วันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2554

GC-2014 FPD กับระบบ DeNOx ตอนที่ ๑ ที่มาที่ไปของปัญหา MO Memoir : Friday 4 March 2554

เนื้อหาในเอกสารฉบับนี้ (และที่จะออกตามมาในหัวข้อเดียวกัน) เป็นการบันทึกการแก้ปัญหาการติดตั้งเครื่อง Shimadzu GC-2014 FPD ซึ่งใช้วัด SO2 และ SO3 เข้ากับระบบเครื่องปฏิกรณ์ DeNOx และจะเป็นการบันทึกอีเมล์ฉบับที่ส่งถึงสาวน้อย ๑๕๐ เซนติเมตรในวันอังคารที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๔ เอาไว้ด้วย


ผมเขียนเรื่องเกี่ยวกับ GC-2014 FPD (ที่เราได้รับมาในการทำวิจัย DeNOx เพื่อไว้วัดแก๊ส SO2 และ SO3) ครั้งแรกไว้ใน Memoir ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑๗๑ วันอาทิตย์ที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๓ เรื่องคอลัมน์ GC ก่อนการใช้งาน ดังนั้นถ้านับถึงสัปดาห์นี้ก็เป็นเวลาร่วม ๙ เดือนแล้วที่เรายังไม่สามารถนำเครื่องดังกล่าวมาใช้งาน แต่จากความพยายามในช่วงที่ผ่านมาคาดว่าเราน่าจะสามารถนำเครื่องดังกล่าวมาใช้งานได้ภายในก่อนสิ้นเดือนนี้

สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาดังกล่าวจะพบว่า ในกรณีนี้ต้นตอของปัญหานั้นไม่ได้จำกัดอยู่ที่ตัวเครื่อง GC แต่ยังครอบคลุมไปถึงระบบจ่ายแก๊สเข้าทำปฏิกิริยาด้วย ซึ่งจัดว่าขอบเขตของปัญหานั้นกว้างกว่าที่คาดคิดไว้แต่แรก ทำให้ในช่วงแรก ๆ นั้นเมื่อเราเริ่มตรวจสอบการทำงานต่าง ๆ ของเครื่อง GC และระบบที่เกี่ยวข้อง เราจึงไม่สามารถระบุได้ว่าต้นตอของปัญหามาจากแหล่งใด ทำให้เราต้องขยายขอบเขตการตรวจสอบให้กว้างออกไปอีก จนในที่สุดก็คิดว่าเราพอจะเข้าใจสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาแล้ว

เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนของเรื่องที่เกี่ยวข้อง จึงจะขอเล่าที่มาที่ไปก่อนเป็นข้อ ๆ ไป


๑. เรื่องของปัญหามันเริ่มจากการที่เราทำการทดสอบ GC-2014 และพบว่ามันสามารถตรวจวัด SO2 ได้ถ้าหากว่าเราเอาแก๊สผสม (ที่มี SO2 ผสมอยู่ที่ความเข้มข้น 1% หรือ 10000 ppm) จากท่อแก๊สฉีดตรงเข้าไปยัง sampling valve ของเครื่อง

๒. แต่เมื่อนำเอาตัวเครื่อง GC-2014 ไปต่อ on line เข้ากับทางออกของแก๊สจาก reactor และปรับความเข้มข้นของ SO2 ในแก๊สผสมให้อยู่ในช่วง 10-30 ppm (ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัทต้องการศึกษา) เรากลับพบว่าตรวจไม่พบ SO2 ทั้ง ๆ ที่ mass flow controller ตัวที่ควบคุมการไหลของ SO2 ยังทำงานอยู่ (โดยตัวเลขบนหน้าจอก็นิ่งซะด้วย) และผลการทดลองการทำปฏิกิริยา DeNOx ก็แสดงให้เห็นว่ามี SO2 ไหลเข้าไปในระบบ เพราะผลการทดลองระหว่างการไม่ผสมกับการผสม SO2 เข้ากับแก๊สผสมที่เป็นสารตั้งต้นนั้น แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงค่า conversion อย่างเด่นชัดเมื่อผสม SO2 เข้าไปในแก๊สผสมที่เป็นสารตั้งต้น

๓. แต่ถ้าปรับความเข้มข้นของ SO2 ในแก๊สผสมให้สูงขึ้นไป (เช่นที่ระดับ 100 ppm) หรือมากกว่า เครื่อง GCกลับสามารถตรวจพบการมีอยู่ของ SO2 โดยที่ให้พีคที่มีขนาดใหญ่ออกมา

๔. เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ผมไม่ค่อยชอบใจนักตรงพฤติกรรมของ detector เพราะว่าโดยปรกติแล้วการทำงานของ detector นั้น ถ้าเราค่อย ๆ ลดความเข้มข้นของสารที่ฉีดให้ต่ำลง สัญญาณจาก detector ก็จะค่อย ๆ ลดต่ำลงจนถึงระดับหนึ่งที่เราตรวจไม่พบ แต่ในกรณีนี้เราพบว่าเมื่อเราลดความเข้มข้นของ SO2 ในแก๊สผสมให้ลดต่ำลง (โดยการลดอัตราการไหลของแก๊ส SO2) พีค SO2 ก็เล็กลง (แต่ก็ให้สัญญาณที่แรงอยู่) แต่พอลดความเข้มข้น SO2 ลงถึงระดับหนึ่งพบว่าอยู่ดี ๆ พีคก็หายไปดื้อ ๆ กระทันหัน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือสัญญาณของ detector ไม่ลดลงอย่างต่อเนื่องจนเป็นศูนย์ (ดังรูปที่ ๑ ซ้าย) แต่อยู่ ๆ ก็หายไปเลย (ดังรูปที่ ๑ ขวา)


รูปที่ ๑ ความสัมพันธ์ระหว่างความแรงของสัญญาณจาก detector เมื่อฉีด SO2 ที่ความเข้มข้นต่าง ๆ กัน (ซ้าย) สิ่งที่คาดหวังว่าจะได้เห็น (ขวา) สิ่งที่เกิดขึ้นจริง

๕. แต่จะว่าไปแล้วเมื่อลดความเข้มข้น SO2 ให้ต่ำลงจนพบว่าสัญญาณจาก detector เป็นศูนย์นั้น ก็พบว่ามีบางครั้งเหมือนกันที่ตรวจพบ SO2 ในแก๊สผสม แต่แม้จะตรวจพบ SO2 ก็พบว่ายังมีปัญหาตรงที่ขนาดของพีคนั้นไม่สามารถทำซ้ำได้ แต่โดยรวมแล้วโอกาสตรวจไม่พบนั้นสูงกว่าโอกาสตรวจพบ

๖. เหตุการณ์นี้ทำให้สงสัยว่าเป็นพฤติกรรมของ detector หรือเปล่า ที่การลดลงของสัญญาณเป็นเช่นนี้ (กล่าวคือไม่ลดลงอย่างต่อเนื่องจนเป็นศูนย์เมื่อความเข้มข้นของ SO2 ลดลงดังแสดงในรูปที่ ๑ ขวา)

๗. ดังนั้นในช่วงแรกจึงได้ให้สาวน้อย ๑๕๐ เซนติเมตรไปทำการทดลองปรับแต่งการทำงานของ detector โดยทดลองป้อนแก๊ส SO2 ในระดับที่เครื่องตรวจวัดได้ แล้วปรับอัตราส่วนระหว่างอากาศและไฮโดรเจน (แก๊สสำหรับจุดไฟ) เพื่อให้ได้สัญญาณที่มีความแรงมากที่สุดก่อน เมื่อได้อัตราส่วนผสมระหว่างอากาศและไฮโดรเจนที่เหมาะสมแล้ว ก็กลับไปทดลองวัด SO2 ที่ความเข้มข้นต่ำ ๆ อีกครั้ง ซึ่งก็พบว่ายังเกิดปัญหาเหมือนเดิม

๘. ประเด็นถัดมาที่นำมาพิจารณาคือเป็นไปได้ไหมว่า ที่ความเข้มข้น SO2 ต่ำ ๆ นั้น เมื่อแก๊สตัวอย่างที่มี SO2 ผสมอยู่ไหลเข้าไปในคอลัมน์ แก๊สตัวอย่างพอผสมกับ carrier gas แล้วทำให้ความเข้มข้น SO2 เจือจางลงไปอีก จึงทำให้ detector ตรวจวัดไม่ได้ เมื่อมองจากมุมนี้จึงทำให้คิดว่าน่าจะเพิ่มขนาดตัวอย่างที่ทำการฉีดเข้าเครื่อง

๙. Sampling loop ที่ติดตั้งมากับตัวเครื่องเมื่อได้รับมานั้นมีขนาด 0.5 ml จึงได้ให้ทางบริษัทมาทำการเปลี่ยนให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งทางบริษัทก็ได้ทำการติดตั้งขนาด 2.0 ml ให้

๑๐. เมื่อทำการเปลี่ยน sampling loop แล้วก็ได้ทำการทดลองต่อเครื่อง GC on-line เข้ากับระบบ DeNOx และทำการวัด SO2 ที่ความเข้มข้นต่าง ๆ กันใหม่ ซึ่งแม้จะพบว่ามีการตรวจพบ SO2 "บ่อยครั้ง" มากกว่าครั้งเมื่อใช้ sampling loop ขนาด 0.5 ml (โอกาสตรวจพบเพิ่มมากขึ้น) แต่ก็มีปัญหาเรื่องการวัดที่บางครั้งก็ตรวจไม่พบ และครั้งที่ตรวจพบนั้นก็ได้ "พีค" ที่มีขนาดเอาแน่เอานอนไม่ได้ บางครั้งมีขนาดใหญ่ บางครั้งก็เล็ก (ตอนนี้ของเรียกว่า "พีค" ไปก่อนนะ แล้วตอนหลังจะอธิบายให้เห็นว่าสิ่งที่คิดว่าเป็น "พีค" ในขณะนี้มันไม่ใช่พีค)

๑๑. ตอนนี้ผมก็เริ่มสงสัยแล้วว่าปัญหาจะอยู่ที่ mass flow controller ตัวที่ควบคุมการไหลของ SO2 หรือเปล่า คือสงสัยว่า mass flow controller ทำงานแบบไหน คือ

(ก) วาล์วเป็นวาล์วเป็นแบบต่อเนื่อง กล่าวคือเปิดวาล์วจะเปิดกว้างหรือแคบตามอัตราการไหลที่ต้องการ ถ้าต้องการอัตราการไหลสูง ตัววาล์วก็จะเลื่อนขึ้นเพื่อให้ช่องทางการไหลกว้างขึ้น และเมื่อต้องการอัตราการไหลต่ำ ตัววาล์วก็จะเลื่อนลงเพื่อให้ช่องทางการไหลแคบลง หรือเป็นแบบ

(ข) เปิดเป็นจังหวะ คือวาล์วจะทำงานโดยอยู่ที่ตำแหน่งเปิดกว้างสุด (100%) หรือปิดสนิท (0%) การควบคุมอัตราการไหลทำโดยการตั้งอัตราส่วนที่จะให้วาล์วอยู่ในตำแหน่งเปิด-และตำแหน่งปิดในช่วงเวลาที่กำหนด เช่นสมมุติว่าถ้าต้องการอัตราการไหล 20% ในช่วงเวลา 5 วินาทีวาล์วก็จะเปิดกว้าง 1 วินาทีและปิดสนิท 4 วินาที เป็นต้น (ตัวเลขนี้ผมยกขึ้นมาลอย ๆ เพื่อให้มองเห็นภาพเท่านั้นนะ อย่าไปคิดว่าตัววาล์วทำงานจริงแบบนี้)

ตรงนี้ขอกล่าวไว้ก่อนว่า mass flow controller ตัวที่ควบคุมการไหลของ SO2 นั้นควบคุมการไหลในช่วง 0-10 ml/min (ตัวเลขหน้าจอปรับได้ตั้งแต่ 0.00 ไปจนถึง 10.00) แต่ในการใช้งานนั้นเราให้แก๊สไหลไม่ถึง 1 ml/min (ตัวเลขหน้าจออยู่ในช่วงประมาณ 0.20 ถึง 0.50) ซึ่งถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับขนาดของตัวเครื่อง

๑๒. จากข้อสงสัยในข้อ ๑๑. ผมจึงได้ให้สาวน้อย ๑๕๐ เซนติเมตรไปตรวจดูรูปแบบการไหลของแก๊ส โดยทำการต่อ bubble flow meter เข้ากับ mass flow controller แล้วดูพฤติกรรมการไหลของฟองสบู่ ซึ่งก็พบว่าฟองสบู่เคลื่อนตัวได้อย่างต่อเนื่องไม่มีการสะดุด นั่นแสดงว่าการทำงานของ mass flow controller นั้นควรเป็นแบบต่อเนื่อง ไม่ใช่แบบเปิดเป็นจังหวะ เพราะถ้าเป็นแบบเปิดเป็นจังหวะแล้ว เราควรจะเห็นฟองสบู่เคลื่อนที่สลับกับการหยุด ตามจังหวะการเปิด-ปิดของวาล์ว (ตอนที่เขามารายงานผม ผมก็ยังไม่เชื่อ ต้องขอไปดูด้วยตาตัวเอง)


ตอนนี้ดูเหมือนว่าจะเข้าตาจนแล้ว แต่จู่ ๆ สมมุติฐานใหม่ก็ปรากฏขึ้นมา กล่าวคือเป็นไปได้ไหมว่าที่เราเห็นตัวเลขบนหน้าจอ mass flow controller นิ่งนั้น เป็นเพราะมีแก๊ส SO2 ไหลผ่าน mass flow controller จริงด้วยอัตราการไหลที่คงที่ (หรือค่อนข้างจะคงที่) แต่แก๊ส SO2 ที่ไหลผ่านออกมาแล้วนั้นไม่ไหลเข้าไปผสมกับแก๊สไนโตรเจนในท่อการไหลหลักของระบบ

เรื่องราวจะเป็นอย่างไรโปรดติดตามตอนต่อไป คืนนี้ขอไปพักผ่อนนอนหลับก่อน

ไม่มีความคิดเห็น: