เมื่อวานก็ถือว่าเป็นวันสุดท้ายของการเรียนการสอนของปีการศึกษา
๒๕๕๗ ที่ได้มีการเปลี่ยนเวลาเริ่มต้นการศึกษาเป็นปีแรก
คือย้ายจากเดือนมิถุนายนมาเป็นเดือนสิงหาคม
ด้วยเหตุผลที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยท่านหนึ่งเล่าให้ผมฟังในขณะที่เดินทางไปรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาว่า
"มองแต่จะให้นักเรียนแลกเปลี่ยน
(จากต่างประเทศ)
มาเรียนได้สะดวก"
ปัญหาที่ตามมาก็คือความวุ่นวายต่าง
ๆ ที่เกิดขึ้นกับนักเรียนไทยเอง
ไม่ว่าจะเป็นการสมัครงาน
การเข้าเป็นนักศึกษาวิชาทหาร
(ที่เรียกว่าเรียน
รด.
ซึ่งพวกที่สอบเทียบขึ้นมาต้องมาเรียนต่อตอนเรียนปี
๑ ในมหาวิทยาลัย)
การเกณฑ์ทหาร
การออกค่ายอาสาพัฒนาชนบท
ฯลฯ)
และสำหรับนิสิตปริญญาตรีผู้ที่เรียนอยู่ในปีสุดท้ายของหลักสูตร
ก็ถือได้ว่าเป็นวันสุดท้ายของชีวิตการเรียนในมหาวิทยาลัย
ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่เชื่อว่าแต่ละคนจะมีเรื่องราวต่าง
ๆ ให้จดจำตลอดไป
แม้ว่าจะมีหลายรายกลับเข้ามาเรียนใหม่ในระดับปริญญาที่สูงขึ้นไปอีก
แต่สภาพการเรียนนั้นจะแตกต่างไปจากการเรียนในระดับปริญญาตรีมาก
แต่ว่าชีวิตในมหาวิทยาลัยนั้นใช่ว่าจะมีแต่เรื่องที่ดีเสมอไป
บางจังหวะของช่วงเวลา
บางจังหวะของสภาพสังคม
ก็ผลักดันให้เกิดเรื่องร้าย
ๆ ขึ้นในมหาวิทยาลัยได้
อย่างเช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ
๑๐ ปีที่แล้วที่เกิดต่อเนื่องติดต่อกัน
จนหนังสือพิมพ์เขาไปเขียนเป็นคอลัมน์ว่า
๔ ปี ๔ ศพ
ซึ่งเป็นเรื่องของนิสิตของมหาวิทยาลัยของเราเองที่กำลังศึกษาอยู่นั้นเลือกที่จะจบชีวิตด้วยการทำอัตวินิบาตกรรมด้วยวิธีการเดียวกัน
โดย ๓ รายเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย
และอีก ๑ รายเกิดขึ้นภายนอกมหาวิทยาลัย
รายละเอียดเป็นอย่างไรนั้นก็ขอให้ลองอ่านเอาเองจากภาพข่าวที่แนบมา
ส่วนที่ว่าทำไปจึงนำเอาเรื่องนี้มาลง
ก็เพราะเห็นว่ามันเป็นประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย
ที่ทางมหาวิทยาลัยคงจะไม่บันทึกลงในประวัติที่เป็นทางการ
แต่ยังคงอยู่ในความทรงจำสำหรับผู้ที่อยู่ในมหาวิทยาลัยในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น
แม้ว่าหลังจากช่วงเวลาดังกล่าวจะมีผู้ที่เพิ่งจะสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยไปไม่นานจะทำการอัตวินิบาตกรรมด้วยเหตุผลที่คนภายนอกมหาวิทยาลัยจะเห็นเป็นเรื่องตลกหรือดูไร้สาระ
แต่สำหรับผู้ที่เคยได้มีโอกาสสัมผัสกับผู้ที่มีปัญหาดังกล่าวแล้วจะทราบดีว่าการตัดสินใจที่ใครต่อใครเห็นว่าเกิดจากอารมณ์ชั่ววูบนั้น
เป็นปัญหาที่สะสมมาเป็นเวลานานที่อาจมีการแสดงหรือไม่แสดงออกมา
เพียงแต่คนรอบข้างจะรู้สึกหรือไม่
เคยมีอาจารย์วิศวผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเปรียบเปรยชีวิตคนให้ผมฟังว่า
"การใช้ชีวิตก็เหมือนกับการตีเหล็ก
เหล็กยิ่งโดนทุบก็ยิ่งแข็งแกร่ง"
คำกล่าวนี้คงไม่ต่างไปจากที่มีคนกล่าวว่า
"ชีวิตคือการต่อสู้
ศัตรูคือยาชูกำลัง"
Memoir
ฉบับนี้ก็ไม่มีอะไรมาก
เพียงแค่เอาไฟล์ข้อมูลที่บันทึกเอาไว้เมื่อกว่า
๔ ปีที่แล้วมาเขียนเป็นบันทึกให้เป็นเรื่องเป็นราว
เพราะมันก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผมทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัย
เวลาจะเอาไปเล่าต่อให้คนรุ่นหลังฟังจะได้มีหลักฐานเป็นเรื่องเป็นราวแค่นั้นเอง
การศึกษาความผิดพลาดของเหตุการณ์ในอดีตนั้นเป็นสิ่งสำคัญเพื่อที่จะได้ไม่ทำผิดพลาดซ้ำเดิมอีกในอนาคต
คนที่ไม่เรียนรู้อดีตก็ย่อมมีสิทธิที่จะทำผิดซ้ำเดิมกับในอดีตได้อีก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น