วันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2558

น้ำมันพราย MO Memoir : Monday 3 August 2558

"พระยาอินทรมนตรีศรีจันทรกุมารเป็นคนอังกฤษ เกิดที่เมืองปลิมัทในประเทศอังกฤษเมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ค.. ๑๘๖๙ นามเดิมว่า ฟรานซิส เฮนรี่ไจลส์ ในสกุลนายทหารเรือ จะได้เล่าเรียนในชั้นเดิมอย่างไรบ้างไม่ทราบ แต่พระยาอินทรมนตรีเคยพูดกับข้าพเจ้าเล่น ๆ เสมอว่า ไม่เคยได้เข้าโรงเรียนหรูหราอันใดก็ยังทำงานได้ถึงเพียงนี้ ขณะที่พูดเขาเป็นอธิบดีกรมสรรพกรและเป็นอธิบดีที่อยู่ในขั้นสูงและสามารถอย่างเยี่ยมผู้หนึ่ง"

ข้อความข้างต้นเป็นประวัติของพระยาอินทรมนตรี ที่เขียนโดย พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า ธานีนิวัต กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ตีพิมพ์ในหนังสือ "รวบรวมบทความ พระยาอินทรศรีจันทรกุมาร (แอฟ. เอช. ไยลส์ จิลลานนท์)"
  
รูปที่ ๑ เล่มซ้ายเป็นหนังสือ "รวบรวมบทความ พระยาอินทรศรีจันทรกุมาร (แอฟ. เอช. ไยลส์ จิลลานนท์)" กรมสรรพากรพิมพ์แจกในโอกาสกรมสรรพากรครบรอบ ๖๐ ปี วันที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๘ พิมพ์ที่โรงพิมพ์ห้างหุ้นส่วนจำกัด สำนักพิมพ์สมพงษ์ ๑๔/๘ ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี กรุงเทพ ฯ ๘ นายสมพงษ์ ชัยเจริญ ผู้พิมพ์โฆษณา ๒๕๑๘ โทร. ๘๕๑๘๓๖ ส่วนเล่มขวาเป็นหนังสือในชุดภูตผีปิศาจไทย ตอน "วิญญาณที่เร่ร่อน" โดย เหม เวชกร ฉบับนี้เป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ เมษายน ๒๕๔๕ โดยสำนักพิมพ์วิริยะ หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๐๙ โดยสำนักพิมพ์บรรณาคาร
  
พระยาอินทรมนตรีเป็นอธิบดีกรมสรรพากรคนแรก โดยดำรงตำแหน่งในช่วงปีพ.ศ. ๒๔๔๐ - พ.ศ. ๒๔๗๒ และยังได้เป็นนายกของสยามสมาคม ได้เขียนบทความลงพิมพ์ในวารสารสยามสมาคมไว้หลายเรื่อง และเรื่อง "About a love philtre" ที่ อาจารย์สัญฉวี สายบัว แปลเป็นไทยว่า "น้ำมันพราย" ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสารสยามสมาคม เล่มที่ ๓๐ ตอนที่ ๑ เดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๗ (พ.ศ. ๒๔๘๐) ถ้านับถึงปัจจุบันก็ผ่านมาแล้ว ๗๘ ปี
  
รายละเอียดเกี่ยวกับการทำน้ำมันพรายนั้นพระยาอินทรมนตรีได้เขียนไว้เป็นภาษาอังกฤษ และแปลเป็นไทยอาจารย์ สัญฉวี สายบัว ท่านได้ให้รายละเอียดที่แตกต่างไปจากที่เห็นมีปรากฏในอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน แต่ก็ไม่ได้บอกว่าท่านได้รับทราบข้อมูลดังกล่าวมาจากแหล่งใดและได้ยินมาเมื่อใด แต่ถ้าดูจากช่วงเวลาตั้งแต่ที่ท่านเข้ามาทำงานในประเทศไทย (ช่วงรัชกาลที่ ๕) ก็แสดงว่าสิ่งที่ท่านได้รับทราบมานั้นและนำมาเขียนบันทึกเอาไว้ก็เป็นเรื่องเก่าที่น่าสนใจมากเรื่องหนึ่ง ในยุคสมัยที่ความเชื่อดังกล่าวเป็นเรื่องปรกติในสังคมไทย วิธีการทำมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง เชิญอ่านเอาเองในรูปภาพที่สแกนมาให้ดู (ทั้งต้นฉบับที่เป็นภาษาอังกฤษ และฉบับแปลเป็นไทย ที่ผมตัดสินใจนำมาสแกนทั้งบทเพราะเห็นว่าเรื่องดังกล่าวนั้นไม่ได้มีแพร่หลายทั่วไป และมีการจัดพิมพ์ในหนังสือที่คงจะไม่มีใครตีพิมพ์ซ้ำอีก)
  
พระยาอินทรมนตรีถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ รวมอายุได้ ๘๒ ปี







"ครูเหมเขียนเรื่องผีเรื่องแรก ชื่อเรื่อง "ผี!" ตีพิมพ์ในหนังสือ เพลินจิตต์ รายเดือน เล่ม ๑ ออกวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.. ๒๔๗๖ และคงจะได้รับความนิยม จึงเขียนต่อเนื่องเรื่อยมาตามวิสัยผู้ทำงานด้านนี้ ที่ไม่มีใครปฏิเสธความต้องการของผู้อ่านได้ลงคอ
  
ต่อมา เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม พ.. ๒๔๗๘ เรื่อง "ผี!" ที่ว่านั้นจึงเป็นหนึ่งในสิบ "รวมเรื่องผีขนาดสั้นของ เหม ทั้งเก่า-ใหม่" ในรูปเล่มขนาดพ็อกเกตบุ๊ก (๑๖ หน้ายกเล็ก) ชื่อหนังสือ ผี !! คณะเพลินจิตต์จัดพิมพ์ หนา ๒๓๒ หน้า ราคา ๒๐ สตางค์"
  
ข้อความในเครื่องหมายคำพูดข้างบนคือข้อความขึ้นต้นคำนิยมเขียนโดย จุลศักดิ์ อมรเวช (จุก เบี้ยวสกุล)ในหน้าคำนิยมของหนังสือชุด "ภูตผีปิศาจไทย" 
   
วันนี้ก็เป็นวันที่ ๓ สิงหาคมเช่นกัน แต่เป็นปีพ.ศ. ๒๕๕๘ ก็เรียกว่าหนังสือเรื่องรายเกี่ยวกับผีของ เหม เวชกร นับจากที่มีการพิมพ์รวบเล่มเป็นครั้งแรกมาจนถึงวันนี้ก็ครบรอบ ๘๐ ปีพอดี
  
เสน่ห์อย่างหนึ่งของนิยามเรื่องผีของ เหม เวชกุล คือการบรรยายสภาพบ้านเมือง ความเป็นอยู่ของคนไทย การใช้ชีวิต และอะไรต่อมิอะไรอีกหลายอย่าง ที่เขียนจากประสบการณ์ที่ท่านได้ไปกินอยู่หลับนอน สัมผัสสภาพชีวิตและกลิ่นอายของท้องถิ่นยุคนั้น เรียกว่าแม้เนื้อเรื่องจะมีแค่ตัวหนังสือ แต่ก็มองเห็นภาพได้ชัดเจน (ผมว่าเสน่ห์ของการอ่านตัวอักษรมันอยู่ตรงนี้ครับ คือมันไม่ได้บังคับให้เราต้องจินตนาการถึงภาพฉากเดิม ๆ ในแต่ละครั้งที่เราอ่านเรื่องนั้น) และวิธีการทำน้ำมันพรายนั้น เหม เวชกรก็ได้สอดใส่ไว้ในนิยายเรื่อง "น้ำมันผีพราย"
  
อันที่จริงผมเคยเกริ่นว่าจะเขียนเรื่องการทำน้ำมันพรายเอาไว้ใน Memoir ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๗๒๔ วันเสาร์ที่ ๔ มกราคม ๒๕๕๗ เรื่อง "ปลุกผี" แต่เอาเข้าจริง ๆ กว่าจะได้ลงมือเขียนก็เลยเวลามากว่าปีครึ่ง
  
กล่าวโดยสรุปคือ เหม เวชกร เล่าถึงวิธีทำน้ำมันพรายเอาไว้ว่า สัปเหร่อจะไปแอบขุดผีตามหลุม ตัดหัวผีมาเอาไต้ลนคางผี น้ำมันในสมองจะไหลลงมาใส่ในที่รอง ถ้าเป็นน้ำมันผีพรายเพื่อเอามาทำเสน่ห์จะต้องใช้ผีตายโหง จากนั้นก็เอาน้ำมันไปเข้าพิธีผสมเครื่องหอม เช่นน้ำมันจันทน์ คือถ้าน้ำมันจันทน์หนึ่งถ้วยชา ก็เอาน้ำมันพรายนี้ผสมลงไปสักสองสามหยดเท่านั้น ถ้ามากนักกลิ่นเหม็นจะเกิดขึ้น และน้ำมันมันพรายยังแบ่งออกเป็นสองอย่าง คือชนิดหนึ่งใช้ทำเสน่ห์ ใช้น้ำมันจันทน์มากและเข้าพิธีคาถาอาคมไสยศาสตร์ครบครัน อีกอย่างหนึ่งใช้ทำให้บ้า ใช้น้ำเหลืองผีมาก ใช้น้ำมันหอมน้อย และไม่ได้ลงเลขยันต์อะไรเลย ส่วนรายละเอียดและเนื้อเรื่องทั้งหมดมีอะไรบ้างนั้น ก็ขอเชิญไปหาอ่านกันเอาเองก็แล้วกัน (หนังสือก็ยังพอหาซื้อได้อยู่ในงานสัปดาห์หนังสือ)

ว่าแต่ว่าเคยสังเกตไหมครับ ว่าในเรื่องผีเก่า ๆ ของไทย (เช่นแม่นาคพระโขนง) พอใครตายแล้วหลังสวดเสร็จก็จะเอาศพไปฝัง เก็บไว้ในโกดังเก็บศพ หรือไม่ก็เก็บคาบ้านเอาไว้ก่อน เมื่อได้เวลา (ซึ่งมักจะหลังตายไปนานแล้ว) จึงค่อยนำมาเผา แต่ในปัจจุบันแทบจะไม่มีการทำเช่นนั้นแล้ว หลังเสียชีวิตพอสวดศพกันได้ ๓ วันหรือ ๗ วันก็มักจะเผากันเลย
  
ผมเองก็เคยคิดเรื่องนี้ คิดว่าสาเหตุหนึ่งน่าจะเป็นเพราะสมัยก่อนนั้นวัด (หรือถ้าย้อนหลังไปอีกก็คงเรียกว่าทุกวัด) ยังไม่มีความพร้อมเรื่องเมรุเผาศพเหมือนในปัจจุบัน จะเผาศพแต่ละทีก็ต้องสร้างเมรุขึ้นที ที่นี้ศพที่ตายไม่นานนัก ร่างกายยังไม่ย่อยสลาย จะเผาได้ยาก โดยเฉพาะศพสด ดังนั้นจะเป็นการง่ายกว่าถ้าปล่อยทิ้งให้ร่างกายย่อยสลายไปมากแล้วจนเหลือแต่กระดูกเป็นส่วนใหญ่ แล้วจึงค่อยนำเอากระดูกมาเผา แต่ในปัจจุบันการเผาศพกระทำกันในเตาเผาแบบปิด ใช้น้ำมันหรือแก๊สเป็นเชื้อเพลิง การเผาศพทำได้รวดเร็ว และอาจรวมทั้งสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป จึงทำให้ความนิยมที่จะเก็บศพเอาไว้แล้วค่อยมาทำพิธีเผาภายหลังนั้นลดน้อยไป เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็นบางประการ

ไม่มีความคิดเห็น: