วันจันทร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2554

GC-2014 ECD & PDD ตอนที่ ๒ เมื่อพีคหายไป MO Memoir : Monday 4 April 2554

ผมพึ่งจะมีเวลาอ่านคู่มือ PDD เมื่อตอนหัวค่ำวันนี้เอง ระหว่างที่นั่งรอรถที่เอาไปเปลี่ยนลูกปืนและโช้ค ก็ได้เห็นคำแนะนำข้อหนึ่งที่เขียนไว้ในคู่มือ ซึ่งตรงกับสิ่งที่ผมถามเมื่อตอนบ่ายวันนี้ นั่นก็คือ "ตอนเปิดเครื่องครั้งที่แล้ว สัญญาณอยู่ที่ระดับไหน"


บ่ายวันนี้หลังจากที่ได้เปิดเครื่อง GC-2014 ECD & PDD ไว้ข้ามวันข้ามคืน ก็ได้มีการทดลองวัด NH3 ดู ผลออกมาก็คือไม่มีพีคสักพีค แม้แต่พีคของไนโตรเจน

ผมสังเกตดูความแรงของสัญญาณที่หน้าจอของเครื่อง ก็สังเกตเห็นว่าสัญญาณของ PDD มีค่าเป็น -xxx mV (ค่าติดลบประมาณ 500 mV) ซึ่งก็แปลก เพราะที่จำได้ก็คือวันก่อนหน้าที่ทางเจ้าหน้าที่บริษัทมาสอนการใช้เครื่องนั้น ความแรงของสัญญาณอยู่ในระดับที่เป็นบวก และมีค่าหลายล้าน μV ผมก็เลยถามสาวน้อย 150 เซนติเมตรกลับไปว่า "ตอนเปิดเครื่องครั้งที่แล้ว สัญญาณอยู่ที่ระดับไหน"

ผมก็เลยลองให้สาวน้อย 150 เซนติเมตรลองปิด detector แล้วเปิดใหม่ ก็พบว่าสัญญาณ PDD กลับมาเป็นบวกเหมือนเดิม

ดูเหมือนว่าตัวเครื่องจะ "ปิด" detector ได้เอง แม้ว่าบนหน้าจอเครื่องคอมพิวเตอร์จะบอกว่ามัน "เปิด" อยู่ ดังนั้นวันนี้เราได้บทเรียนบทหนึ่งแล้วว่า detector นั้นเปิดอยู่หรือไม่ ต้องดูที่สัญญาณที่ส่งออกมา ไม่ใช่ดูจากหน้าจอว่ามัน "ON" หรือ "OFF"

ในคู่มือของ PDD ก็ระบุไว้ด้วยว่าควรมีการบันทึกสัญญาณของ PDD ทุกครั้งที่เปิดเครื่องและก่อนเริ่มการวิเคราะห์ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะช่วยระบุด้วยว่าระบบมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร


พอได้สัญญาณกลับคืนมาแล้วก็ได้ทำการทดลองฉีดตัวอย่าง ผลปรากฏว่าไม่มีพีคอะไรออกมาเลยแม้แต่ไนโตรเจน ผมสงสัยก็เลยเดินไปดูที่ถังอากาศ ก็พบว่าถังอากาศ "ปิด" อยู่


GC-2014 ECD & PDD นั้น ขับเคลื่อนวาล์วฉีดตัวอย่างด้วยการใช้ "แรงดัน" อากาศ ซึ่งแตกต่างไปจาก GC-2014 FPD ที่ใช้ "ไฟฟ้า" ในการขับเคลื่อนวาล์วฉีดตัวอย่าง

ดังนั้นเมื่อกดปุ่มเริ่มการวิเคราะห์ ก็ควรฟังด้วยว่าได้ยินเสียงวาล์วฉีดสารตัวอย่างทำงานหรือไม่

ในกรณีบ่ายวันนี้พบว่าเมื่อกดปุ่มหน้าจอคอมพิวเตอร์แล้วก็ไม่มีใครสนใจจะฟังดูว่าวาล์วฉีดสารตัวอย่างมีการขยับตัวหรือไม่ พอไม่เปิดถังอากาศ ก็ไม่มีแรงดันอากาศที่จะเข้าไปหมุนวาล์ว ดังนั้นจึงไม่มีการฉีดตัวอย่างเข้าเครื่อง มันก็เลยไม่มีพีคให้เห็น


ปัญหาของการใช้ระบบอัตโนมัติก็คือ คนมักคิดว่าพอกดปุ่มแล้วก็ไม่ต้องสนใจอะไรอีก ไม่ต้องสนใจในสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากที่ได้กดปุ่มไปแล้ว ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด คนที่ปฏิบัติเช่นนี้เป็นประจำมักจะไม่สามารถแก้ปัญหาใด ๆ ได้ถ้าการทดลองหรือการวิเคราะห์มีปัญหา นอกจากนี้การทำวิจัยยังไม่ใช่การรออ่านตัวเลขที่เครื่องจะสรุปมาให้ หรือรอฟังผลที่คนอื่นอ่านให้ฟังเพื่อจะได้เอาไปคุยต่ออีกที

ไม่มีความคิดเห็น: