วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ถัง MO Memoir : Thursday 10 May 2555


มีบางรายงานเขาบอกว่าอุบัติเหตุเกิดในระหว่างการถ่ายโทลูอีนจาก "ถัง" 
 
"ถัง" ในที่นี้คือภาชนะที่ใช้บรรจุของเหลวหรือแก๊ส

คำถามก็คือเมื่อได้ยินคำว่า "ถัง" คุณคิดว่ามันมีรูปร่างหน้าตาและขนาดเท่าใด

รูปที่ ๑ ภาพข่าวจากที่มีการเอ่ยถึงถังใส่โทลูอีน (จาก http://www.dailynews.co.th/thailand/113170)

คำภาษาอังกฤษที่แปลว่า "ถัง" ในภาษาไทยมีอยู่หลายคำด้วยกันคือ "Bucket" "Drum" "Vessel" และ "Tank"

"Bucket" คือถังที่เราเรียกว่าถังน้ำที่ใช้ทั่วไปในบ้านเรือนต่าง ๆ เพื่อการซักล้าง ตักน้ำ เทปูน ฯลฯ (คนละอันกับถังเก็นน้ำประปาสำหรับเครื่องปั๊มน้ำจ่ายน้ำเข้าบ้านนะ) คิดว่าถึงไม่มีรูปให้ดูก็คงนึกภาพออกเองนะ

"Tank" ก็แปลว่าถัง (มันแปลว่า "รถถัง" ด้วย แต่ไม่เกี่ยวกับงานนี้) ถ้าเป็นการใช้งานด้านเก็บน้ำ มันก็มีขนาดตั้งแต่ไม่กี่ลูกบาศก์เมตรที่ใช้เก็บน้ำตามบ้านหรืออาหาร ซึ่งอาจเป็นถังสำเร็จรูป หรือก่อสร้างเป็นบ่อพักเก็บน้ำ ถ้าเป็นงานประปาก็จะเห็นเป็นสิ่งก่อสร้างสูงที่มีถังเก็บน้ำอยู่ด้านบน

ถ้าเป็นในอุตสาหกรรมจะหมายถึงสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่รูปทรงกระบอก อาจวางอยู่บนพื้นหรือฝังอยู่ใต้ดินก็ได้ มักใช้สำหรับเก็บของเหลวที่ความดันบรรยากาศที่เรียกว่า "atmospheric tank" ถังพวกนี้มักไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้ทำงานที่ความดันสูงหรือต่ำกว่าความดันบรรยากาศ ขนาดอาจมีตั้งแต่เส้นผ่านศูนย์กลางไม่กี่เมตรสูงไม่กี่เมตร ไปจนถึงเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดระดับ ๑๐๐ เมตรสูงหลายสิบเมตร (ดังรูปที่ ๒) ถังเก็บของเหลวเหล่านี้มักอยู่รวมเป็นกลุ่มในบริเวณที่เรียกว่า "Tank farm"

รูปที่ ๒ รูปนี้ผมเอามาจากภาพถ่ายดาวเทียมจาก www.thailand-map-guide.com ของบริเวณ tank farm ของโรงกลั่นน้ำมันแห่งหนึ่ง จะเห็นถังเก็บน้ำมัน (tank) ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑๐๐ เมตร (เส้นสีเหลืองที่แสดงคือสเกล ๑๐๐ เมตร) และ tank ขนาดเล็กอยู่ทางด้านซ้ายบนของรูป

ปรกติ Tank จะใช้เก็บสารที่เป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้องและความดันบรรยากาศ เช่นพวกที่มีจุดเดือดสูงกว่าอุณหภูมิห้อง (อันนี้ต้องคำนึงถึงอุณหภูมิเวลาที่ต้องตากแดดในฤดูร้อนด้วย) แต่ถ้าเป็นพวกที่ระเหยได้ง่าย หรือต้องการเก็บสารที่ปรกติเป็นแก๊สที่อุณหภูมิห้องในปริมาณมาก ก็จะใช้วิธีลดอุณหภูมิของสารเหล่านั้น ถ้าเป็นแก๊สที่ถูกทำให้เป็นของเหลวก็จะเรียกว่า "Cryogenic tank"

ในหลาย ๆ โรงงานเวลาตั้งชื่อถังต่าง ๆ ก็มักจะใช้ชื่อ T-xxxx หรือ TK-xxxx คือ T หรือ TK ย่อมาจากคำว่า Tank ส่วน xxxx ก็คือตัวเลข ส่วนจะมีตัวเลขกี่ตัวนั้นก็ขึ้นอยู่กับขนาดของโรงงานนั้นว่ามีอุปกรณ์จำนวนมากน้อยเท่าใด และต้องการให้ตัวเลขแต่ละตัวสื่อความหมายอะไรบ้าง

"Drum" และ "Vessel" ก็แปลว่าถังเช่นเดียวกัน (ในที่นี้ drum ไม่ได้แปลว่า "กลอง") ลักษณะส่วนใหญ่เป็นถังทรงกระบอก หัว-ท้ายมีฝาปิดแบบมน (ซึ่งอาจโค้งเป็นรูปครึ่งวงกลมหรือครึ่งวงรี) วางตั้งหรือวางนอนก็ได้ ขึ้นอยู่กับการออกแบบและการใช้งาน มีทั้งทำงานที่ความดันบรรยากาศ ความดันต่ำกว่าบรรยากาศ และความดันสูงกว่าบรรยากาศ ถ้าใช้งานที่ความดันสูงกว่าบรรยากาศก็จะเรียกว่า "Pressure vessel" ไม่มีใครเรียกว่า "Pressure drum"

Drum/Vessel ใช้ทำหน้าที่หลายอย่างเช่น เป็นที่เก็บของเหลวหรือแก๊ส ใช้เป็นถังปฏิกรณ์เคมี (chemical reactor) ใช้แยกเฟสระหว่างของแข็ง-ของเหลว-แก๊ส ใช้เป็นหอกลั่น (distillation column) หอสกัด หอดูดซับ ฯลฯ

ขนาดก็มีตั้งแต่ขนาดถังแก๊สหุงต้มตามบ้าน ไปจนถึงพวกหอกลั่นที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางหลายเมตรและสูงหลายสิบเมตร

โรงงานที่ใช้คำว่า "Drum" พอตั้งชื่ออุปกรณ์ก็จะมักจะใช้รหัส D-xxxx คือ D ย่อมาจาก Drum และตามด้วยตัวเลข แต่ถ้าใช้คำว่า "Vessel" ก็มักจะใช้ชื่ออุปกรณ์เป็น V-xxxx คือ V ย่อออกมาจาก Vessel และตามด้วยตัวเลข

รูปที่ ๓ De-Ethanizer Reflux Drum (ถังสีแดง) ของหอกลั่นแยกอีเทน-เอทิลีน ชื่อมันก็บอกอยู่แล้วกำจัดอีเทน
(รูปจาก http://www.inmasteel.com.sa/photo-gallery/album/vessel/index.htm)

ถ้าเป็น pressure vessel ที่ใช้เก็บสารที่ปรกติเป็นแก๊สที่อุณหภูมิห้องและความดันบรรยากาศ แต่สามารถอัดให้เป็นของเหลวได้ที่อุณหภูมิห้องที่ความดันสูงขึ้น (เช่นพวกแก๊สหุงต้ม) ถ้าเก็บในปริมาณไม่มากก็จะใช้ pressure vessel ที่เรียกว่าชนิด "Bullet type" คือเป็นถังทรงกระบอกยาววางแนวนอน แต่ถ้าเก็บในปริมาณมากก็จะเก็บในถังทรงกลมที่มักเรียกเป็นภาษาไทยว่า "ถังลูกโลก" หรือ "Spherical type" (ดูรูปที่ ๔)

รูปที่ ๔ รูปนี้ผมเอามาจากภาพถ่ายดาวเทียมจาก www.thailand-map-guide.com เช่นเดียวกัน แสดงบริเวณถังเก็บ LPG แบบลูกโลก (spherical type) และแบบชนิดถังยาววางแนวนอน (bullet type) ของโรงแยกแก๊สแห่งหนึ่ง

ข่าวที่แสดงในรูปที่ ๑ นั้นบอกว่า ".... ระหว่างที่เจ้าหน้าที่เปลี่ยนถ่ายไปสู่ถังใหม่เกิดความร้อน ทำให้สารดังกล่าวที่เป็นวัตถุไวไฟระเบิดขึ้น ...."

ตรงนี้มีผมเห็นว่าประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ การเปลี่ยนถ่ายโทลูอีนจากถังหนึ่งไปยังอีกถังหนึ่งโดยไม่มีการใช้อุปกรณ์เช่นปั๊มนั้นสามารถทำให้เกิดระเบิดได้หรือไม่ คำตอบก็คือ "มีโอกาสเป็นไปได้" ซึ่งเรื่องนี้มันเกี่ยวข้องกับการเกิดไฟฟ้าสถิตย์ อันนี้ต้องขอยกไปเป็นหัวข้อต่างหาก (การถ่ายโดยไม่ใช้อุปกรณ์ อาจทำโดยใช้การเท แรงโน้มถ่วง หรือความดันช่วย)

ส่วนประเด็นที่ว่า "เกิดความร้อน" และทำให้เกิดระเบิดนั้น ผมยังมองไม่ออกเลยว่ามันเกิดจากการถ่ายเทได้อย่างไร เว้นแต่ว่าอาจทำการถ่ายเทโดยใช้ปั๊ม และปั๊มเกิดปัญหาร่วมกับมีการรั่วไหล

เรื่องดังกล่าวยังไม่จบ โปรดรอคอยติดตามตอนต่อไป