ผมเคยพูดเรื่องเกี่ยวกับเสียงใน
Memoir
ปีที่
๒ ฉบับที่ ๖๗ วันพฤหัสบดีที่
๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๒ เรื่อง
"เสียงอะไรดัง"
แต่คราวนั้นเป็นกรณีเครื่องมือมีปัญหา
มาคราวนี้ก็มีโอกาสได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับเสียงอีก
แต่คราวนี้เป็นเสียงดังที่มีคนบอกว่าเป็น
"เสียงระเบิด"
มีคนให้คำนิยามว่า
"การระเบิด
-
Explosion" คือการที่มีการเพิ่มปริมาตรขึ้นอย่างรวดเร็ว
(มักเกี่ยวข้องกับการเพิ่มปริมาตรแก๊ส)
และมีการปลดปล่อยพลังงานจำนวนมากในเวลาอันสั้น
บางรายก็จะแยกการระเบิดออกเป็นสองแบบก่อน
คือ (๑)
การระเบิดที่เกิดโดยธรรมชาติ
เช่นภูเขาไฟระเบิด อุกาบาตพุ่งชนโลก
และ (๒)
การระเบิดที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์
ในหนังสือของ
Bailey
& Murry (รูปที่
๑)
ได้แบ่งการระเบิดที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์นั้นยังแบ่งออกเป็น
๓ รูปแบบคือ
(ก)
การระเบิดของอาวุธนิวเคลียร์
(Nuclear
explosion)
(ข)
การระเบิดทางกายภาพ
(Physical
explosion) และ
(ค)
การระเบิดทางเคมี
(Chemical
explosion)
แต่ที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุที่เกิดในโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไปจะมีเพียงสองอันหลังคือ
(ข)
การระเบิดทางกายภาพและ
(ค)
การระเบิดทางเคมี
การระเบิดทางกายภาพเกิดจากการที่ภาชนะที่กักเก็บสารภายใต้ความดันนั้นเกิดการพังทลายลงอย่างกระทันหัน
ทำให้สารที่อยู่ภายใน
(ซึ่งอาจเป็นแก๊สอัดความดัน
หรือสารที่เป็นของเหลวภายใต้ความดันแต่จะกลายเป็นแก๊สที่ความดันบรรยากาศ)
ขยายตัวและเพิ่มปริมาตรอย่างรวดเร็ว
ตัวอย่างของการระเบิดทางกายภาพได้แก่
การระเบิดของยางล้อรถยนต์
การระเบิดของหม้อไอน้ำ
การระเบิดของถังแก๊ส เป็นต้น
การระเบิดทางเคมีเกิดจากการที่สารเคมีเกิดการสลายตัว
(เช่นพวกวัตถุระเบิด
ดินขับในกระสุนปืน)
หรือทำปฏิกิริยากันอย่างรวดเร็ว
กลายเป็นแก๊สร้อนในปริมาณมาก
(เช่นการระเบิดของเชื้อเพลิงไฮโดรคาร์บอนที่ผสมกับอากาศ)
และมีการคายความร้อนออกมาเป็นจำนวนมากในเวลาอันสั้น
สิ่งที่มักเกิดควบคู่กับการระเบิดทางเคมีคือการเกิด
"คลื่นกระแทก
-
Shock wave"
คลื่นกระแทกคือคลื่นที่ตัวกลางที่คลื่นเคลื่อนที่นั้นมีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติอย่างรวดเร็ว
(เช่นอุณหภูมิ
ความดัน)
ในทิศทางการเคลื่อนที่
การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั้นถ้าพูดเป็นภาษาคณิตศาสตร์ก็คงต้องบอกว่าเป็นฟังก์ชันที่ไม่ต่อเนื่อง
(รูปที่
๒)
รูปที่
๒ ตรงเส้นสีม่วงคือหน้าคลื่นกระแทกที่เคลื่อนจากซ้ายไปขวา
ตรงบริเวณดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงความดันกระทันหัน
(หรือถ้าเป็นแก๊สร้อนก็จะมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิกระทันหัน)
โดยทางด้านซ้ายของเส้นสีม่วงตรงจุดต่อกับเส้นสีแดงนั้น
(ตำแหน่ง
x)
มีความดัน
P2
ส่วนทางด้านขวาของเส้นสีม่วงตรงจุดต่อกับเส้นสีน้ำเงินนั้นมีความดัน
P1
ถ้าพูดกันตามภาษาคณิตศาสตร์จุด
x
ก็เป็นจุดที่ความดันมีการเปลี่ยนแปลงแบบไม่ต่อเนื่อง
แต่ไม่ว่าจะเป็นการระเบิดทางกายภาพหรือการระเบิดทางเคมี
สิ่งที่มีควบคู่เสมอคือ
"เสียงดัง"
เสียงดังไม่จำเป็นต้องเป็นเสียงระเบิด
แต่เสียงระเบิดมักเป็นเสียงดัง
เสียงฟ้าร้อง
ฟ้าผ่า เสียงบานประตูโดนลมพัดปิดกระแทก
เสียงสิ่งของขนาดใหญ่ตกจากที่สูงลงกระทบพื้น
ก็เป็นเสียงดัง แต่ไม่ใช่เสียงระเบิด
เสียงกระสุนปืนลูกกรด
(.22LR)
ยิงจากปืนยาว
ก็เป็นเสียงระเบิด
แต่มันไม่ค่อยดังเท่าไร
ทีนี้เราลองมาพิจารณาเนื้อหาข่าวในรูปที่
๓
ที่ยังคงเกี่ยวข้องกับการระเบิดของโรงงานบีเอสทีอิลาสโตเมอร์จำกัดเมื่อบ่ายวันเสาร์ที่
๕ พฤษภาคมที่ผ่านมา
ตรงที่มีพยานซึ่งเนื้อหาข่าวบอกว่าเป็นโฟร์แมนของโรงงานบอกเล่าว่า
"...
แต่ก็ได้ยินเสียงระเบิดดังขึ้น
3
ครั้ง
โดยครั้งที่สองและสามดังมากขึ้นตามลำดับ
...."
ซึ่งใน
Memoir
นี้เราจะลองเอาเนื้อข่าวดังกล่าวมาใช้เป็นโจทย์แบบฝึกหัดตั้งคำถาม
โดยสมมุติว่าถ้าเราต้องการทราบสาเหตุของการระเบิด
จากข้อมูลที่มีอยู่เพียงเท่านี้
เราควรต้องตั้งคำถามอะไรต่อไปอีก
เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม
รูปที่
๓ ข่าวจากหน้าเว็บโพสต์ทูเดย์
(http://m.posttoday.com/articlestory.php?id=152340)
ผมเห็นว่ามีข้อมูลที่น่าสนใจอยู่
๓ เรื่อง ตรงที่ขีดเส้นทึบเอาเอาไว้
๔ เส้น ส่วนตรงที่เป็นเส้นประสีส้มนั้นเป็นเพียงแค่
"ความคิดเห็น"
ของผู้ที่เล่าเหตุการณ์
ดังนั้นผู้อ่านจึงไม่ควรรีบด่วนสรุปว่าเกิดจากสาเหตุดังกล่าว
โดยปรกติในการสอบสวนนั้น
พยานบุคคลจะมีน้ำหนักน้อยที่สุด
พยานบุคคลจะน่าเชื่อถือก็ต่อเมื่อสามารถพิสูจน์ได้ว่าเขาอยู่ในเหตุการณ์นั้น
และเขาไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเหตุการณ์นั้น
สิ่งถัดมาที่เวลาผู้ที่ได้รับฟังข้อมูลต้องแยกแยะก็คือ
ข้อมูลที่เขาบอกเล่านั้น
ส่วนไหนได้มาจากประสบการณ์ตรงของเขาเอง
ส่วนไหนที่เขาคิดไปเอง
และส่วนไหนที่เป็นการได้ยินมาจากผู้อื่นเล่าให้ฟังแล้วนำมาบอกต่ออีกทอดหนึ่ง
เนื่องจากเราเองคงไม่สามารถไปพิสูจน์ได้ว่าพยานบุคคลดังกล่าวนั้นเห็นเหตุการณ์จริงหรือไม่
แต่ขอให้ถือว่าเนื้อหาข่าวนั้นรายงานในสิ่งที่พยานบุคคลดังกล่าวได้ให้ไว้
โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงคำพูดใด
ๆ
จะเริ่มจากเนื้อหาข่าวตรงที่
"...
ไม่ได้อยู่ใกล้จุดเกิดเหตุ
แต่ก็ได้ยินเสียงระเบิดดังขึ้น
3
ครั้ง..."
ในขณะที่เกิด
"เสียงระเบิด"
นั้น
จะมีคนจำนวนมากที่ "เห็นเหตุการณ์"
หรืออยู่ในบริเวณใกล้เคียงที่เกิดเหตุ
แต่ไม่ได้เห็นว่าเหตุการณ์เกิดอย่างไรในขณะที่มันเกิด
เห็นแต่สภาพหลังจากที่มันเกิดแล้ว
แล้วก็สรุปเอาเองว่ามันเกิดจากอะไร
การแยกแยะข้อเท็จจริงตรงนี้จะช่วยให้เราบอกได้ว่าข้อมูลไหนเป็นข้อมูลที่มาจากประสบการณ์ตรงของเขา
(การเห็น
การได้ยิน การรับรู้แรงกระแทก
การรับรู้ถึงความร้อน/ความเย็นที่เกิด)
และส่วนไหนเป็นข้อมูลที่เขาสรุปเอาจากสิ่งที่เขาได้รับจากประสบการณ์ตรงของเขา
แต่เราก็ต้องแยกออกมาก่อนว่าการที่เขาบอกว่าเขา
"เห็น"
นั้นเป็นการเห็นด้วยตา
ว่ามันเกิดการระเบิดในขณะที่เขากำลังดูมันอยู่
หรือว่า
-
กำลังหันหน้าไปทางอื่น
พอได้ยิน "เสียงดัง"
ก็เลยหันไปดู
หรือ
-
อยู่ในสถานที่ใกล้เคียงกัน
พอได้ยิน "เสียงดัง"
ก็เลยวิ่งไปดู
หรือ
-
เขาเพียงแต่ได้ยิน
"เสียงดัง"
แต่ไม่ได้เข้าไปดูว่าเสียงนั้นมาจากไหน
แต่ก็สรุปด้วยตนเองว่าเสียงนั้นเป็น
"เสียงระเบิด"
เวลาที่มีพวกคุณมีปัญหาอะไรเกี่ยวกับเครื่องมือที่พวกคณใช้การทดลองนั้น
ผมมักจะบอกเสมอว่าให้ตั้งคำถามพื้น
ๆ เอาไว้ก่อน คำถามพื้น ๆ
นั้นจะต้องมีพื้นฐานอยู่บนข้อเท็จจริงของสิ่งที่เห็นจริง
รู้สึกจริง หรือวัดจริง
ซึ่งการตั้งคำถามดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้เรามองเห็นสาเหตุความเป็นไปได้ทั้งหมดของต้นตอปัญหา
(ดูตัวอย่างใน
Memoir
ปีที่
๔ ฉบับที่ ๔๔๓ วันพุธที่ ๒
พฤษภาคม ๒๕๕๕ เรื่อง
"เมื่อระดับตัวทำละลายใน
polymerisation
reactor เพิ่มสูงขึ้น)
ในกรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน
ผมเลยต้องแยกระหว่างคำว่า
"เสียงระเบิด"
กับคำว่า
"เสียงดัง"
ถ้ามีพยานบุคคลบอกว่าเห็นอุปกรณ์หรือผนังอาคารแตกกระจายออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยต่อหน้าต่อตา
ตามมาด้วยหรือพร้อมกับการเกิดเสียงดัง
ก็น่าเชื่อถือได้ว่าเขาได้เห็นการระเบิดเกิดขึ้นจริง
แต่ถ้าเขาเพียงได้ยินเสียงดัง
พอเข้าไปดูแหล่งที่มาของเสียง
แล้วพบว่าอุปกรณ์หรือโครงสร้างอาคารมีการพังทะลาย
ตรงนี้ก็ต้องระวัง
เพราะการที่เห็นอุปกรณ์หรือโครงสร้างอาคารพังทลายนั้นอาจเกิดจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่การระเบิดก็ได้
เช่น โครงสร้างรับน้ำหนักไม่ไหว
พังลงมาเอง
หรืออุปกรณ์ขนาดใหญ่ตกจากที่สูงลงมากระแทกพื้น
(อาจเกิดได้ในระหว่างการยกขึ้นที่สูงด้วยการใช้รอกหรือเครน)
ทำให้ตัวมันเองเสียหายและอุปกรณ์ที่อยู่ข้างล่างจุดตกนั้นเสียหายกระจัดกระจายไปด้วย
ซึ่งก่อนเกิดเหตุนั้นโรงงานอยู่ระหว่างการหยุดเดินเครื่องเพื่อทำการปรับปรุง/ซ่อมบำรุง
(ที่เรียกว่า
Shut
down)
ดังนั้นจึงควรต้องพิจารณาถึงการปฏิบัติงานที่โดยปรกติแล้วจะไม่มีการทำกันในระหว่างการเดินเครื่องปรกติ
(เช่นเอารถเครนหรือใช้ปั้นจั่นยกของเพื่อติดตั้งอุปกรณ์)
ในกรณีของการระเบิดที่มีการลุกไหม้ตามมาด้วยนั้น
เราก็ต้องแยกแยะว่า
(i)
ไฟไหม้ที่เห็นนั้นเกิดจากการระเบิดโดยตรง
เช่นมีเชื้อเพลิงรั่วไหล
แล้วเชื้อเพลิงนั้นเกิดระเบิดขึ้น
ทำให้เกิดไฟลุกไหม้ หรือ
(ii)
ไฟไหม้นั้นไม่ได้เกิดจากการระเบิดโดยตรง
แต่เป็นผลที่เกิดต่อเนื่องจากการระเบิด
เช่นถังอากาศอัดความดันเกิดระเบิดขึ้น
ชิ้นส่วนถังอากาศที่แตกกระจายนั้นไปทำให้ถังเชื้อเพลิงที่อยู่เคียงข้างกันได้รับความเสียหาย
เชื้อเพลิงจึงรั่วไหลออกมาและเกิดการลุกติดไฟ
ซึ่งตรงนี้จะช่วยให้เราหาสาเหตุได้ว่าต้นตอที่แท้จริงของไฟไหม้อยู่ที่ไหน
เพราะถ้าการรั่วไหลเกิดจากการที่ถังบรรจุเชื้อเพลิงนั้นรับความดันไม่ไหว
หรือเกิดจากการเปิดวาล์วทิ้งไว้
ก็ต้องไปดูที่ระบบการปฏิบัติงานและการออกแบบระบบและอุปกรณ์
แต่ถ้าการรั่วไหลเกิดจากมีชิ้นส่วนโลหะขนาดใหญ่พุ่งเข้าชนจนถังเป็นรู
อันนี้ก็ไม่รู้ว่าจะว่ายังไงเหมือนกัน
เพราะมันไม่อยู่ในข้อกำหนดใด
ๆ ของการออกแบบถังบรรจุ
มันเหมือนกับการสร้างตึกที่มันมีข้อกำหนดให้ต้องพิจารณาเรื่องการรับแรงจากแผ่นดินไหว
แต่ไม่มีข้อกำหนดให้ต้องพิจารณาเรื่องการรับผลกระทบจากเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่พุ่งเข้าชน
ข้อมูลต่อไปที่จะนำมาพิจารณากันก็คือ
"...แต่ก็ได้ยินเสียงระเบิดดังขึ้น
3
ครั้ง
โดยครั้งที่สองและสามดังมากขึ้นตามลำดับ..."
โดยปรกติแล้วการระเบิดจากอุบัติเหตุในโรงงาน
คงยากที่จะเกิดจากเหตุการณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกันแต่บังเอิญมาเกิดในเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกันมากจนเหมือนเป็นการระเบิดต่อเนื่องกัน
ในกรณีที่ได้ยินการระเบิดติดต่อกันหลายครั้งนั้นมักจะเกิดจากการระเบิดจากครั้งแรก
ทำให้เกิดความเสียหายในส่วนอื่นจนทำให้เกิดการระเบิดครั้งที่สอง
ซึ่งอาจส่งผลทำให้ความเสียหายเกิดขึ้นเป็นวงกว้างอีกจนเกิดการระเบิดครั้งที่สาม
ถ้าการระเบิดครั้งที่สามเป็นการระเบิดครั้งที่ส่งเสียงดังมากที่สุด
ดังนั้นเสียงของการระเบิดที่ผู้ที่อยู่นอกโรงงานได้ยินนั้นน่าจะเป็นเสียงของการระเบิดครั้งที่สามนี้
แต่ตรงนี้ต้องเข้าใจเรื่องการเดินทางของคลื่นเสียงนิดนึง
เนื่องจากคลื่นเสียงสามารถเลี้ยวเบนและสะท้อนได้
ดังนั้นในบางครั้งจึงพบว่าผู้ที่อยู่ใกล้กับแหล่งกำเนิดเสียงและผู้ที่อยู่ห่างจากแหล่งกำเนิดเสียงไปไกลได้ยินเสียงนั้น
แต่ผู้ที่อยู่ระหว่างกลางกลับไม่ได้ยินเสียง
ซึ่งตรงนี้ต้องดูลักษณะภูมิประเทศประกอบด้วย
และการเดินทางของเสียงยังขึ้นกับทิศทางลม
(เสียงเดินทางในอากาศ)
เสียงจะเดินทางไปในทิศทางใต้ลมได้ไกลกว่าทิศทางเหนือลม
ผมสงสัยว่าการระเบิดครั้งที่ส่งเสียงดังที่สุด
เป็นการระเบิดของเชื้อเพลิงจำนวนมากที่รั่วออกมาผสมกับอากาศในบริเวณเปิด
แล้วจึงเกิดการจุดระเบิด
เกิดการระเบิดแบบที่เรียกว่า
"Unconfined
vapour cloud explosion"
ถ้าเป็นเช่นนี้ก็ต้องไปดูว่าเชื้อเพลิงเกิดการรั่วไหลเป็นจำนวนมากได้อย่างไร
(แต่จากภาพความเสียหายที่เห็น
ผมคิดว่าคงจะรั่วออกมาไม่มากเท่าไรก็ระเบิดแล้ว
เรื่องนี้จะเอามาเล่าในตอนต่อ
ๆ ไปซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่าจะมีกี่ตอน)
ซึ่งการรั่วไหลนี้อาจเกิดจากการระเบิดก่อนหน้าสองครั้ง
(ถ้ามีการระเบิด
๓ ครั้งจริงอย่างที่พยานผู้อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุกล่าวอ้าง)
ข้อมูลสุดท้ายที่จะกล่าวถึงคือ
"...ความแรงของการระเบิดทำให้รถกระบะคันหนึ่งถึงกับลอยขึ้นไปบนท้องฟ้าสูง..."
ถ้ามีรถจอดอยู่
(ต้องติดเครื่องยนต์ด้วยนะ)
แล้วมีแก๊สรั่วไหลไปถึงรถแล้วแก๊สนั้นเกิดการลุกติดไฟ
เปลวไฟก็จะวิ่งจากรถคันนั้นและทวีความเร็วสูงขึ้นจนเกิดการระเบิด
ในกรณีเช่นนี้ผมว่ารถคันนั้นอาจจะยังคงอยู่ที่เดิมถ้าการระเบิดไม่แรง
หรือไม่ก็กระเด็นไปทางด้านข้างเพราะแรงระเบิดมาทางด้านข้าง
แต่รถจะลอยขึ้นได้ก็ต่อเมื่อแรงระเบิดเกิดขึ้นใต้ท้องรถ
(แบบเดียวกับการวางระเบิดในสามจังหวัดชายแดนใต้)
ถ้าการระเบิดเกิดขึ้นภายในตัวรถ
รถก็จะแตกกระจายเป็นชิ้น
ๆ ไปทั่วทุกทิศทาง
คำถามตรงนี้ก็คือที่บอกว่ารถลอยขึ้น
เป็นการลอยขึ้นในลักษณะที่แรงระเบิดกระทำจากด้านใต้ท้องรถโดยตรง
หรือกระทำทางด้านข้างทำให้รถปลิวกระเด็นออกไป
ถ้าเป็นการกระทำทางด้านข้างให้รถปลิวกระเด็นออกไปก็จะทำให้บ่งบอกได้ว่าทิศทางของแรงระเบิดมาจากทางด้านไหน
ซึ่งต้องเป็นด้านตรงข้ามกับทิศทางที่รถกระเด็น
ในข้อความดังกล่าวยังมีคำที่อาจทำให้คนอ่านเข้าใจแตกต่างกันคือคำว่า
"สูง"
ผมคิดว่าคงมีคนที่คิดว่าประโยคที่ว่า
"...รถลอยขึ้นไปบนท้องฟ้าสูง..."
หมายถึงสูงขนาดต้องแหงนคอมองดู
ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงมันอาจกระเด็นสูงขึ้นจากพื้น
1-2
เมตรเท่านั้นเอง
ดังนั้นการจะนำเอาข้อมูลตรงนี้ไปใช้จึงควรต้องพิจารณาให้รอบคอบ
สำหรับเรื่องนี้คงพอแค่นี้ก่อน
ฉบับหน้าเราค่อยมาคุยเรื่องอื่นกันต่อ
แต่ยังเกี่ยวข้องกับการระเบิดอยู่ดี