วันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ศาล อัยการ ตำรวจ กฤษฎีกา MO Memoir : Friday 8 June 2555


บทความนี้เขียนขึ้นตามความเข้าใจของตนเอง จากที่เรียนรู้มาจากการทำงานโดยผู้ใหญ่ท่านต่าง ๆ เล่าให้ฟังและจากการที่ได้ไปร่วมอบรมอยู่บ้าง 
 
ขอให้ผู้อ่านพึงใช้วิจารณญานของท่านเองในการอ่านด้วย

คดีฆ่าหั่นศพที่เกิดที่จุฬาเมื่อหลายปีที่แล้ว "อัยการ" สั่ง "ไม่ฟ้อง"
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า "ไม่มีสิทธิฟ้อง"
ในคดีนั้นทาง ญาติผู้เสียชีวิต และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่งฟ้องศาลเอง
สุดท้ายศาลฎีกาตัดสินให้จำเลยมีความผิด

เรามีสิทธิในฐานะผู้เสียหายที่จะฟ้องร้องต่อศาลโดยตรง สิทธิดังกล่าวมีไว้เผื่อในกรณีที่เจ้าพนักงานของรัฐละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือมีความเห็นต่าง หรือในกรณีที่เรารู้สึกว่าเราไม่ได้รับความเป็นธรรมจากฝ่ายบริหาร (ทั้งตำรวจและอัยการต่างอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายบริหาร)

การตีความตามกฎหมายว่าทำอย่างไรถูกหรืออย่างไรผิดนั้นเป็นหน้าที่ของศาล

"กฤษฎีกา" เป็นเพียง "ผู้ให้ความเห็นทางกฎหมาย" แก่หน่วยงานของรัฐ (หรือเรียกว่าทนายความของรัฐ" ก็ได้)

เวลาที่รัฐจะตัดสินใจอะไรแล้วไม่แน่ใจว่าจะทำได้ตามกฎหมายหรือไม่ก็สามารถที่จะถามไปยังกฤษฎีกาก่อนที่จะลงมือทำ ถ้ากฤษฎีกาบอกว่าทำได้ นั่นไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่รัฐจะทำไปนั้นเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย แต่เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย "ตามความเข้าใจของกฤษฎีกา"

ตัวอย่างเช่นเจ้าหน้าที่รัฐต้องการบอกเลิกจ้างงานเอกชนรายหนึ่งกลางคันโดยไม่จ่ายค่าทดแทน แต่ไม่แน่ใจว่าจะเป็นการเลิกจ้างที่เป็นไปตามสัญญาหรือไม่ ก็สามารถขอความเห็นไปยังกฤษฎีกาได้
ถ้ากฤษฎีกาบอกว่าสามารถทำได้ เจ้าหน้าที่รัฐก็จะบอกเลิกจ้างงานเอกชนรายนั้น

แต่ถ้าเอกชนรายนั้นเห็นว่าการบอกเลิกจ้างดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ก็ยัง "สามารถฟ้องร้องเจ้าหน้าที่รัฐนั้นได้" เพื่อขอความเป็นธรรมจากศาล

ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้รัฐก็จะต้องส่งกฤษฎีกามาทำหน้าที่เป็นทนายแก้ต่างให้กับเจ้าหน้าที่รัฐนั้น

ถ้าศาลตัดสินว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐนั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หน่วยงานนั้นของรัฐนั้นก็ต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับเอกชนรายนั้น (กฤษฎีกาไม่ได้เป็นคนจ่ายเงินค่าเสียหาย) แต่ตรงนี้ตัวหน่วยงานของเจ้าหน้าที่รัฐนั้น "ไม่ควร" จะไปเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐผู้นั้น เพราะเป็นการทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ทำในนามของหน่วยงานนั้น และการกระทำดังกล่าวก็ได้รับความเห็นชอบจากที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายของรัฐแล้วด้วย

แต่ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐผู้นั้น "ไม่ได้" ปรึกษากฤษฎีกาก่อนลงมือบอกเลิก เมื่อโดนเอกชนฟ้องร้องก็คงต้องไปหาทนายมาแก้ต่างเอง และถ้าแพ้คดีขึ้นมาก็มีสิทธิต้องชดใช้ค่าเสียหายเอง เผลอ ๆ จะโดนเล่นงานทางวินัยข้อหาทำงานบกพร่องต่อหน้าที่ด้วย (ตัดสินใจโดยพละการโดยไม่ปรึกษา ซึ่งส่งผลทำให้รัฐเสียหาย)

ศาลไม่ได้เป็นคนเขียนกฎหมาย ไม่ได้เป็นคนออกกฎหมาย รัฐสภาต่างหากเป็นคนทำ
ศาลทำหน้าที่พิจารณาตามเนื้อความในข้อกฎหมาย (ที่คนอื่นเป็นคนเขียน) เพื่อที่จะตัดสินว่าสิ่งใดถูกต้องตามกฎหมาย

เห็นผู้ที่เรียกตนเองว่านักวิชาการทางด้านกฎหมายและรัฐศาสตร์หลายรายออกมาบอกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งคือรัฐบาลประชาธิปไตย
ถ้าว่ากันตามนิยามนี้แสดงว่าพวกเขาเห็นว่า อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เป็น "นักประชาธิปไตย" ด้วย

ฮิตเลอร์ลงสมัครรับเลือกตั้งหลายครั้ง จนในที่สุดฮิตเลอร์ก็ได้ครองเสียงข้างมากในรัฐสภา

จากนั้นจึงใช้อำนาจในรัฐสภา "โดยอาศัยเสียงข้างมากในรัฐสภา" ในการออกกฎหมายกำจัดคู่แข่งทางการเมือง และออกกฎหมายมอบอำนาจทุกอย่างให้อยู่ในมือของฮิตเลอร์

กฎหมายต่าง ๆ นั้นเป็นกฎหมายที่ออกโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจาก "การเลือกตั้ง" และได้รับคะแนนเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภา

แต่ฮิตเลอร์กลับถูกตราหน้าว่าเป็น "เผด็จการ" ทั้ง ๆ ที่กระบวนการได้อำนาจทุกอย่างของเขานั้นได้มาจากรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย

นั่นแสดงว่ารัฐบาลไหนเป็นเผด็จการหรือไม่นั้นไม่ได้อยู่ตรงที่ต้องมาจากการปฏิวัติ รัฐบาลที่เข้ามาโดยการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยก็สามารถผันตัวเองให้กลายเป็นรัฐบาลเผด็จการได้ง่าย ๆ

รัฐบาลที่เป็นเผด็จการคือรัฐบาลที่ใช้ทั้งอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร (สองอำนาจนี้มันแยกจากกันไม่ได้ เพราะผู้ถือเสียงข้างมากในรัฐสภาก็เป็นผู้ที่ถืออำนาจบริหารด้วย) ในการ หาประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง จัดการกับคู่แข่งทางการเมืองหรือผู้ที่คิดเห็นต่าง ปิดกั้นการรับรู้ของประชาชน บิดเบือนข้อเท็จจริง ไม่ยินยอมให้มีและ/หรือทำลายระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ทำตัวอยู่เหนือกฎหมาย และพยายามเข้าไปมีอำนาจเหนือฝ่ายตุลาการ (เขามีอำนาจอยู่เหนือตำรวจและอัยการอยู่แล้ว)

ขอแนะนำให้ไปอ่านประวัติศาสตร์ประเทศเยอรมันช่วงก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ดูว่าฮิตเลอร์เข้ามามีอำนาจได้อย่างไร และผลสุดท้ายประเทศชาติลงเอยอย่างไร