วันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เรื่องเล่าจากวิศวกรสาว ตอน งานวางท่อใต้ดิน MO Memoir : Thursday 29 November 2555


สายวิชาชีพเรานั้นเดิมมันไม่มีใบประกอบวิชาชีพ ช่วงนั้นก็ทำงานไปวัน ๆ ได้ แต่พอมีใบประกอบวิชาชีพ มันก็มีระดับด้วยว่าจะทำงานอะไรต้องได้ใบประกอบระดับไหน ซึ่งการเลื่อนระดับนั้นก็ต้องมีผลงานมาแสดง พวกเราวิศวกรเองก็ถนัดแต่ทำงานกับคิดเลข ไม่ค่อยสนใจจะจดบันทึกผลงานสักเท่าใดนัก ทีนี้พอจะขอเลื่อนระดับใบประกอบวิชาชีพก็จะมีปัญหาเรื่องจำไม่ได้ว่าทำงานอะไรไปบ้าง และมีหลักฐานการทำงานแสดงหรือไม่

สัปดาห์แล้วมีโอกาสติดต่อกับสาวน้อยรายหนึ่งที่เพิ่งจะจบการศึกษาและได้งานทำ ก็เลยเอ่ยปากชวนให้เขาเขียนเล่าเรื่องราวชีวิตการทำงานของวิศวกรสาวจบใหม่ เพื่อที่จะได้เป็นการฝึกเขียนบันทึกการทำงานและจะได้มีบันทึกการทำงานเอาไว้ขอเลื่อนตำแหน่ง และที่สำคัญคืออยากให้เขาได้แบ่งปันความรู้ที่ได้จากการทำงานจริงให้กับผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ จะได้เห็นภาพการทำงานในหน้าที่ของวิศวกรสาว

เนื้อหาข้างล่างต่อไปนี้ ส่วนที่เป็นสีดำคือส่วนที่ผู้เขียน (เขาขอใช้นามปากกาว่า "เจ้าชายนิทรา") ส่งมาให้ ส่วนที่เป็นสีน้ำเงินคือส่วนที่ผมแซวคนเขียนเล่น และหมายเหตุเป็นส่วนที่ผมเพิ่มเติมคำอธิบายบางส่วนเพื่อขยายความ

รูปถ่ายทั้งหมดที่ปรากฏเป็นผลงานของผู้เขียนบทความ - เจ้าชายนิทรา ทั้งสิ้น

*****************************************************************

หลังจากที่ได้เรียนจบออกมาจากรั้วมหาวิทยาลัย ทีแรกก็ยังงง ๆ ว่าเราจบแล้วจริง ๆ หรือเนี่ย หลังจากที่ตอนเรียน คิดว่าอยากเรียนจบเร็ว ๆ แล้วก็ทำงานมาตั้งนานแล้ว แต่พอถึงเวลาเข้าจริง ๆ เวลาก็ผ่านไปเร็วเหมือนกันนะ มานั่งคิด ๆ พิจารณาดูว่างานของวิศวกรเคมีแบบไหนกันนะที่เราอยากทำ ถ้าจะวิเคราะห์คร่าว ๆ ก็น่าจะมี 3 สายด้วยกันคือ สายนักวิจัย สายควบคุมกระบวนการผลิต และสายก่อสร้างโรงงาน โดยส่วนตัวของผู้เขียนเป็นคนชอบแนวแบบออกแบบก่อสร้าง จะได้รู้อะไรที่ลึก ๆ (แล้วก็ได้รู้อะไรที่ "ลึก" จรึง เพราะต้องไปทำงานเรื่องเกี่ยวกับใต้ดิน) เพราะถ้าจะสร้างได้ก็ต้องรู้จริงในระดับหนึ่ง ก็เลยเลือกสมัครบริษัทส่วนใหญ่ที่เป็นบริษัทก่อสร้างโรงงานที่อยู่ในกรุงเทพ เพราะไม่อยากไปควบคุมกระบวนการผลิตในต่างจังหวัด 
 
สุดท้ายก็ได้อยู่บริษัทก่อสร้างสมใจ (เพิ่งจะเคยได้ยินบริษัทชื่อ "สมใจ") ได้อยู่กรุงเทพแล้ว แอบดีใจ แต่พอมาเรียนรู้งานในบริษัทก่อสร้างจริง ๆ แล้ว มันดันสามารถแบ่งออกได้อีก 3 สาย ได้แก่ (1) สายออกแบบ (2) สายคุมงาน และ (3) สายเอกสารยื่นประมูลงาน ซึ่งเราเอง ใจอยากไปอยู่แบบที่ (1) แต่ดันได้มาอยู่แบบ (2) กับแบบที่ (3) นิดหน่อย ในที่สุดก็ถูกส่งไปคุมงานก่อสร้างวางท่อน้ำมันของบริษัทหนึ่งไปยังบริษัทหนึ่งในระยอง 
 
ถ้าจะแบ่งง่าย ๆ ในวงการก่อสร้าง จะมีบริษัท 2 แบบคือ EPC (Engineering, Procurement and Constrution) กับ PMC (Project management and control)() ก็คือทางบริษัทลูกค้าจะจ้างบริษัท PMC ซึ่งคนส่วนใหญ่จะมีประสบการณ์ในงานก่อสร้างมาคุมการก่อสร้างให้ถูกต้องเป็นไปตามแบบที่ลูกค้าต้องการ เพราะทางบริษัทลูกค้าจะไม่มีบุคคลาการที่ทำหน้าที่โดยตรง เพราะทุกคนก็จะมีหน้าที่ควบคุมการผลิตของตนเอง และมีประสบการณ์ในการควบคุมงานก่อสร้างน้อย ซึ่งทางบริษัท PMC จะต้องช่วยทำเอกสารเกี่ยวกับการประมูลและสัญญาต่าง ๆ ให้บริษัทของลูกค้ากับบริษัท EPC และผู้ที่ก่อสร้างจริง ๆ คือ บริษัท EPC


หมายเหตุ
(๑) สมัยที่ผมทำงานวางท่อเมื่อ ๒๕ ปีที่แล้วเขาเรียกบริษัทที่ปรึกษา (consultant) กับบริษัทก่อสร้าง (contractor) โดยบริษัทที่ปรึกษาทำหน้าที่เหมือน PMC และบริษัทก่อสร้างทำหน้าที่เหมือน EPC พี่ที่ดูแลสอนว่าไม่ควรเลือกให้สองบริษัทนี้เป็นพวกเดียวกัน ไม่เช่นนั้นมันจะฮั้วกัน ดังนั้นถ้าเลือกที่ปรึกษาเป็นฝรั่งก็ควรเลือกก่อสร้างเป็นญี่ปุ่น และถ้าเลือกที่ปรึกษาเป็นญี่ปุ่นก็ควรเลือกก่อสร้างเป็นฝรั่ง แต่เดี๋ยวนี้ไม่รู้ว่ายังเป็นอย่างนั้นอยู่หรือเปล่า (ตรงนี้ผู้เขียนบทความตอบกลับมาว่า "เป็นอยู่ค่ะ บริษัทหนูถึงจะเป็นสัญชาติเยอรมันแต่ก็มีไม่ได้มีแต่คนเยอรมัน ส่วนใหญ่ก็เป็นฝรั่งค่ะอาจารย์ แต่โครงการที่หนูทำอยู่ตอนนี้ EPC เป็นของคนไทยค่ะ")

 
หลังจากที่เกริ่นเกี่ยวกับบริษัทก่อสร้างมาพอสมควรก็ขอเข้าเรื่องเลยล่ะกัน การวางท่อโดยทั่ว ๆ ไป ก็น่าจะแบ่งได้ 3 แบบในแง่ของพื้นที่การวางคือ (1) ใต้ดิน (2) บนดิน และ (3) ใต้ทะเล ซึ่งตอนนี้ตัวผู้เขียนมีประสบการณ์นิดหน่อยใน 2 แบบแรก ซึ่งสิ่งที่ไปพบไปเห็นมาคือการวางท่อน้ำมันใต้ดินตามแนวถนน โดยใช้วิธี Horizontal directional drilling (HDD)()
การวางท่อน้ำมันแบบ Horizontal directional drilling (HDD) จะเริ่มจากการเตรียมสถานที่ โดยเริ่มจากการสำรวจและทำทดสอบชนิดของดิน (soil test) โดยความลึกที่จะขุดลงไปจะต้องเป็นไปตามมาตราฐานของกรมทางหลวง และจะต้องมีมาตราฐานการป้องกัน เช่น แสดงสัญลักษณ์เครื่องหมายการก่อสร้างติดตั้งให้เห็นล่วงหน้า 1 กิโลเมตรก่อนถึงจุดก่อสร้าง และเพื่อป้องกันการพังทลายของพื้นผิวถนนตามบริเวณแนวที่ขุดวางท่อ จะมีการตอก Sheet pile เป็นแนวเพื่อป้องกันการสไลด์ของดินในขณะที่ก่อสร้างบริเวณที่ขุด หลังจากวางท่อเสร็จจะมีการขุดเอา Sheet pile ออกไป ดังแสดงในรูปที่ 1 เป็นต้น


หมายเหตุ
(๒) แต่ถ้าเป็นที่โล่ง ๆ แบบไม่มีอะไรกีดขวางบนผิวดิน ก็จะใช้การขุดเป็นร่องยาว วางท่อ แล้วก็ฝังกลบ


รูปที่ 1 การตอก Sheet pile (ที่ลูกศรสีแดงชี้) เพื่อป้องกันผิวถนนทรุดตัวเนื่องจากการสไลด์ตัวของดินใต้ถนน 
 
หลังจากเตรียมพื้นที่ตามมาตราฐานของกรมทางหลวงแล้ว จะทำการเจาะหลุมนำร่อง (Pilot hole) โดยใช้เครื่องจักรที่มีแรงดันไฮดรอลิคดันหัวเจาะลงไปในดินตามแนวท่อที่ได้ออกแบบไว้ โดยขนาดของหัวเจาะจะแตกต่างกันไปตามขนาดของท่อ โดยเริ่มเจาะจากรูขนาดเล็กให้ได้เส้นทาง ว่าเจอก้อนหินหรือตอหม้อสะพานหรือมีอะไรกีดบังเส้นทางหรือไม่ โดยเจาะจากระดับพื้นดินอีกฝั่งไปยังให้พ้นอีกฝั่ง ซึ่งใน 1 HDD จะมีความยาวประมาณ 500 เมตร และมีการใช้น้ำบ่อเป็นตัวช่วยในการทำให้ดินในบริเวณนั้นอ่อนตัวลง และจะมีการใช้อุปกรณ์อิเลคโทนิคช่วยในการระบุตำแหน่งและทิศทาง ในขณะเจาะหัวเจาะจะพ่นเบนโทไนต์ออกมาทางหัวเจาะ และจะมีการดึงดินและเบนโทไนต์กลับ ไปยังถังแยก (Separation plant) เพื่อแยกดินและเบนโทไนต์ออกจากกัน จากนั้นจะถูกส่งไปยังถังบัฟเฟอร์ (Buffer Tank) และจะส่งเบนโทไนต์ไปผสมกับน้ำไปสู่หน่วยผสม (Mixing Unit) ก่อนจะส่งกลับเข้าหัวเจาะอีกครั้งดังแสดงในรูปที่ 2

รูปที่ 2 อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการเจาะรูท่อแบบ Horizontal directional drilling (HDD); A.เครื่องจักรไฮดรอลิคในการขุดเจาะ B. ถังแยก C.ถังบัฟเฟอร์ D. หน่วยผสม E. หัวเจาะคว้าน และ F. บริเวณขุดเจาะ
(รูปจาก http://www.prime-drilling.de/e_index.html)

หลังจากนั้นจะเป็นการคว้าน (Reaming) คือหัวคว้านจะมีลักษณะเป็นหัวแหลมทั้งหัวทั้งท้าย ตรงกลางจะเป็นทรงกระบอกใหญ่ แสดงดังรูปที่ 2(E) ที่จำเป็นต้องมีหัวแหลมทั้งสองทางเพราะจะมีการดึงหัวคว้านไป ๆ มา ๆ ในรูท่อ เพื่อทำให้ขนาดรูท่อใหญ่ขึ้นจนมีขนาดมากกว่าขนาดของท่อ ส่วนจะใหญ่กว่ากี่เปอร์เซนต์อันนี้ไม่แน่ใจ หลังจากนั้นจะทำการเคลือบเบนโทไนต์ในรูที่เจาะเสร็จแล้ว เพื่อป้องกันการพังทลายของรูท่อเมื่อรูท่อพร้อม 
 
ต่อมาจะเป็นขั้นตอนการดึงท่อ (Pullback) โดยการนำท่อไปไว้ที่ปลายทางซึ่งจะมีเครนคอยยกท่อเอาไว้ (รูปที่ 3) และจะมีการต่อปลายท่อกับการต่อกับหัวคว้าน แล้วดึงกลับเข้าไปให้รูท่อจากครื่องจักรไฮดรอลิคที่เคยดันหัวเจาะลงเพื่อสร้างรูท่อ (รูปที่ 4) โดยกระบวนการเจาะแบบ HDD ทั้งหมดจะแสดงในรูปที่ 5

รูปที่ 3 การใช้รถแบคโฮยกท่อ ขณะที่ทำการดึงท่อ (Pullback) พึงสังเกตว่ามีการใช้ลูกล้อรองรับตัวท่อเอาไว้ เพื่อให้ตัวท่อเคลื่อนตัวในแนวราบได้ง่าย

รูปที่ 4 ขณะที่ท่อกำลังถูกดึงเข้าไปในรูท่อ ที่มีเบนโทไนต์

รูปที่ 5 แสดงขั้นตอนทั้งหมดใน Horizontal directional drilling (HDD); 1. การเจาะรูนำร่อง (Pilot Hole) 2. การคว้านรูที่เจาะให้มีขนาดใหญ่ขึ้น (Reaming) และ 3. การดึงท่อ (Pullback)
(http://www.civilengineeringgroup.com/wp-content/uploads/2010/12/Horizontal-Directional-Drilling.jpg)


รูปที่ 6 เมื่อปลายท่อของแต่ละหลุม HDD มาเจอกัน

รูปที่ 7 การใช้กล่องดันปลายท่อให้เข้ามาชิดกัน ก่อนทำการเชื่อมต่อ

รูปที่ 8 การเชื่อมต่อปลายท่อสองปลายท่อเข้าด้วยกัน (tie-in)

หลังจากขั้นตอน HDD แล้ว จะนำแต่ละ HDD มาต่อกัน เรียกว่าการ "tie-in" ซึ่งจะเป็นการเชื่อมท่อต่อกัน คือเมื่อสองปลายท่อมาเจอกัน (รูปที่ 6) จะมีการใช้กล่องมาดันให้ท่อเข้าใกล้กันในทิศทางด้านข้าง (รูปที่ 7) เมื่อปลายท่อทั้งสองเข้าใกล้กันมากที่สุดจะมีการใช้ joint ขันน็อตให้ท่อเข้ากันให้มากที่สุดและทำการเชื่อม (รูปที่ 8)  เมื่อเชื่อมท่อเข้าหากันเสร็จเรียบร้อยจะทำการถอด Joint เหลือแต่ท่อสองท่อต่อกันแบบมีรอยเชื่อม  สุดท้ายเมื่อ HDD ทั้งหมดมาต่อกัน ก็ถือว่าเป็นอันเสร็จ 
 
ซึ่งพอหลังจากที่ได้มาลองมาทำงานที่นี่ซักพัก ความคิดของผู้เขียนหลาย ๆ อย่างก็เปลี่ยนไป พอกลับไปนั่งที่ออฟฟิตในกรุงเทพหนึ่งวัน รู้สึกว่ามันช่างน่าเบื่อมาก ไม่เหมือนมาอยู่หน้างานที่ระยอง การคุมงานเป็นงานที่เวลาทำงาน (08.00-17.00 น.) ก็ค่อนข้างจะเหนื่อย เดินใน Site และตรวจเอกสารบ้างในบางครั้ง แต่ก็สนุกและได้เรียนรู้มาก และอีกอย่างพอหลังจาก 17.00 น. มันจะเป็นเวลาที่อิสระมาก ๆ ได้ทำอะไรหลาย ๆ อย่างที่ไม่เคยได้ทำมาก่อน ไม่ต้องมานั่งติดแหง็กอยู่บนถนนเหมือนอยู่ในกรุงเทพ (เข้าใจผิดหรือเปล่า ๕ โมงเย็นได้มาติดแหง็กอยู่บนถนนนี่ถือว่าโชคดีมากเลยนะ เพราะปรกติยังติดแหง็กอยู่ที่โต๊ะทำงานในออฟฟิตกัน)

ตอนนี้ก็เริ่มหลงรักระยองขึ้นมาซะแล้วซิ

*****************************************************************

Memoir ฉบับนี้ก่อนจะจัดส่งผมได้ให้ เจ้าชายนิทรา ตรวจให้ความเห็นชอบก่อน จากนั้นจึงได้จัดส่งให้ทั้งสมาชิกที่กำลังศึกษาอยู่และผู้ที่เรียนจบไปแล้ว เผื่อว่าจะมีสมาชิกที่เรียนจบไปแล้วอยากเขียนเล่าประสบการณ์การทำงาน การเดินทาง โดนผีหลอก หรือเรื่องใด ๆ ก็ได้ เพื่อแบ่งปันความรู้หรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้ชีวิตให้กับคนอื่นบ้าง ผมเองไม่ได้แก้รูปแบบการเขียนของต้นฉบับ เพียงแต่ปรับแก้เรื่องการย่อหน้า การเว้นวรรค การสะกด และคำบางคำ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ผู้อ่านสับสนได้และต้องการให้รูปแบบการเขียนนั้นแสดงตัวตนของผู้เขียนบทความเอง

หวังว่าสมาชิกผู้ของกลุ่มผู้ที่จบไปแล้วจะมีเล่าแบ่งปันแก่คนอื่นบ้างนะ ติดต่อมาได้ที่อีเมล์ของผมโดยตรง จะรอรับบทความจากพวกคุณ


รับต้นฉบับบทความ จันทร์ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๕
บทความฉบับสมบูรณ์ พุธ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๕
เผยแพร่ พฤหัสบดี ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๕