"สำคัญสุดคือวิธีการทดลอง
ถ้าวิธีการทดลองผิดพลาด
ผลการทดลองก็ไม่มีค่าควรแก่การพิจารณา"
ตอนเรียนอยู่อังกฤษ
เมื่อเริ่มเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกนั้น
อาจารย์ที่ปรึกษาให้คำแนะนำสั้น
ๆ สำหรับการเขียนเอาไว้ว่า
"เมื่อคนอ่านเขาอ่านแล้ว
เขาต้องไม่มีคำถามหรือข้อสงสัยใด
ๆ ในสิ่งที่เราทำ"
การสอบปกป้องวิทยานิพนธ์ของอังกฤษของสถาบันการศึกษาที่ผมไปศึกษา
(สมัยเมื่อ
๒๐ ปีที่แล้ว
ส่วนตอนนี้ยังเหมือนเดิมหรือเปล่าผมก็ไม่รู้)
นั้นจะใช้กรรมการสอบที่เป็นตัวแทนของสถาบัน
๑ คน และกรรมการจากต่างสถาบันอีก
๑ คน ส่วนตัวอาจารย์ที่ปรึกษานั้นบาง
College
ไม่อนุญาตให้อยู่ฟังการสอบ
แต่บาง College
ก็อนุญาตให้อยู่ฟังการสอบได้
ถ้าผู้สอบปกปกวิทยานิพนธ์นั้น
"อนุญาต"
อาจารย์ที่ปรึกษาของผมบอกกับผมว่า
ผมไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับเขา
ถ้ากรรมการสอบเขาเห็นด้วยกับสิ่งที่ผมทำ
ผมก็สอบผ่าน
นั่นคือระบบการสอบแบบอังกฤษ
ที่เปิดโอกาสให้ผู้ทำวิทยานิพนธ์นั้นมีสิทธิในการนำเสนอความคิดเห็นที่แตกต่างไปจากสิ่งที่อาจารย์ที่ปรึกษาของตัวเองยึดถือ
การสอบตอนนั้นหลังจากเขียนวิทยานิพนธ์เสร็จ
ก็ต้องพิมพ์ออกมา นำไปเข้าเล่มปกแข็ง
ทำตัวหนังสือสีทองให้เรียบร้อย
ทำขึ้นมาอย่างน้อย ๔ เล่ม
๒ เล่มสำหรับกรรมการสอบ ๑
เล่มสำหรับ College
ที่เรียน
และอีก ๑ เล่มสำหรับมหาวิทยาลัย
(มหาวิทยาลัยในอังกฤษหลายแห่งประกอบด้วย
College
ย่อย
ๆ เช่น London,
Cambridge, Oxford ที่แต่ละ
College
ย่อย
ๆ นั้นก็มีตำแหน่งที่ทำหน้าที่เหมือนกับอธิการบดีของมหาวิทยาลัย)
ถ้าสอบผ่านโดยไม่มีการแก้ไข
วิทยานิพนธ์ที่จัดทำขึ้นนั้นก็จะถูกส่งต่อเข้าห้องสมุดมหาวิทยาลัยได้เลย
ถ้ามีการแก้ไข
(มักเป็นพิมพ์ผิดมากกว่า)
เพียงแค่ไม่กี่หน้า
(ดูเหมือนจะไม่เกิน
๔ หน้า)
ก็สามารถส่งให้ร้านทำปกหนังสือตัดเฉพาะหน้าที่ต้องการแก้ไขออก
แล้วติดหน้าที่แก้ไขแล้วเข้าแทน
โดยไม่ต้องรื้อปกออกทำใหม่
แต่ถ้ามากกว่านั้นก็ต้องมีการรื้อปก
ซึ่งก็เหมือนกับทำเล่มใหม่แต่ต้น
เจอแบบนี้เข้าเวลาตรวจทานแต่ละประโยค
ต้องกลับไปหาพื้นฐานภาษาอังกฤษที่เคยเรียน
ประโยคนั้นตัวไหนเป็นประธาน
ตัวไหนเป็นกิริยา
กิริยานั้นต้องมีกรรมรองรับหรือไม่
รูปแบบของกิริยารับกับประธานหรือไม่
กิริยารับกับรูปแบบประโยคที่เป็น
passive
voice หรือ
active
voice หรือไม่
ฯลฯ อ่านกันจำไม่ได้ว่ากี่รอบ
แต่สุดท้ายก็ยังมีพลาดไปบ้างจนได้
โชคยังดีที่ยังไม่ต้องรื้อเล่มทำใหม่
หลังจากส่งวิทยานิพนธ์แล้วก็รอเวลาสอบ
ปรกติก็ไม่เกิน ๓ เดือน
กรรมการสอบเขาอ่านสิ่งที่เราเขียนซะทุกหน้า
ตอนเข้าห้องสอบก็พอจะรู้แล้วว่าจะโดนหนักแค่ไหนโดยชำเลืองดูจากกระดาษที่เขาเหน็บมาในเล่มวิทยานิพนธ์ที่เราส่งให้เขา
พอเริ่มการสอบก็ไม่ต้องมีการนำเสนอใด
ๆ ทั้งสิ้น กรรมการเปิดฉากถามในสิ่งที่เขาสงสัยเลย
เหตุผลที่เขาไม่ต้องมีการนำเสนอก่อนคิดว่าเป็นเพราะเขาถือว่าผู้เรียนนั้นเมื่อเขียนวิทยานิพนธ์แล้วก็จากไป
มีอะไรสงสัยจะไปตามถามหาก็ไม่ได้
แต่ตัวเล่มวิทยานิพนธ์นั้นอยู่ประจำที่ห้องสมุดที่ใครต่อใครมาอ่านได้
ดังนั้นวิทยานิพนธ์เล่มนั้นจึงควรต้องสมบูรณ์แบบที่เรียกว่าเมื่อใครก็ตาม
(ที่มีพื้นฐานทางด้านสาขาวิชานั้นบ้าง)
อ่านแล้วไม่มีข้อสงสัยใด
ๆ
งานที่ผมทำนั้นมีทั้งส่วนที่เป็น
computer
simulation ตอนนั้นต้องเขียนภาษา
FORTRAN
77 โดยมี
NAG
library เป็นซอร์ฟแวร์ช่วยในการแก้ปัญหาระบบสมการพื้นฐาน
(เช่นคำนวณเมทริกซ์)
งานอีกส่วนนั้นเป็นการทดลองกับ
pilot
plat โดยนำเอาข้อมูลจากการทดลองที่ได้นั้นมาสร้างแบบจำลอง
และทำการประมวลผลดูว่าสอดคล้องกันหรือไม่
และงานส่วนที่ผมโดนกรรมการซักหนักมากที่สุดในการสอบ
๒ ชั่วโมงนั้นก็คือ
"วิธีการทดลองและการวัดผล"
ถ้าวิธีการทดลองหรือที่เรามักเรียกว่า
set
lab นั้นผิดพลาดหรือไม่น่าเชื่อถือ
หรือวิธีการวัดผลมันไม่น่าเชื่อถือ
ค่าที่วัดได้มามันก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะเอาไปใช้งานต่อ
ไม่ว่าจะเป็นการนำเอาไปสรุปผลการทดลองหรือการสร้างแบบจำลอง
และตอนที่ผมทำการทดลองอยู่นั้น
งานส่วนนี้ก็เป็นส่วนที่โดนอาจารย์ที่ปรึกษาตรวจสอบอยู่เสมอ
เรียกว่าแต่ละขั้นตอนที่ทำอย่างนั้น
ทำไปเพื่อวัตถุประสงค์ใด
และมันให้ผลตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการหรือไม่
ที่วันนี้เขียนเรื่องนี้ก็เพราะหลังจากที่เขียนเรื่องการทำแลป
(ในตอนที่
๑)
ไปได้ไม่กี่ชั่วโมง
เพนกวินสาวที่อยู่บนเกาะใกล้ขั้วโลกเหนือ
(อันที่จริงควรต้องเป็นหมีขั้วโลกจึงจะถูก)
ก็แชร์ข่าวที่เพิ่งจะปรากฏไม่กี่นาทีก่อนหน้านั้นให้เห็น
เนื้อข่าวเป็นอย่างไรก็ลองอ่านเองในบทความข้างล่างก่อนก็แล้วกัน
รูปที่
๑
ข่าวการเสียชีวิตของนักวิจัยญี่ปุ่นรายหนึ่งจากการทำอัตวินิบาตกรรม
อันเนื่องจากผลงานตีพิมพ์ที่เป็นที่สงสัย
เพื่อเป็นการปูพื้นฐานของความสำคัญของงานดังกล่าวก็ขออธิบายให้ฟังแบบคร่าว
ๆ ตามความรู้ที่ผมมีก็แล้วกัน
คือในการกำเนิดของสิ่งมีชีวิตที่สืบพันธุ์โดยที่ต้องนำยีน
(gene)
ครึ่งหนึ่งมาจากฝ่ายพ่อและอีกครึ่งหนึ่งจากฝ่ายแม่มาผสมกันนั้น
กลายเป็นเซลล์ที่สมบูรณ์แบบ
๑ เซลล์
จากนั้นเซลล์นี้ก็จะเพิ่มจำนวนขึ้นด้วยการแบ่งเซลล์
โดยในช่วงแรกเซลล์ที่แบ่งออกมานั้นจะมียีนที่เหมือนกัน
ดังนั้นถ้าหากว่าตอนที่เซลล์นี้แบ่งจำนวนจาก
๑ เป็น ๒
และมีสาเหตุใดก็ตามที่ทำให้เซลล์สองเซลล์นี้แยกออกจากกัน
ต่างเซลล์ต่างก็จะเริ่มต้นแบ่งตัวของมันอีกต่อไปเหมือน
ๆ กัน ก็จะได้ฝาแฝดเหมือน
แต่เมื่อเซลล์แบ่งตัวไปได้ถึงระดับหนึ่ง
ยีนในแต่ละเซลล์นั้นเริ่มมีการทำงานที่แตกต่างกัน
(เช่นอาจเกิดจากการที่ยีนบางตัวในแต่ละเซลล์นั้นหยุดการทำงาน
ซึ่งแต่ละเซลล์มียีนที่หยุดการทำงานที่ไม่เหมือนกัน)
ทำให้แต่ละเซลล์มีพัฒนาการที่แตกต่างกันออกไป
กล่าวคือเซลล์ต่าง ๆ
จะมีการเปลี่ยนแปลงไปเพื่อไปเป็นอวัยวะต่าง
ๆ ของร่างกาย บางเซลล์พัฒนาต่อไปเป็นเซลล์สมอง
บ้างก็ไปเป็นเซลล์กล้ามเนื้อ
หัวใจ ลำไส้ ผิวหนังฯลฯ
ส่วนอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เซลล์ที่มีจุดเริ่มต้นเดียวกันกลับมีการพัฒนาที่ไม่เหมือนกันนั้น
ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่านักวิทยาศาตร์เขาระบุได้ชัดเจนหรือยัง
ลองนึกภาพการรักษาโรคในร่างกายของเราที่เกี่ยวข้องกับการชำรุดทรุดโทรมของอวัยวะ
ถ้าเราสามารถสร้างอวัยวะนั้นขึ้นมาใหม่จากเซลล์ของเราเองได้
โดยนำเอาเซลล์ของเราเองนั้นมาเลี้ยงให้โตเป็นอวัยวะต่าง
ๆ และนำไปปลูกถ่ายแทนของเดิมที่ชำรุดหรือมีปัญหา
หรือไม่ก็ฉีดให้มันเข้าไปเติบโตร่วมกับของเดิมที่มีปัญหา
ก็น่าจะเป็นแนวทางการรักษาหลายโรคที่ปัจจุบันยังไม่มีแนวทางรักษา
และถ้าเป็นอวัยวะที่เติบโตมาจากเซลล์ของผู้ป่วยเอง
ปฏิกิริยาการต่อต้านจากร่างกายก็จะไม่เกิดขึ้นด้วย
แม้ว่าทุกเซลล์ของร่างกายจะมียีนที่เหมือนกัน
แต่หน้าที่การทำงานของยีนในแต่ละเซลล์นั้นไม่เหมือนกัน
แต่ถ้าเราสามารถไป reset
การทำงานของยีนในแต่ละเซลล์ใหม่ได้
โดยให้มันเป็นเสมือนเซลล์เริ่มต้นตอนที่มันเริ่มปฏิสนธินั้น
ดังนั้นถ้าเรานำเซลล์ผิวหนังของใครสักคนสัก
๑๐ เซลล์ไปแยกเลี้ยงให้เจริญเติบโตขึ้นมาใหม่
เราก็จะได้คน ๆ นั้นขึ้นมาใหม่อีก
๑๐ คน นั่นก็คือการโคลนนิ่ง
(cloning)
นั่นเอง
นั่นคือความหมายของข้อความที่ว่า
"reprogram
mature animal cells back to an embryonic-like state"
ที่ขีดเส้นใต้ไว้ในรูปที่
๑
รูปที่
๒ รูปนี้นำมาจาก URL
เดียวกับรูปที่
๑ คือรูปในข่าวนั้นเป็นแบบ
slide
show มี
๒ ภาพ รูปนี้เป็นรูปที่ ๑
โดยมีคำบรรยายรูปว่าYoshiki
Sasai, deputy director of the Riken's Center for Developmental
Biology, attends a news conference in Tokyo, in this photo taken by
Kyodo April 16, 2014. REUTERS/Kyodo
แต่การโคลนนิ่งเองก็ยังมีคำถามที่ต้องตอบก็คือ
อายุของเซลล์นั้นเริ่มนับจากไหน
เมื่อ reset
เซลล์ใหม่ก็เริ่มนับอายุเริ่มต้นใหม่ไหม
หรือยังนับจากการเกิดครั้งแรกของมัน
ตอนที่สอบสัมภาษณ์เพื่อเลื่อนขั้นใบประกอบวิชาชีพนั้น
ผู้สัมภาษณ์ถามผมว่าในความเห็นของผมนั้น
คิดว่าทางมหาวิทยาลัยควรต้องมีการปรับปรุงอย่างไรในเรื่องการทำวิจัย
ผมก็ตอบเขาไปว่าต้องพร้อมที่จะให้
"ตรวจสอบ"
หมายถึงการทำวิจัยต่าง
ๆ นั้นต้องพร้อมที่จะให้ผู้ว่าจ้างตรวจสอบ
ไม่ว่าจะเป็นส่วนวิธีการหรือการแปลผล
ว่าได้ดำเนินการอย่างถูกต้องและเหมาะสมหรือไม่
และผลการทดลองดังกล่าวควรต้องสามารถทำซ้ำได้ด้วยผู้อื่น
ด้วยเครื่องมือคนละชิ้น
แต่ใช้ระเบียบวิธีการเดียวกัน
ซึ่งจะทำให้ได้ผลงานที่สามารถนำไปใช้งานได้จริงในทางปฏิบัติได้
แต่การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดยสถาบันต่าง
ๆ ที่ชอบจัดอันดับ
(และมหาวิทยาลัยของไทยก็มันตามเขาไปด้วย)
ไม่ได้ให้ความสำคัญกับจำนวนผลงาน
"ที่นำไปใช้งานได้จริงในทางปฏิบัติ"
แต่ไปให้ความสำคัญกับ
"จำนวนผลงานที่มีการตีพิมพ์"
เสียมากกว่า
ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะเห็นว่าผู้บริหารจำนวนไม่น้อยจะหาทางกระตุ้นให้บุคคลากรในมหาวิทยาลัยทำอย่างไรก็ได้ให้มีผลงานตีพิมพ์เยอะ
ๆ โดยเน้นที่จำนวนเป็นหลัก
ไม่ได้สนใจในกระบวนการเท่าใดนัก
เชื่อว่าถ้ามีอาจารย์สักคนมีชื่อตีพิมพ์ในบทความได้ถึง
๓๖๕ บทความต่อปี
ก็คงไม่แปลกที่จะเห็นสถาบันต่าง
ๆ ยกย่องเชิดชูเกียรติว่าเป็นบุคคลที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ
แต่ถ้าเราลองพิจารณาดูให้ดี
๓๖๕ บทความต่อปีก็เหมือนกับออกบทความ
๑ ฉบับต่อ ๑ วัน
ในความเป็นจริงเขาสามารถเวลาที่ไหนมาทำงานดังกล่าวได้
เว้นแต่ว่าจะมีคนอื่นหลาย
ๆ คนทำให้แล้วใส่ชื่อเขาเข้าไปเท่านั้นเอง
(ลองเอาจำนวนบทความที่แต่ละคนตีพิมพ์ใน
๑ ปีมาหารจำนวนวันทำงานก็จะเห็นเอง)
ผลงานใดจะมีคุณค่าหรือไม่นั้นไม่ได้อาศัยคำบอกเล่าของผู้เขียนบทความหรือผู้ทำงานร่วมกับผู้เขียนบทความนั้น
แต่ต้องมาจากคำบอกเล่าของคณะผู้วิจัยอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกัน
ที่ได้มีการนำเอาผลงานของผู้เขียนบทความนั้นไปทำซ้ำได้และนำไปใช้งานได้จริง
รูปที่
๓ รูปนี้นำมาจาก URL
เดียวกับรูปที่
๑ เช่นกัน โดยมีคำบรรยายรูปว่าYoshiki
Sasai (R), deputy director of the Riken's Center for Developmental
Biology, poses for a photo with Haruko Obokata, a scientist at the
center, in front of a screen showing Stimulus-Triggered Acquisition
of Pluripotency (STAP) cells, in Kobe, western Japan, in this photo
taken by Kyodo January 28, 2014. REUTERS/Kyodo
การที่รีบประกาศเองว่าค้นพบความสำเร็จอันยิ่งใหญ่เพื่อที่ตนเองจะได้มีชื่อเสียงก้องโลกก่อนที่ผลงานนั้นจะได้รับการตรวจสอบโดยผู้อื่น
ซึ่งมาพบภายหลังว่าผลงานนั้นไม่มีใครสามารถทำซ้ำได้นั้น
ไม่ได้เกิดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก
ก่อนหน้านั้นก็มีกรณีของ
"Cold
fusion" ที่เกิดขึ้นที่ประเทศอังกฤษในปีค.ศ.
๑๙๘๙
(พ.ศ.
๒๕๓๒)
มาแล้ว
(ช่วงนั้นผมเรียนอยู่ที่อังกฤษพอดีซะด้วย)
ผมเคยเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์นิสิตปริญญาเอกอยู่รายหนึ่ง
(และรายเดียว)
งานวิจัยที่เขาทำร่วมกับอาจารย์ชาวเยอรมันนั้นคล้ายคลึงกับงานวิจัยที่มีการตีพิมพ์ก่อนหน้าไม่นานนัก
ที่มีการอ้างว่าผลที่ได้ออกมาดีมาก
และมักมีการอ้างอิงอยู่เสมอ
แต่ปรากฏว่าไม่สามารถมีใครทำซ้ำได้
อาจารย์ชาวเยอรมันเล่าให้ฟังว่าเขาเคยคุยกับบริษัทจ้างให้เขาทำงานวิจัยดังกล่าวและก็ทราบมาว่า
บริษัทนั้นก็เคยทำซ้ำการทดลองที่มีการอ้างว่าได้ผลออกมาดีดังกล่าว
และพบว่าไม่สามารถทำซ้ำได้
เพราะถ้ามันทำซ้ำได้จริงทางบริษัทก็คงจะไปซื้อลิขสิทธิ์จากผู้เขียนบทความนั้นแล้ว
คงไม่มาจ้างให้อาจารย์เยอรมันผู้นี้มาทำวิจัยเรื่องนี้อีกหรอก
มีบ้างเหมือนกันบางรายที่มาเรียนกับผม
แล้วบ่นแบบน้อยใจว่าทำไมเพื่อน
ๆ เขามีผลแลปกันเยอะกันแยะ
ส่วนตัวเขาเองยังไม่ได้ผลที่เป็นชิ้นเป็นอันสักที
มีแต่โดนผมตรวจสอบด้วยการให้ไปทำการทดสอบอย่างโน้นก่อนอย่างนี้ก่อน
ผมก็ต้องมาอธิบายให้เขาฟังว่า
"Set
lab ผิด
ผลแลปไม่มีค่าแก่การพิจารณานะ"
และยิ่งผลการทดลองยิ่งออกมาดีเท่าใด
ก็ยิ่งต้องตรวจสอบความถูกต้องของการทำงานมากขึ้นเท่านั้น
ก่อนที่จะเผยแพร่ผลงานดังกล่าวออกไป
เคยมีบริษัทหนึ่งมาคุยกับผมเรื่องการทำวิจัยกับอาจารย์ว่ามีคำแนะนำอะไรไหม
ผมก็บอกว่าไม่ว่าคุณจะทำวิจัยกับใครก็ตามที่เขาอ้างว่าเขาเคยประสบความสำเร็จในการทำโน่นทำนี่มาแล้ว
ก็ควรเริ่มต้นจากการทดลองทำซ้ำงานที่เขาอวดอ้างว่าเป็นความสำเร็จของเขาให้ได้ก่อน
เพราะการทำซ้ำนั้นจะทำให้รู้ว่างานดังกล่าวทำได้จริงหรือไม่
และใครคือตัวจริงที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของงานดังกล่าว
แล้วให้จ้างคนนั้นทำงาน
รูปที่
๔ รูปนี้ถ่ายมาเล่น ๆ
แค่เอามาประดับหน้าที่ว่างของบทความเท่านั้น
วันก่อนมีคนถามความเห็นเรื่องเกี่ยวกับการสอนชดเชยว่ามีความเห็นอย่างไร
ความเห็นของผมก็คืออาจารย์มีหน้าที่ที่ต้องเข้าสอนและนิสิตก็มีหน้าที่ที่ต้องเข้าเรียนตามเวลาที่กำหนดไว้ในตารางสอน
เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็นหรือฉุกเฉินใด
ๆ ที่ทำให้ทั้ง "สองฝ่าย"
ไม่สามารถเรียนได้ในเวลาที่ตารางสอนกำหนด
ก็ต้องมีการกำหนดวันสอนชดเชย
แต่ทั้งนี้ควรจะต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้งสองฝ่าย
แต่ถ้าเป็นกรณีที่อาจารย์เองไม่สามารถมาสอนได้ในกำหนดเวลา
ตรงนี้ผมมองว่าเป็นความผิดของอาจารย์
และถ้าอาจารย์จะสอนชดเชยนั้นก็ต้องถามความเห็นของนิสิตก่อนว่าจะมาเรียนได้ในเวลาไหน
ถ้าพบว่าไม่สามารถหาเวลาจัดสอนชดเชยให้กับนิสิตทั้งกลุ่มในครั้งเดียวได้
ต้องจัดสอนมากกว่า ๑
ครั้งก็ต้องทำ
(แต่ไม่ใช่ถึงขั้นจัดสอนให้เป็นรายคน)
และต้องไม่เอาเวลาสะดวกของตัวเองเป็นหลัก
โดยไม่สนใจว่านิสิตจะมีกิจกรรมอื่นต้องทำหรือไม่
สำหรับวิชาที่ตารางสอนอยู่ในภาคการศึกษา
การที่ผู้สอนจะไม่อยู่ช่วงเปิดภาคการศึกษาแล้วเรียกให้นิสิตมาเรียนก่อนเปิดภาคการศึกษานั้นผมมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม
เพราะควรต้องนัดพบกับนิสิตตอนเปิดภาคการศึกษาก่อน
ว่าจะมาเรียนชดเชยได้ในเวลาไหน
และการสอนชดเชยนั้นก็ควรที่จะต้องเสร็จสิ้นก่อนกำหนดการสอบของมหาวิทยาลัย
(และต้องมีเวลาให้ผู้เรียนได้ทบทวนเนื้อหาส่วนที่สอนชดเชยนั้นด้วย)
และบางช่วงเวลามันก็ไม่เหมาะสมที่จะจัดสอนด้วย
เช่นช่วงที่เป็นวันหยุดยาว
(ไม่มีเรียน
ไม่มีการทำงาน
ไม่ได้หมายความว่านิสิตเขาไม่มีกิจกรรมอื่นทำ)
ผมเองก็ไม่ใช่ว่าไม่เคยขาดสอน
ครั้งสุดท้ายที่ขาดสอนนั้นก็เมื่อปีที่แล้ว
เป็นสัปดาห์สุดท้ายของการเรียนพอดี
และก็ไม่ได้สอนชดเชยด้วย
เหตุผลก็เพราะว่าสอนเนื้อหาครบถ้วนแล้ว
กะว่าคาบสุดท้ายจะมาทบทวนการทำโจทย์และให้นิสิตถามข้อสงสัยในโจทย์ที่ให้ไป
และที่ขาดก็เพราะป่วยกระทันหัน
ต้องไปนอนอยู่โรงพยาบาลร่วมสัปดาห์
ออกจากโรงพยาบาลก็ต้องมาพักฟื้นแผลผ่าตัดที่บ้านต่ออีก
เรียกว่าพอมีหมออนุญาตให้กลับมาทำงานได้ก็ถึงวันกำหนดการสอบพอดี
(วันมาคุมสอบแผลผ่าตัดยังมีผ้าก๊อซยัดเอาไว้ซับน้ำเหลืองอยู่เลย
คุมสอบเสร็จก็ต้องไปให้หมอตรวจแผลที่โรงพยาบาลอีก)
อยู่ดี
ๆ จะให้ผมไปสอนคุณธรรม
จริยธรรม ให้กับนิสิต
ผมว่ามันตลกนะ
ผมมองว่าการกระทำของเด็กเป็นผลจากการลอกเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ใหญ่
ถ้าเราคิดว่าพฤติกรรมของเด็กนั้นมีปัญหา
สิ่งแรกที่ควรต้องแก้ไขก่อนก็คือพฤติกรรมของผู้ใหญ่
ไม่ใช่พฤติกรรมของเด็ก
ถ้าอาจารย์มองว่าพฤติกรรมของเด็กมีปัญหา
อาจารย์ก็ควรมองว่าพฤติกรรมของอาจารย์เองมีปัญหาหรือเปล่า
เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้เขาลอกเลียนแบบหรือเปล่า
จะไปสอนเขา จะไปให้เขาแก้ไข
พฤติกรรม การกระทำ ที่เราเห็นว่าไม่ดี
ไม่ชอบนั้น สิ่งแรกที่เราควรทำคือ
"ต้องกลับมาพิจารณาตัวเอง"
ก่อนว่าเรามีพฤติกรรมและการกระทำดังกล่าวให้เขาลอกเลียนแบบหรือเปล่า
ไม่ใช่คิดว่าเด็กต้องมีพฤติกรรมไม่มีอย่างโน้นอย่างนี้
แล้วจะจัดการเขาอย่างไร
จะวัดผลการพัฒนาด้านคุณธรรมและจริยธรรมของเด็กอย่างไร
เรื่องการสอนคุณธรรม จริยธรรมให้กับเด็กนี้ ผมยังมองว่าการที่ผู้ใหญ่ "ทำตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดี" มีค่ามากกว่า "คำพูดที่พร่ำสอน" ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น