วันอังคารที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เขียนไว้ เพื่อเตือนใจตนเอง (๑) MO Memoir : Tuesday 5 August 2557

"เราเก็บความรู้สึกดี ๆ ที่มีต่อกันตลอดช่วงเวลา ๓ ปีที่ผ่านมา ให้มันคงอยู่ต่อไปตลอดกาลจะดีกว่าไหม"

นั่นเป็นประโยคที่ผมมักจะบอกกับนิสิตของภาควิชา ที่เข้ามาสอบถามผมเรื่องการเรียนต่อปริญญาโท ว่าผมมีหัวข้อทำวิจัยเรื่องอะไรบ้าง และผมก็จะบอกกับนิสิตเหล่านั้นไปว่า เรื่องความรู้ ความสามารถ ของพวกคุณนั้น ผมไม่มีข้อสงสัยใด ๆ เชื่อมั่นในฝีมือ เพราะเห็นหน้ากันมาตลอด ๓ ปีที่ผ่านมาตั้งแต่เข้าภาควิชา แต่การเรียนปริญญาโทหรือปริญญาเอกนั้นมันแตกต่างกัน เวลาเรียนปริญญาตรี ถ้าไม่ชอบหน้าอาจารย์ผู้สอน ก็หลบหน้าได้ ย้ายไปเรียนห้องอื่นก็ได้ แต่พอมาเป็นระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอกแล้ว จะจบหรือไม่จบนั้น เรียกได้ว่าขึ้นอยู่กับอาจารย์ที่ปรึกษาเพียงคนเดียว
  
เห็นมาหลายรายแล้วด้วยว่า พอเรียนจบเมื่อใด ก็ถือว่าเลิกแล้วต่อกัน ไม่จำเป็นถึงที่สุดก็ไม่อยากเจอหน้า บางรายถึงขั้นเปลี่ยนหมายเลขโทรศัพท์เพื่อไม่ให้อาจารย์ที่ปรึกษาติดต่อได้ (แต่เขากลับมาแจ้งหมายเลขใหม่ของเขาให้ผมทราบ และยังเล่น Facebook กับผมอยู่)
  
และเมื่อไม่นานมานี้ก็มีนิสิตปริญญาโทบางราย (ที่ไม่ได้เรียนกับผม) มาเปรย ๆ กับผมว่า  เขาเข้าใจความหมายของประโยคที่ผมเคยบอกเขาเมื่อสองปีก่อนหน้านั้นแล้ว

การสอนนิสิตปริญญาตรีนั้นเรียกว่าเป็นการให้ความรู้แก่นิสิต โดยนิสิตต้องสอบผ่านเกณฑ์ของวิชาต่าง ๆ นั้นให้ได้ ตัวอาจารย์เองไม่ได้ผลงานอะไรจากการสอบผ่านของนิสิต ไม่ได้อะไรจากข้อสอบที่นิสิตทำได้หรือไม่ได้ (นิสิตเยอะก็ต้องตรวจข้อสอบเยอะไปด้วย) ได้แต่เพียงภาระงานสอนเท่านั้น นิสิตสอบตกก็ต้องกลับมาให้อาจารย์สอนใหม่ ตกเยอะ ๆ ก็เป็นภาระให้อาจารย์ต้องเปิดคอร์สตาม (จะในภาคการศึกษาถัดมา หรือภาคฤดูร้อนก็ตามแต่) ให้กับนิสิตที่ตกอีก
  
แต่การสอนปริญญาโท-เอกนั้น อาจารย์ได้ประโยชน์จากผลงานที่นิสิตเป็นผู้ลงมือทำ ยิ่งมีนิสิตทำงานให้มาก ก็ยิ่งมีโอกาสมีผลงานมาก ยิ่งมีโอกาสก้าวหน้าในตำแหน่งทางวิชาการมากขึ้น ไม่ได้ประเมินที่จำนวนนิสิตจบ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่มักเห็นการเอาเกณฑ์การจบ (ที่อาจจะสูงกว่า) สำหรับนิสิตปริญญาเอกมาใช้กับนิสิตปริญญาโทของตัวเอง และเพิ่มเกณฑ์การจบขึ้นมาเองตามความพอใจ สำหรับนิสิตปริญญาเอกของตนเอง

ผมเคยตั้งคำถามนี้ในที่ประชุมหน่วยงานผู้ชอบแจกจ่ายทุนให้อาจารย์ไปหานิสิตเรียนปริญญาเอกช่วยทำวิจัย โดยดูที่จำนวนpaper ที่อาจารย์เคยตีพิมพ์และสัญญาว่าจะตีพิมพ์เป็นหลักในการให้ทุน ผมตั้งคำถามว่า ผมไม่รู้ว่านิสิตที่จบปริญญาโดยมีบทความวิชาการตีพิมพ์วารสารวิชาการต่างประเทศนั้น เขา "โง่" หรือ "ฉลาด" และอาจารย์ผู้นั้นทำถูกต้องหรือไม่ เพราะตามระเบียบการศึกษานั้น (ขึ้นอยู่กับธรรมชาติของวิชาด้วยว่าเป็นสายวิทย์หรือศิลป) การจบปริญญาเอกนั้นใช้เพียงแค่บทความวิชาการตีพิมพ์วารสารวิชาการระดับนานาชาติเพียงแค่ "๑ ฉบับ" เท่านั้น โดยไม่สนด้วยว่านิสิตจะมีชื่ออยู่ตรงไหนของบทความ ดังนั้นถ้าหากผลงานวิทยานิพนธ์ของนิสิตปริญญาโทผู้นั้นตีพิมพ์เป็นบทความได้ ก็ควรที่จะให้เขาได้รับปริญญาเอกไปเลย คำถามที่ผมสงสัยก็คือนิสิตคนดังกล่าวรู้หรือไม่ว่าเขาโดนอาจารย์ของเขานำเอาเงื่อนไขการจบระดับปริญญาเอกมาใช้กับเขา และไปเพิ่มจำนวนบทความ (ทำเองโดยไม่มีระเบียบรองรับ) ที่เขาต้องทำเพื่อใช้จบปริญญาเอก
  
คำถามดังกล่าวผมไม่ได้รับคำตอบ แต่ในใจตอนนั้นคิดว่ายังดีนะ ที่ไม่คลั่ง paper กันถึงขนาดกำหนดให้ senior project ต้องมีการตีพิมพ์บทความวิชาการในวารสารวิชาการนานาชาติ (แต่ตอนนี้ก็เห็นมีเกิดขึ้นแล้ว)
  
ผมเคยบอกกับผู้ที่มีได้ชื่อว่าเป็นนักวิจัยอาวุโสผู้หนึ่งว่า ในมุมมองของผม การสอนที่ประสบความสำเร็จนั้นไม่ใช่การตั้งเกณฑ์การจบให้สูงกว่ามาตรฐาน การที่เกณฑ์บอกว่าต้องการเพียงแค่บทความเดียวเพื่อสำเร็จการศึกษา แต่อาจารย์ที่ปรึกษาไปตั้งเองว่าต้องไม่ต่ำกว่า ๓ นั้น ไม่เช่นนั้นจะไม่ให้จบ ผมถือว่าเป็นการกระทำที่มิชอบ ไม่ใช่สิ่งที่คนที่เรียกตนเองว่า "อาจารย์" พึงกระทำ เป็นสิ่งที่ผมรับไม่ได้ แต่ถ้านิสิตเขาอยากทำเพิ่มขึ้นเองโดยไม่มีการบังคับหรือกดดัน แต่มันเกิดจากความต้องการของเขาเอง นั่นถือว่าการสอนประสบความสำเร็จ เพราะผู้สอนนั้นสามารถกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความอยากเรียนรู้อย่างต่อเนื่องในศาสตร์สาขานั้น
  
ตัวอย่างวิธีการกระตุ้นให้ผู้เรียนขยันเรียนที่เห็นได้ชัดคือการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี ระเบียบกลาง (ที่ทุกมหาวิทยาลัยใช้ร่วมกันและปฏิบัติเหมือนกันหมด) กำหนดไว้เพียงแค่ถ้าผลการเรียนเฉลี่ยของทุกวิชารวมกัน (โดยเรียนผ่านทุกวิชา) ได้ไม่ต่ำกว่า ๒.๐๐ ก็สามารถสำเร็จการศึกษาได้ แต่เขาใช้การกระตุ้นด้วยการกำหนดผลการเรียนเฉลี่ยที่สูงขึ้นไปอีก ที่จะทำให้ได้คำว่า "เกียรตินิยม" ปรากฏในใบปริญญาบัตรด้วย (ตรงนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละมหาวิทยาลัยว่าจะกำหนดที่ใด)

นิสิตเป็นคนรับทุน ไม่ใช่อาจารย์ ดังนั้นถ้านิสิตเรียนไม่จบ นิสิตต้องเป็นผู้ชดใช้ทุน ไม่ใช่อาจารย์ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะเห็นว่านิสิตที่ "เผลอ" รับทุนเข้ามาแล้ว โดยคิดว่าจะจบได้ตามเกณฑ์ของมหาวิทยาลัย กลับต้องมาเจอกับเกณฑ์การจบตามความพึงพอใจของอาจารย์ ต้องระทมทุกข์แค่ไหนกว่าจะเรียนจบ โดยเฉพาะพวกที่โดยใช้ให้ทำผลงานตีพิมพ์ตั้งแต่เริ่มเข้าเรียน เพื่อให้อาจารย์มีผลงานเอาไปอวด แต่นิสิตเองไม่มีเวลาที่จะดูหนังสือสอบ Qualify พอสอบ Qualify ไม่ผ่านก็ต้องพ้นสภาพนิสิต ทุนที่รับมาก็ต้องชดใช้ (อาจารย์ไม่เกี่ยว) ส่วนผลงานที่ทำไปก่อนหน้านั้นคนทำก็เอาไปใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ แต่อาจารย์ยังเอาไปใช้ขอความดีความชอบของตัวเองได้อยู่
  
ผมเคยบอกกับนิสิตเหล่านี้ว่า ความก้าวหน้าในอาชีพของนักวิจัยที่เรียกตัวเองว่าอาจารย์นั้น ขึ้นอยู่กับจำนวนบทความตีพิมพ์ที่มีชื่อเขา ไม่ได้ขึ้นกับจำนวนนิสิตที่ทำบทความให้เขา ถ้าเขากำหนดขึ้นมาว่าถ้าไม่ได้ ๑๐ papers จะไม่ให้จบ คุณฝืนทำไปได้แค่ ๙ papers แล้วโดดตึกตาย อาจารย์เขาก็ยังเอา ๙ papers ที่คุณทำไว้ก่อนหน้านั้นไปขอความดีความชอบได้ เรื่องการตายของคุณมันไม่ส่งผลอะไรต่อการเลื่อนตำแหน่งของเขา หรือคุณทำได้ ๙ papers แล้วทนอยู่ต่อไม่ไหวต้องลาออกไป อาจารย์เขาก็เอา ๙ papers นั้นไปของความดีความชอบได้เช่นกัน ส่วนคุณก็ต้องไปชดใช้ทุนที่คุณได้รับมา อาจารย์เขาไม่ต้องเสียอะไรซักบาท
  
และที่สำคัญนั้น ในหลาย ๆ ทุนนั้น อาจารย์เขาได้เงินค่า "ที่ปรึกษา" ให้กับนิสิตเป็นรายเดือนด้วย ยิ่งเขามีนิสิตหลายคนเขาก็ยิ่งได้เงินตรงนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ (หลายรายอยู่ในหลักแสนต่อเดือน) ส่วนเขาจะให้คำปรึกษาหรือไม่นั้นมันอีกเรื่องหนึ่ง เวลาที่นิสิตเรียนไม่จบนิสิตก็ต้องชดใช้เงินค่าใช้จ่ายรายเดือนที่แหล่งทุนให้ แต่ตัวอาจารย์เองไม่ต้องคืนเงินที่รับมาทุกเดือนนะ

ด้วยเหตุนี้ผมจึงมักเปรย ๆ กับนิสิตหลายรายที่มาปรึกษากับผมว่า "ก่อนลงนามรับทุน อ่านสัญญาให้ดีก่อน"

ด้วยเหตุนี้เวลาที่มีนิสิตที่สนใจจะทำวิจัยระดับปริญญาโทกับผม และมีโอกาสมาพบกับผมก่อนการสอบ ผมจะบอกกับเขาเสมอว่าให้หาโอกาสไปคุยกับนิสิตคนที่กำลังเรียนอยู่กับผมก่อน เพราะจะได้รู้นิสัยการทำงานของผมว่าเป็นอย่างไร เพราะถ้านิสัยการทำงานไม่ตรงกันมันจะวุ่น เครียดทั้งสองฝ่าย คนที่ไม่ชอบคิด ชอบทำตามคำสั่ง ก็ต้องหาอาจารย์ที่ปรึกษาที่สั่งอย่างเดียว ส่วนคนที่ชอบคิดก็ต้องหาอาจารย์ที่ปรึกษาที่เปิดโอกาสให้เขาแสดงความคิดเห็นและทดสอบความคิดของเขา
  
ผมไม่เคยเห็นอาจารย์คนไหนที่เป็นคนที่ "ดี" ในสายตานิสิตทุกคน หรือเป็นคนที่ "เลว" ในสายตานิสิตทุกคน แต่สิ่งสำคัญคือการเรียนโท-เอกนั้นเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนิสิตกับอาจารย์ ดังนั้นทั้งสองฝั่งต้องมีรูปแบบการทำงานที่สอดคล้องกันมันถึงจะอยู่ได้อย่างราบรื่น
  
มีนิสิตจำนวนไม่น้อยต้องไปอยู่ในอีกสภาพหนึ่งที่ไม่ได้คาดหวังเอาไว้เมื่อมาเรียนก็คือ อาจารย์ไม่ได้สนใจเลยว่าการทำงานของเขาประสบปัญหาอย่างไรบ้าง เขาขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องใดบ้าง ปล่อยให้ทำงานตามยถากรรม อาจารย์ที่ปรึกษาสนอยู่อย่างเดียวคือนิสิตมีผลแลปให้เขาตีพิมพ์ paper หรือส่งบริษัทที่รับทุนทำวิจัยหรือเปล่าแค่นั้นเอง
  
เคยมีนิสิตที่มีปัญหาเรื่องผลการทดลอง (โดยเฉพาะผลการวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือ) ไม่เป็นไปตาม "ความต้องการ" ของอาจารย์ที่ปรึกษาของเขา มาขอคำปรึกษากับผม และที่แย่ก็คืออาจารย์ที่ปรึกษาไม่รับฟังความคิดเห็นของเขา หรือให้คำปรึกษาใด ๆ บอกแต่เพียงอย่างเดียวว่าไปทำมาให้ได้ (ผลตามที่เขาต้องการ) แค่นั้นเอง
  
ผมก็ถามเขากลับไปว่า (แบบพูดทีเล่นทีจริงว่า) จริงหรือเปล่าที่อาจารย์ของคุณเขาไม่สนใจเลยว่าคุณจะทำการทดลองอย่างไร ไม่เคยมาดูเลยว่าคุณทำการทดลองอย่างไร รอฟังผลอยู่ที่ห้องทำงานหรือเวลาประชุมกลุ่มเท่านั้น ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงทำไมคุณไม่เปลี่ยน "วิกฤต" ให้เป็น "โอกาส" ล่ะ ด้วยการ "เขียน" ผลแลปให้เขาตามที่เขาต้องการเลย
  
ดูเหมือนว่าจะมีอยู่หลายรายเหมือนกันที่ทำตามที่ผมบอกข้างต้น ทำให้จบแบบ happy ending ไปทั้งสองฝ่าย คือนิสิตได้รับปริญญา ส่วนอาจารย์ก็ได้บทความไปขอความดีความชอบ
  
แต่ที่ผมคิดไม่ถึงก็คือ เคยมีนิสิตรายหนึ่งมาปรึกษากับผมเรื่องทำนองนี้ ผมก็บอกเขาไปตามย่อหน้าข้างต้น เขาก็ไม่ทำตาม (ซึ่งมันก็เป็นสิ่งที่ดี) แต่อาจารย์เขาทนไม่ไหว เลยบอกให้เขาทำอย่างที่ผมบอกข้างต้นซะเอง จะได้เขียน paper ได้สักที ส่วนอาจารย์รายนั้นจะทำอย่างนี้กับนิสิตรายอื่นของเขาหรือไม่นั้น ผมไม่ทราบ
  
เรื่องมันควรจะจบแค่นี้ถ้าหากว่าไม่มีการนำเอา "ผลการทดลอง" นั้นไปนำเสนอต่อบริษัทเพื่อขอทุนวิจัย แต่พอมีการเอาไปนำเสนอขอทุนวิจัยจากบริษัท เรื่องมันก็เลยแดงขึ้นมา เพราะไม่มีใครสามารถทำซ้ำผลการทดลองตามที่ได้ตีพิมพ์ในบทความนั้นได้ จะติดต่อนิสิตคนที่เขียนบทความนั้นก็ติดต่อไม่ได้ (ถึงได้เขาก็ไม่กลับมาให้เห็นหน้าหรอก) คนที่ซวยคือคนที่มารับช่วงงานต่อ เพราะไม่สามารถทำซ้ำ (สิ่งที่เรียกว่า) "ผลการทดลอง" ของคนก่อนหน้าได้

ตรงนี้ผมเองก็เคยมีประสบการณ์ตรงในการเป็นกรรมการสอบปกป้องวิทยานิพนธ์ของนิสิตปริญญาเอกผู้หนึ่ง ที่ตรวจพบว่าตัวเลขที่นำมาแสดงนั้นมีความขัดแย้งกัน สาเหตุเป็นเพราะระเบียบวิธีการทดลองนั้น "ใช้ไม่ได้" (มันไม่ได้เพียงแค่ผิดพลาดที่ทำให้ผลมันคลาดเคลื่อน แต่มันไม่ถูกต้องกับการทดลองนั้นเลย) นอกจากนี้ยังพบว่าตัวเลขบางตัวที่ปรากฏนั้นเป็นค่าที่ "คิดเองว่า" มันต้องเป็นเช่นนั้น ปัญหาตรงนี้เกิดจากอาจารย์ที่ปรึกษาไม่มีประสบการณ์การทำการทดลอง และไม่ได้สนใจว่าการทดลองจะเป็นอย่างไร ขอให้มีตัวเลขก็พอ นิสิตต้องไปออกแบบการทดลองเอง จะทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้เรียกได้ว่าได้ทำการทดลอง โดยไม่มีการตรวจสอบความถูกต้องของวิธีการ ขอเพียงแค่มีตัวเลขก็พอแล้ว
  
สำหรับผมแล้ว ถ้าระเบียบวิธีการทดลองนั้นผิดพลาด ผมแลปก็ไม่ต้องพิจารณาใด ๆ แล้ว (จะดูมันทำไปอีกกับตัวเลขที่ไม่มีความน่าเชื่อถือใด ๆ) ผมเองให้คะแนนสอบเป็น "ตก" แต่นิสิตคนนั้นก็ผ่านการสอบด้วยคะแนนเสียงข้างมากจากกรรมการ ที่เห็นว่าเขามีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติถึง ๓ บทความ
  
กรรมการสอบนั้นมีผลประโยชน์ร่วมกันได้นะครับ หลายครั้งที่ผมต้องไปนั่งเป็นประธานกรรมการสอบนิสิตปริญญาโท แล้วพบว่าสอบไปสอบมากลายเป็นว่าจะให้นิสิตนั้นต้องทำงานเพิ่มอีก ไม่ใช่นั้นไม่ให้จบ ทั้งนี้เพื่อที่จะได้มีผลงานตีพิมพ์บทความในวารสารวิชาการนานาชาติเพิ่มได้อีก จนผมในฐานะประธานต้องเข้าแทรกว่า ตรงนี้มันเป็นเงื่อนไขการจบปริญญาเอก ไม่ใช่ปริญญาโท และขณะนี้เรากำลังสอบนิสิตปริญญาโท ดังนั้นต้องใช้เกณฑ์มาตรฐานของนิสิตปริญญาโทมาใช้ในการสอบ และเมื่อนิสิตขอสอบปกป้องวิทยานิพนธ์นั้นแสดงว่าทั้งตัว "อาจารย์ที่ปรึกษา" และ "นิสิต" เองเห็นว่าผลงานนั้น "เพียงพอ" และ "เหมาะสม" แล้วสำหรับวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท แต่การแก้ไขเพิ่มเติมเล็กน้อยนั้นยังพอทำได้อยู่ จะให้ทำตรงไหนก็บอกมาเลย จะได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในผลการสอบว่าต้องทำตามเงื่อนไขนี้ก่อนจึงจะให้ผ่าน แต่ถ้าคิดว่ายังขาดโน่นขาดนี่อีกเยอะ ก็ต้องให้สอบตกไปเลย (หรือไม่ก็ยกเลิกการสอบ ถ้านิสิตยังมีเวลาเหลือเรียนต่อ) และช่วยให้เหตุผลเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยว่าทำไมถึงให้ตก เพื่อที่เวลามีการร้องเรียนจะได้ตรวจสอบย้อนหลังได้
  
เมื่อการประเมินอาจารย์สนใจแต่เพียง "Output" มันก็ไม่แปลกที่จะมีการ "บิดเบือนกระบวนการ" ต่าง ๆ เพื่อให้ได้ output ออกมาให้ได้มากที่สุด โดยไม่สนใจว่าการกระทำเพื่อให้ได้ output นั้นมันเป็นการกระทำที่มี "คุณธรรม" และถูกต้องตามหลัก "จริยธรรม" หรือไม่

ผมว่าวิธีการที่ดีที่สุดในการสอน "คุณธรรมและจริยธรรม" ให้แก่นิสิตก็คือ

"ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง"

ที่เขียนเรื่องนี้ก็เพื่อ "เตือนใจตนเอง" ว่า สิ่งใดที่ได้ประสบมาและเห็นว่ามันไม่ดี ไม่เหมาะสมนั้น ก็อย่าพึงกระทำ การกระทำสิ่งใดทั้ง ๆ ที่เห็นว่ามันเป็นสิ่งไม่ดีนั้น มันแย่ยิ่งกว่าการทำโดยไม่รู้อีก และเป็นการแบ่งปันประสบการณ์ให้กับคนที่อ่อนประสบการณ์ (เช่นผมเมื่อเข้ามาทำงานใหม่) จะได้รับรู้ว่าผลประโยชน์เฉพาะตนที่คนอื่นหยิบยื่นให้ตรงหน้านั้น มันมีผลเสียระยะยาวในด้านอื่นอย่างไร ที่ผมขึ้นเลข (๑) กำกับไว้ที่หัวเรื่องก็เพื่อจะบอกให้รู้ว่ายังมีเรื่องอื่นที่จะเขียนอีก แต่ฉบับนี้เห็นว่าบ่นมายาวมากพอแล้ว ก็ต้องขอพักไว้ก่อน

เคยมีอาจารย์ในภาควิชามาปรึกษาหารือกับผมว่า ทำอย่างไรจึงจะสามารถชักจูงให้นิสิตของภาควิชาสนในเรียนต่อที่ภาควิชาให้มากขึ้น จะได้มีเด็กดี ๆ มาช่วยเป็นแขนขาทำงานวิจัยให้อาจารย์ ผมก็ตอบเขากลับไปว่า

"เราเคยมีช่วงเวลานั้น แต่ช่วงเวลาที่ดีที่สุดนั้นมันผ่านไปแล้ว"

และผมเองก็ไม่คิดว่าจะได้เห็นช่วงเวลาเช่นนั้นกลับคืนมาอีกครั้งก่อนที่ผมจะเกษียณอายุราชการ

(รูปนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับเนื้อเรื่อง เป็นเพียงแค่รูปตู้หนังสือในห้องทำงาน เอามาใส่เล่น ๆ เพราะเห็นหน้ากระดาษมันว่างอยู่)

ไม่มีความคิดเห็น: