วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ตรงตามแบบ (ตอนที่ ๓) MO Memoir : Monday 25 June 2555


กติกาการใช้งบประมาณของหน่วยราชการจะดูแปลก ๆ สำหรับคนที่ทำงานบริษัททั่วไป กล่าวคือจะจัดซื้อจัดหาอะไรสักอย่างก็ต้องตั้งงบไว้ล่วงหน้าร่วมปี ปัญหาที่ตามมาก็คือราคาสินค้านั้นมักจะปรับเปลี่ยนรวดเร็ว (เน้นไปในทางเพิ่มสูงขึ้น) จนทำให้การตั้งราคานั้นมักจะต้องตั้งสูงเผื่อเอาไว้ก่อน

ปีงบประมาณของทางราชการนั้นเริ่มในเดือนตุลาคม อย่างเช่นเดือนตุลาคม ๒๕๕๕ นี้ก็จะถือเป็นการเริ่มปีงบประมาณ ๒๕๕๖ และก่อนจะนำไปใช้ก็ต้องผ่านการเห็นชอบของรัฐสภาเสียก่อน และก่อนจะนำเรื่องเข้ารัฐสภาก็ต้องมีการชงเรื่องจากหน่วยงานต่าง ๆ ผ่านต้นสังกัดและไปฟาดฟันกันต่อที่สำนักงบประมาณว่าใครจะได้งบอะไรบ้าง เท่าไร นี่จึงเป็นสาเหตุให้ต้องใช้เวลากันร่วมปี

สมมุติว่าหน่วยราชการแห่งหนึ่งต้องการซื้อสินค้า ๒ ชนิด แต่ละชนิดราคา ๑๐๐,๐๐๐ บาท ก็ต้องทำเรื่องขอซื้อล่วงหน้าเอาไว้ร่วมปี โดยตั้งงบประมาณการจัดซื้อไว้รวม ๒๐๐,๐๐๐ บาท

ทีนี้สมมุติว่าพอถึงเวลาจัดซื้อจริง สินค้าตัวแรกราคาลดลงเหลือ ๘๐,๐๐๐ บาท ดังนั้นเมื่อจัดซื้อเสร็จก็จะมีเงินงบประมาณเหลือ ๒๐,๐๐๐ บาท แต่สินค้าตัวที่สองราคาปรับขึ้นเป็น ๑๐๐,๑๐๐ บาท ซึ่งสูงกว่างบประมาณ ๑๐๐ บาท หน่วยราชการหน่วยนั้นก็จะไม่สามารถจัดซื้อสินค้าตัวที่สองนี้ได้ เพราะราคาสูงกว่างบประมาณที่ตั้งเอาไว้ และไม่สามารถเอาเงินที่เหลือจากการซื้อสินค้าตัวแรกมาโป๊ะเพื่อซื้อสินค้าตัวที่สองนี้ได้ ผลก็คือหน่วยราชการดังกล่าวต้องส่งเงินจำนวน ๑๒๐,๐๐๐ บาทคืนสำนักงบประมาณ (๒๐,๐๐๐ บาทที่เหลือจากการซื้อสินค้าตัวแรก และ ๑๐๐,๐๐๐ บาทที่ทำเรื่องขอซื้อสินค้าตัวที่สองแต่ซื้อไม่ได้เพราะราคาจริงสูงกว่างบที่ขอ)

การที่ซื้อสินค้าในราคาที่ต่ำกว่างบประมาณที่ได้ขอไว้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะถูกมองว่าช่วยทางราชการประหยัดงบประมาณ แต่มักจะถูกมองว่าชอบของบประมาณสูงเกินจริงไปมาก ผลที่ตามมาก็คือเวลาของบประมาณใด ๆ อีกก็มักจะถูกเพ่งเล็งเอาไว้ว่าชอบของบสูงเกินจริง และควรถูกตัดงบ ด้วยเหตุนี้ถ้าเมื่อถึงเวลาจัดซื้อจริงแล้วพบว่าราคาของนั้นมันต่ำกว่างบที่ตั้งไว้ ก็มักจะทำการแทรกรายการต่าง ๆ (เช่นวัสดุสิ้นเปลือง ชิ้นส่วนซ่อมแซม หรือการประกัน) เข้าไปในข้อกำหนดครุภัณฑ์ที่ขอจัดซื้อด้วย เพื่อให้ราคารวมทั้งหมดของสินค้าที่ซื้อใกล้เคียง (แต่ไม่เกิน) งบประมาณที่ขอเอาไว้ และเหลือเศษเงินคืนคลังเพียงเล็กน้อย

ดังนั้นในแต่ละปีงบประมาณจะมีเงินเศษเหลือจากการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยราชการต่าง ๆ ส่งคืนคลัง เงินจำนวนดังกล่าวในแต่ละปีก็จะมากพอดู ดังนั้นถ้าหน่วยงานใดมีข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับงบประมาณที่เหลือในแต่ละปี ก็อาจทำเรื่องขอใช้งบประมาณที่เหลือเหล่านี้ได้ แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องรีบหาทางใช้จ่ายในปีงบประมาณนั้นด้วย หรือถ้าเป็นงานใหญ่ ๆ เช่นการก่อสร้างก็ต้องหาเรื่องกันเงินเอาไว้จ่ายข้ามปี (ขอเงินงบประมาณปีนี้ แต่จะไปใช้ในปีงบประมาณถัดไป)

ตอนที่ผมกลับมาทำงานใหม่ ๆ ผู้ใหญ่ในหน่วยงานก็ได้เล่าให้ฟังถึงที่มาของอาคารใหม่ ๒ อาคาร (ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ทำงานของผมทั้งสองอาคาร) ว่าเงินค่าก่อสร้างก็ได้มาจากเงินงบประมาณที่เหลือในแต่ละปีนี้ ส่วนจริงเท็จเป็นอย่างไรนั้นผมก็ไม่มีข้อมูลยืนยันเหมือนกัน เพียงแต่ได้ยินคำบอกเล่าของผู้ใหญ่ที่เขามีส่วนในการกำหนดการใช้พื้นที่อาคารที่จะสร้างขึ้นมาใหม่ว่าจะให้หน่วยงานใดเข้าใช้งาน

จุดนี้จึงเป็นที่มาของเรื่อง "ตรงตามแบบ (ตอนที่ ๓)" นี้

เนื่องจากกว่าสำนักงบรู้ตัวเลขเงินงบประมาณที่เหลือจากจากหน่วยงานต่าง ๆ ก็มักจะเข้าใกล้สิ้นปีงบประมาณแล้ว ดังนั้นถ้าใครได้เงินก้อนนี้ไปใช้ก็ต้องรีบหาทางใช้ ถ้าเป็นการใช้เพื่อการจัดหาซื้อสิ่งของที่มีขายทั่วไปก็คงไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการกำหนดคุณลักษณะสิ่งของที่ต้องการซื้อเท่าใดนัก แต่ถ้าเป็นการสร้างอาคารล่ะก็ วุ่นทีเดียว เพราะต้องมีการกำหนดว่าจะสร้างอาคารดังกล่าวเพื่อกิจกรรมใด เพราะมันเกี่ยวพันถึงการออกแบบโครงสร้างอาคาร ทีนี้ปัญหามันเกิดขึ้นเมื่อมันไม่สามารถตกลงกันได้ว่าพื้นที่ส่วนไหนจะใช้ควรจะเอาไปใช้ประโยชน์ด้านใด ผู้ออกแบบก็เลยต้องออกแบบที่เป็น "กลาง ๆ" เอาไว้ก่อน

สิ่งที่ได้มาคืออาคารแรกเป็นอาคารสูง ๒๐ ชั้น แต่เนื่องจากตอนที่ต้องออกแบบนั้นไม่สามารถบอกได้ว่าชั้นไหนจะใช้ทำอะไร ผลที่ออกมาก็คือกลายเป็นอาคารที่ความสูงจากพื้นถึงเพดานของแต่ละชั้น (ที่ไม่ใช่ห้องประชุมใหญ่) สูงถึง ๔.๘๐ เมตร คือเผื่อเอาไว้ว่าจะมีคนเอาอุปกรณ์ทำแลปไปตั้งบนตึกนั้นด้วย มีการกำหนดให้เอาแลปเคมีพื้นฐานไปตั้งบนชั้น ๑๒ แต่อาคารดังกล่าวไม่ได้ออกแบบให้มีระบบท่อน้ำทิ้ง ระบบท่อน้ำดี และระบบสำหรับเดินท่อระบายอากาศของตู้ควัน แล้วมันจะตั้งแลปได้อย่างไร ผลสุดท้ายก็ใช้ตึกทั้งตึกในรูปแบบอาคารสำนักงาน แต่ละชั้นต้องไปตีฝ้าให้ต่ำลงมาอีกราว ๆ ๒ เมตร วิศวกรอาวุโสท่านหนึ่งบอกผมว่า ถ้าหากกำหนดตั้งแต่การออกแบบแล้วว่าจะให้ใช้อาคารในรูปแบบอาคารสำนักงานทั้งตึก ด้วยวงเงินค่าก่อสร้างเท่ากันและได้ตึกสูงเท่ากันนี้ จะได้พื้นที่ใช้สอยมากขึ้นอีก

อีกตึกหนึ่งเป็นตึกที่ออกแบบมาเพื่อเป็นห้องปฏิบัติการทั้งตึก แต่ก็ออกมาแปลก ๆ คือชั้น ๕ มีการเดินระบบท่อน้ำทิ้งเอาไว้ให้ แต่ไม่มีการเดินระบบท่อน้ำดีให้ ส่วนชั้น ๔ มีการเดินระบบท่อน้ำดีให้ แต่ไม่มีการเดินระบบท่อน้ำทิ้งให้

ชั้นที่ไม่มีระบบท่อน้ำดีแก้ปัญหาได้ไม่ยากเท่าใดนัก เพราะระบบน้ำดี (น้ำประปานั่นแหละ) มันมีแรงดัน สามารถเดินไต่ขึ้นผนังหรือเพดานไปยังส่วนต่าง ๆ ของชั้นอาคารได้ แต่ชั้นที่ไม่มีระบบท่อน้ำทิ้งจะแก้ปัญหายากกว่า เพราะการไหลของน้ำทิ้งต้องอาศัยแรงดึงดูดของโลก ดังนั้นมันต้องอยู่ที่พื้นเท่านั้น และมักจะต้องทำการเจาะพื้นเพื่อเดินท่อน้ำทิ้งใต้พื้น ซึ่งการทำดังกล่าวจะไปก่อปัญหาให้กับชั้นที่อยู่ข้างล่าง เพราะเขาอาจไม่ยอมให้ทำเพราะมันจะไปรกฝ้าเพดานชั้นล่าง และอ้างว่าจะก่อให้เกิดปัญหาการรั่วไหลตามมาด้วย

อาคารปฏิบัติการนี้มีบันไดหนีไฟอยู่ทางด้านนอกอาคารสองด้านด้วยกัน การมีบันไดหนีไฟอยู่ทางด้านนอกอาคารเนี่ยถ้าเป็นอาคารสูงเขาจะไม่นิยมทำกันเพราะมันจะทำให้อาคารดูไม่สวย ดังนั้นถ้าเป็นอาคารสูงก็มักจะสร้างบันไดหนีไฟเอาไว้ในอาคาร แต่บันไดหนีไฟที่อยู่ในอาคารจะเกิดปัญหาเรื่องควันไฟทำให้ไม่สามารถใช้เป็นทางหนีไฟได้ ดังนั้นถ้าเป็นบันไดหนีไฟที่อยู่ในอาคารแล้วจะต้องมีการปิดประตูทางหนีไฟให้สนิท และต้องมีระบบอัดอากาศเข้าไปในช่องทางหนีไฟเพื่อป้องกันไม่ให้ควันไฟรั่วเข้าไปข้างใน แต่ถ้าบันไดหนีไฟอยู่นอกอาคารแล้ว ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องควันไฟนี้ แต่จะไปมีปัญหาเรื่องน้ำฝนแทน เพราะมันจะโดนฝนสาดยามเมื่อฝนตก

เนื่องจากบันไดหนีไฟนั้นเป็นทางฉุกเฉินที่ไม่ต้องการให้ใครใช้เป็นทางขึ้นลง ยกเว้นแต่ใช้เป็นทางลงในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น ดังนั้นการสร้างบันไดหนีไฟจึงไม่จำเป็นต้องสร้างจนถึงพื้นล่างสุด โดยอาจสร้างลงมาถึงระดับชั้นสองหรือชั้นก่อนชั้นล่างสุดก็พอ ซึ่งเป็นระดับที่จะสามารถปีนหรือกระโดดลงไปได้ หรือไม่ก็มีการวางบันไดเอาไว้สำหรับให้พาดลงไปยามฉุกเฉิน

ชั้นล่างสุดของบันไดหนีไฟด้านหนึ่งของอาคารปฏิบัติการนี้ลงไปไม่ถึงชั้นล่างสุด (กันคนแอบใช้เป็นทางขึ้นลง) รั้วกันขอบเป็นกำแพงคอนกรีตทึบพร้อมกับเจาะรูระบายน้ำเล็ก ๆ เอาไว้

บันไดหนีไฟของอาคารปฏิบัติการหลังนี้มีปัญหาเรื่องการระบายน้ำฝน (ไม่รู้เหมือนกันว่าผ่านการตรวจรับมาได้อย่างไร) กล่าวคือรูระบายน้ำฝนที่อยู่ที่ผนังตามชั้นพักต่าง ๆ ของบันไดนั้นอยู่ "สูงกว่า" ระดับพื้น (ดูรูปที่ ๑) ดังนั้นเมื่อฝนตกลงมา น้ำฝนจะไม่สามารถระบายออกทางรูดังกล่าวได้ แต่จะไหลรวม ๆ กันลงมาตามขั้นบันได (เวลาฝนตกหนักจะเหมือนกับเป็นสายน้ำตกหลายชั้นเลย) ยิ่งชั้นที่อยู่ต่ำลงไปก็จะได้กระแสน้ำที่ไหลแรงขึ้นเรื่อย ๆ

รูปที่ ๑ ตำแหน่งรูระบายน้ำที่อยู่ที่ผนังทางเดินของชั้นพักแต่ละชั้น จะเห็นว่าอยู่สูงกว่าระดับพื้น ทำให้น้ำฝนระบายไม่ได้

ทีนี้พอเจอฝนตกหนักเป็นชั่วโมง น้ำฝนที่สาดเข้ามาทางบันไดหนีไฟชั้นบนไม่สามารถระบายออกได้ ก็ไหลลงตามขั้นบันไดสะสมรวมกันเรื่อย ๆ และมาสะสมอยู่ที่ชั้นล่างสุดกลายเป็นแอ่งน้ำชั่วคราวขนาดใหญ่ คราวใดที่ฝนตกหนักมาก ๆ ก็ถึงขึ้นล้นออกทางราวกั้นได้ หลักฐานที่เห็นก็คือคราบสกปรกที่เกิดจากระดับน้ำท่วมขัง (ดูรูปที่ ๒)

รูปที่ ๒ บันไดหนีไฟชั้นล่างสุด น้ำฝนที่ไหลลงมาตามบันไดหนีไฟจากชั้นต่าง ๆ จะไหลมารวมกันที่นี้ รวมทั้งขยะด้วย แต่เนื่องจากรูระบายน้ำมีขนาดเล็ก (รูในรูปนี้ไม่ใช่รูขนาดเดิมที่มากับอาคาร ซึ่งเล็กกว่านี้อีก - รูปที่ ๑) ทำให้น้ำฝนเกิดการสะสม จากคราบที่ปรากฏอยู่บนผนังจะเห็นว่าน้ำฝนนั้นสะสมจนถึงระดับขอบราวทางเดิน (ตรงลูกศรสีแดงชี้)

อันที่จริงปัญหานี้มันก็มองเห็นได้โดยที่ไม่ต้องรอให้มีฝนตกหนักก่อน แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นเพราะเหตุใด ก็คงต้องฝากให้ไปคาดเดากันเอาเองก็แล้วกัน