ผมเขียนเรื่องการปรับปรุงระบบระบายน้ำจากพื้นถนนลงท่อระบายน้ำใต้ถนนเพื่อระบายออกไปยังท่อระบายใหญ่ที่อยู่ใต้ถนนนอกหน่วยงานไว้ใน
Memoir
ปีที่
๗ ฉบับที่ ๙๒๐ วันอาทิตย์ที่
๑๑ มกราคม ๒๕๕๘ เรื่อง
"เมื่อฝนแรกมาคงมีบุญตาได้เห็น ..."
และหนังจากนั้นเพียงสองเดือนเศษคือเมื่อวานนี้
ก็มีฝนตกหนักต่อเนื่องกันเป็นชั่วโมงมาให้ชมกัน
พอฝนเริ่มหยุดตก (แต่ยังไม่ขาดเม็ดดี)
ก็เลยถือโอกาสเดินจากหยดน้ำฝนไปถ่ายรูปเล่นมาฝากกัน
แต่ละรูปนั้นคงไม่ขอระบุว่าเป็นที่ไหน
แต่คิดว่าหลาย ๆ คนคงเดากันได้
กรุงเทพเป็นเมืองที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลไม่มาก
เผลอ ๆ
บางบริเวณจะอยู่ระดับเดียวกันหรือต่ำกว่าระดับน้ำทะเลเสียอีก
ดังนั้นสำหรับท่อระบายน้ำที่อยู่ใต้พื้นผิวดิน
จึงมีสิทธิที่จะอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลลงไปได้อีก
ดังนั้นการระบายน้ำออกจากบริเวณนี้จึงต้องมีการระบายน้ำลงสู่ที่ต่ำสำหรับรวบรวมน้ำ
(ที่อาจต้องสร้างขึ้นเอง)
และค่อยสูบน้ำออกจากแหล่งรวบรวมนั้นระบายออกสู่คลองเพื่อให้ไหลออกทะเลไป
และจะว่าไปแล้วดูเหมือนว่าการออกแบบระบบระบายน้ำฝนของกรุงเทพนั้นไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิดน้ำท่วมไม่ว่าฝนจะตกหนักเพียงใด
ในกรณีที่ฝนตกหนักมากนั้นมันเป็นเรื่องเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้วที่จะต้องเกิดการท่วมขัง
เพียงแต่ว่าจะสามารถระบายน้ำที่ท่วมขังนั้นออกไปได้เร็วเพียงใด
แต่ดูเหมือนว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพจำนวนไม่น้อยมีความหวาดกลัวน้ำท่วมขังจนไม่รู้ว่าจะมากเกินไปหรือเปล่า)
สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นว่ามันมีส่วนทำให้ปัญหาน้ำท่วมหลังฝนตกเกิดขึ้นได้ง่ายก็เพราะเราพยายามที่จะระบายน้ำฝนที่ตกลงมานั้นลงสู่ระบบระบายน้ำทั้งหมด
อันที่จริงพื้นดินนั้นก็สามารถรองรับน้ำฝนได้ในระดับหนึ่งด้วยการซึมซับเอาไว้
รอบ ๆ ตัวบ้านที่ผมอาศัยอยู่นั้นเป็นพื้นดิน
เวลาฝนตกลงมาแต่ละครั้งถ้าไม่หนักมากต่อเนื่องกัน
น้ำฝนจะไม่ท่วมขังบนพื้นดินจนล้นไหลลงทางระบายน้ำที่อยู่รอบรั้ว
แต่จะซึมลงใต้ดินหายไป
น้ำที่ซึมหายลงไปในดินนี้จัดว่าสำคัญสำหรับไม้ใหญ่ที่มีรากฝังลึกอยู่ใต้ดิน
เพราะมันสามารถใช้น้ำดังกล่าวได้ตลอดทั้งปีแม้ว่าจะไม่มีฝนตกติดต่อกันเป็นเวลาหลายเดือน
(น้ำรดต้นไม้ที่รดกันอยู่มันก็ช่วยแค่พืชคลุมดินที่รากอยู่ตื้น
เว้นแต่จะมีการเปิดทิ้งไว้นานหน่อยน้ำจึงจะซึมลึกลงไปใต้ดินที่มีรากต้นไม้ใหญ่อยู่)
แต่ดูเหมือนว่าจะเป็นที่นิยมปฏิบัติกันของผู้บริหารหน่วยงานที่นึกอะไรไม่ออกก็ทำการเทปูนบริเวณที่เป็นพื้นดินเสียก่อน
คนผ่านไปมาจะได้เห็นว่ามีผลงานในเรื่อง
"การปรับปรุงภูมิทัศน์"
ทำให้ในสถานที่หลายแห่งนั้นพบว่าพื้นดินเปิดสำหรับให้น้ำฝนไหลซึมลงดินไปหล่อเลี้ยงต้นไม้ใหญ่นั้นลดน้อยลงไปทุกที
ถนนอังรีดูนังต์ด้านริมรั้วเคยเป็นคลองมาก่อน
ดูเหมือนใต้ท้องถนนปัจจุบันจะเป็นทางระบายน้ำขนาดใหญ่ที่ระบายออกไปยังคลองแสนแสบข้างวัดปทุมวนาราม
ทางระบายน้ำในมหาวิทยาลัยก็ระบายน้ำออกมายังทางระบายน้ำใต้ถนนนี้
หลังฝนตกปรากฏว่าหลายแห่งน้ำลดลงเร็ว
แต่มีอยู่เส้นหนึ่งที่ยังมีน้ำท่วมขัง
(ตั้งแต่รูปที่
๒ ถึงรูปที่ ๗)
ตอนเดินวนกลับมาพบว่ามีเจ้าหน้าที่มาทำการรื้อเอาอุปกรณ์ดักขยะไม่ให้ไหลลงทางระบายน้ำใหญ่
แต่ปรากฏว่าอุปกรณ์มันอุดตัน
(จะด้วยสาเหตุใดก็ไม่รู้)
เลยต้องมีการส่งเจ้าหน้าที่มารื้อเอาออก
(ที่เห็นเป็นแผ่นไม้วางกอง
ๆ อยู่)
น้ำจึงระบายออกไปได้
บริเวณถนนที่น้ำไม่ท่วมนั้นดูเหมือนว่าเป็นเพราะน้ำฝนจากผิวจราจรไหลลงตรงรอยต่อระหว่างฝาท่อคอนกรีตที่มีการเว้นช่องว่างเอาไว้
ส่วนตรงช่องระบายที่มีตะแกรงดักใบไม้อยู่นั้น
ก็ทำหน้าที่ดักเก็บใบไม้เอาไว้ได้อย่างสมบูรณ์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น