วันพุธที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2557

ไม่ใช่ความผิดของคนที่มาตรงเวลา ไม่ใช่ความผิดของคนที่มาสาย MO Memoir : Wednesday 24 September 2557

เช้าวันศุกร์ที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๔๙ ผมกับอาจารย์อีกทางหนึ่งก็ไปสอนหนังสือที่ตึกเรียนตามปรกติ พอถึงเวลาเรียนปรากฏว่า ห้องของผมกับห้องของอาจารย์อีกท่านนั้น (ซึ่งสอนในเวลาเดียวกัน) ซึ่งปรกติจะมีนิสิตเข้าเรียนแต่ละห้องประมาณ ๔๐ คน กลับมีคนมาเรียนเพียงแค่ไม่กี่คน
  
ปรกติผมถือคติว่าไม่ใช่ความผิดของคนที่มาตรงตามเวลา ที่ต้องมานั่งรอคนที่มาสาย เพราะถ้ายิ่งรอเขาเมื่อใด จะทำให้เขาได้ใจคิดว่าเขาเป็นคนสำคัญ และเขาจะไม่สนใจที่จะมาให้ตรงตามเวลา ผลก็เลยสอนไปเรื่อย ๆ แต่ปรากฏว่าในวันนั้นไม่มีนิสิตมาเข้าเรียนเพิ่มเติมอีกเลย ห้องของอาจารย์อีกท่านหนึ่งก็เกิดเหตุการณ์แบบเดียวกัน
  
จากการสอบถามก็พบว่า วิชาก่อนหน้าที่นิสิตกลุ่มที่ผมและอาจารย์อีกท่านต้องสอนต่อนั้น มีการสอบย่อยในชั่วโมง ทีนี้เนื่องจากผู้คุมการสอบเห็นว่าชั่วโมงถัดไปไม่มีใครใช้ห้องเรียน และเขาก็ไม่มาธุระอะไรอื่น เขา ก็เลยขยายเวลาสอบออกไปอีก ๑ ชั่วโมง นิสิตที่เข้าเรียนวิชาดังกล่าวก็เลยต้องทุ่มให้กับการทำสอบย่อย ทั้ง ๆ ที่ในเวลาเดียวกันนั้นเขามีกำหนดต้องไปเรียนอีกวิชาหนึ่ง
 
นิสิตเหล่านี้ก็เลยต้องขาดเรียนอีกวิชาหนึ่งไปโดยปริยาย 
  
ส่วนนิสิตที่มาเรียนวิชาของผมกับของอาจารย์อีกท่านได้นั้น มาได้เนื่องจากห้องที่เขาเรียนนั้นปล่อยตามกำหนดเวลา


ปรกติตารางสอนจะกำหนดช่วงเวลาเอาไว้ ๑ ชั่วโมง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะเรียนกันจนเต็มเวลา ๑ ชั่วโมง เวลาเรียนนั้นจะมีเพียง ๕๐ นาทีเท่านั้น เพราะต้องให้เวลา ๑๐ นาทีสำหรับนิสิตเปลี่ยนห้องเรียน และให้ผู้สอนรายใหม่เข้ามาจัดเตรียมอุปกรณ์การสอนก่อนที่จะเริ่มการสอนตอนต้นชั่วโมง
  
เช่นถ้าตารางสอนให้สอน ๙.๐๐ - ๑๐.๐๐ น การสอนก็ควรจะอยู่ในช่วง ๙.๐๐ - ๙.๕๐ น โดยเหลือช่วงเวลา ๑๐ นาทีก่อน ๑๐.๐๐ น ให้นิสิตสามารถย้ายไปเรียนวิชาอื่นที่ห้องเรียนอื่น และอาจารย์ผู้สอนรายใหม่ที่จะเข้ามาใช้ห้องเรียนนั้นจะได้มีเวลาจัดเตรียมการสอน แต่ที่พบเห็นกันประจำก็คืออาจารย์ผู้สอนบางรายมาสอนสายเป็นประจำ ทำเอาต้องไปเลิกการสอนช้ากว่ากำหนดหรือไปกินเวลาของวิชาถัดไป นิสิตกลุ่มดังกล่าวที่ต้องย้ายไปเรียนอีกห้องหนึ่งก็เลยต้องเข้าเรียนสาย นิสิตกลุ่มที่รอใช้ห้องเรียนนั้นอยู่ก็เริ่มเรียนสายไปด้วย
  
และดูเหมือนว่าอาจารย์ที่มีพฤติกรรมเช่นนี้จะไม่ยอมรับรู้ปัญหาเหล่านี้ เพราะเห็นเป็นประจำว่าคนไหนมีพฤติกรรมแบบนี้ ก็มักมีพฤติกรรมแบบนี้ทุกปี (บางรายที่ผมต้องสอนต่อจากเขา ถ้าไม่เคาะประตูห้องบอกว่าเลยเวลาแล้ว เขาก็ไม่สนใจ และต้องทำอย่างนี้ทุกครั้งที่ต้องใช้ห้องสอนต่อจากเขา)

มาปีนี้ก็เกิดเหตุการคล้ายคลึงกันกับเมื่อเกือบ ๘ ปีที่แล้ว นิสิตป.ตรีที่ผมสอนนั้นถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม แยกเรียนสองวิชาคู่ขนานกัน โดยนิสิตจะเรียนวิชาแรกตอน ๘.๐๐ – ๙.๓๐ น และวิชาที่สองตอน ๙.๓๐ – ๑๑.๐๐ น และห้องเรียนทั้งสองวิชาก็อยู่ติดกัน โดยวิชาที่ผมสอนในช่วงที่สองนั้น จะมีนิสิตป.โท เข้ามาร่วมเรียนด้วย
  
สำหรับนิสิตที่เรียนกับผมเป็นวิชาแรก ผมจะเลิกสอนประมาณ ๙.๑๕ – ๙.๒๐ น เพื่อให้พวกเขามีเวลาเตรียมตัวไปเรียนวิชาอีกวิชาหนึ่งที่อีกห้องหนึ่ง หรือไม่ก็ให้เวลาเพื่อแวะไปเข้าห้องน้ำ และเพื่อให้นิสิตป.โท และนิสิตป.ตรี กลุ่มที่สองย้ายเข้าห้องเรียนเพื่อจะเริ่มเรียนตอน ๙.๓๐ น
  
แต่สิ่งที่พบอยู่เป็นประจำคือ แม้ว่าจะได้เวลาเรียนแล้ว นิสิตที่เลิกเรียนจากห้องที่ผมสอนยังต้องยืนรอหน้าห้องเรียน เพราะกลุ่มที่ต้องย้ายมาเรียนกับผมนั้นยังไม่เลิกเรียน ส่วนห้องที่ผมสอนนั้นก็มีนิสิตป.โท เข้ามาเรียนพร้อมตามกำหนดเวลา พอได้เวลา ๙.๓๐ น ผมก็ต้องเริ่มสอน เพราะถือว่าไม่ใช่ความผิดของคนที่มาตรงตามเวลาที่ต้องนั่งรอคนที่มาสาย
  
สอนไปได้ประมาณ ๑๐-๑๕ นาที จึงค่อยมีนิสิตป.ตรี อีกกลุ่มหนึ่งทยอยเดินเข้ามาในห้องเรียน ทำให้เขาขาดการเรียนในช่วงแรกไปประมาณ ๑๐-๑๕ นาที จะไปโทษพวกเขาก็ไม่ได้ว่าไม่รู้จักรักษาเวลา เพราะสาเหตุที่ทำให้เขาต้องเข้าเรียนวิชาของผมสายก็เพราะวิชาก่อนหน้าที่พวกเขาเรียนอยู่นั้น เลิกเรียนสาย ส่วนที่ว่าทำไมถึงเลิกช้านั้น ขออนุญาตไม่กล่าวก็แล้วกัน เพราะดูเหมือนว่ามีหลายสาเหตุ

วันนี้เป็นวันที่ผมสอนวิชาดังกล่าวเป็นวันสุดท้ายก่อนที่จะเริ่มการสอบกลางภาค (หลังสอบกลางภาคก็จะมีคนอื่นมาสอนต่อในเนื้อหาส่วนอื่น) ก็ยังคงเกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวขึ้นอีก ก็เลยถ่ายรูปห้องเรียนที่ไม่มีนิสิตมาเรียนไว้เป็นที่ระลึกสักหน่อยและเอามาลงใน Memoir ฉบับนี้เพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึก
  
ก่อนจะไปเคี่ยวเข็ญให้นิสิตต้องส่งการบ้านหรือส่งรายงานให้ตรงเวลา ผมว่าอาจารย์เองควรเลิกสอนและเริ่มสอนให้ตรงเวลาก่อนดีไหมครับ และนี่แหละครับคือเหตุผลที่ผมเขียนไว้ใน Memoir ฉบับหนึ่งก่อนหน้านี้ว่า

"อยู่ดี ๆ จะให้ผมไปสอนคุณธรรม จริยธรรม ให้กับนิสิต ผมว่ามันตลกนะ ผมมองว่าการกระทำของเด็กเป็นผลจากการลอกเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ใหญ่ ถ้าเราคิดว่าพฤติกรรมของเด็กนั้นมีปัญหา สิ่งแรกที่ควรต้องแก้ไขก่อนก็คือพฤติกรรมของผู้ใหญ่ ไม่ใช่พฤติกรรมของเด็ก ถ้าอาจารย์มองว่าพฤติกรรมของเด็กมีปัญหา อาจารย์ก็ควรมองว่าพฤติกรรมของอาจารย์เองมีปัญหาหรือเปล่า เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้เขาลอกเลียนแบบหรือเปล่า จะไปสอนเขา จะไปให้เขาแก้ไข พฤติกรรม การกระทำ ที่เราเห็นว่าไม่ดี ไม่ชอบนั้น สิ่งแรกที่เราควรทำคือ "ต้องกลับมาพิจารณาตัวเอง" ก่อนว่าเรามีพฤติกรรมและการกระทำดังกล่าวให้เขาลอกเลียนแบบหรือเปล่า ไม่ใช่คิดว่าเด็กต้องมีพฤติกรรมไม่ดีอย่างโน้นอย่างนี้ แล้วจะจัดการเขาอย่างไร จะวัดผลการพัฒนาด้านคุณธรรมและจริยธรรมของเด็กอย่างไร"

ไม่มีความคิดเห็น: