วันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

เชือก ๑ เส้น ไม้ ๑ ท่อน และไม้ใหญ่ ๑ ต้น MO Memoir : Monday 4 May 2558

มันเป็นของเล่นที่แต่ก่อนจะเห็นกันทั่วไปตามบ้านเรือนต่าง ๆ ในยุคสมัยที่ย้งสร้างบ้านกันด้วยไม้ ในยุคสมัยที่การสร้างบ้านนั้นจะมีที่เหลือให้ปลูกไม้ใหญ่ แต่ในยุคปัจจุบันโดยเฉพาะในตัวเมืองดูเหมือนจะไม่ค่อยจะมีเหลือให้กันตามบ้านแล้ว อาจเป็นเพราะรูปแบบการก่อสร้างที่เปลี่ยนไป ที่เปลี่ยนจากการใช้ไม้มาเป็นคอนกรีต จากหลังคาโปร่ง ๆ มาเป็นตีฝ้าให้เรียบ และการพยายามปลูกบ้านให้เต็มพื้นที่ที่ดินให้มากที่สุด
  
สิ่งนั้นก็คือ "ชิงช้า" ที่แต่ก่อนมักจะทำขึ้นกันเอง เอาไว้ให้คนในบ้านนั่งเล่นกัน


ชิงช้ากับเด็ก ๆ ดูเหมือนจะเป็นของคู่กัน และดูเหมือนจะเป็นของเล่นในสนามเด็กเล่นที่ผู้ใหญ่เองก็ชอบเข้าไปแย่งเด็กเล่น ชิงช้าแกว่งไกวอันแรกนั้นทำขึ้นมาเมื่อราว ๆ ๑๕ ปีที่แล้ว (ตัวบน) ตอนที่ลูกคนโตเพิ่งจะหัดเดิน เก็บเอาเศษไม้มาทำเป็นที่นั่ง เศษสายไฟเส้นใหญ่มามัดเป็นราวล้อมด้านข้างและด้านหลัง และมีไม้ไผ่เป็นราวให้จับทางด้านหน้า สิ่งที่ซื้อมามีเพียงเชือกไนลอนเส้นยาว ชิงช้านี้พาดไว้กับคานของโรงจอดรถ (ที่ตอนกลางวันไม่มีรถจอด) เอายางปูพื้นรถเก่ามารองไว้ระหว่างเชือกกับคานเพื่อไม่ให้ไม้สึก อาจเป็นเพราะมันอยู่ในร่มและมีเชือกรับน้ำหนักหลายเส้น ก็เลยยังคงสภาพดีอยู่
  
พอเขาโตขึ้นมาหน่อยก็ทำตัวที่สองให้ (รูปล่าง) ตัวนี้อยู่ที่สนามหน้าบ้าน ก็ไม่มีอะไรมาก มีเพียงแค่เชือกไนลอนยาว ๑๐ เมตรพาดไว้กับกิ่งต้นมะม่วง ส่วนที่นั่งก็ใช้เศษไม้ฉำฉาที่เก็บมาจากลังส่งของ กิ่งมะม่วงนี้สูงจากพื้นประมาณ ๕ เมตร พอเอาเชือกพาดกิ่งและผูกไม้เรียบร้อย ก็จะได้ชิงช้าที่มีเชือกยาวประมาณ ๔ เมตรให้แกว่งไกว มันเป็นของเล่นที่ดูธรรมดาก็จริง แต่ถ้าใครได้ลองเล่นก็จะรู้ว่ามันสามารถให้ความรู้สึกที่ไม่ธรรมดาที่แตกต่างไปจากชิงช้าสำเร็จรูปที่ขายกันทั่วไป
  
ตัวที่สองนั้นมันอยู่กลางแจ้ง ก็เลยเจอทั้งแดดและฝน แถมมีเชือกเพียงแค่สองเส้นรับน้ำหนัก มันก็เลยหมดสภาพเร็วหน่อย ลูกคนเล็กขอให้ซ่อมให้ตั้งนานแล้ว เชือกที่จะเปลี่ยนให้ก็ซื้อมาตั้งนานแล้ว แต่ไม่ได้ลงมือซ่อมให้สักที เพิ่งจะมีโอกาสตอนเช้าเมื่อวาน ทดลองดึงเชือกเส้นเก่าดูก่อนด้วยน้ำหนักของตัวเอง (เกือบ ๗๐ กิโล) ก็ปรากฏว่ามันขาดให้เห็น ส่วนท่อนไม้ก็ทดลองเอาปลายทั้งสองข้างวางพาดกับขอบปูน และลองโดดกระทืบดู ปรากฏว่ามันทนได้ไม่เป็นอะไร สรุปว่าเปลี่ยนเพียงแค่เชือกเส้นเดียว
  
ผ่านไปหลายปี จากสนามหญ้าโล่ง ๆ เป็นมีแปลงผักและนั่นร้างของผักสวนครัวขึ้นอยู่ข้าง ๆ ก็เลยต้องมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งแขวนเชือกสักหน่อย เพื่อไม่ให้แกว่งไปโดดนั่งร้านสำหรับให้ผักสวนครัวเลื้อยขึ้นไป เริ่มด้วยการนำเอาบันไดไม้ไผ่มาพาดกับกิ่งมะม่วงก่อน (ตอนที่หนักก็คือตอนที่รื้อบันไดออกมาจากที่เก็บ และยกขึ้นพาดกิ่ง) จากนั้นก็ปีนขึ้นเอาเชือกพาด ปรับระยะให้ปลายที่ห้อยลงมาสองข้างนั้นเท่ากัน จากนั้นก็ผูกท่อนไม้เข้ากับปลายเชือกด้านล่าง แล้วปีนขึ้นไปปรับเชือกส่วนที่พาดอยู่บนกิ่งมะม่วงอีกที เพื่อให้เชือกทั้งสองเส้นนั้นตึงพอ ๆ กัน เท่านั้นก็เป็นการเสร็จการซ่อมแซม มะม่วงต้นนี้ก่อนจะปีนขึ้นไปก็ต้องเล็งแล้วเล็งอีกว่าไม่มีตัวอะไรอยู่ข้างบน เพราะเมื่อไม่นานมานี้เพิ่งจะมีงูเหลือมมาเลื้อยเล่นอยู่บนต้น
  
ขั้นตอนถัดไปก็เป็นการทดสอบความแข็งแรง โดยทดลองนั่งเองดูก่อน ที่เป็นห่วงนั้นไม่ใช่เรื่องความสามารถในการรับน้ำหนักของเชือก แต่เป็นความสามารถในการรับน้ำหนักของกิ่งมะม่วงต่างหาก จากนั้นก็ลองห้อยโหนไปมา พอเห็นว่ากิ่งมะม่วงไม่สะเทือนก็ไปบอกลูกว่าซ่อมให้เสร็จเรียบร้อยแล้ว เรียกว่าผ่านการทดสอบความแข็งแรงด้วย safety factor มากกว่า ๓ เท่า (เพราะพ่อหนักกว่าลูกกว่า ๓ เท่า) ตอนที่จัดระยะเชือกนั้นก็กะว่าท่อนไม้ลอยสูงจากพื้นสูงกว่าหัวเข่า แต่พอนั่งลงไปแล้วปรากฏว่าเชือกมันยืดตัวจนรู้สึกว่าชิงช้ามันเตี้ยเกินไป แต่ตอนที่ลูกขึ้นไปเล่นนั้นกลับบอกว่าชิงช้ามันสูงไปหน่อย
  
อันที่จริงชิงช้าแบบนี้จะใช้ยางรถยนต์ก็ได้ แต่ยางรถยนต์มันหนักหน่อย และต้องเจาะรูยางด้วยเพื่อไม่ให้น้ำขัง ไม่เช่นนั้นมีหวังเป็นที่เพาะยุงและอาจมีตัวอะไรต่อมิอะไรมาอาศัยอยู่ สำหรับคนที่อยู่ในเมืองแล้ว ชิงช้าแบบนี้คงจะหาเล่นได้ยากขึ้นทุกที เพราะแต่ละบ้านนั้นไม่ค่อยจะมีไม้ใหญ่ให้เห็นแล้ว

หวังว่าทุกคนยังจำความสุขตอนเด็ก ๆ ที่ได้นั่งเล่นชิงช้าแกว่งไกวได้อยู่นะครับ :)

ไม่มีความคิดเห็น: