วันเสาร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2553

การเตรียมการสอบวิทยานิพนธ์ MO Memoir : Saturday 10 April 2553

จากที่แยกจากกันตอนเย็นเมื่อวาน ถึงตอนนี้นิสิตป.โทปี ๒ ทุกคนก็คงเหลือแต่การทำรูปเล่มฉบับสมบูรณ์เพื่อส่งให้กรรมการสอบ จากนั้นก็คงเป็นการพักผ่อนช่วงสงกรานต์และเตรียม power point เพื่อการสอบ ดังนั้นในวันจันทร์ที่ ๑๒ เมษายนที่จะถึงนี้ผมก็คงจะไม่ตรวจแก้งานให้พวกคุณ (ขืนทำเช่นนั้นก็คงจะไม่ได้ทำเอกสารส่งให้กรรมการอีก) คงตรวจแก้ส่งคืนให้อีกทีก็คงเป็นหลังสอบเสร็จ


Memoir ฉบับนี้จึงขอให้คำแนะนำในการเตรียมการสอบทั้งในเรื่องทั่วไป ในส่วนรูปเล่มวิทยานิพนธ์ และในส่วนของการนำเสนอ


. รูปเล่มวิทยานิพนธ์


สิ่งแรกที่คุณต้องไม่ลืมคือ คุณต้องมีฉบับส่วนตัวของคุณเองด้วย และควรเป็นฉบับที่เหมือนกับที่ส่งให้กรรมการสอบอ่านด้วย เพราะเวลาที่กรรมการสอบถามคำถามก็จะอ้างอิงไปยังเล่มที่กรรมการถืออยู่

เรื่องถัดมาคือคุณต้องรู้ว่าเขียนอะไรไว้ในหน้าไหน แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่คัดลอกของคนอื่นมา คุณก็ต้องอ่านมันให้เข้าใจ เข้าใจในที่นี้ไม่ใช่แค่ให้รู้คำแปล แต่ต้องเป็นเหมือนว่าคุณเป็นผู้เขียนเอง

ความเรียบร้อยของรูปเล่มก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่เห็นได้โดยไม่ต้องอ่าน เพียงแค่พลิกดูก็จะเห็นแล้วว่าคุณมีความตั้งใจในการทำวิทยานิพนธ์แค่ไหน เหมือนกับคนที่แต่งตัวดี ใครเห็นก็จะเกิดความประทับใจก่อน แต่หลังจากได้พูดคุยกันแล้วจะคิดอย่างไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ความเรียบร้อยของรูปเล่มในที่นี้คือการจัดรูปแบบ ระยะย่อหน้า รูปแบบตัวอักษร ขนาดตัวอักษร หัวข้อ รูปภาพ ตาราง การเว้นวรรค การเว้นบรรทัด การจัดกั้นหน้า ความคงเส้นคงวาต่าง ๆ เช่นการทำตัวเข้ม การขีดเส้นใต้ ฯลฯ ทางที่ดีคุณควรให้คนที่ไม่เคยอ่านงานของคุณให้เขาลองตรวจสอบความเรียบร้อยดูบ้าง เพราะคนที่อ่านเป็นประจำนั้นมักจะมองข้ามบ้างจุดไปเป็นประจำด้วยความเคยชิน ในขณะที่คนทีพึ่งจะเห็นเป็นครั้งแรกมักจะตรวจดูอย่างทั่วถึงมากกว่า


. การเตรียมการนำเสนอ


เชื่อว่าทุกคนคงใช้ power point เป็นหลัก แต่การนำเสนอนั้นไม่จำกัดอยู่เพียงแค่การใช้ power point คุณสามารถใช้การเขียนบนกระดาน นำตัวอย่างมาประกอบการนำเสนอด้วยก็ได้

power point ควรมีหมายเลขกำกับแต่ละหน้า และรูปผลการทดลองที่นำมาแสดงถ้าเป็นรูปเดียวกันกับในเล่มวิทยานิพนธ์ ก็ควรมีหมายเลขกำกับแจ้งด้วยว่าเป็นรูปไหนในเล่มวิทยานิพนธ์

effect ต่าง ๆ ที่ใส่เข้าไปในแต่ละหน้าของ power point นั้น ถ้าไม่จำเป็นใด ๆ ต่อการนำเสนอสิ่งที่คุณต้องการให้กรรมการเห็นก็ไม่จำเป็นต้องใส่เข้าไป สิ่งที่ต้องการให้กรรมการเห็นในที่นี้คือสิ่งที่เป็นหัวใจของการทำงาน ถ้างานของคุณเป็นการพัฒนาเทคนิคการทดลองใหม่ขึ้นมา คุณก็สามารถใส่ effect ต่าง ๆ เพื่อเน้นให้เห็นสิ่งที่คุณทำว่าแตกต่างไปจากคนอื่นอย่างไรบ้าง แต่ถ้าคุณใช้วิธีการที่เหมือนกับคนก่อนหน้าที่เคยทำมา (เช่นการเตรียมตัวเร่งปฏิกิริยา) คุณก็ไม่จำเป็นต้องใส่ effect ต่าง ๆ เข้าไปในรก (เช่นรูปการกวน การเติมสาร ฯลฯ)

การตอบคำถามก็สามารถใช้การเขียนหรือการวาดรูปช่วยก็ได้ ไม่ใช่ใช้แต่คำพูดอย่างเดียว บ่อยครั้งที่พบว่าการเขียนบนกระดาษตอบคำถามได้รวดเร็วและชัดเจนกว่าการพยายามพูดให้กรรมการสอบเข้าใจเสียอีก

ตัวอย่างผลการทดลอง ผลการคำนวณ ก็ให้เตรียมไว้ด้วย เช่นคุณคำนวณค่า conversion และ selectivity อย่างไร คำตอบประเภท "ใช้ Excel คำนวณ" นั้นไม่ควรมี แต่มีเป็นประจำกับกลุ่มที่ทำงานแบบรุ่นพี่ส่งโปรแกรมต่อ ๆ กันมาให้ โดยที่ไม่เคยมีการทำ calibration curve ของเครื่องมือ พวกนี้ดูได้ไม่ยากเพราะถ้าตรวจสอบย้อยหลังขึ้นไป (ดูจากชื่อผู้ที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา) จะเห็นว่าในวิทยานิพนธ์นั้นจะใช้กราฟ calibration curve เดียวกัน หรือพอถามรายละเอียดว่าได้กราฟมาตรฐานนั้นมาอย่างไร ก็จะอธิบายไม่ได้ ที่พบกันเป็นประจำคือ calibration curve ของ GC และกราฟที่ใช้คำนวณค่าขนาดของผลึกโดยใช้ Scherrer's equation

อุปกรณ์การชี้ก็เลือกใช้ตามแต่ถนัด บางคนอาจชอบใช้ laser pointer บางคนอาจชอบใช้การชี้บนจอ หรือบางคนอาจใช้เมาส์ชี้บนคอมพิวเตอร์ แต่สิ่งสำคัญคือต้องให้ผู้ชมนั้นมองเห็นสิ่งที่คุณต้องการชี้ให้เห็น


. การแต่งกาย


บอกได้สั้น ๆ ว่าแต่งกายให้สุภาพ เรียบร้อย "ในสายตาของกรรมการสอบ" ไม่ใช่ในสายตาของเพื่อนร่วมแลป นิสิตชายให้ใส่เสื้อเชิ้ตทรงเรียบร้อย ถ้าเป็นเสื้อแขนยาวต้องไม่พับแขนเสื้อ กางเกงทรงสุภาพ ไม่ใช่แบบเอวต่ำโชว์กางเกงใน รองเท้าหนัง ส่วนนิสิตหญิงก็ควรแต่งกายแต่พองาม ไม่ใช่เน้นโป๊เป็นหลัก ประเภทจะยืน จะชี้กระดาน หรือจะนั่ง ก็ต้องกลัวโป๊ไปหมด (ยังดีนะที่ยังรู้สึก บางรายเห็นไม่สนใจเลย) ไม่ควรใส่ชุดที่บางหรือรัดรูปจนเห็นทะลุไปหมดว่าใส่ชุดชั้นในรูปแบบไหน สีอะไร ลวดลายอะไร การแต่งหน้าก็แต่งได้พอควร (คงไม่ต้องถึงขั้นเอาชุดสำหรับแต่งไปงานแต่งงานมาใช้แต่งสอบหรอก)

สำหรับสมาชิกของกลุ่มที่จะเข้ารับฟังนั้น ขอให้แต่งกายให้สุภาพเรียบร้อยเหมือนกับผู้เข้าสอบด้วย ถือเสียว่าเป็นการให้เกียรติแก่ผู้สอบ เพราะการสอบนั้นเป็นงานสำคัญของพวกเขา นิสิตหญิงก็ควรสวมกระโปรง เสื้อสุภาพ รองเท้าเรียบร้อย (ไม่ลากรองเท้าแตะ) ส่วนนิสิตชายก็ควรแต่งตัวให้เรียบร้อยดังที่เขียนไว้ข้างบนด้วย อย่ามาในเครื่องแต่งกายเหมือนกับว่างานสอบนี้เป็นงานแบบขอไปที ตื่นนอนในชุดไหนก็มาในชุดนั้น

ถ้าจะชวนใครเข้าฟังหรือจะมีใครขอเข้าฟังก็บอกเขาหน่อยว่างานนี้ขอนะเรื่องการแต่งกาย ถ้าคุณจัดงานแต่งงานของคุณเอง (ขอให้ทุกคนมีโอกาสนะ) คุณก็คงไม่อยากให้แขกที่มาร่วมงานแต่งตัวแบบไม่เอาไหนใช่ไหม งานสอบนี้ก็แบบเดียวกัน


. การเตรียมของว่าง


จริง ๆ แล้วกรรมการไม่ได้กะมากินของว่างหรืออาหารใด ๆ ในระหว่างการสอบหรอก แต่หลัง ๆ ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไรดูเหมือนว่าจะเตรียมกันให้หนักเหลือเกินจนกลายเป็นว่าต้องทำให้ออกมาดีที่สุด เวลากรรมการจะให้คะแนนสอบเขาดูที่เนื้องานวิทยานิพนธ์ที่คุณส่งให้ดู ไม่ใช่ของกินที่คุณเตรียมให้กิน

ผมพูดเล่นอยู่เสมอว่า อย่าเสริฟกาแฟให้กรรมการสอบ โดยเฉพาะการสอบในช่วงบ่าย เพราะจะทำให้กรรมการสอบไม่ง่วง


. การเตรียมใจเพื่อตอบคำถาม


ส่วนนี้คงเป็นส่วนที่ยากที่สุดมั้ง ถึงเวลานั้นคุณต้องพึ่งอยู่บนตัวคุณเองแล้ว เพราะเป็นการสอบตัวคุณเองไม่ใช่อาจารย์ที่ปรึกษา งานต่าง ๆ ที่คุณส่งให้กรรมการอ่านจะถูกตรวจสอบด้วยการถามคำถาม เพื่อที่จะดูว่าคุณได้ทำงานนั้นจริงหรือเปล่า คุณได้ทำโดยรู้เรื่องหรือเปล่าว่าทำไปทำไม ความคิดที่ว่าที่ทำมานั้นทำเพราะอาจารย์สั่งให้ทำไม่ควรมีอยู่ เพราะถ้าแสดงอาการนี้เมื่อใดกรรมการก็รู้เลยว่าคุณไม่ได้รู้เรื่องอะไรในงานที่ทำ เป็นเพียงแค่ลูกมือทำแลปให้อาจารย์เท่านั้นเอง และอย่าคาดหวังว่าอาจารย์ที่ปรึกษาจะช่วยตอบ ผมเคยกล่าวในห้องสอบว่างานนี้เป็นงานสอบนิสิตหรือสอบอาจารย์กันแน่ เพราะนิสิตตอบคำถามอะไรไม่ได้เลย อาจารย์ที่ปรึกษาเป็นผู้ตอบให้ทั้งหมด

หน้าที่ของคุณคือการปกป้องผลงานที่คุณกระทำ ไม่ใช่ปกป้องผลงานที่ผู้อื่นกระทำ เรื่องนี้เห็นเป็นประจำเวลาที่กรรมการสอบนั้นมีความเห็นว่าบทความ (paper นั่นแหละ) ที่นำมาเสนอนั้นมันไม่ถูกต้อง นั่นก็เป็นเรื่องระหว่างกรรมการสอบท่านนั้นกับบทความนั้น ไม่ใช่หน้าที่ของคุณที่จะต้องเข้าไปปกป้องผลงานของบทความนั้น คุณมีสิทธิที่จะมีความเห็นต่างจากบทความ โดยมีความเห็นเช่นเดียวกันกับที่กรรมการสอบเห็นด้วยก็ได้

แต่ถ้าเป็นกรณีที่คุณนำเอาข้อมูลจากบทความนั้นมาใช้ประโยชน์ (เช่นนำตัวเลขต่าง ๆ หรือวิธีการวิเคราะห์ หรือผลสรุป มาใช้) คุณก็ต้องปกป้องบทความนั้นว่าสิ่งที่เขาทำ (และคุณนำมาใช้) นั้นถูกต้อง

ที่ผ่านมานั้นผมไม่เคยช่วยนิสิตของผมเองตอบคำถามในระหว่างการสอบ และผมก็ไม่เคยถามคำถามใด ๆ ให้กับกรรมการแทนนิสิตที่ผมส่งเข้าสอบ เพราะผมถือว่าถ้าผมยังมีข้อสงสัยใด ๆ ในงานที่พวกคุณทำ ผมก็จะยังไม่ส่งคุณเข้าห้องสอบ และเมื่อเข้าห้องสอบแล้วก็เป็นหน้าที่ของพวกคุณที่จะต้องตอบคำถาม เพราะกรรมการสอบจะถือว่าวิทยานิพนธ์นั้นเป็นงานที่ผู้กระทำจะต้องรู้เหตุผลในทุกอย่างที่ตัวเองได้กระทำลงไป ผมจะทำอย่างมากคือชี้แจงคำตอบที่ถูกต้อง (ถ้ามีการตอบแบบมั่ว ๆ) ให้กรรมการท่านอื่นรับทราบ ในขณะที่ทำการประชุมผลการสอบ

อีกอย่างคือผมไม่ห้าม แต่ก็ไม่แนะนำ ให้ผู้ที่ยังไม่สอบเข้าไปฟังการสอบของเพื่อนคนที่สอบก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นการสอบในเรื่องที่คล้ายกัน หรือสอบโดยกรรมการชุดเดียวกัน


หวังว่าสถานการณ์ต่าง ๆ คงเรียบร้อยก่อนวันจันทร์ ไม่เช่นนั้นคงมีปัญหาเรื่องการส่งวิทยานิพนธ์ให้กับกรรมการสอบ

ไม่มีความคิดเห็น: