วันพฤหัสบดีที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

รถไฟ ไปเรื่อย ๆ (๒) รางแคบดี หรือรางกว้างดี MO Memoir : Thursday 15 February 2561

"ตามความเห็นของผม ไม่ใช่เพียงการติดต่อค้าขายที่มีอยู่ตลอดเวลาเท่านั้นที่เป็นสาเหตุสำคัญของการสร้างเส้นทางรถไฟสายโคราช แต่เป็นการใคร่ครวญทางการเมืองและยุทธศาสตร์มากกว่า เส้นทางจากกรุงเทพฯ ไปยังแม่น้ำโขงต้องผ่านโคราช ความตั้งใจที่จะไปถึงแม่น้ำโขงให้เร็วที่สุดหากจำเป็น น่าจะมีส่วนทำให้เกิดเส้นทางรถไฟของเราขึ้นมา ที่นี้ถือกันว่าเป็นความดีของคุณเบทเกอเจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการแต่เพียงผู้เดียวที่ทำให้รัฐบาลสยามตัดสินใจสร้างทางรถไฟในที่สุด หลังจากที่มีการตัดสินใจครั้งนี้ไปแล้วคุณเบทเกอยังต้องเอาชนะความยากลำบากอีกเป็นครั้งที่สอง รัฐบาลต้องการให้สร้างทางรถไฟแบบรางแคบ แต่คุณเบทเกอสามารถทำให้มีการสร้างทางรถไฟแบบรางมาตรฐานได้สำเร็จ ..."

ย่อหน้าข้างบนนำมาจากหน้า ๕๑ ของหนังสือ "กำเนิดการรถไฟในประเทศไทย" ที่แปลจากบันทึกของ ลูอิส ไวเลอร์ เป็นบันทึกที่เขียนที่ "หินลับ" (สถานีหินลับ อยู่ที่ อ. มวกเหล็ก จ. สระบุรี) ในวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๙๔


รูปที่ ๑ หัวรถจักรที่เคยทำหน้าที่เป็นหัวลากขบวนรถไฟเล็กบรรทุกไม้ในช่วงที่มีการทำป่าไม้ในป่าที่เคยมีตั้งแต่ชลบุรีไปจนถึงระยอง ปัจจุบันตั้งอยู่ ณ หน้าที่ทำการเทศบาล อ. ศรีราชา รูปนี้ถ่ายไว้เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๕๔ รถไฟเล็กขบวนนี้วิ่งบนรางกว้าง 75 เซนติเมตร

ขนาดความกว้างทางรถไฟ (track gauge) เป็นระยะที่วัดจากขอบด้านในของรางฝั่งหนึ่งไปยังขอบด้านในของรางอีกฝั่งหนึ่ง ในช่วงเวลานั้นรถไฟส่วนใหญ่ในยุโรปใช้รางที่มีขนาดกว้าง 1,435 mm (4 ft 8.5 in) และเรียกความกว้างขนาดนี้ว่า "Standard gauge" ขนาดความกว้างที่แคบกว่านี้จะเรียกว่า "Narrow gauge" และขนาดความกว้างที่กว้างกว่าจะเรียกว่า "Broad gauge" รถไฟไทยที่วิ่งกันอยู่ในปัจจุบันใช้ขนาดความกว้างของราง 1,000 mm หรือเรียกว่า "Metre gauge"

ในการถ่ายน้ำหนักนั้น น้ำหนักจากตู้รถจะถ่ายลงสู่เพลา แรงกดจากเพลาถ่ายลงสู่ล้อ แรงกดจากล้อถ่ายลงสู่ราง แรงกดจากรางกระจายลงสู่ไม้หมอน และแรงกดจากไม้หมอนกระจายลงสู่พื้นทาง
 
รถยนต์บรรทุกที่บรรทุกของหนัก ๆ จำเป็นต้องมีล้อเพิ่มมากขึ้น เพื่อกระจายแรงกดให้กับแต่ละล้อเพื่อไม่ให้สูงเกินกว่าที่ถนนจะรองรับได้ อย่างเช่นรถหนัก 21 ตัน ถ้าเป็นรถ 6 ล้อ แรงกดที่แต่ละล้อก็จะอยู่ที่ 3.5 ตัน แต่ถ้าเป็นรถ 10 ล้อแรงกดที่แต่ละล้อก็จะลดเหลือ 2.1 ตัน (ไม่ต้องกังวลว่าถนนจะทรุด) รถไฟก็เช่นเดียวกัน เพียงแต่ล้อรถไฟนั้นมันไม่ได้กดพื้นโดยตรง ล้อรถกดลงบนรางที่ส่งแรงต่อไปให้ไม้หมอนอีกทีที่เป็นตัวที่กดพื้นโดยตรง ดังนั้นถ้าไม้หมอนมีพื้นที่มาก แรงกดก็จะกระจายตัวออกไปได้ดี ทางรถไฟที่มีขนาดความกว้างของรางที่มาก ไม้หมอนก็มีขนาดยาวตามไปด้วย ทำให้มีพี้นที่กระจายน้ำหนักได้มากขึ้น แรงกดต่อหน่วยพื้นที่จึงลดลง ทำให้สามารถรองรับน้ำหนักบรรทุกได้มากขึ้น
 
ขนาดเหล็กที่ใช้ทำรางรถไฟก็มีส่วนสำคัญในการรับน้ำหนัก ขนาดเหล็กที่ใช้ทำรางรถไฟนี้จะบอกเป็นน้ำหนักต่อหน่วยความยาว (ปอนด์ต่อหลา หรือกิโลกรัมต่อเมตร) ตัวเลขที่สูงหมายถึงรางที่มีขนาดที่หนาขึ้น ทำให้รางรับแรงกดได้มากขึ้น และขนาดของรางเหล็กนี้ยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่ต้องพิจารณาในการที่จะให้รถไฟนั้นวิ่งด้วยความเร็วที่สูงขึ้น รถไฟที่วิ่งเร็วขึ้นก็ต้องการรางเหล็กที่มีขนาดใหญ่ขึ้นด้วย



รูปที่ ๒ รถไฟ "Tilt train" ของออสเตรเลีย ที่โฆษณาว่าสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 210 km/hr (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Electric_Tilt_Train)
 
ดังนั้นในทางปฏิบัติแล้วเราสามารถทำให้รถไฟที่ใช้เส้นทางรถไฟเส้นหนึ่ง สามารถทำความเร็วได้สูงขึ้นและรับน้ำหนักบรรทุกได้มากขึ้นในระดับหนึ่ง โดยไม่จำเป็นต้องใช้รางที่กว้างขึ้น ด้วยการเปลี่ยนขนาดเหล็กที่ใช้ทำรางให้ใหญ่ขึ้นและทำการปรับปรุงการวางราง (เช่นปรับแนวความโค้ง เพิ่มปริมาณหินรองรับรางให้มากขึ้น) รถไฟของออสเตรเลียที่ใช้รางที่มีขนาดความกว้าง 1,063 mm (3 ft 6 in) โฆษณาว่าสามารถทำความเร็วสูงได้ถึง 210 km/hr (รูปที่ ๒ ข้างบน) แต่ถ้าต้องการให้รถไฟวิ่งด้วยความเร็วที่สูงขึ้นไปอีก และรองรับน้ำหนักบรรทุกได้มากขึ้นไปอีก ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องใช้ขนาดความกว้างทางรถไฟที่มากขึ้น
 
แม้ว่ารางแบบ narrow gauge หรือรางแคบนั้นจะมีข้อจำกัดในการใช้งาน คือใช้ความเร็วและรองรับน้ำหนักบรรทุกได้น้อยว่ารางความกว้างมาตรฐานหรือ standard gauge แต่ narrow gauge ก็มีข้อดีตรงที่ว่ามีค่าก่อสร้างที่ถูกกว่า สามารถวางรางให้มีรัศมีวงเลี้ยงที่แคบได้ จึงเหมาะกับภูมิประเทศบางแห่งเช่นที่เป็นภูเขา

สยามไม่ได้เป็นประเทศแรกในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สร้างทางรถไฟ ก่อนที่สยามจะสร้างทางรถไฟนั้น อังกฤษได้ทำการสร้างทางรถไฟเอาไว้ในพม่าและคาบสมุทรมลายู ฝรั่งเศสก็ได้สร้างทางรถไฟเอาไว้เหมือนกันในดินแดนที่ฝรั่งเศสปกครอง (อินโดจีนฝรั่งเศส) และเนเธอร์แลนด์ก็ได้สร้างทางรถไฟเอาไว้แล้วในอินโดนีเซีย ขนาดความกว้างทางรถไฟที่อังกฤษและฝรั่งเศสสร้างเอาไว้นั้นคือ metre gauge ทั้งนี้อาจเป็นเพราะในดินแดนเหล่านี้ไม่ได้มีผู้คนมาก และสร้างเพื่อการขนส่งสินค้าเป็นหลัก (เช่นดีบุกและยางพารา)

ยุคสมัยนั้น การเคลื่อนย้ายกำลังพลทางบกอาศัยเส้นทางรถไฟเป็นหลัก เมื่อกองทัพของประเทศหนึ่งสามารถรุกคืบหน้าเข้าไปในดินแดนของอีกประเทศหนึ่งได้ ถ้าหากสองประเทศนั้นมีขนาดความกว้างของรางรถไฟที่เท่ากัน เพียงแค่ทำการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟของสองประเทศเข้าด้วยกัน รถไฟของอีกประเทศหนึ่งก็จะสามารถแล่นเข้าไปใช้เครือข่ายเส้นทางรถไฟของอีกประเทศหนึ่งได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดแนวความคิดทางทหารในการป้องกันประเทศว่า (โดยเฉพาะประเทศที่เป็นฝ่ายตั้งรับ) ควรเลือกใช้ขนาดความกว้างของรางรถไฟที่แตกต่างไปจากประเทศเพื่อนบ้าน (ที่คาดว่าจะเป็นผู้บุกรุก) เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้อีกฝ่ายหนึ่งนั้น ถ้าสามารถบุกรุกคืบหน้าเข้ามาในดินแดนได้ สามารถทำการส่งกำลังบำรุงได้สะดวก
 
ประเด็นตรงนี้ทำให้มีการถกเถียงกัน (แบบไม่รู้ว่ามีหลักฐานยืนยันหรือไม่) ว่าการที่เส้นทางรถไฟสายแรกของไทยนั้น (กรุงเทพ-โคราช) ที่เลือกใช้รางความกว้างมาตรฐานหรือ standard gauge ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ทางฝ่ายอังกฤษหรือฝรั่งเศสสามารถเข้ามาใช้ระบบเครือข่ายเส้นทางรถไฟในประเทศไทยได้ในกรณีที่มีความขัดแยังทหารเกิดขึ้น แต่จากการศึกษาของ Ichiro Kakizaki (ในหนังสือ "Rails of the Kingdoms. The History of Thai Railways" สำนักพิมพ์ White Lotus Press ปีค.ศ. 2012) พบว่าในช่วงแรกนั้นทางฝ่ายไทยต้องการสร้างรางขนาด "metre gauge" ที่เหมือนกับประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยเหตุผลที่ว่ามีค่าก่อสร้างที่ถูกกว่า แต่ทางฝ่ายวิศวกรชาวเยอรมันสามารถชักจูงให้สร้างรางขนาด "standard gauge" ได้ด้วยการชี้ให้เห็นการใช้เส้นทางเพื่อการบรรทุกสินค้าที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต เมื่อเครือข่ายเส้นทางรถไฟนั้นขยายตัวออกไป (โดยเฉพาะยังที่ราบลุ่มภาคกลางที่เป็นแหล่งปลูกข้าวและภาคเหนือที่เป็นแหล่งทำไม้) เส้นทางรถไฟทางด้านฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ทั้งสายเหนือและสายอีสาน) เมื่อแรกเริ่มสร้างนั้นจึงเป็นขนาด "standard gauge" 
  
ตรงนี้ถ้าดูเส้นทางรถไฟที่มีอยู่ในสมัยนั้น (รูปที่ ๓) จะเห็นว่าข้อกังวลที่ว่าต่างชาติจะสามารถเข้ามาใช้เส้นทางรถไฟของไทยได้นั้นถ้าหากใช้รางที่มีความกว้างขนาดเดียวกันไม่น่าจะเป็นประเด็น เพราะเส้นทางในประเทศเพื่อนบ้านในขณะนั้นต่างก็อยู่ห่างไกลจากเส้นทางรถไฟที่สยามกำลังจะวาง ข้อกังวลตรงนี้น่าจะเป็นสิ่งที่คนยุคหลังคิดขึ้นเองมากกว่า
 
ส่วนการสร้างเส้นทางด้านฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาที่สร้างขึ้นภายหลังในสภาพแวดล้อมทางด้านการเมืองระหว่างประเทศที่แตกต่างออกไปใช้ราวกว้างขนาด "metre gauge" ด้วยเหตุผลที่ว่าต้องการประหยัดงบประมาณและเพื่อสามารถเชื่อมต่อเข้ากับเส้นทางรถไฟที่อังกฤษสร้างไว้ในคาบสมุทรมลายูได้


รูปที่ ๓ เส้นทางรถไฟในช่วงปี ค.ศ. ๑๙๐๐ หรือประมาณช่วงปลายรัชกาลที่ ๕ ต่อต้นรัชกาลที่ ๖ (จากหน้า ๔ ของหนังสือของ Ichiro Kakizaki)

ไม่มีความคิดเห็น: