เอกสารนี้แจกจ่ายเป็นการภายในเฉพาะผู้ที่กำลังศึกษาอยู่เท่านั้น
บันทึกช่วยจำของกลุ่มวิจัยตัวเร่งปฏิกิริยาโลหะออกไซด์ บันทึกความจำของวิศวกรเคมีผู้ลงมือปฏิบัติ (mo.memoir@gmail.com)
วันศุกร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2553
วันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2553
ฝึกงานภาคฤดูร้อน ๒๕๕๓ ตอนที่ ๙ ความดันลดกับอัตราการไหล MO Memoir : Thursday 29 April 2553
จากการที่ได้ไปตรวจเยี่ยมนิสิตฝึกงานมาเมื่อวาน (เรียกให้ถูกคือพาไปเลี้ยงข้าวเย็นริมทะเล ในสถานที่ที่มีภูเขาบดบังไม่ให้เห็นดวงอาทิตย์ตกทะเล แต่สามารถเห็นพระจันทร์เต็มดวงคืนวันเพ็ญโผล่ขึ้นมาจากทะเล) ก็มีคำถามหนึ่งเกี่ยวกับการตรวจสอบอัตราการไหลของของไหลในท่อด้วยการวัดความดันลด (pressure drop) ระหว่างตำแหน่งต่าง ๆ ของระบบท่อ ซึ่งเทคนิคดังกล่าวก็เหมือนกับการวัดโดยใช้ orifice ที่เรียนกันมาแล้ว แต่การแปลผลระหว่างความดันลดที่วัดได้กับอัตราการไหลที่แท้จริงนั้นต้องมีการระวังอยู่เหมือนกัน
Memoir ฉบับนี้เลยถือโอกาสเล่าเรื่องเกี่ยวกับอุปกรณ์และหลักการการวัดอัตราการไหล วิธีการวัดอัตราการไหลของของไหลในท่อนั้นมีอยู่หลายรูปแบบ แต่ในที่นี้จะกล่าวถึง ๒ รูปแบบที่มักจะพบเห็นกันได้อยู่ทั่วไป คือการใช้ Rotameter และ Orifice
Rotameter ทำจากหลอดแก้วหรือพลาสติกใสที่มีรูอยู่ตรงกลาง ขนาดพื้นที่หน้าตัดของรูที่ปลายด้านล่าง (ช่องทางให้ของไหลไหลเข้า) จะเล็กกว่าด้านบน (ด้านที่ของไหลไหลออก) ภายในรูนี้จะบรรจุลูกลอย (float) ที่จะลอยขึ้นลงตามอัตราการไหลของของไหล การทำงานและตัวอย่าง rotameter แสดงไว้ในรูปที่ 1 ข้างล่าง
รูปที่ 1 (ซ้าย) การทำงานของ rotameter และ (ขวา) ตัวอย่าง rotameter
(รูปซ้ายจาก http://www.globalspec.com/reference/9771/349867/Rotameters-Simplicity-Utility
รูปขวาจาก http://www.atspecialties.com/downloads/Color%20VA.GIF)
เมื่อของไหลไหลเข้าทางด้านล่าง rotameter ของไหลนั้นจะไปดันผิวด้านล่างของลูกลอย ทำให้ลูกลอยลอยตัวสูงขึ้น ยิ่งของไหลไหลเร็วเท่าใด แรงที่ดันลูกลอยก็จะสูงตามไปด้วย แต่เนื่องจากรูด้านในนั้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่ขยายใหญ่ขึ้น ดังนั้นเมื่อลูกลอยลอยตัวสูงขึ้น พื้นที่การไหลก็จะเพิ่มขึ้นไปด้วย จนในที่สุดเมื่อแรงที่ของไหลดันลูกลอยให้ลอยตัวสูงขึ้นเท่ากับน้ำหนักของลูกลอยในของไหลนั้น ลูกลอยก็จะอยู่นิ่ง
รูปร่างและวัสดุที่ใช้ทำลูกลอยขึ้นอยู่กับชนิดของไหลและช่วงอัตราการไหลที่ต้องการวัด เช่นถ้าต้องการวัดอัตราการไหลของอากาศที่ค่าต่ำ ๆ ก็อาจใช้ลูกลอยทำจากพลาสติก แต่ถ้านำไปใช้วัดค่าอัตราการไหลของอากาศที่ค่าสูง หรือนำไปใช้วัดอัตราการไหลของน้ำ ก็สามารถเปลี่ยนไปใช้ลูกลอยที่ทำจากโลหะ (เช่น ทองเหลืองหรือสแตนเลส) โดยที่ยังคงใช้ rotameter ตัวเดิมได้
rotameter ที่มากับตัวอุปกรณ์ต่าง ๆ นั้นมักเลือกใช้ลูกลอยและทำการสอบเทียบให้เหมาะสมกับของไหลที่อุปกรณ์ตัวนั้นใช้ ในกรณีที่ของไหลเป็นแก๊สมีสิ่งหนึ่งที่ต้องระวังคือความหนาแน่นของแก๊สนั้นเปลี่ยนไปตามความดันและอุณหภูมิของระบบ เพราะถ้าความดันในระบบสูงขึ้นหรืออุณหภูมิของแก๊สลดลง ความหนาแน่นของแก๊สที่ไหลผ่านลูกลอยจะสูงขึ้น ที่ค่าอัตราการไหลเดียวกัน (ถ้าคิดเทียบที่ความดันบรรยากาศและอุณหภูมิเดียวกัน) ลูกลอยของระบบที่มีความดันสูงกว่า (และ/หรืออุณหภูมิต่ำกว่า) จะลอยต่ำกว่าลูกลอยของระบบที่มีความดันต่ำกว่า (และ/หรืออุณหภูมิสูงกว่า) ส่วนในกรณีของของเหลวนั้น ความดันไม่ส่งผลใดต่อการลอยตัวของลูกลอย แต่อุณหภูมิ (ซึ่งส่งผลต่อความหนาแน่นมากกว่า) จะส่งผลต่อการลอยตัวของลูกลอยมากกว่า
ส่วน rotameter ที่ไม่ได้กำหนดมาว่าจะใช้กับของไหลชนิดใดนั้น ผู้ผลิตมักจะทำสเกลเช่น 0-100 มาให้ (ซึ่งมักหมายถึงช่วงการไหล 0-100% ดังแสดงในรูปที่ 1 ซ้าย) เมื่อผู้ใช้งานต้องการนำ rotameter ดังกล่าวไปใช้งาน จึงจำเป็นต้องมีการสอบเทียบก่อนว่าที่ตำแหน่งความสูงต่าง ๆ กันของลูกลอยนั้น ค่าอัตราการไหลที่แท้จริงเป็นเท่าใด
การวัดอัตราการไหลด้วย orifice ใช้การวัดการเปลี่ยนแปลงความดันเมื่อของไหลไหลผ่านบริเวณที่มีพื้นที่หน้าตัดการไหลลดลง (ดูรูปที่ 2 ข้างล่างประกอบ) การทำให้เกิดบริเวณที่มีพื้นที่หน้าตัดการไหลลดลงมักทำโดยการสอดแผ่นกั้นที่มีรูเจาอยู่ตรงกลาง (เรียกว่าแผ่น orifice) เข้าไปขวางทิศทางการไหลเอาไว้ เมื่อทำการวัดความดันของไหลก่อนไหลผ่านและหลังจากที่ไหลผ่านแผ่น orifice นี้ก็สามารถนำค่าผลต่างความดันนี้ไปคำนวณหาอัตราการไหลได้
การทำให้พื้นที่หน้าตัดการไหลลดลงนี้ไม่จำเป็นต้องใช้แผ่น orifice เสมอไป อาจใช้วิธีการลดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางท่อลงก็ได้ (แล้วค่อยขยายขึ้นกลับเป็นขนาดเดิม) แต่การใช้แผ่น orifice ก็มีข้อดีตรงที่ประหยัดพื้นที่ติดตั้ง และด้วยการเปลี่ยนแผ่น orifice ที่มีขนาดรูต่างกันก็ทำให้สามารถวัดอัตราการไหลในช่วงต่าง ๆ ได้
รูปที่ 2 การทำงานของ orifice (รูปจาก http://www.hydrotherms.com/orifice.htm)
การติดตั้งแผ่น orifice จะใช้หน้าแปลนพิเศษแตกต่างไปจากหน้าแปลนที่ใช้เชื่อมต่อท่อทั่วไป กล่าวคือหน้าแปลนที่ใช้สำหรับติดตั้งแผ่น orifice จะมีการเจาะรูสำหรับต่อท่อไปยังอุปกรณ์วัดความดันลดคร่อมแผ่น orifice (ดูรูปที่ 3 ประกอบ)
เนื่องจากข้อกำหนดในการติดตั้ง orifice นั้นจำเป็นต้องให้ของไหลในท่อไหลอย่างราบเรียบก่อนและหลังจากที่ไหลผ่านออกไป จึงมีข้อกำหนดให้ท่อด้านขาเข้าและท่อด้านขาออกจาก orifice ต้องเป็นท่อตรงอย่างน้อยเป็นช่วงระยะหนึ่ง ช่วงระยะที่ต้องเป็นท่อตรงนี้ขึ้นกับขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของท่อ ถ้าท่อที่ใช้นั้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่ ระยะทางดังกล่าวก็จะยาวเพิ่มขึ้นไปด้วย ซึ่งจะทำให้ต้องใช้พื้นที่มากในการติดตั้ง orifice วิธีการหนึ่งที่สามารถทำให้ลดระยะความยาวท่อดังกล่าวได้คือการทำให้ท่อช่วงที่ติดตั้ง orifice นั้นมีขนาดเล็กลง ตัวอย่างเช่นสมมุติว่าเราต้องการวัดอัตราการไหลในท่อ 12 นิ้ว ดังนั้นท่อช่วงที่ติดตั้ง orifice นั้นอาจใช้ท่อขนาด 8 นิ้วแทน (พอพ้นออกไปแล้วก็ขยายขึ้นเป็นท่อ 12 นิ้วเหมือนเดิม) ซึ่งก็จะทำให้ลดพื้นที่ที่ต้องใช้ในการติดตั้ง orifice ลงไปได้
รูปที่ 3 ชุด orifice ตัว orifice คือแผ่นกลมมีรูตรงกลาง
(รูปจาก http://www.directindustry.com/prod/aplitex-sl/orifice-plate-for-differential-pressure-flow-measurement-50657-361553.html)
ทีนี้กลับมายังคำถามเกี่ยวข้องกับการฝึกงานที่มีคนถามมาเมื่อวาน อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่าถ้าของไหลในท่อไหลเร็วขึ้น ผลต่างความดัน (differential pressure) ที่คร่อมระหว่างจุด ๒ จุดบนแนวท่อนั้นก็จะเพิ่มมากขึ้น (เหมือนกับการทำงานของ orifice นั่นแหละ) แต่การแปลค่าผลต่างความดันระหว่างจุด ๒ จุดที่สูงว่าเป็นเพราะมีอัตราการไหลที่สูงก็ต้องระวัง เพราะถ้าหากเกิดกรณี "ท่อตัน" เราก็จะพบว่าผลต่างความดันระหว่างจุด ๒ จุดนั้นสูงได้ทั้ง ๆ ที่ของไหลนั้นไหลด้วยอัตราการไหลที่ต่ำ
ในการคิดนั้นอย่าไปด่วนสรุปว่า "ถ้าเงื่อนไข (ก) ทำให้เกิดเหตุการณ์ (ข) ดังนั้นถ้าตรวจพบเหตุการณ์ (ข) ก็แสดงว่ามีเงื่อนไข (ก) เกิดขึ้น" เพราะมันไม่จำเป็นว่าเหตุการณ์ (ข) เกิดได้จากเงื่อนไข (ก) เพียงอย่างเดียว เหตุการณ์ (ข) อาจเกิดจากเงื่อนไข (ค) (ง) ฯลฯ ก็ได้ หลายปัญหาที่เกิดขึ้นและแก้ไม่ตกหรือทำให้เรื่องมันไปกันใหญ่ก็เพราะแนวความคิดแบบด่วนสรุปเช่นนี้
วันพุธที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2553
ทำอย่างไรดีเมื่อหัวหน้าชอบเลิกงานดึก MO Memoir : Wednesday 28 April 2553
เมื่อเช้าวันวาน มีวิศวกรหญิง (สาวสวยผมยาวหุ่นผอม) ที่จบการศึกษาไปเมื่อปีเศษ ปัจจุบันทำงานอยู่กับบริษัทแห่งหนึ่งแวะมาทักทาย ก็เลยได้พูดคุยกันเรื่องชีวิตการทำงานในบริษัท และปัญหาหนึ่งที่พนักงานบริษัทสมัยนี้มักประสบกันเป็นประจำคือ เลิกงานดึก ประชุมตอนเย็นหรือในวันหยุด และต้องมาทำงานในวันหยุดด้วย ที่สำคัญคือไม่มีการจ่ายค่าล่วงเวลา
ผมเล่าให้เขาฟังว่า ในมุมมองของผม พฤติกรรมแบบนี้มันเป็นเหมือนพฤติกรรมของทหารญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ใคร ๆ ก็ได้รับการบอกกล่าวกันว่า "ยอมตายในสนามรบเพื่อองค์จักรพรรดิดีกว่าการยอมแพ้หรือถูกจับเป็นเชลย" แต่เอาเข้าจริง ๆ จากบันทึกของทหารญี่ปุ่นระดับล่าง (ที่ต้องออกสนามรบจริง ไม่ใช่นั่งสั่งการอยู่ในที่กำบัง) ทุกคนที่ถูกสั่งให้ลุยออกไปหาข้าศึกนั้นต่างก็ไม่อยากตายกันทั้งนั้น ต่างคนต่างอยู่ด้วยความกลัวและหวาดระแวงว่าถ้าหากโต้แย้งคำสั่งก็จะกลายเป็นแกะดำและถูกลงโทษ หรือถ้ายอมแพ้และถูกจับก็จะทำให้เสื่อมเสียแก่วงศ์ตระกูล ถูกดูถูกเหยียดหยามจากคนที่อยู่แนวหลัง (ที่อยู่อย่างปลอดภัยจากสนามรบจริง)
สภาพการทำงานของพนักงานในบริษัทปัจจุบันก็มักเป็นเช่นนี้ กล่าวคือต้องอุทิศชีวิตตนเองเพื่อให้ "ผู้ถือหุ้น" บริษัทนั้นได้รับผลประโยชน์สูงสุด ทุกคนอยู่ด้วยความหวาดระแวง ถ้าถามแต่ละคนว่าชอบไหมที่ต้องเลิกงานดึก ไม่มีเวลาให้กับตัวเองหรือครอบครัว ก็มักจะได้รับคำตอบว่าไม่ชอบ แต่ถ้าถามต่อไปว่าแล้วทำไมไม่กลับบ้านเร็ว ๆ ล่ะ ก็จะได้รับคำตอบว่าก็คนอื่นเขายังไม่กลับ พูดง่าย ๆ ว่าไม่มีใครกล้ากลับบ้านก่อนเป็นคนแรก แต่ถ้ามีใครเป็นผู้นำก็จะมีคนอื่นทำตามเป็นพรวนทันที (พฤติกรรมเช่นนี้เห็นเป็นประจำตอนรถติดไฟแดง จะมีพวกที่ชอบแซงวิ่งย้อนเลนรถสวนและมาปาดหน้ารถที่จอดต่อแถวอยู่ ถ้ามีใครทำเช่นนี้สักคนก็จะมีคนทำตามทันที) แต่บุคคลที่ทุกคนในที่ทำงานจะรอให้กลับก่อนเสมอคือหัวหน้างาน
อันนี้ก็เป็นเรื่องแปลก คือลูกน้องไม่กล้ากลับบ้านก่อนหัวหน้างาน กลัวจะโดยหัวหน้างานเล่นงานว่าไม่ทุ่มเทให้กับงาน ส่วนหัวหน้างานเองก็ไม่กล้ากลับบ้านก่อนลูกน้อง คงกลัวลูกน้องวางยาหรือเอาไปนินทากับผู้บริหารระดับสูงขึ้นไปว่าหัวหน้าคนนี้ขี้เกียจ มันก็เลยเหมือนกับการคุมเชิงกันระหว่างลูกน้องกับหัวหน้างาน
ผมเคยเห็นคนที่ประสบความสำเร็จในตำแหน่งหน้าที่การงาน ทำงาน ๖ วันต่อสัปดาห์ (ทั้ง ๆ ที่เขาจ้างทำงานแค่ ๕ วัน) มาถึงที่ทำงาน ๗ โมงเช้า เลิกงาน ๑ ทุ่ม (ทั้ง ๆ ที่เวลาทำงานจริงคือ ๘ โมงเช้าถึง ๔ โมงเย็น) ทำอย่างนี้เป็นประจำจนกระทั่งบิดาป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล ตอนนั้นเขาก็เที่ยวมาเดินบอกใครต่อใครว่าถ้าคุณพ่อคุณแม่ใครยังมีชีวิตอยู่ก็ดูแลท่านด้วยนะ ดูเหมือนว่าบิดาของเขาป่วยอยู่ได้ไม่ถึงสองสัปดาห์ก็ถึงแก่กรรม จากวันนั้นเขาก็ไม่มาทำงานแต่เช้า ถึงเวลาเลิกงานก็กลับบ้านทันที วันเสาร์ก็ไม่มาทำงานอีกเลย เพื่อที่จะได้อยู่กับมารดาซึ่งก็มีอายุมากแล้วเหมือนกัน แต่พอผ่านงานเผาศพบิดา มารดาก็ป่วยต่ออีก อยู่โรงบาลได้ไม่กี่เดือนก็ถึงแก่กรรม
พอหมดบิดา-มารดาแล้ว ปรากฏว่าแกทำงานหนักกว่าเดิมอีก จนลูกน้องพูดกันว่า แกไม่รู้หรือไงว่าแกยังมีลูกและเมียอยู่อีกนะ
แต่ก่อนคนทำงานบริษัทมักต้องทุ่มเทชีวิตให้กับงานจนไม่มีเวลาให้ลูก แต่ปัจจุบันดูเหมือนจะหนักกว่าเดิมอีกเพราะต้องทุ่มเทชีวิตให้กับงานจนไม่มีเวลาที่จะมีครอบครัวได้ ได้ยินมาหลายรายแล้วที่ต้องเลือกเอาระหว่างจะแต่งงานหรือจะทำงาน แต่งงานแล้วแต่ไม่มีลูกเพราะกลัวว่าจะทำงานได้ไม่เต็มที่ หรือประเภทบริษัทมีระเบียบให้พนักงานลาคลอดได้ ๓ เดือน (เพื่อให้ดูดี) แต่เอาเข้าจริงก็ลาได้เพียงแค่ ๒ สัปดาห์หรือ ๑ เดือนเท่านั้น เพราะก่อนลาก็จะมีการพูดในทำนองว่าจะลาเต็มที่ก็ได้ แต่อย่าให้งานเสียหาย หรือไม่ก็จะมีการบอกว่าถ้าหายไปนานก็จะหาคนอื่นมาทำงานแทน
สาเหตุหนึ่งพบว่าทำให้หัวหน้างานนั้นชอบอยู่ในที่ทำงาน (ไม่ยอมกลับบ้าน) ก็คือยังเป็นโสด หรือแต่งงานแล้วแต่ยังไม่มีลูก รายที่เขามานั่งคุยกับผมเมื่อวานก็เจอปัญหานี้คือ หัวหน้างานของเขาเป็นผู้ชายที่แต่งงานแล้วแต่ยังไม่มีลูก ชอบเรียกประชุมตอน ๖ โมงเย็น สั่งงานให้ทำตอนค่ำ ๆ แล้วบอกว่าจะเอาพรุ่งนี้ ๘ โมงเช้า
จากข้อมูลที่ได้รับ ผมก็เลยเสนอแผนการ (ซึ่งน่าจะเป็นแผนการที่ "ชั่วร้าย") ในการทำให้หัวหน้างานเขารีบกลับบ้านเมื่อถึงเวลาเลิกงาน โดยแผนการที่นำเสนอต้องสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ทำให้หัวหน้างานคนนั้น
(ก) ถูกบังคับให้ต้องกลับเมื่อถึงเวลาเลิกงาน หรือ
(ข) รู้สึกอยากกลับทันทีเมื่อถึงเวลาเลิกงาน
การทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวมีหลักการที่สำคัญคือ "ทำให้เกิดความหวาดระแวงในครอบครัว" หรือพูดง่าย ๆ คือหาเรื่องให้ครอบครัวเขาแตกแยกกัน ซึ่งบอกอย่างนี้บางคนอาจคิดว่าเป็นการกระทำที่ผิดศีลธรรม แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งคือจากมุมของลูกน้อง การที่หัวหน้างานใช้งานลูกน้องอย่างหนักจนไม่มีเวลาให้กับตัวเองหรือครอบครัวก็เป็นการทำให้ครอบครัวของลูกน้องคนนั้นแตกแยกเช่นเดียวกัน และควรถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดศีลธรรมเช่นเดียวกัน (ไม่เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น เห็นเขาเป็นทาส ตายไปก็จ้างคนใหม่มาแทน) ถ้าหัวหน้างานทำอย่างนี้กับลูกน้องก่อนได้ แล้วทำไมลูกน้องจะทำอย่างเดียวกันกับหัวหน้างานบ้างไม่ได้ ทำนองหนามยอกก็ต้องเอาหนามบ่ง
แผนการเหล่านี้ผมได้ตัวอย่างมาจากละครโทรทัศน์ที่ฉายอยู่ในบ้านเรา ดังนั้นผมจึงไม่สามารถสงวนลิขสิทธิ์แผนการต่าง ๆ เหล่านี้ได้ ทุกคนที่อ่านบันทึกนี้สามารถนำไปใช้ได้ แต่ถ้าไม่ได้ผลก็อย่ามาโทษกัน
ทีนี้ลองมาดูว่าจะมีวิธีการอย่างไรบ้างเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ ๒ ข้อที่กล่าวมาข้างต้น
การทำให้หัวหน้างาน (ซึ่งในที่นี้เป็นผู้ชาย) ถูกบังคับให้ต้องกลับเมื่อถึงเวลาเลิกงาน ก็ต้องหาทางสร้างความหวาดระแวงให้กับคู่สมรส (ภรรยา) ของหัวหน้างาน (คงเดาได้แล้วใช่ไหมว่าจะให้หวาดระแวงเรื่องใด) ด้วยการปล่อยข่าวซึ่งอาจเป็นข้อความหรือรูปภาพ (จากผู้ปราถนาดี) ในทำนองที่ทำให้คู่สมรสของหัวหน้างานนั้นคิดว่า
- กินข้าวเย็นกับลูกน้อง (สาว ๆ น่ารัก) นั้นมันอร่อยกว่ากลับไปกินกับภรรยาที่บ้าน
- ชอบใช้งานลูกน้อง (สาว ๆ) คนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ เพื่อให้ลูกน้องคนนั้นกลับบ้านดึกโดยมีหัวหน้างานนั่งเฝ้า (ถ้าจะให้ดีก็ต้องย้ำด้วยว่าดูเหมือนลูกน้องคนนั้นจะชอบซะด้วย)
- ชอบเรียกลูกน้อง (สาวสวย) ไปสั่งงานเป็นการพิเศษสองต่อสองเป็นประจำ
- เวลามีประชุมในวันหยุดหรือสัมมนาต่างจังหวัดที่ไร เหตุที่ไม่ได้พาภรรยาไปก็เพราะมีลูกน้องรู้ใจไปด้วยแล้ว
- เวลาที่พบกับภรรยาเขาก็แกล้งพูดว่า "แฟนพี่นี้น่ารักจังเลย เห็นชอบซื้อโน่นซื้อนี่เอาไปฝากพี่เป็นประจำ" ซึ่งจริง ๆ แล้วอาจไม่ได้มีการซื้ออะไรเลย แต่ก็ทำให้คนฟัง (ซึ่งไม่เห็นจะได้ของอะไรสักอย่าง) เชื่อก่อนว่าแฟนเขาคงมีการซื้อของจริง แต่ของนั้นไม่ได้เอาไปให้ ซึ่งจะทำให้เขาสงสัยว่ามีการซื้อของไปฝากคนคนอื่นเป็นประจำ
- หรือไม่ก็ เวลาที่พบกับภรรยาเขาก็แกล้งพูดว่า "แฟนพี่นี้น่ารักจังเลย พอถึงเวลาเลิกงานปุ๊บก็รีบกลับทันที ท่าทางจะคิดถึงพี่มาก" (วัตถุประสงค์ก็คือให้ข้อมูลว่าตอนเย็นไม่ได้อยู่ที่ทำงาน แต่ทำไมกว่าจะกลับถึงบ้านมันดึกจังเลย)
- หรือไม่ก็ เวลาที่พบกับภรรยาเขาก็แกล้งพูดว่า "แฟนพี่นี้ห่วงใยสุขภาพจังเลย พอถึงเวลาเลิกงานปุ๊บก็รีบไปซาวน่า (กลางคืน) ต่อทันที" (ถ้าไม่เข้าใจว่าซาวน่ากลางคืนสำหรับผู้ชายเป็นอย่างไร ก็ลองเอาคำนี้ค้นหาใน google ดู)
- แอบถ่ายรูปด้วยกล้องโทรศัพท์ เลือกมุมภาพที่ทำให้เข้าใจผิดได้ง่าย (เห็นหน้าผู้ชายชัดแต่เห็นหน้าผู้หญิงไม่ชัด) และเปิดเบอร์ใหม่ ส่งภาพไปให้อีกฝ่ายดูโดยใช้เบอร์ที่เปิดใหม่ โดยบอกว่ามาจากผู้หวังดี
- ทำแบบเดียวกับการส่งรูปภาพ แต่เป็นการส่ง SMS แทน
- ที่เหลือก็คิดต่อเอาเองก็แล้วกัน
ส่วนการทำให้เขารู้สึกอยากกลับบ้านทันทีที่เลิกงานนั้นคงทำได้ยากกว่า (เพราะเรามักไม่รู้จักคู่สมรสของเขาและไม่มีโอกาสจะได้เจอบ่อยครั้งนัก) แต่โดยหลักการก็คือทำให้หัวหน้างานคิดว่าเมื่อเลิกงานแล้วเขายังไม่กลับบ้าน คู่สมรสของเขาก็ไม่ได้อยู่ที่บ้านเหมือนกัน หรือไม่ก็อยู่ที่บ้านแต่ก็มีคนอื่น (ใครก็ไม่รู้) อยู่ที่บ้านด้วย
หรือถ้าเขามีลูกเพิ่งจะเกิดก็คงต้องมีการชมกันว่าเด็กหน้าเหมือนแม่แต่ไม่ค่อยจะคล้าย "พ่อ" เท่าใดนัก (คำว่า "พ่อ" ในประโยคนี้คือสามีของแม่) หรือถ้าเขากำลังอยากมีลูกหรือภรรยาเขากำลังตั้งท้องอยู่ก็คงต้องมีการปล่อยข่าวหรือพูดเปรย ๆ ว่า "เด็กที่จะเกิดนั้นรับรองว่าหน้าตาต้องมีส่วนเหมือน "พ่อ" แน่ ๆ แต่จะมีส่วนเหมือน "สามี" ของแม่หรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง"
แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีการไหนก็ควรทำให้แนบเนียนหน่อยนะ ส่วนจะได้ผลหรือไม่ได้ผลผมตอบไม่ได้ เสี่ยงดวงเอาเองก็แล้วกัน
วันอังคารที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2553
แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๕๒ (ตอนที่ ๒) MO Memoir : Tuesday 27 April 2553
เอกสารนี้แจกจ่ายเป็นการภายในเฉพาะสมาชิกเท่านั้น
วันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2553
แต่งตัวไปสอบสัมภาษณ์งาน MO Memoir : Sunday 25 April 2553
เมื่อสักประมาณ ๑๐ ปีที่แล้วมีนิสิตหญิงผู้หนึ่ง (กำลังจะจบป.เอก) ผ่านการสอบสัมภาษณ์งานรอบแรกของโรงกลั่นน้ำมันแห่งหนึ่งที่สำนักงานในกรุงเทพ ทางบริษัทก็ให้ไปทำการสอบสัมภาษณ์รอบที่สองที่ตัวโรงกลั่นเองที่อยู่ต่างจังหวัด เขาก็มาปรึกษาผมว่าจะแต่งตัวอย่างไรดีในการไปสอบสัมภาษณ์ครั้งนี้
ผมก็บอกเขาว่า "ให้โทรไปถามเขาซิ แต่อย่าถามว่าให้แต่งตัวอย่างไร ให้ถามคำถามอื่นแทน"
อย่าแปลกใจถ้าคุณต้องไปสอบสัมภาษณ์แล้วถามเขาว่าต้องแต่งตัวอย่างไร แล้วเขาตอบกลับมาว่า "แต่งยังไงก็ได้" เพราะนั่นเป็นข้อสอบข้อแรกที่เขาต้องการสอบวิจารณญานในการคิดของคุณ คุณควรแต่งตัวอย่างไรนั้นควรต้องใช้ความรู้สึกของคนที่คุณจะต้องไปคุยกับเขาด้วย (ซึ่งตรงนี้ยาก เพราะคุณไม่รู้ว่าคนคนนั้นเป็นใคร แต่น่าจะพอเดาได้จากตำแหน่งหน้าที่และอายุของเขา) ไม่ใช่ใช้ความรู้สึกของเพื่อนฝูงว่าอย่างนี้ก็ใช้ได้ เพราะบ่อยครั้งที่การแต่งตัวของผู้เข้าสอบนั้นดูดีในหมู่เพื่อนฝูงที่เป็นวัยรุ่นด้วยกัน แต่คนที่มาสัมภาษณ์ (ซึ่งมีวัยอาวุโสมากกว่านั้น) รับการแต่งกายแบบนั้นไม่ได้
การไปสอบสัมภาษณ์ที่สำนักงานในกรุงเทพ (ก็ชัดเจนว่าเป็นการพูดคุยกันในห้องทำงาน) คุณก็คงคิดเองได้ว่าควรแต่งกายอย่างไร แต่การให้ไปสอบสัมภาษณ์ที่โรงงาน (สถานที่ที่ต้องไปทำงานจริง และผู้ที่มาสอบสัมภาษณ์ก็เป็นผู้ที่ต้องการคนไปทำงานด้วย) นั้นอาจเป็นการสอบสัมภาษณ์ ณ อาคารสำนักงานของโรงงาน หรือมีการนำไปเข้าเยี่ยมชมโรงงานจริง หรือทั้งสองอย่าง รูปแบบการแต่งตัวที่พวกที่ทำงานในสำนักงานนั้นชอบ (ซึ่งมักจะเป็นรูปแบบที่ดูหล่อดูสวยไว้ก่อน) มักจะไม่เหมาะสมกับการทำงานในโรงงาน (ที่ต้องรัดกุมปลอดภัยไว้ก่อน และมักจะดูไม่ได้เรื่องในสายตาของคนทำงานสำนักงาน) แต่ปัญหาก็คือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าการสอบนั้นจะเป็นรูปแบบไหน ซึ่งจะรู้ได้โดยการ "ถาม"
คำถามที่ผมแนะนำให้นิสิตผู้นั้นโทรไปถามทางบริษัทคือ "มี ข้อห้ามหรือข้อจำกัดใดบ้าง ของการแต่งตัวเข้าโรงงาน" กล่าวคือให้โทรไปถามระเบียบการแต่งกายเข้าโรงงานว่ามีข้อห้ามใดบ้าง โดยลองถามเขาว่าห้ามนำอุปกรณ์ใดไปบ้างหรือเปล่า (เช่นพวกอุปกรณ์สื่อสาร) และถามเขาต่อไปว่าในการเข้าไปในเขตโรงกลั่นมีข้อห้ามใดบ้างหรือเปล่า ถ้าเขาตอบมาว่าไม่มีการเข้าไปโรงกลั่นคุณก็พอจะเดาได้เลยว่าน่าจะเป็นเพียงแค่การคุยกันที่อาคารสำนักงานเท่านั้น แต่ถ้าเขาบอกข้อจำกัดมาให้ก็น่าจะเดาไว้ก่อนว่าต้องมีการพาเข้าโรงกลั่น
นิสิตชายไม่ค่อยมีปัญหาเท่าใดในการแต่งตัวเพราะมักจะต้องใส่รองเท้าหนังและเสื้อเชิ้ตอยู่แล้ว (แต่คงไมใช่กางเกงยีนส์) ส่วนนิสิตหญิงมักจะมีปัญหาว่าควรสวมกระโปรงหรือกางเกง ถ้าสอบสัมภาษณ์ในสำนักงานการสวมกระโปรงไปสอบก็ดูดีกว่า แต่ถ้าเข้าโรงงานการสวมกางเกงก็จะเหมาะสมกว่า แต่ในกรณีนี้ต้องไปทั้งสองที่แล้วจะให้ทำอย่างไร
ผมก็บอกเขาให้สวมกางเกงไป (กางเกงสแล็คแบบของผู้หญิง) รองเท้ารัดกุม (ไม่ใช่ชนิดส้นสูงจนเดินโรงงานไม่ได้) สวมเชิ้ตโดยอาจมีเสื้อนอกสวมทับ แบบสาวทำงานออฟฟิต เก็บผมให้ดูไม่รก เครื่องประดับ (โดยเฉพาะตุ้มหู) อย่าให้ดูรกรุงรัง ส่วนเรื่องการแต่งหน้าก็ไม่ได้แนะนำอะไรมากเพราะผู้หญิงน่าจะรู้ดีกว่าผู้ชายอยู่แล้ว ก็คือให้เหมาะกับอาชีพที่ไปสมัครงาน
ในการสอบวันนั้นมีผู้เข้าสอบ ๕ คน เขาพาไปดูโรงงานก่อนแล้วให้กลับมานั่งเขียนบทความเป็นภาษาอังกฤษความยาวไม่เกิน ๒ หน้ากระดาษ A4 เกี่ยวกับสิ่งที่เข้าไปเห็นในโรงงาน จากนั้นก็เรียกเข้าสัมภาษณ์ทีละคน โดยเรียกคนที่มีเกรดมากที่สุดเข้าไปคุยก่อน นิสิตหญิงผู้นี้เกรดต่ำสุด (ในบรรดา ๕ คนนั้น) เลยถูกเรียกเข้าไปสอบสัมภาษณ์เป็นคนหลังสุด และบทความภาษาอังกฤษนั้นก็เขียนไปเพียงแค่ครึ่งหน้ากระดาษ A4 เท่านั้นเอง ในขณะที่อีก ๔ คนที่เหลือเขียนกันเต็มสองหน้า A4
ผลสอบออกมาปรากฏว่าจากที่เรียกไปสัมภาษณ์ที่โรงงาน ๕ คนนั้น เขาเป็นผู้เดียวที่ทางบริษัทรับเข้าทำงาน เขายังกลับมานั่งคุยกับผมเรื่องสิ่งที่เขาเขียนไปเพียงแต่ครึ่งหน้า ในขณะที่คนอื่นเขียนไปถึงสองหน้าเต็ม ทำให้เราพอเดาได้ว่าสิ่งที่ผู้สอบเขาดูในสิ่งที่เขียนนั้น เขาไม่ได้ดูภาษาอังกฤษเพียงอย่างเดียว แต่เขาดูเนื้อหาและความคิดที่เขียนลงไป อีก ๔ คนที่เขาไม่รับนั้นดูเหมือนจะเขียนประเภทว่าได้ไปเห็นอะไร มีอะไรบ้าง (ตามโจทย์ที่เขาบอก) แต่นิสิตหญิงผู้นี้กลับเขียนในทำนองว่าเรื่องทางเทคนิคนั้นทางโรงกลั่นก็น่าจะรู้ดีอยู่แล้วและน่าจะรู้ดีกว่าเขาด้วย เขาก็เลยเขียนเรื่องวิจารณ์โรงกลั่นเรื่องอื่นแทน
เรื่องนี้นำมาเล่าให้ฟังเป็นประสบการณ์ ไม่ได้หมายความว่าถ้าคุณทำตามแบบนี้อีกแล้วจะได้งาน คิดเสียว่าเป็นประสบการณ์การสอบที่ทำให้ได้งานทำของคนคนหนึ่งเมื่อสัก ๑๐ ปีที่แล้ว
วันศุกร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2553
สอบจบแล้ว MO Memoir : Friday 23 April 2553
ก็ขอแสดงความยินดีกับทั้ง ๓ คนที่สอบปกป้องวิทยานิพนธ์ผ่านไปได้ด้วยดี ตอนนี้ก็คงเหลือแต่การแก้ไขรูปเล่มกับการทำการทดลองเพิ่มเติมเล้กน้อยตามที่กรรมการสอบเสนอแนะ
ในส่วนของผู้เรียนนั้นถือได้ว่าการสอบวิทยานิพนธ์เป็นการสอบวัดผลการเรียน ซึ่งเมื่อสอบผ่านก็ถือว่าการเรียนสิ้นสุดลงแล้ว
แต่ในส่วนของผู้สอนนั้นผมถือว่าการสอบวิทยานิพนธ์เป็นการเริ่มต้นการวัดผลการสอน ซึ่งเมื่อผู้เรียนสอบผ่านก็จะเป็นการวัดผลผู้สอนว่าการสอนที่ผ่านมานั้นเป็นอย่างไร
เมื่อวันพุธที่ผ่านมามีคนถามผมในที่ประชุมว่า มีนิสิตของภาควิชามาสมัครเรียนต่อโท-เอกด้วยหรือเปล่า ผมก็ตอบไปว่ามีเหมือนกัน และผมก็บอกนิสิตเหล่านั้นว่า ในด้านความสามารถในการเรียนต่อแล้วผมไว้ใจพวกเขา เพราะสอนมากับมือเป็นเวลาถึง ๓ ปี แต่การสอนระดับปริญญาตรีกับระดับโท-เอกนั้นไม่เหมือนกัน ความขัดแย้งระหว่างนิสิตและอาจารย์นั้นค่อนข้างจะสูง (ถ้านิสัยการทำงานไม่เหมือนกัน) ผมก็บอกนิสิตป.ตรีที่เข้ามานั่งคุยด้วยไปตรง ๆ ว่า บ่อยครั้งที่ผมคิดว่าเราเก็บความรู้สึกดี ๆ ตลอดช่วงเวลา ๓ ปีที่ได้อยู่ด้วยกันนั้นเอาไว้ให้คงอยู่ตลอดไป ดีกว่าจะมาขัดแย้งกันในระหว่างการเรียนต่ออีก ๒ ปี ซึ่งมันสามารถทำลายความรู้สึกดี ๆ ใน ๓ ปีก่อนหน้านั้นจนหมด จนทำให้ไม่อยากมองหน้ากันไปตลอดชีวิต
นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมผมจึงต้องให้คนที่อยากมาเรียนกับผม ควรที่จะต้องไปพูดคุยกับผู้ที่ทำงานกับผมก่อน เพื่อให้ทราบนิสัยการทำงานของผม ถ้าคิดว่าจะทำงานเข้าด้วยกันไม่ได้ก็ไม่ควรมาเรียนด้วยกัน ซึ่งผมก็ไม่ได้รู้สึกโกรธเคืองใด ๆ ถ้าหากเขาเปลี่ยนใจไม่มาเรียน ซึ่งผมถือว่าเป็นการดีต่อกันทั้งสองฝ่าย
การเรียนระดับโท-เอกนั้นจะจบหรือไม่จบสามารถพูดได้ว่าขึ้นอยู่กับอาจารย์ที่ปรึกษาเพียงคนเดียว เมื่อนิสิตได้เข้าเรียนกับอาจารย์ที่ปรึกษาคนใดแล้วก็มักกังวลว่าถ้าไม่ทำตามที่อาจารย์สั่ง (แม้ว่าตัวเองจะไม่ชอบก็ตาม) หรือแสดงความคิดเห็นขัดแย้งกับอาจารย์ที่ปรึกษา ก็อาจโดนอาจารย์ที่ปรึกษากลั่นแกล้งให้ไม่จบได้ ดังนั้นตัวนิสิตเองก็ต้องทนจำยอมรับสภาพไปจนกว่าอาจารย์ลงลายมือชื่อในเอกสารการสอบที่เกี่ยวข้องจนครบถ้วน
และเมื่อนิสิตได้ลายมือชื่อจากอาจารย์ครบถ้วนและส่งเอกสารทุกอย่างเสร็จสิ้นเรียบร้อย อาจารย์ผู้สอนก็จะทราบว่าช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น ที่มีความสัมพันธ์กันในรูปแบบนิสิตกับอาจารย์ นิสิตนั้นมีความรู้สึกอย่างไรกับตัวอาจารย์ผู้สอน
พวกคุณอาจเห็นผมโดยบังเอิญในที่ใดที่หนึ่งสักแห่ง แล้วเดินเข้ามาทักหาย (แบบเต็มใจ) หรือเมื่อเห็นผมแล้วก็เดินหลีกไปเพราะไม่อยากเจอหน้า ไม่อยากพูดคุยด้วยอีกแล้ว
ความรู้สึกไม่ดีที่นิสิตมีต่อผมนั้น ผมนำกลับมาคิดพิจารณาเสมอ ถ้าผมคิดว่าสิ่งที่บอกให้เขาทำนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ไปทำให้เขาไม่ชอบหน้าผมชนิดที่เรียกว่าจบแล้วก็ไม่อยากเจอหน้ากันอีกเลย ผมก็ต้องปล่อยเลยตามเลย (ที่ผ่านมานั้นผมเคยบอกให้พวกคุณทำในสิ่งใดที่ไม่ดีบ้างหรือเปล่า) แต่ถ้าสิ่งที่บอกให้ทำนั้นเป็นความผิดพลาดของผมเอง ก็จะนำกลับมาแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นกับรุ่นถัดไป
ขอให้พวกคุณที่ผ่านการสอบแล้วได้มีชีวิตที่เป็นสุขต่อไป ขอให้โชคดีทุกคน
วันพฤหัสบดีที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2553
สรุปคำถาม-ตอบการสอบวันพุธที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓ MO Memoir : Wednesday 21 April 2553
ในการสอบเมื่อช่วงเช้า (๘.๐๐ - ๙.๒๐ น) ที่ผ่านมานั้น มีเรื่องที่ต้องนำมาเป็นบทเรียนสำหรับคนที่ยังไม่ได้สอบและคนที่ต้องสอบต่อไป แต่คงไม่ได้เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขของคนที่สอบไปแล้ว เพราะถ้ามีการแก้ไขก็แสดงว่าต้องทำการสอบใหม่
การสอบนั้นไม่ใช่การนั่นหลังจอคอมพิวเตอร์แล้วก็พูดไปเรื่อย ๆ (ไม่รู้ว่าเป็นการอ่านบทพูดอยู่หลังจอคอมหรือเปล่า) แล้วปล่อยให้คนฟังนั่งมองหาเอาเองว่ากำลังพูดถึงอะไร ณ ตำแหน่งไหนบนจอ งานนี้เล่นเอากรรมการที่เป็นอาจารย์ผู้สอนวิชาสัมมนาถึงกับส่ายหน้า ส่วนผมเองก็บอกกรรมการท่านอื่นว่าถ้านำเสนอแบบนี้ก็ทำการสอบกันทางโทรศัพท์ก็ได้ เรียกประชุมสายแล้วอ่านบทให้กรรมการฟังพร้อมกับพลิกดูรูปต่าง ๆ ในวิทยานิพนธ์ตามไปด้วย
การนำเสนอไม่ได้หมายความว่าคุณต้องนั่งประจำที่แล้วพูดอย่างเดียว คุณมีสิทธิที่จะชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญที่คุณกำลังกล่าวอยู่บนภาพที่ฉายอยู่บนจอนั้น การชี้อาจจะใช้อุปกรณ์ช่วยต่าง ๆ หรือเดินมาชี้เองด้วยมือตัวเองก็ได้ (ขึ้นกับสถานที่)
นอกจากนี้ผู้นำเสนอไม่ควรพูดเร็ว เพราะคนฟังจะฟังไม่ทัน และเมื่อกล่าวถึงรูปภาพที่มีข้อมูลในรูปหนึ่งมาก การพูดเร็ว ๆ จะทำให้ผู้ฟังรับฟังไม่ทัน จับใจความไม่ได้ว่าที่พูดนั้นต้องการกล่าวถึงอะไรในรูปนั้น
ที่นี้ก็มาถึงเรื่องของคำถาม-ตอบบ้าง (ไม่ได้เรียงตามลำดับที่มีการถามกันในห้องสอบนะ) ผมเลือกมาเฉพาะเรื่องที่เห็นว่าสำคัญเท่านั้น
คำถามที่ ๑ ตำแหน่งที่เป็น active site
ในขณะนี้เราพบว่า Ti4+ นั้นทำให้เกิดได้ทั้งครีซอลและเบนซาลดีไฮด์ ในขณะที่ Al3+ จะทำให้เกิดเบนซาลดีไฮด์ได้ดี (แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ทำให้เกิดครีซอล)
การที่ไปตอบคำถามว่า Ti4+ นั้นทำให้เกิด "เฉพาะ" ครีซอล ในขณะที่ Al3+ ทำให้เกิด "เฉพาะ" เบนซาลดีไฮด์ ก็เลยทำให้เกิดคำถามตามมาว่า แล้วถ้าเปลี่ยนไปใช้ aluminosilicate (ตัวที่มี Al3+ เข้าไปแทนที่ Si4+ ในโครงสร้าง MFI) จะเกิดอะไรขึ้น
คำถามที่ ๒ ทำไมการเพิ่มอุณหภูมิทำให้การเกิดปฏิกิริยาลดลง
ในกรณีของเรานั้น อัตราการเกิดปฏิกิริยาขึ้นอยู่กับค่าคงที่ของการเกิดปฏิกิริยา (ซึ่งเพิ่มขึ้นตามอุณหภูมิ) และผลคูณของค่าความเข้มข้นของ H2O2 และโทลูอีนที่อยู่บนพื้นผิวของตัวเร่งปฏิกิริยา
ในกรณีของเรานั้นในช่วงแรกพื้นผิวจะเต็มไปด้วย H2O2 โดยมีโทลูอีนอยู่น้อยมาก ดังนั้นผลคูณค่าความเข้มข้นจึงมีค่าน้อย เมื่อเราเพิ่มอุณหภูมิจะทำให้โทลูอีนละลายน้ำได้มากขึ้น ความเข้มข้นของโทลูอีนพบพื้นผิวจะเพิ่มขึ้น แต่จะทำให้ความเข้มข้นของ H2O2 ลดลง แต่ในช่วงแรกอาจทำให้ผลคูณค่าความเข้มข้นสูงมากขึ้น แต่ถ้ามีโทลูอีนมากเกินไป ความเข้มข้นของ H2O2 จะลดลงต่ำมาก ผลคูณค่าความเข้มข้นก็จะลดต่ำลงไปอีก
เหมือนกับค่าผลคูณของ x(1-x) เมื่อ x มีค่าจาก 0 ถึง 1 (โดย x คือสัดส่วนของพื้นผิวที่มี H2O2 เกาะ และ (1-x) คือสัดส่วนของพื้นผิวที่มีโทลูอีนเกาะ) คุณจะพบว่าค่าผลคูณดังกล่าวจะมีค่ามากที่สุดเมื่อ x เท่ากับ 0.5 ถ้า x มีค่าน้อยหรือมากกว่า 0.5 จะทำให้ค่าผลคูณลดต่ำลง
คำถามที่ ๓ การเกิด cresol ร่วมด้วยนั้นดีหรือไม่ดี/สรุปว่าภาวะการทำปฏิกิริยาที่ดีที่สุดคือภาวะไหน/
การเลือกตัวเร่งปฏิกิริยาควรเลือกตัวไหน
เรื่องนี้ดูเหมือนว่าจะเป็น ๓ คำถาม แต่อันที่จริงแล้วมันมีคำตอบเดียวกันคือ "คุณต้องการอะไร"
ถ้าต้องการเบนซาลดีไฮด์อย่างเดียว ตัวเร่งปฏิกิริยา/ภาวะการทำปฏิกิริยา ก็ควรเลือกให้มีค่าการเลือกเกิด (selectivity) ของเบนซาลดีไฮด์มากที่สุด โดยเกิดครีซอลน้อยที่สุดหรือไม่เกิดเลย แต่ตัวเร่งปฏิกิริยา/ภาวะการทำปฏิกิริยาดังกล่าวอาจไม่ใช่จุดที่ให้ค่า conversion สูงสุดก็ได้
แต่ถ้าคิดว่าต้องการผลิตครีซอลร่วมด้วย เราก็อาจจะดูตัวที่ให้ค่า conversion ดีที่สุด (มองในแง่ที่ว่ามีผลิตภัณฑ์ ๓ ตัวเกิดขึ้นพร้อมกัน) แต่ก็ต้องไปพิจารณาค่าใช้จ่ายในการแยกสารด้วย
คำถามนี้ไม่มีคำตอบตายตัว เหมือนกับอยู่ดี ๆ มีคนมาถามคุณว่าเข้าจะซื้อรถอะไรดี โดยมีตัวเลือกคือ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รถตู้ รถขับเคลื่อนสี่ล้อม รถบรรทุก ซึ่งคุณจะตอบคำถามเขาได้ก็ต่อเมื่อคุณต้องทราบก่อนว่าเขาจะนำรถไปใช้งานในสภาพแวดล้อมอย่างใด
กรณีของคำถามชุดนี้ก็เหมือนกับตอนที่เรียนวิชา plant design ที่ต้องพิจารณาก่อนว่าตลาดมีความต้องการอย่างไร แล้วเลือกกระบวนการผลิตให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาด
คำถามที่ ๔ มีใครเคยศึกษาความเกี่ยวข้องระหว่างความเป็นกรดกับการเกิดปฏิกิริยาหรือไม่
คำตอบที่ว่า "ที่ผ่านมานั้นพบว่า ..." คำตอบนี้ใช้ได้ก็ต่อเมื่อมีผู้อื่นเคยศึกษาเอาไว้ก่อนหน้า และมีการอ้างอิงที่ชัดเจน แต่ถ้าไม่มีใครเคยทำมาก่อน คุณก็ตอบได้เลยว่า "ไม่เคยมีใครศึกษามาก่อน" งานของคุณเป็นงานแรกที่พบ ซึ่งถ้าหากต้องการทราบรายละเอียดก็ควรจะเป็นหัวข้อสำหรับการศึกษาในเชิงลึกต่อไป
ที่ผมแปลกใจคือในบางเรื่องนั้นเรื่องที่นำเสนอนั้นเป็นเรื่องแรกที่มีการศึกษา แต่ผู้สอบตอบคำถามในทำนองว่าเรื่องนี้มีคนเคยรายงานไว้ แต่จะว่าไปแล้วรายงานนั้นเป็นเรื่องที่คล้าย ๆ กัน หรือมีความแตกต่างกันอยู่ ดังนั้นคำตอบของคำถามควรจะเป็นในทำนองที่ว่า "เรื่องที่เหมือนกันเลยนั้นไม่มี มีแต่เรื่องที่คล้ายกันอยู่บ้าง"
คำถามที่ ๕ ผลิตภัณฑ์ที่ปนกันอยู่แยกออกจากกันได้ยากหรือไม่/มีต้นทุนในการแยกสูงหรือต่ำ
จะว่าไปแล้วคำถามนี้มันไม่เกี่ยวกับงานวิจัยโดยตรง แต่เป็นคำถามที่ทดสอบความรู้ของผู้สอบว่ามองภาพงานของตัวเองไปได้ไกลแค่ไหน คือสามารถมองได้หรือเปล่าว่างานตัวนี้ถ้าหากมีคนสนใจจะเอาไปใช้ผลิตจริงในระดับอุตสาหกรรม จะต้องพิจารณาอะไรเพิ่มเติมอีกบ้าง
วิธีการแยกสารที่เป็นของเหลวที่ผสมเป็นเนื้อเดียวกันที่ใช้กันมากในอุตสาหกรรมคือการกลั่น ซึ่งสามารถบอกให้ทราบคร่าว ๆ ได้ว่าการแยกนั้นจะยากหรือง่ายโดยดูความแตกต่างของจุดเดือด อีกวิธีหนึ่งที่ตรงข้ามกันคือใช้การตกผลึก ซึ่งอาศัยการที่สารแต่ละตัวมีจุดเยือกแข็งที่แตกต่างกัน ส่วนการสกัดด้วยตัวทำละลายนั้นจะให้ผลดีก็ต่อเมื่อความสามารถในการละลายของสารแต่ละตัวต่างกันมากเมื่อใช้ตัวทำละลายต่างกัน
อนึ่งในบางคำถามนั้นมันไม่มีคำตอบจริง ๆ (แม้แต่ผมเองก็ยังไม่รู้) คุณก็ควรบอกไปตรง ๆ เลยว่าไม่มีคำตอบหรือปรากฏการณ์นี้ขณะนี้ยังไม่มีคำอธิบาย ถ้ามีใครสนใจก็น่าจะศึกษาเชิงลึกต่อไป แต่จะตอบด้วยคำพูดนี้ได้นั้นคุณต้องมีความรู้เพียงพอและได้ศึกษาหาคำอธิบายมามากจนสุดปัญญาของคุณแล้ว ไม่ใช่ว่าตอบไปแล้วกรรมการกลับเฉลยคำตอบให้ฟัง
หวังว่าคงช่วยคนที่กำลังจะสอบในวันศุกร์นี้ได้บ้าง ไม่มากก็น้อย
แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๕๑ (ตอนที่ ๑๑) MO Memoir : Monday 19 April 2553
เอกสารฉบับนี้แจกจ่ายเป็นการภายในเฉพาะสมาชิกของกลุ่มที่กำลังศึกษาอยู่
วันอาทิตย์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2553
ร่มเกล้า ธุวธรรม MO Memoir : Sunday 11 April 2553
ด้วยว่าโรงเรียนที่เรียนมาด้วยกันนั้น เวลาที่ใครอยู่ห้องไหนก็จะอยู่ห้องนั้นด้วยกันตั้งแต่ ป.๑ ไปจนถึง ม.๓ ช่วง ม.๓ ขึ้น ม.๔ ก็จะมีเพื่อน ๆ ย้ายโรงเรียน ทางโรงเรียนก็จะมีการจัดแบ่งห้องใหม่ ทำให้ผมกับมันได้มาเรียนอยู่ห้องเดียวกันในช่วงม.ปลาย
ตอนแรกคิดว่ามันจะเลือกเรียนวิศวด้วยกัน และมันก็จบวิศวด้วย แต่จบจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก จากนั้นก็ทราบข่าวว่าได้ไปอยู่แถวชายแดนไทย-กัมพูชา ปะทะกับกองกำลังแถวนั้นก็หลายครั้ง บางครั้งก็ต้องจัดการกับพวกขโมยรถไปขายต่างประเทศ
ตอนผมเรียนจบจากต่างประเทศ มาแต่งงานมีครอบครัวอยู่ที่ชลบุรี ก็มาทราบข่าวว่ามันมาเป็นนายทหารอยู่ที่ค่ายทหารตรงถนนสุขุมวิทก่อนถึงตัวจังหวัดชลบุรี
จากนั้นเราก็ไม่ค่อยเจอกัน เว้นแต่วันที่มีงานรวมรุ่นโรงเรียน (ซึ่งผมก็ไม่ค่อยจะได้ไป) ได้รับการติดต่ออีกทีจากมันเรื่องหาคนที่รู้จักการอ่านแผนที่ดาวเทียม (จำได้ว่าเป็นช่วงหลังเหตุการเผาสถานฑูตไทยมาพักหนึ่งแล้ว) ผมก็เลยพามันไปหาเพื่อนที่เป็นอาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านนี้ เพื่อแนะนำให้รู้จักกัน วันแรกที่เขาไปพบกันนั้นผมนั่งฟังสองคนคุยกันอยู่ร่วม ๓ ชั่วโมง (โดยที่ไม่ค่อยรู้เรื่องว่าเขาคุยอะไรกัน) ดูเหมือนว่าช่วงนั้นมันจะทำงานด้านปราบปรามการบุกรุกป่า
พบกันอีกทีช่วงหลังปฏิบัติ ทราบว่ามันได้รับคำสั่งให้เป็นผู้นำทหารเข้ายึดทำเนียบรัฐบาล หลังจากนั้นอีกประมาณหนึ่งปี ผมก็ได้รับการ์ดเชิญให้ไปร่วมงานแต่งงานของเขาที่โรงแรมแห่งหนึ่งบนถนนพระราม ๑ บรรยากาศของงานวันนั้นสนุกสนานมาก เพื่อนร่วมโรงเรียนต่างเฝ้ารอคอยเวลาสำคัญ คือเวลาที่เจ้าบ่าวจะร้องเพลงที่มันพูดไว้ตั้งแต่สมัยอยู่โรงเรียนแล้วว่าถ้ามันแต่งงานเมื่อใดมันจะร้องเพลงนี้ให้เจ้าสาวฟัง ซึ่งก็ต้องใช้เวลากว่า ๒๐ ปีกว่าที่มันจะได้ร้องเพลงนี้ และนั่นเป็นการที่ผมได้พบและพูดคุยกับเขาเป็นครั้งสุดท้าย
จากสถานการณ์บ้านเมืองที่มีผู้พยายามก่อความเสียหายโดยเห็นแก่เงินและอำนาจที่ตัวเองจะได้ในช่วงเมษายนปีที่แล้ว ทำให้เขาต้องออกมาปฏิบัติหน้าที่ในกรุงเทพอีก ผมเห็นข่าวเขาอีกครั้งตอนที่ต้องไปชี้แจงให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ใคร ๆ ก็ดูออกว่าอยู่ฝ่ายไหน ในการซักถามนั้นทางผู้แทนเหล่านั้นพยายามจะบังคับให้พูดว่าทหารใช้อาวุธฆ่าประชาชน และพยายามจะบังคับให้กล่าวหาผู้สั่งการ แต่เขาก็ยืนยันว่าทหารที่ปฏิบัติการนั้นไม่ได้ใช้อาวุธยิงประชาชน และก็ไม่มีผู้ใดเสียชีวิต และการสั่งการนั้นก็เป็นไปตามลำดับขั้นตอน
ก่อนหน้านั้นมันถูกส่งไปปฏิบัติงา่นใน ๓ จังหวัดชายแดนใต้ ก่อนจะลงไปมันยังบ่นเลยว่าไม่รู้ว่าจะให้ไปยิงกับใคร แต่ก็ต้องไปปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งที่ได้รับ เพื่อไปแก้ปัญหาความไม่สงบที่คนที่ก่อเรื่องไว้ได้หนีไปต่างประเทศแล้ว
ผมได้รับส.ค.สปีใหม่จากมันเป็นประจำ แต่ไม่เคยส่งกลับไป เพราะแต่ละครั้งที่มาดูเหมือนว่าจะย้ายจังหวัดไปเรื่อย ๆ จนไม่รู้ว่าขณะนั้นไปประจำอยู่ที่ชายแดนส่วนไหนของประเทศ
เมื่อตอนดึกได้ยินผู้สื่อข่าวประกาศว่ามีนายทหารยศพันเอกนายหนึ่งได้รับบาดเจ็บจากอาวุธที่ยิงมาจากกลุ่มผู้ชุมนุม ตอนมาถึงโรงพยาบาลนั้นเจ้าหน้าที่ต้องปั๊มหัวใจมาตลอดทาง ผมได้ยินเขาประกาศแต่ชื่อ แต่ในขณะนั้นข่าวก็สับสน ตอนเช้ามืดเปิดดูข่าวทางเน็ตก็พบรายงานข่าวว่าสามารถปั๊มหัวใจให้ฟื้นขึ้นมาได้
แต่พอตอนหลังแปดโมงก็มีรายงานข่าวว่ามีนายทหารเสียชีวิต ๑ นาย แต่ยังไม่มีการประกาศชื่อ ต่อมาสักพักก็มีการประกาศชื่อนายทหารยศพันเอกพิเศษที่เสียชีวิตที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
ผมขับรถไปซื้อหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ที่ร้าน ข่าวหนังสือพิมพ์ที่ปิดข่าวประมาณเที่ยงคืนบอกว่าได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ อาการยังอยู่ในขั้นโคม่า และมีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจถูกชี้เป้าให้ยิง
ขอให้วิญญาณของเพื่อนจงไปสู่สุคติ เพื่อนได้จากเราไปอย่างสงบแล้ว พวกเราจะไม่มีวันลืมวีรกรรมของเพื่อน
พ.อ. ร่มเกล้า ธุวธรรม
ได้รับบาดเจ็บจากในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในคืนวันเสาร์ที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๓
เสียชีวิตที่โรงพยายาลพระมงกุฎเกล้าช่วงเช้ามืดวันอาทิตย์ที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๓
ผม post บทความนี้เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๓ ตอน ๑๓.๕๕ น
จากนั้นมีผู้ใช้นาม siamman (ใครก็ไม่รู้) นำไปเผยแพร่ในขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ดในวันเดียวกันเวลา ๑๕.๓๔ น. (http://forum.serithai.net/viewtopic.php?f=2&t=20127&start=0#p323579)
แล้วก็มีการ copy ไปปรากฏตามเว็บต่าง ๆ อีกหลายเว็บ เช่นใน
มติชนออนไลน์ วันจันทร์ที่ ๑๒ เมษายน ตอน ๙.๔๒ น. (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1271040244&grpid=01&catid=)
วันจันทร์ที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ เวลา ๑๑.๕๑ น. ที่ http://tnews.teenee.com/politic/49259.html
ทราบว่ามีการนำไปอ่านออก ASTV ในเช้าวันจันทร์ที่ ๑๒ เมษายน (แต่ดูเหมือนว่าคนจะเข้าใจว่าเป็นบทความที่เขียนโดย siamman)
และไปปรากฎในหนังสือพิมพ์คมชัดลึกฉบับวันอังคารที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๕๓ โดยอ้างว่าเป็นคำอาลัยของ siamman (ใครก็ไม่รู้) แต่มีหัวข้อ MO Memoir : Sun Apr 11 2553 ด้วย
นับว่าเป็น memoir ฉบับแรกของกลุ่มที่แพร่หลาย
แต่เฉพาะสมาชิกของกลุ่มเท่านั้นที่มีฉบับ .pdf
วันเสาร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2553
การเตรียมการสอบวิทยานิพนธ์ MO Memoir : Saturday 10 April 2553
จากที่แยกจากกันตอนเย็นเมื่อวาน ถึงตอนนี้นิสิตป.โทปี ๒ ทุกคนก็คงเหลือแต่การทำรูปเล่มฉบับสมบูรณ์เพื่อส่งให้กรรมการสอบ จากนั้นก็คงเป็นการพักผ่อนช่วงสงกรานต์และเตรียม power point เพื่อการสอบ ดังนั้นในวันจันทร์ที่ ๑๒ เมษายนที่จะถึงนี้ผมก็คงจะไม่ตรวจแก้งานให้พวกคุณ (ขืนทำเช่นนั้นก็คงจะไม่ได้ทำเอกสารส่งให้กรรมการอีก) คงตรวจแก้ส่งคืนให้อีกทีก็คงเป็นหลังสอบเสร็จ
Memoir ฉบับนี้จึงขอให้คำแนะนำในการเตรียมการสอบทั้งในเรื่องทั่วไป ในส่วนรูปเล่มวิทยานิพนธ์ และในส่วนของการนำเสนอ
๑. รูปเล่มวิทยานิพนธ์
สิ่งแรกที่คุณต้องไม่ลืมคือ คุณต้องมีฉบับส่วนตัวของคุณเองด้วย และควรเป็นฉบับที่เหมือนกับที่ส่งให้กรรมการสอบอ่านด้วย เพราะเวลาที่กรรมการสอบถามคำถามก็จะอ้างอิงไปยังเล่มที่กรรมการถืออยู่
เรื่องถัดมาคือคุณต้องรู้ว่าเขียนอะไรไว้ในหน้าไหน แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่คัดลอกของคนอื่นมา คุณก็ต้องอ่านมันให้เข้าใจ เข้าใจในที่นี้ไม่ใช่แค่ให้รู้คำแปล แต่ต้องเป็นเหมือนว่าคุณเป็นผู้เขียนเอง
ความเรียบร้อยของรูปเล่มก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่เห็นได้โดยไม่ต้องอ่าน เพียงแค่พลิกดูก็จะเห็นแล้วว่าคุณมีความตั้งใจในการทำวิทยานิพนธ์แค่ไหน เหมือนกับคนที่แต่งตัวดี ใครเห็นก็จะเกิดความประทับใจก่อน แต่หลังจากได้พูดคุยกันแล้วจะคิดอย่างไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ความเรียบร้อยของรูปเล่มในที่นี้คือการจัดรูปแบบ ระยะย่อหน้า รูปแบบตัวอักษร ขนาดตัวอักษร หัวข้อ รูปภาพ ตาราง การเว้นวรรค การเว้นบรรทัด การจัดกั้นหน้า ความคงเส้นคงวาต่าง ๆ เช่นการทำตัวเข้ม การขีดเส้นใต้ ฯลฯ ทางที่ดีคุณควรให้คนที่ไม่เคยอ่านงานของคุณให้เขาลองตรวจสอบความเรียบร้อยดูบ้าง เพราะคนที่อ่านเป็นประจำนั้นมักจะมองข้ามบ้างจุดไปเป็นประจำด้วยความเคยชิน ในขณะที่คนทีพึ่งจะเห็นเป็นครั้งแรกมักจะตรวจดูอย่างทั่วถึงมากกว่า
๒. การเตรียมการนำเสนอ
เชื่อว่าทุกคนคงใช้ power point เป็นหลัก แต่การนำเสนอนั้นไม่จำกัดอยู่เพียงแค่การใช้ power point คุณสามารถใช้การเขียนบนกระดาน นำตัวอย่างมาประกอบการนำเสนอด้วยก็ได้
power point ควรมีหมายเลขกำกับแต่ละหน้า และรูปผลการทดลองที่นำมาแสดงถ้าเป็นรูปเดียวกันกับในเล่มวิทยานิพนธ์ ก็ควรมีหมายเลขกำกับแจ้งด้วยว่าเป็นรูปไหนในเล่มวิทยานิพนธ์
effect ต่าง ๆ ที่ใส่เข้าไปในแต่ละหน้าของ power point นั้น ถ้าไม่จำเป็นใด ๆ ต่อการนำเสนอสิ่งที่คุณต้องการให้กรรมการเห็นก็ไม่จำเป็นต้องใส่เข้าไป สิ่งที่ต้องการให้กรรมการเห็นในที่นี้คือสิ่งที่เป็นหัวใจของการทำงาน ถ้างานของคุณเป็นการพัฒนาเทคนิคการทดลองใหม่ขึ้นมา คุณก็สามารถใส่ effect ต่าง ๆ เพื่อเน้นให้เห็นสิ่งที่คุณทำว่าแตกต่างไปจากคนอื่นอย่างไรบ้าง แต่ถ้าคุณใช้วิธีการที่เหมือนกับคนก่อนหน้าที่เคยทำมา (เช่นการเตรียมตัวเร่งปฏิกิริยา) คุณก็ไม่จำเป็นต้องใส่ effect ต่าง ๆ เข้าไปในรก (เช่นรูปการกวน การเติมสาร ฯลฯ)
การตอบคำถามก็สามารถใช้การเขียนหรือการวาดรูปช่วยก็ได้ ไม่ใช่ใช้แต่คำพูดอย่างเดียว บ่อยครั้งที่พบว่าการเขียนบนกระดาษตอบคำถามได้รวดเร็วและชัดเจนกว่าการพยายามพูดให้กรรมการสอบเข้าใจเสียอีก
ตัวอย่างผลการทดลอง ผลการคำนวณ ก็ให้เตรียมไว้ด้วย เช่นคุณคำนวณค่า conversion และ selectivity อย่างไร คำตอบประเภท "ใช้ Excel คำนวณ" นั้นไม่ควรมี แต่มีเป็นประจำกับกลุ่มที่ทำงานแบบรุ่นพี่ส่งโปรแกรมต่อ ๆ กันมาให้ โดยที่ไม่เคยมีการทำ calibration curve ของเครื่องมือ พวกนี้ดูได้ไม่ยากเพราะถ้าตรวจสอบย้อยหลังขึ้นไป (ดูจากชื่อผู้ที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา) จะเห็นว่าในวิทยานิพนธ์นั้นจะใช้กราฟ calibration curve เดียวกัน หรือพอถามรายละเอียดว่าได้กราฟมาตรฐานนั้นมาอย่างไร ก็จะอธิบายไม่ได้ ที่พบกันเป็นประจำคือ calibration curve ของ GC และกราฟที่ใช้คำนวณค่าขนาดของผลึกโดยใช้ Scherrer's equation
อุปกรณ์การชี้ก็เลือกใช้ตามแต่ถนัด บางคนอาจชอบใช้ laser pointer บางคนอาจชอบใช้การชี้บนจอ หรือบางคนอาจใช้เมาส์ชี้บนคอมพิวเตอร์ แต่สิ่งสำคัญคือต้องให้ผู้ชมนั้นมองเห็นสิ่งที่คุณต้องการชี้ให้เห็น
๓. การแต่งกาย
บอกได้สั้น ๆ ว่าแต่งกายให้สุภาพ เรียบร้อย "ในสายตาของกรรมการสอบ" ไม่ใช่ในสายตาของเพื่อนร่วมแลป นิสิตชายให้ใส่เสื้อเชิ้ตทรงเรียบร้อย ถ้าเป็นเสื้อแขนยาวต้องไม่พับแขนเสื้อ กางเกงทรงสุภาพ ไม่ใช่แบบเอวต่ำโชว์กางเกงใน รองเท้าหนัง ส่วนนิสิตหญิงก็ควรแต่งกายแต่พองาม ไม่ใช่เน้นโป๊เป็นหลัก ประเภทจะยืน จะชี้กระดาน หรือจะนั่ง ก็ต้องกลัวโป๊ไปหมด (ยังดีนะที่ยังรู้สึก บางรายเห็นไม่สนใจเลย) ไม่ควรใส่ชุดที่บางหรือรัดรูปจนเห็นทะลุไปหมดว่าใส่ชุดชั้นในรูปแบบไหน สีอะไร ลวดลายอะไร การแต่งหน้าก็แต่งได้พอควร (คงไม่ต้องถึงขั้นเอาชุดสำหรับแต่งไปงานแต่งงานมาใช้แต่งสอบหรอก)
สำหรับสมาชิกของกลุ่มที่จะเข้ารับฟังนั้น ขอให้แต่งกายให้สุภาพเรียบร้อยเหมือนกับผู้เข้าสอบด้วย ถือเสียว่าเป็นการให้เกียรติแก่ผู้สอบ เพราะการสอบนั้นเป็นงานสำคัญของพวกเขา นิสิตหญิงก็ควรสวมกระโปรง เสื้อสุภาพ รองเท้าเรียบร้อย (ไม่ลากรองเท้าแตะ) ส่วนนิสิตชายก็ควรแต่งตัวให้เรียบร้อยดังที่เขียนไว้ข้างบนด้วย อย่ามาในเครื่องแต่งกายเหมือนกับว่างานสอบนี้เป็นงานแบบขอไปที ตื่นนอนในชุดไหนก็มาในชุดนั้น
ถ้าจะชวนใครเข้าฟังหรือจะมีใครขอเข้าฟังก็บอกเขาหน่อยว่างานนี้ขอนะเรื่องการแต่งกาย ถ้าคุณจัดงานแต่งงานของคุณเอง (ขอให้ทุกคนมีโอกาสนะ) คุณก็คงไม่อยากให้แขกที่มาร่วมงานแต่งตัวแบบไม่เอาไหนใช่ไหม งานสอบนี้ก็แบบเดียวกัน
๔. การเตรียมของว่าง
จริง ๆ แล้วกรรมการไม่ได้กะมากินของว่างหรืออาหารใด ๆ ในระหว่างการสอบหรอก แต่หลัง ๆ ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไรดูเหมือนว่าจะเตรียมกันให้หนักเหลือเกินจนกลายเป็นว่าต้องทำให้ออกมาดีที่สุด เวลากรรมการจะให้คะแนนสอบเขาดูที่เนื้องานวิทยานิพนธ์ที่คุณส่งให้ดู ไม่ใช่ของกินที่คุณเตรียมให้กิน
ผมพูดเล่นอยู่เสมอว่า อย่าเสริฟกาแฟให้กรรมการสอบ โดยเฉพาะการสอบในช่วงบ่าย เพราะจะทำให้กรรมการสอบไม่ง่วง
๕. การเตรียมใจเพื่อตอบคำถาม
ส่วนนี้คงเป็นส่วนที่ยากที่สุดมั้ง ถึงเวลานั้นคุณต้องพึ่งอยู่บนตัวคุณเองแล้ว เพราะเป็นการสอบตัวคุณเองไม่ใช่อาจารย์ที่ปรึกษา งานต่าง ๆ ที่คุณส่งให้กรรมการอ่านจะถูกตรวจสอบด้วยการถามคำถาม เพื่อที่จะดูว่าคุณได้ทำงานนั้นจริงหรือเปล่า คุณได้ทำโดยรู้เรื่องหรือเปล่าว่าทำไปทำไม ความคิดที่ว่าที่ทำมานั้นทำเพราะอาจารย์สั่งให้ทำไม่ควรมีอยู่ เพราะถ้าแสดงอาการนี้เมื่อใดกรรมการก็รู้เลยว่าคุณไม่ได้รู้เรื่องอะไรในงานที่ทำ เป็นเพียงแค่ลูกมือทำแลปให้อาจารย์เท่านั้นเอง และอย่าคาดหวังว่าอาจารย์ที่ปรึกษาจะช่วยตอบ ผมเคยกล่าวในห้องสอบว่างานนี้เป็นงานสอบนิสิตหรือสอบอาจารย์กันแน่ เพราะนิสิตตอบคำถามอะไรไม่ได้เลย อาจารย์ที่ปรึกษาเป็นผู้ตอบให้ทั้งหมด
หน้าที่ของคุณคือการปกป้องผลงานที่คุณกระทำ ไม่ใช่ปกป้องผลงานที่ผู้อื่นกระทำ เรื่องนี้เห็นเป็นประจำเวลาที่กรรมการสอบนั้นมีความเห็นว่าบทความ (paper นั่นแหละ) ที่นำมาเสนอนั้นมันไม่ถูกต้อง นั่นก็เป็นเรื่องระหว่างกรรมการสอบท่านนั้นกับบทความนั้น ไม่ใช่หน้าที่ของคุณที่จะต้องเข้าไปปกป้องผลงานของบทความนั้น คุณมีสิทธิที่จะมีความเห็นต่างจากบทความ โดยมีความเห็นเช่นเดียวกันกับที่กรรมการสอบเห็นด้วยก็ได้
แต่ถ้าเป็นกรณีที่คุณนำเอาข้อมูลจากบทความนั้นมาใช้ประโยชน์ (เช่นนำตัวเลขต่าง ๆ หรือวิธีการวิเคราะห์ หรือผลสรุป มาใช้) คุณก็ต้องปกป้องบทความนั้นว่าสิ่งที่เขาทำ (และคุณนำมาใช้) นั้นถูกต้อง
ที่ผ่านมานั้นผมไม่เคยช่วยนิสิตของผมเองตอบคำถามในระหว่างการสอบ และผมก็ไม่เคยถามคำถามใด ๆ ให้กับกรรมการแทนนิสิตที่ผมส่งเข้าสอบ เพราะผมถือว่าถ้าผมยังมีข้อสงสัยใด ๆ ในงานที่พวกคุณทำ ผมก็จะยังไม่ส่งคุณเข้าห้องสอบ และเมื่อเข้าห้องสอบแล้วก็เป็นหน้าที่ของพวกคุณที่จะต้องตอบคำถาม เพราะกรรมการสอบจะถือว่าวิทยานิพนธ์นั้นเป็นงานที่ผู้กระทำจะต้องรู้เหตุผลในทุกอย่างที่ตัวเองได้กระทำลงไป ผมจะทำอย่างมากคือชี้แจงคำตอบที่ถูกต้อง (ถ้ามีการตอบแบบมั่ว ๆ) ให้กรรมการท่านอื่นรับทราบ ในขณะที่ทำการประชุมผลการสอบ
อีกอย่างคือผมไม่ห้าม แต่ก็ไม่แนะนำ ให้ผู้ที่ยังไม่สอบเข้าไปฟังการสอบของเพื่อนคนที่สอบก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นการสอบในเรื่องที่คล้ายกัน หรือสอบโดยกรรมการชุดเดียวกัน
หวังว่าสถานการณ์ต่าง ๆ คงเรียบร้อยก่อนวันจันทร์ ไม่เช่นนั้นคงมีปัญหาเรื่องการส่งวิทยานิพนธ์ให้กับกรรมการสอบ
วันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2553
การอ่านบทความ MO Memoir : Thursday 8 April 2553
Memoir ฉบั้บนี้ออกมาต้อนรับการประกาศพรก.สถานการณ์ฉุกเฉิน (ที่ประกาศไปเมื่อตอนหกโมงเย็นของเมื่อวาน) พอได้ยินประกาศก็บอกกับที่บ้านว่าคืนนี้คงไม่มีอะไรหรอก เอาไว้รอสว่างก่อนดีกว่า (ตามแผนการรบที่ต้องให้ฝ่ายตั้งรับตั้งหน้าตั้งตาคอยตลอดเวลาจนเหนื่อยเพราะไม่มีเวลาพัก ในขณะที่ฝ่ายเข้าตีเป็นผู้เลือกเวลาเข้าตี สั่งให้ลูกน้องไปนอนพักก่อนก็ได้แล้วค่อยปลุกมาใช้งาน)
เช้านี้ตื่นมาแล้วก็ยังไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้นดังคาด และคงไม่มีอะไรต่อไปอีกถึงเย็น ก็เลยเห็นสมควรจัดทำบันทึกให้คำแนะนำแก่ผู้ที่กำลังจะสอบวิทยานิพนธ์และผู้ที่กำลังจะเริ่มทำวิทยานิพนธ์ โดยเรื่องที่เลือกมาในวันนี้คือการอ่านบทความ เพราะพบจากการสอบเมื่อวาน (ปริญญาเอก) ว่าผู้เข้าสอบนั้นไม่สามารถจับใจความสำคัญของบทความได้ เมื่อตอบคำถามกรรมการจึงตอบคำถามไม่ค่อยได้
ในการทำวิทยานิพนธ์หรืองานวิจัยนั้น สิ่งหนึ่งที่ต้องทำกันเป็นประจำคือการค้นคว้าดูว่างานที่กำลังจะทำนั้น เคยมีบุคคลอื่นได้ทำไว้หรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นงานแบบเดียวกันหรืองานที่คล้ายคลึงกัน ผมเห็นบางคนดีใจที่พบว่างานที่ตัวเองกำลังทำนั้นมีคนทำไว้เยอะแยะไปหมด (วิทยานิพนธ์จะได้หนา ๆ) ส่วนบางคนเศร้าใจที่พบว่างานที่ได้รับมอบหมายมาให้ทำนั้นไม่เคยมีใครทำมาก่อน (เพราะไม่รู้ว่าจะหาเหตุผลอะไรมาอธิบายผลการทดลองของตัวเอง)
แต่ไม่ว่างานที่คุณกำลังทำนั้นเคยมีคนทำมาก่อนมากน้อยเท่าใด สิ่งแรกที่ต้องหาคำตอบจากการค้นคว้าบทความเพื่อเตรียมไว้ตอบกรรมการสอบคือ
๑. ถ้ามีคนทำมาเยอะแล้ว แล้วทำไปเรายังต้องทำอีก งานก่อนหน้านั้นมีปัญหาอะไร หรือ
๒. ถ้าไม่เคยมีคนคิดทำมาก่อนเลย แล้วทำไมเราจึงเกิดแนวความคิดนี้ขึ้นมาได้
เรียกว่าไม่ว่าจะเคยมีคนทำมาก่อนหรือไม่ก็ตาม ก็โดนถามได้ทั้งนั้น
ทีนี้ลองมาดูกันบ้างว่า เมื่อคุณอ่านบทความนั้น มีประเด็นไหนบ้างที่ควรต้องพิจารณา
๑. ชื่อเรื่องของบทความ ชื่อผู้เขียน และสถาบันที่ผู้เขียนสังกัด
มีอยู่ครั้งหนึ่งในการสอบวัดคุณสมบัติ ผู้เข้าสอบนำเสนอบทความเกี่ยวกับการแปรรูปต้นอ้อยหลังผ่านการหีบอ้อยแล้ว คำถามหนึ่งที่ผมถามเขาคือว่าบทความนี้มาจากมหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งประเทศนี้ไม่มีการทำไร่อ้อย แล้วทำไมผู้วิจัยผู้นั้นจึงสนใจทำเรื่องนี้
ซึ่งถ้าสังเกตดูชื่อผู้ทำวิจัย (เข้าใจว่าคงเป็นนักศึกษาของสถาบันนั้น) ก็จะเข้าใจเหตุผลว่าทำไมจึงมีการทำวิจัยเรื่องนี้ เพราะผู้ทำวิจัยนั้นมาจากประเทศที่มีการทำไร่อ้อยเป็นล่ำเป็นสัน
ในประเทศอุตสาหกรรมนั้น งานวิจัยของสถาบันการศึกษามักจะเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมของประเทศนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือเมื่อคนไทยไปเรียนในประเทศต่าง ๆ และเมื่อกลับมาเป็นอาจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัยเมืองไทย จำนวนไม่น้อย (หรือส่วนใหญ่ก็ได้) เลือกที่จะทำวิจัยต่อในหัวข้อที่ตัวเองเรียนมา เพราะจะได้ไม่ต้องไปเสียเวลาตั้งต้นใหม่ (ทำให้มีผลงานของเลื่อนตำแหน่งได้เร็ว) แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคืองานวิจัยดังกล่าวมักจะไม่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ
ในบางครั้งปัญหาเดียวกันแต่มีวิธีการแก้ปัญหาแตกต่างกัน การที่จะมาเถียงกันว่าใครดีกว่ากันนั้นคงเป็นเรื่องที่ "ไม่เป็นเรื่อง" สิ่งที่ต้องพิจารณาคือแต่ละวิธีการนั้นเหมาะสมกับสถานการณ์เช่นใด นักวิจัยในแต่ละประเทศอุตสาหกรรมก็จะมองเฉพาะข้อจำกัดและเงื่อนไขต่าง ๆ ของประเทศตนเอง (เช่นข้อจำกัดทางกฎหมาย ลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศ ฯลฯ) การแก้ปัญหาจึงเป็นการหาทางแก้ปัญหาให้กับสิ่งที่ประเทศตัวเองประสบ การที่จะนำวิธีการดังกล่าวนั้นไปใช้ในประเทศอื่นจึงควรต้องพิจารณาเงื่อนไขดังกล่าวประกอบด้วย
๒. แนวความคิดที่ทำให้เกิดบทความนั้น
ในบางบทความนั้นส่วนนี้เป็นส่วนที่เห็นได้ง่าย (คือเขาบอกไว้ชัดเจน) แต่ในหลายบทความนั้นต้องขุดหาหรือเดาเอาเอง
พวกเรียนสายวิทย์มีนิสัย "เสีย" อยู่อย่างหนึ่งคือ เวลาอ่านข้อความใด ๆ มักจะ "ตีความตามตัวอักษร" เสมอ ตัวหนังสือนั้นไม่สามารถบ่งบอกอารมณ์ความรู้สึกได้ ในบางครั้งการแปลความหมายจึงต้องไปพิจารณาตัวผู้เขียนก่อน ว่าที่ผ่านมานั้นเขามีความคิดเห็นอย่างไร หรือในบางครั้งก็ต้องอ่านบทความแบบที่ผู้อ่านเรียกว่า "Read between the line" หรือแปลเป็นไทยว่า "อ่านระหว่างบรรทัด" คือการอ่านในสิ่งที่ "ไม่ได้เขียนเอาไว้"
การเข้าใจแนวความคิดที่ทำให้เกิดบทความนั้นทำให้เราเห็นภาพได้ว่า ทำไมเขาจึงเลือกศึกษาหัวข้อนี้ ทำไมเขาจึงเลือกที่จะใช้เทคนิคต่าง ๆ เหล่านี้ ผมเคยเห็นบางคนเวลาจะทำวิจัยแทนที่จะไปศึกษาว่าการวิเคราะห์หาสารประกอบนี้สามารถใช้เครื่องมืออะไรได้บ้าง เขากลับไปค้นดูว่าก่อนหน้านี้เคยมีคนใช้เครื่องมืออะไรบ้าง พอพบว่าในบทความนั้นมีการใช้เครื่องมือที่ตัวเองไม่มี ก็พยายามหาซื้อเครื่องมือดังกล่าวมาใช้งาน ทั้ง ๆ ที่ในห้องปฏิบัติการของตัวเองนั้นมีเครื่องมือตัวอื่นที่สามารถทำงานได้ถูกต้องเหมือนกัน และพร้อมใช้งานอยู่แล้วด้วย
รูปแบบการทำงานดังกล่าวเป็นเสมือนว่าต้องคอยให้คนอื่นทำก่อน จากนั้นจึงค่อยลอกวิธีการของเขา แทนที่จะมาทำความเข้าใจพื้นฐานว่าเพื่อให้ได้มาซึ่งผลการวิเคราะห์ดังกล่าวนั้นมีวิธีการใดบ้าง ซึ่งปรกติแล้วมักจะพบว่ามีมากกว่า ๑ วิธีการ และเราก็สามารถเลือกวิธีการที่เหมาะสมกับสิ่งที่เรามีอยู่ได้ แต่กลับมองว่าการศึกษาความเข้าใจพื้นฐานนั้นเป็นเรื่องเสียเวลา สู้รอลอกเขาเลยจะง่ายกว่า ที่ผ่านมานั้นพบว่าการรอให้คนอื่นทำก่อนแล้วค่อยรอลอกนั้นอาจทำให้เริ่มต้นในช่วงแรกได้เร็ว แต่ก็ไม่ยั่งยืน เพราะพอเจอปัญหาที่ยังไม่เคยมีใครรายงานเอาไว้ก็จะไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะไม่มีความรู้พื้นฐานดีเพียงพอที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว
๓. สิ่งที่เขาลงมือทำและผลที่เขาได้รับ
มีอยู่ครั้งหนึ่งในระหว่างการนั่งฟังสัมมนา ผู้เข้าฟังคนหนึ่ง (ที่มาจากแลปเดียวกันกับผู้ที่กำลังบรรยาย) ก็ถามว่า "ESR ใช้วัดอะไร" ผู้บรรยายก็ตอบว่า "ใช้วัด defect" (defect ในที่นี้คือความบกพร่องของผลึก) ผู้ถามก็ถามต่อว่า "แล้วมันวัดได้อย่างไร" ผู้บรรยายก็ตอบว่า "ถ้ามี defect ก็มีสัญญาณ ESR"
ผมนั่งฟังอยู่ก็ส่ายหัว เลยพูดออกไปว่า "คนตอบก็ตอบไม่ตรงคำถาม คนถามได้รับคำตอบที่ไม่ชัดเจนก็ไม่ถามต่อ ต่างฝ่ายได้แก่พยักหน้าให้กัน ดูเผิน ๆ ก็เหมือนว่าเข้าใจกันดี แต่ที่จริงทั้งสองคนนั้นไม่มีใครรู้เรื่องอะไรเลย" ที่น่าแปลกก็คือผลงานชิ้นนั้นได้รับการตีพิมพ์ซะด้วย โดยที่ผู้ที่ทำวิจัยก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นทำไปทำไม (เป็นเพียงแค่แรงงานทำแลปให้คนอื่นเอาผลการทดลองไปเขียนบทความ ส่วนตัวเองก็เอาใบปริญญาไป เป็นการยื่นหมูยื่นแมวแบบหนึ่งที่ตอนนี้เห็นกันเป็นเรื่องปรกติ)
ESR ย่อมาจาก Electron Spin Resonance ซึ่งเป็นสัญญาณที่จะเกิดขึ้นเมื่อตัวอย่างอะตอมหรือสารประกอบที่มี unpaired electron (อิเล็กตรอนที่ไม่มีคู่) ดังนั้นเมื่อตรวจพบสัญญาณ ESR จึงสรุปได้ว่าตัวอย่างมีอะตอมหรือสารประกอบที่มีอิเล็กตรอนที่ไม่มีคู่ ส่วนอะตอมหรือสารประกอบที่มีอิเล็กตรอนที่ไม่มีคู่นั้นเป็นตัวทำให้เกิด defect หรือเปล่านั้น มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
อีกกรณีหนึ่งที่เคยเจอคือผู้ทำการทดลองบอกว่าตัวเร่งปฏิกิริยาที่เขาศึกษานั้น ให้ค่าการเลือกเกิดผลิตภัณฑ์ที่ต้องการถึง 100% พอตรวจสอบวิธีการวิเคราะห์ก็พบว่าการทำงานของเครื่อง GC ของเขานั้น ตั้งเครื่องให้มองเห็นเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ต้องการเท่านั้น โดยการตั้งอุณหภูมิคอลัมน์ให้ต่ำไว้ เพื่อไม่ให้ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากปฏิกิริยาข้างเคียง (ซึ่งจะออกมาที่อุณหภูมิสูงกว่า) หลุดออกมาจากคอลัมน์
อีกเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวานระหว่างการสอบ ผู้เข้าสอบ (นิสิตปริญญาเอก)บอกว่าผลการคำนวณของเขาตรงกับที่รายงานไว้ในบทความ ผมก็ถามกลับไปว่าบทความที่คุณอ้างถึงนั้นเป็นบทความที่เป็นการทำการทดลอง (ข้อมูลมีพื้นฐานอยู่บนโลกแห่งความเป็นจริง) หรือเป็นบทความที่เป็นเพียงแค่การ simulation (ข้อมูลมีพื้นฐานอยู่บนโลกแห่งความฝัน) เพราะในโลกแห่งความฝันนั้นเราจะฝันให้ดีอย่างไรก็ได้ โดยไม่ใส่สิ่งที่ทำให้ผลการคำนวณออกมาไม่ดีเข้าไปในแบบจำลอง ผมยังได้ให้คำแนะนำไปด้วยว่าสำหรับงานประเภทนี้ ในการสรุปบทความนั้นควรต้องแยกเป็นส่วนที่เป็นงานที่ "ทำการทดลอง" และส่วนที่เป็นงานที่ "ทำเฉพาะการจำลอง"
ที่กล่าวมาข้างบนไม่ได้หมายความว่าผล simulation นั้นไว้ใจไม่ได้ ผล simulation ที่ไว้ใจได้นั้นมีอยู่ และมักมีพื้นฐานการพัฒนามาจากผลการทดลองจำนวนมาก ผ่านการทดสอบมาอย่างโชกโชน (เช่นทางด้าน fluid mechanic หรือ mechanic of material หรือการถ่ายเทความร้อน) ส่วนการทำงาน simulation ที่เกี่ยวกับปฏิกิริยาเคมีนั้นมักจะตรงข้ามกัน คือมีการทำงาน simulation เยอะมาก แต่มีการทดลองเพื่อสร้างข้อมูลอยู่น้อยมาก ส่วนมากที่ทำกันก็คือลอก ๆ ผลการทดลองมีอยู่ไม่กี่ผล ใช้ข้อสมมุติที่อยู่บนพื้นฐานความฝันต่อ ๆ กันมา แล้วก็เอาความฝันมาเปรียบเทียบกัน
ที่ยกตัวอย่างมานี้เพื่อต้องการบอกว่าในการอ่านบทความนั้น คุณต้องแยกออกให้ได้ว่าผลการทดลองของผู้เขียนบทความนั้นคืออะไร แล้วเขาอธิบายผลการทดลองดังกล่าวได้อย่างไร
๔. ข้อสรุปที่ได้และความเห็น
ในส่วนนี้คุณควรแยกออกเป็น
ก) ข้อสรุปที่เห็นได้ชัดเจนจากผลการทดลองใดผลการทดลองหนึ่งโดยตรง และ
ข) ข้อสรุปที่ได้จากการนำผลการทดลองต่าง ๆ มาประกอบเข้าด้วยกัน
ตัวอย่างเช่นในการเสนอค่าคงที่ของอัตราการเกิดปฏิกิริยานั้น ผู้เขียนบทความมักจะกล่าวไว้กลาง ๆ ว่า "ปฏิกิริยาดังกล่าวมีค่า pre-exponential และค่าพลังงานกระตุ้นเท่ากับเท่านั้นเท่านี้" แต่ถ้าจะนำมาใช้งานจริงควรต้องต้องเปลี่ยนข้อสรุปดังกล่าวให้เป็น "ปฏิกิริยาดังกล่าวมีค่า pre-exponential และค่าพลังงานกระตุ้นเท่ากับเท่านั้นเท่านี้ ในช่วงอุณหภูมิที่ทำการศึกษาและกับตัวเร่งปฏิกิริยาที่ใช้ศึกษา"
สิ่งที่เขียนในบทความนั้นต้องแยกออกให้ได้ว่าเป็นสิ่งที่ได้มานั้น "ผลการทดลองเป็นพยานหลักฐานโดยตรง" คือตามข้อ (ก) ข้างบน หรือ "ใช้ผลการทดลองเป็นพยานแวดล้อมในการอธิบายผล" คือตามข้อ (ข)
บ่อยครั้งที่ผู้เขียนบทความนั้นจะแสดงความเห็น (จะถูกหรือผิดนั้นอีกเรื่องหนึ่ง) ดังนั้นต้องแยกให้ออกว่าตรงจุดนี้เป็นสิ่งที่ผู้เขียนบทความแสดงความเห็น อย่านำมาบอกว่าเรื่องนี้มีบทความนี้รับรองเอาไว้แล้ว (ทำเป็นเหมือนว่าความเห็นนั้นเป็นข้อสรุปที่ได้จากผลการทดลอง) ที่ผ่านมาพบว่าผู้อ่านบทความมักจะนำเอาความเห็นนั้นไปแปลเป็นข้อสรุปจากผลการทดลองเสมอ
หวังว่าคงจะช่วยได้บ้างไม่มากก็น้อย
วันพุธที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2553
แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๕๒ (ตอนที่ ๑) MO Memoir : Wednesday 7 April 2553
บันทึกนี้แจกจ่ายเป็นการภายในเฉพาะสมาชิกของกลุ่มที่กำลังศึกษาอยู่เท่านั้น
วันอาทิตย์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2553
แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๕๑ (ตอนที่ ๑๐) MO Memoir : Sunday 4 April 2553
Memoir ฉบับนี้เป็นบันทึกอีเมล์ที่ส่งให้นิสิตป.โทปี ๒ ในช่วงเช้าของวันนี้ เกี่ยวกับการวิเคราะห์ผลการทดลอง บันทึกนี้แจกจ่ายเป็นการภายในเฉพาะผู้ที่กำลังศึกษาอยู่เท่านั้น
วันเสาร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2553
แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๕๑ (ตอนที่ ๙) MO Memoir : Saturday 3 April 2553
Memoir ฉบับนี้แจกจ่ายเป็นการภายใน เฉพาะสมาชิกของกลุ่มเท่านั้น
วันศุกร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2553
เมื่อเชียงใหม่ถูกโจมตีทางอากาศ MO Memoir : Friday 2 April 2553
ในวันที่ ๗ ธันวาคมปีพ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. 1941) กองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกทางภาคใต้ของประเทศไทยพร้อมกับการเคลื่อนพลเข้ามาทางภาคตะวันออก จุดมุ่งหมายของกองทัพญี่ปุ่นคือใช้ไทยเป็นทางผ่านเพื่อเข้าไปยึดมาเลเซียและพม่าที่อังกฤษปกครองอยู่ การเข้ายึดมาเลเซียและสิงคโปร์นั้นจบลงอย่างรวดเร็ว ส่วนการเข้ายึดพม่านั้นแตกต่างกันออกไป มีการประมาณว่ามีทหารญี่ปุ่นกว่า 300,000 นายเข้าร่วมรบในพม่า ในจำนวนนี้ 180,000 นายเสียชีวิต ความลังเลใจของอังกฤษในการเข้าช่วยเหลือไทยยับยั้งการยกพลขึ้นบกของญี่ปุ่น และความล้มเหลวของอังกฤษในการเข้ายึดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เพื่อตัดเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อระหว่างเชียงใหม่และสิงคโปร์ เป็นผลให้อังฤษต้องสูญเสียสิงคโปร์และพม่า
ประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่สองส่วนมากนั้นเป็นการเขียนจากมุมมองของผู้นำหรือผู้บังคับบัญชาระดับสูงที่อยู่ห่างจากแนวรบ หรือไม่ก็ไม่เคยได้สัมผัสกับเหตุการณ์รบจริง และเกือบทั้งหมดจะเป็นภาพจากมุมมองของผู้ชนะ มีน้อยเล่มมากที่จะให้ภาพสิ่งที่เกิดในมุมมองของผู้แพ้
ผมไปได้หนังสือมาเล่มหนึ่งที่ปรากฏชื่อบนปกหน้าด้านนอกว่า "Tales by Japanese Soldiers" (ชื่อในปกหน้าด้านในมันยาวกว่านี้) ซึ่งเป็นการรวบรวมเรื่องราวบันทึกของทหารที่เข้าร่วมรบในพม่า (บันทึกส่วนใหญ่เป็นของทหารชั้นประทวน) เห็นว่ามีเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือบันทึกเรื่องที่ 33 "Zero Versus Hurricane" เขียนโดย Staff Sergeant Yoshito Yasuda ซึ่งเป็นนักบินประจำฝูงบิน 64th Fighter Squadron, Southern Army ในขณะที่เขาได้เข้ามาประจำการที่จังหวัดเชียงใหม่
บันทึกฉบับนี้เริ่มต้นเล่าถึงการนำเครื่องบินรบขับไล่ Zero (Oscar Type I) ออกจากสนามบินเชียงใหม่เพื่อคุ้มกันการบุกลึกเข้าไปในดินแดนพม่า และได้เข้าสู้รบกับเครื่องบิน Hurricane ของอังกฤษ
ในวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๕ (ค.ศ. 1943) ในขณะเขาที่พักอยู่ที่สนามบินเชียงใหม่ เครื่องบิน P-40 ของหมู่บิน American Volunteer Group จากประเทศจีนได้เข้ามาโจมตีสนามบินเชียงใหม่ การรบในครั้งนั้นฝ่ายผู้โจมตีเสียเครื่องบิน P-40 ไป 1 เครื่องโดยการยิงจากภาคพื้น ส่วนฝ่ายญี่ปุ่นนั้นเครื่องบิน Zero ที่จอดอยู่บนพื้นถูกเผาไป 3 ลำและถูกยิงทำลายไป 4 ลำ
ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กรุงเทพถูกทิ้งระเบิด สะพานพระราม ๖ ถูกทำลาย โรงปูนซิเมนต์ที่บางซื่อถูกทำลาย ฯลฯ มีการสร้างที่หลบภัยขึ้นหลายแห่ง และหลายแห่งก็ยังคงหลงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบัน (ที่หนึ่งที่มีคือสวนสัตว์เขาดิน) เหตุการณ์เหล่านี้มีปรากฏในหนังสือบางเล่มและนิยายบางเรื่อง แต่เหตุการณ์รบที่เกิดขึ้นที่ส่วนอื่นของประเทศนั้นดูเหมือนจะไม่มีใครสนใจค้นคว้าและรวบรวมบันทึกไว้ (คนที่ไป อ.ปาย มาเคยสนใจหรือเปล่าว่าสะพานที่ทหารญี่ปุ่นสร้างนั้น สร้างเอาไว้เพื่ออะไร)
บันทึกนี้ก็เลยขอเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่ไปปรากฏอยู่บนหนังสือต่างประเทศ
จากเรื่อง "Zero Versus Hurricane" เขียนโดย Staff Sergeant Yoshito Yasuda, 64th Fighter Squadron, Southern Army ในหนังสือ "Tales by Japanese Soldiers of the Burma Campaign 1942-1945" หน้า 92-94โดย Kazuo Tamayama และ John Nunneley สำนักพิมพ์ Cassell ปีค.ศ. 2000
สำคัญสุดคือวิธีการ MO Memoir : Friday 2 April 2553
Memoir ฉบับนี้เป็นตอนต่อจากฉบับวันอาทิตย์ที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๓ เรื่อง "ทำให้เรียบร้อย (ตอนที่ ๒)"
ตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ผมได้สอบวิทยานิพนธ์ปริญญาโทรวม ๘ เล่ม (อันที่จริงยังมีอีกหนึ่งเล่มแต่มีการเลื่อนการสอบออกไป) ที่รู้สึกแปลกใจมากคือวิทยานิพนธ์ทั้ง ๙ เล่มที่ได้รับมานั้นมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ "ไม่ให้รายละเอียดและไม่แสดงวิธีการทำงาน" ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของ การทดลอง การสร้างแบบจำลอง หรือการคำนวณ
เคยเห็นในหนังสือคู่มือนักวิจัยเล่มหนึ่งที่หน่วยงานวิจัยแห่งหนึ่งพิมพ์แจกจ่าย โดยในนักเป็นบทความที่เขียนโดยผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นนักวิจัยอาวุโสหลายท่าน มีบทหนึ่งในหนังสือนั้นกล่าวว่าบทที่สำคัญสุดของงานวิจัยคือ "ผลสรุปของงานนั้น" กล่าวคือให้ดูแต่ว่างานนั้นได้ผลออกมาเป็นอย่างไร ตรงนี้ผมไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง ในการอ่านงานวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ใด ๆ นั้นบทที่ผมให้ความสำคัญที่สุดคือ "วิธีการทดลอง" หรือถ้าเป็นงานการสร้างแบบจำลองก็จะเป็น "วิธีการสร้างแบบจำลอง"
กติกามีอยู่ง่าย ๆ เพียงข้อเดียวคือ "ถ้าวิธีการผิด ก็ไม่ต้องไปเสียเวลาดูผล"
ก่อนที่จะอ่านผลการทดลองใด ๆ นั้น สิ่งแรกที่ผมจะตรวจดูก่อนก็คือ การเตรียมการทดลอง การเก็บตัวอย่าง และเทคนิคการวิเคราะห์ตัวอย่างนั้นมีความเหมาะสมหรือไม่ บ่อยครั้งที่พบว่าผลการวิเคราะห์ที่ได้นั้นมีการแปลความหมายให้เข้ากับสมมุติฐานที่ตัวเองตั้งไว้ ทั้ง ๆ ที่มีผลการทดลองนั้นสามารถใช้ทฤษฎีอื่นอธิบายก็ได้ ซึ่งก่อนที่ระบุสาเหตุลงไปก็ควรต้องมีการทำการทดลองเพิ่มเติมหรือนำผลการวัดอื่นมาประกอบด้วย ไม่ใช่รีบด่วนสรุป
ในกรณีที่เป็นงานที่เป็นการสร้างแบบจำลองคณิตศาสตร์ ก็จะตรวจดูก่อนว่าแบบจำลองคณิตศาสตร์ที่สร้างนั้นเหมาะสมกับสิ่งที่ต้องการจำลองหรือไม่ ในกรณีที่มีการใช้ข้อสมมุติเพื่อทำให้แบบจำลองง่ายขึ้น ก็ต้องพิจารณาด้วยว่าข้อสมมุติดังกล่าวเหมาะสมหรือไม่ เพราะบ่อยครั้งพบว่าข้อสมมุติที่ผู้สร้างแบบจำลองนำมาใช้นั้น ก็เพื่อทำให้งานของตัวเอง "ง่ายขึ้น" โดยไม่สนว่าคำตอบที่ได้มันจะสอดคล้องกับความเป็นจริงหรือไม่
ตัวอย่างเช่นกรณีหนึ่งที่เจอในการสอบสัปดาห์นี้ วิทยานิพนธ์ของผู้เข้าสอบนั้นบอกว่าจะทำอะไร และตามด้วยผลสรุปการวิเคราะห์เลย โดยไม่มีการแสดงรายละเอียดว่าได้ดำเนินการทำงานอย่างไรบ้าง และผลที่ได้จากการทำงานนั้นมีอะไรบ้าง พอโดนกรรมการซักถามก็ตอบไม่ได้ ได้แต่ตอบไปข้าง ๆ คู ๆ ประเภทตัวเลขมันเยอะ พอถามว่าแล้วตัวเลขนั้นอยู่ที่ไหน ก็ไม่มีให้ดู จนกรรมการต้องถามตรง ๆ ว่าตกลงว่าคุณได้ทำงานจริงหรือเปล่า หรือนั่งคิดตัวเลขว่ามันต้องได้ตามนี้แล้วเอาตัวเลขนั้นมาเขียนบนสรุปเลย (นั่งเทียนเขียนผลนั่นแหละ) รายนี้กรรมการต้องให้กลับไปเตรียมรายละเอียดวิธีการทำงานและผลการทำงานมาให้ตรวจก่อน ก่อนที่จะพิจารณาผลสอบ
อีกอย่างที่รู้สึกแปลกก็คือทุกรายที่เข้าสอบนั้น "ไม่มี" วิทยานิพนธ์ฉบับของตัวเอง พอกรรมการถามว่าสิ่งที่คุณนำเสนอนั้นมันอยู่ในหน้าไหนของวิทยานิพนธ์ ก็ตอบไม่ได้ หรือพอกรรมการถามว่าผลที่แสดงในหน้านี้มันมาได้อย่างไร ก็ต้องมาขอกรรมการดูวิทยานิพนธ์ฉบับที่ส่งให้กรรมการดูว่าผลการทดลองนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร จนต้องมีการถามว่าตัวผู้สอบเองเห็นว่าวิทยานิพนธ์ฉบับที่ส่งให้กรรมการนั้นไม่มีความสำคัญหรืออย่างไร
บางรายก็คิดว่า เนื่องจากกรรมการสอบไม่ได้เป็นผู้ที่ทำวิจัยอยู่ในสาขาเฉพาะทางเดียวกันกับที่เขาศึกษา ดังนั้นไม่ต้องกลัวว่าเขาจะรู้เรื่องในสิ่งที่จะนำเสนอ (พวกประเมินความรู้ของกรรมการสอบต่ำเกินไป หรือไม่ก็ไม่ได้สืบประวัติมาก่อนว่ากรรมการสอบมีความรู้ด้านไหนบ้าง) หรือถ้าเขาถามมาก็ตอบอะไรไปก็ได้ให้มันฟังยาก ๆ พอเขาไม่รู้เรื่องอะไรก็คงเลิกถามไปเอง ผมเคยเจอเหตุการณ์นี้เข้ากับตัวเองครั้งหนึ่ง จนผู้เข้าสอบเอาไปบ่นกับเพื่อนของเขาว่า "ไม่นึกว่าผมจะรู้เรื่องด้วยว่าเขามั่ว" เรื่องนี้ผมได้รับฟังจากคนที่ผู้เข้าสอบนั้นไปบ่นให้ฟัง
ที่น่าแปลกคือมีผู้ที่กำลังจะสอบ (ตอนนี้ยังไม่สอบแต่กำลังจะสอบในไม่ช้า) ถามผมว่า "อ่านวิทยานิพนธ์ด้วยหรือ" ได้ยินคำถามแบบนี้ก็รู้เลยว่าเขาคิดว่า "กรรมการสอบนั้นคงจะไม่อ่านวิทยานิพนธ์ที่ส่งให้ คงมาเพียงแค่นั่งฟังการนำเสนอในห้องสอบ แล้วก็ให้คะแนนการสอบจากการนำเสนอ ส่วนวิทยานิพนธ์นั้นมันต้องโดนแก้ไขอยู่ดี ดังนั้น ไม่ต้องไปเสียเวลาทำให้มันดี เขียนอะไรชุ่ย ๆ ใส่เข้าไปก็ได้ เดี๋ยวกรรมการก็แก้ไขมาให้เอง ถ้าโชคดีกรรมการไม่มีเวลาอ่านก็ไม่ต้องแก้ไขอะไร"
ไม่น่าเชื่อว่าเดี๋ยวนี้คนที่มีการศึกษาในระดับนี้จะมีแนวความคิด "เลว ๆ" แบบนี้กันทั่วไปหมด
สิ่งที่จะต้องคำนึงในการสอบวิทยานิพนธ์คือ "ต้องให้กรรมการยอมรับในสิ่งที่คุณเขียนอยู่ในวิทยานิพนธ์ โดยต้องไม่มีคำถามหรือข้อสงสัยใด ๆ เมื่ออ่านวิทยานิพนธ์ของคุณจบ"
การอ่านวิทยานิพนธ์นั้นเป็น "หน้าที่" ของกรรมการสอบที่ต้องอ่านวิทยานิพนธ์ที่เป็นกรรมการสอบ แต่กรรมการต้องได้รับวิทยานิพนธ์ก่อนวันสอบล่วงหน้าเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม ตามระเบียบนั้นต้องส่งก่อน "อย่างน้อย" สองสัปดาห์ แต่ที่ผ่านมาบางทีก็นำมาให้ก่อนแค่วันเดียว แบบนี้บางรายโดนกรรมการแจ้งไปเลยว่าให้เลื่อนการสอบออกไป เพราะไม่มีเวลาอ่าน
การที่กรรมการไม่ถามอะไรในการสอบนั้นแปลความหมายได้หลายอย่าง เช่น
ก. กรรมการอ่านงานของคุณ แล้วพบว่าเขียนมาดี พึงพอใจมาก จนไม่มีอะไรสงสัยจะถาม
ข. กรรมการไม่ได้อ่านงานของคุณ และอาจไม่สนใจด้วยว่าคุณทำอะไร เพียงแต่เข้ามานั่งฟัง (และรับเงินค่าเป็นกรรมสอบ) ส่วนผลสอบนั้นก็ให้ตามความเห็นของกรรมการคนอื่น
ค. กรรมการอ่านงานของคุณ แล้วเห็นว่าไม่ได้เรื่อง เชื่อไม่ได้ ให้ผลสอบเป็น "ตก" ทันทีที่อ่านจบ ก็เลยไม่อยากมาเสียเวลาถามคำถาม (จริง ๆ แล้วอยากจะบอกว่าไม่ต้องมาเสียเวลานำเสนอเลยด้วยซ้ำ)
ง. กรรมการไม่ได้อ่านงานของคุณ แต่คุณนำเสนอได้ดีและชัดเจนจนกรรมการไม่มีข้อสงสัยใด ๆ
เคยมีอยู่ครั้งหนึ่งผู้เข้าสอบนั้นส่งวิทยานิพนธ์ให้กรรมการสอบตรวจ เขาเห็นเพื่อน ๆ โดยแก้ไขด้วยปากกาแดงเต็มไปหมดทั้งเล่ม ส่วนของเขานั้นมีข้อความเขียนมาสั้น ๆ บนหน้าปกเท่านั้น ตอนแรกเขาก็ดีใจคิดว่างานของเขานั้นไม่ต้องแก้ไขอะไร แต่ข้อความที่กรรมกรรมสอบเขียนเอาไว้นั้นบอกว่า
"อ่านไม่รู้เรื่อง แก้ไขอะไรให้ไม่ได้ ให้ไปเขียนมาใหม่ทั้งเล่ม"
ตัวเร่งปฏิกิริยาและการทดสอบ
- การกำจัดสีเมทิลีนบลู
- การคำนวณพื้นที่ผิวแบบ Single point BET
- การคำนวณพื้นที่ผิวแบบ Single point BET ตอนที่ ๒ ผลกระทบจากความเข้มข้นไนโตรเจนที่ใช้
- การจำแนกตำแหน่งที่เป็นกรด Brönsted และ Lewis บนพื้นผิวของแข็งด้วยเทคนิค Infrared spectroscopy และ Adsorbed probe molecules
- การจำแนกตำแหน่งที่เป็นเบส Brönsted และ Lewis บนพื้นผิวของแข็งด้วยเทคนิค Infrared spectroscopy และ Adsorbed probe molecules
- การใช้ข้อต่อสามทางผสมแก๊ส
- การใช้ Avicel PH-101 เป็น catalyst support
- การดูดซับบนพื้นผิวตัวเร่งปฏิกิริยาวิวิธพันธ์ ตอนที่ ๑ ขั้นตอนของการเกิดปฏิกิริยาบนตัวเร่งปฏิกิริยาวิวิธพันธ์
- การดูดซับบนพื้นผิวตัวเร่งปฏิกิริยาวิวิธพันธ์ ตอนที่ ๒ การดูดซับบนพื้นผิวของแข็ง
- การดูดซับบนพื้นผิวตัวเร่งปฏิกิริยาวิวิธพันธ์ ตอนที่ ๓ แบบจำลองไอโซเทอมการดูดซับของ Freundlich
- การดูดซับบนพื้นผิวตัวเร่งปฏิกิริยาวิวิธพันธ์ ตอนที่ ๔ แบบจำลองไอโซเทอมการดูดซับของ Langmuir
- การดูดซับบนพื้นผิวตัวเร่งปฏิกิริยาวิวิธพันธ์ ตอนที่ ๕ แบบจำลองไอโซเทอมการดูดซับของ Temkin
- การดูดซับบนพื้นผิวตัวเร่งปฏิกิริยาวิวิธพันธ์ ตอนที่ ๖ แบบจำลองไอโซเทอมการดูดซับของ BET
- การดูดซับบนพื้นผิวตัวเร่งปฏิกิริยาวิวิธพันธ์ ตอนที่ ๗ ตัวอย่างไอโซเทอมการดูดซับของ BET
- การดูดซับบนพื้นผิวตัวเร่งปฏิกิริยาวิวิธพันธ์ ตอนที่ ๘ ตัวอย่างไอโซเทอมการดูดซับของ BET (๒)
- การดูดซับบนพื้นผิวตัวเร่งปฏิกิริยาวิวิธพันธ์ ตอนที่ ๙ ตัวอย่างไอโซเทอมการดูดซับของ BET (๓)
- การเตรียมตัวอย่างตัวเร่งปฏิกิริยาแบบผงให้เป็นแผ่นบาง
- การทดสอบตัวเร่งปฏิกิริยา - ผลแตกต่างหรือไม่แตกต่าง
- การทำปฏิกิริยา ๓ เฟสใน stirred reactor
- การบรรจุ inert material ใน fixed-bed
- การปรับ WHSV
- การปั่นกวนของแข็งให้แขวนลอยในของเหลว ตอนที่ ๑ ผลของความหนาแน่นที่แตกต่าง
- การปั่นกวนของแข็งให้แขวนลอยในของเหลว ตอนที่ ๒ ขนาดของ magnetic bar กับเส้นผ่านศูนย์กลางภาชนะ
- การปั่นกวนของแข็งให้แขวนลอยในของเหลว ตอนที่ ๓ ผลของรูปร่างภาชนะ
- การผสมแก๊สอัตราการไหลต่ำเข้ากับแก๊สอัตราการไหลสูง
- การระบุชนิดโลหะออกไซด์
- การลาก smooth line เชื่อมจุด
- การเลือกค่า WHSV (Weight Hourly Space Velocity) สำหรับการทดลอง
- การวัดความเป็นกรดบนพื้นผิวของแข็ง (อีกครั้ง)
- การวัดปริมาณตำแหน่งที่เป็นกรด-เบสบนพื้นผิวของแข็งด้วย GC
- การวัดปริมาณตำแหน่งที่เป็นกรด-เบสบนพื้นผิวของแข็งด้วย GC (๒)
- การวัดพื้นที่ผิว BET
- การวิเคราะห์ความเป็นกรดบนพื้นผิวของแข็ง ด้วยเทคนิคการดูดซับ Probe molecule (๑)
- การวิเคราะห์ความเป็นกรดบนพื้นผิวของแข็ง ด้วยเทคนิคการดูดซับ Probe molecule (๒)
- การวิเคราะห์ความเป็นกรดบนพื้นผิวของแข็ง ด้วยเทคนิคการดูดซับ Probe molecule (๓)
- การวิเคราะห์ความเป็นกรดบนพื้นผิวของแข็ง ด้วยเทคนิคการดูดซับ Probe molecule (๔)
- การวิเคราะห์ความเป็นกรดบนพื้นผิวของแข็ง ด้วยเทคนิคการดูดซับ Probe molecule (๕)
- การวิเคราะห์ความเป็นกรดบนพื้นผิวของแข็ง ด้วยเทคนิคการดูดซับ Probe molecule (๖)
- การไหลผ่าน Straightening vane และโมโนลิท (Monolith)
- เก็บตกจากการประชุมวิชาการ ๒๕๕๗ ตอนที่ ๑
- เก็บตกจากการประชุมวิชาการ ๒๕๕๗ ตอนที่ ๒
- ข้อควรระวังเมื่อใช้ออกซิเจนความเข้มข้นสูง
- ข้อพึงระวังในการแปลผลการทดลอง
- ค่า signal to noise ratio ที่ต่ำที่สุด
- จลนศาสตร์การเกิดปฏิกิริยาบนพื้นผิวตัวเร่งปฏิกิริยาวิวิธพันธ์ ตอนที่ ๑ Volcano principle
- จลนศาสตร์การเกิดปฏิกิริยาบนพื้นผิวตัวเร่งปฏิกิริยาวิวิธพันธ์ ตอนที่ ๒ แบบจำลอง Langmuir
- จลนศาสตร์การเกิดปฏิกิริยาบนพื้นผิวตัวเร่งปฏิกิริยาวิวิธพันธ์ ตอนที่ ๓ แบบจำลอง Langmuir-Hinshelwood
- จลนศาสตร์การเกิดปฏิกิริยาบนพื้นผิวตัวเร่งปฏิกิริยาวิวิธพันธ์ ตอนที่ ๔ แบบจำลอง Eley-Rideal
- จลนศาสตร์การเกิดปฏิกิริยาบนพื้นผิวตัวเร่งปฏิกิริยาวิวิธพันธ์ ตอนที่ ๕ แบบจำลอง REDOX
- ตอบคำถามเรื่องการเตรียมตัวเร่งปฏิกิริยา
- ตัวเลขมันสวย แต่เชื่อไม่ได้
- ตัวเลขไม่ได้ผิดหรอก คุณเข้าใจนิยามไม่สมบูรณ์ต่างหาก
- ตัวไหนดีกว่ากัน (Catalyst)
- แต่ละจุดควรต่างกันเท่าใด
- ท่อแก๊สระบบ acetylene hydrogenation
- น้ำหนักหายได้อย่างไร
- ปฏิกิริยาการเติมไฮโดรเจนและการแทนที่ไฮโดรเจนของอะเซทิลีน
- ปฏิกิริยาอันดับ 1 หรือปฏิกิริยาอันดับ 2
- ปฏิกิริยาเอกพันธ์และปฏิกิริยาวิวิธพันธ์ในเบดนิ่ง
- ปั๊มสูบไนโตรเจนเหลวจากถังเก็บ
- ผลของแก๊สเฉื่อยต่อการเกิดปฏิกิริยา
- เผาในเตาแบบไหนดี (Calcination)
- พลังงานกระตุ้นกับปฏิกิริยาคายความร้อนในเครื่องปฏิกรณ์เบดนิ่ง
- เมื่อแก๊สรั่วที่ rotameter
- เมื่อพีคออกซิเจนของระบบ DeNOx หายไป
- เมื่อเส้น Desorption isotherm ต่ำกว่าเส้น Adsorption isotherm
- เมื่อ base line เครื่อง chemisorb ไม่นิ่ง
- เมื่อ Mass Flow Controller คุมการไหลไม่ได้
- เรื่องของสุญญากาศกับ XPS
- สแกนกี่รอบดี
- สมดุลความร้อนรอบ Laboratory scale fixed-bed reactor
- สรุปการประชุมวันพฤหัสบดีที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๓
- เส้น Cu Kα มี ๒ เส้น
- เห็นอะไรไม่สมเหตุสมผลไหมครับ
- อย่าลืมดูแกน Y
- อย่าให้ค่า R-squared (Coefficient of Determination) หลอกคุณได้
- อุณหภูมิกับการไหลของแก๊สผ่าน fixed-bed
- อุณหภูมิและการดูดซับ
- BET Adsorption-Desorption Isotherm Type I และ Type IV
- ChemiSorb 2750 : การเตรียมตัวอย่างเพื่อการวัดพื้นที่ผิว BET
- ChemiSorb 2750 : การวัดพื้นที่ผิวแบบ Single point BET
- ChemiSorb 2750 : ผลของอัตราการไหลต่อความแรงสัญญาณ
- Distribution functions
- Electron Spin Resonance (ESR)
- GHSV หรือ WHSV
- Ion-induced reduction ขณะทำการวิเคราะห์ด้วย XPS
- MO ตอบคำถาม การทดลอง gas phase reaction ใน fixed-bed
- MO ตอบคำถาม การวัดความเป็นกรด-เบสบนพื้นผิวของแข็ง
- Monolayer หรือความหนาเพียงชั้นอะตอมเดียว
- NH3-TPD - การลาก base line
- NH3-TPD - การลาก base line (๒)
- NH3-TPD - การไล่น้ำและการวาดกราฟข้อมูล
- NH3-TPD ตอน ตัวอย่างผลการวิเคราะห์ ๑
- NH3-TPD ตอน ตัวอย่างผลการวิเคราะห์ ๒
- Physisorption isotherms Type I และ Type IV
- Scherrer's equation
- Scherrer's equation (ตอนที่ 2)
- Scherrer's equation (ตอนที่ ๓)
- Scherrer's equation (ตอนที่ ๔)
- Supported metal catalyst และ Supported metal oxide catalyst
- Temperature programmed reduction ด้วยไฮโดรเจน (H2-TPR)
- Temperature programmed reduction ด้วยไฮโดรเจน (H2-TPR) ภาค ๒
- UV-Vis - peak fitting
- XPS ตอน การแยกพีค Mo และ W
- XPS ตอน จำนวนรอบการสแกน
- XRD - peak fitting
คณิตศาสตร์สำหรับวิศวกรรมเคมี
- การแก้ปัญหาสมการเชิงอนุพันธ์สามัญปัญหาเงื่อนไขค่าเริ่มต้นด้วยระเบียบวิธี Bogacki-Shampine และ Predictor-Evaluator-Corrector-Evaluator (PECE)
- การแก้ปัญหาสมการอนุพันธ์สามัญ ด้วย ODE solvers ของ GNU Octave ตอนที่ ๑
- การแก้ปัญหาสมการอนุพันธ์สามัญ ด้วย ODE solvers ของ GNU Octave ตอนที่ ๒
- การแก้ปัญหาสมการอนุพันธ์สามัญ ด้วย ODE solvers ของ GNU Octave ตอนที่ ๓
- การแก้สมการเชิงอนุพันธ์สามัญด้วยการใช้ Integrating factor
- การแก้สมการอนุพันธ์ด้วยฟังก์ชันพหุนาม (๑)
- การแก้สมการอนุพันธ์ด้วยฟังก์ชันพหุนาม (๑๐)
- การแก้สมการอนุพันธ์ด้วยฟังก์ชันพหุนาม (๑๑)
- การแก้สมการอนุพันธ์ด้วยฟังก์ชันพหุนาม (๑๒)
- การแก้สมการอนุพันธ์ด้วยฟังก์ชันพหุนาม (๑๓)
- การแก้สมการอนุพันธ์ด้วยฟังก์ชันพหุนาม (๒)
- การแก้สมการอนุพันธ์ด้วยฟังก์ชันพหุนาม (๓)
- การแก้สมการอนุพันธ์ด้วยฟังก์ชันพหุนาม (๔)
- การแก้สมการอนุพันธ์ด้วยฟังก์ชันพหุนาม (๕)
- การแก้สมการอนุพันธ์ด้วยฟังก์ชันพหุนาม (๖)
- การแก้สมการอนุพันธ์ด้วยฟังก์ชันพหุนาม (๗)
- การแก้สมการอนุพันธ์ด้วยฟังก์ชันพหุนาม (๘)
- การแก้สมการอนุพันธ์ด้วยฟังก์ชันพหุนาม (๙)
- การคำนวณค่าฟังก์ชันพหุนาม
- การปรับเรียบ (Smoothing) ข้อมูล (ตอนที่ ๑)
- การปรับเรียบ (Smoothing) ข้อมูล (ตอนที่ ๒)
- การปรับเรียบ (Smoothing) ข้อมูล (ตอนที่ ๓)
- การหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร x และ y
- ข้อพึงระวังในการใช้ฟังก์ชันพหุนามในการประมาณค่าในช่วง
- ข้อพึงระวังในการใช้ฟังก์ชันพหุนามในการประมาณค่าในช่วง (๒)
- ข้อพึงระวังในการใช้ฟังก์ชันพหุนามในการประมาณค่าในช่วง (๒) (pdf)
- ข้อพึงระวังในการใช้ฟังก์ชันพหุนามในการประมาณค่าในช่วง (๓)
- ข้อสอบเก่าชุดที่ ๑
- ข้อสอบเก่าชุดที่ ๒
- ค่าคลาดเคลื่อน (error)
- จำนวนที่น้อยที่สุดที่เมื่อบวกกับ 1 แล้วได้ผลลัพธ์ไม่ใช่ 1
- ใช่ว่าคอมพิวเตอร์จะคิดเลขถูกเสมอไป
- ตัวเลขที่เท่ากันแต่ไม่เท่ากัน
- ตัวอย่างการแก้ปัญหา สมการพีชคณิตไม่เชิงเส้นด้วยระเบียบวิธีนิวตัน-ราฟสัน
- ตัวอย่างการแก้ปัญหา สมการพีชคณิตไม่เชิงเส้นด้วยระเบียบวิธี Müller และ Inverse quadratic interpolation
- ตัวอย่างการแก้ปัญหา สมการพีชคณิตไม่เชิงเส้นด้วยระเบียบวิธี successive iteration
- ตัวอย่างการแก้ปัญหา สมการพีชคณิตไม่เชิงเส้นด้วยระเบียบวิธี successive iteration (pdf)
- ตัวอย่างการแก้ปัญหา สมการพีชคณิตไม่เชิงเส้นด้วย Function fzero ของ GNU Octave
- ตัวอย่างการคำนวณหาพื้นที่ใต้กราฟ ด้วยระเบียบวิธี Gaussian quadrature
- ตัวอย่างการคำนวณหาพื้นที่ใต้กราฟ ด้วยระเบียบวิธี Gaussian quadrature (pdf)
- ตัวอย่างผลของรูปแบบสมการต่อคำตอบของ ODE-IVP
- ตัวอย่างเพิ่มเติมบทที่ ๑
- ตัวอย่างเพิ่มเติมบทที่ ๒
- ตัวอย่างเพิ่มเติมบทที่ ๓
- ตัวอย่างเพิ่มเติมบทที่ ๔
- ทบทวนเรื่องการคูณเมทริกซ์
- ทบทวนเรื่อง Taylor's series
- ทศนิยมลงท้ายด้วยเลข 5 จะปัดขึ้นหรือปัดลง
- บทที่ ๑ การคำนวณตัวเลขในระบบทศนิยม
- บทที่ ๒ การแก้ปัญหาระบบสมการพีชคณิตเชิงเส้น
- บทที่ ๓ การแก้ปัญหาระบบสมการพีชคณิตไม่เชิงเส้น
- บทที่ ๔ การประมาณค่าในช่วง
- บทที่ ๕ การหาค่าอนุพันธ์
- บทที่ ๖ การหาค่าอินทิกรัล
- บทที่ ๗ การแก้ปัญหาสมการเชิงอนุพันธ์สามัญ ระบบสมการปัญหาเงื่อนไขค่าเริ่มต้น
- บทที่ ๘ การแก้ปัญหาสมการเชิงอนุพันธ์สามัญ ระบบสมการปัญหาเงื่อนไขค่าขอบเขต
- บทที่ ๙ การแก้ปัญหาสมการเชิงอนุพันธ์ย่อย
- ปฏิกิริยาคายความร้อนใน CSTR (ตอนที่ ๑)
- ปฏิกิริยาคายความร้อนใน CSTR (ตอนที่ ๒)
- เปรียบเทียบการแก้ปัญหาสมการพีชคณิตไม่เชิงเส้นด้วย solver ของ GNU Octave
- เปรียบเทียบการแก้ Stiff equation ด้วยระเบียบวิธี Runge-Kutta และ Adam-Bashforth
- เปรียบเทียบระเบียบวิธี Runge-Kutta
- เปรียบเทียบ Gauss elimination ที่มีและไม่มีการทำ Pivoting
- เปรียบเทียบ Gauss elimination ที่มีและไม่มีการทำ Pivoting (Spreadsheet)
- ฟังก์ชันแกมมา (Gamma function) และ ฟังก์ชันเบสเซล (Bessel function)
- เมื่อ 1 ไม่เท่ากับ 0.1 x 10
- ระเบียบวิธี Implicit Euler และ Crank-Nicholson กับ Stiff equation
- เลขฐาน ๑๐ เลขฐาน ๒ จำนวนเต็ม จำนวนจริง
- Distribution functions
- LU decomposition ร่วมกับ Iterative improvement
- LU decomposition ร่วมกับ Iterative improvement (pdf)
- LU decomposition ร่วมกับ Iterative improvement (Spreadsheet)
- Machine precision กับ Machine accuracy
เคมีสำหรับวิศวกรเคมี
- กรด-เบส : อ่อน-แก่
- กรด-เบส : อะไรควรอยู่ในบิวเรต
- กราฟการไทเทรตกรดกำมะถัน (H2SO4)
- กราฟการไทเทรตกรดกำมะถัน (H2SO4) ตอนที่ ๒
- กราฟการไทเทรตกรดที่ให้โปรตอนได้ ๒ ตัว
- กราฟการไทเทรตกรดที่ให้โปรตอนได้ ๓ ตัว
- กราฟการไทเทรตกรดไฮโปคลอรัส (HOCl)
- กราฟอุณหภูมิการกลั่นของน้ำมันเบนซิน (Gasoline distillation curve)
- กลิ่นกับอันตรายของสารเคมี
- การกำจัดสีเมทิลีนบลู
- การเกิดปฏิกิริยาเคมี
- การเจือจางไฮโดรคาร์บอนในน้ำ
- การใช้ pH probe
- การใช้ Tetraethyl lead นอกเหนือไปจากการเพิ่มเลขออกเทน
- การดูดกลืนคลื่นแสงของแก้ว Pyrex และ Duran
- การดูดกลืนแสงสีแดง
- การเตรียมสารละลายด้วยขวดวัดปริมาตร
- การเตรียมหมู่เอมีนและปฏิกิริยาของหมู่เอมีน (การสังเคราะห์ฟีนิลบิวตาโซน)
- การทำน้ำให้บริสุทธิ์สำหรับห้องปฏิบัติการ
- การทำปฏิกิริยาของโพรพิลีนออกไซด์ (1,2-Propylene oxide) ตอนที่ ๑
- การทำปฏิกิริยาของโพรพิลีนออกไซด์ (1,2-Propylene oxide) ตอนที่ ๒
- การทำปฏิกิริยาของหมู่ Epoxide ในโครงสร้าง Graphene oxide
- การทำปฏิกิริยาต่อเนื่องของผลิตภัณฑ์
- การเทของเหลวใส่บิวเรต
- การน๊อคของเครื่องยนต์แก๊สโซลีน และสารเพิ่มเลขออกเทนของน้ำมัน
- การเปลี่ยนพลาสติกเป็นน้ำมัน
- การเปลี่ยนเอทานอล (Ethanol) ไปเป็นอะเซทัลดีไฮด์ (Acetaldehyde)
- การเรียกชื่อสารเคมี
- การลดการระเหยของของเหลว
- การละลายของแก๊สในเฮกเซน (Ethylene polymerisation)
- การละลายเข้าด้วยกันของโมเลกุลมีขั้ว-ไม่มีขั้ว
- การวัดความเป็นกรดบนพื้นผิวของแข็ง (อีกครั้ง)
- การวัดปริมาณ-ความแรงของตำแหน่งที่เป็นกรดบนพื้นผิว
- การวัดปริมาณตำแหน่งที่เป็นกรด-เบสบนพื้นผิวของแข็งด้วย GC
- การวัดปริมาตรของเหลว
- การหาความเข้มข้นสารละลายมาตรฐานกรด
- การหาจุดสมมูลของการไทเทรตจากกราฟการไทเทรต
- การอ่านผลการทดลองการไทเทรตกรด-เบส
- การอ่านผลการทดลองการไทเทรตกรด-เบส (ตอนที่ ๒)
- การอ่านผลการทดลองการไทเทรตกรด-เบส (ตอนที่ ๓)
- แก๊สมัสตาร์ดกับกลิ่นทุเรียน
- ข้อควรระวังเมื่อใช้ออกซิเจนความเข้มข้นสูง
- คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากับงานเคมีวิเคราะห์
- ความกระด้าง (Hardness) ของน้ำกับปริมาณของแข็งทั้งหมด ที่ละลายอยู่ (Total Dissolved Solid - TDS)
- ความดันกับการเกิดปฏิกิริยาเคมี
- ความเป็นกรดของหมู่ไฮดรอกซิล (Hydroxyl group) ตอนที่ ๑
- ความเป็นกรดของหมู่ไฮดรอกซิล (Hydroxyl group) ตอนที่ ๒
- ความเป็นกรดของอัลฟาไฮโดรเจนอะตอม (alpha-Hydrogen atom) ตอน กรดบาร์บิทูริก (Barbituric acid)
- ความเป็นกรดของอัลฟาไฮโดรเจนอะตอม (alpha-Hydrogen atoms)
- ความเป็นขั้วบวกของอะตอม C และการทำปฏิกิริยาของอีพิคลอโรไฮดริน (epichlorohydrin)
- ความเป็นไอออนิก (Percentage ionic character)
- ความสัมพันธ์ระหว่างสีกับชนิดและปริมาณธาตุ
- ความสำคัญของเคมีวิเคราะห์และเคมีอินทรีย์ในงานวิศวกรรมเคมี
- ความเห็นที่ไม่ลงรอยกับโดเรมี่
- ค้างที่ปลายปิเปตไม่เท่ากัน
- คำตอบของ Cubic equation of state
- จากกลีเซอรอล (glycerol) ไปเป็นอีพิคลอโรไฮดริน (epichlorohydrin)
- จากเบนซาลดีไฮด์ (Benzaldehyde) ไปเป็นกรดเบนซิลิก (Benzilic acid)
- จากโอเลฟินส์ถึงพอลิอีเทอร์ (From olefins to polyethers)
- จาก Acetone เป็น Pinacolone
- จาก Alkanes ไปเป็น Aramids
- จาก Aniline ไปเป็น Methyl orange
- จาก Benzene ไปเป็น Butter yellow
- จาก Hexane ไปเป็น Nylon
- จาก Toluene และ m-Xylene ไปเป็นยาชา
- ดำหรือขาว
- ตกค้างเพราะเปียกพื้นผิว
- ตอบคำถามแบบแทงกั๊ก
- ตอบคำถามให้ชัดเจนและครอบคลุม
- ตำราสอนการใช้ปิเปตเมื่อ ๓๓ ปีที่แล้ว
- ไตรเอทานอลเอมีน (Triethanolamine)
- ถ่านแก๊ส หินแก๊ส แก๊สก้อน
- ทอดไข่เจียวให้อร่อยต้องใช้น้ำมันหมู
- ทำไมน้ำกระด้างจึงมีฟอง
- ที่แขวนกล้วย
- เท่ากับเท่าไร
- โทลูอีน (Toluene)
- ไทโอนีลคลอไรด์ (Thionyl chloride)
- นานาสาระเคมีวิเคราะห์
- น้ำด่าง น้ำอัลคาไลน์ น้ำดื่ม
- น้ำดื่ม (คิดสักนิดก่อนกดแชร์ เรื่องที่ ๑๑)
- น้ำตาลทราย ซูคราโลส และยาคุมกำเนิดสำหรับผู้ชาย
- น้ำบริสุทธิ์ (Purified water)
- ไนโตรเจนเป็นแก๊สเฉื่อยหรือไม่
- บีกเกอร์ 250 ml
- แบบทดสอบก่อนเริ่มเรียนวิชาเคมีสำหรับนิสิตวิศวกรรมเคมี
- ปฏิกิริยาการเติมไฮโดรเจนและการแทนที่ไฮโดรเจนของอะเซทิลีน (Hydrogenation and replacement of acetylenic hydrogen)
- ปฏิกิริยาการผลิต Vinyl chloride
- ปฏิกิริยาการออกซิไดซ์
- ปฏิกิริยา alpha halogenation และการสังเคราะห์ tertiary amine
- ปฏิกิริยา ammoxidation หมู่เมทิลที่เกาะอยู่กับวงแหวนเบนซีน
- ปฏิกิริยา Benzene alkylation
- ปฏิกิริยา Dehydroxylation
- ปฏิกิริยา Electrophilic substitution ของ m-Xylene
- ปฏิกิริยา Nucleophilic substitution ของสารประกอบ Organic halides
- ประโยชน์ของ Nitric oxide ในทางการแพทย์
- ปัญหาการสร้าง calibration curve ของ ICP
- ปัญหาการหาความเข้มข้นสารละลายกรด
- ปัญหาของไฮโดรคาร์บอนไม่อิ่มตัว
- โป้ง ชี้ กลาง นาง ก้อย
- ผลของค่าพีเอชต่อสีของสารละลายเปอร์แมงกาเนต
- ผลของอุณหภูมิต่อการแทนที่ตำแหน่งที่ 2 บนวงแหวนเบนซีน
- ฝึกงานภาคฤดูร้อน ๒๕๕๓ ตอนที่ ๑ อธิบายศัพท์
- พีคเหมือนกันก็แปลว่ามีหมู่ฟังก์ชันเหมือนกัน
- ฟลูออรีนหายไปไหน
- ฟอสฟอรัสออกซีคลอไรด์ (Phosphorus Oxychloride)
- ฟีนอล แอซีโทน แอสไพริน พาราเซตามอล สิว โรคหัวใจ และงู
- มุมมองที่ถูกจำกัด
- เมทานอลกับเจลล้างมือ
- เมื่อคิดในรูปของ ...
- เมื่อตำรายังพลาดได้ (Free radical polymerisation)
- เมื่อน้ำเพิ่มปริมาตรเองได้
- เมื่อหมู่คาร์บอนิล (carbonyl) ทำปฏิกิริยากันเอง
- รังสีเอ็กซ์
- เรื่องของสไตรีน (คิดสักนิดก่อนกด Share เรื่องที่ ๑)
- แลปการไทเทรตกรด-เบส ภาคการศึกษาต้น ปีการศึกษา ๒๕๖๐
- ศัพท์เทคนิค-เคมีวิเคราะห์
- สรุปคำถาม-ตอบการสอบวันศุกร์ที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๒
- สีหายไม่ได้หมายความว่าสารหาย
- เสถียรภาพของอนุมูลอิสระ (๑)
- เสถียรภาพของอนุมูลอิสระ (๒)
- เสถียรภาพของอนุมูลอิสระ (๓)
- หมู่ทำให้เกิดสี (chromophore) และหมู่เร่งสี (auxochrome)
- หลอกด้วยข้อสอบเก่า
- อะเซทิลีน กลีเซอรีน และไทออล
- อะโรมาติก : การผลิต การใช้ประโยชน์ และปัญหา
- อัลคิลเอมีน (Alkyl amines) และ อัลคิลอัลคานอลเอมีน (Alkyl alkanolamines)
- อีเทอร์กับการเกิดสารประกอบเปอร์ออกไซด์
- อุณหภูมิ อัตราการเกิดปฏิกิริยา สมดุลเคมี
- เอา 2,2-dimethylbutane (neohexane) ไปทำอะไรดี
- เอาเบนซีนกับเอทานอลไปทำอะไรดี
- เอา isopentane ไปทำอะไรดี
- เอา maleic anhydride ไปทำอะไรดี
- เอา pentane ไปทำอะไรดี
- ไอโซเมอร์ (Isomer)
- ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์กับพอลิโพรพิลีน
- Acentric factor
- Aldol condensation กับ Cannizzaro reaction
- Aldol condesation ระหว่าง Benzaldehyde กับ Acetone
- A-Level เคมี ปี ๖๖ ข้อพอลิเอทิลีน
- Beilstein test กับเตาแก๊สที่บ้าน
- Benzaldehyde กับปฏิกิริยา Nitroaldol
- BOD และ COD
- BOD หรือ DO
- Carbocation - การเกิดและเสถียรภาพ
- Carbocation - การทำปฏิกิริยา
- Carbocation ตอนที่ ๓ การจำแนกประเภท-เสถียรภาพ
- Chloropicrin (Trichloronitromethane)
- Compressibility factor กับ Joule-Thomson effect
- Conjugated double bonds กับ Aromaticity
- Cubic centimetre กับ Specific gravity
- Dehydration, Esterification และ Friedle-Crafts Acylation
- Electrophilic addition ของอัลคีน
- Electrophilic addition ของอัลคีน (๒)
- Electrophilic addition ของ conjugated diene
- Electrophilic substitution ตำแหน่งที่ 1 บนวงแหวนเบนซีน
- Electrophilic substitution ตำแหน่งที่ 2 บนวงแหวนเบนซีน ตอน ผลของอุณหภูมิการทำปฏิกิริยา
- Electrophilic substitution ตำแหน่งที่ 3 บนวงแหวนเบนซีน
- Electrophilic substitution ตำแหน่งที่ 3 บนวงแหวนเบนซีน ตอน การสังเคราะห์ 2,4-Dinitrophenol
- Esterification of hydroxyl group
- Gibbs Free Energy กับการเกิดปฏิกิริยาและการดูดซับ
- Halogenation ของ alkane
- Halogenation ของ alkane (๒)
- HCl ก่อน ตามด้วย H2SO4 แล้วจึงเป็น HNO3
- I2 ในสารละลาย KI กับไฮโดรคาร์บอนอิ่มตัว
- Infrared spectrum interpretation
- Interferometer
- IR spectra ของโทลูอีน (Toluene) เอทิลเบนซีน (Ethylbenzene) โพรพิลเบนซีน (Propylbenzene) และคิวมีน (Cumene)
- IR spectra ของเบนซีน (Benzene) และไซลีน (Xylenes)
- IR spectra ของเพนทีน (Pentenes)
- Kjeldahl nitrogen determination method
- Malayan emergency, สงครามเวียดนาม, Seveso และหัวหิน
- MO ตอบคำถาม การวัดความเป็นกรด-เบสบนพื้นผิวของแข็ง
- Nucleophile กับ Electrophile
- PAT2 เคมี ปี ๖๕ ข้อการไทเทรตกรดเบส
- Peng-Robinson Equation of State
- Phenol, Ether และ Dioxin
- Phospharic acid กับ Anhydrous phosphoric acid และ Potassium dioxide
- pH Probe
- Picric acid (2,4,6-Trinitrophenol) และ Chloropicrin
- PV diagram กับการอัดแก๊ส
- Pyrophoric substance
- Reactions of hydroxyl group
- Reactions of hydroxyl group (ตอนที่ ๒)
- Redlich-Kwong Equation of State
- Redlich-Kwong Equation of State (ตอนที่ ๒)
- Soave-Redlich-Kwong Equation of State
- Standard x-ray powder diffraction pattern ของ TiO2
- Sulphur monochloride และ Sulphur dichloride
- Thermal cracking - Thermal decomposition
- Thiols, Thioethers และ Dimethyl thioether
- Van der Waals' Equation of State
- Vulcanisation
ประสบการณ์ Gas chromatograph/Chromatogram
- 6 Port sampling valve
- กระดาษความร้อน (thermal paper) มี ๒ หน้า
- การแก้ปัญหา packing ในคอลัมน์ GC อัดตัวแน่น
- การฉีดแก๊สเข้า GC ด้วยวาล์วเก็บตัวอย่าง
- การฉีดตัวอย่างที่เป็นของเหลวด้วย syringe
- การฉีด GC
- การใช้ syringe ฉีดตัวอย่างที่เป็นแก๊ส
- การดึงเศษท่อทองแดงที่หักคา tube fitting ออก
- การตั้งอุณหภูมิคอลัมน์ GC
- การติดตั้ง Integrator ให้กับ GC-8A เพื่อวัด CO2
- การเตรียมคอลัมน์ GC ก่อนการใช้งาน
- การปรับความสูงพีค GC
- การวัดปริมาณไฮโดรเจนด้วย GC-TCD
- ข้อสังเกตเกี่ยวกับ FPD (ตอนที่ ๒)
- ข้อสังเกตเกี่ยวกับ FPD (Flame Photometric Detector)
- โครมาโทกราฟแยกสารได้อย่างไร
- ชนิดคอลัมน์ GC
- ตรวจโครมาโทแกรม ก่อนอ่านต้วเลข
- ตัวอย่างการแยกพีค GC ที่ไม่เหมาะสม
- ทำความรู้จักกับ Chromatogram ตอนที่ ๑
- ทำความรู้จักกับ Chromatogram ตอนที่ ๒
- ทำความรู้จักกับ Chromatogram ตอนที่ ๓
- ทำความรู้จักกับ Chromatogram ตอนที่ ๔
- ทำความรู้จักกับ Chromatogram ตอนที่ ๕
- ทำความรู้จักกับ Chromatogram ตอนที่ ๖
- ทำไมพีคจึงลากหาง
- ผลกระทบของน้ำที่มีต่อการวัดคาร์บอนไดออกไซด์ ตอนที่ ๑
- ผลกระทบของน้ำที่มีต่อการวัดคาร์บอนไดออกไซด์ ตอนที่ ๒
- ผลกระทบของน้ำที่มีต่อการวัดคาร์บอนไดออกไซด์ ตอนที่ ๓
- พีคที่เกิดจากปฏิกิริยาระหว่างน้ำกับ packing ในคอลัมน์ GC
- พีคประหลาดจากการใช้อากาศน้อยไปหน่อย
- มันไม่เท่ากันนะ
- เมื่อความแรงของพีค GC ลดลง
- เมื่อจุดไฟ FID ไม่ได้
- เมื่อพีค GC หายไป
- เมื่อพีค GC ออกมาผิดเวลา
- เมื่อพีค GC ออกมาผิดเวลา(อีกแล้ว)
- เมื่อเพิ่มความดันอากาศให้กับ FID ไม่ได้
- เมื่อ GC ถ่านหมด
- เมื่อ GC มีพีคประหลาด
- ลากให้ผ่านหรือไม่ให้ผ่าน
- สัญญาณจาก carrier gas รั่วผ่าน septum
- สารพัดปัญหา GC
- สิ่งปนเปื้อนในน้ำ DI
- สิ่งปนเปื้อนในน้ำ DI (ตอนที่ ๒)
- Chromatograph principles and practices
- Flame Ionisation Detector
- GC-2014 ECD & PDD ตอนที่ ๗ ข้อสังเกตเกี่ยวกับ ECD (Electron Capture Detector)
- GC detector
- GC - peak fitting ตอนที่ ๑ การหาพื้นที่พีคที่เหลื่อมทับ
- GC principle
- LC detector
- LC principle
- MO ตอบคำถาม การแยกพีค GC ด้วยโปรแกรม fityk
- MO ตอบคำถาม สารพัดปัญหาโครมาโทแกรม
- Relative Response Factors (RRF) ของสารอินทรีย์ กับ Flame Ionisation Detector (FID)
- Thermal Conductivity Detector
- Thermal Conductivity Detector ภาค 2
สินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items - DUI)
- การก่อการร้ายด้วยแก๊สซาริน (Sarin) ในรถไฟใต้ดินกรุงโตเกียว MO Memoir : Friday 6 September 2567
- การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ตัวอย่างที่ ๑๐ ฟังก์ชันเข้ารหัสรีโมทเครื่องปรับอากาศ
- การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ตัวอย่างที่ ๑๑ License key
- การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ตัวอย่างที่ ๑๒ สารเคมี (Chemicals)
- การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ตัวอย่างที่ ๑๓ ไม่ตรงตามตัวอักษร (สารเคมี)
- การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ตัวอย่างที่ ๑๔ ไม่ตรงตามตัวอักษร (Heat exchanger)
- การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ตัวอย่างที่ ๑๕ Sony PlayStation
- การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ตัวอย่างที่ ๑๖ เส้นใยคาร์บอน (Carbon fibre)
- การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ตัวอย่างที่ ๑๗ The Red Team : Centrifugal separator
- การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ตัวอย่างที่ ๑๘ The Blue Team : Spray drying equipment
- การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ตัวอย่างที่ ๑๙ เครื่องสลายนิ่วในไตด้วยคลื่นกระแทก (Lithotripter)
- การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ตัวอย่างที่ ๑ ตัวเก็บประจุ (Capacitor)
- การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ตัวอย่างที่ ๒๐ เรซินแลกเปลี่ยนไอออน (Ion-exchange resin)
- การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ตัวอย่างที่ ๒๑ ไม่ตรงตามตัวอักษร (Aluminium tube)
- การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ตัวอย่างที่ ๒๒ เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า (Defibrillator)
- การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ตัวอย่างที่ ๒๓ เครื่องยนต์ดีเซล
- การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ตัวอย่างที่ ๒ เครื่องแลกเปลี่ยนความร้อน (Heat Exchanger)
- การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ตัวอย่างที่ ๓ เครื่องแปลงความถี่ไฟฟ้า (Frequency Changer)
- การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ตัวอย่างที่ ๔ อุปกรณ์เข้ารหัส (Encoding Device)
- การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ตัวอย่างที่ ๕ Insulated Gate Bipolar Transistor (IGBT)
- การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ตัวอย่างที่ ๖ Toshiba-Kongsberg Incident
- การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ตัวอย่างที่ ๗ รายงานผลการทดสอบอุปกรณ์
- การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ตัวอย่างที่ ๘ Drawing อุปกรณ์
- การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ตัวอย่างที่ ๙ ซอร์ฟแวร์ควบคุมการทำงานอุปกรณ์
- เครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนสำหรับเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์
- แคลเซียม, แมกนีเซียม และบิสมัท กับการผลิตอาวุธทำลายล้างสูง
- สินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items : DUI) ตอนที่ ๑
- สินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items : DUI) ตอนที่ ๑๐
- สินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items : DUI) ตอนที่ ๒
- สินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items : DUI) ตอนที่ ๓
- สินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items : DUI) ตอนที่ ๔
- สินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items : DUI) ตอนที่ ๕
- สินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items : DUI) ตอนที่ ๖
- สินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items : DUI) ตอนที่ ๗
- สินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items : DUI) ตอนที่ ๘
- สินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items : DUI) ตอนที่ ๙
API 2000 Venting Atmospheric and Low-Pressure Storage Tanks
- API 2000 Venting Atmospheric and Low-Pressure Storage Tanks (ตอนที่ ๑)
- API 2000 Venting Atmospheric and Low-Pressure Storage Tanks (ตอนที่ ๑๐)
- API 2000 Venting Atmospheric and Low-Pressure Storage Tanks (ตอนที่ ๑๑)
- API 2000 Venting Atmospheric and Low-Pressure Storage Tanks (ตอนที่ ๑๒)
- API 2000 Venting Atmospheric and Low-Pressure Storage Tanks (ตอนที่ ๑๓)
- API 2000 Venting Atmospheric and Low-Pressure Storage Tanks (ตอนที่ ๑๔)
- API 2000 Venting Atmospheric and Low-Pressure Storage Tanks (ตอนที่ ๑๕)
- API 2000 Venting Atmospheric and Low-Pressure Storage Tanks (ตอนที่ ๒)
- API 2000 Venting Atmospheric and Low-Pressure Storage Tanks (ตอนที่ ๓)
- API 2000 Venting Atmospheric and Low-Pressure Storage Tanks (ตอนที่ ๔)
- API 2000 Venting Atmospheric and Low-Pressure Storage Tanks (ตอนที่ ๕)
- API 2000 Venting Atmospheric and Low-Pressure Storage Tanks (ตอนที่ ๖)
- API 2000 Venting Atmospheric and Low-Pressure Storage Tanks (ตอนที่ ๗)
- API 2000 Venting Atmospheric and Low-Pressure Storage Tanks (ตอนที่ ๘)
- API 2000 Venting Atmospheric and Low-Pressure Storage Tanks (ตอนที่ ๙)
โน๊ตเพลง
- "กำลังใจ" และ "ถึงเพื่อน"
- "ใกล้รุ่ง" และ "อาทิตย์อับแสง"
- "คนดีไม่มีวันตาย" "หนึ่งในร้อย (A Major) และ "น้ำตาแสงใต้ (A Major)"
- "ความฝันอันสูงสุด" และ "ยามเย็น"
- "จงรัก" และ "ความรักไม่รู้จบ"
- "ฉันยังคอย" และ "ดุจบิดามารดร"
- "ชาวดง" และ "ชุมนุมลูกเสือไทย"
- "ตัดใจไม่ลง" และ "ลาสาวแม่กลอง"
- "เติมใจให้กัน" และ "HOME"
- "แต่ปางก่อน" "ความรักไม่รู้จบ" "ไฟเสน่หา" และ "แสนรัก"
- "ทะเลใจ" "วิมานดิน" และ "เพียงแค่ใจเรารักกัน"
- "ที่สุดของหัวใจ" "รักล้นใจ" และ "รักในซีเมเจอร์"
- "ธรณีกรรแสง" และ "Blowin' in the wind"
- "นางฟ้าจำแลง" "อุษาสวาท" และ "หนี้รัก"
- "แผ่นดินของเรา" และ "แสงเทียน"
- "พรปีใหม่" และ "สายฝน"
- "พี่ชายที่แสนดี" "หลับตา" และ "หากรู้สักนิด"
- เพลงของโรงเรียนเซนต์คาเบรียล
- "มหาจุฬาลงกรณ์" "ยูงทอง" และ "ลาภูพิงค์"
- "ยังจำไว้" "บทเรียนสอนใจ" และ "ความในใจ"
- "ร่มจามจุรี" และ "เงาไม้"
- "ลมหนาว" และ "ชะตาชีวิต"
- "ลองรัก" และ "วอลซ์นาวี"
- "ลาแล้วจามจุรี"
- "วันเวลา" และ "โลกทั้งใบให้นายคนเดียว"
- "วิหคเหินลม" และ "พรานทะเล"
- "สายชล" และ "เธอ"
- "สายใย" และ "ความรัก"
- "สายลม" และ "ไกลกังวล"
- "สายลมเหนือ" และ "เดียวดายกลางสายลม"
- "หน้าที่ทหารเรือ" และ "ทหารพระนเรศวร"
- "หนึ่งในร้อย" และ "น้ำตาแสงใต้"
- "หากันจนเจอ" และ "ลมหายใจของกันและกัน"