วันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๕๗ (ตอนที่ ๒๗) MO Memoir : Saturday 6 February 2559

เอกสารฉบับนี้นำเนื้อหาลง blog เพียงบางส่วน

จากการสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา  ทำให้พอจะมองเห็นปัญหาบางอย่าง จึงขอแนะนำให้ผู้ที่ทำการสอบไปแล้วและผู้ที่กำลังจะทำการสอบในอีกไม่กี่วันข้างหน้า  รวมทั้งนิสิตรหัส ๕๘ ด้วย อ่าน Memoir ฉบับต่าง ๆ ที่แสดงไว้ข้างล่าง เพื่อเป็นการทบทวนพื้นฐานและจะได้มองเห็นภาพงานที่ทางกลุ่มเราได้เคยทำวิจัยกันมาได้ชัดเจนขึ้น

ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๗๓ วันศุกร์ที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ เรื่อง "GHSV หรือ WHSV"
ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๗๔ วันเสาร์ที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ เรื่อง "ตัวไหนดีกว่ากัน(Catalyst)"
ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๗๕ วันอาทิตย์ที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ เรื่อง "การปรับ WHSV"
ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๘๐ วันเสาร์ที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ เรื่อง "ปฏิกิริยาเอกพันธ์และปฏิกิริยาวิวิธพันธ์ในเบดนิ่ง"
ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๙๔ วันอาทิตย์ที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ เรื่อง "การเผาแก๊สธรรมชาติ"
ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๑๑๙ วันเสาร์ที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๔ เรื่อง "เชื้อเพลิงกับไอเสีย(แหล่งกำเนิดอยู่กับที่)"
ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๓๘๐ วันศุกร์ที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๔ เรื่อง "แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส๕๓ (ตอนที่๑๐)"

. ที่มาของปัญหาที่กำลังศึกษาอยู่ในขณะนี้


........ 

. ตั้งเป้าค่า conversion ไว้ที่เท่าใด

นี่เป็นคำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นในการสอบเมื่อวันอังคารและวันพุธที่ผ่านมา

คำตอบก็คือ 100% ไม่ว่าจะเป็นปฏิกิริยากำจัด NO หรือการกำจัดเบนซีน แต่ตรงนี้มันขึ้นอยู่กับค่า WHSV (Weight hourly space velocity) ของระบบที่เราใช้ทดลองกับของโรงงานจริง

สำหรับ fixed bed reactor นั้นค่า conversion ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่สารตั้งต้นมีโอกาสสัมผัสกับตัวเร่งปฏิกิริยา (คือค่า WHSV นั่นเอง) ถ้าหากสารตั้งต้นมีโอกาสสัมผัสกับตัวเร่งปฏิกิริยานานขึ้น ค่า conversion ก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ระบบที่เราใช้ทำการทดลองกับระบบจริงนั้นมีค่า WHSV แตกต่างกันอยู่ ตรงนี้ผมจำตัวเลขแน่นอนไม่ได้ แต่ดูเหมือนว่าระบบที่เราใช้ทดลองนั้นมีค่า WHSV สูงกว่าประมาณ 10 เท่า กล่าวคือแก๊สที่เป็นสารตั้งต้นที่เราใช้ทดลองนั้นมีเวลาสัมผัสกับตัวเร่งปฏิกิริยาน้อยกว่าระบบจริงประมาณ 10 เท่า

ดังนั้นถ้าหากในการทดลองของเรากับตัวเร่งปฏิกิริยาตัวหนึ่ง (ที่ใช้ค่า WHSV สูง) เราได้ค่า conversion มาที่ค่า ๆ หนึ่ง ค่า conversion ที่จะได้จริงในระบบจริง (ที่มีค่า WHSV ต่ำกว่า) ก็ควรที่จะต้องสูงกว่าด้วย

แต่ในการศึกษาเพื่อเปรียบเทียบความว่องไว (activity) ในการทำปฏิกิริยาของตัวเร่งปฏิกิริยานั้น มันไม่เหมาะสมที่จะทำการเปรียบเทียบโดยให้ตัวเร่งปฏิกิริยาทุกตัวให้ค่า conversion อยู่ที่ระดับ 100% หรือใกล้เคียง 100% เพราะผลการทดลองที่ได้ไม่สามารถบอกได้ว่าที่เราเห็นค่า conversion เป็น 100% นั้นเป็นเพราะ
(ก) ตัวเร่งปฏิกิริยามีความว่องไวสูง หรือ
(ข) เราใส่ตัวเร่งปฏิกิริยาไว้มากเกินความจำเป็น

ยกตัวอย่างเช่นสมมุติว่าเราทำการทดลองเพื่อเปรียบเทียบตัวเร่งปฏิกิริยาสองตัวคือ A กับ B

- เริ่มต้นเราใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาในการทดสอบ 2 g แล้วพบว่าตัวเร่งปฏิกิริยาทั้งสองให้ค่า conversion เท่ากับ 100% กรณีเช่นนี้แสดงว่าเราใช้ตัวเร่งปฏิกิริยามากเกินไป

- พอเราลดน้ำหนักตัวเร่งปฏิกิริยาที่ใช้ในการทดสอบลงเหลือ 1 g แล้วพบว่าตัวเร่งปฏิกิริยา A ให้ค่า conversion ลดเหลือประมาณ 90% ในขณะที่ตัวเร่งปฏิกิริยา B ยังคงให้ค่า conversion เป็น 100% อยู่ ตรงนี้แสดงว่าตัวเร่งปฏิกิริยา B นั้นว่องไวกว่าตัวเร่งปฏิกิริยา A แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าว่องไวกว่ากี่เท่า (เพราะเรายังอาจใช้ตัวเร่งปฏิกิริยา B ในปริมาณที่มากเกินพอสำหรับทำให้เกิดค่า conversion 100%)

- แต่พอเราลดน้ำหนักตัวเร่งปฏิกิริยาที่ใช้ในการทดสอบลงเหลือ 0.5 g แล้วพบว่าตัวเร่งปฏิกิริยา A ให้ค่า conversion เป็น 45% และตัวเร่งปฏิกิริยา B ให้ค่า conversion เป็น 90% นั่นแสดงว่าตัวเร่งปฏิกิริยา B นั้นว่องไวกว่าตัวเร่งปฏิกิริยา A อยู่ 2 เท่า

ด้วยเหตุนี้การเปรียบเทียบความว่องไวในการทำปฏิกิริยาของตัวเร่งปฏิกิริยาจึงไม่ควรที่จะทำการทดลองในช่วงที่ให้ค่า conversion เป็น 100% เพราะมันไม่สามารถบอกอะไรได้


. ช่วงการทำงานของตัวเร่งปฏิกิริยา SCR

พฤติกรรมการทำปฏิกิริยาของตัวเร่งปฏิกิริยา SCR นั้นมีลักษณะคือ ที่อุณหภูมิต่ำจะไม่ทำปฏิกิริยากำจัด NO แต่ถ้าอุณหภูมิสูงเกินไปตัวเร่งปฏิกิริยาจะไปเพิ่ม NO จากการออกซิไดซ์แอมโมเนีย ดังนั้นถ้าเราทดสอบความว่องไวในการกำจัด NO ของตัวเร่งปฏิกิริยา SCR หลัก ๆ ๓ ตัวคือ V2O5 MoO3 และ WO3 เราจะเห็นช่วงอุณหภูมิการทำงานของตัวเร่งปฏิกิริยาแต่ละตัวอย่างคร่าว ๆ ดังแสดงในรูปที่ ๒ ข้างล่าง


รูปที่ ๒ ช่วงอุณหภูมิการทำงาน (คร่าว ๆ) ของตัวเร่งปฏิกิริยา V2O5 MoO3 และ WO3 ที่ใช้ในปฏิกิริยา SCR

ในช่วงที่ผ่านมานั้นเราเห็นผลของปฏิกิริยาการออกซิไดซ์แอมโมเนียไปเป็น NO ได้ชัดเมื่อทำการทดลองเต็มรูปแบบคือป้อนทั้ง NH3 และ NO เข้าสู่ระบบ (ในอัตราส่วน 1:1 โดยโมล) แต่เมื่อเราป้อนแต่ NH3 โดยไม่ป้อน NO เข้าสู่ระบบกลับมองเห็นปฏิกิริยาดังกล่าวไม่ชัด ทั้งนี้เป็นเพราะเริ่มแรกนั้นเรามีแต่ NH3 แต่พอ NH3 บางส่วนถูกออกซิไดซ์ไปเป็น NO NO ที่เกิดขึ้นก็ทำปฏิกิริยาต่อกับ NH3 ที่หลงเหลือจากปฏิกิริยาการออกซิไดซ์แอมโมเนีย และหายไปจากระบบ ทำให้เรามองไม่เห็น NO ในแก๊สขาออก

ดังนั้นการวัดแต่ปริมาณ NO ในแก๊สขาออกจึงไม่สามารถบ่งบอกได้ชัดเจนว่าเกิดปฏิกิริยาการออกซิไดซ์แอมโมเนียไปเป็น NO ได้มากน้อยเท่าใด เพราะถ้าเกิด NO ไม่มากพอ มันก็จะถูก NH3 ที่หลงเหลืออยู่กำจัดไป วิธีการที่ดีกว่าในการวัดการเกิดปฏิกิริยาการออกซิไดซ์แอมโมเนียคือการวัดปริมาณ NH3 ที่หลงเหลืออยู่ในแก๊สขาออก ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการใช้เครื่อง GC-2014 เครื่องที่เราใช้วัดปริมาณ NO แต่ต้องเปลี่ยนไปใช้คอลัมน์ใน channel 2 และใช้ PDD (Pulsed discharge detector) เป็นตัวตรวจวัด

. การออกซิไดซ์เบนซีน/โทลูอีนไปเป็นคาร์บอนไดออกไซด์

ตัวเร่งปฏิกิริยาที่มีความว่องไวสูงในการออกซิไดซ์สารอินทรีย์ต่าง ๆ ในเฟสแก๊สให้กลายเป็นคาร์บอนไดออกไซด์และไอน้ำ ได้แก่โลหะมีตระกูลเช่น Pt และ Pd ที่ใช้กันในเครื่องกรองไอเสียรถยนต์ (catalytic convertor) ตัวเร่งปฏิกิริยาเหล่านี้มีความว่องไวที่อุณหภูมิต่ำ แต่ถ้าหากแก๊สนั้นมีออกซิเจนมากเกินไป จะทำงานได้ไม่ดี เพราะตัวโลหะเองจะถูกออกซิไดซ์ไปเป็นโลหะออกไซด์ได้ที่อุณหภูมิสูง
ตัวเร่งปฏิกิริยาที่เป็นสารประกอบโลหะออกไซด์จะทำงานได้ดีกว่าในภาวะที่มีความเข้มข้นออกซิเจนสูง แต่ต้องการอุณหภูมิเริ่มต้นการทำงานที่สูงกว่า ในกรณีของระบบที่กลุ่มเรากำลังศึกษา (ออกซิเจนเข้มข้น 15 vol%) ตัวเร่งปฏิกิริยาโลหะออกไซด์จึงมีความเหมาะสมมากกว่า

อย่างไรก็ตามตัวเร่งปฏิกิริยาโลหะออกไซด์บางตัวเช่น V2O5 มีความสามารถในการทำปฏิกิริยาออกซิไดซ์บางส่วน (partial oxidation) กล่าวคือชอบที่จะออกซิไดซ์ไฮโดรคาร์บอนให้กลายเป็นสารประกอบออกซีจีเนต (oxygenate คือพวกที่มีออกซิเจนในโครงสร้างโมเลกุล) มากกว่าการทำให้มันสลายตัวกลายเป็นคาร์บอนไดออกไซด์และไอน้ำ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ามันไม่สามารถออกซิไดซ์สารประกอบออกซีจีเนตให้กลายเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ เพียงแต่ต้องให้เวลามันทำปฏิกิริยานานเพียงพอ ในปฏิกิริยา partial oxidation สารอินทรีย์ใน fixed bed reactor นั้น แก๊สจะไหลผ่านเบดตัวเร่งปฏิกิริยาด้วยความเร็วที่สูง เช่นในกรณีของการออกซิไดซ์ o-xylene ไปเป็น phthalic anhydride นั้น แก๊สจะไหลผ่านเบดตัวเร่งปฏิกิริยาในเวลาประมาณ 0.2-0.3วินาที (ความเร็วเชิงเส้นของแก๊สอยู่ที่ประมาณ 10 m/s ผ่านชั้นเบดตัวเร่งปฏิกิริยาสูง 2.0-3.0 เมตร) ทั้งนี้เพื่อลดการ over oxidse ผลิตภัณฑ์ oxygenate ไปเป็น CO2

. ทำไมต้องเป็น anatase

catalyst support หลักที่ใช้กับตัวเร่งปฏิกิริยานี้มีอยู่ด้วยกัน ๓ ตัวคือ SiO2 gamma-Al2O3 และ TiO2 (แม้ว่าในยุคหลังจะมีการใช้โลหะออกไซด์ผสม เช่นโลหะออกไซด์ผสม CeO และ ZrO2 บ้างก็ตาม)
SiO2 และ gamma-Al2O3 เป็น catalyst support ที่มีพื้นที่ผิวสูง แต่ไม่ทนต่อ SO2 ดังนั้นถ้าแก๊สปล่อยทิ้งมี SO2 อยู่ด้วย (เช่นในกรณีงานที่กลุ่มเรากำลังศึกษาอยู่) ต้องหันไปใช้ TiO2 เป็น catalyst support แทน

TiO2 มีอยู่ด้วยกัน ๓ เฟส แต่ ๒ เฟสหลักที่ใช้กันมากคือ rutile และ anatase (อีกเฟสคือ brookite) เฟส rutile เป็นเฟสที่มีเสถียรภาพสูงสุดแต่มีพื้นที่ผิวต่ำสุด (ใช้ในการทำสีขาว ครีมทากันแดด) ในขณะที่เฟส anatase เป็นเฟสที่มีเสถียรภาพต่ำกว่าแต่มีพื้นที่ผิวสูงกว่า เฟส anatase จะเปลี่ยนไปเป็นเฟส rutile ได้ที่อุณหภูมิสูง ที่อุณหภูมิเกิน 550ºC anatase จะเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงไปเป็น rutile อย่างช้า ๆ (ระดับเป็นหลายเดือน) แต่ถ้าเกินกว่า 600ºC จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วขึ้น (ระดับเป็นชั่วโมง)
การที่เราจึงไม่ได้ทำการวัดพื้นที่ผิวของตัวเร่งปฏิกิริยาหลังการใช้งาน ก็ด้วยเหตุผลที่ว่า

(ก) มันคงมีปริมาณที่ไม่มากพอที่จะวัด และ

(ข) ตัวเร่งปฏิกิริยาของเราผ่านอุณหภูมิที่สูง (500ºC) มาแล้วเป็นเวลาหลายชั่วโมงในระหว่างการเตรียม และเราได้ทดสอบแล้วว่าพื้นที่ผิวนั้นค่อนข้างคงที่ นอกจากนี้อุณหภูมิสูงสุดที่ทำการทดลองก็เพียงแค่ 450ºC เท่านั้นเอง

นอกจากนี้ anatase ยังมีพฤติกรรมพิเศษอีกพฤติกรรมหนึ่งคือมีอันตรกิริยาที่แรง (strong interaction) กับ V2O5 กล่าวคือบนพื้นผิว anatase นั้น V2O5 จะแผ่กระจายออกไปบนพื้นผิวเป็นรูปแบบที่เรียกว่า monolayer (คือมีความหนาเพียงชั้นเดียว) แทนที่จะเกาะรวมตัวกันเป็นผลึก V2O5 การแผ่กระจายออกไปของ V2O5 บนพื้นผิว anatse ทำให้จำนวนตำแหน่ง active site มีค่ามาก

ด้วยเหตุนี้ถ้าหากตัวเร่งปฏิกิริยาที่ใช้ anatase เป็น catalyst support มีปริมาณ V2O5 ยังไม่มากพอที่จะปกคลุมพื้นผิว anatase ได้ทั่วถึง เมื่อทำการวิเคราะห์ด้วยเทคนิค XRD จึงมองไม่เห็นผลึก V2O5 (เพราะมันยังไม่มี) ส่วนปริมาณ V2O5 (wt%) ที่ต้องใช้ในการปกคลุมพื้นผิว anatase อย่างทั่วถึงนั้นจะมีค่าเท่าใด ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ผิวของ anatase ที่ใช้เป็น catalyst support กล่าวคือถ้า anatase มีพื้นที่ผิวสูง ปริมาณ V2O5 ที่ต้องใช้ในการปกคลุมพื้นผิว anatase อย่างทั่วถึงก็จะสูงตามไปด้วย

ปรากฏการณ์ดังกล่าวทางกลุ่มเราเคยทำการทดลองเอาไว้นานแล้ว คือทำการเติม V2O5 ลงบน catalyst support ต่างชนิดกันแล้วนำไปวิเคราะห์ด้วย XRD จะพบว่าบน anatase นั้นจะต้องทำการเติม V2O5 ในปริมาณมากกว่าจึงจะเห็นการเกิดผลึก V2O5 ส่วนการกระจายตัวของ V2O5 บนพื้นผิว anatase วัดได้ด้วยเทคนิค FT-IR ที่แสดงให้เห็นว่าแม้ว่า XRD จะตรวจไม่พบผลึก V2O5 บนพื้นผิว anatase แต่การดูดกลืน IR นั้นมองเห็นอย่างชัดเจน

เรื่องสุดท้ายที่ขอบันทึกไว้ในที่นี้ (ด้วยหน้ากระดาษเหลือ) แม้ว่ามันไม่เกี่ยวข้องอะไรกับงานวิทยานิพนธ์เลย ก็คือจำนวนครั้งการเข้าเยี่ยมชม blog ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คือเป็นครั้งแรกที่มีการเข้าเยี่ยมชมเกิน ๑,๐๐๐ ครั้งต่อวันติดต่อกันเป็นเวลา ๔ วันตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันพฤหัสบดี (ช่วงวันศุกร์และเสาร์ปรกติก็มีการเข้าเยี่ยมชมต่ำอยู่แล้ว) โดยที่ก่อนหน้านั้นอาจมีแค่บางวันเท่านั้นเองที่มีผู้เข้าเยี่ยมชมเกิน ๑,๐๐๐ ครั้ง แต่พอวันถัดไปก็ลดลง

วันจันทร์ที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ๑,๐๒๘ ครั้ง
วันอังคารที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ๑,๑๕๒ ครั้ง
วันพุธที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ๑,๐๖๖ ครั้ง
วันพฤหัสบดีที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ๑,๐๕๓ ครั้ง
วันศุกร์ที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ๗๗๑ ครั้ง

รวมในรอบ ๕ วันที่ผ่านมา ๕,๐๗๐ ครั้ง

ไม่มีความคิดเห็น: