วันศุกร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2557

ตักบาตรยังต้องมีหลักฐานยืนยัน MO Memoir : Friday 12 September 2557


ผมมองว่าชีวิตการเรียนระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยนั้นอาจเรียกได้ว่าประกอบด้วยการเรียนรู้ ๒ รูปแบบที่ดำเนินไปด้วยกัน อย่างแรกคือการเรียนตามหลักสูตรสาขาวิชาที่ตัวเองเลือกเรียน ซึ่งเป็นการเรียนในห้องเรียนหรือเป็นการเรียนนอกห้องเรียนตามข้อบังคับของหลักสูตรที่มีการกำหนดเอาไว้ล่วงหน้า ผู้ที่ผ่านการเรียนรู้ในส่วนนี้มีความสามารถในระดับไหนนั้นจะมีหลักฐานแสดงที่เรียกว่า "ใบรับรองผลการศึกษา" หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "Transcript"
  
รูปแบบการเรียนรู้อย่างที่สองคือการเรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่น ซึ่งเป็นการเรียนรู้ผ่านทางการทำกิจกรรม ผมมักจะบอกกับนิสิตเสมอว่า การที่ตารางสอนของพวกคุณที่มีเวลาว่างนั้นก็เพื่อเปิดโอกาสให้พวกคุณมีเวลาไปทำกิจกรรมเสริมนอกเหนือการเรียนในห้องเรียน เป็นการฝึกการทำงานร่วมกับผู้อื่น และเป็นสิ่งที่ควรจะต้องปฏิบัติ แม้ว่ามันจะไม่เขียนเอาไว้ว่าเป็นข้อบังคับในหลักสูตรก็ตาม

สมัยที่ผมเรียนนั้น ผมเห็นว่ากิจกรรมเป็นสิ่งที่ช่วยเปิดโลกให้กว้างออกไป จากที่เคยรู้จักกันเฉพาะเพื่อนฝูงที่มาจากโรงเรียนเดียวกัน ทำให้ได้รู้จักกับผู้อื่นที่มาจากหลากหลายส่วนของประเทศ หลากหลายมุมมองความคิด และพฤติกรรม ได้เรียนรู้อะไรต่อมิอะไรหลายต่อหลายอย่างที่ไม่มีการสอนในสาขาวิชาที่ผมเลือกเรียน สิ่งที่ได้ไปก็คือประสบการณ์ติดตัวสำหรับเอาไว้ใช้ในการทำงานเมื่อสำเร็จการศึกษา ถ้าจะถามผมว่าตอนเรียนหนังสือนั้นเคยทำกิจกรรมอะไรบ้างก็สามารถบอกได้ แต่ถ้าตอนนี้ใครมาขอหลักฐานที่เป็นวัตถุที่จับต้องได้มายืนยันก็คงจะไม่มี อาจเป็นเพราะว่าคนในสมัยผมนั้น (แม้จะไม่ได้ดีพร้อมสมบูรณ์แบบกันทุกคน) แต่ก็เติบโตขึ้นมาในสังคมที่สอนให้ระมัดระวังคำพูดและรักษาคำมั่นสัญญาที่ออกมาจากปาก หลักฐานที่เป็นพยานวัตถุอย่างมากที่สุดที่จะมีก็คือมีรูปถ่ายปรากฏว่าได้ไปร่วมงาน

ผมเองก็มีโอกาสเป็นกรรมการสอบสัมภาษณ์ผู้สอบผ่านข้อเขียนได้เข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยมาหลายต่อหลายครั้ง สิ่งหนึ่งที่เห็นผู้สอบผ่านจำนวนไม่น้อยมักถือติดมือมาด้วยก็คือ "แฟ้มสะสมงาน" หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า "Portfolio" ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นคำแนะนำจากทางโรงเรียนให้ถือติดมือมาแสดงให้กรรมการสอบสัมภาษณ์ดู เพราะถ้าเห็นนักเรียนโรงเรียนไหนถือติดมือมา ก็มักถือติดมือมากันเกือบทุกราย
  
ในฐานะกรรมการสอบสัมภาษณ์เองนั้นก็ไม่ได้รับมอบหมายให้ไปพิจารณาผลงานทางวิชาการหรือการทำกิจกรรมในสมัยเรียนของผู้สอบผ่านข้อเขียน เพราะการสอบผ่านข้อเขียนนั้นมันเป็นการวัดความสามารถทางวิชาการไปเรียบร้อยแล้ว หน้าที่หลักก็คือการหาว่ามีผู้ใดบ้างที่เข้ามาเรียนแล้วอาจจะมีปัญหา เช่น ค่าเล่าเรียน ที่พักอาศัย สุขภาพ หรือสภาพจิตใจ และทำหน้าที่ให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวของผู้สอบผ่านข้อเขียนในการเข้ามาเป็นนิสิตใหม่ของทางมหาวิทยาลัย
  
เวลาที่ได้พบกับนักเรียนที่ถือแฟ้มสะสมงานมาด้วย บางรายกรรมการสอบก็ขอเปิดดู บางรายก็ไม่ขอเปิดดู นักเรียนบางรายที่กรรมการสอบไม่ได้ขอดูแฟ้มสะสมงานก็ถึงกับถามกรรมการสอบว่าจะไม่ช่วยพิจารณาดูแฟ้มสะสมงานของเขาหน่อยเหรอ นักเรียนบางรายก่อนที่กรรมการสอบจะเริ่มการสัมภาษณ์ เขาก็ขอแนะนำตัวเองก่อนโดยการเปิดแฟ้มสะสมงานให้ดูว่าที่ผ่านมานั้นเขาได้ไปทำกิจกรรมอะไรมาบ้าง มีหลักฐานอะไรบ้างมาแสดง นักเรียนประเภทนี้พอโดนคำถามจากกรรมการถามสวนกลับไปก็เห็นอึ้งไปทุกที คงนึกไม่ถึงว่าจะมีใครถามคำถามเช่นนั้น คำถามนั้นก็คือ

"ถามจริง ๆ เหอะ ถ้าไปทำแล้วไม่ได้ใบประกาศ จะเข้าร่วมกิจกรรมไหม"

ในหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา รู้สึกว่าจำนวนผู้เข้าร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยที่ผมทำงานอยู่นั้นลดน้อยลงไป แต่ตรงนี้มีประเด็นที่ต้องพิจารณาก่อนว่าจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรม "ของมหาวิทยาลัย" ที่ลดน้อยลงนั้นเกิดจากอะไร เป็นเพราะเขาเห็นว่ามีกิจกรรมอื่นข้างนอกที่ดีและน่าสนใจกว่า เขาก็เลยหันไปเข้าร่วมตรงนั้น หรือเป็นเพราะเขาเห็นว่าการทำกิจกรรมไม่มีประโยชน์ เพราะสังคมภายนอกนั้น โดยเฉพาะในการสมัครงานหลาย ๆ แห่ง (หรือแม้แต่การศึกษาต่อก็ตาม) นั้น ถ้า "เกรด" ไม่สูงพอ ถึงจะทำกิจกรรมเก่งขนาดไหน ก็หมดสิทธิตั้งแต่ยื่นใบสมัครแล้ว จึงไม่แปลกที่จะเห็นว่านิสิตเห็นว่าการทำ "เกรด" เป็นสิ่งสำคัญกว่าสิ่งอื่นของชีวิตการเรียนในมหาวิทยาลัย
  
ดังนั้นหน่วยงานใดที่รับคนเข้าไปโดยดูแต่เกรดเพียงอย่างเดียว ก็ไม่ควรบ่นนะครับว่าทำไมคนที่รับเข้าทำงานนั้น แม้จบมาด้วยเกรดที่สูง แต่ทำงานร่วมกับคนอื่นไม่เป็น ก็วิธีการคัดเลือกของคุณมันเป็นอย่างนั้นเองนี่นา
  

ด้วยความที่อยากให้มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมในมหาวิทยาลัยมากขึ้น จึงทำให้เกิดเอกสารที่เรียกว่า "ใบรับรองการเข้าร่วมกิจกรรม" หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า "Activity transcript" หรือเรียกย่อ ๆ ว่า AT เพื่อที่ผู้เข้าร่วมจะได้มีหลักฐานที่เป็นพยานวัตถุเอาไว้ยืนยันกับผู้อื่นได้ว่าเป็นผู้มีส่วนร่วมในกิจกรรม
  
แต่ที่ผมนึกไม่ถึงก็คือเมื่อเช้าบังเอิญเดินเข้ามหาวิทยาลัยทางด้านประตูใหญ่ ก็ไปเห็นป้ายโฆษณาเชิญชวนให้ไปตักบาตร โดยมีการรับสมัคร STAFF หน้างาน และจะมีคะแนน "AT" ให้ด้วย
  
ผมยังมองว่าการทำบุญเพื่อให้ได้บุญนั้นควรต้องเป็นการทำบุญด้วยใจ ไม่ใช่เพื่อหวังประโยชน์ส่วนตนเป็นผลตอบแทน ยังสงสัยว่าต่อไปจะมีการตั้งกฎเกณฑ์บังคับให้นิสิตต้องมาตักบาตรที่มหาวิทยาลัยหรือเปล่า เพื่อให้ได้คะแนน AT ครบตามข้อกำหนด ไม่งั้นไม่ให้สำเร็จการศึกษา และทางมหาวิทยาลัยจะได้มีหลักฐานเอาไปอวดอ้างกับคนอื่นว่ามีการส่งเสริมให้ทำนุบำรุงศาสนาและปฏิบัติธรรม
  
แต่อีกแง่หนึ่งก็ทำให้รู้สึกดีใจ ถ้ามีคนเข้าร่วมกิจกรรมกับชมรมนี้น้อยลงทุกที ด้วยเหตุผลอะไรเชื่อว่าหลายต่อหลายคนก็คงจะรู้กันอยู่แก่ใจ :)

ไม่มีความคิดเห็น: