วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2554

การทำวิทยานิพนธ์ภาคปฏิบัติ ตอนที่ ๑๗ คีมปอกสายไฟ MO Memoir : Thursday 24 March 2554

คีมปอกสายไฟเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การทำงานต่าง ๆ เกี่ยวกับสายไฟฟ้าทำได้สะดวกขึ้น คีมดังกล่าวออกแบบมาเพื่อการปอกฉนวนไฟฟ้าที่หุ้มลวดทองแดงอยู่ โดยจะตัดเฉพาะส่วนที่เป็นฉนวนพลาสติกโดยไม่ตัดเส้นลวดทองแดง และยังใช้สำหรับการตัดสายไฟ และใช้ในการย้ำขั้วหางปลาให้ยึดติดกับปลายสายไฟฟ้าด้วย

เมื่อเช้าวันอังคารที่ ๒๒ ที่ผ่านมานั้น เมื่อเราตรวจพบแล้วว่าเทอร์โมคับเปิลตัวเดิมที่ใช้กับ autoclave นั้นคงมีปัญหา ก็เลยต้องเปลี่ยนเทอร์โมคับเปิลตัวใหม่ ซึ่งงานนี้นิสิตรหัส ๕๓ ก็ได้รับไปดำเนินการ ซึ่งต้องนำเทอร์โมคับเปิลตัวใหม่มาใส่ขั้วหางปลาก่อน เพื่อที่จะสามารถต่อเข้ากับขั้วไฟฟ้าของ temperature controller ได้แน่นหนา

จริง ๆ แล้วงานนี้มันก็ไม่น่าจะยากอะไร เพราะขั้วสายไฟของเทอร์โมคับเปิลเขาปอกฉนวนเอาไว้ให้แล้ว สิ่งที่ต้องทำก็คือไปเอาขั้วหางปลามาสวมแล้วก็ใช้คีมปอกสายไฟนั้นย้ำขั้วหางปลาให้จับกับสายไฟให้แน่นเท่านั้นเอง การย้ำขั้วหางปลาก็ทำไม่ยาก เพราะตัวคีมมีร่องอยู่แล้วสำหรับขั้วหางปลาขนาดต่าง ๆ เพียงแค่เอาขั้วหางปลาที่สอดสายไฟเรียบร้อยแล้วไปวางในร่องที่มีขนาดที่เหมาะสมของคีมปอกสายไฟ และทำการบีบเท่านั้นเอง


แต่พอเอาเข้าจริง ๆ ปรากฏว่าแม้ว่าพวกเขาจะใช้แรงบีบเต็มที่แล้ว ก็ยังไม่สามารถย้ำขั้วหางปลาได้


รูปที่ ๑ คีมย้ำขั้วหางปลา (ซ้าย) คืออันที่มีปัญหา ส่วน (ขวา) คืออันที่ใช้งานได้ดี


ผมเห็นเขาทำไม่ได้สักที ก็เลยขอลองทำดูบ้าง ปรากฏว่าก็ทำไม่ได้เหมือนกัน ก็เลยไปหยิบคีมปอกสายไฟอีกอันหนึ่งมาใช้แทน ปรากฏว่าสามารถทำการย้ำขั้วหางปลาได้

คีมย้ำขั้วหางปลาที่กลุ่มนิสิตรหัส ๕๓ นำมาใช้ในครั้งแรกนั้นคือตัวด้านซ้ายในรูปที่ ๑ ขนาดของขั้วหางปลาก็แสดงไว้ในรูปแล้ว ซึ่งขั้วหางปลาขนาดในรูปจะวางได้พอดีกับร่องที่วงสีแดงในรูป

ส่วนคีมย้ำขั้วหางปลาที่ผมไปหยิบมาใหม่คือตัวทางด้านขวาของรูปที่ ๑ ซึ่งขั้วหางปลาขนาดดังกล่าวจะใส่ได้พอดีกับร่องที่วงสีเหลืองเอาไว้

สังเกตเห็นไหมว่าตำแหน่งของร่องสำหรับบีบขั้วหางปลาขนาดต่างกันนั้น วางในตำแหน่งที่แตกต่างกัน


กล่าวคือคีมตัวด้านซ้ายจะวางตำแหน่งร่องสำหรับขั้วหางปลาตัวใหญ่ไว้ด้านนอก (ห่างจากจุดหมุน) และวางตำแหน่งร่องสำหรับขั้วหางปลาตัวเล็กไว้ข้างใน (ใกล้จุดหมุน)

ส่วนคีมตัวด้านขวานั้นจะวางตำแหน่งกลับกัน กล่าวคือวางตำแหน่งร่องสำหรับขั้วหางปลาตัวใหญ่ไว้ด้านใน (ใกล้จุดหมุน) และวางตำแหน่งร่องสำหรับขั้วหางปลาตัวเล็กไว้ข้างนอก (หางจากจุดหมุน)


ขั้วหางปลาตัวใหญ่นั้นจะทำจากโลหะที่หนากว่าขั้วหางปลาตัวเล็ก ดังนั้นในการย้ำขั้วหางปลาตัวใหญ่จะต้องใช้แรงมากกว่าการย้ำขั้วหางปลาตัวที่เล็กกว่า

เพื่อที่จะทำการผ่อนแรงที่ใช้ในการบีบ การวางตำแหน่งร่องสำหรับบีบขั้วหางปลาตัวใหญ่ให้อยู่ใกล้กับจุดหมุน (วางไว้ข้างในดังคีมตัวขวา) จะช่วยผ่อนแรงได้มากกว่าการวางตำแหน่งร่องดังกล่าวให้ห่างจากจุดหมุน (วางไว้ข้างนอกดังคีมตัวซ้าย)


เรื่องนี้ถือว่าเป็นบทเรียนบทหนึ่งสำหรับการเลือกซื้อเครื่องมือช่างในครั้งต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: