วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๑๘ แป้นพิมพ์ที่หายไป MO Memoir : Thursday 17 May 2555


ตอนเรียนมัธยมต้นนั้นมีอยู่วิชาหนึ่งที่ต้องเรียนตลอด ๓ ปีและตอนนั้นก็ไม่ได้คาดคิดว่าจะได้ใช้ แต่เอาเข้าจริง ๆ กลับเป็นวิชาที่ได้ใช้ประโยชน์มากที่สุดนับตั้งแต่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยและจวบจนถึงปัจจุบัน วิชานั้นคือวิชา "พิมพ์ดีด"

เครื่องพิมพ์ดีดที่เรียนในสมัยนั้นทางโรงเรียนให้ใช้เครื่องพิมพ์ดีดที่เป็นแบบกลไก จัดให้เรียนทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เวลาเรียนทีก็จะมีเสียงดังไปทั้งห้อง ไม่ว่าจะเป็นเสียงที่ก้านตัวอักษรตีลงไปบนกระดาษ เสียงกระดิ่งดังเตือนว่าพิมพ์ใกล้สุดขอบกระดาษด้านขวาแล้ว และเสียงปัดแคร่เพื่อขึ้นบรรทัดใหม่

การเรียนก็จะเริ่มจากการฝึกพิมพ์ตัวอักษรไปทีละนิ้ว จากนั้นจึงค่อยเริ่มพิมพ์คำง่าย ๆ ซ้ำไปซ้ำมา ที่โหดที่สุดคือตอนฝึกพิมพ์ตัวอักษรด้วยนิ้วก้อย โดยเฉพาะตอนที่ต้องกดแป้นยกแคร่เพื่อพิมพ์ตัวอักษรที่อยู่บนแถวบน เพราะตัวเองเป็นคนนิ้วสั้นก็เลยมีปัญหาค่อนข้างเยอะในการกดยกแคร่ 
 
เครื่องพิมพ์มีให้ใช้เฉพาะที่โรงเรียน ถ้าจะฝึกนอกเวลาเรียน เหล่านักเรียนต้องหากระดาษแข็งตัดขนาดให้ใกล้เคียงกับขนาดแป้นพิมพ์ จากนั้นเป็นรูปแป้นพิมพ์และหัดพิมพ์ไปบนกระดาษแข็งนั้น แต่สิ่งที่ได้มาจนถึงปัจจุบันคือความสามารถในการพิมพ์สัมผัสทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ (แม้จะไม่ถึงกับเป็นมืออาชึพแต่ก็เรียกว่าอยู่ในเกณฑ์ดีก็ได้)

หลังจากผ่านมัธยม ๓ แล้วทางโรงเรียนก็เปลี่ยนเป็นเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้า รุ่นน้องก็เลยสบายไป

มาได้ใช้ประโยชน์จากวิชาพิมพ์ดีดอีกทีก็ตอนที่เข้ามหาวิทยาลัย ต้องเรียนเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ได้เป็นนิสิตรุ่นแรกของมหาวิทยาลัยที่ได้เรียนเขียนโปรแกรมภาษา FORTRAN โดยไม่ต้อง "เจาะบัตร" (บัตรนี้เรียกว่า "punch card") พวกรุ่นพี่ก่อนหน้านั้นเวลาเขียนโปรแกรมจะใช้วิธีใช้บัตรกระดาษแข็งมาเจาะให้เป็นรูตามคำต่าง ๆ แล้วให้เครื่องอ่านบัตรอ่านคำสั่งที่บัตรแต่ละใบ บัตรแต่ละใบก็แทนคำสั่ง ๑ บรรทัด แต่รุ่นผมเป็นรุ่นแรกที่ได้เรียนโดยการเขียนโปรแกรมผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่เรียกกันสมัยนั้นว่า terminal

รูปที่ ๑ บัตรสำหรับป้อนคำสั่ง FORTRAN ในรูปเป็นคำสั่ง Z(1) = Y + W(1)
(รูปจาก http://en.wikipedia.org/wiki/File:FortranCardPROJ039.agr.jpg) 
 
ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เริ่มมีการนำไมโครคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้กันในมหาวิทยาลัย ตอนนั้นก็ทันได้ใช้เครื่อง Apple 8 bit ใช้แผ่นดิสก์ขนาด 5.25 นิ้ว บันทึกข้อมูลบนด้านเดียวของแผ่น ความจุ 180k ที่เรียกว่าแผ่น single side single density ตามด้วยเครื่อง IBM ที่ใช้ CPU เบอร์ 8088 (บางคนเรียก 16 bit เทียม เพราะมันทำงานข้างในด้วยระบบ 16 bit แต่ติดต่อกับข้างนอกด้วยระบบ 8 bit ถ้าเป็นเบอร์ 8086 เขาจะเรียก 16 bit แท้ เพราะมันทำงานข้างในด้วยระบบ 16 bit และติดต่อกับข้างนอกด้วยระบบ 16 bit) มาพร้อมกับ RAM 256k ที่ทำงานที่ความถี่ 4.77 MHz ที่ยังคงใช้แผ่นดิสก์ขนาด 5.25 นิ้วอยู่ แต่บันทึกข้อมูลได้ทั้งสองด้านของแผ่น ความจุ 360k เรียกว่าแผ่น double side double density

โปรแกรมพิมพ์งานตอนนั้นก็เริ่มจากภาษาไทย ๘ บรรทัดที่เรียกว่า "Word รามา" ใช้บนเครื่อง 8 bit ที่เรียกว่าภาษาไทย ๘ บรรทัดก็เพราะจอคอมภาษาอังกฤษมันมี ๒๔ บรรทัด พอเอามาใช้ทำภาษาไทยก็ต้องใช้ ๓ บรรทัดภาษาอังกฤษต่อ ๑ บรรทัดภาษาไทย เพราะภาษาไทยมีอักขระที่อยู่สูงและอยู่ต่ำกว่าบรรทัด ๑ บรรทัด) ตามด้วย "Word ราชวิถี" ที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ 16 bit ในรุ่นแรก ๆ ถ้าเป็นภาษาอังกฤษก็จะมี "Word Star" และสุดท้ายก่อนจบปี ๔ ก็ได้ทันใช้ "CU Writer"

แป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ในยุคนั้นก็ลอกเอาแป้นพิมพ์ดีดมาใช้ เพียงแต่มีการเพิ่มปุ่มบางปุ่มเข้าไป เช่นพวก PF key ต่าง ๆ สำหรับการใช้งานในโปรแกรมบางโปรแกรม คำว่า PF key ย่อมาจาก Programme Function key ซึ่งปัจจุบันกลายมาเป็น F key หรือ Function key

ระบบปฏิบัติการที่เริ่มใช้ก็เริ่มจาก DOS 2.0 ซึ่งพัฒนามาเรื่อย ๆ จนกลายเป็น DOS 6.0 ซึ่งการสั่งงานเป็นลักษณะ Command Line Interface คือผู้ใช้ต้องพิมพ์คำสั่งและกด Enter เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานตามคำสั่งนั้น จนกระทั่งมี Windows 3.0 ซึ่งมีการสั่งงานในลักษณะ Graphic User Interface ที่ใช้ Mouse ชี้คำสั่งและกดเลือก แต่ Windows 3.0 ก็ยังต้องทำงานภายใต้ DOS อยู่ จึงยังไม่ถือกันว่า Windows 3.0 เป็นระบบปฏิบัติการ (Operating System - OS) เต็มรูปแบบ โปรแกรมใช้งานต่าง ๆ ตอนนั้นก็จะมีให้เลือกสองรูปแบบ คือทำงานบน DOS หรือทำงานบน Windows โดยมีคำกล่าวว่าถ้าอยากให้งานเสร็จช้าก็ให้ทำงานบน Windows (ตอนนั้น Windows ทำงานช้ากว่าระบบ DOS มาก)

Windows มาเป็น OS เต็มรูปแบบตอนที่ออก Windows 95 (ในปีค.ศ. ๑๙๙๕) ซึ่งตอนนั้นไม่ต้องพึ่ง DOS แล้ว


รูปที่ ๒ รูปนี้เป็นคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ซื้อเมื่อ ๑๕ ปีที่แล้ว


รูปที่ ๓ รูปนี้เป็นคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน จะเห็นว่าแป้นที่เป็นเครื่องหมาย " ั้" นั้นหายไปจากแป้นคีย์บอร์ดปัจจุบัน กลายเป็นแป้น "฿" แทน

แต่ Windows 95 ก็มาพร้อมกับปัญหาหนึ่งคือ มีการเปลี่ยนตัวอักขระของแป้นพิมพ์หนึ่ง จากตัวอักขระที่มีการใช้งานกันมากในภาษาไทย ไปเป็นตัวอักขระที่มีการใช้งานกันน้อย (ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น) ตัวอักขณะดังกล่าวคือ " ั้" ซึ่งถูกเปลี่ยนไปเป็น "฿" (ดูรูปที่ ๒ และ ๓) คุณลองนับดูใน Memoir นี้ดูก็ได้ ว่ามีการใช้ " ั้" กี่ครั้ง และมีการใช้ "฿" กี่ครั้ง

ผมไม่รู้นะว่าทำไมเขาทำเช่นนั้น ซึ่งผมก็ไม่ค่อยชอบใจเท่าไรนัก แต่จนถึงปัจจุบันก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว