วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2556

สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๗ MO Memoir : Friday 27 December 2556

เนื่องในโอกาสใกล้จะสิ้นปีและกำลังจะขึ้นปีพ.. ใหม่ ผมเองก็ไม่มีอะไรจะให้กับท่านผู้ติดตามอ่าน blog นี้ทุกท่าน นอกจากข้อความ SMS คำอวยพรที่ได้รับมาเมื่อ ๓ ปีแล้วที่ยังเก็บเอาไว้บน Sim card โทรศัพท์
  
ขอให้ท่านผู้ติดตามอ่าน blog นี้ได้รับคำอวยพรดังเช่นที่ผมได้รับเช่นกัน

ด้วยความเคารพ


เก็บตกจากงานก่อสร้างอาคาร MO Memoir : Friday 27 December 2556

เมื่อธันวาคมปีที่แล้วได้มีโอกาสไปเยี่ยมโรงงานเบียร์แห่งหนึ่ง พอกลับมาก็เลยได้เขียนเรื่อง "เก็บตกจากโรงเบียร์" (ดู Memoir ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๕๑ วันเสาร์ที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๕) บังเอิญเดือนนี้ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมงานก่อสร้างอาคาร ก็เลยถือโอกาสถ่ายรูปและเขียนเรื่อง "เก็บตกจากงานก่อสร้างอาคาร" มาเล่าสู่กันฟัง
ผู้เขียนเองก็ไม่ใช่วิศวกรโยธาหรือช่างก่อสร้าง ดังนั้นงานนี้จะไม่เขียนถึงเรื่องทางเทคนิคใด ๆ แต่จะขอเขียนสำหรับให้คนที่พอมีความรู้พื้นฐานวิทยาศาสตร์อยู่บ้างพอทำความเข้าใจและรู้จักศัพท์งานก่อสร้างบางตัวบ้าง เผื่อมีโอกาสต้องไปประสบกับงานดังกล่าว จะได้พอรู้บ้างว่าช่างเหล่านั้นเขาพูดถึงอะไรกันอยู่

. เหล็กเส้น (round bar - RB) กับเหล็กข้ออ้อย (deformed bar - DB)

คอนกรีตเป็นวัสดุที่รับแรงกดอัดได้ดี แต่รับแรงดึงได้แย่มากเมื่อเทียบกับความสามารถในการรับแรงกดอัดของมัน การเพิ่มความสามารถในการรับแรงดึงของคอนกรีตทำได้ด้วยการเสริมเหล็กเส้นในโครงสร้างคอนกรีตนั้น 
  
เหล็กเส้นที่เห็นใช้กันนั้นมีอยู่สองแบบ แบบแรกเป็นแบบผิวเรียบ (ภาษาอังกฤษเรียกว่า round bar หรือบางทีในแบบจะย่อว่า RB) หรือเหล็กเส้นกลม อีกแบบเป็นแบบผิวไม่เรียบ (ภาษาอังกฤษเรียกว่า deformed bar หรือย่อว่า DB) ที่คนไทยเรียกว่า "เหล็กข้ออ้อย" หน้าตาทั้งสองแบบเป็นอย่างไรก็ดูเอาเองในรูปที่ ๑ ข้างล่าง


รูปที่ ๑ เหล็กเส้นที่ใช้ทำเสาเข็มหล่อของบ้านผม รูปนี้ถ่ายเก็บเอาไว้ ๓ ปีแล้ว ที่เห็นเป็นเส้นนอนยาวผิวไม่เรียบคือเหล้กข้ออ้อย ส่วนเส้นที่นำมาพันรอบเหล็กข้ออ้อยและมีคอนกรีตห่วงกลมล้อมอยู่คือเหล็กเส้นกลม คอนกรีตห่วงกลมที่ร้อยเอาไว้นั้นก็เพื่อกันไม่ให้เหล็กเส้นไปติดผนังแม่แบบที่ใช้หล่อคอนกรีต ตัวแกนเหล็กเองจะได้ตั้งอยู่ตรงกลางแม่แบบ
 
ผิวที่ไม่เรียบของเหล็กข้ออ้อยทำให้เหล็กข้ออ้อยนั้นยึดกับคอนกรีตได้ดีกว่าเหล็กเส้น ดังนั้นในงานที่ต้องการความมั่นใจในด้านความแข็งแรงโครงสร้าง จึงนิยมใช้เหล็กข้ออ้อยมากกว่าเหล็กเส้น งานขนาดกลางและขนาดใหญ่จะใช้เหล็กข้ออ้อยมากกว่าเหล็กเส้นกลม ที่ผมเคยเห็นในงานก่อสร้างที่ทำเสาหรือคาน ถ้าเป็นเหล็กเส้นเล็ก ๆ ก็มักจะใช้เหล็กเส้นกลม แต่ถ้าเป็นเหล็กเส้นใหญ่มักจะใช้เหล็กข้ออ้อย

2. เหล็กคอม้า (bent up bar) เหล็กปลอก (stirrup)

เวลาที่คานรับน้ำหนักนั้น (ซึ่งมักจะลงตั้งฉากกับแนวแกนยาวของคาน) บริเวณตอนกลางของคานจะเกิดการแอ่นตัว (รูปที่ ๒ บน) ทำให้ส่วนด้านบนของคานนั้นรับแรงกดอัด ในขณะที่ส่วนด้านล่างของคานนั้นรับแรงดึง (เมื่อพิจารณาแรงในแนวแกนยาวของคาน) ถ้าเป็นคานคอนกรีต ส่วนด้านบนที่รับแรงกดอัดนั้นมักไม่มีปัญหาใด เพราะคอนกรีตรับแรงกดได้ดีอยู่แล้ว ที่เป็นปัญหามากกว่าเห็นจะได้แก่ส่วนด้านล่างที่ต้องรับแรงดึง เพราคอนกรีตรับแรงดึงได้ไม่ดี
 
การเพิ่มความสามารถในการรับแรงดึงของคอนกรีตทำได้ด้วยการเสริมเหล็กเส้นเข้าไปในบริเวณที่รับแรงดึง ทำให้ได้คอนกรีตที่เรียกว่าคอนกรีตเสริมแรง (reinforce concrete) กล่าวคือตรงไหนต้องรับแรงดึงมากก็ใส่เหล็กเส้นเข้าไป
 
โครงสร้างที่รับแรงดึงไม่ได้มีเฉพาะคาน พื้นถนนคอนกรีตก็เช่นเดียวกัน เวลาที่มีน้ำหนักตัวแผ่นคอนกรีตที่ทำพื้นถนนก็มีสิทธิแอ่นตัว ด้านล่างของแผ่นคอนกรีต (ที่วางสัมผัสพื้น) จะรับแรงดึงในขณะที่ด้านบน (ด้านผิวถนน) จะรับแรงกด วิธีการที่ทำกันเพื่อช่วยให้แผ่นคอนกรีตรับแรงดึงได้ดีก็ด้วยการเสริมเหล็กเส้น ดังนั้นเวลาที่เขาทำถนนคอนกรีตเราจึงมักจะเห็นเขาวางตะแกรงเหล็กเส้นเป็นแผ่นไว้ใกล้พื้น ไม่ได้อยู่ใกล้ผิวถนน จากนั้นจึงค่อยเทคอนกรีต

รูปที่ ๒ (บน) คานคอนกรีตที่เมื่อวางนอนแล้วเป็นแนวเส้นตรงนั้น เมื่อรับแรงกดบริเวณตอนกลางจะทำให้คานแอ่นตัว (ล่าง) แต่ถ้าทำการอัดแรง (จะเป็น pre tension หรือ post tension ก็ตาม) ทำให้คานแอ่นตัวขึ้นบนก่อน (ทำให้ด้านบนรับแรงดึง ด้านล่างรับแรงกด เมื่อพิจารณาแรงในแนวแกนยาวของคาน) พอมีน้ำหนักมากดตรงกลางคานก็จะกลับมาอยู่ในแนวตรง ด้านบนก็จะไม่รับแรงดึง ด้านล่างก็จะไม่รับแรงกด

หรืออีกวิธีการหนึ่งคือทำการอัดแรง กล่าวคือถ้าเป็นคานก็จะทำการใส่แรงอัดเข้าตามแนวแกนโดยอยู่ทางด้านล่างของคาน คานก็จะแอ่นตัวขึ้นบน (รูปที่ ๒ ล่าง) ทำให้ส่วนล่างของคานรับแรงอัด ส่วนบนของคานแรงดึง พอมีน้ำหนักกดลงตั้งฉากกันแนวแกนกลาง ก็จะเกิดแรงดึงขึ้นที่ส่วนบน ซึ่งจะไปหักล้างกับแรงอัดที่ทำไว้ก่อน ในขณะเดียวกันก็จะเกิดแรงดึงขึ้นที่ส่วนล่างของคาน ซึ่งก็จะไปหักล้างกับแรงกดที่มีอยู่ก่อนหน้า การอัดแรงนี้มีทั้งทำก่อนหล่อคอนกรีตที่เรียกว่า pre tensioning และทำหลังหล่อคอนกรีตแล้วที่เรียกว่า post tensioning
  
วิธีการหนึ่งที่ทำให้บริเวณด้านล่างของคานรับแรงดึงได้ดีขึ้นก็คือการเสริมเหล็กที่ภาษาช่างเรียกว่า "เหล็กคอม้า" คือแทนที่จะพาดเหล็กเส้นเป็นเส้นตรงยาวตลอดความยาวคาน ก็จะทำการดัดเหล็กให้คดไปมา โดยบริเวณช่วงหัวเสาเหล็กเส้นดังกล่าวจะอยู่บริเวณด้านบนของคาน จากนั้นจะดัดให้ลงมาอยู่บริเวณด้านล่างของคานในช่วงเสา และดัดกลับไปอยู่ด้านบนของคานใหม่เมื่อมาใกล้หัวเสาอีกต้นหนึ่ง (ดูตัวอย่างที่เป็นเส้นสีเขียวรูปที่ ๓ ล่าง) การผูกเหล็กคอม้านี้แต่ก่อนเห็นกระทำกันเป็นประจำ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเห็นแล้ว ผมก็ไม่รู้เหตุผลว่าเพราะอะไร งานนี้คงต้องให้วิศวกรโยธาตอบเอง เห็นแต่ไปใช้เหล็กปลอกทำหน้าที่แทน

รูปที่ ๓ คานที่วางยาวไปบนเสาหลายต้น (บน) ส่วนล่างของคานตรงช่วงระหว่างเสาแลส่วนบนของคานตรงบริเวณหัวเลาจะรับแรงดึง (ลูกศรสีแดง) โดยส่วนบนของคานตรงช่วงระหว่างเสาจะรับแรงกด (ลูกศรสีน้ำเงิน) วิธีการหนึ่งที่สามารถทำให้บริเวณดังกล่าวของคานรับแรงดึงได้ดีขึ้นทำได้โดยการเสริมเหล็กเส้นเข้าไปบริเวณดังกล่าวที่เรียกว่า "เหล็กคอม้า" (bent up bar - เส้นสีเขียวในรูป)

เหล็กปลอก (stirrup) ก็คือเหล็กเส้นที่เขาดัดเป็นรูปร่างเดียวกับพื้นที่หน้าตัดของคาน ถ้าคานมีพื้นที่หน้าตัดสี่เหลี่ยมก็จะดัดเหล็กเส้นให้เป็นรูปสี่เหลี่ยม เหล็กปลอกนี้ใช้สำหรับยึดเหล็กเส้นที่วางตัวในแนวแกนยาวของคาน (หรือเสา) ให้อยู่ในตำแหน่ง (ดูรูปที่ ๔) ระยะห่างระหว่างเหล็กปลอกก็ขึ้นอยู่กับการออกแบบ ถ้าคานไม่ต้องรับแรงกดมาก (คือไม่คิดว่าจะแอ่นมาก) ก็อาจวางห่างเป็นระยะเท่า ๆ กันก็ได้โดยไม่ต้องใส่เหล็กคอม้า แต่ต้องการความมั่นใจสูงก็จะใส่เหล็กปลอกไว้ถี่ (คือห่างกันไม่มาก) ตรงช่วงบริเวณใกล้หัวเสา ส่วนช่วงตรงกลางคานนั้นก็วางห่างกันเป็นระยะเท่า ๆ กันได้


รูปที่ ๔ คานนี้ใช้เหล็กข้ออ้อยรับแรงในแนวแกนยาวของคาน โดยมีการติดตั้งเหล็กปลอกอยู่ห่างเป็นระยะเท่า ๆ กัน ก่อนเทคอนกรีตก็ต้องตีแบบล้อมและหนุนเหล็กเส้นให้อยู่ในแนววางไม่แอ่นดังในรูปก่อน จากนั้นจึงค่อยเทคอนกรีต
 
ตอนแรกที่ผมเห็นคานในรูปที่ ๔ นั้นผมรู้สึกว่ามันแปลก ๆ คือไม่เข้าใจว่าทำไปถึงไปเน้นเหล็กเส้นตรงบริเวณด้านบนของคานซะมากขนาดนั้นในขณะที่ด้านล่างไม่เสริม ตามความรู้ที่มีนั้นถ้าจำนวนเหล็กเส้นที่อยู่ทางด้านบนของคานเท่ากับด้านล่างของคานก็จะไม่รู้สึกแปลกใจ เพราะสามารถใช้เหล็กปลอกหรือเพิ่มขนาดของเหล็กเส้นที่วางตัวในแนวยาว ทำหน้าที่แทนเหล็กคอม้าได้ หรือในกรณีที่จำนวนเหล็กเส้นที่อยู่ทางด้านล่างของคานมีมากกว่าด้านบนก็จะไม่รู้สึกแปลกใจอะไร เช่นกัน เพราะด้านล่างของคานมันรับแรงดึงอยู่แล้วเวลาที่มีน้ำหนักกดลงล่างในแนวตั้งฉากกับพื้นที่หน้าตัดคาน ด้วยความสงสัยก็เลยถามวิศวกรที่คุมงานก่อสร้างอยู่ เขาก็ตอบว่าเขาก็แปลกใจเหมือนกัน แต่แบบที่วิศวกรต่างชาติของบริษัทผู้รับเหมาหลักออกแบบไว้นั้นมันก็เป็นเช่นนี้ และทางนั้นก็ยืนยันมาว่าแบบถูกต้องแล้ว


รูปที่ ๕ คานที่แสดงในรูปที่ ๔ มีเหล็กเส้นอยู่ทางด้านบนถึง ๒ แถว (๘ เส้น) ในขณะที่ด้านล่างนั้นมีเพียงแถวเดียว (๔ เส้น) คานตัวนี้ใช้เหล็กข้ออ้อยทำเหล็กปลอกด้วย

. คานฝากและคานยื่น

คานทำหน้าที่รับน้ำหนักจากพื้นส่งต่อไปยังเสา เพื่อให้เสาส่งต่อน้ำหนักนั้นลงไปยังพื้นดิน คานปรกติก็จะวิ่งผ่านแนวเสาอยู่แล้ว โดยอาจอยู่ระหว่างเสาทั้งสองต้น พาดผ่านเสาหลายต้น และ/หรือมีส่วนที่โผล่ยื่นเลยตำแหน่งเสาออกไป ส่วนของคานที่โผล่ยื่นออกเลยเสาไปนั้นเรียกว่า "คานยื่น" (cantiliver beam) คานยื่นนี้เวลารับแรงกด คานจะโค้งลงล่าง ทำให้ส่วนด้านบนของคานนั้นรับแรงดึงในขณะที่ส่วนด้านล่างของคานรับแรงกด
 
ในกรณีที่ช่วงเสาห่างกันมากนั้นอาจต้องเพิ่มคานเข้าระหว่างคานที่พาดผ่านเสา โดยคานที่วางพาดระหว่างคานด้วยกันนี้เรียกว่า "คานฝาก" (ดูรูปที่ ๖)
 
สำหรับอาคารที่พื้นอาคารไม่ได้รับน้ำหนักอะไรมากนักก็มักจะทำการหล่อคานก่อน จากนั้นก็นำพื้นสำเร็จรูปมาวางพาดระหว่างคาน จากนั้นจึงค่อยเทคอนกรีตทับพื้นสำเร็จรูปอีกที วิธีการนี้มีข้อดีตรงที่ไม่เปลืองนั่งร้านเวลาเทพื้น ใช้นั่งร้านเฉพาะเวลาหล่อคาน แต่สำหรับกรณีที่ต้องการให้พื้นรับน้ำหนักได้มากนั้น ก็เห็นใช้วิธีผูกเหล็กเส้นของพื้นกับของคานให้เชื่อมติดกัน จากนั้นก็เทคอนกรีตทั้งส่วนคานและพื้นพร้อมกัน วิธีนี้จะเปลืองแม่แบบเยอะมากเพราะต้องรองรับพื้นทั้งอาคารจนกว่าคอนกรีตที่เทนั้นแข็งตัวพอจะรับน้ำหนักได้ จึงจะสามารถรื้อนั่งร้านออกได้ (รูปที่ ๘)

รูปที่ ๖ คานตามแนวเส้นประสีเหลืองเป็นคาดที่วางพาดผ่านเสา ส่วนที่อยู่ในแนวเส้นประสีแดง (หรือสีเขียว) นั้นไม่ได้พาดผ่านเสา คานประเภทหลังนี้เรียก "คานฝาก" ส่วนที่โผล่ยื่นออกไปตามเส้นลูกศรสีส้มนั้นคือ "คานยื่น"


รูปที่ ๗ อาคารหลังนี้ออกแบบให้พื้นอาคารต้องรับน้ำหนักค่อนข้างมาก การทำพื้นจึงใช้วิธีการผูกเหล็กเส้นของพื้นเข้ากับคาน จากนั้นจึงทำแม่แบบรองรับด้านล่างทั้งพื้นและอาคาร และเทคอนกรีตทีเดียวเพื่อให้คอนกรีตส่วนคานและส่วนพื้นต่อแนบแน่นเป็นชิ้นเดียวกัน จะเห็นว่าต้องใช้นั่งร้านจำนวนมากค้ำยันคานและพื้นก่อนเทคอนกรีต

. การต่อเหล็กเสา

ปรกติที่เห็นคือช่วงระยะห่างระหว่างเสานั้นมักจะน้อยกว่าความยาวของเหล็กเส้น (เหล็กเส้นที่ขายกันมีความยาว 10-12 เมตรต่อเส้น) ดังนั้นเวลาที่ทำคานนั้นจึงสามารถใช้เหล็กเส้นทั้งเส้นได้โดยไม่ต้องมีการต่อ แต่ความสูงของอาคารรวมเสาเข็ม (หรือแม้แต่เสาเข็มเพียงอย่างเดียว) นั้นมักจะมากกว่าความยาวมาตรฐานของเหล็กเส้นที่ขายกันอยู่ทั่วไป ดังนั้นเวลาที่ทำเสาจึงมักต้องมีการต่อเหล็กเส้นของเสาให้สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามความสูงของเสา
  
การต่อเหล็กเส้นของเสานั้นก็อาจใช้เหล็กเส้นใหม่วางให้เหลื่อมซ้อนกับปลายเหล็กเส้นด้านล่าง แล้วก็ใช้ลวดผูกมัดให้แน่น หรือนำเหล็กเส้นท่อนสั้น ๆ มาวางขนานอยู่กับเหล็กเส้นด้านล่างและเหล็กเส้นที่นำมาต่อ และผูกเหล็กเส้นท่อนสั้น ๆ นี้เข้ากับเหล็กเส้นที่อยู่ด้านล่างและเหล็กเส้นที่นำมาต่อ (รูปที่ ๘)

รูปที่ ๘ การต่อเหล็กเส้นของเสา เส้นสีเขียวแทนเหล็กเส้นหลักของเสา สีแดงคือเหล็กเส้นที่ใช้เชื่อมต่อที่นำมามัดติด

การวางคานให้ได้ระดับนั้นสามารถใช้ระดับน้ำจับได้ แต่ถ้าต้องการวางเสาให้ตั้งตรงนั้นจำเป็นต้องเล็งแนวจากสองทิศทางที่ตั้งฉากกัน ถ้าเป็นงานก่อสร้างเล็ก ๆ ช่างก็มักจะใช้ลูกดิ่ง แต่ถ้าเป็นงานก่อสร้างใหญ่หรือที่มีเสาเรียงกันเป็นแถวก็มักจะใช้กล้องสำรวจเล็ง เพราะต้องมั่นใจว่าเสาจะต้องตั้งตรงในแนวดิ่งและวางเรียงแถวเป็นแนวเดียวกันด้วย ส่วนวิธีการใช้ตลับเมตรนั้นไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นอย่างไร ได้ยินจากวิศวกรไทยที่ทำงานก่อสร้างให้กับบริษัทเกาหลีบ่นเรื่องนี้ให้ฟัง คือวิศวกรไทยจะใช้กล้องส่องเล็งแนวเสาซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติทั่วไปที่บ้านเราใช้กัน แต่วิศวกรเกาหลีที่คุมงานอีกทีนั้นยืนยันให้ใช้ตลับเมตรตามวิธีของเขา สำหรับงานก่อสร้างนี้วิศวกรไทยได้สรุปให้ฟังว่า มาตรฐานเรื่องความปลอดภัยและกฎระเบียบข้อบังคับในการทำงานของเกาหลีนั้นเข้มงวดกว่าของไทย แต่เทคนิคการทำงานก่อสร้างของเกาหลีนั้นกลับไม่ทัดเทียมเท่า

ฉบับวิชาการปิดท้ายของปีนี้ก็คงเป็นเรื่องนี้ ถ้าจะมีอีกฉบับก่อนสิ้นปี ก็คงไม่ใช่วิชาการแล้ว

วันอังคารที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2556

รถไฟหัตถกรรม (เหมืองแร่) สถานีควนหินมุ้ย อำเภาหลังสวน จังหวัดชุมพร (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๕๑) MO Memoir : Tuesday 24 December 2556

ในยุคที่การขนส่งทางรถยนต์ในประเทศยังมีข้อจำกัด ไม่ว่าด้านถนนหรือรถยนต์ การขนส่งทางรถไฟดูเหมือนจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับการเดินทางทางบก โดยเฉพาะในสมัยที่ยังมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ รถจักรไอน้ำก็สามารถใช้ไม้ฟืนจากแหล่งต่าง ๆ มาเป็นเชื้อเพลิงได้โดยไม่ต้องพึ่งพาน้ำมันเหมือนรถยนต์ เรียกว่าที่ไหนมีป่าไม้ รถไฟก็วิ่งได้ ในยุคสมัยนั้นข้อดีอีกอย่างของทางรถไฟคือสามารถเดินทางได้ทุกฤดูกาล
  
การใช้รถไฟหรือรถรางในการลำเลียงไม้หรือแร่ธาตุจากเหมือง มายังจุดรวบรวมหลักซึ่งอาจเป็นเส้นทางรถไฟหลักหรือท่าเรือก็เป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้กันในอดีต นั่นจึงเป็นที่มาของรถไฟหัตถกรรมในบ้านเรา ซึ่งในปัจจุบันดูเหมือนว่าจะไม่เหลือรถไฟประเภทนี้ให้เห็นแล้ว (เว้นแต่ที่ตั้งเอาไว้เป็นอนุสาวรีย์) เพราะเมื่อป่าไม้และการทำเหมืองสิ้นสุด ความจำเป็นในการใช้รถไฟเพื่อกิจการดังกล่าวก็ยุติไปด้วย ทำให้เส้นทางรถไฟหัตถรรมที่มีอยู่นั้นถูกรื้อถอนออกไป แม้ว่าในบางพื้นที่พอป่าไม้เปลี่ยนไปเป็นไร่อ้อย รถไฟที่เคยใช้ขนไม้ก็เปลี่ยนมาเป็นขนอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลแทน แต่พอถนนและรถบรรทุกเริ่มแพร่หลายมากขึ้น รถไฟเหล่านั้นก็สูญหายไป
  
ในอดีตทางการได้มีการอนุญาตให้เอกชนสร้างและเดินรถไฟหัตถกรรมไว้หลายเส้นทาง ซึ่งสามารถสืบค้นได้จากราชกิจจานุเบกษา ที่น่าเสียดายประกาศในราชกิจจานุเบกษารุ่นเก่านั้นมักจะไม่มีแผนที่แนบ โดยเฉพาะประกาศที่ออกก่อนช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ยากที่จะระบุตำแหน่งที่แน่นอนของเส้นทางเหล่านั้น
  
ราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๔๕ หน้า ๑๑๑๓-๑๑๑๔ วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ "แจ้งความกรมรถไฟหลวง เรื่องสร้างและเดิรรถไฟหัตถกรรม" ลงประกาศบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้สร้างและเดิรรถไฟหัตถกรรม ๒ บริษัทด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือบริษัทเพ็นนินซูลาทินโนไลเอบิลลิตี้ โดยบอกว่าเริ่มจากสถานีควนหินมุ้ย ไปถึงเหมืองแร่ในหูด ตำบลนาขา อำเภอขันเงิน (รูปที่ ๑)
  
สถานีควนหินมุ้ยเป็นสถานีรถไฟสายใต้ ปัจจุบันตั้งอยู่ใน ตำบลนาขา อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร อยู่ระหว่างอำเภอสวี กับอำเภอหลังสวน (รูปที่ ๒) ในราชกิจจานุเบกษาบอกว่าอยู่ในอำเภอขันเงิน ซึ่งในปัจจุบันเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอหลังสวน 
   
ในหนังสือ "The Railway Atlas of Thailand, Laos and Cambodia" โดย B.R. Whyte หน้า ๑๑๖-๑๑๗ กล่าวถึงเส้นทางรถไฟของบริษัท Peninsular Tin N.L. Co. เอาไว้ว่า ทางรถไฟเส้นนี้เริ่มจากสถานีควรหินมุ้ยไปทางทิศตะวันตกค่อนไปทางเหนือเล็กน้อย (WNW) เป็นระยะทางประมาณ ๘๐๐ เมตร จากนั้นจึงเปลี่ยนทิศเป็นตะวันตกเฉียงเหนือ (NW) เป็นระยะทาง ๓๒๗๐ เมตร ก่อนจะเปลี่ยนทิศไปทางตะวันตกค่อนไปทางเหนือ (WNW) อีกครั้งเป็นระยะทาง ๑๐๘๐ เมตร ไปสิ้นสุดที่เหมืองแร่ที่ปัจจุบันคือบ้านในเหมือง จากนั้นเส้นทางก็มีการขยายไปทางตะวันตกและมีเส้นทางแยกขึ้นไปทางด้านทิศเหนือ ทำให้เส้นทางมีรูปร่างเหมือน "pitchfork - คราด" บริษัทล้มเลิกกิจการไปในวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๑ (ค.ศ. ๑๙๕๘)
  
ในแผนที่แนบท้ายกฎกระทรวงฉบับที่ ๑๘๓ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๘๐ ตอนที่ ๙๐ วันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๖ หน้า ๕๕๐-๕๕๑ ที่ประกาศให้ป่าพรุใหญ่ จังหวัดชุมพร เป็นป่าสงวนแห่งชาตินั้น มีปรากฏทางรถไฟเล็กไปเหมืองแร่จากบริเวณสถานีควนหินมุ้ย ทำให้สงสัยว่าแม้ว่าบริษัททำเหมืองจะเลิกกิจการไปตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๐๑ แต่เส้นทางดังกล่าวก็ยังคงอยู่มาจนถึงปีพ.ศ. ๒๕๐๖


รูปที่ ๑ จากราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๔๕ หน้า ๑๑๑๓-๑๑๑๔ วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ "แจ้งความกรมรถไฟหลวง เรื่องสร้างและเดิรรถไฟหัตถกรรม" (คำว่า "เดิร" ในที่นี้สะกดตามราชกิจจานุเบกษาที่ใช้ "ร" ไม่ได้ใช้ "น"


รูปที่ ๒ แผนที่เส้นทางรถไฟของบริษัทเพ็นนินซูลาทินโนไลเอบิลลิตี้ จากหนังสือ "The Railway Atlas of Thailand, Laos and Cambodia" โดย B.R. Whyte ในส่วนของแผนที่ท้ายเล่ม แสดงแนวเส้นทางที่ไปยังบ้านในเหมือง (แยกไปทางด้านซ้ายล่าง) และทางแยกที่แยกขึ้นไปทางทิศเหนือ (แยกไปทางด้านซ้ายบน)


รูปที่ ๓ แผนที่ท้ายกฎกระทรวงฉบับที่ ๑๘๓ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๘๐ ตอนที่ ๙๐ วันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๖ หน้า ๕๕๐-๕๕๑ ปรากฏเส้นทางรถไฟไปเหมืองแร่อยู่ในวงแดง
  
เมื่อเทียบเส้นทางที่ B.R. Whyte กล่าวไว้ในหนังสือ "The Railway Atlas of Thailand, Laos and Cambodia" ของเขากับแผนที่ปัจจุบัน (รูปที่ ๔) ทำให้ระบุได้ว่าแนวทางรถไฟเดิมควรจะเป็นถนนที่ขนานไปกับเส้นสีแดงที่แสดงในภาพ คือเริ่มจากจุดที่ (1) สถานีรถไฟควนหินมุ้ยไปทางทิศตะวันตกค่อนไปทางเหนือเล็กน้อย (WNW) เป็นระยะทางประมาณ ๘๐๐ เมตร จนมาถึงจุดที่ (2) จากนั้นจึงเปลี่ยนทิศเป็นตะวันตกเฉียงเหนือ (NW) มาตัดถนนสาย ๔๑ ในปัจจุบันที่จุดที่ (3) ไปเป็นระยะทาง ๓๒๗๐ เมตรจนถึงจุดที่ (4) ก่อนจะเปลี่ยนทิศไปทางตะวันตกค่อนไปทางเหนือ (WNW) อีกครั้งเป็นระยะทาง ๑๐๘๐ เมตร ไปสิ้นสุดที่เหมืองแร่ที่ปัจจุบันคือบ้านในเหมืองหรือจุดที่ (5)
  
ส่วนเส้นทางแยกที่มุ่งขึ้นเหนือ (ลูกศรสีเหลือง 6) นั้นไม่ชัดเจนว่าเริ่มต้นจากไหนและไปสิ้นสุดที่ไหน


รูปที่ ๔ แนวทางรถไฟเดิมจากสถานีรถไฟควนหินมุ้ย เทียบกับแผนที่ปัจจุบัน

ในแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอเมืองชุมพร อำเภอสวี อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร และอำเภอไชยา อำเภอท่าฉาง อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี พ.ศ. ๒๕๐๒ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๘๖ ตอนที่ ๘๗ วันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๒ หน้า ๓๘๕-๓๘๘ ที่เป็นการเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างทางหลวงที่ปัจจุบันคือสาย ๔๑ นั้น ปรากฏเส้นทางรถไฟตัดแนวเวนคืนดังกล่าว (รูปที่ ๕) โดยระบุว่าสถานีควนหินมุ้ยนั้นอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนถนนที่ระบุว่าเป็นทางยุทธศาสตร์เชื่อมระหว่างอำเภอหลังสวนกับจังหวัดชุมพรนั้น น่าจะเป็นถนนสาย ชพ ๗๐๒๘ ในปัจจุบัน (ดูรูปที่ ๔ ถนนเส้นที่เหลืองที่อยู่ใต้เส้นประสีแดง)

เส้นทางรถไฟของบริษัทเหมืองแร่สายนี้มีไปปรากฏในอีกที่หนึ่งคือแผนที่แนบท้ายกฎกระทรวงฉบับที่ ๒๔๘ (พ.ศ. ๒๕๑๐) เรื่องประกาศให้ป่าตังอาและป่าคลองโชน ในท้องที่ตำบลตะโก อำเภอสวี จังหวัดชุมพร เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๘๔ ตอนที่ ๑๑๙ วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๑๐ หน้า ๑๐๐๔-๑๐๐๕ (รูปที่ ๖) แนวเส้นทางที่ปรากฏนั้นวางตัวในแนวทิศเหนือ-ใต้ ขนานกับทางรถไฟสายใต้ โดยอยู่ทางด้านตะวันตกของทางรถไฟสายใต้ เส้นทางนี้น่าจะเป็นส่วนของเส้นทางที่แยกจากบ้านในเหมืองขึ้นมาทางทิศเหนือตามที่ B.R. Whyte กล่าวไว้ในหนังสือของเขา


รูปที่ ๕ แผนที่แนบท้ายราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๘๖ ตอนที่ ๘๗ วันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๒ ปรากฏเส้นทางรถไฟทำเหมืองแร่ตัดแนวเขตที่จะทำการเวนคืน

รูปที่ ๖ แผนที่แนบท้ายกฎกระทรวงฉบับที่ ๒๔๘ (พ.ศ. ๒๕๑๐) ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๘๔ ตอนที่ ๑๑๙ วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๑๐ หน้า ๑๐๐๔-๑๐๐๕ ปรากฏแนวทางรถไฟของบริษัทเหมืองแร่เดิมในแนวเหนือ-ใต้อยู่ทางทิศตะวันตกของทางรถไฟสายใต้โดยห่างออกมาประมาณกิโลเมตรเศษ

เมื่อเทียบตำแหน่งของส่วนแยกขึ้นมาทางทิศเหนือ (รูปที่ ๖) กับแผนที่ปัจจุบัน (รูปที่ ๗) เส้นทางดังกล่าวน่าจะอยู่ตรงบริเวณจุดที่ 3 ในรูปที่ ๗ ตำแหน่งที่เป็นโรงเรียนเกษตรกรรมชุมพรในรูปที่ ๖ นั้นคือตำแหน่งของวิทยาลัยการเกษตรและเทคโนโลยีการเกษตรในรูปที่ ๗ แผนที่ดังกล่าวยังปรากฏแนวท่อน้ำเหมืองแร่ (อยู่หน้าคำว่า "อำเภอหลังสวน") ด้วย


รูปที่ ๗ จุดที่ 1 คือสถานีรถไฟควนหินมุ้ย จุดที่ 2 คือบ้านในเหมือง ส่วนจุดที่ 3 คาดว่าเป็นบริเวณตำแหน่งแนวเส้นทางรถไฟที่ไปปรากฏในแผนที่แนบท้ายกฎกระทรวงฉบับที่ ๒๔๘ (.. ๒๕๑๐) ที่แสดงในรูปที่ ๖

เส้นทางรถไฟหัตถรรมนั้นไม่ว่าจะเป็นรถไฟสำหรับการทำเหมืองแร่หรือป่าไม้ มักจะเป็นการบุกเบิกเข้าไปในบริเวณที่ยังไม่มีผู้คนเข้าไปอยู่อาศัยหรือมีคนอยู่น้อย สิ่งที่ตามมาก็คือการเกิดชุมชนขึ้นจากการมีรถไฟดังกล่าว เพราะนอกจากอุตสาหกรรมเหล่านั้นต้องการแรงงานคนในการทำเหมืองแร่หรือป่าไม้แล้ว ตัวอุตสาหกรรมเองยังบุกเบิกพื้นที่ที่เดิมเป็นป่านั้นให้คนเข้าไปจับจองเปลี่ยนแปลงเป็นพื้นที่ทางการเกษตร โดยผู้อยู่อาศัยก็ได้อาศัยรถไฟเหล่านี้ในการเดินทางเชื่อมต่อกับตัวเมืองที่อยู่ภายนอก และเมื่อเวลาเปลี่ยนไป เมื่อเส้นทางรถไฟถูกรื้อถอนไป แนวเส้นทางรถไฟเดิมนั้นก็มักกลายเป็นถนนให้ผู้คนทั่วไปสัญจรแทน

วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2556

แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๕๕ (ตอนที่ ๑๗) MO Memoir : Sunday 22 December 2556

เอกสารฉบับนี้แจกจ่ายเป็นการภายใน ไม่นำเนื้อหาลง blog
  
เนื้อหาในเอกสารฉบับนี้เกี่ยวข้องกับผลการทดลองในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

วันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2556

หม่อน เหมี่ยว และแด้ MO Memoir : Saturday 21 December 2556

ก็ต้องขอบอกตามตรงแหละครับว่าเรื่องที่ผมไม่ถนัดที่จะเขียนมากเรื่องหนึ่งเพราะไม่ค่อยมีความรู้ที่จะเขียนก็คือเรื่องของ "ต้นไม้" ความรู้เกี่ยวกับต้นไม้ของผมก็ประเภทเพียงแค่บอกได้ว่าต้นกล้วยไม่เหมือนกับต้นมะพร้าว หรือมะม่วงไม่เหมือนกับผักตบชวา ยกตัวอย่างแบบนี้ก็ไม่รู้ว่าเป็นการเปรียบเทียบที่ชัดเจนไปหรือเปล่า :)


รูปที่ ๑ การ์ดอวยพรปีใหม่ที่มีแฟนคลับเอามาเหน็บไว้หน้าห้องทำงานเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ขอบคุณมากครับ

เพื่อตอบแทนการ์ดอวยพรใบแรกของปีที่ได้มา ฉบับนี้ก็เลยขอเป็นเรื่องต้นไม้ ก็เป็นต้นไม้ที่ปลูกอยู่ที่บ้านอีก ๒ ชนิดคือต้นหม่อนกับชมพู่มะเหมี่ยว
 
ที่เขียนเรื่องต้นไม้ก็เพราะอยากจะบันทึกเรื่องราวที่รู้จักต้นไม้นั้นในมุมต่าง ๆ และก็เป็นการสะสมรูปเอาไว้ให้ลูกทำการบ้าน และเผื่อแผ่สำหรับเด็กในเมืองที่ไม่ค่อยมีโอกาสจะได้เห็นของจริง จะได้มีรูปเอาไว้ทำรายงานส่งคุณครู รูปที่เอาลง blog ก็เลยเลือกอันที่เป็นรูปขนาดใหญ่หน่อย เด็ก ๆ จะได้มีรูปขนาดใหญ่ไว้ทำรายงาน
   
แต่ก่อนเวลาได้ยินชื่อ "หม่อน" ก็จะนึกถึง "ไหม" คู่กันไปด้วย เพราะเรียนมาตั้งแต่เด็ก ๆ คือใช้ใบหม่อนเลี้ยงดักแด้ตัวไหม ต่อมาช่วงหลัง ๆ จึงมีคนแย่งอาหารหนอนกินด้วยการนำเอาใบหม่อนมาทำเป็นชาใบหม่อนทำตลาดขายกันแพร่หลาย แต่สิ่งที่หาได้ยากกว่าคือ "ผลหม่อน"
  
ต้องยอมรับว่าหม่อนเป็นพืชโตเร็วชนิดหนึ่ง เรียกว่าไม่น้อยหน้ากระถิน เพียงแต่มันไม่ค่อยจะแตกกิ่งก้านสักเท่าไรนักเว้นแต่จะไปตัดกิ่งมัน กิ่งใหม่ที่งอกออกมาก็จะเน้นยืดยาวไปเรื่อย ๆ พอมันสูงขึ้นไปเลยระเบียงบ้านชั้นสองก็ต้องตัดสักที ที่ตัดก็เพราะเกรงว่าจะมีงูใช้เป็นทางลัดปีนเข้าบ้านชั้นบน


 
รูปที่ ๒ ต้นหม่อนที่ปลูกเอาไว้ที่บ้าน เอามาลงหลังน้ำท่วมปี ๒๕๕๔ ซื้อมาต้นเล็ก ๆ ต้นละ ๑๐ บาท ปรากฏว่าโตเร็วดี ต้องคอยตัดออกเป็นระยะ แต่ตัดแต่ละครั้งก็ดีเหมือนกัน เพราะมันชอบจะออกลูกเวลาที่แตกกิ่งใหม่ทุกที แถมกิ่งที่ตัดออกก็ริดใบทิ้งแล้วนำไปปักหรือไปแช่น้ำเอาไว้ มันก็งอกเป็นต้นใหม่ได้อีก
  
เวลาที่มันงอกโตขึ้นไปเรื่อย ๆ มันก็ไม่ค่อยจะออกผล แต่พอตัดกิ่งให้มันงอกใหม่เท่านั้นแหละ ออกผลมาให้เห็นทันที ผลหม่อนเป็นผลเล็ก ๆ ขนาดประมาณ ๑-๒ เซนติเมตร แรก ๆ จะเป็นสีเขียว จากนั้นจะกลายเป็นสีแดงสวยดี แล้วก็ออกคล้ำไปทางดำ ๆ ตอนนี้ก็เก็บกินได้แล้ว เช้าวันนี้ลูกสาวคนเล็กก็บอกให้แม่เก็บให้หน่อย ผลหม่อนที่งอกอยู่ที่ต้นที่ปลูกไว้ก็มีลักษณะดังรูปที่แสดง คือผิวเหมือนกับเป็นปุ่ม ๆ และมีขนงอกออกมา พอกัดเข้าไปก็รู้สึกถึงความชุ่มฉ่ำของน้ำข้างใน รสชาติออกเปรี้ยวปนหวาน ไม้ผลรอบบ้านหลายชนิดมักโดน กระรอก กระแต กระถิก (ดูไม่ออกว่าเป็นตัวไหนกันแน่ แต่คงไม่พ้นพวกนี้) มาแอบกินตอนมันกำลังจะสุกอยู่เรื่อย เว้นแต่ลูกหม่อนนี่แหละ ไม่เห็นมันมากินซักที ตอนตัดกิ่งครั้งสุดท้ายได้ใบหม่อนมากาละมังนึง คุณแม่ของผมก็เอาไปตากแห้ง จากนั้นก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเอาไปชงเป็นน้ำชาหรือแจกจ่ายเพื่อนบ้านไปหมด
  
กิ่งหม่อนที่ตัดออกมานั้นพอริดใบออกแล้วก็นำไปปักในดินที่ชุ่ม มันก็งอกขึ้นเป็นต้นใหม่ได้ ครั้งล่าสุดทดลองเอากิ่งที่ตัดออกมาเอาส่วนโคนไปแช่ในน้ำ ปรากฏว่ามันก็แตกกิ่งแถมออกลูกเช่นกันทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ลงดินและไม่เห็นมีรากงอกออกมา แต่ตอนนี้เอาไปปักดินเรียบร้อยแล้ว ด้วยการที่มันขยายพันธ์ง่าย จากที่ซื้อมาต้นเดียวราคา ๑๐ บาท ตอนนี้ก็เลยมีอยู่รอบบ้านหลายต้น

ชมพู่มะเหมี่ยวก็เป็นไม้ผลอีกชนิดหนึ่งที่ปลูกเอาไว้ที่บ้าน จากเดิมที่มี ๓ ต้นตอนนี้ก็เหลืออยู่เพียง ๒ ต้น ในมะเหมี่ยวมันใบใหญ่ดี แถมไม่ค่อยร่วงเหมือนมะม่วง (ที่ต้องกวาดกันเป็นประจำ) ต้นเก่าสุดของบ้านอายุกว่า ๓๐ ปีแล้ว คือปลูกเอาไว้ตั้งแต่ตอนย้ายเข้ามาอยู่ ผ่านน้ำท่วมกรุงเทพมาหลายครั้ง ตอนนี้มันก็ยังออกผลให้กินอยู่เสมอ แม้ว่าจะไม่ทุกปีก็ตาม 
   
มะเหมี่ยวเวลาแตกยอดอ่อนยอดอ่อนจะมีสีออกแดง ไม่เหมือนต้นไม้ส่วนใหญ่ที่ยอดออกที่แตกออกมานั้นมักจะมีสีเขียว เวลาที่มะเหมี่ยวแตกยอดอ่อนทั้งต้นก็จะเห็นต้นเป็นสีแดงปนเขียว ก็ดูสวยไปอีกแบบหนึ่ง เกสรของดอกมะเหมี่ยวนั้นก็สามารถนำไปทำอาหารรับประทานได้

ฉบับนี้ปิดท้ายด้วยผีเสื้อที่กำลังออกมาจากดักแด้ ตัวนี้มันแปลกตรงที่ต้นไม้มีเยอะแยะดันไม่ไปเกาะ กลับคืบคลานผ่านพื้นคอนกรีตเข้ามาเกาะอยู่บนเสาปูนของหลังคาโรงรถ ตอนที่เห็นครั้งแรกมันก็เป็นตัวหนอน จากนั้นก็กลายเป็นดักแด้ จนกระทั่งเช้ามืดวันอังคารที่ผ่านมา ออกมาเปิดบ้านตอนตี ๕ เศษ ก็เห็นมันกำลังเป็นผีเสื้อออกมาจากดักแด้ ก็เลยไปหยิบโทรศัพท์มาถ่ายรูปเอาไว้เป็นที่ระลึก ส่วนอีกสองรูปนั้นเป็นดักแด้ที่มันเหลือทิ้งเอาไว้ ยังคิดคาไว้ที่เสา จะลองปล่อยไว้อย่างนั้นเพื่อดูว่ามันจะอยู่ไปได้อีกนานเท่าใด



รูปที่ ๓ ต้นชมพู่มะเหมี่ยวที่ปลูกไว้หน้าบ้านเก่า ต้นนี้อยู่มานานกว่า ๓๐ ปีแล้ว รอดผ่านเหตุการณ์น้ำท่วมมาหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ยังออกลูกให้กินเป็นประจำ ใบอ่อนมะเหมี่ยวที่แตกยอดออกมาใหม่จะออกไปทางโทนสีแดง เวลาที่มันแตกเยอะ ๆ ก็ดูสวยดี ส่วนลูกมะเหมี่ยวก็งอกออกมาตรงตำแหน่งกิ่งที่ถ่ายรูปมาให้ดู มันขึ้นเป็นกระจุกอยู่ติด ๆ กัน แต่สุดท้ายแต่ละกระจุกก็เหลือเป็นลูกโตไม่กี่ลูกทุกที





รูปที่ ๔ ดักแก้ที่มาเกาะอยู่เสาโรงจอดรถที่บ้าน เพิ่มจะเป็นตัวผีเสื้อบินออกไปเมื่อเช้ามืดวันอังคารที่ ๑๗ ธันวาคมที่ผ่านมาบังเอิญไปเห็นตอนกำลังเป็นตัวผีเสื้อออกจากดักแด้พอดี

เคยมีพนักงานกลุ่มหนึ่งจากบริษัทที่รับจ้างทำ CSR ให้กับบริษัทอื่นมาปรึกษาเรื่องการทำ CSR จากขยะชนิดหนี่ง คำว่า "CSR" นี้ย่อมาจาก "Corporate Social Responsibility" ซึ่งมีผู้ให้คำจำกัดความว่า ความรับผิดชอบต่อ "สังคม" และสิ่งแวดล้อมขององค์กร ซึ่งคือการดำเนินธุรกิจภายใต้หลัก "จริยธรรม" และการจัดการที่ดี หลังจากปรึกษากับผมเสร็จ (ซึ่งก็ดูเหมือนว่าความเห็นของผมไปทำให้สิ่งที่เขาคิดเอาไว้นั้นท่าทางจะไม่มีหวัง) เขาก็ถามผมว่าโดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่า CSR ที่องค์กรต่าง ๆ ควรทำมากที่สุดคืออะไร

ผมก็ตอบเขากลับไปว่า "ก็ให้พนักงานเลิกงานให้ตรงเวลา ไม่ต้องให้มีงานกลับไปทำที่บ้านหรือในวันหยุด ให้เขามีเวลาไปมีครอบครัวหรือใช้ชีวิตกับครอบครัว ไม่ใช่ต้องให้เขามาทำงานตลอดเวลาเพื่อให้บริษัทมีชื่อว่าได้ช่วยเหลือ "สังคม" แต่กลับไม่คำนึงถึงพนักงานของตัวเองว่ามีเวลาเป็นของตนเองในการไปเข้าสังคมร่วมกับผู้อื่นนอกบริษัทหรือไม่"

วันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2556

แค่เปลี่ยนเต้ารับก็สิ้นเรื่อง (การทำวิทยานิพนธ์ภาคปฏิบัติ ตอนที่ ๖๐) MO Memoir : Friday 20 December 2556

"ระวังท่อแก๊สแถวนั้นหน่อยนะ เดี๋ยวจะโดนไฟดูด"
เสียงรุ่นพี่เตือนรุ่นน้องขณะที่สอนให้ใช้เครื่อง ChemiSorb 2750 เมื่อวันพุธที่ผ่านมา
 
ผมได้ยินคำเตือนดังกล่าวก็เลยไปหยิบเอาไขควงเช็คไฟมาตรวจสอบ (ควรจะมีเป็นอุปกรณ์ประจำตัวสำหรับแต่ละคนที่ทำการทดลอง) พบว่าไม่ว่าจะจิ้มไปที่ท่อทองแดง regulator ที่หัวถังแก๊ส หรือที่ตำแหน่งโลหะที่ไม่มีสีหุ้ม (เช่นหัวนอต) ของเครื่องวัดพื้นที่ผิว BET ก็พบไฟรั่วทั่วไปหมด (รูปที่ ๑)
เวลาใช้ไขควงเช็คไฟก็ต้องเอานิ้วแตะที่หัวด้านที่มีหลอดไฟด้วยนะ ไม่ใช่แค่เอาไปจิ้มเฉย ๆ ถ้ามีไฟรั่วหลอดไฟจึงจะติด เพราะถ้าไม่เอานิ้วแตะ (ดูรูปที่ ๑) แม้ว่าจะมีไฟรั่ว หลอดไฟก็จะไม่ติด

รูปที่ ๑ (บนซ้าย) ไฟรั่วจากเครื่องผ่านระบบท่อแก๊สที่เป็นท่อทองแดงมาถึงหัวถังแก๊ส (บนขวา) การตรวจวัดที่นอตที่ตัวเครื่องวัดพื้นที่ผิว BET Micromeritics ASAP 2020 ก็พบไฟรั่วเช่นเดียวกัน (ล่างซ้าย) ในวงแดงคือปลั๊กของจอคอมพิวเตอร์ที่ย้ายไปเสียบยังเต้ารับตัวใหม่ที่มีสายดิน (ล่างขวา) ไฟรั่วที่ตรวจพบที่เครื่อง Thermogravimetric analysis
 
ไฟที่จ่ายเข้ามายังเต้ารับของห้องนี้มี ๒ ระบบ ระบบแรกเป็นระบบเดิมของอาคารซึ่งเป็นระบบที่มีสายดินอยู่แล้ว แต่เนื่องจากระบบนี้ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้เพียงพอกับความต้องการของอุปกรณ์ที่นำมาติดตั้ง จึงได้มีการเดินสายระบบที่สองเพิ่มขึ้น แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือระบบที่สองที่เดินใหม่นั้น "ไม่มีสายดิน"
  
เครื่องที่เกิดปัญหาคือ Micromeritics ASAP 2020 ที่ควบคุมด้วยไมโครคอมพิวเตอร์ ในวันที่ผมทราบปัญหานั้นเครื่องก็ยังอยู่ระหว่างการทำงานที่คาดว่ากว่าจะเสร็จก็คงจะอีกนาน ในบ่ายวันนั้นจึงได้ทำการทดสอบอย่างง่าย ๆ ให้กับสมาชิกของกลุ่มได้ดู (ที่บังเอิญอยู่ที่แลปตอนบ่าย ๓ คนคือสาวน้อยจากบ้านสวน สาวน้อยจากเมืองโอ่งมังกร สาวน้อยจากเมืองขุนแผน ส่วนสาวน้อยจากเมืองวัดป่ามะม่วงเดาว่าคงนอนอยู่บ้านเอาแรงหลังจากทำการทดลองข้ามคืน)
 
สิ่งที่ผมทำก็คือตรวจสอบดูก่อนว่ามีเต้ารับตัวไหนบ้างในบริเวณนั้นที่มีสายดิน จากนั้นก็นำเอาเครื่องพิมพ์ (ยืมของกลุ่ม DeNOx มาชั่วคราว) มาเสียบสายต่อเข้ากับเต้ารับตัวนั้น จากนั้นก็ต่อเครื่องพิมพ์เข้ากับคอมพิวเตอร์ที่ควบคุมเครื่อง ASAP 2020 ที่กำลังทำงานอยู่ผ่านสาย USB จากนั้นก็เอาไขควงเช็คไฟตรวจสอบตามตำแหน่งต่าง ๆ ที่เคยพบการรั่วไหลอีกที ก็พบว่าทีนี้หลอดไฟของไขควงเช็คไฟไม่ติดแล้ว แสดงว่าปัญหาเรื่องไฟดูดก็หมดไป ผมสาธิตให้สมาชิกของกลุ่มดูด้วยการถอดสาย USB ของเครื่องพิมพ์ออกก่อน จากนั้นก็ให้เขาใช้ไขควบเช็คไฟตรวจสอบเพื่อให้เห็นว่ามีไฟรั่ว แต่พอเสียบสาย USB หลอดไฟของไขควงที่สว่างอยู่ก็ดับ แต่ถ้าดึงสาย USB ออกมันก็สว่างใหม่ (ไม่จำเป็นต้องเปิดเครื่องพิมพ์นะ)

อุปกรณ์ไฟฟ้าหลายชนิดเวลาที่กำลังทำงานนั้นถ้าเราเอาไขควงเช็คไฟไปตรวจสอบก็จะพบว่ามีไฟติด ตรงนี้มันไม่ใช่ข้อบกพร่องของอุปกรณ์ แต่เกิดจากวิธีการทำงานของอุปกรณ์หรือการออกแบบอุปกรณ์ (เช่นเกิดจากการเหนี่ยวนำ การใช้ตัวถังเป็นระบบกราวน์ (สายดิน)) และโดยปรกติเวลาใช้อุปกรณ์พวกนี้ก็ควรจะต้องใช้กับปลั๊กและเต้ารับที่มีระบบสายดิน อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และสายพ่วงเพื่อการส่งผ่านข้อมูลระหว่างคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่าง ๆ นั้นมักจะมีสายดินอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อเสียบอุปกรณ์เหล่านี้เข้าด้วยกัน ถ้าไม่มีอุปกรณ์ตัวใดมีการต่อลงระบบสายดินเลย และถ้ามีอุปกรณ์ตัวใดตัวหนึ่งเพียงตัวเดียวมีไฟรั่ว ไฟฟ้าก็จะไหลไปยังอุปกรณ์ทุกตัวหมด อย่างเช่นในกรณีนี้มันออกไปจนตามท่อแก๊สที่เป็นท่อทองแดงไปจนถึงถังแก๊ส
 
ในทางกลับกันถ้ามีอุปกรณ์ชิ้นใดชิ้นหนึ่งนั้นมีการต่อลงระบบสายดิน อุปกรณ์ตัวอื่นแม้ว่าจะไม่ได้เสียบเข้ากับเต้ารับที่มีสายดิน ก็จะถูกต่อลงระบบสายดินไปด้วย (แต่ถ้าจะให้ดีที่สุดคืออุปกรณ์ทุกตัวควรต้องเสียบเข้ากับเต้ารับที่มีระบบสายดิน)
 
ในกรณีที่เล่ามาข้างต้นเป็นการต่อลงระบบสายดินผ่านสาย USB ของเครื่องพิมพ์และสายไฟของเครื่องพิมพ์ที่เสียบเข้ากับเต้ารับที่มีระบบสายดิน
 
การแก้ปัญหาที่ได้กระทำไปเมื่อวันศุกร์ก็คือทำการย้ายปลั๊กของจอคอมพิวเตอร์ให้ไปเสียบยังเต้ารับอีกตัวหนึ่งที่อยู่ใกล้ ๆ ที่มันมีสายดิน (ปลั๊กนี้ต่อพ่วงมาจากเต้ารับเดิมของอาคารที่มีระบบสายดิน) ที่เลือกย้ายปลั๊กจอคอมพิวเตอร์ก็เพราะเวลาปิดจอมันไม่รบกวนการทำงานของเครื่อง ASAP 2020 พอย้ายปลั๊กจอเสร็จเรียบร้อยก็ตรวจสอบไฟรั่วอีกครั้ง ก็พบว่าปัญหาดังกล่าวก็หายไป
 
เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นกับเครื่อง centrifuge ตอนนั้นผมก็บอกให้เขาไปเปลี่ยนสายไฟใหม่ จากของเดิมที่ปลั๊กตัวผู้เป็นแบบมี ๒ ขาให้เปลี่ยนเป็นแบบที่ปลั๊กตัวผู้มีขา ๓ ขาทน เพราะเต้ารับที่ใช้อยู่มันก็มีสายดินอยู่แล้ว ปัญหาเรื่องไฟรั่วก็หมดไป

ตอนนี้อุปกรณ์ในห้องนั้นอีกชิ้นหนึ่งที่เห็นมียังปัญหาอยู่ก็คือเครื่อง Thermogravimetric analysis แต่บังเอิญเครื่องนี้เขาใช้ท่อพลาสติกต่อจากถังแก๊สมายังเครื่อง จึงทำให้ไม่มีการรั่วไหลของไฟฟ้าไปยังถังแก๊ส และเครื่องมันก็เคลือบสีไว้อย่างดี แถมบริเวณที่เป็นผิวโลหะเปิด (เช่นข้อต่อท่อแก๊ส) ก็ไปอยู่ในบริเวณที่ปรกติจะต้องเข้าไปยุ่งอะไร ก็เลยคงทำให้ไม่มีใครรู้ว่ามันก็มีปัญหาอยู่เช่นกัน