วันพุธที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2560

อนุสาวรีย์ทหารจีนที่สะพานข้ามแม่น้ำแคว (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๑๓๐) MO Memoir : Wednesday 26 April 2560

เชิงสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแควฝั่งตะวันตกมีสิ่งก่อสร้างที่เหมือนกับเป็นแท่งเสาสี่เหลี่ยมต้นหนึ่ง มีตัวหนังสือภาษาจีนเขียนอยู่รอบด้านทั้งสี่ ที่ฐานด้านหนึ่งเขียนเป็นภาษาไทยว่า "อนุสาวรีย์ทหารจีน"
 
ภาษาจีนนั้นเขียนว่าอะไรบ้างผมก็ไม่รู้หรอกครับ แต่ที่โคนเสานั้นมีป้ายกระดาษติดอยู่ มีทั้งฉบับที่เป็นภาษาไทยและภาษาจีน ฉบับภาษาไทยนั้นที่หัวกระดาษบอกว่าเป็น "คำบอกเล่าของศิลาจารึก" ส่วนข้อความนั้นเขียนว่าอย่างไรก็ลองอ่านกันเอาเองในรูปนะครับ
 
ที่ผมติดใจก็คือ เรื่องที่เขาเล่าเอาไว้ในฉบับภาษาไทย

ประเทศไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ่งหนึ่งที่มีการบันทึกเอาไว้ชัดเจนคือการสร้างทางรถไฟของกองทัพญี่ปุ่นเพื่อการลำเลียงปัจจัยต่าง ๆ ไปให้กับทหารที่ทำการสู้รบอยู่ในพม่า เส้นทางรถไฟที่ทำการก่อสร้างมีอยู่ด้วยกัน ๒ เส้นทาง เส้นทางแรกคือเส้นทางจากชุมทางหนองปลาดุก ไปยังจังหวัดกาญจนบุรี ก่อนเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟในประเทศพม่าทางด้านด่านเจดีย์สามองค์ เป็นเส้นทางที่เรียกว่า "เส้นทางรถไฟสายมรณะ" ในปัจจุบัน
 
เส้นทางที่สองเป็นเส้นทางจากจังหวัดชุมพร เลียบตามแนวถนนที่เป็นถนนเพชรเกษมในปัจจุบัน ไปสิ้นสุดที่ คลองละอุ่น อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง (Memoir ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๘๒๗ วันพฤหัสบดีที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๗ เรื่อง "สุดทางรถไฟที่ ละอุ่น ระนอง (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำตอนที่ ๗๗)")
 
เส้นทางสายกาญจนบุรีนั้นมีบันทึกเอาไว้ชัดเจนว่ามีการใช้เชลยศึกสัมพันธมิตร ร่วมกับแรงงานกรรมกรก่อสร้าง (ชาวจีนที่มาตั้งรกรากในมาลายู และชาวมลายู) ในขณะที่เส้นทางสายระนองนั้นจะใช้แรงงานกรรมกรก่อสร้างเป็นหลัก
 
จะว่าไปแล้ว จำนวนกรรมกรก่อสร้างในเส้นทางสายกาญจนบุรีที่เสียชีวิตในระหว่างการก่อสร้างอาจจะมีจำนวนที่มากกว่าจำนวนเชลยศึกทหารสัมพันธมิตรที่เสียชีวิตเสียอีก แต่ประวัติศาสตร์แทบไม่มีการกล่าวถึงแรงงานเหล่านั้น นั่นอาจเป็นเพราะเขาเหล่านั้นต้องเข้าไปทำการก่อสร้างในเขตป่าลึก ไม่ใช้ใกล้กับตัวจังหวัดเหมือนดังเช่นการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแคว
 
ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในระหว่างที่กองทัพญี่ปุ่นรบกับกองทัพจีนนั้น ทางกองทัพญี่ปุ่นสามารถปิดการติดต่อทางทะเลของกองทัพจีนได้ ทำให้การส่งการสนับสนุนของอังกฤษกับสหรัฐอเมริกาให้กับกองทัพจีนต้องทำทางบก เส้นทางที่ใช้คือจากอินเดีย ผ่านตอนเหนือของประเทศพม่า และเข้าจีนตอนใต้ ถนนเส้นนี้ในเชตประเทศพม่ามีชื่อว่า "Ledo road" แต่พอเข้าเขตประเทศจีนแล้วมีชื่อเป็น "Burma road"
 
นักประวัติศาสตร์บางรายให้ความเห็นว่า เพราะถนนเส้นนี้ ร่วมกับการยึดทรัพย์ของประเทศญี่ปุ่นในต่างประเทศ และการไม่ขายน้ำมันให้กับประเทศญี่ปุ่น จีงทำให้ญี่ปุ่นจำเป็นต้องเข้ายึดครองภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเข้าครอบครองแหล่งน้ำมันในอินโดนีเซีย และเข้าไปปิดเส้นทาง Ledo road ทำให้จำเป็นต้องเดินทัพผ่านประเทศไทยให้ได้โดยเร็ว แผนการนี้จึงเป็นแผนการที่เรียกว่าเขียนขึ้นกันอย่างเร่งด่วน ไม่ใช่สิ่งที่วางแผนเอาไว้ล่วงหน้าหลายปีก่อนหน้า (หลังจากไทยมีปัญหากรณีพิพาทอินโดจีนกับฝรั่งเศส ฝรั่งเศสได้ให้ญี่ปุ่นยกกองทัพเข้ามาดูแลเมืองขึ้นในภูมิภาคนี้แทน (ตอนนั้นทั้งฝรั่งเศสแพ้เยอรมันไปเรียบร้อยแล้ว) เรียกว่ากองทัพญี่ปุ่นมารออยู่ในเขมรแล้ว พร้อมที่จะเคลื่อนทัพทางรถไฟจากอรัญประเทศเข้าสู่กรุงเทพได้ทันที)
 
รูปที่ ๑ มองย้อนออกไปทางสะพานข้ามแม่น้ำแคว

รูปที่ ๒ อีกมุมหนึ่งของอนุสาวรีย์

รูปที่ ๓ คำบอกเล่าที่ติดไว้ที่ฐานอนุสาวรีย์ ที่เห็นว่ามีข้อความที่น่าสงสัยในเรื่องความถูกต้อง โดยเฉพาะเรื่องที่กล่าวถึง การใช้เชลยศึกทหารจีนมายืนป้องกันสะพานไม่ให้เครื่องบินทิ้งระเบิดใส่ มีศพตายเต็มแม่น้ำจนน้ำเป็นสีแดงไปหมด ก็เป็นเรื่องที่ส่วนตัวแล้วต้องบอกว่าไม่เคยได้ยินมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่าของทางฝ่ายไทยหรือบันทึกของเชลยศึกผู้รอดชีวิต 

รูปที่ ๔ นอกจากภาษาไทยแล้วก็มีภาษาจีนด้วย ใครอ่านได้ก็ลองอ่านเอาเองก็แล้วกันครับ

รูปที่ ๕ มองย้อนกลับไปยังฝั่งตรงข้ามที่ยังมีตำแหน่งสะพานไม้ข้ามแม่น้ำแควอีกสะพาน คาดว่าตำแหน่งที่ยืนถ่ายรูปนี้น่าจะเป็นอีกฝั่งหนึ่งของสะพานไม้ข้ามแม่น้ำแคว (Memoir ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๔๔๔ วันศุกร์ที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๕๕ เรื่อง "ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๑๗ สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแควมีสองสะพาน")

ในขณะนั้นอังกฤษยังแทบจะเอาตัวไม่รอดจากเยอรมัน ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าความพร้อมของอังกฤษในการสู้รบในภูมิภาคนี้จะมี สิ่งที่พอจะอ่าน (ต้องอ่านระหว่างบรรทัดนะ) ได้จากประวัติศาสตร์คืออังกฤษคาดหวังว่าไทยจะไม่ยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเข้าประเทศได้ง่าย ๆ เพื่อที่ทางอังกฤษเองจะได้มีเวลาเตรียมตัว แต่ทางรัฐบาลไทยในขณะนั้นไม่เล่นด้วย เพราะไม่รู้ว่าทำไปต้องให้คนไทยยอมเจ็บตัวเพื่อผลประโยชน์ของอังกฤษ (ไทยรู้อยู่แล้วว่ารบไปก็แพ้อยู่ดี และเป้าหมายของญี่ปุ่นนั้นไม่ใช่ประเทศไทย) ผลก็คือรบกันอยู่แค่วันเดียวแล้วก็ปล่อยให้ทัพญี่ปุ่นเดินทางประเทศไปดื้อ ๆ และนี่คงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลอังกฤษเคืองแค้นประเทศไทยมาก

ในช่วงแรกของการรบในพม่า ทหารอังกฤษและชนเผ่ากลุ่มน้อย (อังกฤษไม่ใช้ทหารพม่า และใช้ชนกลุ่มน้อย เพราะคนพม่าเองก็ต้องการอิสระภาพจากอังกฤษ ตอนนั้นนายพลอองซานอยู่ข้างญี่ปุ่นด้วยซ้ำไป) ถอยร่นไม่เป็นขบวน ต้องเข้าไปตั้งหลักในอินเดีย เส้นทาง Ledo road ก็ถูกตัดขาด แต่ด้วยความยากลำบากในการส่งกำลังบำรุงของกองทัพญี่ปุ่น และการที่เส้นทางดังกล่าวสำคัญต่อการอยู่รอดของกองทัพจีน ทำให้ทางกองทัพอังกฤษและกองทัพจีนสามารถเข้ามาเปิดเส้นทางนี้ได้ใหม่ ดังนั้นทหารจีนที่รบกับทหารญี่ปุ่นนั้นทำการรบอยู่ทางตอนเหนือของประเทศพม่า ด้านที่ติดกับพรมแดนจีน แม้แต่ในช่วงหลังสงครามที่กองทัพอังกฤษยกตีกองทัพญี่ปุ่นถอยร่นมายังพรมแดนประเทศไทย ก็ใช้กองกำลังทหารจากอินเดียเป็นหลัก
 
แรงงานที่ใช้ในการก่อสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแคว และช่วงที่ต่อออกไปจากจังหวัดกาญจนบุรี (อย่างน้อยก็ไปจนถึงช่องเขาขาดในปัจจุบัน) นั้น ประวัติศาสตร์ก็บันทึกเอาไว้ว่าใช้แรงงานเชลยศึกที่เป็นคนผิวขาวเป็นหลัก ไม่ได้เป็นเชลยศึกทหารจีน จะว่าไปค่ายเชลยศึกแถวตัวจังหวัดกาญจนบุรีก็แทบจะไม่มีรั้วกั้นการหลบหนีด้วยซ้ำ แถมรอบข้างเป็นป่า ทำให้ฝรั่งผิวขาวหลบหนีได้ยากเพราะไม่รู้จักการดำรงชีพในป่า และแม้จะหลบหนีออกจากค่าย แต่ด้วยรูปร่างที่แตกต่างไปจากคนท้องถิ่นและความที่เป็นที่ไม่ชอบของคนท้องถิ่น ก็ทำให้หาตัวได้ง่าย แต่ถ้าเป็นคนจีนก็อีกเรื่องหนึ่ง

รูปที่ ๖ สุดเส้นทางรถไฟสายมรณะที่ยังคงหลงเหลืออยู่ฝั่งไทย ที่น้ำตกไทรโยคน้อย


รูปที่ ๗ มองย้อนจากศาลาพักผู้โดยสารที่สถานีไทรโยคน้อย ไปยังเส้นทางที่มาจากสถานีน้ำตก

ฉบับนี้ก็ถือเสียว่าเป็นเรื่องราวเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ในบ้านเราเรื่องหนึ่งก็แล้วกันครับ

ไม่มีความคิดเห็น: