วันอังคารที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ระเบิดในที่โล่ง-ระเบิดในที่ปิด MO Memoir : Tuesday 15 May 2555


เนื้อหาในบันทึกฉบับนี้ใช้ความรู้พื้นฐานที่เคยเล่าไว้ในบันทึกก่อนหน้านี้ ๓ ฉบับคือ

ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑๐ วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๑ เรื่อง "เชื้อเพลิงและการเผาไหม้ (1) คุณสมบัติทั่วไป"

ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑๑ วันอังคารที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๑ เรื่อง "เชื้อเพลิงและการเผาไหม้ (2) การเผาไหม้และการระเบิด" และ

ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑๔๐ วันพุธที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เรื่อง "Electrical safety for chemical processes"

ในการระเบิดของเชื้อเพลิง (ที่ไม่ใช่วัตถุระเบิดและไม่ใช่สารที่สามารถสลายตัวด้วยตนเอง) นั้นจะมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วยกัน ๓ ปัจจัยคือ (ก) สารออกซิไดซ์ (ข) เชื้อเพลิง และ (ค) พลังงานกระตุ้น
การระเบิดจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการผสมกันระหว่างสารออกซิไดซ์และเชื้อเพลิงในสัดส่วนที่พอเหมาะ ที่เรียกว่าอยู่ในช่วง explosive limit
ช่วง explosive limit เป็นตัวบอกว่าความเข้มข้นของเชื้อเพลิงในอากาศต้องมีค่าไม่น้อยกว่าเท่าไร (lower explosive limit - lel) และต้องสูงไม่เกินเท่าไร (upper explosive limit - uel)

ที่ความเข้มข้นของเชื้อเพลิงต่ำกว่า lower explosive limit ปริมาณ "เชื้อเพลิง" จะไม่มากพอที่จะทำให้การเผาไหม้เชื้อเพลิงนั้นเกิดต่อเนื่องได้ (มันเริ่มจากการลุกไหม้และปฏิกิริยาการลุกไหม้นั้นเร่งตัวเองจนกลายเป็นการระเบิด)

ในทางกลับกัน ที่ความเข้มข้นของเชื้อเพลิงสูงกว่า upper explosive limit ปริมาณ "สารออกซิไดซ์" จะไม่มากพอที่จะทำให้การเผาไหม้เชื้อเพลิงนั้นเกิดต่อเนื่องได้

ในกรณีของโรงงานปิโตรเคมีนั้นสารออกซิไดซ์ที่มีอยู่ทั่วไปก็คืออากาศ ส่วนเชื้อเพลิงก็คือสารเคมีต่าง ๆ ที่อยู่ในระบบ ท่อ ถัง ต่าง ๆ ของโรงงาน และเนื่องจากหน่วยผลิตส่วนใหญ่ของโรงงานมักจะทำงานที่ความดันสูงกว่าบรรยากาศ ดังนั้นการรั่วของอากาศภายนอกเข้าไปในระบบการผลิตและเกิดการระเบิดภายในอุปกรณ์ของหน่วยผลิตนั้นจึงมักไม่เกิด (ถ้าจะเกิดก็มักเกิดจากสาเหตุอื่น)

ดังนั้นการระเบิดหรือเพลิงไหม้ในโรงงานปิโตรเคมีจึงมักเกิดจากการที่เชื้อเพลิงที่อยู่ในระบบเกิดการรั่วไหลออกมาภายนอก จนผสมกับอากาศในสัดส่วนที่เหมาะสม และได้รับพลังงานกระตุ้นให้เกิดการลุกไหม้/ระเบิด
พลังงานกระตุ้นในโรงงานนั้นมีอยู่ทั่วไปเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นพื้นผิวที่ร้อน (เช่นท่อไอน้ำ หรืออุปกรณ์ไฟฟ้า) มอเตอร์ไฟฟ้าต่าง ๆ (แม้ว่าจะเป็นชนิด explosion proof ก็ตาม) เปลวไฟ (ในพวก furnace และ cracker ต่าง ๆ) หรือเกิดจากการที่เชื้อเพลิงนั้นเองมีอุณหภูมิสูงกว่า autoignition temperature อยู่แล้ว พอเจอกับอากาศก็ลุกไหม้ทันที ซึ่งถ้าเป็นกรณีหลังสุดนี้มันก็จะเกิดการลุกไหม้/ระเบิดได้ทันทีที่รั่วออกมาสัมผัสกับอากาศ (ไม่จำเป็นต้องรั่วมากด้วย)
ไอ้ที่จะมีปัญหาก็คือตัวเชื้อเพลิงเองนั้นมีอุณหภูมิต่ำกว่า autoignition temperature ของตัวมันเอง พอเกิดการรั่วไหลออกมาจึงยังไม่เกิดการระเบิด ถ้าหากสภาพแวดล้อมของสถานที่ที่เกิดการรั่วไหลนั้นมีการถ่ายเทอากาศที่ดี และไม่มีแหล่งที่จะจุดระเบิดเชื้อเพลิงนั้นได้ เชื้อเพลิงที่รั่วออกมาก็จะฟุ้งกระจายออกไปจนไม่สามารถรวมตัวจนมีความเข้มข้นสูงถึง lower explosive limit ได้ ก็จะไม่เกิดการระเบิด ดังเช่นกรณีของรถบรรทุก LPG คว่ำที่บริเวณแยกวงแหวนตะวันออกที่ อำเภอลำลูกกาเมื่อเช้าวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา
ดังนั้นถ้าเกิดการรั่วไหลในปริมาณน้อย ๆ ในโรงงาน เขาก็จะทำการไล่ด้วยการเอาไอน้ำฉีดไล่ (ต้องไม่ใช่ไอน้ำร้อนจัดนะ) เพราะไอน้ำจะทำให้เชื้อเพลิงระเหยกลายเป็นไปฟุ้งออกไปไม่ให้เกิดไอความเข้มข้นสูง (ใช้ได้ดีกับพวกที่รั่วออกมาเป็นของเหลว) และไอน้ำยังช่วยเจือจางอากาศบริเวณที่รั่วไหลนั้นให้ลดลง

เมื่อไอเชื้อเพลิงเกิดการผสมกับอากาศแล้วเกิดการลุกไหม้ เปลวไฟจะวิ่งจากจุดที่เกิดการทำให้เกิดการลุกไหม้และแผ่ออกไป ถ้าไอผสมเชื้อเพลิงกับอากาศยังมีปริมาณไม่มากจนทำให้ไอเชื้อเพลิงก็เผาไหม้หมดก่อนหรือวิ่งย้อนไปถึงจุดที่เกิดการรั่วไหลและลุกติดไฟต่อที่นั่น เปลวไฟที่เกิดขึ้นก็จะยังไม่ทันเร่งความเร็วได้สูงมาก (ยังต่ำกว่าความเร็วเสียง) ปรากฏการณ์เช่นนี้จะเรียกว่า Flash fire (ยังไม่ถึงขั้นการระเบิด) ความเสียหายที่เกิดจาก flash fire จะเป็นจากการแผ่รังสีความร้อนเป็นหลัก แต่ flash fire ก็อาจเป็นต้นเหตุให้เกิดความเสียหายอื่นที่รุนแรงกว่าตามมาอีก

แต่ถ้าหน้าคลื่นความเผาไหม้เร่งความเร็วได้สูงขึ้นไปอีกก็จะกลายเป็นการระเบิด ซึ่งก่อนหน้านี้เคยกล่าวว่ามีอยู่ ๒ แบบคือ deflagration และ detonation ซึ่งแบ่งโดยใช้เกณฑ์ความรุนแรง แต่มาคราวนี้จะแนะนำให้รู้จักอีก ๒ แบบซึ่งแบ่งโดยใช้เกณฑ์รูปแบบพื้นที่ที่เกิดการรั่วไหลคือ การระเบิดของกลุ่มไอในพื้นที่ปิด (Confined vapour cloud explosion) และ การระเบิดของกลุ่มไอในพื้นที่เปิด (Unconfined vapour cloud explosion)

ปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวกำหนดว่าเชื้อเพลิงที่รั่วไหลออกมากลายเป็นไอผสมกับอากาศจนสามารถที่จะเกิดการระเบิดได้นั้น คือต้องผสมในสัดส่วนที่พอเหมาะ โดยเริ่มต้นในอากาศจะมีความเข้มข้นของเชื้อเพลิงเป็นศูนย์ เมื่อเชื้อเพลิงรั่วไหลออกมากลายเป็นไอผสมกับอากาศ ความเข้มข้นของเชื้อเพลิงในอากาศก็จะเพิ่มสูงขึ้น และเมื่อถึงระดับ lower explosive limit เมื่อใดส่วนผสมนั้นก็พร้อมที่จะระเบิดได้ถ้าได้รับพลังงานกระตุ้นที่เพียงพอ

ถ้าเป็นในบริเวณพื้นที่ปิด เช่นอุปกรณ์ที่ตั้งในอาคาร หรือในพื้นที่อับลม ไม่มีการระบายอากาศที่ดีพอ ไอเชื้อเพลิงที่รั่วออกมาก็จะไม่ฟุ้งกระจายไปไหน ดังนั้นแม้ว่าจะมีเชื้อเพลิงรั่วไหลไม่มาก เชื้อเพลิงที่รั่วไหลออกมาก็จะผสมกับอากาศรอบ ๆ จนมีความเข้มข้นสูงถึงระดับ lower explosive limit ได้เร็ว
แต่ถ้าเป็นบริเวณพื้นที่โล่งหรือพื้นที่ที่มีการถ่ายเทอากาศได้ดี ไอเชื้อเพลิงที่รั่วออกมาจะฟุ้งกระจายออกไป โอกาสที่จะสะสมจนมีความเข้มข้นถึงระดับ lower explosive limit จะมีน้อย เว้นแต่จะมีการรั่วไหลในปริมาณมากในเวลาอันสั้น

ดังนั้นถ้าจะเปรียบเทียบกันระหว่างการระเบิดของกลุ่มไอในพื้นที่ปิดและการระเบิดของกลุ่มไอในพื้นที่เปิดแล้วจะเห็นว่า ในแง่ของโอกาสที่จะเกิด ถ้าเป็นพื้นที่ปิดจะมีโอกาสเกิดสูงกว่า แต่ถ้าพิจารณาในแง่ของความรุนแรงแล้ว ถ้าเป็นพื้นที่เปิดจะรุนแรงมากกว่า เพราะต้องมีการรั่วไหลออกมาเป็นจำนวนมากจึงจะเกิดการระเบิดได้ ตัวอย่างการระเบิดที่กลายมาเป็นบทเรียนหลักของหลักสูตรวิศวกรรมเคมีคือการระเบิดของโรงงานที่เมือง Flixborough ประเทศอังกฤษเมื่อเดือนมิถุนายน ปีค.ศ. ๑๙๗๔ (พ.ศ. ๒๕๑๗) ซึ่งในครั้งนั้นมีการประมาณว่ามีการรั่วไหลของ cyclohexane อยู่ในช่วง 2-40 ตันก่อนที่จะเกิดการระเบิด (ดู Memoir ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑๑๓ วันศุกร์ที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.. ๒๕๕๓ เรื่อง "Flixborough explosion")

การระเบิดที่เมือง Flixborough นั้นเป็นตัวอย่างสำคัญสำหรับการศึกษาต้นตอของสาเหตุการระเบิด โดยมีการตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุ หาทิศทางของแรงระเบิดจากความเสียหายของอุปกรณ์ต่าง ๆ (เช่นการล้มพับของเสาโคมไฟ การขยับตำแหน่งของอุปกรณ์ ซึ่งจะเคลื่อนไปในทิศทางที่แรงมากระทำ) หาขนาดของแรงระเบิดที่ต้องใช้ในการทำให้สิ่งของต่าง ๆ เสียหาย (เช่นฝาท่อระบายน้ำที่เป็นคอนกรีตแตกหัก หรือเสาโคมไฟเกิดการล้มพับ แต่ในกรณีโครงสร้างที่เป็นโลหะต้องพิจารณาด้วยว่าความเสียหายที่เห็นนั้นเกิดจากแรงระเบิดหรือเกิดจากความร้อนเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นตามมา เพราะเมื่อโลหะมีอุณหภูมิสูงขึ้น ความแข็งแรงจะลดลง จนรับน้ำหนักตัวมันเองหรือสิ่งที่มันแบกรับอยู่ไม่ได้) และยังนำไปสู่แนวปฏิบัติใหม่ที่ควรนำมาใช้ในการออกแบบโรงงานภายหลังจากนั้นด้วย



 

รูปที่ ๑ก (บน) และ ๑ข (ล่าง) บริเวณนี้คาดว่าน่าจะเป็นจุดศูนย์กลางของการระเบิด ดูจากภาพความเสียหายที่มีเศษชิ้นส่วนโลหะบิดเบี้ยวและท่อบางท่อที่โก่งโค้ง (ลูกศรสีเหลือง) ที่อาจเป็นเพราะแรงระเบิดดันให้โก่ง คราบดำที่เป็นบนโครงสร้างต่าง ๆ แสดงว่าบริเวณนี้อยู่ใต้เปลวไฟ และโดนควันไฟรมดำ (รูปสองรูปนี้ต้องขออภัยเจ้าของภาพ เพราะผมไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเจ้าของภาพนั้นคือใคร เห็นมีการนำไปโพสหลายแห่งเหลือเกิน)


รูปที่ ๒ก (บน) และรูปที่ ๒ข (ล่าง) นำมาจากภาพข่าวของช่อง ๗ เป็นภาพถ่ายทางอากาศซูมให้เห็นบริเวณที่เกิดเพลิงไหม้ ในรูปบนที่วงไว้สงสัยว่าเป็นผลจากแรงระเบิด ส่วนพวกท่อ-โครงสร้างเหล็กที่ยุบตัวลงมาน่าจะเป็นผลจากการได้รับความร้อนจากเปลวไฟจนโลหะสูญเสียความแข็งแรงและรับน้ำหนักตัวเองไม่ได้


รูปที่ ๓ ภาพ Cooling tower นำมาจากภาพข่าวช่อง ๗ เช่นเดียวกัน ช่องว่าง ๆ บริเวณผนังคาดว่าน่าจะเกิดจากการรับแรงระเบิด



รูปที่ ๔ ภาพถ่ายอีกมุมหนึ่งแสดงให้เห็นพื้นที่น่าจะถูกแรงระเบิดดันยกขึ้นไป (บริเวณที่วงในรูป ๒ก) และอุปกรณ์ที่ถูกควันรมจนดำไปหมด แสดงว่าไฟน่าจะไหม้อยู่ที่ด้านล่างมาทางด้านขวาของบริเวณนี้

ตอนนี้จากข้อมูลที่ได้ดูเหมือนว่าการระเบิดจะเกิดจากการรั่วของโทลูอีน แต่สิ่งที่ยังต้องพิจารณาคือจากภาพความเสียหายที่เห็นนั้นโทลูอีนจะต้องรั่วออกมาในปริมาณที่มาก และต้องเกิดเป็นไอผสมเข้ากับอากาศในปริมาณมาก แต่เนื่องจากโทลูอีนมีจุดเดือดสูงถึง 110ºC ซึ่งสูงกว่าน้ำอีก ดังนั้นในความคิดของผมผมสงสัยว่าก่อนเกิดการรั่วนั้น โทลูอีนอยู่ในสภาพที่เป็นของเหลวภายใต้ความดันที่อุณหภูมิสูงกว่าอุณหภูมิจุดเดือดที่ความดันบรรยากาศ กล่าวคืออุณหภูมิของโทลูอีนก่อนรั่วสูงกว่า 110ºC เมื่อเกิดการรั่วออกมาจึงทำให้กลายเป็นไอฟุ้งกระจายผสมกับอากาศทันที แต่อุณหภูมิก่อนรั่วอาจจะสูงกว่า 110ºC ไม่มากนั้นเพราะไม่เช่นนั้นการรั่วไหลจะเป็นแบบเดียวกับการรั่วไหลของ LPG คือกระจายออกไปเป็นบริเวณกว้างได้อย่างรวดเร็ว

แต่คำถามที่ผมยังไม่มีคำตอบที่เชื่อถือได้ (ซึ่งไม่รู้ว่าจะมีวันได้หรือไม่) ก็คือ "มันรั่วออกมาข้างนอกได้อย่างไร" (แต่จากคำพูดบอกเล่าที่บอกกันปากต่อปากมันทำให้คิดว่ามันคล้าย ๆ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๓๑) มีคนพูดกันว่ามีการเอาโทลูอีนไปล้างยางที่เกาะเป็นคราบในระบบ และก็เหมือนกับจะพอใจกับคำอธิบายแค่นั้น แต่มันก็ไม่ตอบคำถามว่า "แล้วมันรั่วออกมาได้อย่างไร" เพราะถ้ามีการปฏิบัติงานดังกล่าวเป็นประจำ แล้วทำไมก่อนหน้านั้นจึงไม่เกิดเหตุเช่นนี้ ทำไมต้องมาเกิดเอาครั้งนี้

บทเรียนหนึ่งที่ได้จากการระเบิดที่ Flixborough คือในบรรดาผู้เสียชีวิตนั้นส่วนใหญ่อยู่ในห้องควบคุม ห้องควบคุมของโรงงานดังกล่าวมีสองชั้นโดยฝ่ายเดินเครื่องโรงงานอยู่ชั้นล่าง (เป็นห้องที่มีหน้าต่างกระจกรอบ) ฝ่ายห้องแลปวิเคราะห์อยู่ชั้นบน ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากการที่อาคารดังกล่าวพังถล่มลงมาทับ และจากเศษกระจกหน้าต่างปลิวบาด

หลังเหตุการณ์ดังกล่าวจึงมีคำแนะนำว่าห้องควบคุมที่จะสร้างขึ้นใหม่นั้นควรมีเพียงชั้นเดียว ออกแบบให้รับแรงระเบิดได้ในระดับหนึ่ง และไม่ควรมีหน้าต่าง ซึ่งที่เคยเห็นนั้นก็มีการสร้างในรูปแบบดังกล่าว โดยสร้างทางเข้าออกเป็นประตูสองชั้น ภายในห้องควบคุมจะดูดอากาศจากด้านนอก (บนหลังคา) อัดความดันเข้ามาในห้องควบคุมให้ความดันในห้องควบคุมสูงกว่าบรรยากาศข้างนอกเล็กน้อย (เวลาเปิดประตูจะมีลมพัดออกมา) ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้แก๊สที่อยู่ภายนอกรั่วเข้าไปในห้องควบคุมได้ และหน่วยงานใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเดินเครื่อง ก็ควรที่จะออกไปอยู่นอกบริเวณหน่วยผลิต

แนวปฏิบัติดังกล่าวถูกนำไปใช้กับห้องควบคุมที่ตั้งอยู่ในหน่วยการผลิต แต่ไม่ครอบคลุมไปถึงอาคารสำนักงานที่ตั้งอยู่นอกหน่วยการผลิต ดังนั้นจึงเกิดรายการที่บรรดาหน้าต่างกระจกต่าง ๆ ของอาคารสำนักงานนั้นไม่ได้ใช้กระจกนิรภัย ดังนั้นแม้ว่าจะอยู่ห่างจากจุดระเบิดเป็นระยะทางไกล (อาคารในรูปที่ ๕ อยู่ห่างจากจุดระเบิดกว่า ๑๓๐๐ เมตร แต่ขออนุญาตไม่เอ่ยแล้วกันว่าเป็นสำนักงานไหน) แต่จะเห็นประตู-หน้าต่างที่เป็นกระจกนั้นแตกกระจาย ซึ่งถ้าหากเหตุเกิดในวันธรรมดาในระหว่างทำงานคงจะมีคนบาดเจ็บจากเศษกระจกบาดในอาคารสำนักงานรอบข้างมากกว่านี้อีก

แต่ก็มีเหมือนกันนะที่ห้องควบคุมได้รับการออกแบบให้รับแรงระเบิดได้ ไม่มีหน้าต่างใด ๆ การสร้างผนังอาคารกับเสาใช้การผูกเหล็กเส้นเชื่อมต่อกัน และตีแม่แบบเทคอนกรีตหล่อเป็นชิ้นเดียวกันเลย (อาคารทั่วไปจะหล่อเสาก่อนแล้วค่อยก่ออิฐทำผนัง) มีการอัดความดันภายในด้วย แต่มีการสร้างเป็นสองชั้น โดยชั้นบนเป็นห้องแลปวิเคราะห์ (ใช้แนวความคิดที่ว่าพอวิเคราะห์เสร็จจะได้ส่งผลแลปให้กับฝ่ายเดินเครื่องผลิตได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง) แถมห้องแลปที่อยู่บนชั้นสองยังมีกระจกหน้าต่างรอบด้านอีก

แบบที่ได้รับความเห็นชอบนั้นอาจจะไม่ใช่แบบที่ปลอดภัยที่สุด แต่เป็นแบบที่ใช้งบประมาณต่ำที่สุด และผู้ที่ตัดสินใจเลือกว่าจะใช้แบบไหนในการก่อสร้างนั้นมักจะไม่ใช่ผู้ที่ต้องมาปฏิบัติงานประจำในสถานที่ดังกล่าว (เผลอ ๆ จะไม่ได้ทำงานประจำในจังหวัดดังกล่าวด้วย) อันนี้ก็เลยสงสัยว่าเป็นที่มาของห้องควบคุมในย่อหน้าข้างบน



รูปที่ ๕ก (บน) และ ๕ข (ล่าง) กระจากแตกจากแรงระเบิด ณ อาคารสำนักงานของบริษัทหนึ่งที่อยู่ห่างจากจุดระเบิดประมาณ ๑๓๐๐ เมตร ในรูปบนจะเห็นว่ากระจกบานใหญ่แตกแต่บานเล็กด้านล่างไม่แตก และกระจกด้านที่ไม่ได้หันเข้าหาแรงระเบิด (วงม่วง) ไม่แตก