว่า ถึงเวลาเข้าเรียนก็เข้าห้องเรียนได้เลย ไม่ใช่ต้องมารอว่าให้คนโน้นเข้าก่อนคนนี้เข้าก่อน หรือต้องรอให้อาจารย์เข้าห้องเรียนก่อน หรือมาเรียกให้เข้าห้องเรียน ต่างคนต่างมีหน้าที่ของตัวเองที่ต้องปฏิบัติ ถ้าอาจารย์เข้าสอนสายก็ต้องถือว่าเป็นความผิดของอาจารย์ นิสิตจะใช้เป็นข้ออ้างในการเข้าเรียนสายไม่ได้ เพราะตัวอาจารย์เองก็จะใช้เป็นข้ออ้างอีกว่าที่ไปสอนสายเพราะนิสิตชอบเข้าเรียนสาย มันอ้างกันวนไปวนมาแต่ที่สรุปได้ก็คือ "ไม่มีวิจารณญาณในการแยกแยะ ผิด ชอบ ชั่ว ดี ทั้งสองฝ่าย" โดยเฉพาะตัวอาจารย์เอง แทนที่จะทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่นิสิตไม่ว่าจะเป็นการประพฤติตัวให้เป็นตัวอย่าง หรือพึงแยกแยะการกระทำที่พึงปฏิบัติและไม่พึงปฏิบัติ และไม่พึงปฏิบัติในสิ่งที่ไม่เหมาะสม แต่กลับใช้ข้ออ้างทำนองว่า "ก็ทำไมคนอื่นเขาทำตัวไม่ดีได้ ฉันก็ต้องมีสิทธิทำตัวไม่ดีได้บ้างซี่" 
   
ในการสอนวิชาบรรยายนั้นผมถือว่าคนที่มาตามเวลานั้นเป็นผู้ไม่มีความผิดที่จะต้องมานั่งเสียเวลารอคนมาสาย คนมาสายต่างหากที่ต้องไปหาเองว่าช่วงเวลาก่อนมาถึงนั้นเขาเรียนอะไรกันไปบ้างแล้ว เพราะถ้าขืนไปรอเวลาให้ผู้มาสายมาถึงก่อนจึงจะเริ่มเรียน มันจะเป็นเหมือนกับการให้ความสำคัญกับผู้ที่ไม่รักษาเวลาและไม่ให้เกียรติคนที่ปฏิบัติตามกติกา
  
แต่ถ้าเป็นวิชาปฏิบัติการเคมีนั้นบ่อยครั้งที่เราจำเป็นต้องรอ ทั้งนี้เพราะมันมีข้อห้าม ข้อควรระวัง ฯลฯ ที่ต้องประกาศกันให้ทราบก่อนเริ่มทำการทดลอง ถ้าใครก็ตามมาสายแล้วไม่รู้ข้อห้ามดังกล่าวและเผลอไปทำเข้า ก็อาจเกิดอันตรายแก่ผู้อื่นได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องรอ แต่ทางแลปก็มีมาตรการอื่นจัดการกับผู้ที่ชอบมาสาย
  
อาจารย์ผู้หนึ่ง (อาวุโสแล้วด้วย) ตอนมีตำแหน่งบริหารก็มักชอบจัดประชุม (ทำนองว่าหาเพื่อนคุย เพราะถ้าไม่มีการประชุมเขาก็ไม่รู้ว่าจะคุยกับใคร ด้วยเรื่องอะไร) และแกก็ชอบมาสายประจำ (สายมากด้วย) ให้คนอื่นเขานั่งรอ บางคนเขาก็ทนไม่ไหวเขาก็มาสายบ้าง แต่พอแกมาถึงที่ประชุมและพบว่าทำไมบางคนยังไม่มาก็ยังไปว่าคนอื่นเขาอีกว่าทำไมมาสาย แล้วให้เจ้าหน้าที่ไปโทรตาม
  
จนกระทั่งวันหนึ่งก็มีประชุมกันตามปรกติ คนเข้าร่วมประชุมก็มากันเกินครึ่งแล้ว พอแกเดินเข้ามาเห็นว่ายังมากันไม่ครบก็บอกกับเจ้าหน้าที่ว่า "มาครบเมื่อใดให้โทรไปตามด้วย" แกจะกลับไปทำงานที่ห้องทำงานของแกเพื่อรอผู้เข้าประชุม พออาจารย์ผู้นั้นเดินออกจากห้องไป คนอื่นทุกคนที่มานั่งรออยู่ก็ลุกเดินไปบอกกับเจ้าหน้าที่ว่า "มาครบเมื่อใดให้โทรไปตามด้วย" เช่นกัน ทำเอาเจ้าหน้าที่ถึงกับยิ้ม (เพราะทราบพฤติกรรมอาจารย์ผู้ชอบนัดประชุมดี) และหลังจากเหตุการณ์วันนั้นก็ดูเหมือนว่าแกจะปฏิบัติตัวดีขึ้นเยอะ (ผมก็เป็นหนึ่งในผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น)

เรื่องมัวแต่รอให้ใครเข้าห้องก่อนนี่บางทีมันก็ทำให้ไม่ได้เรียน มีอยู่ปีหนึ่งผมมีสอนตอนบ่ายโมง ไปถึงห้องเรียนแล้วก็ยังไม่มีนิสิตมาเรียน รออยู่ประมาณ ๑๕ นาทีก็เขียนทิ้งไว้บนกระดานว่าถ้ามีใครมาเรียนก็โทรติดต่อหรือให้ไปหาได้ที่ห้องทำงาน จะรออยู่ที่นั่น (หน้าประตูไม่มีที่ให้เขียนอะไร) อีกสักครึ่งชั่วโมงถัดมาก็มีนิสิตโทรมาหาถามว่าวันนี้งดการสอนหรือไม่ ผมก็ถามเขากลับไปว่าไม่เห็นที่เขียนไว้บนกระดานหรือไง เขาก็ตอบว่าไม่เห็น
  
ห้องเรียนนั้นไม่ใช่ห้องแอร์ แม้ประตูห้องจะเปิดแต่ที่ประตูมันมีบังตาอยู่ นิสิตแรกที่มาถึงก็ทำเพียงแค่แง้มบังตาชำเลืองเข้าไปในห้องว่ามีใครมาหรือยัง พอเห็นห้องว่าง ๆ ก็เลยนั่งรออยู่หน้าห้อง คนอื่น ๆ ที่มาทีหลังพอเห็นเพื่อนนั่งรออยู่หน้าห้องก็เลยจับกลุ่มกันอยู่หน้าห้องนั้น ไม่มีใครคิดจะเข้าไปในห้องเลยสักคน

แต่การมาสายในชั่วโมงที่ก่อนหน้านั้นนิสิตมีการเรียนการสอน ผมพบว่าส่วนใหญ่ไม่ใช่ความผิดของนิสิต

โดยหลักแล้ว (แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเห็นจะสอนกัน) ตารางเวลาเรียน ๑ ชั่วโมงหรือ ๖๐ นาทีนั้น เขาให้เริ่มสอนกันตอนต้นชั่วโมง เช่นวิชาเรียน ๘ โมงเช้า ก็ให้เริ่มสอนตอน ๘.๐๐ น และสอนเพียงแค่ ๕๐ นาที อีก ๑๐ นาทีที่เหลือก็เพื่อให้นิสิตมีเวลาเดินย้ายไปเรียนอีกห้องเรียนหนึ่ง และให้ผู้สอนในวิชาถัดไปมีเวลาเข้ามาเตรียมการสอน แต่อาจารย์บางคนมาสอนสายหรือไม่สามารถสอนเนื้อหาที่เตรียมมาได้ในเวลา ๕๐ นาที เล่นยืดออกไปจนเต็มชั่วโมง (หรือบางครั้งก็เลยเวลาด้วย จนผมต้องเข้าไปบอกว่ามีอีกวิชาหนึ่งรอใช้ห้องอยู่นะ และต้องทำเช่นนี้แทบทุกสัปดาห์) ผลก็คือนิสิตกลุ่มดังกล่าวเข้าเรียนวิชาถัดไปสาย (มันว่าไม่ใช่ความผิดของนิสิตเลย) และพอวิชาถัดไปต้องเริ่มสาย อาจารย์ผู้สอนวิชาถัดไปก็เลยถือโอกาสเลิกสอนสายตามไปอีก มันก็เลยเป็นปัญหาส่งต่อวิชาถัดไปอีก (ถ้ามี)
  
ผมว่าอาจารย์ที่มาสอนสายนั้น ยังไงก็ต้องเลิกสอนตามเวลาปรกติอยู่ดี ไม่มีสิทธิใด ๆ จะถือโอกาสเลิกสอนสายด้วยข้ออ้างที่ว่าฉันเริ่มสอนสาย เพราะมันทำความเดือดร้อนให้แก่นิสิต ทั้ง ๆ ที่มันไม่ใช่ความผิดของนิสิต

อาจารย์บางรายหนักข้อขึ้นไปอีก คณะจัดห้องเรียนให้กับนิสิตเรียนวิชาต่าง ๆ ที่อาคารเรียนรวม นิสิตจะได้ไม่ต้องเสียเวลาเดินเปลี่ยนห้องเรียน แต่ห้องทำงานของอาจารย์อยู่อีกตึกหนึ่ง ที่บังเอิญมีห้องเรียนซะด้วย พออาจารย์ขี้เกียจเดิน (อ้างโน่นอ้างนี่สารพัดในการต้องเดินไปสอนที่อาคารเรียนรวม) ก็ประกาศย้ายห้องเรียนมาที่ตึกที่อาจารย์นั่งทำงาน ทีนี้พอนิสิตเรียนวิชาแรกที่อาคารเรียนรวม พอมาถึงวิชาที่สองก็ต้องย้ายมาอีกตึกหนึ่ง แถมต้องมารอขึ้นลิฟต์ที่มีอยู่ไม่กี่ตัว (ใครจะเดินขึ้นบันไดไปเรียนบนห้องเรียนที่อยู่สูงจากพื้นกว่า ๕๐ เมตร) ทำให้ไปเรียนสายกันยกชั้น พอเรียนวิชานั้นเสร็จก็ต้องมารอลิฟต์เพื่อกลับมาเรียนอีกวิชาที่อาคารเรียนรวมอีก ทีนี้พออาจารย์คนอื่นเห็นคนนี้ทำได้ก็เลยเอาบ้าง กรรมจึงต้องมาตกอยู่ที่ตัวนิสิต
  
มีอยู่ปีหนึ่งไปสอนหนังสือตามเวลา ปรากฏว่าชั่วโมงนั้นมีนิสิตมาเรียนเพียงแค่ไม่กี่คน อีกหลายสิบคนไม่ปรากฏตัวโดยแม้แต่เพื่อนเองก็ยังไม่ทราบสาเหตุ หลังจากสอนจบแล้วจึงมาทราบภายหลังว่า วิชาก่อนหน้าวิชาที่ผมสอนที่นิสิตกลุ่มที่ไม่มาเรียนวิชาผมไปเข้าเรียนนั้น เขามีการสอบย่อย ซึ่งกำหนดเวลาไว้เพียงชั่วโมงเดียว แต่ทีนี้พอคนสอนเขาเห็นว่าห้องดังกล่าวที่เขาใช้สอบย่อยนั้นไม่มีใครใช้ในชั่วโมงถัดไป เขาก็เลยขยายเวลาสอบขึ้นเป็น ๒ ชั่วโมง โดยเขาไม่คำนึงถึงว่านิสิตกลุ่มที่เขาจัดสอบย่อยนั้นมีการเรียนในชั่วโมงถัดไป ด้วยเหตุนี้จึงทำให้นิสิตต้องยอมขาดเรียนในชั่วโมงถัดไปเพื่อทำข้อสอบย่อย
อาจารย์บางรายก็ชอบให้นิสิตทำข้อสอบย่อยตอนท้ายชั่วโมง ทั้ง ๆ ที่เวลาเหลือไม่พอที่จะทำข้อสอบดังกล่าว ผลก็คือนิสิตกลุ่มดังกล่าวไปเรียนวิชาอื่นสาย และนิสิตกลุ่มถัดไปที่จะใช้ห้องนั้นเป็นห้องเรียนก็ต้องเริ่มเรียนสายไปด้วย
  
แต่การที่มาสายเนื่องจากรอลิฟต์บางทีมันก็เป็นเหตุผลที่ยากจะรับฟังเหมือนกัน คือตึกเรียนรวม (อาคาร ๓) ที่ผมสอนเป็นประจำนั้นเป็นตึก ๔ ชั้น เดิมทีตึกนี้ไม่มีลิฟต์ ทั้งผู้เรียนผู้สอนก็ต้องเดินขึ้นบันไดกัน แต่พอมีเสียงร้องเรียนจากอาจารย์อาวุโสว่าเดินขึ้นบันไดไม่ค่อยไหว (ไขข้อไม่ดี) แถมในช่วงหลังยังต้องแบบคอมพิวเตอร์ไปสอนอีก ก็เลยมีการก่อสร้างลิฟต์ให้ ซึ่งมีเพียง ๓ ตัว (สำหรับอาคารที่มีห้องเรียนประมาณ ๕๐ ห้อง โดยเดิมหวังจะให้อาจารย์ใช้เป็นหลัก) แต่ลิฟต์แต่ละตัวก็ขนคนได้เพียงแค่ ๔-๘ คนอย่างมาก และมีนิสิตไปต่อคิวรอใช้กันมาก เวลาไปสอนผมก็เดินขึ้นบันไดไป ส่วนนิสิตก็ไปรอลิฟต์ ปรากฏว่าผมไปถึงห้องเรียนก่อน ส่วนนิสิตก็อ้างว่าห้องเรียนอยู่สูง (ชั้น ๓ หรือชั้น ๔) เดินขึ้นแล้วเหนื่อย (ทั้ง ๆ ที่พวกเขายังเป็นวัยรุ่นที่มีสุขภาพแข็งแรง ถ้าเป็นผู้พิการหรือมีโรคประจำตัวเช่นโรคหัวใจก็ว่าไปอย่าง)

ในโรงเรียนนั้นมักจะถือว่าถ้าตอนเช้านักเรียนมาสายถือว่าเป็นความผิด โดยไม่มีการสอบถามว่ามาสายด้วยเหตุใดและมาสายเป็นประจำหรือไม่ คนที่มาสายเป็นประจำก็ควรที่ต้องมีการค้นหาสาเหตุที่แท้จริงว่าทำไมเขาจึงมาสาย และจะแก้ปัญหาให้เขาได้อย่างไร ไม่ใช่ใช้แต่การลงโทษ ส่วนคนที่ตามปรกติหรือส่วนใหญ่ไม่เคยมาสาย พอวันไหนเขามาสายก็รีบสรุปเลยว่านักเรียนคนนั้นทำตัวไม่ดีผมว่ามันก็ไม่ถูก ต้องมาดูว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้วันนี้เขามาไม่ทันเวลา ตัวผมเองก็ยังเคยเจอปัญหาที่ไม่สามารถจะส่งลูกไปเรียนให้ทันเวลาหรือเข้าสอนตอน ๘ โมงเช้าให้ทันเวลาในบางครั้ง เช่นมีอุบัติเหตุอยู่หน้าปากซอย ศพยังนอนขวางถนนอยู่ ต้องรอเจ้าหน้าที่นิติเวชมาตรวจที่เกิดเหตุก่อน หรือไม่ก็ถนนทรุดจากการก่อสร้างจนรถวิ่งผ่านไม่ได้หรือเหลือเพียงแค่ช่องทางเดียว ทำให้รถติดหนักจนออกมาปากซอยไม่ได้เพราะรถที่ถนนหน้าปากซอยมันขยับไปไหนไม่ได้ จะไปใช้ทางเลี่ยงก็ใช้ไม่ได้อีก เพราะมันไม่สามารถกลับรถได้หรือออกปากซอยได้

ถ้าเราเปลี่ยนมาเป็นมองภาพว่า สำหรับคนส่วนใหญ่แล้วก็ไม่ชอบที่จะต้องมารอใครที่ชอบมาสาย และตัวเขาเองก็ไม่ชอบที่จะถูกผู้อื่นมองว่าเป็นคนไม่รักษาเวลา ผมว่าถ้าเรายอมทำความเข้าใจถึงสาเหตุที่ทำให้เขามาเข้าเรียนสาย เราก็จะหลีกเลี่ยงการเข้าใจผู้อื่นในทางที่ผิดได้ เว้นแต่มีบุคคลบางประเภทที่ "จงใจ" จะต้องเป็น "คนสุดท้าย" ที่ไปถึงที่นัดหมาย เพื่อต้องการแสดงให้เห็นว่าฉันเป็น "คนสำคัญ" ที่สุดที่ทุกคนต้องรอโดยไม่เห็นความสำคัญของผู้อื่น ใครที่ต้องเจอกับคนแบบนี้ก็เลือกเอาเองแล้วกันว่าจะคบกับเขาในรูปแบบไหนอย่างไร

มีอยู่คราวหนึ่งมีรายหนึ่งมาสายแล้วบอกกับผมว่ามันเป็น "XX time" (เติมคำย่อมหาวิทยาลัยตรง XX เอาเองก็แล้วกัน) ทำนองเป็นเรื่องปรกติที่ว่าคนจบสถาบันนี้นัดเวลาไหนมักจะมาสายเป็นประจำ ผมก็ตอบเขากลับไปว่าคุณจะเลวก็เลวไปคนเดียว อย่าไปพูดเหมารวมให้คนอื่นเข้าใจผิดว่าคนจบจากสถาบันนี้จะมีพฤติกรรมแบบคุณทุกคน ผมเองก็จบจากสถาบันดังกล่าวมาก่อนคุณอีก และสมัยเรียนก็ไม่เคยมีใครสอนว่าการมาสายเป็นเรื่องปรกติ มีแต่สอนให้ตรงต่อเวลา

การที่คนจำนวนมากทำไม่ถูก ผมเห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องปรกติของสังคมที่คนอื่นที่ไม่เคยทำพฤติกรรมดังกล่าวควรลอกเลียนแบบ แต่มันแสดงให้เห็นถึงความเสื่อมทางความคิดของคนในสังคมนั้นที่ไม่รูจักแยกแยะ ผิด ชอบ ชั่ว ดี

ไม่มีความคิดเห็น: