วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ทำความรู้จักกระบวนการผลิตเอทิลีน ตอนที่ ๒๓ Spent caustic neutralisation section MO Memoir : Sunday 30 October 2559

ในที่สุดก็มาถึงหน่วยสุดท้ายของบทความชุดนี้ซะที (เอกสารในส่วนทำความรู้จักกระบวนการนั้นมันหมดแค่นี้) 
  
สิ่งสำคัญสิ่งแรกที่ต้องบอกไว้ตรงนี้ก่อนก็คือคำบรรยายในเอกสารนั้นอิงไปที่รูปที่ ๑ และ ๒ นั้นดูเหมือนว่าเป็นกระบวนการที่ออกแบบมาสำหรับการผลิตที่ใช้วัตถุดิบเป็นไฮโดรคาร์บอนเหลวที่อุณหภูมิห้อง (ตั้งแต่ C5 ขึ้นไป) และยังมีการรับกำจัด spent caustic จากหน่วยอื่น (ที่ไม่มีในโรงงานที่นำมาสร้างจริง) ทำให้ Process flow diagram (PFD) ในรูปที่ ๓ และ ๔ นั้นมีความเรียบง่ายและแตกต่างไปจาก PFD ในรูปที่ ๑ และ ๒ อยู่มาก ดังนั้นสิ่งที่จะบรรยายต่อไปจะอิงไปยัง PFD ในรูปที่ ๑ และ ๒ เป็นหลัก
 
แก๊สที่ออกมาจาก pyrolysis heater จะมีแก๊สกรดที่สำคัญ (คือมีในปริมาณมาก) ได้แก่ CO2 และ H2S ทำให้จำเป็นต้องทำการกำจัดแก๊สกรดเหล่านี้ออกก่อนที่จะทำการลดอุณหภูมิแก๊สเพื่อทำการกลั่น การกำจัดทำโดยการให้แก๊สนั้นสัมผัสกับสารละลาย caustic (คือโซดาไฟหรือสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์ NaOH นั่นแหละ) หลังจากเพิ่มความดันให้กับแก๊สจนถึงระดับหนึ่ง เพื่อทำให้แก๊สกรดละลายเข้าไปในสารละลาย caustic ได้มากขึ้น (สารละลาย caustic ก็จะกลายเป็นสารละลาย spent caustic หรือสารละลาย caustic ที่ผ่านการใช้งานแล้ว) กระบวนการตรงนี้อยู่ใน Memoir ปีที่ ๘ ฉบับที่ ๑๑๘๑ วันพุธที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๕๙ เรื่อง "ทำความรู้จักกระบวนการผลิตเอทิลีนตอนที่ ๑๑ Charge gas compression ภาค ๓"
 
ในกรณีที่วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเอทิลีนนั้นเป็นเหลว จะทำให้มีไฮโดรคาร์บอนควบแน่นในปริมาณมากในระหว่างขั้นตอนการอัดแก๊สเพื่อเพิ่มความดัน ทำให้มีไฮโดรคาร์บอนละลายเข้ามาในเฟสน้ำ (สารละลาย caustic) ได้ในปริมาณมาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการแยกเอาไฮโดรคาร์บอนในเฟสน้ำออกไปก่อนด้วยการให้สารละลาย spent caustic นี้สัมผัสกับแก๊สโซลีน และเนื่องจากไฮโดรคาร์บอนหนักนั้นละลายในแก๊สโซลีน (เพราะเป็นไฮโดรคาร์บอนด้วยกัน) ได้ดีกว่าเฟสน้ำ ไฮโดรคาร์บอนหนักดังกล่าวก็จะย้ายจากเฟสน้ำมาอยู่ในเฟสแก๊สโซลีน ทำให้ความเข้มข้นไฮโดรคาร์บอนในเฟสน้ำลดลง (กระบวนการในรูปที่ ๓ และ ๔ ไม่มีหน่วยนี้ คิดว่าเป็นเพราะออกแบบมาสำหรับกระบวนการผลิตที่ใช้ไฮโดรคาร์บอนเบา (เช่นอีเทน) เป็นสารตั้งต้น) และเมื่อให้สารผสมระหว่างสารละลาย spent caustic และแก๊สโซลีนแยกชั้นกันใน Degasser drum (รูปที่ ๑) ที่ความดันต่ำ (ประมาณความดันบรรยากาศ) ไฮโดรคาร์บอนเบาที่ละลายอยู่ในสารละลาย spent caustic ก็จะระเหยออกมา เฟส spent caustic ที่หนักกว่าจะจมสู่ด้านล่างและถูกสูบออกไป ส่วนเฟสแก๊สโซลีนที่ลอยอยู่ด้านบนก็จะถูกแยกออกไปด้วยการไหลล้นข้ามผนังกั้นที่อยู่ในถัง และถูกสูบออกไปเช่นกัน
 
สารละลาย spent caustic ที่ผ่านการกำจัดไฮโดรคาร์บอนออกไปแล้วจะถูกนำมาสะเทินด้วยการผสมสารละลายกรดกำมะถัน (Sulphuric acid H2SO4) เข้าไป การผสมกันสามารถทำได้ด้วยการใช้ inline mixer (อุปกรณ์ที่ใช้ติดตั้งในท่อ ทำให้การไหลในท่อมีความปั่นป่วนเกิดการผสมเข้าด้วยกัน) สารละลายผสมจะไหลไปยัง neutralization drum (รูปที่ ๒) เพื่อให้ปฏิกิริยาเกิดสมบูรณ์ และในระหว่างการสะเทินด้วยกรดนี้ ไอออน S2- (และคงรวมถึง CO32- ด้วย) ที่เกิดจากการทำปฏิกิริยาระหว่างแก๊ส H2S กับสารละลาย NaOH จะกลายเป็นแก๊ส H2S ใหม่ (CO32- ก็จะกลายเป็น CO2) และส่วนหนึ่งจะระเหยออกจากสารละลาย caustic ที่ผ่านการสะเทินแล้ว ส่วนที่เหลือที่ยังละลายอยู่นั้นจะถูกแยกออกด้วยการต้มให้ร้อนด้วยการฉีดไอน้ำผสมเข้าไปโดยตรง (ที่ spent caustic stripper ในรูปที่ ๒) จากนั้นก็จะสามารถส่งสารละลาย spent caustic ที่ผ่านการสะเทินแล้วไปยังหน่วยบำบัดน้ำเสียต่อไป

รูปที่ ๑ Process flow diagram (PFD) แสดงภาพรวมของหน่วยสะเทิน spent caustic

รูปที่ ๒ PFD ส่วนต่อจากรูปที่ ๑


รูปที่ ๓ Process flow diagram (PFD) ของหน่วยสะเทิน spent caustic

รูปที่ ๔ ส่วนต่อจากรูปที่ ๓
 
กระบวนการในรูปที่ ๓ และ ๔ นั้นเรียบง่ายกว่ากระบวนการในรูปที่ ๑ และ ๒ เพราะไม่มีการแยกไฮโดรคาร์บอนออกจากเฟสน้ำ แต่มีสิ่งหนึ่งที่แตกต่างออกไปคือมีการเพิ่ม oxidation reactor (R-1221 ในรูปที่ ๓) เข้ามา ใน reactor ตัวนี้ สารละลาย spent caustic ที่ความดันบรรยากาศจะถูกเพิ่มความดันขึ้นเป็น 30 kg/cm2 และเพิ่มอุณหภูมิเป็น 180ºC ด้วยการฉีดไอน้ำความดันสูงเข้าไป วัตถุประสงค์ของหน่วยนี้คิดว่าคงเป็นการออกซิไดซ์ไอออน S2- ให้กลายเป็นไอออน SO42- ที่กำจัดให้ง่ายกว่า (ในเอกสารที่ผมมีมันไม่มีคำอธิบายของหน่วยนี้ แต่ดูจากภาพรวมของการทำงานและปฏิกิริยาที่เป็นไปได้แล้ว จึงคาดว่าน่าจะเป็นปฏิกิริยานี้)
 
ถัดจาก oxidation reactor สารละลาย spent caustic จะถูกลดความดันลงและไหลต่อไปยัง wash tower (C-1221 ในรูปที่ ๔) ที่ wash tower นี้จะทำการไหลหมุนเวียนสารละลาย spent caustic ร่วมกับ wash water ที่เติมเข้าไป
 
ดูจากระบบท่อรับ wash water และท่อระบาย spent caustic ที่ผ่านการบำบัดแล้วออกไป ที่ใช้ท่อร่วมกันและใช้ปั๊มร่วมกัน (ปั๊ม P-1222) ทำให้คิดว่าหน่วย spent caustic neutralisation ตามการออกแบบนี้คงไม่ได้ทำงานต่อเนื่องตลอดเวลา กล่าวคือคงรอจนมี spent caustic มากจนถึงระดับหนึ่งแล้วจึงค่อยเดินเครื่อง

บทความเรื่อง "ทำความรู้จักกระบวนการผลิตเอทิลีน" ในส่วนของข้อมูลคำบรรยายภาพรวมหน่วยผลิตต่าง ๆ เท่าที่มีอยู่ในมือก็หมดเพียงเท่านี้ รูปต่าง ๆ ที่นำมาแสดงในแต่ละหน่วยนั้นแยกออกเป็นสองส่วนด้วยกัน ส่วนแรกเป็นของกระบวนการที่เจ้าของเทคโนโลยีเคยได้ออกแบบไว้ ส่วนที่สองเป็นของกระบวนการที่มีการสร้างขึ้นโดยมีการปรับแต่งหน่วยการผลิตต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับข้อจำกัดต่าง ๆ ของโรงงานที่จะสร้างขึ้นใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าแตกต่างไปจากของเดิม ทำให้ Process flow diagram ที่นำมาแสดงนั้นมีความแตกต่างกันอยู่
แม้ว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบเมื่อกว่า ๓๐ ปีที่แล้ว แต่ก็เชื่อว่าหลักการนั้นไม่ได้แตกต่างไปจากปัจจุบันเท่าใดนัก วัตถุประสงค์ของการเขียนบทความชุดนี้ก็เพื่อให้ผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ เช่นนิสิต นักศึกษา ที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย ได้มีภาพกระบวนการผลิตที่ใกล้เคียงกับกระบวนการผลิตจริง ได้เห็นปัจจัยต่าง ๆ ที่ควรต้องคำนึงถึงในการออกแบบ ได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยผลิตต่าง ๆ บ้าง ไม่มากก็น้อย

วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2559

แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๕๘ (ตอนที่ ๖) MO Memoir : Saturday 29 October 2559

เอกสารฉบับนี้แจกจ่ายเป็นการภายใน ไม่นำเนื้อหาลง blog
 
เนื้อหาในเอกสารฉบับนี้เป็นบันทึกที่เกี่ยวข้องกับคำถามที่เกิดขึ้นในการประชุม TiChE 2016 เมื่อวันพฤหสบดีและวันศุกร์ที่ผ่านมา

วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ที่ถูกต้องควรต้องเป็น "จะจัดส่งไปให้ในภายหลัง" MO Memoir : Thursday 27 October 2559

 
ตอนแรกก็คิดว่าวันนี้จะไม่เขียนอะไร แต่เหตุการณ์ที่ประสบมาเมื่อเช้าเลยทำให้ต้องขอบันทึกความทรงจำเอาหน่อย
 
ในการทำงานไม่ว่างานใด ๆ นั้น มันมีโอกาสที่งานจะไม่ดำเนินไปตามแผนการณ์ที่วางไว้ได้ ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนไปตามสถานการณ์ สิ่งที่ทำให้งานนั้นไม่ดำเนินไปตามแผนการณ์นั้นอาจเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากการวางแผนและได้มีการดำเนินการไปบางส่วน แต่ยังไม่ถึงวันลงมือจริง ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนการณ์ไปตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป หรือเกิดปัญหาที่ไม่คาดคิดขึ้นในวันลงมือจริง ทำให้ต้องมีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
 
คนที่วางแผนเก่งก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นคนที่สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เก่งตามไปด้วย และในทำนองเดียวกันคนที่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเก่งก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นคนที่สามารถวางแผนการณ์และคาดการณ์เหตุการต่าง ๆ ล่วงหน้าได้ดีด้วย
 
เรื่องที่เกิดก็คือทางผมได้ลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมวิชาการแห่งหนึ่งในฐานะ Non-presenter คือเป็นเพียงแค่ผู้เข้าฟังนั่นแหละครับ และได้จ่ายเงินค่าลงทะเบียนไปโดยรับทราบเงื่อนไขตามที่ผู้จัดงานกำหนดไว้ดังแสดงในรูปข้างบนที่นำมาจากหน้าเว็บที่ผู้จัดงานทำขึ้น
 
หลังจากที่ลงทะเบียนแล้วพอตรวจสิ่งของที่ได้รับมาก็พบว่าขาดหายไปหนึ่งอย่าง คือ USB drive บันทึกบทความเข้าร่วมประชุม ก็เลยถามกับเจ้าหน้าที่ดูว่าทำไปถึงไม่มี USB drive ให้ ก็ได้คำตอบกลับมาว่าสำหรับ Non-presenter นั้นไม่มี USB drive ให้ ผมก็เลยเปิดหน้าเว็บของผู้จัดงานให้เจ้าหน้าที่เขาดูว่าที่เขาประกาศเชิญชวนให้คนมาร่วมงานนั้นเขาประชาสัมพันธ์อะไรไว้บ้าง
 
ก็เลยได้เรื่องครับ มีการไปเชิญกรรมการจัดงานอีกท่านหนึ่งมาอธิบายให้ผมฟัง โดยบอกผม "ด้วยวาจา" ว่ามีการ "เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขไปจากหน้าเว็บ" โดยไม่มีการให้ USB drive ที่บันทึกไฟล์ข้อมูลบทความที่ส่งเข้าร่วมประชุมให้กับผู้ลงทะเบียนในฐานะ Non-presenter ทั้งนี้เนื่องจากมีการประมาณการจำนวนผู้เข้าร่วมงานผิดพลาด ก็เลยต้องมีการตัดส่วนที่ผู้ลงทะเบียนในฐานะ Non-presenter ควรจะได้รับนั้นออกไป และไม่แน่ใจว่าจะมีของให้ และถ้าอยากได้ไฟล์ pdf ก็สามารถไปดาวน์โหลดเอาเองได้จากหน้าเว็บไซต์ของงาน (???????)
 
แต่ผมก็ยืนยันว่าผมลงทะเบียนเข้าร่วมงานตามเงื่อนไขที่ทางผู้จัดงานประชาสัมพันธ์เอาไว้ และมันก็ยังปรากฏอยู่ในหน้าเว็บจนถึงเวลานี้ และถ้าไม่มีของให้ก็ควรที่จะแจ้งให้ผู้เข้าร่วมงานทราบว่าจะจัดส่งตามไปให้ภายหลัง (ไม่ใช่มาบอกว่าประมาณการผู้เข้าร่วมงานผิดพลาด (อ้าว ก็เขาลงทะเบียนกันล่วงหน้าก่อนวันงานตั้งนาน) เตรียมของไว้ไม่พอ ดังนั้นท่านไม่ต้องเอาก็แล้วกัน - ตรงนี้คิดอยู่ในใจนะ)
 
ท้ายที่สุดเขาก็จัดหาสิ่งที่ผมควรได้รับตามเงื่อนไขที่มีการประชาสัมพันธ์เอาไว้ ทำนองว่าจัดให้เป็นกรณี "พิเศษ" (พิเศษยังไงผมก็ไม่รู้เหมือนกัน) พร้อมกับบอกกับผมว่าสำหรับผู้เข้าร่วมงานในฐานะ Non-presenter คนอื่นคงจะไม่ได้รับเหมือนผม (อันนั้นไม่ใช่ปัญหาของผมแล้วครับถ้าผู้เข้าร่วมงานในฐานะ Non-presenter คนอื่นเขามาถามทางผู้จัดว่าทำไมเขาจึงได้รับของไม่ครบตามที่มีการประชาสัมพันธ์เอาไว้)
 
ปิดท้ายด้วยรูปที่ไม่เกี่ยวข้องกับบทความวันนี้นะครับเพราะเห็นหน้ากระดาษมันเหลือเยอะ ถ่ายเอาไว้ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว (วันพุธที่ ๑๙) ก่อนเที่ยง ถือเสียว่าเป็นบันทึกชึวิตการเรียนนิสิตป.โทก็แล้วกัน :) :) :)


วันพุธที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ทำความรู้จักกระบวนการผลิตเอทิลีน ตอนที่ ๒๒ Ethylene refrigeration system MO Memoir : Wednesday 27 October 2559

ระบบ ethylene refrigeration เป็นระบบทำความเย็นอุณหภูมิต่ำเพื่อใช้สำหรับกระบวนการกลั่นที่อุณหภูมิต่ำ (เช่นที่หน่วย demethanizer) ระบบ ethylene refrigeration นี้ทำงานคู่ควบกับระบบ propylene refrigeration เพราะจำเป็นต้องใช้ระบบ propylene refrigeration ในการทำให้เอทิลีนที่ผ่านการอัดของคอมเพรสเซอร์ควบแน่นเป็นของเหลว การทำงานของระบบ ethylene refrigeration และระบบ propylene refrigeration ที่เล่าไว้ใน Memoir ฉบับที่แล้ว (วันอังคารที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๙) มีความคล้ายคลึงกัน

รูปที่ ๑ เป็น process flow diagram (PFD) เบื้องต้นที่ใช้ในการออกแบบ ส่วนรูปที่ ๒ นั้นเป็นแผนผังของระบบควบคุมที่อิงจากรูปที่ ๑ รูปที่ ๓ และ 4 เป็น process flow diagram ที่พัฒนาขึ้นมาจากรูปที่ ๑ หลังจากที่ได้พิจารณาหน่วยอื่นของกระบวนการร่วมด้วย ดังนั้นรายละเอียดที่แสดงในรูปที่ ๑ และรูปที่ ๓ และ ๔ จะแตกต่างกันอยู่บ้าง คำอธิบายในที่นี้จะอิงไปยังรูปที่ ๓ และ ๔ เป็นหลัก (แม้ว่าคำบรรยายในเอกสารต้นฉบับที่มีอยู่จะอิงไปยังรูปที่ ๑ ก็ตาม)
 
แก๊สเอทิลีนที่ใช้เป็นสารทำความเย็นจะถูกอัดให้มีความดันประมาณ 29.4 kg/cm2 (ความดันเกจ) โดยแก๊สหลังการอัดจะมีอุณหภูมิประมาณ 88ºC แก๊สนี้จะถูกทำให้เย็นลงด้วยการแลกเปลี่ยนความร้อนหลายขั้นตอน เริ่มจากการใช้น้ำหล่อเย็น (ลดอุณหภูมิลงเหลือประมาณ 43ºC) โพรพิลีนที่ใช้เป็นสารทำความเย็น (ลดอุณหภูมิลงเหลือประมาณ 21ºC ดังนั้นน่าจะใช้โพรพิลีนที่อุณหภูมิ 18ºC เป็นสารทำความเย็น) เอทิลีนที่ใช้เป็นสารทำความเย็น (ลดอุณหภูมิจนเหลือประมาณ -8.5ºCส่วนนี้คงมาทีหลัง หลังจากที่เดินเครื่องระบบ ethylene refrigeration ได้แล้ว) และระบบทำความเย็นโพรพิลีน จนมีอุณหภูมิเหลือประมาณ -15ºC (น่าจะใช้โพรพิลีนที่อุณหภูมิ -23ºC) ที่ความดันประมาณ 28.1 kg/cm2 (ความดันที่ลดลงเป็นผลจากการไหลผ่านเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนต่าง ๆ) และนำไปเก็บไว้ในถังเก็บ (V-1604 ในรูปที่ ๔)
 
พึงสังเกตว่า ในการลดอุณหภูมิลงนั้น จะไม่ใช้ระบบทำความเย็นตัวที่เย็นจัดเพียงตัวเดียวมาลดอุณหภูมิในขั้นตอนเดียว (คือโพรพิลีนที่อุณหภูมิ -23ºC) แต่จะใช้การลดเป็นลำดับขั้น เพื่อให้ประหยัดพลังงานมากที่สุด
 
เอทิลีนเหลวจากถังเก็บถูกนำไปใช้เป็นสารทำความเย็นที่อุณหภูมิ -62ºC ด้วยการลดความดันลงเหลือประมาณ 6.0 kg/cm2 จากนั้นจะไหลเข้าสู่ถังพัก (ที่ทำหน้าที่เป็น suction drum ให้กับคอมเพรสเซอร์ด้วย) ใบแรก (V-1603 ในรูปที่ ๔) ในถังพักใบนี้ เอทิลีนส่วนที่เป็นไอจะถูกดูดกลับไปยังคอมเพรสเซอร์ ส่วนเอทิลีนที่เป็นของเหลวนั้นจะถูกใช้เป็นสารทำความเย็นที่อุณหภูมิ -75ºC ด้วยการลดความดันลงเหลือประมาณ 3.2 kg/cm2 และเอทิลีนส่วนนี้จะไหลไปยังถังพักใบที่สอง (V-1602 ในรูปที่ ๓)
เอทิลีนส่วนที่เป็นไอในถังพักใบที่สองนี้จะถูกดูดกลับไปยังคอมเพรสเซอร์ ส่วนเอทิลีนที่เป็นของเหลวจะถูกนำไปใช้ต่อเป็นสารทำความเย็นที่อุณหภูมิประมาณ -102ºC ด้วยการลดความดันลงเหลือประมาณ 0.11 kg/cm2 ไอเอทิลีนส่วนนี้จะไหลไปยังถังพักใบที่สาม (V-1601 ในรูปที่ ๓) ก่อนที่จะถูกส่งกลับไปยังคอมเพรสเซอร์

อันที่จริงในขั้นตอนสุดท้ายนี้จะให้ระบบทำงานที่อุณหภูมิต่ำกว่า -102ºC ก็ได้ ด้วยการลดความดันเอทิลีนลงให้ต่ำลงไปอีก (ต่ำกว่าความดันบรรยากาศ) แต่ก็ต้องกลับไปดูที่คอมเพรสเซอร์ด้วยว่าจะมีปัญหาในการทำงานหรือไม่ (เพราะถ้าความดันด้านขาเข้าคอมเพรสเซอร์ต่ำเกินไป ก็จะเกิด surging ได้ง่าย)
 
รูปที่ ๑ Process flow diagram สำหรับการออกแบบเบื้องต้นของระบบ ethylene refrigeration


รูปที่ ๒ การออกแบบระบบควบคุมระบบ ethylene refrigeration


รูปที่ ๓ Process flow diagram ของระบบ ethylene refrigeration หลังการออกแบบเกือบเสร็จสมบูรณ์

รูปที่ ๔ ส่วนต่อเนื่องจากรูปที่ ๓

พึงเกตในรูปที่ ๓ และ ๔ การควบคุมอัตราการไหลของเอทิลีนเหลว (ที่ความดันต่าง ๆ) ที่ใช้ในการทำความเย็นนั้น จะใช้ระดับเอทิลีนเหลวในเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนแต่ละเครื่อง (E-1310 E-1311 E-1313 และ E-1329) เป็นตัวควบคุม ส่วนอุณหภูมิของการทำความเย็นที่จะได้นั้นขึ้นอยู่กับว่าจะให้สารทำความเย็นนั้นเกิดการเดือดที่อุณหภูมิเท่าใด ซึ่งอุณหภูมิการเดือดของสารทำความเย็นขึ้นอยู่กับความดัน กล่าวคือความดันยิ่งต่ำ อุณหภูมิจุดเดือดก็ยิ่งต่ำ ดังนั้นความดันในถังพักแต่ละใบจะส่งผลกระทบต่ออุณหภูมิการทำความเย็นที่จะได้ เพราะมันเชื่อมต่อเข้ากับเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนเหล่านั้น
 
การปรับแต่งความดันในถังพักแต่ละใบทำได้ด้วยการปรับเปลี่ยน "ความเร็วรอบการหมุน" ของคอมเพรสเซอร์ กล่าวคือถ้าความดันในถังพักสูงมากเกินไป ก็ให้เพิ่มความเร็วรอบการหมุนของคอมเพรสเซอร์ (หรือเพิ่มอัตราการดูดไอออกจากถังพัก) แต่เนื่องจากมีคอมเพรสเซอร์เพียงตัวเดียวที่ทำการดูดไอออกจากถังพักทุกใบ ดังนั้นเวลาที่คอมเพรสเซอร์เปลี่ยนความเร็วรอบการหมุนเพื่อปรับความดันในถังพักใบที่ผิดปรกตินั้นให้กลับมามีค่าที่ถูกต้อง จะส่งผลต่อความดันในถังพักใบอื่นที่สภาวะการทำงานเป็นปรกติอยู่แล้วด้วย เช่นเพิ่มความเร็วรอบอันเป็นผลจากการที่ความดันในถังพักใบใดใบหนึ่งสูงเกินไป การทำเช่นนี้ก็อาจทำให้ความดันในถังพักใบอื่นที่ปรกติอยู่ลดต่ำลงจนเกิดการ surge ได้ ประเด็นนี้ยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างหนึ่งเพื่อให้เห็นภาพความยุ่งยากในการออกแบบระบบควบคุม

ท้ายสุดนี้ขอเพิ่มเติมเรื่องระบบขับเคลื่อนคอมเพรสเซอร์นิดนึง มอเตอร์ไฟฟ้าเกือบทั้งหมดที่ใช้กันในโรงงานนั้นจะเป็นมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับ ความเร็วรอบการหมุนของมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับขึ้นอยู่กับจำนวนขั้วของมอเตอร์ (อันนี้เป็นโครงสร้างที่ติดตัวมากับมอเตอร์ ถ้าจะเปลี่ยนจำนวนขั้วก็ต้องเปลี่ยนมอเตอร์) และความถี่ของกระแสไฟฟ้า (ของบ้านเราจะคงที่ที่ 50 Hz) ดังนั้นการปรับความเร็วรอบการหมุนของอุปกรณ์ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับขับเคลื่อนให้สามารถปรับเปลี่ยนความเร็วรอบได้อย่างต่อเนื่องจึงไม่ใช่เรื่องง่าย (ไม่ว่าจะเป็นการใช้ระบบเฟืองทด หรือวงจรปรับเปลี่ยนความถี่กระแสไฟฟ้า) แต่ถ้าเป็นมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสตรงจะไม่มีปัญหาเรื่องความสามารถในการปรับเปลี่ยนความเร็วรอบการหมุนได้อย่างต่อเนื่อง แต่จะไปมีปัญหาเรื่องการหาแหล่งจ่ายไฟฟ้ากระแสตรง (ต้องหาทางผลิตขึ้นเองจากไฟฟ้ากระแสสลับ และก็ต้องปรับให้ความต่างศักย์และกระแสราบเรียบด้วย ไม่ใช่เต้นไปตามความถี่ของไฟฟ้ากระแสสลับ) และราคาของมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสตรง ตรงประเด็นนี้การใช้กังหันไอน้ำขับเคลื่อนจะได้เปรียบกว่าเพราะสามารถปรับความเร็วรอบการหมุนได้อย่างต่อเนื่องโดยอาศัยการปรับเปลี่ยนปริมาณไอน้ำที่ป้อนเข้าไป

วันอังคารที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ทำความรู้จักกระบวนการผลิตเอทิลีน ตอนที่ ๒๑ Propylene refrigeration system MO Memoir : Tuesday 25 October 2559

ระบบทำความเย็นชนิด vapour compression refrigeration system นั้น ไอของสารทำความเย็นที่มีความดันต่ำจะถูกอัดให้มีความดันสูงขึ้น การอัดนี้ทำให้ไอสารทำความเย็นมีอุณหภูมิสูงขึ้นตามไปด้วย และเมื่อไอสารทำความเย็นที่ความดันสูงนี้ระบายความร้อนให้กับแหล่งรับความร้อน (ถ้าเป็นตู้เย็นหรือเครื่องปรับอากาศที่ใช้กันตามบ้าน แหล่งรับความร้อนก็คืออากาศที่อยู่รอบ ๆ แผงระบายความร้อน) ไอสารทำความเย็นก็จะควบแน่นกลายเป็นของเหลวที่ความดันสูง
 
เมื่อสารทำความเย็นที่เป็นเฟสของเหลวความดันสูงถูกลดความดันลง (เช่นด้วยการให้ขยายตัวผ่านวาล์วลดความดัน) ของเหลวบางส่วนจะมีการระเหยกลายเป็นไอ ทำให้อุณหภูมิของสารทำความเย็นลดลง (และมีความดันลดต่ำลงด้วย) ส่วนที่ว่าอุณหภูมิจะลดต่ำลงได้เท่าใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับชนิดของสารทำความเย็นที่ใช้และความดันที่ลดลง สารทำความเย็นที่มีอุณหภูมิต่ำลงนี้ก็สามารถไปรับความร้อนจากแหล่งที่ต้องการลดอุณหภูมิให้ต่ำลง ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนสภาพสารทำความเย็นจากของเหลวความดันต่ำ กลายเป็นไอที่ความดันต่ำแทน จากนั้นไอสารทำความเย็นที่ความดันต่ำก็จะถูกคอมเพรสเซอร์อัดให้มีความดันเพิ่มขึ้นอีกครั้ง และเข้าสู่วงรอบการทำงานใหม่
 
การทำให้แก๊สควบแน่นเป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้องได้นั้น แก๊สนั้นต้องมีอุณหภูมิวิกฤต (critical temperature หรือ Tc) สูงกว่าอุณหภูมิห้อง ดังนั้นสารทำความเย็นระบบแรกที่จะนำมาใช้นั้นจึงใช้สารทำความเย็นที่เมื่ออัดให้กลายเป็นไอความดันสูงพอ ก็สามารถใช้อากาศโอยรอบ (หรือน้ำหล่อเย็นที่ระบายความร้อนออกสู่อากาศอีกที) เป็นแหล่งความร้อนเพื่อควบแน่นให้มันเป็นของเหลวได้ (แบบตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศที่ใช้กันตามบ้านทั่วไป) แต่สารทำความเย็นพวกนี้มักจะไม่สามารถทำความเย็นที่อุณหภูมิต่ำมากได้
 
ในทางกลับกัน สารทำความเย็นที่ใช้ในระบบทำความเย็นที่อุณหภูมิต่ำจะไม่สามารถควบแน่นเป็นของเหลวได้ที่อุณหภูมิห้อง แต่จะควบแน่นได้ที่อุณหภูมิต่ำกว่าอุณหภูมิห้อง ดังนั้นในกรณีที่ต้องการการทำความเย็นที่อุณหภูมิต่ำมาก จึงมักต้องมีระบบทำความเย็นอย่างน้อยสองระบบ โดยระบบแรกนั้นเป็นระบบที่ใช้สารทำความเย็นที่สามารถทำให้เป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้องได้ และใช้การทำความเย็นของสารทำความเย็นระบบแรกนี้เป็นตัวรับความร้อนจากสารทำความเย็นระบบที่สองที่ใช้งานที่อุณหภูมิต่ำกว่า ดังเช่นในกรณีของกระบวนการผลิตเอทิลีนที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้ ระบบทำความเย็นระบบแรกใช้โพรพิลีน (propylene C3H6) เป็นสารทำความเย็นให้กับระบบที่ไม่ต้องการลดอุณหภูมิให้ต่ำมาก และใช้เป็นแหล่งรับความร้อนให้กับกระบวนการ vapour comression refrigeration ของระบบที่สองที่ใช้เอทิลีน (ethylene C2H4) เป็นสารทำความเย็น
 
ระบบ propylene refrigerant ที่ยกมาเป็นตัวอย่างในที่นี้ (รูปที่ ๑-๓) เป็นระบบความเย็นที่ระดับอุณหภูมิ 4 ระดับด้วยกันคือ 18, -4, -23 และ -40ºC โพรพิลีนจะถูกอัดเพิ่มความดันด้วยคอมเพรสเซอร์ (ชนิด 4 stage) ให้มีความดันประมาณ 17.8 kg/cm2 (ความดันในเรื่องนี้เป็นความดันเกจทุกค่า เว้นแต่จะมีระบุไว้เป็นอย่างอื่น) ซึ่งเมื่อผ่านเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนเพื่อระบายความร้อนออกแล้ว ไอโพรพิลีนก็จะควบแน่นเป็นของเหลวที่ความดันประมาณ 16.9 kg/cm2 ที่อุณหภูมิประมาณ 43ºC โพรพิลีนเหลวที่ความดันสูงนี้จะถูกใช้เป็นสารทำความเย็นที่อุณหภูมิ 18ºC โดยจะถูกลดความดันลง ณ หน่วยที่ต้องการใช้งาน ไอสารทำความเย็นที่เกิดขึ้นจะไหลต่อไปยังถังเก็บที่ทำหน้าที่เป็น suction drum (ความดันที่นี่เหลือประมาณ 9 kg/cm2) ให้กับคอมเพรสเซอร์ จากนั้นคอมเพรสเซอร์ก็จะทำการดูดไอโพรพิลีนออกจากถังเก็บนี้ เพื่อนำกลับเข้าสู่วงรอบทำความเย็นใหม่อีกครั้ง
 
รูปที่ ๑ แผนผังคร่าว ๆ แสดงแนวความคิดการออกแบบระบบ propylene refrigeration (จะเรียกว่า preliminary ก็ได้) ในรูปนี้แสดงถังเก็บโพรพิลีน (ที่ทำหน้าที่เป็น suction drum ให้กับคอมเพรสเซอร์ด้วย) เป็นถัง 4 ใบเรียงซ้อนกัน แต่ในความเป็นจริง (เช่นในรูปที่ ๒-๓) ไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้น เป็นถังแยกจากกันก็ได้

รูปที่ ๒ Process Flow Diagram (PFD) ระบบ propylene regfrigeration เมื่อเริ่มทำการออกแบบจริง ในที่นี้ถังเก็บโพรพิลีน (ที่ทำหน้าที่เป็น suction drum ด้วย) เป็นถัง 4 ใบแยกจากกัน แต่โดยหลักก็คือถังดังกล่าวควรอยู่ใกล้กับหน่วยที่ต้องการใช้สารทำความเย็น ไม่ใช่อยู่ใกล้กับตัวคอมเพรสเซอร์ พึงสังเกตว่าคอมเพรสเซอร์ในที่นี้ (B-1501 ทางด้านล่างของรูป) ใช้ไอน้ำความดันสูงเป็นตัวขับเคลื่อน ไม่ได้ใช้ระบบไฟฟ้า

รูปที่ ๓ ส่วนต่อของรูปที่ ๒

ที่ถังเก็บที่ทำหน้าที่รับไอโพรพิลีนอุณหภูมิ 18ºC นี้ (V-1504 ในรูปที่ ๓) จะมีโพรพิลีนที่เป็นของเหลวอยู่ส่วนหนึ่ง (ต้องเติมเข้าไปตอนเริ่มเดินเครื่องโรงงานด้วยการ bypass โพรพิลีนเหลวความดันสูงส่วนหนึ่งมายังถังนี้) ดังนั้นโพรพิลีนในถังจะอยู่ในสภาวะสมดุลของโพรพิลีนสองเฟสคือ ส่วนที่เป็นไอที่จะถูกคอมเพรสเซอร์ดูดออกไป และส่วนที่เป็นของเหลวที่จะใช้เป็นสารทำความเย็นที่อุณหภูมิ -4ºC ต่อไป
 
โพรพิลีนเหลวจากถังเก็บโพรพิลีนอุณหภูมิ 18ºC จะถูกใช้เป็นสารทำความเย็นที่อุณหภูมิ -4ºC ด้วยการลดความดันลงเหลือประมาณ 4.2 kg/cm2 ซึ่งไอโพรพิลีนที่เกิดขึ้นจะไหลต่อไปยังถังเก็บใบที่สอง (ที่ทำหน้าที่เป็น suction drum ด้วย) ถังใบที่สองนี้ก็มีลักษณะเช่นเดียวกับถังใบแรกคือมีส่วนที่เป็นไออยู่ด้านบนและส่วนที่เป็นของเหลวอยู่ด้านล่าง (อยู่ในสภาวะสมดุลระหว่างสองเฟสเช่นกัน) โดยส่วนที่เป็นไอจะถูกคอมเพรสเซอร์ดูดกลับไป และส่วนที่เป็นของเหลวจะถูกใช้เป็นสารทำความเย็นที่อุณหภูมิ -23ºC
ระบบทำความเย็นที่อุณหภูมิ -23ºC ได้จากการลดความดันของโพรพิลีนเหลวที่อุณหภูมิ -4ºC จากถังเก็บใบที่สองให้ลงเหลือประมาณ 1.8 kg/cm2 และเช่นเดียวกันกับสองขั้นตอนก่อนหน้านี้ ไอโพรพิลีนที่เกิดขึ้นจะไหลต่อไปยังถังเก็บใบที่สาม ส่วนที่เป็นไอจะถูกคอมเพรสเซอร์ดูดกลับไป โดยส่วนที่เป็นของเหลวจะถูกใช้เป็นสารทำความเย็นที่อุณหภูมิ -40ºC
 
โพรพิลีนเหลวที่อุณหภูมิ -23ºC นี้เมื่อถูกนำไปใช้เป็นสารทำความเย็นที่อุณหภูมิ -40ºC ด้วยการลดความดันลงเหลือประมาณ 0.4 kg/cm2 แล้ว ก็จะถูกดูดกลับไปยังคอมเพรสเซอร์เลย (อนึ่งการทำงานของคอมเพรสเซอร์นั้น ความดันแก๊สด้านขาเข้าเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่จะป้องกันไม่ให้คอมเพรสเซอร์เกิดการ surging ในที่นี้แก๊สไหลอยู่ในระบบปิด ไหลมาตามท่อมายังคอมเพรสเซอร์ ดังนั้นจึงควรต้องคำนึงด้วยว่าความดันในถังพักนั้นสูงพอ และความยาวท่อจากถังพักมายังคอมเพรสเซอร์นั้นไม่มากเกินไป จนทำให้ความดันแก๊สด้านขาเข้าคอมเพรสเซอร์นั้นต่ำจนทำให้เกิดการ surging ได้)

จากแผนผังที่นำมาแสดงเป็นตัวอย่างนั้น มีบางประเด็นที่อยากให้สังเกตดังนี้
 
ประเด็นแรกที่อยากให้สังเกตก็คือมีการนำเอาไออิ่มตัวของโพรพิลีนไปใช้เป็นตัวกลางให้ความร้อนแก่ reboiler (หม้อต้มซ้ำ) ของหอกลั่นที่ทำงานที่อุณหภูมิต่ำ ทำนองเดียวกับกับการใช้ไอน้ำให้ความร้อน แต่ในที่นี้ใช้ไออิ่มตัวของโพรพิลีนแทน ส่วนจะเอาไปใช้ที่ไหนนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แผนผังในรูปที่ ๑ นั้นมีการนำเอาไออิ่มของโพรพิลีนที่อุณหภูมิ 18ºC ไปใช้กับ reboiler ของหอ deethanizer แต่ในรูปที่ ๓ นั้นนำไปใช้กับ reboiler ของหอ low pressure propylene fractionation
 
ประเด็นที่สอง รูปที่ ๑ นั้นเป็นแผนผังคร่าว ๆ เบื้องต้นของระบบ แต่ตอนออกแบบจริงแล้วมันมีอีกหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องทำให้แผนผังเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเยอะมากได้เช่นในรูปที่ ๒ และ ๓ นอกจากนี้พึงเตือนสติไว้นิดนึงว่าระดับทำความเย็นที่จะทำนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นระดับ 18, -4, -23 และ -40ºC ดังที่กล่าวมาข้างต้น (ตัวเลขจากแผนผังในรูปที่ ๒ และ ๓) อาจเป็นระดับ 18, 3, -23 และ -40ºC ก็ได้ (ตัวเลขในรูปที่ ๑) และไม่จำเป็นต้องมี 4 ระดับดังที่กล่าวมาก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการออกแบบแต่ละกรณีไป
 
ประเด็นที่สามคือการเลือกใช้ไอน้ำเป็นตัวขับเคลื่อนคอมเพรสเซอร์ที่ใช้อัดไอโพรพิลีน อุปกรณ์ส่วนใหญ่ในโรงงานนั้นจะใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเป็นตัวขับเคลื่อน แต่ก็มีบ้างเหมือนกันที่เลือกใช้อากาศความดัน (เช่นปั๊มสารเคมีขนาดเล็ก หรือปั๊มถ่ายของเหลวจาก-ไปยังรถบรรทุก ที่ใช้ใน hazardous area) หรือใช้ไอน้ำเป็นตัวขับเคลื่อน 
  
ข้อเสียอย่างหนึ่งของการใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเป็นตัวขับเคลื่อนก็คือถ้าหากเกิดปัญหาไฟฟ้าดับ แม้จะเพียงแค่เสี้ยววินาทีก็ตาม อุปกรณ์จะหยุดการทำงานทันทีและจะไม่กลับมาทำงานอีกแม้ว่าไฟฟ้าจะกลับคืนมา (เรื่องนี้เป็นเรื่องปรกติเพราะเพื่อความปลอดภัยของระบบ เขาจึงออกแบบระบบไว้อย่างนั้นคือถ้าไฟฟ้าดับเมื่อใด สวิตช์จะเปลี่ยนมาอยู่ในตำแหน่งตัดวงจรและค้างอยู่ในตำแหน่งนั้น) ยิ่งเป็นการรับซื้อไฟฟ้าจากแหล่งภายนอกด้วย ทำให้มีความเสี่ยงที่ไฟฟ้าจะขาดไปเมื่อใดก็ได้โดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า ในกรณีเช่นนี้การใช้ไอน้ำเป็นตัวขับเคลื่อนก็เป็นทางเลือกหนึ่ง โดยเฉพาะกับอุปกรณ์ที่เป็นหัวใจของกระบวนการผลิต (เช่นคอมเพรสเซอร์ที่ใช้ในการเพิ่มความดันให้กับอีเทน) หรือเกี่ยวข้องกับความปลอดภัย (เช่นคอมเพรสเซอร์ของระบบทำความเย็น) เพราะแม้ว่าระบบไอน้ำมีปัญหา แต่ความดันไอน้ำที่ค้างอยู่ในระบบก็ยังสามารถทำให้อุปกรณ์ทำงานต่อไปได้ หรือไม่ก็ใช้การมีระบบผลิตไอน้ำสองระบบขึ้นไปที่ทำงานแยกจากกันและเดินคู่ขนานกัน
 
ตอนที่ ๒๑ ก็คงจบเพียงแค่นี้ เหลืออีกเพียงแค่ ๒ หรือ ๓ ตอนก็จะจบเนื้อหาบทความชุดนี้แล้ว

วันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ศพไม่เน่าด้วยน้ำมันก๊าด (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๑๑๓) MO Memoir : Sunday 23 October 2559

ตอนเรียนอยู่ต่างประเทศเคยมีพี่ที่เป็นนักเรียนไทยเล่าให้ฟังว่า ฝรั่งถามคำถามในทำนองว่าในเมื่อศาสนาพุทธสอนว่า การเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมชาติ และสอนให้รู้จักปล่อยวาง แล้วทำไมพิธีศพของคนไทยจึงต้องมีการเก็บศพเอาไว้หลาย ๆ วัน (ที่เห็นกันในปัจจุบันปรกติก็อย่างน้อย ๗ วัน) ก่อนเผา ไม่ทำพิธีให้เสร็จสิ้นไปโดยเร็ว (ดังเช่นพิธีการฝังในศาสนาของเขาที่กระทำกันภายในไม่กี่วันหลังการเสียชีวิต) ซึ่งแกก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน
 
จากการได้อ่านเรื่อเล่าหรือนิยายเกี่ยวกับผีของไทยที่แต่งขึ้นในยุคสมัยต่าง ๆ ผมเองรู้สึกว่ามันมีสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลา นั่นคือการ "ฝังศพ" หรือ "เก็บศพ" ถ้าเป็นเรื่องผีเก่า ๆ ที่เขียนโดยนักเขียนรุ่นเก่าในอดีตนั้น (เช่น เหม เวชกร, อ. อรรถจินดา) ที่เรื่องเขียนของท่านเหล่านั้นถือได้ว่าเป็นบันทึกรูปแบบการดำเนินชีวิตของคนในยุคที่ท่านผู้เขียนนั้นใช้ชีวิตมา มักจะไม่กล่าวถึงการเผาศพโดยเร็วหลังการเสียชีวิต แต่จะนำศพไปฝังหรือนำไปเก็บในโกดังเอาไว้ก่อน ถือเป็นเรื่องปรกติ ต่างจากในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดเรื่องราวทำนอง ศพนั้นมีการฟื้นคืนชีพขึ้นมาก ศพนั้นหายไปบ้าง วิญญาณผู้ตายยังวนเวียนอยู่ยังไม่ไปไหน ฯลฯ ขึ้นมามากมาย
  
บันทึกของ Otto E. Ehlers ในหนังสือ "On horseback through Indochina Vol. 3 Vietnam, Singapore, and Central Thailand" (จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ White Lotus) ที่เข้ามาเยือนภูมิภาคนี้ในช่วงปีค.ศ. ๑๘๙๒-๑๘๙๓ (พ.ศ. ๒๔๓๕-๒๔๓๖ หรือช่วงรัชกาลที่ ๕) ได้ให้ข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจในระหว่างการเข้าไปแวะเยือนวัดสระเกศ ผู้เขียนเล่าถึงการเข้าไปเยือนบริเวณที่ทำการเผาศพที่ได้การเผาศพบนตระแกรงเหล็ก การนำศพมาเชือดให้แร้งกิน ตามด้วยการให้ฝูงสุนัขเข้ามากินกระดูกที่เหลือ นอกจากนี้ยังมีการขังสุนัขไว้ในโลงที่บรรจุโครงกระดูก เพื่อให้สุนัขแทะกินเนื้อส่วนที่ยังคงหลงเหลือติดกระดูกอยู่ ทั้งนี้เพื่อให้ "การเผาศพนั้นทำได้ง่ายขึ้น"
 
Ehlers บันทึกเอาไว้ว่าแม้ว่าการเผาศพนั้นจะเป็นธรรมเนียมของชาวสยาม แต่การเผาศพด้วยเมรุก็มีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นการให้แร้งและสุนัขจัดการกับส่วนที่เป็นเนื้อก่อน จากนั้นจึงค่อยเผากระดูกที่เหลือ จึงเป็นการประหยัดไม้ฟืน ซึ่งตรงนี้ผมเห็นว่า Ehlers น่าจะเข้าใจผิด เพราะกับชาวสยามที่ทำหน้าที่เป็นผู้นำทางให้กับ Ehlers ก็ยังไม่เคยได้ยินหรือได้เห็นวิธีการดังกล่าว (แสดงว่ามันไม่เป็นสิ่งที่ทำกันทั่วไป) การจัดการกับศพในวัดสระเกศที่ Ehlers เห็นนั้นน่าจะเป็นศพนักโทษ
 
แต่มันก็ยังมีวิธีง่าย ๆ อีกวิธีในการทำให้ศพนั้นเหลือแต่กระดูก ก็คือ "การปล่อยให้ศพเน่าไปตามธรรมชาติ" โดยเอาศพนั้นไปฝังหรือไปเก็บไว้ในที่ลับตา ซึ่งคงต้องเก็บไว้นานพอ จากนั้นจึงค่อยนำเอากระดูกที่เหลืออยู่มาเผา และนี่ก็คงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดธรรมเนียมการเก็บศพเอาไว้ก่อนเป็นเวลานาน พอได้เวลาที่เหมาะสมจึงค่อยเอามาเผา
 
ตั้งแต่เดิมมาในบ้านเราสำหรับครอบครัวที่นับถือศาสนาพุทธ เมื่อมีผู้ใดผู้หนึ่งเสียชีวิตก็ต้องมีการสวดทำบุญก่อน จะสามวันหรือเจ็ดวันก็ตามแต่ จากนั้นจึงค่อยจัดการกับศพนั้นต่อไป ซึ่งแต่ก่อนก็คงจะเป็นการเก็บเอาไว้เพียงอย่างเดียว แต่ปัจจุบันก็มีการเผาเพิ่มเติมเข้ามา และช่วงที่เป็นปัญหาก็คือช่วงของการสวดนี่แหละ
 
ในอดีตนั้นการให้บริการรักษาศพคนตายไม่ให้เน่ายังอยู่ในบริเวณจำกัด ไม่เหมือนในปัจจุบันที่มีบริการทั้งการฉีดยาดองศพและการแช่แข็งในโลงเย็น (ตู้เย็นแช่ศพ ซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้ไฟฟ้า) ให้เรียกใช้บริการอย่างง่ายดาย ปัญหาเรื่องศพเริ่มขึ้นอืดหรือส่งกลิ่นในระหว่างงานสวดวันหลัง ๆ จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ วิธีการหนึ่งที่นาวาเอก สวัสดิ์ จันทนีย์ บันทึกไว้ในหนังสือนิทานชาวไร่เล่ม ๒ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๐๙ ที่ใช้แก้ปัญหาศพเน่าเหม็นส่งกลิ่นคือการใช้ "น้ำมันก๊าดกรอกปากศพ" ส่วนวิธีการเป็นอย่างไรนั้นอยากให้ลองอ่านเอาเองก่อนในรูปที่สแกนมาให้ดู
 


ในปัจจุบัน ด้วยการที่วัดต่าง ๆ มีเมรุเผาศพที่ปกปิดมิดชิดและเรียกใช้บริการป้องกันไม่ให้ศพเน่านั้นได้ง่าย การจัดการเผาศพหลังการเสียชีวิตในเวลาไม่เกิน ๗ วันจึงเป็นเรื่องปรกติที่เห็นกันทั่วไป การเก็บศพเอาไว้จนถึง ๑๐๐ วันหรือนานกว่านั้นจึงไม่ค่อยพบเห็น และถ้าเก็บไว้ก็คงด้วยเหตุผลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเผา

ส่วนที่ว่าน้ำมันก๊าดมันทำให้ศพไม่เน่าได้อย่างไรนั้น อันนี้ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกัน

วันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2559

เพื่อความสำเร็จในหน้าที่การงาน MO Memoir : Thursday 20 October 2559

"การศึกษาชาติตะวันตกนั้นเน้นไปที่ฝึกคนให้เป็นลูกจ้างของระบบทุนนิยม" เป็นคำกล่าวที่ผู้ที่ทำวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์เอ่ยให้ผมฟังนานมาแล้ว ซึ่งผมก็เห็นด้วยกับข้อสังเกตดังกล่าว เห็นได้จากการที่เราประเมินคุณภาพบัณฑิตที่จบออกไปว่าเรียนจบแล้วเอาความรู้ที่เรียนไปนั้น ไปใช้ทำงานได้ไหม โดยให้ความสำคัญมากกับความพึงพอใจของ "นายจ้าง" แทนที่จะเป็นของ "ผู้เรียน"

ระบบการจ้างงานแบบทุนนิยมนั้นสร้างภาพ "ความสำเร็จในตำแหน่งหน้าที่การงาน" ว่าเป็นสิ่งเดียวกับ "การประสบความสำเร็จในชีวิต
  
ในขณะเดียวกันระบบการจ้างงานแบบทุนนิยมก็ยังสร้างภาพ "ผู้ที่ประสบความสำเร็จในตำแหน่งหน้าที่การงาน" คือคน "คนเก่ง"

ว่าแต่ว่า "คนเก่ง" นั้นในสายตาของพวกคุณควรเป็นคนเช่นใด

"คนเก่ง" คือคนที่อยู่นำหน้า "คนอื่น" โดยทิ้ง "คนอื่น" ไว้เบื้องหลัง
 
หรือ "คนเก่ง" คือคนที่พา "คนอื่น" เดินไปข้างหน้าพร้อม ๆ กัน

คำถามถัดมาก็คือ "คนอื่น" นั้นคือใคร
 
วัฒนธรรมการทำงานของบางองค์กรนั้น กำหนดนิยามของ "คนอื่น" ก็คือ "คนอยู่ในที่ทำงานเดียวกัน" ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นการแข่งขันกันระหว่างเพื่อร่วมงาน ในขณะที่วัฒนธรรมการทำงานขององค์กรอื่นนั้น จะเน้นไปที่การทำงานร่วมกันระหว่างเพื่อร่วมงาน ซึ่งดูเผิน ๆ แล้วไม่น่าจะมี "คนอื่น" ที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง แต่จากมุมมองส่วนตัวแล้ว ไม่ว่าวัฒนธรรมการทำงานจะเป็นแบบไหนก็ตาม ในการขึ้นสู่ความสำเร็จในหน้าที่การงาน ก็มักจะมี "คนอื่น" ที่ถูกทิ้งเอาไว้เบื้องหลังเป็นประจำ โดยนิยามของ "คนอื่น" ในที่นี้ก็คือ "คนในครอบครัว"

บางคนเลือกที่จะผลักดัน "ตนเอง" ให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน โดยผลักภาระทางครอบครัว (ไม่ว่าจะเป็นงานบ้านหรือการเลี้ยงลูก) ให้เป็นหน้าที่ของ "คู่สมรส" ประเภทที่เรียกว่าฉันจะทุ่มกับงานเพื่อความก้าวหน้าในตำแหน่ง ส่วนตัวคู่สมรสก็ดูแลบ้านและเลี้ยงลูกไป ไม่ต้องไปทุ่มอะไรให้กับงาน แบบนี้ถ้าจะเรียกว่า คู่สมรสต้องเป็นผู้จ่ายด้วยการหยุดความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงาน (เพราะไม่สามารถทุ่มเวลาให้กับงานได้ หรืออาจต้องออกจากงาน) เพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งมีความเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงาน ก็คงจะไม่ผิดนัก
 
คิดจะทำแบบนี้บางทีก็ต้องระวังให้ดีเหมือนกัน เพราะเคยเห็นตัวอย่างอยู่เหมือนกัน ประเภทที่ฝ่ายหนึ่งทุ่มให้กับงานเต็มที่ เช้าจรดค่ำ ไม่มีวันหยุด คู่สมรสไม่ต้องห่วงเรื่องหาเงินใช้ อีกฝ่ายขอรับผิดชอบเรื่องหาเงินเพียงฝ่ายเดียว ให้คู่สมรสเลี้ยงลูกไป ไม่ต้องทำงานอะไร วันดีคืนดีฝ่ายคนทุ่มให้กับงานเกิดปัญหาสุขภาพ ไม่สามารถทำงานต่อหรือช่วยเหลือตนเองได้ ต้องออกจากงาน กรณีแบบนี้นายจ้างเขาไม่เดือดร้อนเท่าใดหรอกครับ เดี๋ยวก็หาคนมาทำงานแทนได้ แต่ทางครอบครัวนี่ซิ ใครจะเป็นผู้หาเลี้ยงแทน

บางคนก็เลือกที่จะผลักดัน "ตนเอง" ให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน โดยเลือกที่จะไม่มีคู่สมรส (ประเภทอยู่ตัวคนเดียว) หรือสมรสแต่ไม่คิดจะมีลูก เพราะต้องการมีอิสระเสรีในการใช้ชีวิต การเดินทาง การท่องเที่ยว ซึ่งก็เป็นความจริงครับ แต่ถ้าคิดจะทำแบบนี้ก็ต้องเตรียมพร้อมนะครับว่าตนเองต้องเป็นคนจ่าย แล้วต้องจ่ายด้วยอะไรหรือครับ ต้องแก่ หรือเกษียณก่อนถึงจะเข้าใจดีครับ ว่าความเหงามันเป็นเช่นใด เว้นแต่ว่าวางแผนไว้ว่าเกษียณเมื่อใดจะเข้าไปอยู่วัด

บางครอบครัวทั้งสามีและภรรยา ก็เลือกที่จะมีลูก (เป็นเพราะอยากมี มีโดยไม่ตั้งใจ หรือมีพอเป็นพิธี ก็ตามแต่) และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานด้วยการทุ่มเทกับการทำงานให้เต็มที่ไปพร้อมกัน แบบนี้ถ้าจะเรียกว่า "ลูก" ต้องเป็นคนจ่าย ก็คงจะไม่ผิดนัก ได้ยินมาหลายรายประเภทที่พ่อแม่มีตำแหน่งหน้าที่การงานสูง รายได้สูง สามารถจ้างคนขับรถให้ทำหน้าที่ขับรถรับส่งลูกไป-กลับโรงเรียน สามารถจ้างแม่บ้านให้มาทำหน้าที่เลี้ยงดูลูกแทนตนเอง จ้างครูสอนพิเศษสอนลูกทำการบ้านตอนเย็นหลังเลิกเรียน ส่งลูกไปเรียนพิเศษสารพัดอย่างในวันเสาร์-อาทิตย์ ทั้งนี้เพื่อที่ตนเองจะได้สามารถทุ่มเทกับงานได้เต็มที่แบบไม่มีวันหยุด โดยไม่ต้องกังวลว่าลูกจะมีข้าวเช้ากินหรือยัง ใครจะทำข้าวเย็นให้กิน ใครจะพาเข้านอน ใครจะดูแลเสื้อผ้าสวมใส่ไปโรงเรียน และบางทีคนขับรถหรือแม่บ้านก็ยังต้องทำหน้าที่เป็นผู้สอนการบ้าน หรือเป็นผู้ปกครองให้ด้วยเวลาที่โรงเรียนขอนัดประชุมผู้ปกครอง อะไรทำนองนี้

ลองไปดูหน้าโรงเรียนที่รถติดเวลาส่งนักเรียนตอนเช้า ๆ ดูซิครับ ผมเห็นอยู่เป็นประจำ พ่อแม่บางรายจะพยายามนำรถจอดชิดขอบทางเท้าเพื่อส่งลูก เพื่อที่จะให้ลูกได้ลงรถโดยปลอดภัย แม้ว่าต้องนำรถต่อแถวยาว ในขณะที่พ่อแม่ (หรือคนขับรถ) หลายราย จะขับรถไปจอดให้ตรงกับหน้าประตูโรงเรียนมากที่สุด โดยไม่สนใจว่าจะอยู่เลนไหน เลนข้าง ๆ จะมีรถวิ่งมาหรือเปล่า แล้วปล่อยให้ลูกข้ามถนนตัดหน้ารถที่เคลื่อนตัวอยู่ทางด้านข้าง ทั้งนี้เพื่อให้หมดภาระการส่งลูกเร็ว ๆ จะได้เอาเวลาไปทำงานยังที่ทำงานซะที

ผมมีโอกาสได้เห็นพ่อแม่บางราย ที่มีลูกที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน โดยทิ้งพ่อแม่ไว้เบื้องหลังให้อยู่บ้านกันตามลำพังสองคน โดยอาจมีหรือไม่มีเด็กรับใช้คอยดูแล (เช่นประเภทลูกไปตั้งหลักแหล่งใหม่ยังต่างประเทศ เพราะมีรายได้ดีกว่าทำงานในประเทศ ส่วนพ่อแม่ก็เฝ้าบ้านที่อาศัยอยู่ในเมืองไทยไปวัน ๆ รายที่ยังสามารถเดินไปไหนได้ด้วยตนเองหรือยังขับรถได้ ก็ยังไม่ค่อยมีปัญหาเท่าใดนัก แต่รายที่อยู่คนเดียว อายุมากแล้วขับรถก็ไม่ไหว อยู่ในซอยลึกเดินทางเข้าออกลำบาก ก็ยังได้อาศัยอาหารจากการฝากเพื่อนบ้านหรือเด็กรับใช้ที่จ้างมานั้นซื้อกับข้าวมาเก็บไว้ หรือไม่ก็จากรถขายกับข้าวหรือรถขายอาหารที่แวะผ่านเข้ามาถึงก้นซอย

ได้มีโอกาสเห็นคนที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในตำแหน่งหน้าที่การงาน เขาทุ่มให้กับการทำงานด้วยการมาถึงที่ทำงานแต่เช้าตรู่ ออกจากที่ทำงานหลังดวงอาทิตย์ตก วันหยุดราชการใด ๆ ที่อยู่ในช่วงวันจันทร์-ศุกร์ หรือช่วงเทศกาลหยุดยาวก็ไม่หยุดงาน แถมวันเสาร์ (ซึ่งคนอื่นเขาหยุดงานกัน) ก็ยังมาทำงานเป็นประจำอีก จะไม่โผล่มาที่ทำงานก็เพียงแค่วันอาทิตย์เท่านั้น แถมยังกดดันให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำแบบเดียวกับเขาอีก 
  
"ใครที่ยังมีพ่อแม่อยู่ ก็รีบ ๆ ดูแลท่านด้วยนะ" นั่นเป็นข้อความที่เขาเที่ยวบอกใครต่อใครที่เขารู้จัก เขาอาศัยอยู่บ้านเดียวกันกับคุณพ่อคุณแม่ของเขา แต่เพิ่งจะมีเวลากลับไปดูแลคุณพ่อที่อยู่ในวัยชราของเขาเพียงแค่สัปดาห์เดียวก่อนที่คุณพ่อของเขาจะเสียชีวิต หลังจากที่คุณพ่อของเขาเสียชีวิต เขาตัดสินใจเลิกการมาทำงานตั้งแต่เช้าตรู่ เลิกกลับค่ำ เลิกทำงานในวันเสาร์หรือวันหยุดราชการ เลิกนัดประชุมหลังเวลาเลิกงาน เพื่อที่จะได้ใช้เวลาไปอยู่กับคุณแม่ที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่คุณแม่ผู้ชราภาพของเขาก็เสียชีวิตในอีกไม่กี่เดือนถัดมา
 
หลังการเสียชีวิตของบุพการีของเขาทั้งสองท่าน ปรากฏว่าพฤติกรรมการทำงานกลับกลายเป็นทำงานหนักยิ่งขึ้นกว่าเดิมอีก จนผู้คนรอบข้างที่ทำงานอยู่ด้วยกันถึงกับเปรยว่า "นี่เขาไม่รู้หรือไงว่าเขายังมีลูกเมียอยู่"

สิ่งที่เล่ามาข้างต้นมันไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับคนทุกคน เป็นเพียงแค่ประสบการณ์ส่วนตัวบางส่วนเท่านั้น ทั้งที่ได้ยินได้ฟังมาจากคนใกล้ชิด และประสบพบเห็นด้วยตนเอง 
  
แต่ก็เชื่อว่ายังมีคนจำนวนไม่น้อย เลือกที่จะประสบความสำเร็จในตำแหน่งหน้าที่การงาน โดยเลือกที่จะทิ้งคนอื่นซึ่งก็คือคนในครอบครัวเอาไว้เบื้องหลัง โดยที่เขาไม่รู้ตัว

ถ้านิยามของคำว่า "ความสำเร็จในตำแหน่งหน้าที่การงาน" คือการที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง การได้รับรางวัลจากหน่วยงานที่ตนเองทำงานอยู่ ซึ่งนิยามนี้ก็เป็นสิ่งที่เห็นกันทั่วไปในองค์กรต่าง ๆ ใครที่อยากจะประสบความสำเร็จตามนิยามนี้ก็ต้องเตรียมพร้อมว่าต้องมีคนจ่ายให้กับความสำเร็จนั้น ว่าแต่คน ๆ นั้นจะเป็นใครเท่านั้นเองครับ

แต่ถ้านิยามของคำว่า "ความสำเร็จในตำแหน่งหน้าที่การงาน" คือการได้รับความเคารพนับถือจากผู้ที่เคยอยู่ภายใต้การบังคับบัญชา การได้รับความยอมรับในเรื่องความรู้ ความสามารถ และความพึงพอใจจากผู้รับบริการ การมีเวลาให้กับครอบครัวและญาติพี่น้อง ก็ต้องเตรียมรับความจริงว่าตัวเองอาจต้องเป็นคนจ่าย ด้วยการที่อาจไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งหน้าที่ในหน่วยงานที่ตนเองทำงานนั้น

สำหรับพวกคุณทั้ง ๕ คนที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในวันนี้ และกับ Memoir ฉบับนี้ที่เป็นฉบับสุดท้ายที่ผมส่งตรงให้กับพวกคุณทั้ง ๕ ทางอีเมล์ ก็ต้องขอแสดงความยินดีที่ได้ฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ มาจนถึงวันนี้ได้ (ขอโทษด้วยที่ไม่ได้อยู่รอตอนออกจากหอประชุม) และคงฝากทิ้งท้ายไว้ด้วยข้อความที่ผมเขียนไว้ในส่วนคำนำของ "MO Memoir รวมบทความชุดที่ ๑๒ แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์ ๒๕๕๗" ที่แจกให้กับพวกคุณไปเมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่า
 
"๒ ปีที่ผ่านมา สำหรับผมแล้ว เป็นช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตที่ต้องขอยอมรับว่ามีหลากหลายเรื่องราวให้วิตกกังวล
แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่ชีวิตการทำงานมีความสุขมากเช่นกัน
จากการที่ได้ทำงานร่วมกับทีมงานที่พร้อมจะเรียนรู้และเหนื่อยยากไปด้วยกัน

เราต่างก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน
ฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ ไปด้วยกัน
เพื่อไปถึงจุดมุ่งหมายพร้อมกัน

บ่ายของวันที่พวกคุณมาจัดงานเลี้ยงวันเกิดเล็ก ๆ ให้ผมนั้น
อาจถือได้ว่าเป็นวันที่เราต่างได้เดินทางมาถึงจุดสิ้นสุดของเส้นทางการเดินทางร่วมกันแล้ว
และเป็นวันเริ่มต้นของแต่ละคนในการที่จะเริ่มเดินการเดินทางในเส้นทางที่ตัวเองเลือกต่อไป

ขอให้ทุกคนพบแต่ความสุขตลอดไป"