วันพุธที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2561

รถไฟ ไปเรื่อย ๆ (๖) เลขที่ออกคือ ศูนย์-ศูนย์-ศูนย์ MO Memoir : Wednesday 4 April 2561

"..... ในระหว่างการเลี้ยง เสด็จในกรมพระกำแพง ฯ รับสั่งให้พระยาอานุภาพ ฯ ทราบว่า จะทรงเร่งรัดให้อังกฤษสร้างทางรถไฟของเราที่ช่องสิงขรเสียที เพราะตกลงกันมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๖ พระยาอานุภาพ ฯ สนองพระบัญชาว่า ในหน้าที่เจ้ากรมยุทธการ ฯ อยากให้ระงับการเชื่อมทางสายนี้ เพราะเป็นเส้นทางส่งกำลังของฐานทัพอังกฤษที่สิงคโปร์ ถ้ามีสงครามเกิดขึ้นและไม่มีทางรถไฟสายนี้ การส่งกำลังไปป้อนฐานทัพที่สิงคโปร์จะไม่สะดวก เพราะอาจถูกเรือรบข้าศึกรบกวน แต่ถ้ามีรถไฟสายนี้ขึ้นแล้ว อังกฤษจะส่งกำลังจากมัทร๊าส หรือเมืองท่าแห่งอื่นที่อยู่ฝั่งตะวันออกของอินเดียข้ามขึ้นมาที่มะริดตะนาวศรี แล้วก็ลำเลียงตามทางรถไฟไปสิงคโปร์ นอกจากนั้นเขาอาจอ้างกับเราว่า เพื่อความปลอดภัยของเขา เขาจะขอเข้ารักษาทางรถไฟสายนี้เอง เราจะว่ากระไร การที่เราไม่ตั้งหน่วยทหารไว้ที่ปักษ์ใต้นั้น เป็นวิธีการที่จะทำให้เขาเชื่อว่าเราไว้ใจเขา ยิ่งพระองค์เจ้าบวรเดชด้วยแล้ว ทรงห้ามการวางแผนต่อสู้ทางด้านตะวันตกของประเทศไทยเลยทีเดียว พระยาอานุภาพ ฯ ไม่เห็นด้วยเลยที่จะปล่อยให้ข้าศึกลอยชายเข้าบ้านเฉย ๆ ผิดนักถอนขนหน้าแข้งได้สักเส้นก็ยังดี การปล่อยให้เส้นทางมะริดตะนาวศรีประจวบเป็นเครื่องกีดขวางสำคัญโดยธรรมชาติอย่างนี้ต่อไปพระยาอานุภาพ ฯ เห็นว่าเป็นการดีแล้ว ....."
 
ข้อความในย่อหน้าข้างต้นคัดมาจากหน้า ๘๔-๘๕ ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลตรีพระยาอาณุภาพไตรภพ เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๔) เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในปีพ.ศ. ๒๔๗๐ ซึ่งตรงกับช่วงรัชกาลที่ ๗
 
แม้ว่าคำทักท้วงด้วยเหตุผลของพระยาอานุภาพไตรภพ นั้นจะทำให้เสด็จในกรมพระกำแพงจะไม่พอพระทัย แต่ในที่สุดทางเสด็จในกรมพระกำแพง ฯ ก็ได้บอกเลิกการสร้างทางรถไฟผ่านสิงขร เรื่องนี้เคยเล่าไว้ครั้งหนึ่งแล้วใน Memoir ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๙๓๖ วันพุธที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ เรื่อง "เส้นทางรถไฟเชื่อมไทยกับพม่า (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำตอนที่ ๘๖)"

การเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟ นำมาซึ่งความสะดวกในการเดินทางและการพัฒนาการทางเศรษฐกิจ แต่ในแง่ความมั่นคงแล้ว อาจนำมาซึ่งปัญหาได้ การจะทำความเข้าใจแนวความคิดของเสนาธิการทหารในเวลานั้น คงต้องกลับไปดูด้วยว่าช่วงเวลาก่อนหน้านั้นโดยเฉพาะก่อนที่ไทยจะเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ ๑ โดยอยู่ร่วมกับทางอังกฤษและฝรั่งเศสนั้น ประเทศมหาอำนาจที่เข้ามาแผ่อิทธิพลอยู่รอบสยามนั้นเห็นสยามเป็นอย่างไร แม้ว่าสยามจะอยู่ทางฝ่ายผู้ชนะสงคราม ทำให้เปิดโอกาสในการแก้ไขสนธิสัญญาต่าง ๆ ที่ไม่เป็นธรรมที่จำเป็นต้องกระทำเอาไว้ก่อนหน้านั้น แต่การพ่ายแพ้ของเยอรมันที่สยามเคยใช้เป็นผู้ช่วยถ่วงดุลอิทธิพลของอังกฤษและฝรั่งเศสนั้น ทำให้สยามไม่มีผู้ที่จะเข้ามาช่วยถ่วงดุลเอาไว้
 
เมื่อแรกสร้างนั้นเส้นทางรถไฟทางด้านฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาใช้รางขนาด standard gauge ในขณะที่เส้นทางรถไฟสายใต้นั้นที่ต้องการเชื่อมต่อเข้ากับมลายูของอังกฤษใช้รางขนาด metre gauge การเชื่อมเส้นทางเข้ากับมลายูทำให้การเดินทางจากกรุงเทพไปยุโรปกระทำได้เร็วขึ้น คือนั่งรถไฟไปขึ้นเรือที่สิงคโปร์ได้เลย ไม่ต้องเสียเวลานั่งเรืออ้อมคาบสมุทรมลายา และเวลาเดินทางกลับก็เช่นเดียวกันก็สามารถเดินทางได้เร็วขึ้น
 
แต่การที่ฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาใช้รางต่างขนาดกัน ทำให้เกิดปัญหาในการเดินทางเพราะขบวนรถไฟนั้นไม่สามารถแล่นจากเหนือจรดใต้ได้โดยตรง ถ้าเลือกปรับขนาดรางมาเป็น standard gauge ก็จะได้ประโยชน์ในแง่ที่ว่ารถไฟชาติมหาอำนาจไม่สามารถเข้ามาใช้เส้นทางรถไฟในสยามได้ แต่ก็จะสูญเสียความสามารถในการเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อการเดินทางในภูมิภาค เพราะประเทศรอบข้างต่างก็ใช้รางขนาด metre gauge

รูปที่ ๑ การวางรางขนาด metre gauge ร่วมกับ standard gauge

รูปที่ ๒ หัวรถจักรขบวนนี้ใช้รางขนาด standard gauge จอดอยู่ที่ถนนหน้าทางเข้าเจษฎาเทคนิคมิวเซียมที่นครชัยศรี (จากศาลายาก็วิ่งถนนเส้นเลียบทางรถไฟไปเรื่อย ๆ ตรงไปจนสุดทางก่อนถึงแม่น้ำท่าจีน ก็ให้เลี้ยวขวาเข้าไป พอข้ามทางรถไฟก็จะเห็นหัวรถจักรขบวนนี้จอดอยู่)

รูปที่ ๓ ทางด้านท้ายของหัวรถจักร
 
ถ้ามองในแง่เทคนิคการปรับเปลี่ยนขนาดราง การเปลี่ยนรางขนาด standard gauge มาเป็น metre gauge จะทำได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะในยุคที่ไม้หมอนรองรางทำจากไม้ เพราะสามารถวางรางที่ ๓ ไว้ระหว่างกลาง (เพราะไม้หมอนมีความยาวมากพอ และจะตอกตะปูยึดรางตรงไหนก็ได้) อย่างเช่นในรูปที่ ๑ ที่ขนาดรางที่วัดจากรางด้านซ้ายมายังรางด้านขวาตัวในนั้นจะมีขนาดเป็น metre gauge แต่ถ้าเป็นรางด้านขวาตัวนอกก็จะมีขนาดเป็น standard gauge ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ในช่วงเวลาการปรับเปลี่ยนนั้นรถไฟที่ใช้รางขนาดกว้างแตกต่างกันสามารถวิ่งบนเส้นทางเดียวกันได้ และพอวางรางขนาด metre gauge ครบเสร็จสิ้น ก็สามารถรื้อรางที่อยู่ด้านนอกสุดได้
 
แต่ถ้าจะเปลี่ยนจาก metre gauge มาเป็น standard gauge นั้น คงต้องวางรางกันใหม่หมด เพราะไม้หมอนรองรางของ metre gauge นั้นมันสั้นเกินไป ตรงนี้ลองดูในรูปที่ ๑ หรือ ๒ ดูก็ได้ครับ จะเห็นว่าไม้หมอนคอนกรีต (ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน) ที่ใช้สำหรับราง metre gauge นั้นมันสั้นเกินไปสำหรับรางกว้าง standard gauge
 
ส่วนปัญหาเรื่องที่ว่าถ้าสยามเปลี่ยนมาใช้รางขนาด metre gauge กันทั้งประเทศนั้น ชาติมหาอำนาจ (โดยเฉพาะอังกฤษ) จะสามารถเข้ามาใช้เส้นทางรถไฟในสยามได้ง่ายจริงหรือไม่ ประเด็นนี้ก็ได้มีการยกเหตุผลขึ้นมาว่าคงไม่ง่ายนัก เพราะความสามารถในการรับน้ำหนักของรางรถไฟของสยามนั้นไม่ได้สูงเท่ากับของชาติมหาอำนาจที่ออกแบบไว้ (ขนคนคงพอได้ แต่ขนอาวุธหนักเช่นพวกรถถังคงจะไม่ไหว)

และในที่สุดสยามก็ได้เลือกที่จะใช้รางขนาด 1,000 mm ทั้งประเทศ

ขนาดความกว้างของรางรถไฟเนี่ย บางทีดูตัวเลขในหน่วยมิลลิเมตรแล้วอาจทำให้แปลกใจได้ว่าทำไมจึงไม่เป็นตัวเลขกลม ๆ แต่ถ้าพอไปดูในหน่วยฟุต-นิ้วก็อาจจะะทำให้เข้าใจได้ เช่นในกรณีของประเทศญี่ปุ่นที่ใช้รางขนาด 1,067 mm (คือทำไมไม่เป็น 1,000 mm ไปเลย) แต่ถ้าดูในหน่วยฟุต-นิ้วก็จะมีค่าเป็น 3 ฟุต 6 นิ้วซึ่งเป็นเลขลงตัว

ในกรณีที่รางมีขนาดแตกต่างกันไม่มาก จะทำให้ไม่สามารถวางรางเส้นที่สามที่แคบกว่าไว้ทางด้านในได้ ต้องเสียเวลาในการปรับเปลี่ยนขนาดรางใหม่ เช่นเมื่อตอนที่กองทัพเยอรมันบุกรัสเซียในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น เส้นทางขนส่งในรัสเซียต้องใช้ทางรถไฟเป็นหลัก (เครือข่ายถนนในรัสเซียยุคนั้นไม่ดี และใช้ได้เพียงแค่บางฤดูกาล) เส้นทางการบุกของกองทัพเยอรมันไปทางตะวันออกจึงยึดแนวเส้นทางรถไฟเป็นหลัก และเมืองที่เป็นเป้าหมายของการเข้ายึดก็มักเป็นเมืองที่เป็นชุมทางเส้นทางรถไฟหรือมีสะพานสำหรับข้ามแม่น้ำ ผมเองตอนนั่งอ่านประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยเฉพาะแนวรบด้านตะวันออก (ระหว่างเยอรมันกับรัสเซีย) ตอนแรกก็งงเหมือนกันว่าทำไมเส้นทางการบุกในสมรภูมิต่าง ๆ จึงต้องเป็นแนวนั้น แต่พอได้เห็นแผนที่เส้นทางรถไฟและจุดที่มีสะพานข้ามแม่น้ำก็ทำให้ภาพต่าง ๆ ชัดเจนขึ้นมาก
 
จากโปแลนด์ไปยังยุโรปตะวันตกนั้นใช้รางขนาด standard gauge (กว้าง 1,435 mm) ในขณะที่รัสเซียนั้นใช้รางขนาดกว้าง 1,520 mm (5 ฟุตพอดี) ซึ่งกว้างกว่าเล็กน้อย ดังนั้นเมื่อกองทัพเยอรมันเดินหน้าลึกเข้าไปในดินแดนรัสเซีย ก็ต้องมีกองกำลังที่ต้องมาคอยปรับเปลี่ยนขนาดรางเพื่อให้สามารถขนส่งยุทธปัจจัยต่าง ๆ โดยรถไฟไปยังแนวหน้าได้ เพราะโรงงานผลิตนั้นตั้งอยู่ในเยอรมัน ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๑ โปแลนด์ก็เป็นส่วนหนึ่งของเยอรมัน ดังนั้นการเดินรถไฟระหว่างเยอรมันกับโปแลนด์นั้น ไม่มีปัญหาอะไร ปัญหามันเริ่มเกิดเมื่อข้ามเข้าดินแดนรัสเซีย
 
และเช่นเดียวกันเมื่อรัสเซียทำการตีโต้กลับ ก็ประสบกับปัญหาเช่นเดียวกัน แต่ท่าทางจะหนักกว่า เพราะทางเยอรมันเลือกที่จะทำลายไม้หมอนรองรางด้วย (ไม่ได้ทำเพียงแค่ระเบิดสะพานหรือทำลายราง)
ในหนังสือ "Fatal Decisions : Six decisive battles of WWII from the viewpoint of the vanquished" ในบทเรื่อง "Moscow" General Günther Blumentritt ที่เป็นนายพลเยอรมันรายหนึ่งที่มีบทบาททางการรบในช่วงเวลาที่บุกเข้ารัสเซียนั้นเขียนเอาไว้ว่า
 
" The lines of communication with Germany, fantastically long and extremely tenuous, were scarely adequate to keep the armies fed with ammunition and essential supplies. The broad-gauge Russian railways hat to be re-laid to carry our European locomotives before we colud make use of them."


รูปที่ ๔ ส่วนหนึ่งของหนังสือประวัติศาสตร์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่มีเก็บสะสมไว้

ฝากปิดท้ายด้วยแผนที่เส้นทางรถไฟและการวางกำลังระหว่างทัพเยอรมันและรัสเซียในช่วงก่อนการบุกครั้งสุดท้ายของทัพเยอรมันเพื่อเข้ายึดกรุงมอสโก โดยเฉพาะตรงเมือง Rzhev ที่แม้ว่าทัพเยอรมันจะไม่สามารถเข้ายึดกรุงมอสโกได้แต่ก็พยายามรักษาเมืองนี้เอาไว้ ในขณะเดียวกันทางรัสเซียก็พยายามเอาเมืองนี้คืนจนทำให้การรบที่เมืองนี้ที่เรียกว่า Battle of Rzhev ที่เป็นการรบที่นองเลือดแห่งหนึ่งจนได้ฉายาว่า "The Rzhev Meat-grinder" นั่นก็เพราะเมืองนี้เป็นชุมทางรถไฟและมีสะพานข้ามแม่น้ำ Volga นั่นเอง (แม่น้ำสายเดียวกันกับที่ไหลผ่านเมืองสตาลินกราด) ที่สามารถใช้เป็นเส้นทางยกพลข้ามไปตีโอบด้านหลังกรุงมอสโกได้
 
รูปที่ ๕ แผนที่เส้นทางรถไฟที่มุ่งไปยังกรุงมอสโก (จากหนังสือ "The defense of Moscow 1941 : The northern flank" ก่อนการบุกครั้งสุดท้ายของทัพเยอรมันเพื่อเข้ายึดกรุงมอสโกในปฏิบัติการที่มีชื่อว่า Operation Typhoon

แต่สุดท้ายทางรัสเซียก็ได้เมืองนี้คืนมาง่าย ๆ เพราะเยอรมันเลือกที่จะถอนทหารออกไปเพื่อนำกองกำลังที่ประจำอยู่บริเวณนี้ไปใช้ที่อื่นและเป็นกำลังสำรอง และยังทำให้แนวรบนั้นสั้นลงด้วย ซึ่งสำคัญมากขึ้นสำหรับทางเยอรมันเพราะมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนกำลังพลแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น: