วันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2553

แต่งตัวไปสอบสัมภาษณ์งาน MO Memoir : Sunday 25 April 2553

เมื่อสักประมาณ ๑๐ ปีที่แล้วมีนิสิตหญิงผู้หนึ่ง (กำลังจะจบป.เอก) ผ่านการสอบสัมภาษณ์งานรอบแรกของโรงกลั่นน้ำมันแห่งหนึ่งที่สำนักงานในกรุงเทพ ทางบริษัทก็ให้ไปทำการสอบสัมภาษณ์รอบที่สองที่ตัวโรงกลั่นเองที่อยู่ต่างจังหวัด เขาก็มาปรึกษาผมว่าจะแต่งตัวอย่างไรดีในการไปสอบสัมภาษณ์ครั้งนี้


ผมก็บอกเขาว่า "ให้โทรไปถามเขาซิ แต่อย่าถามว่าให้แต่งตัวอย่างไร ให้ถามคำถามอื่นแทน"


อย่าแปลกใจถ้าคุณต้องไปสอบสัมภาษณ์แล้วถามเขาว่าต้องแต่งตัวอย่างไร แล้วเขาตอบกลับมาว่า "แต่งยังไงก็ได้" เพราะนั่นเป็นข้อสอบข้อแรกที่เขาต้องการสอบวิจารณญานในการคิดของคุณ คุณควรแต่งตัวอย่างไรนั้นควรต้องใช้ความรู้สึกของคนที่คุณจะต้องไปคุยกับเขาด้วย (ซึ่งตรงนี้ยาก เพราะคุณไม่รู้ว่าคนคนนั้นเป็นใคร แต่น่าจะพอเดาได้จากตำแหน่งหน้าที่และอายุของเขา) ไม่ใช่ใช้ความรู้สึกของเพื่อนฝูงว่าอย่างนี้ก็ใช้ได้ เพราะบ่อยครั้งที่การแต่งตัวของผู้เข้าสอบนั้นดูดีในหมู่เพื่อนฝูงที่เป็นวัยรุ่นด้วยกัน แต่คนที่มาสัมภาษณ์ (ซึ่งมีวัยอาวุโสมากกว่านั้น) รับการแต่งกายแบบนั้นไม่ได้

การไปสอบสัมภาษณ์ที่สำนักงานในกรุงเทพ (ก็ชัดเจนว่าเป็นการพูดคุยกันในห้องทำงาน) คุณก็คงคิดเองได้ว่าควรแต่งกายอย่างไร แต่การให้ไปสอบสัมภาษณ์ที่โรงงาน (สถานที่ที่ต้องไปทำงานจริง และผู้ที่มาสอบสัมภาษณ์ก็เป็นผู้ที่ต้องการคนไปทำงานด้วย) นั้นอาจเป็นการสอบสัมภาษณ์ ณ อาคารสำนักงานของโรงงาน หรือมีการนำไปเข้าเยี่ยมชมโรงงานจริง หรือทั้งสองอย่าง รูปแบบการแต่งตัวที่พวกที่ทำงานในสำนักงานนั้นชอบ (ซึ่งมักจะเป็นรูปแบบที่ดูหล่อดูสวยไว้ก่อน) มักจะไม่เหมาะสมกับการทำงานในโรงงาน (ที่ต้องรัดกุมปลอดภัยไว้ก่อน และมักจะดูไม่ได้เรื่องในสายตาของคนทำงานสำนักงาน) แต่ปัญหาก็คือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าการสอบนั้นจะเป็นรูปแบบไหน ซึ่งจะรู้ได้โดยการ "ถาม"


คำถามที่ผมแนะนำให้นิสิตผู้นั้นโทรไปถามทางบริษัทคือ "มี ข้อห้ามหรือข้อจำกัดใดบ้าง ของการแต่งตัวเข้าโรงงาน" กล่าวคือให้โทรไปถามระเบียบการแต่งกายเข้าโรงงานว่ามีข้อห้ามใดบ้าง โดยลองถามเขาว่าห้ามนำอุปกรณ์ใดไปบ้างหรือเปล่า (เช่นพวกอุปกรณ์สื่อสาร) และถามเขาต่อไปว่าในการเข้าไปในเขตโรงกลั่นมีข้อห้ามใดบ้างหรือเปล่า ถ้าเขาตอบมาว่าไม่มีการเข้าไปโรงกลั่นคุณก็พอจะเดาได้เลยว่าน่าจะเป็นเพียงแค่การคุยกันที่อาคารสำนักงานเท่านั้น แต่ถ้าเขาบอกข้อจำกัดมาให้ก็น่าจะเดาไว้ก่อนว่าต้องมีการพาเข้าโรงกลั่น

นิสิตชายไม่ค่อยมีปัญหาเท่าใดในการแต่งตัวเพราะมักจะต้องใส่รองเท้าหนังและเสื้อเชิ้ตอยู่แล้ว (แต่คงไมใช่กางเกงยีนส์) ส่วนนิสิตหญิงมักจะมีปัญหาว่าควรสวมกระโปรงหรือกางเกง ถ้าสอบสัมภาษณ์ในสำนักงานการสวมกระโปรงไปสอบก็ดูดีกว่า แต่ถ้าเข้าโรงงานการสวมกางเกงก็จะเหมาะสมกว่า แต่ในกรณีนี้ต้องไปทั้งสองที่แล้วจะให้ทำอย่างไร

ผมก็บอกเขาให้สวมกางเกงไป (กางเกงสแล็คแบบของผู้หญิง) รองเท้ารัดกุม (ไม่ใช่ชนิดส้นสูงจนเดินโรงงานไม่ได้) สวมเชิ้ตโดยอาจมีเสื้อนอกสวมทับ แบบสาวทำงานออฟฟิต เก็บผมให้ดูไม่รก เครื่องประดับ (โดยเฉพาะตุ้มหู) อย่าให้ดูรกรุงรัง ส่วนเรื่องการแต่งหน้าก็ไม่ได้แนะนำอะไรมากเพราะผู้หญิงน่าจะรู้ดีกว่าผู้ชายอยู่แล้ว ก็คือให้เหมาะกับอาชีพที่ไปสมัครงาน


ในการสอบวันนั้นมีผู้เข้าสอบ ๕ คน เขาพาไปดูโรงงานก่อนแล้วให้กลับมานั่งเขียนบทความเป็นภาษาอังกฤษความยาวไม่เกิน ๒ หน้ากระดาษ A4 เกี่ยวกับสิ่งที่เข้าไปเห็นในโรงงาน จากนั้นก็เรียกเข้าสัมภาษณ์ทีละคน โดยเรียกคนที่มีเกรดมากที่สุดเข้าไปคุยก่อน นิสิตหญิงผู้นี้เกรดต่ำสุด (ในบรรดา ๕ คนนั้น) เลยถูกเรียกเข้าไปสอบสัมภาษณ์เป็นคนหลังสุด และบทความภาษาอังกฤษนั้นก็เขียนไปเพียงแค่ครึ่งหน้ากระดาษ A4 เท่านั้นเอง ในขณะที่อีก ๔ คนที่เหลือเขียนกันเต็มสองหน้า A4


ผลสอบออกมาปรากฏว่าจากที่เรียกไปสัมภาษณ์ที่โรงงาน ๕ คนนั้น เขาเป็นผู้เดียวที่ทางบริษัทรับเข้าทำงาน เขายังกลับมานั่งคุยกับผมเรื่องสิ่งที่เขาเขียนไปเพียงแต่ครึ่งหน้า ในขณะที่คนอื่นเขียนไปถึงสองหน้าเต็ม ทำให้เราพอเดาได้ว่าสิ่งที่ผู้สอบเขาดูในสิ่งที่เขียนนั้น เขาไม่ได้ดูภาษาอังกฤษเพียงอย่างเดียว แต่เขาดูเนื้อหาและความคิดที่เขียนลงไป อีก ๔ คนที่เขาไม่รับนั้นดูเหมือนจะเขียนประเภทว่าได้ไปเห็นอะไร มีอะไรบ้าง (ตามโจทย์ที่เขาบอก) แต่นิสิตหญิงผู้นี้กลับเขียนในทำนองว่าเรื่องทางเทคนิคนั้นทางโรงกลั่นก็น่าจะรู้ดีอยู่แล้วและน่าจะรู้ดีกว่าเขาด้วย เขาก็เลยเขียนเรื่องวิจารณ์โรงกลั่นเรื่องอื่นแทน


เรื่องนี้นำมาเล่าให้ฟังเป็นประสบการณ์ ไม่ได้หมายความว่าถ้าคุณทำตามแบบนี้อีกแล้วจะได้งาน คิดเสียว่าเป็นประสบการณ์การสอบที่ทำให้ได้งานทำของคนคนหนึ่งเมื่อสัก ๑๐ ปีที่แล้ว

ไม่มีความคิดเห็น: