วันพุธที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2568

แผนรับเหตุแผ่นดินไหวของมหาวิทยาลัย MO Memoir : Wednesday 9 April 2568

เรื่องที่นำมาเล่าในวันนี้นำมาจากหนังสือ "คู่มือความปลอดภัยพื้นฐาน สำหรับนิสิตและบุคลากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" จัดทำโดยศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย พิมพ์เผยแพร่เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๖๓ จำนวน ๘๐๐ เล่ม

โดยในคู่มือดังกล่าวมีการวางแนวปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวและหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวอยู่ในหัวข้อ 4.2 หน้า ๒๐ และ ๒๑ (รูปที่ ๑ และ ๒) ซึ่งจะว่าไปการซ้อมรับมือเหตุแผ่นดินไหว โดยเฉพาะกับอาคารสูงด้วยแล้ว ไม่ทราบว่ามีใครเคยซ้อมกันที่ไหนหรือไม่ เพราะเหตุการณ์เช่นนี้มันไม่ใช่เรื่องปรกติของประเทศไทย เพราะทำงานที่นี่ นั่งทำงานบนตึกสูงมาเกือบ ๓๐ ก็ยังไม่เคยเจอ เพิ่งจะมาเจอก็ตอนใกล้เกษียณอายุนี่แหละ

รูปที่ ๑ แนวปฏิบัติเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ที่กล่าวไว้ในคู่มือหน้า ๒๐ (ดาวน์โหลดไฟล์ pdf ได้จากหน้าเว็บของหน่วยงานดังกล่าว (https://www.shecu.chula.ac.th/data/boards/120/manual-basic-safety-students-staff.pdf)

ในการเขียนคู่มือรับเหตุนั้น ถ้าเป็นเหตุที่เกิดขึ้นเป็นประจำ (เช่นไฟไหม้) เราก็สามารถอิงจากคู่มือที่มีผู้จัดทำไว้ก่อนหน้า โดยควรนำมาปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของหน่วยงาน และเมื่อมีเหตุการณ์จริงเกิดขึ้น ก็ได้เวลาที่ควรจะนำคู่มือที่เขียนไว้นั้นมาทบทวน ว่าสถานการณ์จริงเป็นเช่นไร แนวปฏิบัติตามคู่มือนั้นทำได้จริงหรือไม่ ควรมีการปรับแก้อย่างไร เรื่องที่นำมาเล่าในวันนี้ก็เรียกว่าเป็นการนำเอาประสบการณ์ตรงที่พบเจอมา ว่าพฤติกรรมของผู้ประสบเหตุในขณะที่เกิดเหตุนั้น เป็นเช่นไร และสิ่งที่เกิดขึ้นหลังการเกิดเหตุนั้นเป็นอย่างไร

ตอนที่เหตุเกิดนั้นอยู่ในห้องเรียนบนอาคารชั้น ๑๑ เป็นช่วงเวลาสัมมนาของนิสิตปริญญาเอก มีคนอยู่ในห้องประมาณ ๑๕ คน พออาคารเริ่มสั่นไหวรุนแรง ก็มีคนเปิดประตูมาบอกว่าเกิดแผ่นดินไหว แล้วคนในห้องก็ตกใจวิ่งกรูกันออกนอกห้องไปทันที (ทั้ง ๆ ที่อาคารยังสั่นไหวอยู่) เหลือผมนั่งอยู่ในห้องคนเดียวจนการสั่นมันสงบ ที่นั่งอยู่ได้ก็เพราะ ๓ ปีก่อนหน้าเคยเจอเหตุทำนองเดียวกันนี้ที่ประเทศญี่ปุ่น (ที่เล่าไว้ในบทความเมื่อวันศุกร์ที่ ๒๘ มีนาคมที่ผ่านมา)

เพราะเราไม่เคยมีการฝึกรับมือเหตุการณ์เช่นนี้ หรือสำหรับผู้ที่ไม่เคยเผชิญเหตุเช่นนี้มาก่อน ดังนั้นเมื่อมีเหตุเกิดขึ้นจริง การตอบสนองของคนจึงเป็นไปตามสัญชาติญาณ คือเอาตัวรอดให้ปลอดภัยไว้ก่อนด้วยการหนี ดังนั้นแนวปฏิบัติข้อ 1) 2) และ 4) (รูปที่ ๑) จึงไม่มีใครทำตาม (คือหนีออกไปกันตั้งแต่ช่วงที่แผ่นดินยังไหวอยู่)

รูปที่ ๒ แนวปฏิบัติหลังเกิดแผ่นดินไหวที่กล่าวไว้ในคู่มือหน้า ๒๑

ทีนี้เมื่อลงมาจากอาคารแล้วเขาทำอะไรกันต่อ (แนวปฏิบัติข้อ 4) ในรูปที่ ๑ และข้อ 2) ในรูปที่ ๒)

บริเวณตึกที่ทำงานนั้นมีตึกสูงอยู่ ๒ ตึก และอาคารขนาด ๓-๕ ชั้นอีกหลายตึก บ่ายวันนั้นแดดก็แรง บริเวณที่เป็นที่ว่างโล่ง ๆ ก็ไม่ได้มีขนาดใหญ่อะไร ผู้คนที่ลงมาจากอาคารต่าง ๆ ก็เลยไปหลบอยู่ชั้นล่างของอาคารสูงบ้าง ชายคาของอาคารเตี้ยบ้าง หรือด้านที่เป็นร่มเงาของอาคารสูง ผมลงมาทีหลังก็ยังถามนิสิตที่ลงมาก่อนว่าทำไมมาหลบอยู่แถวนี้ เขาก็บอกว่ากลัวอาคารถล่ม ผมก็บอกว่าถ้ามันถล่มจริง นั่งยืนแถวนี้ก็ไม่รอดหรอก แถวยังอาจบาดเจ็บจากเศษกระจกหรือกระเบื้องที่อาจร่วงหล่นลงมาจากผนังอาคารได้อีก ถ้าอยากปลอดภัยจากอาคารถล่มก็ต้องไปโน่น สนามหน้าเสาธง

ลงมาบริเวณลานข้างตึกข้างล่างก็ไม่เห็นมีใครประกาศว่าควรต้องทำอย่างไร (เช่น ยกเลิกการเรียนการสอน, กิจกรรม, การทำงาน และให้กลับบ้านได้ เว้นแต่ผู้ที่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติ เช่นการปิดเครื่องไฟฟ้าและอุปกรณ์ต่าง ๆ) ทั้ง ๆ ที่วันนั้นทางคณะมีงานเปิดให้คนเข้าชม มีหน่วยประชาสัมพันธ์ที่ประกาศเรื่องราวต่าง ๆ ออกลำโพงให้ได้ยินกันทั่วได้ แต่ก็ไม่มีผู้ที่มีอำนาจสั่งการใด ๆ ออกมาแจ้งให้ต้องทำอย่างไรต่อ ได้ยินแต่เสียงประกาศของนิสิตเป็นบางครั้งว่าให้ออกมาจากอาคาร ตอนเดินผ่านคณะต่าง ๆ กลับไปเอารถที่จอดไว้ที่อาคารจอดรถเพื่อขับกลับบ้าน ก็เห็นผู้คนที่ลงมาจากอาคารสูงก็มานั่งหลบแดดกันข้าง ๆ อาคารสูงที่หนีลงมา แม้ว่าทางมหาวิทยาลัยจะไม่มีระบบเสียงตามสาย แต่ก็ยังมีรถติดเครื่องขยายเสียงของหน่วยรักษาความปลอดภัย ที่สามารถแล่นประกาศข่าวสารไปตามบริเวณต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยได้

ช่วงแรกหลังเกิดเหตุ ก็พบปัญหาของระบบสื่อสาร ไม่ว่าระบบโทรศัพท์มือถือหรือ wifi ของมหาวิทยาลัย ซึ่งดูเหมือนว่าจะล่มไปชั่วขณะและตามด้วยการแย่งกันใช้ช่องสัญญาณ (ลองพยายามติดต่อโดยใช้โปรแกรม Line ผ่านทางระบบ wifi ซึ่งมันต่อเข้าระบบใยแก้วของมหาวิทยาลัย ก็ทำไม่ได้) ดังนั้นสิ่งที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเกิดตามข้อ 5) ในรูปที่ ๒ มันก็เกิดขึ้นจริง แต่ปัจจุบันการติดต่อส่งข้อความของคนส่วนใหญ่ในบ้านเรานั้นไม่ได้ส่งข้อความผ่านทาง SMS (ซึ่งมันต้องเสียค่าบริการ) แต่จะส่งผ่านทางโปรแกรม Line แทน ทำให้นอกจากมีการส่งทั้งข้อความ ก็ยังมีการส่งรูปภาพและคลิปวิดิทัศน์อีก (ซึ่งต้องส่งผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่) ดังนั้นจึงไม่แปลกถ้าจะพบว่าช่วงนั้นระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตผ่านทางระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่จะมีปัญหา

ทีนี้มาดูประเด็นที่ว่าให้ใช้วิทยุฟังคำแนะนำฉุกเฉิน ตรงนี้คงต้องไปดูว่าเหตุที่เกิดนั้นเป็นเหตุอะไร ผู้ประสบเหตุนั้นเป็นใครและอยู่ที่ไหน ในกรณีของภัยพิบัติเช่นน้ำท่วม ดินถล่ม ทางคมนาคมเข้าออกหมู่บ้านถูกตัดขาด ผู้ที่เดือดร้อนนั้นยังอาศัยอยู่ในบ้าน ซึ่งแต่ละบ้านก็ยังมีเครื่องรับวิทยุ คำแนะนำนี้ก็เป็นสิ่งที่ดี (รูปที่ ๓) แต่ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในกรุงเทพ คนจำนวนมากที่หนีลงมาจากอาคารสูงเป็นคนที่ทำงานอยู่บนอาคารสูง ซึ่งคงไม่มีใครพกวิทยุติดตัวมาทำงาน หรือคนที่อาศัยอยู่บนคอนโดมีเนียมที่ต้องรีบหนีลงมา ก็คงไม่คว้าวิทยุติดตัวลงมา สิ่งที่คนปัจจุบันน่าจะรีบคว้าติดตัวลงมามากกว่าคือโทรศัพท์มือถือ

โทรศัพท์มือถือมันก็รับวิทยุ FM ได้นะครับ แต่มันต้องเสียบหูฟังแบบมีสาย เพราะมันใช้สายของหูฟังนั้นเป็นสาอากาศรับคลื่น ว่าแต่ตอนนี้มีสักกี่คนที่พกหูฟังแบบมีสายติดตัวไว้ตลอดเวลา โทรศัพท์ที่มีเสาอากาศดึงยืดออกมารับคลื่นวิทยุ (FM) และโทรทัศน์ได้ ก็เลิกผลิตไปนานแล้ว (แต่ผมเองก็ยังเก็บไว้เป็นที่ระลึกอยู่หนึ่งเครื่อง)

คนอยู่ในเมืองที่เป็นพื้นราบ การรับฟังวิทยุ FM นั้นไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเป็นต่างจังหวัดที่ภูมิประเทศสูง ๆ ต่ำ ๆ มีภูเขาขวางกั้นมุมมองจากสถานีส่ง มันจะมีปัญหาเรื่องการรับฟังวิทยุ FM ซึ่งตรงนี้คลื่นวิทยุ AM มันทำหน้าที่ได้ดีกว่า คือมันเลี้ยวเบนไปตามภูมิประเทศได้ดีกว่าและไปได้ไกลกว่า แต่ก็ไม่เคยได้ยินว่ามีโทรศัพท์มือถือเครื่องไหนรับฟังวิทยุ AM ได้

ข้อดีของวิทยุทรานซิสเตอร์คือมันกินไฟต่ำ ใช้ถ่านไม่กี่ก้อนก็อยู่ได้นานเป็นสัปดาห์ ตอนไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ในภาคใต้เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๖ นั้น ในช่วงแรกเครือข่ายระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังไม่มีปัญหา แต่พอไฟฟ้าดับนานจนไฟในแบตเตอรี่สำรองของเสารับสัญญาณโทรศัพท์มันหมด ระบบโทรศัพท์มือถือก็ใช้การไม่ได้

อีกเรื่องที่น่าจะนำมาพิจารณาคือเรื่องรองเท้า (แนวปฏิบัติข้อ ๔ ในรูปที่ ๑ และข้อ ๓ ในรูปที่ ๒) ที่บอกให้ใส่รองเท้าหุ้มส้นเสมอ ถ้าพิจารณาตามความเป็นจริง อย่างแรกก็คือเวลาออกจากบ้านมีใครพกรองเท้าติดตัวนอกจากคู่ที่ใส่อยู่บ้าง หลายคนที่มีโต๊ะทำงานส่วนตัว ก็อาจมีรองเท้าอีกคู่ (ที่มักจะเป็นรองเท้าแตะ) ไว้สำหรับใส่เวลานั่งทำงาน ดังนั้นคำแนะนำตรงนี้แทนที่จะบอกให้ใส่รองเท้าหุ้มส้นเสมอ (หรือถ้าถอดรองเท้าหุ้มส้นไว้ที่โต๊ะทำงาน ก็ต้องกลับไปเปลี่ยนก่อนอย่างนั้นหรือ) น่าจะเปลี่ยนเป็นคำเตือนว่า ให้ระวังเศษแก้วหรือวัตถุมีคมอื่นทิ่มตำเท้าเวลาอพยพ ไม่ว่าจะใส่รองเท้าชนิดใดก็ตาม (พวกรองเท้าพื้นยางเนี่ย เศษแก้วก็แทงทะลุพื้นได้เช่นกัน)

ในส่วนการอพยพนีไฟนั้น คู่มือไม่มีการกล่าวถึงการมีผู้นำการหนีไฟ แต่มีการให้ไปรายงานตัว (กับใครก็ไม่บอก) ที่จุดรวมพล ส่วนการอพยพหนีแผ่นดินไหวนั้น ไม่มีการกล่าวถึงทั้งสองเรื่องนี้

รูปที่ ๓ เคยมีการเตือนให้ใช้วิทยุทรานซิสเตอร์รับฟังข่าวสารในกรณีระบบสื่อสารล่ม ตอนนั้นคนทั่วไปหัวเราะเยาะกันใหญ่ แต่เหตุแผ่นดินไหวเกิดที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นว่า ระบบโทรศัพท์มือถือรวมทั้งสัญญาณ wifi ของมหาวิทยาลัย มันล่มจริง เพราะคนใช้กันเยอะมา

วันนี้ก็ขอบันทึกเรื่องราวและมุมมองส่วนตัวไว้เพียงแค่นี้

วันอังคารที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2568

ใช้น้ำดับไฟที่เกิดจากไฟฟ้าก็ได้นะ MO Memoir : Tuesday 8 April 2568

รูปข้างล่างนำมาจากภาพที่ทางมหาวิทยาลัยจัดทำขึ้นเผยแพร่ (ตัดมาส่วนหนึ่ง) ลองอ่านดูก่อนนะครับ


เรื่องการแบ่งประเภทของเพลิงไหม้เนี่ย ที่เห็นสอนกันในบ้านเราจะเป็นแบบที่อิงเกณฑ์ของอเมริก (US) ดังเช่นรูปที่นำเอามาแสดง ตอนที่ไปเรียนที่อังกฤษ (UK) นั้นเขาใช้เกณฑ์ที่แตกต่างกันเล็กน้อย กล่าวคือเขาไม่แยกไฟไหม้ที่เกิดจากไฟฟ้าออกมาต่างหากเป็น class หนึ่ง คือเขาถือว่าถ้าตัดกระแสไฟฟ้าออกไปแล้ว เพลิงไหม้นั้นก็จะไปตกอยู่ในกลุ่มเกณฑ์อื่น และสิ่งที่ไหม้ไฟก็ไม่ใช่กระแสไฟฟ้า แต่ก็จะมีการใช้ป้ายเตือนเป็นรูป electric spark (ไม่ได้เป็นตัวอักษร) แทน และมีการแยกเพลิงไหม้ที่เกิดจากน้ำมันทำอาหารไว้ใน Class F (ของอเมริกาจะเป็น Class K)

น้ำบริสุทธิ์นำไฟฟ้าได้แย่มาก หรือจะเรียกว่าไม่นำไฟฟ้าก็ได้ มันนำไฟฟ้าได้แย่ชนิดที่สามารถเอาแผงวงคอมพิวเตอร์ไปแช่ไว้ในน้ำเพื่อระบายความร้อนทั้ง CPU, RAM และการ์ดจอในเวลาเดียวกันได้ แต่ถ้าคิดจะทำต้องมั่นใจก่อนว่าน้ำที่จะนำมาใช้นั้นเป็นน้ำบริสุทธิ์จริง และต้องมั่นใจว่าในขณะที่ใช้งานนั้นน้ำนั้นจะไม่มีสิ่งใดละลายปนเปื้อนเข้าไป เพราะนั่นจะทำให้ไอออนในน้ำเพิ่มมากขึ้น น้ำก็จะนำไฟฟ้าได้ดีขึ้น และที่สำคัญคือน้ำบริสุทธิ์สูงนั้นราคาไม่ถูก ก็เลยไม่มีใครเอามาใช้ในการดับเพลิงกัน ถ้านำไฟดับเพลิงไหม้อุปกรณ์ที่ยังมีกระแสไฟฟ้าหล่อเลี้ยงอยู่ น้ำที่ไหลล้นออกมาจะเป็นตัวนำไฟฟ้าที่นำอันตรายมาสู่ผู้เข้าไประงับเหตุได้

ทีนี้ถ้าเรากลับไปดูที่รูปใหม่ จะเห็นว่าเขาบอกว่าเครื่องดับเพลิงชนิด "Water Pressure" กับ "Foam" นั้นไม่ควรนำไปใช้กับไฟที่เกิดจากกระแสไฟฟ้า เพราะ Foam นั้นมันมีน้ำเป็นส่วนประกอบ

แต่กลับบอกว่าเครื่องดับเพลิงชนิด "Low Water Pressure" (ซึ่งก็เป็นน้ำล้วน ๆ) สามารถใช้ดับเพลิงที่เกิดจากกระแสไฟฟ้าได้ ซึ่งมันสามารถทำให้คนอ่านเข้าใจได้ว่า "สามารถใช้น้ำความดันต่ำดับเพลิงที่เกิดจากกระแสไฟฟ้าได้ แต่ไม่สามารถใช้น้ำที่มีความดันสูงเกินไป"

อันที่จริงเครื่องดับเพลิงที่โปสเตอร์เขียนว่า "Water Pressure" เนี่ยควรเรียกให้ถูกว่า "Pressurized Water Fire Extinguisher" เครื่องเครื่องดับเพลิงชนิดถังน้ำความดัน คือใช้แก๊สความดันในถังฉีดน้ำออกมาเป็นลำน้ำต่อเนื่อง ส่วนเครื่องดับเพลิงที่โปสเตอร์เขียนว่า "Low Water Pressure" ควรเรียกให้ถูกว่าเป็นชนิด "Low Pressure Water Mist Fire Extinguisher" หรือที่มีผู้แปลเป็นไทยว่า "เครื่องดับเพลิงชนิดละอองน้ำความดันต่ำ" คือมันฉีดพ่นน้ำออกมาในรูปของละอองหยดน้ำเล็ก ๆ ความดันต่ำ ไม่ได้เป็นลำน้ำต่อเนื่อง

เราสามารถดับเพลิงด้วยการ การตัดเชื้อเพลิง, ตัดอากาศ (คือตัดออกซิเจน) หรือตัดแหล่งพลังงานความร้อน อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน การตัดเชื้อเพลิงจะทำได้ในกรณีที่เชื้อเพลิงนั้นรั่วไหลออกมาจากระบบปิด (เช่น ท่อ ถัง) ในกรณีของเพลิงไหม้ที่เชื้อเพลิงอยู่ในที่เปิดทั่วไปนั้นมักจะทำด้วยการตัดออกซิเจนร่วมกับการตัดแหล่งพลังงานความร้อน เครื่องดับเพลิงที่ใช้แก๊สในการดับนั้น (เช่นคาร์บอนไดออกไซด์) ทำงานด้วยการตัดออกซิเจน แต่ถ้าแก๊สที่ปกคลุมป้องกันอากาศนั้นฟุ้งกระจายออกไปและตัวเชื้อเพลิงหรือบริเวณใกล้เคียงที่เชื้อเพลิงสามารถแพร่เข้าไปถึงได้นั้นยังร้อนอยู่ ไฟก็จะกลับมาลุกใหม่ได้

น้ำที่ฉีดเข้าไปดับไฟนั้น ส่วนใหญ่จะลงไปที่ตัวเชื้อเพลิง ทำหน้าที่ดึงความร้อนออกจากเชื้อเพลิงและบางส่วนก็ลงไปเปียกปิดคลุมผิวเอาไว้ โดยส่วนใหญ่จะไหลล้นออกมา มีเพียงแค่บางส่วนระเหยกลายเป็นไอน้ำที่ไปช่วยลดความเข้มข้นของออกซิเจนบริเวณรอบเชื้อเพลิง น้ำที่ไหลล้นออกมานี่แหละคือตัวที่ทำให้เกิดอันตรายได้ถ้านำไปใช้ดับเพลิงไหม้ที่มีกระแสไฟฟ้าเกี่ยวข้องและยังไม่ได้ตัดกระแสไฟฟ้าออกไป

น้ำที่ฉีดออกมาในรูปหยดน้ำเล็ก ๆ ที่เป็นละอองจะระเหยกลายเป็นไอได้เร็ว การระเหยของละอองน้ำจะดึงความร้อนออกจากสิ่งแวดล้อม พัดลมไอน้ำที่ใช้ลดความร้อนในอากาศก็ทำงานด้วยหลักการนี้ คือละอองน้ำที่ฉีดออกมาจะดึงความร้อนออกจากอากาศทำให้มันกลายเป็นไอ อากาศก็จะเย็นลง (แต่ความชื้นก็จะเพิ่มขึ้น) โดยไม่ทำให้พื้นบริเวณรอบ ๆ เปียกน้ำ เครื่องดับเพลิงชนิดละอองน้ำความดันต่ำก็ใช้หลักการเดียวกันนี้ในการดับเพลิง คือละอองน้ำที่ฉีดเข้าไปนั้นจะระเหยกลายเป็นไอได้เร็ว มีการดึงความร้อนออกจากบริเวณเพลิงไหม้ได้เร็ว และไอน้ำที่เกิดยังเข้าไปแทนที่อากาศ ซึ่งเป็นการตัดออกซิเจนออกไป ไฟจึงดับได้

ในโปสเตอร์นี้ยังมีอีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจคือ ทำไมต้องแยกเพลิงไหม้ที่เกิดจากเชื้อเพลิงเหลว (เช่นน้ำมันเชื้อเพลิงและไฮโดรคาร์บอนเหลวต่าง ๆ) และน้ำมันประกอบอาหาร (cooking oil ซึ่งเป็นได้ทั้งจากพืชและสัตว์) ออกจากกัน แถม Foam ที่ใช้กับน้ำมันเชื้อเพลิงได้ไม่ควรนำมาใช้กับดับไฟที่เกิดจากน้ำมันประกอบอาหาร ทั้ง ๆ ที่น้ำมันทั้งสองชนิดนั้นต่างก็มีความหนาแน่นต่ำกว่าน้ำและไม่ละลายน้ำทั้งคู่

ความแตกต่างอยู่ที่อุณหภูมิของเชื้อเพลิงที่ทำให้เชื้อเพลิงนั้นลุกติดไฟได้ พวกไฮโดรคาร์บอนที่เป็นเชื้อเพลิงเหลวนั้นอุณหภูมิจุดลุกติดไฟ (Fire point) มักจะต่ำกว่าอุณหภูมิจุดเดือดของน้ำ (100ºC) ในขณะที่น้ำมันประกอบอาหารนั้นจะใช้อุณหภูมิที่เรียกว่าจุดทำให้เกิดควัน (Smoke point) เป็นตัวบอกว่าน้ำมันนั้นเริ่มที่จะลุกติดไฟได้แล้ว และอุณหภูมิจุดทำให้เกิดควันนี้มีค่าสูงกว่าอุณหภูมิจุดเดือดของน้ำมาก

ในกรณีของเพลิงไหม้ถังเก็บน้ำมันเบนซิน ถ้าเราฉีดน้ำเข้าไป น้ำบางส่วนจะระเหยกลายเป็นไอน้ำ มีการดึงเอาความร้อนออกจากเปลวไฟและลดความเข้มข้นอากาศ ทำให้ลดความรุนแรงของเปลวไฟลงได้บ้าง โดยน้ำส่วนที่เหลือที่ตกลงบนผิวน้ำมันจะจมลงสู่เบื้องล่าง (เพราะอุณหภูมิน้ำมันนั้นต่ำกว่าจุดเดือดของน้ำ) แต่ถ้าปล่อยน้ำนั้นไว้ที่ก้นถังนาน ๆ น้ำที่อยู่ก้นถังก็จะมีอุณหภูมิสูงขึ้นเกิน 100ºC ได้ แต่จะยังไม่เดือดเพราะมีความดันเนื่องจากความสูงของน้ำมันเบนซินนั้นกดเอาไว้ แต่ถ้าไฟไหม้นานพอจนระดับน้ำมันเบนซินที่ลดลงมากพอ น้ำที่อยู่ก้นถังก็จะเดือดกลายเป็นไอ ผลักดันให้น้ำมันเบนซินที่อยู่ในถังนั้นพุ่งกระจายออกมารอบ ๆ ถังเก็บนั้นได้ (ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Boil over และ Slop over)

ในกรณีของน้ำมันประกอบอาหารนั้น เนื่องจากน้ำมันมีอุณหภูมิสูงกว่าจุดเดือดของน้ำ น้ำที่ลงไปสัมผัสกับผิวหน้าน้ำมันจะเดือดกลายเป็นไอทันที ไอน้ำที่เกิดขึ้นจะทำให้น้ำมันกระเด็นออกมายังบริเวณโดยรอบ ทำให้ผู้ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงได้รับบาดเจ็บและเพลิงแผ่กระจายออกไปได้ แต่การใช้น้ำในรูปของละอองหยดน้ำเล็ก ๆ ความร้อนของเปลวไฟจะทำให้หยดน้ำนั้นระเหยกลายเป็นไอน้ำก่อนที่จะมีโอกาสสัมผัสกับผิวน้ำมัน จึงมีความปลอดภัยสูงกว่า

เรื่องความถูกต้องของคู่มือปฏิบัติงานเพื่อความปลอดภัยนั้นเป็นสิ่งสำคัญ และไม่ควรก่อให้เกิดความสับสนในการทำงาน

วันเสาร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2568

สารหล่อลื่นในเปลือกกล้วย MO Memoir : Saturday 5 April 2568

กระเทียมก็ต้องทุบ มะนาวก็ต้องคลึง ดังนั้นเปลือกกล้วยก็ต้องเหยียบ

พืชบางชนิดนั้นมีของเหลวอยู่ในถุงบรรจุเล็ก ๆ การจะนำเอาของเหลวเหล่านั้นออกมาใช้งานก็ต้องทำให้ถุงบรรจุนั้นแตกออกก่อน อย่างเช่นกระเทียมที่มีน้ำมันบรรจุอยู่ในถุงบรรจุ การทุบจะทำให้ถุงบรรจุนั้นแตกออก มะนาวก็เช่นกัน ดังนั้นก่อนจะผ่ามะนาวเพื่อบีบเอาน้ำมะนาว ก็ควรต้องทำการคลึงผลมะนาวก่อนผ่าเสียก่อน เพื่อให้ถึงบรรจุน้ำมะนาวแตกออก

เปลือกกล้วยหอมก็เช่นกัน มีสารหล่อลื่นอยู่ในถุงบรรจุ การเหยียบจะทำให้ถุงบรรจุนั้นแตกออกปลดปล่อยสารหล่อลื่นออกมา ทำให้พื้นผิวสัมผัสระหว่างพื้นกับเปลือกกล้วยที่ถูกเหยียบลื่นมากขึ้นอันเป็นผลจากสารหล่อลื่นนั้น

Ig Nobel Prize เป็นรางวัลที่ล้อเลียนรางวัลโนเบล เพื่อมอบให้แก่การค้นพบ (ผลงานตีพิมพ์) ที่ "that cannot, or should not, be reproduced" (ถ้าแปลออกมาก็คงจะได้ว่า "ไม่สามารถ, หรือไม่ควร ที่จะทำซ้ำ") เพื่อเป็นการยกย่องผลงานที่ "that first make people laugh, and then make them think" (เช่นกัน ถ้าแปลออกมาก็คงจะได้ว่า "ทำให้คนหัวเราะก่อนเป็นอย่างแรก จากนั้นจึงค่อยคิด") รางวัลนี้เริ่มแจกในปีค.ศ. ๑๙๙๑ (พ.ศ. ๒๕๓๔)

และในปีค.ศ. ๒๐๑๔ (พ.ศ. ๒๕๕๗) ก็ได้มีการมอบรางวัล Ig Nobel Prize สาขาฟิสิกส์ให้กับศาสตราจารย์ชาวญี่ปุ่นผู้ศึกษาวิจัยเรื่องสัมประสิทธิความเสียดทานของเปลือกกล้วย ซึ่งเรื่องนี้ได้เล่าไว้ในบทความบน blog เมื่อวันจันทร์ที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๓ เรื่อง "เมื่อกล้วยระเบิด"

และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทางสถานีโทรทัศน์ NHK ของญี่ปุ่น ก็ได้ทำรายการเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องความลื่นของเปลือกกล้วยที่ศาสตร์จารย์ท่านนั้นทำการศึกษา เพื่อแสดงให้เห็นว่าทำไปทำไม (รูปที่ ๑)

รูปที่ ๑ รายการของ NHK World Japan ในสารคดึชุด "Laugh Then Think: Japan Offbeat Science" เรื่อง Banana slip Physics เผยแพร่ออกอากาศครั้งแรกในวันศุกร์ที่ ๒๘ มีนาคมที่ผ่านมา ภาพโฆษณารายการเป็นภาพของ Prof. Kiyoshi Mabuchi ชูกล้วยหอม อาจารย์ท่านนี้เป็นอาจารย์ทางด้าน Biomechanics หรือพวกข้อต่อเทียมต่าง ๆ ของร่างกาย

Prof. Kiyoshi Mabuchi เป็นอาจารย์ทางด้าน Biomechanics หรือพวกข้อต่อเทียมต่าง ๆ ของร่างกาย จึงเป็นผู้เห็นความสำคัญของความลื่นเมื่ออวัยวะต่าง ๆ ในร่างการมีการเสียดสีกัน ตัวอย่างเช่นข้อสะโพกที่ท่านนำมายกเป็นตัวอย่างในสารคดี (รูปที่ ๒), การเสียดสีกันระหว่างเปลือกตากับลูกตาเมื่อเรากระพริบตา, การเสียดสีกันระหว่างปอดหรือหัวใจกับอวัยวะภายในที่อยู่เคียงข้างกัน

รูปที่ ๒ Prof. Kiyoshi Mabuchi ขณะบรรยายการทำงานของข้อต่อสะโพกเทียม ว่าความลื่นของข้อต่อนั้นสำคัญต่อการใช้ชีวิตของผู้ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อต่ออย่างไร

รูปที่ ๓ บทความที่เผยแพร่สองปีหลังจากได้รับรางวัล Ig Nobel Prize

สารคดีที่ NHK จัดทำนั้นไม่ได้บอกว่าสุดท้ายแล้วจะมีการนำเอาผลงานวิจัยเรื่องนี้ไปใช้ประโยชน์อย่างไร แต่ถ้าพิจารณาจากตัวอย่างที่ยกมาในบทความและสิ่งที่อาจารย์ท่านนั้นศึกษา ก็คงพอจะคาดเดาได้ว่าท้ายสุดนี้งานวิจัยเรื่องนี้จะมีประโยชน์อย่างไร

บางครั้งสิ่งที่ชาติตะวันตกเห็นเป็นเรื่องตลกนั้น ก็เป็นการแสดงความไม่รู้ (แต่คิดว่าตัวเองฉลาดกว่าคนอื่น) ออกมา

รูปที่ ๔ โครงสร้างของเปลือกกล้วยหอม (จากบทความในรูปที่ ๓)

รูปที่ ๕ บทความที่เผยแพร่ในปีค.ศ. ๒๐๑๖ หรือหลังได้รับรางวัล Ig Nobel Prize สองปี กล่าวถึงความคล้ายคลึงกันระหว่างสารหล่อลื่นของเปลือกกล้วยหอมและกระดูกหัวเข่าของกระต่าย (จากบทความในรูปที่ ๓)